‘ผลโพล’ ชี้!! ‘อาเซียน’ เลือกข้าง ‘จีน’ มากกว่า ‘อเมริกา’ ยกเว้นแค่ ‘ผิน-เหงียน’ ที่ยังกังขาข้อพิพาททะเลจีนใต้
เมื่อไม่นานมานี้ ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในชาติอาเซียนเล็งคบหาจีนมากกว่าอเมริกา ถ้าหากถึงเวลาที่จะต้องเลือกข้างกันแล้ว โดยมีเพียงบางประเทศอย่างฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม ที่รู้สึกถูกปักกิ่งคุกคามเกี่ยวกับการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ ซึ่งยังปักใจกับอเมริกามากกว่า ขณะเดียวกัน ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในทั่วโลก โดยผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่งบอกว่าห่วงเรื่องการว่างงานและเศรษฐกิจถดถอย
นี่เป็นครั้งแรกที่ปักกิ่งได้คะแนนมากกว่าวอชิงตันนับจากที่เริ่มทำการสำรวจความคิดเห็นประจำปีในประเด็นนี้ในปี 2020 โดยในปีนี้จำนวนคนที่เลือกอเมริกาเหลือแค่ 49.5% ลดลงจาก 61.1% เมื่อปีที่แล้ว
การสำรวจความคิดเห็นนี้จัดทำโดยศูนย์อาเซียนศึกษา (ASEAN Studies Centre) แห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา-ยูซอฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) กลุ่มคลังสมองของสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 3 มกราคมถึง 23 กุมภาพันธ์ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 1,994 คน ซึ่งมาจากทั้งภาควิชาการ ธุรกิจ รัฐบาล ประชาสังคม และสื่อมวลชน ในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และประเทศที่มีผู้เข้าร่วมการสำรวจมากที่สุดคือสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
ผลสำรวจพบว่า จีนได้คะแนนกว่า 50% ในฐานะหุ้นส่วนที่มีความเกี่ยวข้องสอดคล้องทางยุทธศาสตร์มากที่สุดสำหรับอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงเป็นมหาอำนาจที่ไว้วางใจได้มากที่สุด
ทั้งนี้ จีนและอาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกันติดต่อกัน 4 ปีซ้อนแล้ว โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าถึง 911,700 ล้านดอลลาร์แล้ว
กระนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งหนึ่งยังคงแสดงความไม่ไว้ใจจีน โดย 45.5% บอกว่า กลัวว่าปักกิ่งจะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารคุกคามผลประโยชน์และอธิปไตยของประเทศของตน
พฤติกรรมก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้เป็นประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับคนฟิลิปปินส์ (90.2%) และคนเวียดนาม (72.5%) ซึ่งเป็น 2 ประเทศแนวหน้าที่มีกรณีพิพาทด้านดินแดนกับปักกิ่งในน่านน้ำดังกล่าว
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า การที่มะนิลาอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้เป็นบางส่วนไม่ควรถูกมองว่า เป็นการยั่วยุจีน ในทางกลับกัน ฟิลิปปินส์ต้องการทำให้สิ่งต่าง ๆ อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ และเดินหน้าเจรจาต่อไม่ว่าในระดับใด อย่างไรก็ดี ในช่วงหลัง ๆ นี้ ฟิลิปปินส์มีนโยบายหันไปร่วมมือด้านความมั่นคงมากขึ้นอย่างชัดเจนทั้งกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาค อย่างเช่น ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
สำหรับเวียดนามก็อ้างสิทธิเหนือเกาะหลาย ๆ แห่งในทะเลจีนใต้ ทับซ้อนกับจีนเช่นเดียวกัน โดยที่ปักกิ่งคัดค้านการเรียกร้องเหล่านั้น ทั้งนี้ เวียดนามแสดงท่าทีพยายามมุ่งผูกมิตรกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน แม้ยังไม่ได้ไปถึงระดับของฟิลิปปินส์
ไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจคราวนี้แสดงให้เห็นว่า อเมริกายังคงได้รับความสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์ (83.3%) และเวียดนาม (79%) ซึ่งแสดงความโน้มเอียงที่ต้องการผูกพันธมิตรกับวอชิงตันมากกว่าปักกิ่ง
เคนด์ดริก ชาน แห่ง แอลเอสอี ไอเดียส์ (LSE IDEAS) กลุ่มคลังสมองด้านนโยบายการต่างประเทศของ LSE (ลอนดอน สกูล ออฟ อิโคโนมิกส์ แอนด์ โพลิทิคัล ไซนส์) แสดงความเห็นว่า ถึงแม้จีนได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อมองจากความเข้าใจความรับรู้ของสาธารณชนซึ่งให้ความนิยมชมชื่นเพิ่มขึ้น แต่ควรต้องสังเกตว่า ข้อพิพาทด้านดินแดนที่รุนแรงที่สุดของจีนก็อยู่ในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นแล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งยังคิดว่าอาเซียนควรเพิ่มความยืดหยุ่นและความเป็นเอกภาพของตน เพื่อเป็นเครื่องปกป้องการถูกบีบคั้นจาก 2 ชาติมหาอำนาจคือ จีนและอเมริกา
ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางเศรษฐศาสตร์มหภาคในทั่วโลก ยังคงเป็นข้อกังวลในภูมิภาคนี้ โดยคนส่วนใหญ่ (57.7%) กังวลกับการว่างงานและเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีนอาจมีส่วนกระตุ้นความกังวลเหล่านี้
ข้อกังวลอื่น ๆ ยังรวมถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว และการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงของกลุ่มกบฏฮูตี ซึ่งแม้เหตุการณ์เหล่านี้ถึงแม้เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นที่ไกลออกไปจากอาเซียน แต่ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักซึ่งอาจมีผลโดยตรงต่อราคาพลังงานและอาหารได้
ชอย ชิง กว็อก ผู้อำนวยการและซีอีโอของ ISEAS ระบุว่า ผลสำรวจปีนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ภูมิภาคนี้มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นในเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ และในความเสี่ยงที่ว่าการเป็นปฏิปักษ์กันในทางภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ที่ไร้การบันยะบันยังอาจส่งผลลบต่อผลประโยชน์ของภูมิภาคในระยะสั้นจนถึงระยะกลาง
“ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า อาเซียนยังคงมีความหวังว่าชาติมหาอำนาจสามารถร่วมมือกันได้ในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และยินดีต้อนรับมหาอำนาจชาติอื่น ๆ เข้ามามีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับอาเซียน”
ที่มา : ซีเอ็นบีซี, เอเจนซีส์
https://mgronline.com/around/detail/9670000033116