Monday, 20 May 2024
จีน

'ไทย-จีน' ลงนาม MOU ดึงนักลงทุนจีน ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ใต้กรอบความร่วมมือ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง - 2 ประเทศ 2 นิคม'

(30 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำจากมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน 

นายดนัยณัฏฐ์ ระบุว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยาวนาน โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้กรอบ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' (BRI) ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการพัฒนากลไกความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยและจีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีศักยภาพและได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีบริษัทจีนมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

“ผมมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยและจีน รวมไปถึงเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้าน นายเหอ ซีออง นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าวในการเป็นประธานสักขีพยานร่วมฯ ว่า การจัดพิธีลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ฯ ครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการพัฒนาความร่วมมือของจีนและไทยเท่านั้น แต่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการพัฒนาเมืองเจิ้งโจว และจังหวัดระยองอีกด้วย 

สำหรับ เมืองเจิ้งโจว ในฐานะเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน นั้น ปี 2566 มี GDP ของภูมิภาคเกินกว่า 1.36 ล้านล้านหยวน จากจำนวนประชากรเกินกว่า 13 ล้านคน ผ่านตัวชี้วัดหลายประการ เช่น อัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรม อัตราการเติบโตของยอดขายปลีกรวมของสินค้าอุปโภค-บริโภค และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 

นอกจากนี้ เจิ้งโจว ยังมีทำเลที่ตั้งโดดเด่น เป็นหนึ่งใน 12 ศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างประเทศ และศูนย์กลางการขนส่งโดยสายการบินต่าง ๆ 6 แห่ง เป็น 'เส้นทางสายไหมทั้งสี่' ของทางอากาศ ทางบก ทางออนไลน์ และทางทะเล ขณะที่สนามบินเจิ้งโจว ก็ยังติดอันดับหนึ่งในสนามบินขนส่งสินค้าชั้นนำ 40 แห่งของโลก รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากกว่า 40 ประเทศ และมากกว่า 140 เมือง 

จีนและไทยมีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ซึ่งในระหว่างการเยือนประเทศไทยของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอให้สร้างชุมชนจีน-ไทยที่มั่นคง โดยการบูรณาการ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' เปิดตัวศูนย์อาเซียนอย่างเป็นทางการ สร้าง 'เส้นทางสายไหมทางอากาศ' เจิ้งโจว-อาเซียน และบรรลุข้อตกลงเมืองพี่กับจังหวัดระยอง ในประเทศไทย เปิดตัวรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับผลไม้นำเข้าจากประเทศไทย และรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับส่งออกสินค้าเกษตร เปิดเส้นทางการบินให้กับสายการบินนกแอร์เที่ยวบินแรกสู่เจิ้งโจว โดยในปี 2567 เจิ้งโจว ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเดือนแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน (เหอหนาน)-อาเซียน และจัดเทศกาลอาหารไทย 'Thai Heartbeat' เริ่มก่อสร้างสวนแฝดจีน-ไทย (เจิ้งโจว) 

"ภายใต้ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 'สองประเทศ สองนิคมฯ' ระหว่างจีนและไทย การทำงานร่วมกัน การพัฒนาอุตสาหกรรม การค้าข้ามพรมแดนและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ในกรอบการดำเนินงาน 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' เพื่อร่วมกันสร้างบทใหม่ของความร่วมมือแบบ win-win" นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าว

ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ (ประจำสำนักผู้ว่าการ) เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ในครั้งนี้ โดยบันทึกความเข้าใจฯ นี้ สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านทำเลที่ตั้ง และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่เมืองเจิ้งโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเมืองที่มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก และมีแผนงานที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในหลากหลายส่วนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่สำคัญ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่าง ๆ อีกด้วย

"กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจกับไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือ BRI มั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะดึงดูดนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอย่างแน่นอน" นายวีริศ กล่าว

ฟาก นายอู๋ เหวินฮุย ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) กล่าวว่า ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 เป็นกลุ่มบริษัทการลงทุนที่หลากหลาย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่ง และมีศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการที่ใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้น ฉวนโจว เจิ้งโจว ซีอาน และไป๋เซ่อ ดำเนินธุรกิจหลักด้านการลงทุน การก่อสร้าง และเขตอุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การฟื้นฟูเหมือง การพักผ่อนหย่อนใจเพื่อสุขภาพ การบินทั่วไป และการก่อสร้างคลังสินค้าโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ มีรายได้รวมต่อปีเกินกว่า 10,000 ล้านหยวน ดำเนินธุรกิจครอบคลุมหลายประเทศทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือก่อสร้าง 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' และส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความเจริญและยั่งยืนร่วมกัน 

"เราคาดหวังว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะให้การสนับสนุนนโยบายที่เอื้อประโยชน์สูงสุดในด้านต่าง ๆ เช่น การอนุมัติโครงการ การจัดสรรที่ดิน และการพัฒนาของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือที่แข็งแกร่งของทั้งสองฝ่าย จะทำให้ 'สองประเทศ สองนิคม' สามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเปิดดำเนินการได้อย่างราบรื่น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมจีน (เจิ้งโจว) และก่อให้เกิดผลกระทบแบบ 'แกนคู่' โดย China Management Century Enterprise Management Group Co., Ltd. จะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่มีอยู่หลากหลายประการอย่างเต็มที่ ร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ จากทั้งไทยและจีน จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพิ่มการสื่อสาร และร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการลงทุน ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้สูงขึ้น ช่วยให้ 'สองประเทศ สองนิคม' ผนวกรวมเข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่นวัตกรรม และห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนาที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้นสำหรับการเปิดกว้างเศรษฐกิจของไทยและจีน" ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป กล่าว 

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่าง กนอ. และ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ณ กระทรวงอุตสาหกรรม ขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้...

1.ทั้งสองฝ่ายให้ความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมระหว่างกันในพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม 

2.ให้ความร่วมมือในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้  

3.ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน กฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศของแต่ละฝ่าย และให้คำปรึกษาด้านการลงทุน 

4.ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การประชุม สัมมนา 

และ 5.จัดสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ กนอ. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนจีน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ระบบ One Stop Services ของ กนอ. และหากมีค่าใช้จ่ายใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ แต่ละฝ่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของตนเอง และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบภายในของแต่ละฝ่าย โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน

‘สีจิ้นผิง’ เตรียมเยือน 'ฝรั่งเศส-เซอร์เบีย-ฮังการี' 5-10 พ.ค.นี้ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ส่งเสริมสันติภาพ และการพัฒนาของโลก

(1 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ฮว่าชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ประกาศว่าสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะเดินทางเยือนฝรั่งเศส เซอร์เบีย และฮังการีอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 5-10 พ.ค. นี้

ฮว่ากล่าวว่า การเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้เป็นไปตามคำเชิญของเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส อเล็กซานดาร์ วูซิก ประธานาธิบดีเซอร์เบีย และทามาส ซูลิออค ประธานาธิบดีฮังการี และวิกโตร์ โอร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี

ด้าน หลินเจี้ยน โฆษกกระทรวงฯ อีกคน กล่าวว่านี่เป็นการเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกของผู้นำจีนในรอบเกือบ 5 ปี ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ของจีนกับฝรั่งเศส เซอร์เบีย ฮังการี และยุโรป รวมถึงส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาของโลก

‘ททท.’ ผนึกกำลัง ‘ยูเนียนเพย์’ หวังดึงตลาดจีนใช้จ่ายเพิ่มในไทย

(2 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และยูเนียนเพย์ อินเตอร์เนชันแนล (UnionPay International) ผู้ให้บริการทางการเงินของจีน ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยกระดับประสบการณ์การเดินทางในไทย

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวฯ ซึ่งร่วมพิธีลงนาม กล่าวว่า การทำงานร่วมกันครั้งนี้ที่มุ่งเน้นแผนริเริ่มและการประชาสัมพันธ์ตลาดร่วมกัน สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย ซึ่งต้องการสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวกับผู้มีบทบาทนำในตลาดนักท่องเที่ยวแห่งสำคัญ

ฐาปนีย์ อีกกล่าวว่า ข้อตกลงยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกันระหว่างไทยกับจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นมา ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือกับจีน รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกแก่การเดินทางและส่งเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพของนักท่องเที่ยวชาวจีน

ทั้งนี้ ฐาปนีย์เสริมว่า การพำนักแบบฟรีวีซ่า ระยะ 30 วัน กอปรกับความเป็นหุ้นส่วนกับยูเนียนเพย์ จะกระตุ้นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีกำลังจับจ่ายใช้สอยสูงและนิยมท่องเที่ยวไทยเดินทางมาไทยมากขึ้น และเพิ่มการจับจ่ายซื้อสินค้าและการบริการทางการท่องเที่ยวของไทย

ด้าน หวังลี่ซิน กรรมการบริหารยูเนียนเพย์ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า การทำงานร่วมกันครั้งนี้จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการชำระเงินมานำเสนอการเป็นจุดหมายท่องเที่ยวชั้นนำของไทย พร้อมกับมอบสิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ถือบัตรยูเนียนเพย์

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยระบุว่า จีนกลับมาครองตำแหน่งตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเยือนไทยมากที่สุดในปีนี้ คิดเป็นจำนวน 2.29 ล้านคน เมื่อนับถึงวันที่ 28 เม.ย. โดยปีนี้ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรวมกว่า 11.94 ล้านคนแล้ว

ไทยตั้งเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนในปีนี้ราว 8 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนทั้งหมด 11.1 ล้านคน ที่เดินทางเยือนไทยในปี 2019 อันเป็นช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่

‘สหรัฐฯ’ วอน ‘จีน-รัสเซีย’ เร่งประกาศเจตนารมณ์ “การใช้นิวเคลียร์ต้องตัดสินใจโดยมนุษย์ ไม่ใช่ AI”

(2 พ.ค.67) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้จีนและรัสเซียประกาศเจตนารมณ์ในลักษณะเดียวกับสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจโดยมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

นายพอล ดีน รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ประจำสำนักควบคุม ป้องปราม และเสถียรภาพอาวุธ กล่าวในงานแถลงข่าวออนไลน์ว่า รัฐบาลสหรัฐได้ให้คำมั่นอย่างชัดเจนและเด็ดขาดว่า มนุษย์เท่านั้นที่มีอำนาจควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด โดยฝรั่งเศสและอังกฤษก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ในทำนองเดียวกัน

“เราหวังว่าจีนและสหพันธรัฐรัสเซียจะออกแถลงการณ์ในลักษณะเดียวกัน” นายดีนกล่าวและว่า “เราเชื่อว่านี่เป็นบรรทัดฐานสำคัญอย่างยิ่งของพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบ และจะเป็นที่ยินดีอย่างยิ่งในบริบทของ P5” 

ทั้งนี้คำกล่าวของ นายดีน ยังหมายรวมถึง 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความเห็นของนายดีนมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามที่จะมีการหารือกับจีนอย่างละเอียด ทั้งในเรื่องนโยบายอาวุธนิวเคลียร์และการเติบโตของ AI

ประเด็นการแพร่กระจายเทคโนโลยี AI ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการเจรจาครั้งสำคัญระหว่างนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 26 เม.ย.

นายบลิงเกนกล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมทวิภาคีเกี่ยวกับ AI เป็นครั้งแรกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะแลกเปลี่ยนมุมมองกันว่าจะบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI ให้ดีที่สุดได้อย่างไร ในฐานะส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูการสื่อสารทางทหารให้กลับสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนได้กลับมาหารือเรื่องอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คาดว่าจะยังไม่มีการเจรจาควบคุมอาวุธอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้”

‘ทุเรียนไทย’ เสี่ยงไม่ได้ 'ยืนหนึ่ง' ตลาดจีน หลังหลายชาติทยอยรุกส่งออกกันไม่แผ่ว

(3 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ด่านโหย่วอี้กวนหรือด่านมิตรภาพบนพรมแดนจีน - เวียดนาม ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้รวม 48,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านหยวน (ราว 9.25 พันล้านบาท)

ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดข้างต้นแบ่งเป็นนำเข้าจากเวียดนาม 35,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.28 พันล้านหยวน (ราว 6.4 พันล้านบาท) และนำเข้าจากไทย 13,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 570 ล้านหยวน (ราว 2.85 พันล้านบาท) ซึ่งลดลงร้อยละ 59.5 และร้อยละ 63.5 เมื่อเทียบปีต่อปี

อนึ่ง ด่านโหย่วอี้กวนของกว่างซีจัดเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดในการนำเข้าทุเรียนและจุดสังเกตกระแสการบริโภคทุเรียนของตลาดจีน โดยศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่า มูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดผ่านด่านแห่งนี้ในปี 2023 รวมอยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.12 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 353 เมื่อเทียบปีต่อปี

ด้านสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียนสดในปี 2023 ราว 1.42 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.47 แสนล้านบาท) โดยปริมาณทุเรียนที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณทุเรียนนำเข้าทั้งหมดของจีน

บรรดาคนวงในอุตสาหกรรมมองว่าปริมาณทุเรียนสดนำเข้าจากไทยผ่านด่านโหย่วอี้กวนที่ลดลงในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนล่าช้ากว่าปกติ กอปรกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่นไทยส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียน

ทั้งนี้ ข้อมูลการบริโภคทุเรียนของตลาดจีนชี้ว่าสถานะ ‘ผู้นำ’ ของทุเรียนไทยในตลาดจีนกำลังสั่นคลอน เนื่องด้วยผลกระทบจากการส่งออกทุเรียนสู่จีนของแหล่งผลิตทุเรียนที่พัฒนามาทีหลังอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ ทำให้ทุเรียนไทยในตลาดจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือดยิ่งขึ้น

ช่ายเจิ้นอวี่ ผู้จัดการของบริษัท กว่างซี โอวเหิง อินเตอร์เนชันแนล โลจิสติกส์ จำกัด เผยว่า ช่วงก่อนปี 2023 บริษัทฯ นำเข้าทุเรียนจากไทยเท่านั้น แต่พอปี 2023 ทุเรียนที่นำเข้ามากกว่า 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งเป็นทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอย่างละครึ่ง โดยบริษัทฯ เลือกแหล่งผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคทั่วจีน

ช่ายกล่าวว่า การปลูกทุเรียนในไทยมักปลูกโดยครัวเรือนทั่วไปหรือกลุ่มหมู่บ้าน แต่การปลูกทุเรียนของเวียดนามมุ่งเน้นการเพาะปลูกขนานใหญ่ รวมถึงใช้ข้อได้เปรียบจากระยะทางขนส่งสั้น ความเป็นอุตสาหกรรมระดับสูง และต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ทุเรียนเวียดนามมีโอกาสรุกเข้าท้าชิงส่วนแบ่งตลาดจีน

คนวงในอุตสาหกรรมเผยว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศอาเซียนได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนสดสู่จีน ทำให้โครงสร้างตลาดทุเรียนของจีนเปลี่ยนแปลงไป โดยก่อนหน้านี้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดจีนมากที่สุดเสมอจนกระทั่งเวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนสดสู่จีนในเดือนกันยายน 2022 ทำให้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดจีนลดลง

สำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่าปี 2022 จีนนำเข้าทุเรียน 825,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทยมากกว่า 780,000 ตัน หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 95 ต่อมาปี 2023 จีนนำเข้าทุเรียน 1.42 ล้านตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทย 929,000 ตัน และทุเรียนเวียดนาม 493,000 ตัน ทำให้ทุเรียนเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ภายในหนึ่งปีและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันแม้ปริมาณทุเรียนสดส่งออกจากฟิลิปปินส์สู่จีนไม่ได้สูงมากแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่าปริมาณการขนส่งทุเรียนด่วนผ่านท่าอากาศยานนานาชาติหนานหนิง อู๋ซวี ในไตรมาสแรกของปีนี้รวมอยู่ที่ 1,201 ตัน ซึ่งมาจากไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยการนำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี

สวี่เฉียง รองผู้จัดการบริษัทที่ให้บริการขนส่งทุเรียนทางอากาศ เผยว่า มีการนำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ทางอากาศทุกวัน คิดเฉลี่ยราว 4 ตันต่อเที่ยวบิน โดยต้นทุนการขนส่งไม่สูงเพราะเป็นเที่ยวบินขากลับ และการขนส่งทางอากาศช่วยการันตีรสชาติสดใหม่ด้วย

นอกจากเวียดนามและฟิลิปปินส์แล้ว ทุเรียนมาเลเซียกำลังบุกตลาดจีนเช่นกัน โดยมาเลเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่แข็งสู่จีนตั้งแต่ปี 2011 และส่งออกทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกสู่จีนในปี 2019

ข้อมูลจากหอการค้าแห่งประเทศจีนเพื่อการนำเข้าและส่งออกอาหาร ผลผลิตพื้นเมือง ผลผลิตพลอยได้จากสัตว์ ระบุว่าปริมาณการส่งออกทุเรียนมาเลเซียแช่แข็งสู่จีนในปี 2023 อยู่ที่ 25,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.96 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบปีต่อปี

ฟาทิล อิสมาอิล กงสุลใหญ่มาเลเซียประจำนครหนานหนิง กล่าวว่าจีนกลายเป็นตลาดแห่งสำคัญของทุเรียนมาเลเซียหลังจากพัฒนามานานหลายปี โดยปัจจุบันมาเลเซียและจีนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อการส่งออกทุเรียนสดจากมาเลเซียสู่จีน

คนวงในอุตสาหกรรมทิ้งท้ายว่าตลาดผู้บริโภคทุเรียนของจีนมีขนาดใหญ่และความต้องการทุเรียนไทยจะยังคงเพิ่มขึ้น แต่ทุเรียนไทยกำลังเผชิญการแข่งขันกับอีกหลายประเทศ ทำให้ไทยต้องเร่งรักษาข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยนอกจากควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดผลกระทบต่อสถานะ ‘ผู้นำ’ ในตลาดจีน

‘สภาส่งเสริมการค้าจีนฯ’ เผย บริษัทเงินทุนต่างชาติ ปลื้มตลาดจีน คาด!! อีก 5 ปีข้างหน้า จะทำกำไรเพิ่มขึ้นอีกมาก 

(5 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลสำรวจบริษัทที่ใช้เงินทุนจากต่างชาติมากกว่า 600 แห่ง ซึ่งจัดทำโดยสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน พบว่าบริษัทเหล่านี้มีความเชื่อมั่นในตลาดจีนเพิ่มขึ้น โดยมากกว่าร้อยละ 70 ของบริษัทกลุ่มสำรวจมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการพัฒนาของตลาดจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 3.8 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

รายงานระบุว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการกลุ่มสำรวจมองว่าตลาดจีนมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.9 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทกลุ่มสำรวจคาดหวังว่าการลงทุนในจีนจะสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยร้อยละ 60 ของบริษัทเหล่านี้มาจากยุโรป

‘จ้าวผิง’ โฆษกสภาฯ กล่าวว่า ตลาดจีนยังคงมีข้อได้เปรียบรอบด้านอันโดดเด่นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ หากพิจารณาจากการดำเนินนโยบายสิทธิประโยชน์และสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนการลงทุน รวมถึงความพยายามเปิดกว้างอันมีมาตรฐานสูงของจีน

‘กัมพูชา’ ลั่น!! หวังจับมือ ‘หัวเว่ย’ บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน เพื่อกระตุ้นโครงการด้าน ‘การท่องเที่ยวดิจิทัล’ ในประเทศ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สก โสเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา เผยความคาดหวังว่ากัมพูชาจะได้ดำเนินความร่วมมือกับหัวเว่ย เทคโนโลยี (Huawei Technologies) ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน เพื่อส่งเสริมโครงการริเริ่มด้านการท่องเที่ยวดิจิทัลของกัมพูชา

โสเกนพบปะกับเถากวงเย่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย เทคโนโลยี (กัมพูชา) จำกัด และกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของเขาในการเสริมสร้างการทำงานระหว่างกระทรวงฯ กับหัวเว่ย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาโครงการริเริ่มการท่องเที่ยวดิจิทัล

การท่องเที่ยวเป็น 1 ใน 4 ภาคส่วนสำคัญที่สนับสนุนเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยรายงานล่าสุดจากกระทรวงฯ เปิดเผยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.58 ล้านคนในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 จาก 1.29 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปี 2023

ทั้งนี้ กัมพูชามีแหล่งมรดกโลก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานโบราณคดีอังกอร์ หรือนครวัดในจังหวัดเสียมราฐ กลุ่มปราสาทสมบูรณ์ไพรคุก ในจังหวัดกำปงธม รวมทั้งปราสาทพระวิหารและโบราณสถานเกาะแกร์ ในจังหวัดพระวิหาร และมีแนวชายหาดยาวราว 450 กิโลเมตร พาดผ่าน 4 จังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ สีหนุวิลล์ กัมปอต แกบ และเกาะกง

TikTok ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ หลังบีบให้ ‘ขาย’ หรือ ‘ถูกแบน’ ลั่น!! เป็นการละเมิดสิทธิ ด้วยคำอ้างความมั่นคงของชาติ

เมื่อวานนี้ (7 พ.ค. 67) ติ๊กต็อก (TikTok) ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ในความพยายามที่จะสกัดกั้นการบังคับใช้กฎหมายที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งพยายามบีบให้ติ๊กต็อกต้องเลือกว่าจะขายกิจการหรือจะถูกแบน โดยเอกสารฟ้องร้องที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี กล่าวหาว่า กฎหมายดังกล่าวซึ่งได้แก่ กฎหมายการปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยปรปักษ์ต่างชาตินั้น ละเมิดการคุ้มครองเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญ

เอกสารฟ้องร้องระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ติ๊กต็อกระบุในเอกสารฟ้องร้องว่า “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สภาคองเกรสได้ตรากฎหมายที่มุ่งเป้าแบนแพลตฟอร์มสำหรับการแสดงออกเพียงแพลตฟอร์มเดียวเป็นการถาวร…และห้ามชาวอเมริกันจากการมีส่วนร่วมในชุมชนออนไลน์มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก”

ติ๊กต็อกโต้แย้งว่า การอ้างถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติไม่ใช้เหตุผลที่เพียงพอในการจำกัดเสรีภาพในการพูด และรัฐบาลกลางมีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ว่า การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถทำได้

ด้านนายจอห์น มูเลนาร์ สส.จากรัฐมิชิแกนและประธานคณะกรรมการสภาผู้แทนฯ ด้านการคัดเลือกที่เกี่ยวกับจีนกล่าวว่า “สภาคองเกรสและฝ่ายบริหารได้สรุปจากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะและข้อมูลที่เป็นความลับว่า ติ๊กต็อกมีความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติและชาวสหรัฐ โดยข้อมูลระบุว่า ติ๊กต็อกยอมที่จะใช้เวลา เงิน และความพยายามในการต่อสู้ในชั้นศาล มากกว่าการแก้ปัญหาโดยการตัดสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผมมั่นใจว่ากฎหมายของเราจะมีผลบังคับใช้”

ฟากสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การฟ้องร้องในวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นความคืบหน้าล่าสุดของสถานการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินความพยายามมาหลายปีที่จะแบนติ๊กต็อก โดยความพยายามที่จะควบคุมแอปฯ ยอดนิยมนี้ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้การบริหารประเทศของทั้ง อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และ ปธน.โจ ไบเดน

ผู้กำเนิดชาติจีน คือ ‘เหมา เจ๋อตง’ แต่ผู้สร้างชาติจีน คือ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ผู้กำเนิดชาติอินเดีย คือ ‘มหาตมา คานธี’ แต่ผู้สร้างชาติอินเดีย คือ ‘ชวาหะร์ลาล เนห์รู’

(8 พ.ค. 67) ผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊ก ‘Thapanasak Thongsuwan’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

“ผู้กำเนิดชาติจีน คือ ‘เหมา เจ๋อตง’ แต่ผู้สร้างชาติจีน คือ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ผู้กำเนิดชาติอินเดีย คือ ‘มหาตมา คานธี’ แต่ผู้สร้างชาติอินเดีย คือ ‘ชวาหะร์ลาล เนห์รู’

คนศึกษาประวัติศาสตร์รู้ดีถึงบทบาท ที่แตกต่างของรัฐบุรุษในแต่ละชาติ แต่เห็นไหม ‘เติ้ง’ หรือ ‘เนห์รู’ ไม่เคยกล่าวร้ายแก่รัฐบุรุษคนแรกเลย 

แม้แต่ ‘สี จิ้นผิง’ หรือ ‘นเรนทรา โมดี’ ก็ไม่เคยเอาตัวไปเปรียบเทียบกับรัฐบุรุษทั้งสอง วิธีตะวันออกเป็นแบบนี้”

‘ฝูเจี้ยน’ เรือบรรทุกเครื่องบินของ ‘จีน’ ล่องทะเลครั้งแรกสำเร็จ หลังทำการทดลองระบบตัวเครื่อง ปลื้ม!! ผลลัพธ์เป็นไปตามคาด

(8 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ฝูเจี้ยน (Fujian) เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของจีน เดินทางกลับถึงอู่ต่อเรือเซี่ยงไฮ้ เจียงหนาน ตอนราว 15.00 น. ของวันพุธ (8 พ.ค.) หลังจากเสร็จสิ้นการทดลองล่องทะเลครั้งแรก

โดยรายงานระบุว่า เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนได้ทดสอบระบบขับเคลื่อนและระบบไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ระหว่างการทดลองล่องทะเล ระยะ 8 วัน ซึ่งประสบผลลัพธ์ตามการคาดการณ์

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนมิถุนายน ปี 2022 เรือฝูเจี้ยนได้รับการทดสอบตามข้อกำหนดการเดินเรือทางทะเล โดยเรือลำนี้สามารถบรรทุกน้ำหนักได้กว่า 80,000 ตัน

ด้าน ซ่ง เสี่ยวจวิน (Song Xiaojun) ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการทหารของจีนกล่าวว่า เรือฝูเจี้ยนได้รับการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดจากเรือ 2 ลำแรก คือ เรือเหลียวหนิง และ เรือซานตง โดยสามารถเดินเรือได้นานขึ้นและมีระบบปล่อยอากาศยานที่ทันสมัย

โดยเรือฝูเจี้ยนจะร่วมปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางเรือของจีนต่อไป

ซ่ง เสี่ยวจวิน กล่าวอีกด้วยว่า ตอนนี้มีเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำ ที่ปฏิบัติการอยู่ โดยเรือ 1 ลำ อยู่ระหว่างการบำรุงรักษา เรืออีกลำอยู่ระหว่างการปฏิบัติภารกิจการฝึก และอีกลำใช้สำหรับการฝึกรบ ทั้ง 3 ลำ จึงมีความสำคัญต่อการปฏิบัติการบนน่านน้ำ

อย่างไรก็ตาม เรือฝูเจี้ยนได้รับการพัฒนาด้วยการรวมเทคโนโลยีขั้นสูง และจะมีการทดสอบเพื่อติดตามผลตามแผนการที่กำหนดไว้ในระยะต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top