KFC ช่วยเด็กนอกระบบ สู่โลกการศึกษา จุดเริ่มต้นสังคมเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.66) เศกไชย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และประธานมูลนิธิเคเอฟซี กล่าวว่า การทำธุรกิจมายาวนานกว่า 39 ปี มาจากความเชื่อของผู้พันแซนเดอร์สที่ว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ทุกฝ่ายในสังคมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน 

KFC จึงมุ่งมั่นร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคมในหลากหลายมิติ แทนคำขอบคุณคนไทยที่สนับสนุนแบรนด์เป็นอย่างดีเสมอมา เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องมีส่วนช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะนับจากปี 2566-2568 ต่อจากนี้ เราจะมุ่งผลักดันศักยภาพครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ผู้คน (people), โลก (planet) และอาหาร (food) 

โดยจะมุ่งเน้นเรื่องของผู้คนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของเรา หรือคนในสังคม ทั้งการผลักดันศักยภาพผู้คน และพนักงานด้วยการมอบโอกาส และการจัดการด้านอาหารผ่านโครงการ Harvest & Colonel’s Kitchen ที่ช่วยลดเรื่องของอาหารส่วนเกินที่ยังอุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพสูงให้กับองค์กรการกุศลที่ต้องการความช่วยเหลือ และ Planet ที่จะมุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืน โดยเริ่มจากบรรจุภัณฑ์ในร้าน และ Green Store Concept ที่จะเริ่มต้นดำเนินการในปีหน้า โดยทุกแผนงานจะเดินหน้าไปพร้อมกันทุกแฟรนไชส์

“สำหรับแผนความยั่งยืน เราอยากโฟกัสไปที่เรื่องคนเป็นหลักก่อน โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำในสังคมเห็นได้ชัดมาก เราจึงร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แก้ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาผ่านโครงการ KFC Bucket Search”

เศกไชย กล่าวต่อว่า เมื่อมองไปถึงระดับประเทศพบว่าเด็กไทยอายุ 15-23 ปี มีแนวโน้มออกจากระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นปีละเกือบ 1 แสนคน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงานหรือการฝึกอบรมพัฒนาใดๆ หรือกลุ่ม Not in Education, Employment, or Training (NEET) มากถึง 1.4 ล้านคน คิดเป็นราวร้อยละ 10 ของประชากรฐานภาษี

ประชากรกลุ่มนี้ถือเป็นทุนมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แม้บางส่วนจะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบ ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ จึงเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคม

“ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง เป็นโจทย์ที่ซับซ้อน และต้องได้รับการแก้ไข จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบของ กสศ. พบว่าเมื่อออกจากระบบกลางคัน เด็กส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แพ้ ถูกตีตราจากสังคม จนเป็นชนวนไปสู่ปัญหาเชิงพฤติกรรม หากปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนาน การช่วยเหลือเยียวยาจะยิ่งทำได้ยาก หนึ่งในภารกิจของ กสศ. คือการส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีเส้นทางรองรับเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้ก้าวต่อไปได้บนวิถีทางของตน”

หากแก้ปัญหาเด็กนอกระบบได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีมูลค่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นปีละประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ KFC Bucket Search เป็นโครงการระยะยาวตลอดปี 2566-2568 โดยมอบโอกาสทางการศึกษา พัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นจากการให้โอกาสพวกเขาทำความเข้าใจตัวเอง และวางแผนชีวิตผ่านการศึกษาทางเลือกที่สอดรับกับความต้องการของตน ทำให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเอง และกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้

สำหรับเด็กและเยาวชนภายใต้โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะการดำรงชีวิตและเงินทุนตั้งต้น เติมเต็มทักษะและศักยภาพในด้านที่พวกเขาตั้งใจ โดยไม่กระทบกับชีวิตประจำวันที่บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปด้วย

ด้วยทางเลือก work & study ที่ช่วยแบ่งเวลาและรายได้ และทางเลือกเงินทุนเพื่อวิชาชีพ หากน้อง ๆ ต้องการเป็นช่างตัดผม ช่างสัก หรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ก็พร้อมมอบให้ทั้งองค์ความรู้และเงินทุนตั้งต้นอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม สิ้นปีนี้ตั้งเป้าปลดล็อกศักยภาพน้อง ๆ กว่า 200 คน และขยายขึ้นในทุก ๆ ปี ผ่านโครงการ KFC Bucket Search คาดว่าจะมีน้อง ๆ ทั้งสิ้นกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ที่จะเปลี่ยนสถานะจากเด็กนอกระบบการศึกษาสู่การเป็นเด็กนอกกรอบที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพ” เศกไชย กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วง 2-3 ปีนี้ถือว่าวิกฤตหนัก จากงานวิจัยพบมี 2 รูปแบบคือ…

1.เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน จากปัญหาความยากจน ซึ่งพบว่าสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้น ประชาชนเกือบ 3-4 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นรายได้ของประเทศ หรือมีรายได้ 1,370 บาทใน 1 เดือน รวม 1 ปีไม่เกิน 2 แสนบาท แต่มีหนี้สินถึง 147,707 บาท ซึ่งเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำสูง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อของ ป.6 จะขึ้น ม.1 หรือ ม.3 จะขึ้น ม.4 ซึ่งการเรียนฟรีไม่มีอยู่จริง เพราะสุดท้ายแล้วก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอีกเยอะ

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มเด็กที่ถูกผลักออกจากการศึกษา ซึ่งมาจากปัญหาเชิงพฤติกรรมที่โรงเรียนไม่สามารถรักษาไว้ได้ เช่น เด็กตั้งครรภ์ ยาเสพติด ความรุนแรง ส่วนใหญ่ออกช่วง ม.2 ครึ่ง หรือช่วงมัธยมต้น หรือติดศูนย์ ติด ร. กลุ่มนี้มีจำนวนมากถึงปีละ 6-7 หมื่นราย เฉพาะช่วงโควิด-19 ระยะเวลา 2-3 ปีรวมราว 237,700 ราย แต่ถ้ารวมทั้งหมดตอนนี้มีประมาณ 1.4 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือ 4 ใน 5 ของเด็กกลุ่มนี้ ไม่มีเป้าหมาย หรือแรงจูงใจในการศึกษาที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เขาอยู่ไปวัน ๆ นี่คือกลุ่มที่ใหญ่ของสังคมไทย แล้วเรายังมีเด็กนอกระบบ เด็กด้อยโอกาสอีก 15 กลุ่ม ทั้งเด็กเร่ร่อน ตอนนี้จาก 3 หมื่น พุ่งเป็น 5 หมื่น จากแรงงานเด็ก ที่ทะลุจากชายแดนเมียนมาก็เยอะ เด็กไร้สัญชาติก็มาก ปัญหาใหญ่คือประเทศเพื่อนบ้านเด็กหนีสงครามเข้ามา กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ อยู่ตามแม่สอด เชียงราย แม่ฮ่องสอนเต็มไปหมด พวกนี้ค่อย ๆ ทะลักเข้ามา สุดท้ายมากองรวมที่ กทม.เป็นหลัก

“แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นบ้าง แต่ไม่ได้ลงไปถึงคนระดับรากหญ้าเท่าไหร่นัก การจะทำให้การศึกษาไปต่อยากมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น จัดโครงการ หรือช่วยกันยกระดับอย่างไรก็ได้ เพราะลำพัง กสศ.หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่เราจะมีหน้าที่ชี้เป้า สร้างต้นแบบ บทเรียน ถ้าเราช่วยกันมากขึ้น อีก 10-15 ปี ความเหลื่อมล้ำจะค่อย ๆ ลดลง หรือดีขึ้นตามลำดับ”