Tuesday, 7 May 2024
การศึกษา

KFC ช่วยเด็กนอกระบบ สู่โลกการศึกษา จุดเริ่มต้นสังคมเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.66) เศกไชย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และประธานมูลนิธิเคเอฟซี กล่าวว่า การทำธุรกิจมายาวนานกว่า 39 ปี มาจากความเชื่อของผู้พันแซนเดอร์สที่ว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ทุกฝ่ายในสังคมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน 

KFC จึงมุ่งมั่นร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคมในหลากหลายมิติ แทนคำขอบคุณคนไทยที่สนับสนุนแบรนด์เป็นอย่างดีเสมอมา เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องมีส่วนช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะนับจากปี 2566-2568 ต่อจากนี้ เราจะมุ่งผลักดันศักยภาพครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ผู้คน (people), โลก (planet) และอาหาร (food) 

โดยจะมุ่งเน้นเรื่องของผู้คนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของเรา หรือคนในสังคม ทั้งการผลักดันศักยภาพผู้คน และพนักงานด้วยการมอบโอกาส และการจัดการด้านอาหารผ่านโครงการ Harvest & Colonel’s Kitchen ที่ช่วยลดเรื่องของอาหารส่วนเกินที่ยังอุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพสูงให้กับองค์กรการกุศลที่ต้องการความช่วยเหลือ และ Planet ที่จะมุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืน โดยเริ่มจากบรรจุภัณฑ์ในร้าน และ Green Store Concept ที่จะเริ่มต้นดำเนินการในปีหน้า โดยทุกแผนงานจะเดินหน้าไปพร้อมกันทุกแฟรนไชส์

“สำหรับแผนความยั่งยืน เราอยากโฟกัสไปที่เรื่องคนเป็นหลักก่อน โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำในสังคมเห็นได้ชัดมาก เราจึงร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แก้ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาผ่านโครงการ KFC Bucket Search”

เศกไชย กล่าวต่อว่า เมื่อมองไปถึงระดับประเทศพบว่าเด็กไทยอายุ 15-23 ปี มีแนวโน้มออกจากระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นปีละเกือบ 1 แสนคน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงานหรือการฝึกอบรมพัฒนาใดๆ หรือกลุ่ม Not in Education, Employment, or Training (NEET) มากถึง 1.4 ล้านคน คิดเป็นราวร้อยละ 10 ของประชากรฐานภาษี

ประชากรกลุ่มนี้ถือเป็นทุนมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แม้บางส่วนจะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบ ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ จึงเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคม

“ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง เป็นโจทย์ที่ซับซ้อน และต้องได้รับการแก้ไข จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบของ กสศ. พบว่าเมื่อออกจากระบบกลางคัน เด็กส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แพ้ ถูกตีตราจากสังคม จนเป็นชนวนไปสู่ปัญหาเชิงพฤติกรรม หากปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนาน การช่วยเหลือเยียวยาจะยิ่งทำได้ยาก หนึ่งในภารกิจของ กสศ. คือการส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีเส้นทางรองรับเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้ก้าวต่อไปได้บนวิถีทางของตน”

หากแก้ปัญหาเด็กนอกระบบได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีมูลค่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นปีละประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ KFC Bucket Search เป็นโครงการระยะยาวตลอดปี 2566-2568 โดยมอบโอกาสทางการศึกษา พัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นจากการให้โอกาสพวกเขาทำความเข้าใจตัวเอง และวางแผนชีวิตผ่านการศึกษาทางเลือกที่สอดรับกับความต้องการของตน ทำให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเอง และกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้

สำหรับเด็กและเยาวชนภายใต้โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะการดำรงชีวิตและเงินทุนตั้งต้น เติมเต็มทักษะและศักยภาพในด้านที่พวกเขาตั้งใจ โดยไม่กระทบกับชีวิตประจำวันที่บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปด้วย

ด้วยทางเลือก work & study ที่ช่วยแบ่งเวลาและรายได้ และทางเลือกเงินทุนเพื่อวิชาชีพ หากน้อง ๆ ต้องการเป็นช่างตัดผม ช่างสัก หรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ก็พร้อมมอบให้ทั้งองค์ความรู้และเงินทุนตั้งต้นอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม สิ้นปีนี้ตั้งเป้าปลดล็อกศักยภาพน้อง ๆ กว่า 200 คน และขยายขึ้นในทุก ๆ ปี ผ่านโครงการ KFC Bucket Search คาดว่าจะมีน้อง ๆ ทั้งสิ้นกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ที่จะเปลี่ยนสถานะจากเด็กนอกระบบการศึกษาสู่การเป็นเด็กนอกกรอบที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพ” เศกไชย กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วง 2-3 ปีนี้ถือว่าวิกฤตหนัก จากงานวิจัยพบมี 2 รูปแบบคือ…

1.เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน จากปัญหาความยากจน ซึ่งพบว่าสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้น ประชาชนเกือบ 3-4 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นรายได้ของประเทศ หรือมีรายได้ 1,370 บาทใน 1 เดือน รวม 1 ปีไม่เกิน 2 แสนบาท แต่มีหนี้สินถึง 147,707 บาท ซึ่งเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำสูง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อของ ป.6 จะขึ้น ม.1 หรือ ม.3 จะขึ้น ม.4 ซึ่งการเรียนฟรีไม่มีอยู่จริง เพราะสุดท้ายแล้วก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอีกเยอะ

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มเด็กที่ถูกผลักออกจากการศึกษา ซึ่งมาจากปัญหาเชิงพฤติกรรมที่โรงเรียนไม่สามารถรักษาไว้ได้ เช่น เด็กตั้งครรภ์ ยาเสพติด ความรุนแรง ส่วนใหญ่ออกช่วง ม.2 ครึ่ง หรือช่วงมัธยมต้น หรือติดศูนย์ ติด ร. กลุ่มนี้มีจำนวนมากถึงปีละ 6-7 หมื่นราย เฉพาะช่วงโควิด-19 ระยะเวลา 2-3 ปีรวมราว 237,700 ราย แต่ถ้ารวมทั้งหมดตอนนี้มีประมาณ 1.4 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือ 4 ใน 5 ของเด็กกลุ่มนี้ ไม่มีเป้าหมาย หรือแรงจูงใจในการศึกษาที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เขาอยู่ไปวัน ๆ นี่คือกลุ่มที่ใหญ่ของสังคมไทย แล้วเรายังมีเด็กนอกระบบ เด็กด้อยโอกาสอีก 15 กลุ่ม ทั้งเด็กเร่ร่อน ตอนนี้จาก 3 หมื่น พุ่งเป็น 5 หมื่น จากแรงงานเด็ก ที่ทะลุจากชายแดนเมียนมาก็เยอะ เด็กไร้สัญชาติก็มาก ปัญหาใหญ่คือประเทศเพื่อนบ้านเด็กหนีสงครามเข้ามา กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ อยู่ตามแม่สอด เชียงราย แม่ฮ่องสอนเต็มไปหมด พวกนี้ค่อย ๆ ทะลักเข้ามา สุดท้ายมากองรวมที่ กทม.เป็นหลัก

“แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นบ้าง แต่ไม่ได้ลงไปถึงคนระดับรากหญ้าเท่าไหร่นัก การจะทำให้การศึกษาไปต่อยากมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น จัดโครงการ หรือช่วยกันยกระดับอย่างไรก็ได้ เพราะลำพัง กสศ.หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่เราจะมีหน้าที่ชี้เป้า สร้างต้นแบบ บทเรียน ถ้าเราช่วยกันมากขึ้น อีก 10-15 ปี ความเหลื่อมล้ำจะค่อย ๆ ลดลง หรือดีขึ้นตามลำดับ”

'อ.แพท' เตือน!! 'พิธา' โกหกทางคณิตศาสตร์ ตัวเลขมักจะไม่ลงตัว ชี้!! เป็นตัวจริง ม.Top 10 ของโลก ไม่ต้องไปแต่งเติมอะไรเพิ่ม

(22 พ.ย. 66) แพท แสงธรรม นักวิชาการอิสระ ด้าน Communication Facilitator และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในอีกหลายแขนง ได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยระบุว่า…

SELF SLANDER ป้ายสีตัวเอง

วันนี้ทั้งโซเชียล มีแต่เรื่องพิทาคิโอ และการเล่าเรื่องราวที่ไม่ตรงกัน สะท้อนบุคลิกและสภาพจิตไปถึงไหนต่อไหน

ใครจะแต่งเรื่องอะไรต้องไม่โกหกทางคณิตศาสตร์เพราะตัวเลขมันจะไม่ลงตัว

การไปเรียนที่ University of Texas at Austin ก็เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ เพราะ ranking ของ UT at Austin ก็ดีงามตามสถิติ ใน World Ranking อยู่ที่ช่วงอันดับ 50-70 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก เฉพาะในอเมริกา มีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยที่ให้วุฒิปริญญาเกือบ 4,000 แห่ง Top 10% คือ อยู่ใน 400 อันดับแรก Top 1% คือใน 40 อันดับแรก UT at Austin จึงถือว่าอยู่ใน Top 2% ทำให้ UT at Austin เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความเป็นเลิศและมีศักดิ์ศรีสูงที่สุดแห่งหนึ่ง

Harvard และ MIT มีแคมพัสอยู่ใกล้กัน ห่างกันไม่ถึง 3 กม. ขับรถ 5 นาที เดิน ครึ่งชั่วโมง และมีโปรแกรมที่ช่วยให้ นศ. คว้าปริญญาได้จากทั้งสองแห่ง เรียกว่า joint degree program วิชา course work ที่ซ้ำกัน ก็เก็บหน่วยกิตมาจากที่ใดที่หนึ่ง ดังนั้น แทนที่จะต้องใช้เวลา 5 ปีเพื่อให้ได้ปริญญาบัตร 2 ใบ ก็อาจใช้เวลาเพียง 3 ปี

อย่างไร ก็ต้องเรียนหนัก เพราะมหาวิทยาลัยมีอันดับ สอนกันหนัก ต้องรักษาอันดับและมาตรฐานกันอย่างเหนียวแน่น ทั้งอาจารย์และนักศึกษาจริงจังกันอย่างเขี้ยวฝังร่าง ใครที่เรียนในสถาบันที่อยู่ใน อันดับ Top 100 ก็ถือว่าคุณภาพสูงอยู่แล้ว

ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแต่งแต้มเรื่องราวให้กับประวัติการศึกษาอะไร ให้ผิดไปจากความจริง

ในกลุ่มวิชาการ นอกจากมองดูการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยมาตรฐานรวม อย่างของ QS ที่นิยมอ้างถึงกันเป็นเกณฑ์แล้ว ผู้รู้จริง ยังเจาะลึก เลือกมหาวิทยาลัย ที่มีความเป็นเลิศ เฉพาะทางอีก ตัวอย่างเช่น นอกเหนือจาก กลุ่ม Ivy League แล้ว มหาวิทยาลัยที่เด่นด้านสื่อสารมวลชน ยังมี University of Florida, University of North Carolina at Chapel Hill และ University of Michigan Ann Arbor เป็นต้น 

ส่วนทางด้านประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากไอวี่ ลีก ก็ยังมี Duke, Vandebilt, Panoma College, Rice, Northwestern, Davidson College และอีกมากมาย

ทางด้านรัฐศาสตร์ นอกจากกลุ่มไอวี่ ก็ยังมี University of Wisconsin, Ohio State University, UT at Austin, New York University, Emory University etc.

ใครที่มุ่งมั่นในแต่ละสาขา จะพิจารณาความเป็นเลิศทางวิชาการเฉพาะสาขา ของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย ไม่ได้สมัครเรียนโดยดูจาก Ranking รวมๆ เป็นสำคัญ ไม่เน้นแบรนด์ใหญ่หรือความโด่งดังเป็นหลัก

มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกา คนไทยไม่คุ้นเคย ดูแต่ Ranking รวม ๆ ที่มีตัวแปรหลายอย่าง ทั้งจำนวนนักศึกษานานาชาติ ความสมบูรณ์ทางด้านเทคโนโลยี ประมาณงานวิชาการที่ตีพิมพ์ของคณาจารย์ ฯลฯ ส่วนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศ เฉพาะทาง ว่าด้วยความเจนชัดทางวิชาการไปเลย

ผู้ที่เรียนจบจากสถาบันที่มีชื่อเสียง รู้อยู่แก่ใจ เพื่อนคนไทยจะรู้จักหรือไม่ ไม่สำคัญ คนที่จบมาย่อมเป็นจอมยุทธ ที่ไม่ต้องประกาศหรือดัดแปลงข้อมูลใด ๆ

ภาพประกอบเหมือนไม่เกี่ยวกับเนื้อหา เพราะเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยไทย แต่ก็เกี่ยวแหละ จำนวนมหาวิทยาลัยทั่วโลกมีกว่า 25,000 แห่ง การจัดอันดับของ QS คัดไว้เฉพาะ 1,500 แห่ง 

ผู้ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่อยู่ใน Top 10% ของโลกก็โอเคแล้ว ไม่ต้องไปแต่งเติม Storytelling ให้เสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์

‘ศุภชัย’ บิ๊กใหญ่ ‘ซีพี’ ชงพลิกโฉมการศึกษาไทย รับมือโลกยุค 5.0 หนุนเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ เสริมทักษะดิจิทัล-ภาษาอังกฤษ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 รายงานข่าวเผยว่า นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่อง ‘The Future of Education พลิกโฉมการศึกษาไทยเท่าทันอนาคต’ ภายในงาน ‘THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 FUTURE READY THAILAND’ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ นายศุภชัย ได้ฉายภาพรวมความท้าทายของโลกและเมกะเทรนด์ปี 2023 - 2030 โดยระบุว่า เด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายของโลกในหลายด้าน ดังนั้น เราต้องปรับตัวให้ทัน และต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมากขึ้น เพราะเราหยุดความก้าวหน้าของโลกไม่ได้ แม้ว่าในตอนนี้โลกอยู่ในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการเข้าถึงข้อมูลเป็นดั่งน้ำมันในอากาศ

เวลานี้กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคของการผสมผสานเทคโนโลยี AI และกรอบความคิดของคน รวมถึงหลักความยั่งยืนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นยุคที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงให้กับคนในประเทศ

แต่ทั้งนี้ เมื่อมาดูผลสำรวจความสามารถทางทักษะดิจิทัล พบว่า เด็กไทยยังขาดทักษะดิจิทัลและภาษาอังกฤษที่ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน และหากดูการจัดอันดับการแข่งขันในเวทีโลก GDP ไทยอยู่อันดับที่ 26 แต่ GDP/CAPITA อยู่อันดับที่ 84  ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทำให้เด็กเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์ คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

นายศุภชัย ได้เสนอแนะสิ่งที่จะพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เท่าทันความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตว่า ระบบการศึกษาไทยควรต้องปรับการเรียนรู้จาก 2.0 เป็น 5.0 เข็มทิศสำคัญคือการให้ความรัก ให้ความมั่นใจกับเด็ก เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง โดยบทบาทของครูจะต้องปรับเปลี่ยนจากผู้สอนไปเป็น ‘โค้ช’ หรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ต้องสอนให้เด็กเป็น ‘นักค้นคว้า’ มีกรอบความคิดใหม่ และเกิดการปรับตัวให้อยู่รอดในโลกที่ท้าทายตอนนี้ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้จึงต้องปรับให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนา โดยทุกโรงเรียนต้องปรับเป็น ‘Learning Center’

พร้อมกันนี้ได้เสนอโมเดล ‘Sustainable Intelligence Transformation’ (SI Transformation Model) ผ่าน 5 ฐานสำคัญในการเปลี่ยนระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ประกอบด้วย

1.) Transparency โรงเรียนต้องมีตัวชี้วัด School Grading พร้อมตัวชี้วัดใหม่ที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีสมุดพกดิจิทัล วิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพรายบุคคล

2.) Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการส่งเสริมสื่อคุณธรรม

3.) Leadership &Talents ไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ สร้างผู้นำและบุคลากรที่มีทักษะ 5.0

4. Empowerment เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning บนสามขาความยั่งยืนคือเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และควรต้องมี Computer Science เป็นวิชาหลักครอบคลุมดิจิทัลเทคกับเอไอ

5.) Technology เสนอให้นักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพ และดันให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านนวัตกรรม

“เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพราะนั่นคือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุด และต้องมีการส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่ เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้ การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องใหญ่ หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต เราต้องเปลี่ยนเจเนอเรชั่นถัดไป เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ และต้องสร้างทักษะดิจิทัลให้พวกเขามีศักยภาพในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างเท่าทัน” ซีอีโอเครือซีพี กล่าว

การศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นหนทางสู่ความก้าวหน้าของทุกสิ่ง

ไม่ว่าจะยุคไหน ๆ ‘การศึกษา’ ก็เป็นสิ่งสำคัญและเป็นพื้นฐานของความก้าวหน้าของทุกสิ่ง ทางด้านศาสตราจารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็ได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่า…

“การพัฒนาและความก้าวหน้าของทุกประเทศทั่วโลก เริ่มจากการวางรากฐาน ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้น”

ระบบการศึกษาเวียดนาม ความคล้ายคลึงที่อาจไม่ต่างจากไทย เน้นสอนให้ท่องจำไว้ เพื่อดันผลคะแนนสอบ PISA ให้ได้สูงๆ

(8 ธ.ค.66) จากเพจ ‘Mr Strategist’ ได้โพสต์ข้อความชวนคิดในหัวข้อ ‘เด็กเวียดนามเรียนเก่งกว่าไทยจริงไหม?’ ความว่า...

เด็กเวียดนามเรียนเก่งกว่าไทยจริงไหม? วัดกันยากครับ ผมเคยไปพูดคุยกับคณะทำงานของฝั่งเวียดนาม เจ้าหน้าที่ระดับล่างและระดับกลางบ้านเขาก็ไม่ได้พูดอังกฤษเก่งนะ (จากการประเมินของผม)

ภาษาอังกฤษเขาก็ติดสำเนียงท้องถิ่น พูดแบบไม่แม่นแกรมม่าเหมือนบ้านเรานี่แหละ แต่เขาดูมีความพยายามมากๆ ในการพูด ถามว่าการแข่งขันเขาสูงไหม สูงมากครับ

สูงไม่ต่างจากจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น เขาแข่งกัน ในแบบที่บ้านครอบครัวเด็กยากจนยังวิ่งหาเงิน เพื่อจ่ายค่าติวเตอร์/ส่งลูกเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนน่ะ…

เรื่องคะแนนคณิตศาสตร์เนี่ย แน่นอน พูดกันในเรื่องการออกแบบหลักสูตรแล้ว มันไม่ค่อยซับซ้อนอะไรมาก รัฐบาลเวียดนามสั่งกระทรวงศึกษาฯ ไปว่าอยากได้คะแนนสอบ PISA เยอะๆ

ทางโรงเรียนก็ไปเร่งสอน ไปบีบเด็กให้ท่องจำ ไปเน้นอัดความรู้ให้เด็กๆ แค่นี้เองครับ คนแวดวงการศึกษาของเวียดนามเคยเล่าให้ผมฟัง คะแนนคณิตศาสตร์บ้านเขาดี ก็เพราะหลักสูตรมันเน้นอัดทุกอย่างให้เด็กท่องจำไม่ต่างจากบ้านเรา

ดังนั้น ผมว่าแค่คะแนนอะไรพวกนี้มันน่าจะวัดความเก่ง หรือสติปัญญาไม่น่าจะได้ และคะแนนที่เก็บสถิติมามันก็แค่ค่าเฉลี่ย ไม่สะท้อนภาพรวมทั้งประเทศ อย่างมากอาจจะวัดภาพรวมคุณภาพและการบริหารจัดการระบบการศึกษา

(เพราะท้ายที่สุด กลุ่มตัวอย่างที่ดึงให้คะแนนภาพรวมของประเทศขึ้นหรือลง มันคือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถ้าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับการกระจายทรัพยากรการศึกษาที่ดีพอ ทำยังไงคะแนนภาพรวมในประเทศก็ไม่ขึ้นครับ)

แต่จุดเด่นหนึ่งที่เวียดนามเขาดีกว่าเราในตอนนี้คือ บ้านเขาประชากรยังหนุ่มสาวเยอะ มีวัยรุ่นพร้อมเป็นแรงงานราคาถูกมากกว่าประเทศไทย

เขาผลิตเด็กออกไปเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมได้ แต่ไทยเราควรเลิกหวังเรื่องผลิตเด็กออกไปเป็นแรงงานพวก Semi Skilled หรือ Unskilled ได้แล้ว

ค่าแรงบ้านเราแพงครับ ยังไงก็แข่งไม่ได้ โรงงานของบริษัทข้ามชาติยังไงก็ชอบเวียดนามกับอินโดนีเซียมากกว่าบ้านเราในระยะยาว

ยังไงไทยก็ควรปรับ Position ตัวเองให้พร้อมกับการผลิตแรงงานป้อน Service Sector และ IT Sector ที่มันซับซ้อนกว่าแค่การเป็นแรงงานประกอบชิ้นส่วนครับ

ความธรรมดาของลูก!! รางวัลที่สุดพิเศษของ ‘เช็ค สุทธิพงษ์’ เมื่อเธอผู้จบเกียรตินิยมอันดับ 1 รักในงานธรรมดาที่แสนสุข

ไม่นานมานี้ ‘เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ’ พิธีกร และผู้ผลิตสื่อชื่อดัง แห่งทีวีบูรพา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suthipong Thamawuit’ ระบุว่า...

ผมพบว่า ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งพิเศษเหนือความคาดหมายอะไรมามอบให้ เพียงแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ จากลูก ก็นำความสุขมาให้คนเป็นพ่อแม่ได้มากมาย

พี่เช็คเล่าว่า ลูกสาวคนเล็กที่ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างทำผมในร้านซาลอน เอามือที่สากและลอกเป็นขุยของเธอมาให้ดู จับมือพ่อไปเทียบกันแล้วบอกว่า “ดูสิ ตอนนี้มือพ่อนุ่มกว่ามือหนูอีก”

พี่เช็ค ถามว่าเป็นเพราะสารเคมีหรือเปล่า เพราะงานของเธอเกี่ยวกับการย้อมสีผม เธอบอกว่าไม่ เพราะตอนใช้สารเคมีเธอใส่ถุงมือ

เธอไม่ได้กังวลกับมือที่สากและลอกเป็นขุยนั้น แต่เหมือนจะอวดว่านั่นคือ ร่องรอยของความเอาจริงเอาจังจากการทำงาน 

งานของเธอเป็นลูกจ้างเล็กๆ เด็กฝึกหัดอยู่ในร้านทำผมขนาดย่อม ที่เธอรู้สึกว่าเธอโชคดีที่ได้ทำงานในร้านนี้ 
เธอตื่นไปทำงานอย่างกระตือรือร้น มีวินัยและกลับจากทำงานด้วยความสุขทุกวัน 

แม้ว่าบางวันจะ ‘ยม’ จนแทบไร้วิญญาณ 

อย่างวันที่ผ่านมานี้ เนื่องจากลูกค้าที่มาอุดหนุนร้าน กับจำนวนพนักงานที่มีลากิจบ้าง ลาป่วยบ้าง สร้างความชุลมุนในการทำงานไม่น้อย และกว่าจะเสร็จก็ค่ำมืด เธอยืนทำงานทั้งวันจน ‘ยม’

แต่เมื่อกลับถึงบ้าน ทุกครั้งสิ่งที่เธอนำกลับมาให้พ่อเห็น ก็คือความภาคภูมิใจที่ทำภารกิจลุล่วงจนได้ ผมพบว่านี่เป็นโบนัสที่เธอได้รับจากการทำงานแทบทุกวัน และทุกคืนที่นั่งคุยกัน ผมก็จะพลอยมีความสุขกับเธอไปด้วย

เมื่อคืนเธอพูดกับผมในสิ่งที่ไม่เคยพูดมาก่อน เธอบอกว่า เธอเป็นพนักงานฝึกหัดที่ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมถึงมาทำงานเป็นลูกจ้างร้านทำผม ผมถามว่าทำไม?

เธอบอกว่า “พ่อนึกออกไหม สังคมจะมีเกรดหรือภาพของเด็กลูกจ้างในร้านทำผมแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เด็กจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเกี่ยวกับโซเชียลเอนเตอร์ไพรซ์ ด้วยเกรดเกียรตินิยมอันดับหนึ่งอย่างเธอ ซึ่งน่าจะไปทำงานสตาร์ตอัป หรือไม่ก็งานสื่อสารองค์กรในบริษัทชั้นนำ ที่น่าจะมีรายได้และอนาคตมากกว่าการดัดย้อมผมหลายเท่า”

แต่เธอไม่เคยมองว่าเธอเป็นคนเกรดไหน และงานทำผมเป็นงานของคนเกรดอะไร แค่เธอพบว่า งานทำผมคือ งานที่เธอทำแล้วมีความสุข

ผมไม่เคยสงสัยและคาดหวังอื่นใดในการเลือกของลูก ผมมีความสุขกับการที่ลูกไปทำงานอย่างมีความสุข และกลับจากทำงานด้วยความสุขและภาคภูมิใจทุกวัน 

ผมคิดว่า นี่คือคือปัจจุบันและการเริ่มต้นที่ดีที่สุด

การเริ่มต้นเดินทางที่ชัดเจนและรู้ความหมายนั้น จะนับว่าเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่งก็น่าจะได้

เพราะในวัยเดียวกัน ผมเคยผ่านมาแล้ว ด้วยความเคว้งคว้าง จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะพาชีวิตไปทางไหนดี 

อย่าว่าแต่ทางที่ไปใช่หรือไม่เลย แม้แต่เขาเลือกทางชีวิตกันแบบไหน อย่างไรผมก็ยังไม่รู้ 

เพราะฉะนั้น เห็นความธรรมดาของลูกแค่นี้ ก็เป็นรางวัลที่พิเศษสุดของพ่อแล้ว

ก่อนขอตัวขึ้นไปนอน เธอบอกว่า พ่อก็เป็นช่างตัดผมได้นะ ถ้าได้เรียน ผมบอกว่าก็น่าจะได้นะ แต่น่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้ เพราะไม่น่าจะมีใครมาตัดกับพ่อ 

เธอหัวเราะแล้วบอกทีเล่นทีจริงว่า แต่มือนี้เลี้ยงพ่อได้นะ เพราะนี่คือมือของคนที่จะรวย 

ผมนึกในใจ ถ้ามือสากด้านบ่งบอกความรวย ที่ผ่านมา พ่อน่าจะระดับมหาเศรษฐี แต่ไม่ทันได้พูด เธอก็บอกว่า ไปอาบน้ำนอนล่ะ พรุ่งนี้ต้องรีบไปแต่เช้า

ผมถามว่าทำไมต้องไปแต่เช้า ก็วันนี้ยมมาทั้งวัน เธอบอกว่าไปพับฟอยล์ (วัสดุที่ใช้ในการทำสีผม) เดี๋ยวจะไม่มีใช้ ผมถามว่าปกติเป็นหน้าที่ของลูกหรือ เธอบอกว่าไม่ใช่ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน

ถามต่อว่าถ้าลูกไม่พับ ใครพับ เธอตอบว่าบางครั้งเจ้าของร้านก็ต้องพับเอง เธอคิดว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าจะถูกต้อง

ผมบอกว่าถ้าที่ทำงานไหน มีพนักงานที่คิดแบบลูกสักครึ่งหนึ่ง จะเป็นกิจการที่ดีและเจ้าของกิจการก็โชคดีมาก

เธอขึ้นไปแล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่แค่เจ้าของร้านหรอกที่โชคดี ตัวเองก็โชคดีมาก ที่ได้รางวัลเสมอจากการสนทนากับลูก

‘เยอรมัน’ ขาดแคลน ‘ครู’ อย่างหนัก จนต้องลดคลาส ทำ นร.เกรดร่วง หลังคนหนุ่ม-สาวหันเมินอาชีพนี้ เหตุค่าตอบแทนต่ำ สวนทางภาระงาน

‘นักการศึกษาเยอรมัน’ จี้!! รัฐบาลแก้ปัญหาขาดแคลนครูอย่างหนักทั่วประเทศด่วน โดยชี้ข้อมูลจากผลสอบวิชาคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และการอ่านของนักเรียนระดับเกรด 9 ในเยอรมันร่วงลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดครูในโรงเรียน

‘รีเบคก้า’ ครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในฮัมบูร์ก ผู้มีประสบการณ์สอนในวิชาภาษาอังกฤษ และ ประวัติศาสตร์มานานกว่า 30 ปี เปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อเยอรมันว่า โดยทั่วไปแล้ว วิชาภาษาเยอรมัน, อังกฤษ และ คณิตศาสตร์ ถือเป็นวิชาหลักที่ต้องเน้นเป็นอันดับแรก แต่เมื่อครูขาดแคลน ทำให้โรงเรียนจำเป็นต้องงดคลาสวิชาอื่นๆ เพื่อเทครูมาสอนวิชาหลักก่อน ซึ่งหลายครั้งที่ชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของเธอต้องถูกยกเลิกไปเป็นเดือนก็มี

โดย ครูรีเบคก้า เล่าว่า ปัญหาการขาดแคลนครูมีมานานแล้ว แม้ว่าทางโรงเรียนพยายามประกาศรับสมัครครูมาตลอด แต่ก็ยังได้จำนวนครูมาไม่พอ และยังทำให้ครูที่ยังเหลืออยู่ต้องแบกรับภาระการสอนที่เพิ่มมากขึ้นจนป่วยจากการทำงานหนัก

ปัญหานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่โรงเรียนของครูรีเบคก้า แต่เป็นปัญหาของโรงเรียนทั่วเยอรมัน จนหลายโรงเรียนต้องลดทอนหลักสูตรให้สั้นลง บางโรงเรียนเปิดการสอนได้แค่ 4 วันต่อสัปดาห์ ที่ไม่ใช่เหตุผลเรื่อง Work life balance แต่เพราะไม่มีครูมาสอน

สื่อเยอรมันชี้ว่า โรงเรียนในเยอรมันอาจขาดแคลนครูหลายหมื่นตำแหน่ง และเนื่องจากการกำหนดรูปแบบหลักสูตร และสวัสดิการครู อยู่ในอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละ 16 แคว้น ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ก็ยิ่งทำให้การจัดการหาผู้สอนมีความยากขึ้นไปอีก

ด้านรัฐมนตรีศึกษาธิการของรัฐบาลกลาง และหน่วยงานของแต่ละแคว้น พยายามหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหา ซึ่งได้ประเมินว่าทั่วประเทศน่าจะขาดแคลนครูอยู่ประมาณ 14,000 ตำแหน่ง

แต่ทว่า นักเศรษฐศาสตร์, นักวิชาการด้านการศึกษา และ กลุ่มสหภาพแรงงานครูออกมาค้านว่ารัฐบาลประเมินตัวเลขต่ำเกินไป ไม่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงทั้งในปัจจุบัน และ อนาคต

หากประเมินจากตัวเลขนักเรียนในโรงเรียนของปีนี้ (2023) ที่มีอยู่ประมาณ 830,000 คน บางส่วนมาจากกลุ่มชาวต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเยอรมันมากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าอัตราเด็กเกิดใหม่ในเยอรมันน่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่เยอรมัน จำนวนครูกลับลดลงเรื่อยๆ ทุกปี หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ป้ญหาในวันนี้ คาดว่าในปี 2035 เยอรมันอาจขาดแคลนครูมากกว่า 56,000 ตำแหน่ง

ในขณะที่เยอรมันกำหนดให้ครูต้องจบวุฒิขั้นต่ำปริญญาตรีที่ตรงสาย แต่เพราะปัญหาการขาดแคลนครู ทำให้รัฐบาลเยอรมันอนุโลมให้ผู้ที่จบสาขาอื่นๆ ที่เข้าอบรมหลักสูตรด้านการสอนฉบับเร่งรัดสามารถบรรจุเป็นครูได้ แต่ก็เหมือนเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกที่คัน เนื่องจากผลสำรวจพบว่า หนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจอาชีพครูกันแล้ว

เหตุผลเพราะว่า อาชีพครูในความคิดของหนุ่ม-สาวยุคนี้ถูกมองว่าเป็นงานหนัก ค่าตอบแทนน้อย รับผิดชอบสูง มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน แม้รัฐบาลจะกำหนดให้ครูมีชั่วโมงการสอนเฉลี่ย 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่มักพบว่าสอนเกินเกณฑ์มาตรฐานไปไกลมาก ถึง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มิหนำซ้ำ หน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐเสนอแนะให้เพิ่มชั่วโมงการเรียนของนักเรียน ยืดอายุวัยเกษียณของครู เพิ่มจำนวนนักเรียนในชั้น และคาดหวังเทคนิคการสอนที่หลากหลาย

ด้วยอุปสรรคหลายปัจจัยจนปวดใจ เลยทำให้เยอรมันหาครูมาสอนได้ยาก และครูหลายคนเลือกที่จะรับงานสอนแบบ Part-time มากกว่าทำงานแบบประจำเต็มเวลา เพราะมีความยืดหยุ่นในชั่วโมงการสอนได้มากกว่า

ร่ายยาวมาถึงตรงนี้ เราจึงเข้าใจ และเห็นภาพของวิกฤติครูในเยอรมัน และปัญหาที่ครูสาวรีเบคก้ากำลังเผชิญอยู่ ว่าทำไมครูในเยอรมันถึงขาดแคลน และต้องทำงานหนัก ทำไมบางโรงเรียนในเยอรมันถึงไม่สามารถเปิดสอนได้เต็ม 5 วันต่อสัปดาห์ และต้องตัดวิชาเสริม เน้นสอนแต่วิชาหลัก จนส่งผลเสียต่อผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนโดยรวมของนักเรียนเยอรมันไปในที่สุด

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

(14 ธ.ค.66) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

"พ่อแม่ต้องอยู่เบื้องหลังลูกทุกคน สนับสนุนในสิ่งที่ลูกรัก ที่ลูกอยากทำ สร้างความมั่นใจ ไม่ต้องกลัว ทำดี ทำเลย...สุภาพอ่อนน้อม เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก...พูดคุย ยิ้ม หัวเราะ กอดกัน สร้างวินัย รับผิดชอบเรื่องการเรียน สอนให้รู้จักอารมณ์ตัวเอง รู้จักผิดถูก และ...เล่นมือถือต่อหน้าลูกให้น้อยลง"

'ดร.เอ้' เชื่อ!! ความรู้ยุคนี้เปิดกว้าง แต่มหาวิทยาลัยก็ยังไม่ถูกทิ้งขว้าง เพราะ 'การอยู่ร่วมกัน-เรียนรู้ชีวิตที่แท้จริง' หาไม่ได้จากสื่อโซเชียล

เมื่อไม่นานมานี้ ติ๊กต็อกช่อง @aesuchatvee ของ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้โพสต์คลิปวิดีโอช่วงหนึ่งของรายการ Secret Sauce หลังจากได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็น ‘มหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่ไหม?’ ในโลกที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากหลากหลายแหล่ง ซึ่ง ดร.เอ้ ก็ได้แชร์มุมมองเอาไว้ว่า...

“มหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่หรือไม่นั้น...เราไม่สามารถตอบได้ อีก 20 ปีอาจจะไม่อยู่แล้วก็ได้ แต่การศึกษาจะยังคงมีอยู่ เพราะฉะนั้นไม่มีใครตอบได้ ดังนั้น แล้วมันยังจําเป็นไหม ขอยืนยันว่าจําเป็น… เพราะมหาวิทยาลัยมันไม่ได้สอนวิชาการเท่านั้น“

จากนั้น ดร.เอ้ ได้ยกภาพยนตร์เรื่อง Good will hunting เพื่ออธิบายต่อว่า “Good will hunting เป็นจุดกําเนิดของ ‘แมตต์ เดม่อน’ กับ ‘เบน แอฟเฟล็ก’ ที่ได้ ‘โรบิน วิลเลียมส์’ มาแสดงเป็นครูมัธยม ซึ่งในหนังพระเอกซึ่งก็คือ แมตต์ เดม่อน รับบทเป็นภารโรงประจำสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ (MIT) แต่เกเร เรียกว่าได้เอาไม่อยู่ จึงต้องให้ครูมัธยมอย่างโรบิน วิลเลียมส์มาสอน ปรากฏว่าเด็กอัจฉริยะคนนี้มันเกเรจริง ๆ จากนั้นโรบิน วิลเลียมส์จึงพาไปนั่งสวนสาธารณะที่บอสตัน ซึ่งฉากนี้เป็นฉากที่ได้รับรางวัลออสการ์ ‘เขียนบทยอดเยี่ยม’ โดยโรบิน วิลเลียมส์ได้พูดกับพระเอกเอาไว้ว่า ‘รู้นะ...ว่าเธออ่านหนังสือทั่วโลกมาแล้ว เธออ่านหนังสือเล่มภายในไม่กี่นาที เธออาจจะรู้นะว่าในโบสถ์ซิสทีนที่วาติกันนั้นไมเคิลแอนเจโลเขียนรูปอะไรไว้บ้าง หรือเขียนรูปพระเจ้าชนนิ้วยังไงบ้าง แต่เธอไม่เคยไป…เพราะฉะนั้นความรู้ที่เธอมีจากที่อ่านมา เธออาจจะตอบคําถามได้ทุกอย่างทั่วโลก แต่เธอไม่เคยไปสัมผัส เธอจึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าแท้จริงแล้วนั้น โบสถ์ซิสทีนไมเคิลแองเจโลทำได้ยังไง…เพราะเธอไม่เคยสัมผัสกลิ่น ไม่ได้รับรู้ถึงบรรยากาศ ซึ่ง ’มหาวิทยาลัย‘ คือตรงนั้น…’

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะเป็นทุกอย่าง ไม่ว่าการอยู่ร่วมกัน เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยในไทยเก่งแค่ไหนก็คงไม่เก่งเท่าอาจารย์ฟิสิกส์ที่ได้ Nobel Prize ที่ฮาเวิร์ดหรือที่ทําพอดแคสต์...อาจารย์ลาดกระบังเก่งแค่ไหน ก็คงสู้วิศวะจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ไม่ได้ เขาก็ไปเรียนได้อยู่แล้ว แต่การมาเรียนที่ ม.ลาดกระบัง, ม.จุฬาฯ, ม.เกษตรฯ, ม.ธรรมศาสตร์ หรือ ม.ราชภัฏต่าง ๆ การมาอยู่ร่วมกัน การได้เป็นศิษย์เป็นครูกัน และการเห็นคนที่เสียสละ…วันหนึ่งนั้นเขาก็ต้องเป็นคุณพ่อคุณแม่ เป็นผู้นําองค์กร และมีครูที่ใกล้ตัวเป็นโรโมเดล ได้ทํากิจกรรมชมรม ออกกําลังกายด้วยกัน รู้แพ้รู้ชนะ โดยถ้าหากแพ้ก็ไม่ได้ชกต่อยกัน สอนให้รู้จักความเป็นผู้นํา ให้รู้จักเสียสละ สิ่งพวกนี้แหละที่ทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยนั้นยังมีความจําเป็นที่สุด…

‘ปราชญ์การศึกษาไทย’ ยก!! ‘ลูกเสือ’ เพชรในตมอันล้ำค่าต่ออนาคตชาติ หากพัฒนาให้เฉียบขาดได้มากกว่าแค่วิชา ‘ระเบียบแถว-ทะลึ่ง-ไร้สาระ’

เมื่อไม่นานนี้ อาจารย์สุทัศน์ เอกา ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็น ‘ปราชญ์การศึกษาไทย’ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง ‘วิชาลูกเสือในยุคสมัยนี้’ ไว้ดังนี้...

“ผมยังมีความหวังว่า… สักวันหนึ่ง การศึกษาไทย ‘ต้องไปถึงฝั่งฝันจนได้’ นั่นคือ การศึกษาเพื่อสร้าง ศักยภาพของคนไทยให้มีปัญญาภายในตนเอง… ทำให้เขาเป็นคนที่มีความคิดดี, คิดเป็น, รู้จักคิด และมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนรู้จักทำการงานอาชีพ, รู้จักปรับปรุงและพัฒนางาน, เอื้ออาทรต่อผู้อื่น เรียนรู้ และสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามสังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพในการแก้ปัญหาเพื่อผ่านพ้นอุปสรรคไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ… 

ทางวิชาการ เรียกว่า ‘การเรียนรู้เพื่อชีวิต’ (Learn for life) อันเป็นจุดหมายปลายทางของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 และเป็นไปตามทฤษฎีการศึกษาใหม่ล่าสุด ‘ทฤษฎีเครือข่ายและการเชื่อมต่อการเรียนรู้’ (Connectivism) และ ‘ทฤษฎีการศึกษาแบบมนุษยนิยม’ (Humanism)

วิชาลูกเสือ คติพจน์, กฎ และคำปฏิญานของ ‘ลูกเสือ’ สอดคล้อง และตรงประเด็นที่สุดในการเรียนรู้เพื่อชีวิต แต่น่าเสียใจ… ที่กิจกรรมลูกเสือ ‘ถูกมองข้าม’ เหมือนกับได้โยนเพชรเม็ดงามนี้ลงไปในท้องร่องปลักตมอย่างมักง่าย และมองไม่เห็นคุณค่ามหาศาลที่มีอยู่ในนั้น…

เหตุแห่งปัญหา คือ
วิชาลูกเสือ ‘ถูกด้อยค่า’ โดยนักวิชาการผู้มีอำนาจบนหอคอยงาช้าง… ผู้บริหารสถานศึกษา และครูที่ไม่รู้วิชาครู ‘สอนลูกเสือไม่เป็น’ แต่ถูกบังคับให้สอน แม้จะได้ไปอบรม BTC แล้ว… ได้ท่อนไม้เล็กๆ มาห้อยคอคนละสองสามท่อน แต่กลับสอนลูกเสือตามแบบ ‘ประเพณีนิยม’ ที่ ‘ลอร์ด เบเดน โพเอลล์’ ได้ใช้มาแล้วเมื่อหลายร้อยปีก่อน ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก

หนักเข้าก็กลายเป็นวิชาระเบียบแถว, กิจกรรมทะลึ่ง, ทะเล้น, ข่มขู่, ทรมาน, ไร้สาระ และน่าเบื่อ… เพราะขาดความเข้าใจ และวัตถุประสงค์ของการ ‘สอนคน’ เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณมนุษย์ให้สูงส่ง...

การแก้ปัญหา คือ
เอาเพชรเม็ดงามนี้กลับคืนมา ‘ล้างสิ่งโสโครก’ แล้ว ‘บูรณาการ Integrated’ วิชาลูกเสือ คติพจน์, กฎ และคำปฏิญานของลูกเสือ ให้เข้ากับการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย Active learning สร้างทักษะมนุษย์ (คิดเป็น, ทำเป็น, เรียนรู้เป็น และแก้ปัญหาเป็น)สร้างระบบหมู่ Patrol system ช่วยเหลือเกื้อกูล, ทำงานร่วมกัน และเรียนรู้ร่วมกัน Cooperative and Collaborative learning

เอาวิชาพิเศษของลูกเสือ เช่น วิชาปฐมพยาบาล, วิชานักสารพัดช่าง, วิชามัคคุเทศก์, ภาษาต่างประเทศ, วิชาผู้พิทักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม, วิชาช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือจะสร้างวิชาใหม่ๆ ที่ใช้เป็นอาชีพเลี้ยงตนเองได้ เช่น วิชาเพาะเห็ด, วิชาทำขนมและอาหารขาย เป็นต้น

เราควรเอาอย่างสิงคโปร์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียน มีความกล้าหาญ, มีทักษะ และความสามารถในการเผชิญกับความท้าทายของเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ‘ทันโลกาภิวัฒน์’ และขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัล...

หากเป้าหมาย และ ‘กิจกรรมลูกเสือไทยในโรงเรียน’ จะสอนให้เด็กมีความกล้าหาญ, มีทักษะ, มีความอดทน และความสามารถในการเผชิญกับความท้าทายทุกชนิดตามแบบนี้บ้าง จะเหมาะสมอย่างยิ่งกับความเป็นลูกเสือไทยไม่น้อยเลย…

สุทัศน์ เอกา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top