Sunday, 28 April 2024
จีน

‘จีน’ ทดสอบ 'รถไฟในเมืองพลังงานไฮโดรเจน' ผลิตเองขบวนแรก วิ่งฉิว!! 160 กม./ชั่วโมง - เติมเชื้อเพลิงครั้งเดียววิ่งไกล 1,000 กม.

(22 มี.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รถไฟในเขตเมือง ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนซึ่งจีนพัฒนาขึ้นขบวนแรก วิ่งทดสอบเสร็จสิ้นด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อวานนี้ 21 มี.ค. ถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญในการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจนในการขนส่งทางรถไฟ

โดยรถไฟดังกล่าวพัฒนาโดยซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ วีฮีเคิลส์ จำกัด (CRRC Changchun Railway Vehicles) ในเมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยวิ่งทดสอบบนรางทดสอบของบริษัทฯ และผ่านกระบวนการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานแบบเต็มระบบ ครอบคลุมครบฉากสถานการณ์ และหลากหลายระดับ

เมื่อเทียบกับรถไฟแบบดั้งเดิมที่อาศัยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือระบบจ่ายไฟฟ้าแบบสายส่งเหนือหัว รถไฟในเขตเมืองขบวนนี้มีระบบพลังงานไฮโดรเจนในตัวซึ่งสามารถให้แหล่งพลังงานที่เข้มข้นและยาวนาน โดยมีระยะการเดินทางสูงสุดแบบเติมเชื้อเพลิงครั้งเดียวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการทดสอบยังแสดงให้เห็นว่ารถไฟพลังงานไฮโดรเจนดังกล่าว ใช้พลังงานเฉลี่ย 5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับรถไฟชั้นนำระดับโลก

นักวิจัยจีน ผ่าตัดปลูกถ่าย ตับหมูดัดแปลง สู่ร่างกายมนุษย์ได้สำเร็จ คาดจะช่วยแก้ไขปัญหา ขาดแคลนอวัยวะ ให้กับผู้ป่วยได้อีกมาก

(23 มี.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นักวิจัยของจีนประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับหมูดัดแปลงพันธุกรรมในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย ซึ่งตับดังกล่าวสามารถทำงานได้ดีในร่างกายมนุษย์เป็นระยะเวลา 10 วัน ก่อนที่การศึกษาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อวันพุธ (20 มี.ค.) ตามความต้องการของครอบครัวผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ

การปลูกถ่ายครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการปลูกถ่ายอวัยวะของสัตว์สู่ร่างกายมนุษย์ โดยดำเนินการโดยโต้วเคอเฟิง นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และทีมงานที่นำโดยเถาไคซาน แพทย์จากโรงพยาบาลซีจิงในเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กองทัพอากาศ ในนครซีอัน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะดังกล่าวเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง และผ่านการรับรองว่ามีภาวะสมองตายในการประเมินสามครั้ง โดยครอบครัวของผู้ป่วยยินดีที่จะมีส่วนร่วมในการวิจัยข้างต้นเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าทางการแพทย์

ทั้งนี้ แผนการผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายตับหมูดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการพิจารณาและอนุมัติโดยคณะกรรมการด้านวิชาการและจริยธรรมต่าง ๆ และดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของจีนอย่างเคร่งครัด

โต้วระบุว่าการปลูกถ่ายอวัยวะครั้งนี้ถือเป็นการปลูกถ่ายตับหมูดัดแปลงพันธุกรรมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ครั้งแรกในวงการการแพทย์ และการวิจัยข้างต้นถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในสาขาการปลูกถ่ายข้ามสายพันธุ์ (xenotransplantation) อีกทั้งส่งมอบพื้นฐานทางทฤษฎีและประสบการณ์เชิงปฏิบัติสำหรับการทำงานทางคลินิกในอนาคต

เดวิด คูเปอร์ นักภูมิคุ้มกันวิทยาด้านการปลูกถ่ายข้ามสายพันธุ์จากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล ในนครบอสตัน แสดงความยินดีกับทีมงานของโต้วสำหรับความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ โดยระบุว่าการศึกษานี้ของจีนจะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญว่าการปลูกถ่ายตับหมูจะสามารถช่วยให้ผู้คนมีชีวิตรอดได้หรือไม่ แม้เป็นเวลาเพียงไม่กี่วันก็ตาม

โต้วระบุว่าการวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคนิคการปลูกถ่ายตับข้ามสายพันธุ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคตับจำนวนมาก ทว่ายังคงมีปัญหาขาดแคลนอวัยวะในการปลูกถ่ายอย่างรุนแรง

โต้วทิ้งท้ายว่าสำหรับในอนาคต การปลูกถ่ายตับข้ามสายพันธุ์อาจเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น และกลายเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่จะแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะสำหรับการปลูกถ่าย ท่ามกลางเทคโนโลยีที่รุดหน้าไปอย่างต่อเนื่อง

จีน เอาจริง ออกมาตรการใหม่ ปราบปราม ประมงเถื่อน เพื่อดูแล สายพันธุ์ปลาล้ำค่า ซึ่งมีความสำคัญ ทางเศรษฐกิจ

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวซินหัว ได้รายงานว่า กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีน จะดำเนินมาตรการใหม่เพื่อปราบปรามกิจกรรมการประมงผิดกฎหมายในปี 2024

โดยทางกระทรวงฯ ได้แถลงว่ามาตรการชุดใหม่ครอบคลุม การส่งเสริมงานคุ้มครองลูกปลาไหล ซึ่งเป็นสายพันธุ์ปลาล้ำค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

คณะเจ้าหน้าที่ทางการจะกระชับการบังคับใช้กฎหมายในการกำกับดูแลการจับลูกปลาไหล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอันดีของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงฯ จะเดินหน้าบังคับใช้คำสั่งห้ามจับปลาตามลุ่มแม่น้ำแยงซี พร้อมดำเนินมาตรการตรวจตราอย่างเข้มงวดที่สุดในช่วงพักการจับปลาฤดูร้อนของประเทศ

นอกจากนั้นกระทรวงฯ จะพยายามอนุรักษ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติและกำกับควบคุมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย

ฟองสบู่ Forest City เมืองใหม่แห่งอนาคตในมาเลเซีย โครงการยักษ์ 3.6 แสนล้าน ที่กำลังกลายเป็นเมืองร้าง

หากนับย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ชาวมาเลเซียจำนวนไม่น้อย น่าจะตื่นเต้นกับโครงการพัฒนาเมืองใหม่ ระดับเมกะโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Forest City’ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัท เอสพลานาด แดงกา 88 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และ ‘คันทรี การ์เดน’ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับต้น ๆ ของจีน ในเขตพื้นที่ของรัฐยะโฮร์ ที่เชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ด้วยงบประมาณก่อสร้างสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 3.6 แสนล้านบาท) 

โดยโครงการนี้ ถูกนำเสนอโดยรัฐบาลจีนเป็นครั้งแรกราวๆ ปี พ.ศ. 2549 ที่หวังจะให้เป็นส่วนหนึ่งในแผน Belt and Road Initiatives มีเป้าหมายยกระดับพื้นที่ในเขตรัฐยะโฮร์ ให้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ครบครันด้วย อาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า, ที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถรองรับประชากรได้ถึง 7 แสนคน 

และยังเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ บริษัท คันทรี การ์เดน อีกด้วย หลังจากมีการนำเสนอ โครงการมานานถึง 10 ปี Forest City ก็ได้รับการอนุมัติก่อสร้างโดย อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2578 

แต่ทว่า วันนี้ Forest City ที่ผู้สร้างโปรโมตว่าจะกลายเป็นเมืองสวรรค์ในฝันของคนมีอันจะกิน มีแววจะกลายเป็นเมืองร้าง (Ghost Town) ไปเสียแล้ว เมื่ออาคารหลายแห่งสร้างแล้วเสร็จไปกว่าครึ่ง แต่กลับมีคนที่มาอยู่จริงน้อยมาก 

วันนี้เราจึงเห็นแต่ภาพตึกสูงระฟ้า เรียงรายเต็มพื้นที่หน้าชายหาด ยาวเหยียดเป็นกิโลของ Forest City ที่ถูกทิ้งร้าง มืดมิด เงียบเหงา ไร้ผู้คน และรถรา นอกจากเสียงจิ้งหรีดเรไรดังสนั่นทั่วบริเวณ

ชาวมาเลเซียบางส่วน ที่เข้ามาจับจอง ซื้อห้องพักใน Forest City ในช่วงเปิดโครงการด้วยความหวังว่าจะได้อยู่ในย่านสังคมเมืองใหม่อนาคตไกล ต่างรู้สึกผิดหวัง และ ต้องการย้ายออกเพราะเริ่มไม่ไหวจะทนกับบรรยากาศอันแสนวังเวง ถ้าจะมีข้อดีเพียงอย่างเดียวใน Forest City ณ ขณะนี้ คือ ความเงียบสงบสำหรับคนที่ต้องการปลีกวิเวกอย่างแท้จริง

สาเหตุที่โครงการยักษ์ Forest City ผิดเป้าค่อนข้างไกล แถมมีโอกาสที่จะกลายเป็นเมืองผีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนนั้น เกิดจากหลายปัจจัย 

และสิ่งที่ประเมินพลาดที่สุดอย่างแรกคือ การเจาะกลุ่มเป้าหมายในช่วงเปิดโครงการ ที่เน้นไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีฐานะตั้งแต่ระดับกลาง - สูง เป็นหลัก ที่กำลังมองหาสินทรัพย์ลงทุนในต่างแดน แทนที่จะเป็นชาวมาเลเซียทั่วไป จึงทำให้โครงการนี้ถูกวิพากษ์ วิจารณ์จากชาวมาเลเซียจำนวนมากว่าเป็นการสร้างเมืองเพื่อผลประโยชน์ของคนจีนเป็นสำคัญมากกว่าชาวมาเลเซียเจ้าของประเทศ 

เมื่อเน้นไปที่ตลาดจีน โครงการนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่รัฐบาลจีนมีนโยบายปิดเมืองนานนับปี ทำให้ชาวจีนส่วนใหญ่เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ยังถดถอยหลังวิกฤติการระบาด จึงทำให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ของ Forest City ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่คาดการณ์ไว้

อีกทั้งปัญหาด้านการเงินของ บริษัทคันทรี การ์เดน ที่เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนหลักในโครงการนี้ จากวิกฤตฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และ ประชาชนทั่วไปที่กำลังพิจารณาเช่า-ซื้อ ทรัพย์สินในโครงการ Forest City กับอนาคตที่คาดเดาได้ยากว่า คันทรี การ์เดน จะกลับมาฟื้นสภาพ รอดพ้นจากภาวะหนี้สินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตนได้เมื่อไหร่ 

รวมถึงปัจจัยด้านกำลังซื้อของชาวจีนที่ไม่เหมือนเดิม จากที่ประเมินในช่วงก่อนวิกฤติ Covid-19 ทำให้ Forest City จำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธการตลาดหลายครั้ง จากการสร้างเมืองใหม่เพื่ออยู่อาศัยของกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำ ที่เน้นไปที่เศรษฐีชาวจีนเป็นหลัก ถูกเปลี่ยนมาเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนชายทะเลระยะสั้นสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งชาวจีน และ มาเลเซีย ซึ่งสามารถกระตุ้นยอดจองโรงแรม ที่พักในเมืองได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถลบล้างภาพเมืองร้างขนาดมหึหาออกไปได้

ล่าสุด เมื่อ สิงหาคม 2566 นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ก็ออกมาช่วยสนับสนุนโครงการ Forest City อีกครั้งด้วยการประกาศยกระดับพื้นที่เมืองนี้ให้กลายเป็น ‘เขตการเงินพิเศษ’ เพื่อจูงใจนักลงทุนด้านการเงิน และ แรงงานทักษะสูงเข้ามาช่วยกู้เมือง โดยมีการเสนอสิทธิพิเศษด้านวีซ่า และ ภาษีในอัตราพิเศษ และยังสนับสนุนให้มีการจัดงานอีเวนต์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยหวังที่จะปลุกเมืองนี้ให้กลับมาเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ให้สมกับเป้าหมายและเม็ดเงินที่ลงทุนไปแล้วมากมายมหาศาล

ดังคำกล่าวที่ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน โปรเจกต์ 20 ปี อย่าง Forest City ก็เช่นกัน ที่อาจต้องใช้เวลาต่อจากนี้อีกสักระยะ ว่าเมืองแห่งนี้ จะกลายเป็นเมืองใหม่ของมนุษย์ หรือ เป็นจะเพียงสุสานของซากตึก

‘ศธ.จีน’ ออกแคมเปญ เดินหน้าสอน ‘เด็กนักเรียน’ ปกป้องดูแลตัวเอง ครอบคลุม ‘การกลั่นแกล้ง-ไฟไหม้-ความปลอดภัย-การปฐมพยาบาล’

(26 มี.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการของจีนออกโครงการรณรงค์ด้านการศึกษา ที่มุ่งส่งเสริมการป้องกันอันตรายและการปกป้องดูแลตนเองของนักเรียนชั้นประถมและมัธยม โดยเริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวันจันทร์ (25 มี.ค.) และจะดำเนินไปตลอดทั้งสัปดาห์

หนังสือเวียนจากกระทรวงฯ กระตุ้นหน่วยงานการศึกษาท้องถิ่นให้คำแนะนำแก่โรงเรียนในการจัดกิจกรรมทางการศึกษา เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยและทำให้เด็กนักเรียนสามารถปกป้องตนเองได้ดียิ่งขึ้น

กิจกรรมเหล่านี้ควรให้ความรู้ครอบคลุมหลายด้าน อาทิ การรับมือความรุนแรงและการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน การป้องกันอัคคีภัย ความปลอดภัยบนท้องถนน การฝึกอบรมปฐมพยาบาล และอื่นๆ

หนังสือเวียนยังร้องขอให้หน่วยงานการศึกษาท้องถิ่นจัดกิจกรรมทางการศึกษาร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงสาธารณะและหน่วยงานดับเพลิงด้วย

จับตากฎใหม่ของจีน คาด!! สะเทือนวงการชิปโลก หลังแบน ‘Intel’ และ ‘AMD’ หนุนชิปเมดอินไชน่า

ทางการจีนออกแนวทาง โดยมีเป้าหมายลดการพึ่งพาซีพียูจากสหรัฐอเมริกามีผลให้ทั้ง Intel และ AMD ตลอดจนครอบคลุมถึงระบบปฏิบัติการ Windows และโปรแกรมฐานข้อมูลที่ผลิตโดยบริษัทต่างชาติด้วย

ไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนประกาศแนวทางการปฏิบัติงานที่มีจุดประสงค์เพื่อหยุดการใช้ชิปประมวลผลความจำซึ่งผลิตโดยบริษัทอินเทล (Intel) และบริษัท AMD ของสหรัฐฯ ในคอมพิวเตอร์และระบบเซิร์ฟเวอร์ของรัฐ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทมส์ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยรัฐบาลจีน เผยว่า หน่วยงานรัฐบาลที่สูงกว่าระดับเมือง จะต้องระบุเงื่อนไขการจัดซื้อชิปประมวลผล รวมถึงระบบปฏิบัติการที่ 'ปลอดภัยและไว้วางใจได้' ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่นี้ไปด้วย

ทั้งนี้ หากย้อนเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2023 กระทรวงอุตสาหกรรมจีนได้ออกแถลงการณ์พร้อมรายชื่อของหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ระบบประมวลผลและระบบฐานข้อมูลส่วนกลาง ที่ถูกระบุว่า 'ปลอดภัยและไว้วางใจได้' เป็นระยะเวลานาน 3 ปีนับตั้งแต่วันที่มีการเผยแพร่ออกมา โดยทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทจีนทั้งหมด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รอยเตอร์ได้ส่งแฟกซ์ไปยังสำนักงานสารสนเทศสภาแห่งรัฐ (State Council Information Office) ซึ่งรับผิดชอบการติดต่อของสื่อกับคณะรัฐมนตรีจีน เพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ ขณะเดียวกัน ก็จัดทำรายงานข่าวนี้ ไปยัง Intel และ AMD ซึ่งก็ไม่ได้ตอบกลับคำขอความเห็นของผู้สื่อข่าวเช่นกัน

สำหรับพัฒนาการที่ทำให้จีนออกประกาศดังกล่าวขึ้นมานั้น เกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ เดินหน้าความพยายามยกระดับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศและลดการพึ่งพาฐานการผลิตในจีนและไต้หวัน ภายใต้กฎหมาย CHIPS and Science Act ปี 2022 ที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผ่านออกมาบังคับใช้

อีกทั้งยัง สกัดกั้นการพัฒนาชิปเอไอของฝั่งจีน ด้วยการห้ามส่งออกชิปไฮเทคไปยังจีน ภายใต้เหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติ

ขณะเดียวกัน ผลพวงแห่งความตึงเครียดในศึกเทคโนโลยีระหว่าง 'สหรัฐฯ' กับ 'จีน' ที่เข้มข้นขึ้น โดยก่อนหน้านี้ไม่นานก็เพิ่งมีรายงานข่าวว่า สหรัฐฯ มีแผนจะขึ้นบัญชีดำบริษัทในเครือข่ายของ 'หัวเว่ย เทคโนโลยีส์' นั้น

ก็ถือเป็นปมสำคัญที่เร่งให้เกิดการตอบโต้จากจีน ด้วยการแบนชิป Intel และ AMD เร็วขึ้นด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทชิปอเมริกันอย่างหนัก โดยเฉพาะ Intel เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของอินเทลด้วยสัดส่วนถึง 27% ของยอดขายทั้งหมด 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ AMD มียอดขายในจีน 15% ของยอดขายทั้งหมด 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์  

ขณะเดียวกัน กรุงปักกิ่ง ก็หวังกำจัดระบบปฏิบัติการวินโดว์ส (Windows) ของบริษัทไมโครซอฟท์ รวมทั้งซอฟต์แวร์ที่ผลิตโดยประเทศอื่น ๆ ออกไป เพื่อจะเปิดทางให้กับผลิตภัณฑ์ในประเทศมาเป็นตัวเลือกหลักแทนอีกด้วย

‘เซี่ยงไฮ้’ รับทัพ ‘นักท่องเที่ยว’ ปี 66 ทะลุ 326 ล้านคน กวาดรายได้กว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 76.8%

(28 มี.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน รายงานว่าเซี่ยงไฮ้รับรองนักท่องเที่ยวในปี 2023 ราว 326 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.5 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวขาเข้า 3.64 ล้านคน

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า เซี่ยงไฮ้ทำรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2023 มากกว่า 3.67 แสนล้านหยวน (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 76.8 เมื่อเทียบปีต่อปี

อนึ่ง สำนักฯ เผยแพร่ข้อมูลสถิตินี้ระหว่างการประชุมส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยวของเซี่ยงไฮ้ ครั้งที่ 3 ซึ่งเริ่มต้นวันพุธ (27 มี.ค.) ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ กลุ่มหน่วยงานทางการของเซี่ยงไฮ้ยังประกาศการดำเนินโครงการในภาคธุรกิจวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว จำนวน 26 โครงการ ซึ่งมีการลงทุนรวม 1.17 แสนล้านหยวน (ราว 6 แสนล้านบาท) และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินงานหรือดำเนินงานต่อเนื่องภายในสิ้นปี 2025 โดย สวนสนุกเลโก เซี่ยงไฮ้ รีสอร์ต (Legoland Shanghai Resort) และสวนสนุกน้ำแข็งและหิมะเซี่ยงไฮ้ เย่าเสวี่ย (Shanghai Yaoxue) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโครงการข้างต้นด้วย

‘Xiaomi’ ท้าชน!! เปิดตัว NEV รุ่น SU7 ที่พัฒนาเองครั้งแรก ราคาเริ่มต้น 1.1 ล้านบาท ครบครันทั้งสมรรถนะ-เทคโนโลยี

(29 มี.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เสียวหมี่ (Xiaomi) บริษัทเทคโนโลยีของจีน เปิดตัวรถยนต์พลังงานใหม่ที่พัฒนาขึ้นเองเป็นครั้งแรก รุ่นเอสยู7 (SU7)

โดยรถยนต์รุ่นดังกล่าวมาใน 3 รุ่นย่อย ได้แก่ เอสยู7, เอสยู7 โปร (SU7 Pro) และเอสยู7 แม็กซ์ (SU7 Max) ซึ่งจะจำหน่ายในท้องตลาดในราคา 215,900-299,900 หยวน (ราว 1.1-1.53 ล้านบาท)

รถยนต์เอสยู7 และเอสยู7 แม็กซ์ ถูกออกแบบให้มีพิสัยวิ่งขั้นต่ำ 700 กิโลเมตร โดยจะเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าภายในปลายเดือนเมษายน ส่วนเอสยู7 โปร จะเริ่มส่งมอบภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม

เหลยจวิน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเสียวหมี่ กล่าวในงานเปิดตัวว่าบริษัทฯ สร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาทางเทคโนโลยีในหลายสาขาสำคัญ เช่น การออกแบบโมเดล แบตเตอรี่ การขับขี่อัจฉริยะ และห้องคนขับอัจฉริยะ

ทั้งนี้ เสียวหมี่เข้าสู่ภาคส่วนยานยนต์พลังงานใหม่ในปี 2021 และสร้างโรงงานบนพื้นที่มากกว่า 700,000 ตารางเมตรในกรุงปักกิ่ง

ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน ระบุว่าปริมาณการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ในจีนสูงถึง 1.25 ล้านคัน และมีการจัดจำหน่ายรถประเภทนี้ 1.21 ล้านคันในช่วงสองเดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 และร้อยละ 29.4 เมื่อเทียบปีต่อปี ตามลำดับ

เจ้าหน้าที่จีน เผยตัวเลข นทท.เข้า-ออกสูงเกือบ 3 ล้าน เหตุจาก นโยบายฟรีวีซ่า-ชำระเงินง่าย สะดวกสบาย 

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวซินหัว ได้รายงานว่า สือเจ๋ออี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน อ้างอิงข้อมูลจากสำนักบริหารการตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติจีน ระบุว่าจีนพบยอดการเดินทางขาเข้าและขาออกของผู้มาเยือนต่างชาติ รวมอยู่ที่ 2.95 ล้านครั้ง ในช่วงสองเดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ของปี 2024

สือเผยว่าตัวเลขข้างต้นเพิ่มขึ้น 2.3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า และฟื้นตัวสูงถึงร้อยละ 41.5 ของระดับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายฟรีวีซ่าที่จีนขยายครอบคลุมประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมเมื่อไม่นานนี้ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน มาเลเซีย และสิงคโปร์ และยอดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเทศกาลตรุษจีน

สือกล่าวว่าจีนจะดำเนินงานเพื่อขจัดอุปสรรคและจัดการกับปัญหาในด้านวัฒนธรรมและการท่องที่ยว โดยเฉพาะการทำให้กระบวนการชำระเงินตามสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่จัดการแสดงทางวัฒนธรรม และโรงแรมสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จีนจะจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม พร้อมเพิ่มความพยายามในการโฆษณาและส่งเสริมตลาดระหว่างประเทศ

'เถาเป่า' ทดลองยิงจรวดส่งสินค้าด่วนขั้นเทพ ส่งได้ทั่วโลกภายในหนึ่งชั่วโมง แม้แต่รถยนต์

สเปซ อีพ็อก (Space Epoch) บริษัทผู้สร้างจรวดของจีน ประกาศความร่วมมือกับ ‘เถาเป่า’ แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ในเครืออาลีบาบา ทดลองส่งสินค้าตามสั่งด้วยจรวด

(1 เม.ย. 67) สตาร์ตอัปเอกชน ซึ่งมีชื่อเต็มว่า บริษัท ปักกิ่ง เซพ็อก เทคโนโลยี จำกัด (Beijing Sepoch Technology Co) ยืนยันกับโกลบอลไทมส์ สื่อของทางการจีนเมื่อวันอาทิตย์ (31 มี.ค.) ว่า จะเริ่มดำเนินการทดสอบครั้งแรกในปีนี้ ถ้าโครงการสำเร็จราบรื่น การส่งสินค้าข้ามประเทศด้วยจรวดจะสามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ในขณะที่ตามรายงานของรอยเตอร์นั้นระบุว่า แค่ชั่วโมงเดียว

โดยการขนส่งในขั้นแรกจะใช้เซพ็อกไฮเคอร์หมายเลขหนึ่ง (Sepoch Hiker No 1) หรือ หยวนซิง - 1 ซึ่งเป็นจรวดขนส่งของเหลวขนาดกลาง ที่บริษัทเป็นผู้พัฒนา จรวดนี้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ลำตัวจรวดทำด้วยเหล็กกล้าไม่เป็นสนิม โดยเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรมร่วมกับนวัตกรรมเทคโนโลยีการรีไซเคิลทางทะเล ซึ่งช่วยลดเวลาการวิจัยและพัฒนา และลดความเสี่ยงในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากพิสูจน์แล้วว่า ประสบความเสร็จ ก็จะช่วยตอบโจทย์บริการส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคกำลังพุ่งทะยาน

จรวดมีพื้นที่บรรทุกสินค้าได้มากถึง 10 ตัน ด้วยการออกแบบให้มีปริมาตรความจุ120 ลูกบาศก์เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.2 เมตร ซึ่งหมายความว่า นอกจากสินค้าขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว ยังสามารถขนส่งสินค้าขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ หรือแม้กระทั่งรถมินิแวนได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทสตาร์ตอัปรายนี้ยอมรับว่า การขนส่งสินค้าด้วยจรวดที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่อาจเป็นภารกิจที่ยากลำบากในระยะสั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและขีดความสามารถในปัจจุบัน แต่นั่นอาจเป็น ‘การสำรวจในระยะยาวที่มีความหมาย’ บริษัทระบุ

ทั้งนี้ ในปี 2566 สเปซ อีพ็อกได้เสร็จสิ้นการทดสอบการจุดระเบิดแบบสถิตและการกู้จรวดเซพ็อกไฮเคอร์ ที่ลงจอดในทะเล โดยมีแผนทดสอบการนำจรวดลงจอดในทะเลและดำเนินการกู้ขึ้นมาเป็นเที่ยวบินแรกในเร็ว ๆ นี้ จากนั้น จึงจะทดสอบการขนส่งสินค้าด้วยจรวดเป็นครั้งแรก ซึ่งทำภายในประเทศจีนก่อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top