Thursday, 25 April 2024
ลดความเหลื่อมล้ำ

‘บิ๊กตู่’ หนุน โครงการจ้างงานคนพิการ หวังลดเหลื่อมล้ำ - สร้างรายได้พึ่งพาตนเอง

“บิ๊กตู่” ชื่นชมผลงานของผู้พิการ ย้ำทุกฝ่ายช่วยกันสานต่อโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้ผู้พิการพึ่งพาตนเองได้  

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 มี.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุม เวลา 08.30 น. ที่บริเวณตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นายจ้างภาคเอกชนและผู้พิการที่ร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประจำปี 2565 เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่สนับสนุนโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2565 ทำให้ผู้พิการมีงานทำ สร้างโอกาสและสร้างความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เน้นการสร้างโอกาสแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ เพื่อให้มีหลักประกันทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองและทำประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชน ตลอดจนสังคมได้ โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

'ทิพานัน' ตอก 'เพื่อไทย' หยุดบูลลี่ 22 ล้านคน เป็นคนจน ชี้!! เป็นกลุ่มที่รัฐต้องการช่วยดูแลลดความเหลื่อมล้ำ

'ทิพานัน' ซัด เพื่อไทย หยุดบูลลี่ 22 ล้านคน เป็นคนจน ยก สถิติปี 60-65 เป้าหมายลดลงกว่า 7 แสนราย ยัน แก้ปัญหากลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น แนะ หากพบข้อมูลบัตรสวัสดิการฯ ไม่สมบูรณ์ ให้แก้ไขภายใน 17 พ.ย นี้

(6 พ.ย. 65) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ปิดรับการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 แล้ว โดยจำนวนประชาชน ที่ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.-31 ต.ค.ที่ผ่านมา 22,293,473 ราย โดยผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว และผ่านขั้นตอนตรวจสอบสถานะแล้ว พบว่า สถานะการลงทะเบียนสมบูรณ์ ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ให้รอการประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติในช่วงเดือนม.ค. 2566  ซึ่งการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ ที่เข้าเงื่อนไข เพื่อให้การใช้งบประมาณในการให้ความช่วยเหลือได้อย่างประสิทธิภาพ แก้ปัญหาตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ส่วนผู้ที่สถานะการลงทะเบียนไม่สมบูรณ์ สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต หากพบข้อมูลไม่ถูกต้อง ต้องติดต่อขอแก้ไขข้อมูล ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ตนเองยื่นเอกสารเท่านั้น ส่วนผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ สามารถติดต่อขอแก้ไขข้อมูลที่หน่วยงานรับลงทะเบียนใดก็ได้ ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ย. นี้เท่านั้น

“ขอย้ำว่า จำนวนลงทะเบียนหรือผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการฯ ไม่ใช่จำนวนคนจนในประเทศไทย แต่เป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องการเข้าไปช่วยดูแลลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น เป็นหนึ่งในนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นวาระสำคัญของชาติ  ที่ไม่ใช่คนจนทั้งหมด เพราะทุกรัฐบาลมีเส้นเกณฑ์วัดความจน จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่มีการวิเคราะห์หลายมิติ ซึ่งในปี 2564  ระบุว่าประเทศไทยมีคนจนอยู่ที่ 4,404,616 ล้านคน คิดเป็น 6.32 % ของประชากรทั้งประเทศ โดยเกณฑ์ตัดสินว่าบุคคลนั้นเข้าข่ายจนหรือไม่จนในปี 2564 คือรายได้ต่อเดือนที่ต้องได้ต่ำกว่า 2,802 บาทต่อคนต่อเดือน และหากพิจารณาข้อมูลย้อนไป 10 ปีจากสถิติ ยังพบว่า ในปี 2555 ยังมีคนจนอยู่ถึง 8,441,462 คน  

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ในระหว่างปี 2560-2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมุ่งมั่นแก้ปัญหาคนจนโดยใช้  Big data และระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบชี้เป้า โดยอ้างอิงฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ที่แตกต่างจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่นำข้อมูลคนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรวจสอบและลงพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่เพื่อสำรวจสอบถามถึงความรุนแรงของปัญหาตามเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของกระทรวงมหาดไทย เช่น ในปี 2560 พบมีคนจน 1,702,499 คน จากการสำรวจ 35,999,061 คน และล่าสุดคนจนเป้าหมายวันที่ 25 ม.ค. 65ในประเทศไทย ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเหลือเพียง 1,025,782 คน  จากการสำรวจ 36,103,806 คน และเมื่อแบ่งมิติปัญหาที่ต้องช่วยเร่งด่วนพบว่า 1. ด้านสุขภาพ 218,757 คน 2. ด้านความเป็นอยู่ 220,037 คน 3. ด้านการศึกษา 272,518 คน 4. ด้านรายได้ 506,647 คน 5. ด้านเข้าถึงบริการภาครัฐ 3,335 คน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะสถิติจากตัวชี้วัดใดทั้ง สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ TPMAP จำนวนคนจนได้ลดลงต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงการแก้ปัญหาความยากจนภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นว่าจำนวนลดลงไปหลายล้านคน

‘ชาติพัฒนากล้า’ จัดหนัก 12 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รื้อโครงสร้างประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ ‘รวย-จน’

(24 ม.ค. 66) จับตากันให้ดี!! หลังจากที่ก่อนหน้านี้พรรคชาติพัฒนากล้า ได้ทยอยปล่อยนโยบายพรรคด้านเศรษฐกิจ ออกมาแล้วถึง 2 ชุด ซึ่งก็โดนใจประชาชน โดยเฉพาะคนทำงาน กินเงินเดือน

ล่าสุด!! เช้าวันนี้ พรรคชาติพัฒนากล้า จัดใหญ่จัดเต็ม!! เปิดนโยบายพรรคอย่างยิ่งใหญ่ นำโดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค พร้อมด้วยนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค ร่วมถึง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค แกนนำพรรค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และสมาชิกพรรค

ซึ่งนายสุวัจน์ กล่าวเปิดเป็นคนแรกว่า วันที่ 23 มีนาคม 2566 จะครบ 4 ปี จะยุบสภาหรือไม่ยุบก็ถือว่าครบเทอม ทุกพรรคการเมืองเตรียมตัว พรรคชาติพัฒนากล้า ก็เป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ต้องเตรียมความพร้อม อันดับต้น ๆ ที่อยู่ในใจของความเจ็บปวด คือ เรื่องเศรษฐกิจ 35 ปีที่ผ่านมาไม่เกิดเกิดวิกฤตหนักมากเท่าวันนี้ วิกฤตที่น่ากังวลอีกส่วน คือ วิกฤตโลก สงครามการค้า และโควิด-19 สงครามยูเครน-รัสเซีย ปัจจัยหลัก คือ การเกิดสงครามการค้า การขึ้นอัตราดอกเบี้ย เกิดเป็นภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ จีดีพีโลกกลับมาไม่ 1% โลกร้อน เทคโนโลยีดิสรัปชั่น วันนี้โลกวุ่นวายมาก และสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การจัดกลุ่มของประเทศมหาอำนาจใหญ่ เกิดการย้ายฐานการลงทุน

ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวาณิช พร้อมด้วยสมาชิกพรรค ได้ร่วมกันเปิดเผยถึง 12 นโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้า ประกอบด้วย 

- หาเงินให้ประเทศ 5 ล้านล้านบาท ด้วยกลุ่มเฉดสี ดังนี้ สีเขียว ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ นโยบายทุกบ้านขายไฟฟ้าได้ / สีเหลือง เศรษฐกิจสร้างสรรค์อาทิ กองทุน Soft Power / สีเงิน เศรษฐกิจวัยเก๋า ดูแลสร้างงานผู้สูงวัย / สีเทา นโยบายเปลี่ยนส่วยเป็นภาษี / สีฟ้า เศรษฐกิจสายเทคโนโลยี ลดภาษี Start Up / สีขาว เศรษฐกิจสายมู ให้งบจังหวัดละ 1 พันล้าน สร้างแหล่งท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ / และสีรุ้ง นโยบายผลักดันสมรสเท่าเทียม ให้กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้

- ลดภาษีบุคคล เงินเดือน 40,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี เพื่อลดภาระให้กลุ่มคนทำงาน โดยถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากรายได้ของภาครัฐ กำลังขยับขึ้น อีกทั้งยังเป็นธรรม จากคำมั่นสัญญาเดิมของพรรคการเมืองใหญ่ ที่ทำไม่สำเร็จ จากการเลือกตั้งครั้งก่อน

- น้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า ถูกลง รื้อโครงสร้างพลังงาน โดยปรับราคาขายให้ตรงตามการผันผวนของต้นทุนในแต่ละช่วง ตามราคาตลาดกลางของโลก

ย้ำจุดยืน!! ‘พิธา’ ชู ‘รัฐสวัสดิการ’ จุดแข็ง ‘ก้าวไกล’ ลั่น!! พร้อมลดความเหลื่อมล้ำ-พาไทยก้าวไปข้างหน้า

(13 มี.ค.66) เวทีแรกของแคมเปญ ‘มติชน: เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย’ ซึ่งจัดที่โรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) ภายใต้หัวข้อ ‘ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง’ ที่มีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมืองร่วมขึ้นเวทีประชันนโยบาย

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงจุดแข็งของพรรคก้าวไกลว่า ตนรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสพูดในช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 เนื่องจากเป็นเหยื่อของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จนเป็นหลอดลมอักเสบ และเสียงไม่เต็มร้อย แต่ใจเต็มร้อยแน่นอน อย่างไรก็ตามแค่ช่วงนี้ช่วงเดียวตนสามารถตอบทุกคำถามตั้งแต่ช่วงที่ 1 และช่วงที่  2 ทั้งการปฏิรูปกองทัพ ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ด้วยสไลด์เพียงหนึ่งสไลด์ ตนสามารถตอบจุดแข็งของพรรคก้าวไกลด้วยคำเดียว คือ รัฐสวัสดิการ ที่จะทำให้การเมืองดี ปากท้องดี และมีอนาคต มาจากจุดแข็งย่อยที่เราคิดมาตลอดว่า การเมืองกับเรื่องปากท้องเป็นเหรียญเดียวกันที่แยกกันไม่ออก เรื่องเกี่ยวกับกัญชา เรื่องเกี่ยวกับแรงงาน เรื่องเกี่ยวกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ถ้าอำนาจทางโครงสร้างยังไม่ใช่ คนที่เข้ามาในการเมืองมาจากการลากตั้ง ไม่ใช่การเลือกตั้ง การใช้ภาษีของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาปากท้องอย่างยั่งยืนจึงเป็นไปไม่ได้ ตนไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะทำเหมือนเมื่อ 40 ปีที่แล้วได้ แต่เราต้องมองไปถึงอนาคต ว่าประเทศจะต้องเจริญเติบโต และลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมกันได้ เราไม่ได้มองแค่ว่าจุดแข็ง ให้กลายเป็นโอกาส แต่เรามองจุดอ่อนให้เป็นโอกาสด้วย ทั้งหมดนี้ สามารถย่อยออกมาได้เป็นรัฐสวัสดิการ 

‘FWD’ ปรับทิศธุรกิจ มุ่ง ESG ควบคู่การดำเนินกิจการ ชู!! ‘พัฒนาเด็ก-ชุมชน-สร้างงาน-ให้ทุนประกัน’ ไม่แผ่ว

(20 ต.ค. 66) นายเดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เผยถึงวิสัยทัศน์ด้าน ESG ต่อจากนี้ของกลุ่ม FWD ประกันชีวิต โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่จะเกิดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชน ผ่าน 6 ด้าน ได้แก่ Governance and risk management (การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง), Trust (การสร้างความเชื่อมั่น), Talent (ความสามารถ), Closing the protection gap (ปิดช่องว่างเรื่องหลักประกัน), Sustainable investment (การลงทุนที่ยั่งยืน) และ Climate change resilience (ความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)

“แม้ว่าเรามีงานที่ต้องทำในแต่ละด้านอีกมาก แต่เรามุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากของเราจะประสบความสำเร็จและยั่งยืน ซึ่งกลยุทธ์ ESG ของเราสอดคล้องกับ Sustainable Development Goals : SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยครอบคลุมทั้ง 7 ประการที่เราสามารถช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ SDG 3 (สุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี), SDG 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ), SDG 8 (การทำงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ), SDG 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน), SDG 10 (ความไม่เท่าเทียมกันที่ลดลง), SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ SDG 13 (การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ)”

นายเดวิด กล่าวอีกว่า “FWD ต้องการสร้างความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคนในสังคม เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวล ด้วยการทำงานทางด้าน ESG ของเรา ยิ่งเฉพาะการควบคุมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนผ่านความรู้ความเข้าใจทางการเงิน พร้อมกับเสริมทักษะชีวิตระดับพื้นฐานผ่านโครงการระดับภูมิภาค JA SparktheDream ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ให้กับเด็กนักเรียน 25,000 คน ในฮ่องกง, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ภายในปี 2567”

สำหรับประเทศไทย FWD เพิ่งเปิดตัวโปรแกรม JA SparktheDream ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิ Junior Achievement Thailand เป้าหมายหลักคือ การให้ความรู้ทางการเงินแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้มีความรู้พอๆ กับนักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 1,000 คน ในช่วงภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2566 

ทั้งนี้ จากวิสัยทัศน์ที่จะสร้างความเท่าเทียมกันให้กับสังคมในวงกว้าง รวมถึงการสร้างโมเดลต้นแบบในการพัฒนาชุมชน ทาง FWD ประกันชีวิต จึงมีกระบวนการคัดเลือกพื้นที่ พร้อมเตรียมแผนการพัฒนาชุมชน โดยลงพื้นที่สํารวจและทำงานร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) คัดเลือกชุมชนลาหู่ ในดอยปู่หมื่น จังหวัดเชียงใหม่ ให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาชุมชน

โดยปี 2566 นับเป็นปีที่ 3 ที่ต่อยอด 3 โครงการหลักให้กับชุมชนลาหู่ ในดอยปู่หมื่น ได้แก่ โครงการธนาคารต้นกล้า ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการบริหารจัดการต้นกล้าชาและการทำงาน ร่วมกันในชุมชน, โครงการพัฒนาคุณภาพชา เพิ่มคุณภาพของผลผลิตตามหลักเกษตรอินทรีย์โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม สร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับชาอัสสัมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างรายได้ที่มั่นคงจากอาชีพหลักของชุมชน

นอกจากนั้น การทำงานครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันมีชุมชนที่ให้การตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการมากถึง 33 ครัวเรือน และมีผลผลิตใบชาในปริมาณที่เพิ่มมากกว่า 50% ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาชุมชนอื่นเพิ่มเติม หวังสร้างความเท่าเทียมทางสังคม และความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน

นายเดวิด กล่าวอีกด้วยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ FWD ประกันชีวิต ในการลดความไม่เท่าเทียมกันและส่งเสริมโอกาสทางรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเด็กด้อยโอกาส บริษัทจึงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ ‘Pimali Hospitality Training Center’ ศูนย์ฝึกวิชาชีพการโรงแรมและงานบริการให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส จังหวัดหนองคาย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

“เรามอบความคุ้มครองการประกันสุขภาพที่สำคัญให้กับนักเรียน และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 10 ปีของ FWD ประกันชีวิต เราจึงมอบทุนการศึกษา 10 ทุน ให้กับเด็กๆ ในความดูแลของมูลนิธินี้ เพราะเล็งเห็นว่าศูนย์แห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กด้อยโอกาสจากทั่วประเทศด้วยทักษะที่จำเป็นใน 3 ส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมการบริการ ได้แก่ แผนกห้องพัก (การดูแลทำความสะอาด), แผนกบริการส่วนหน้า และแผนกครัว โดยโปรแกรมการฝึกอบรมที่ครอบคลุมมีระยะเวลาตั้งแต่ 6 ถึง 12 เดือน เพื่อช่วยให้เด็กๆ ได้ประสบการณ์การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริงในสถานที่จริง การเตรียมความพร้อมนี้ทำให้พวกเขามีความรู้ และความสามารถที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านสู่การทำงานอย่างราบรื่น”

สำหรับกลุ่มบริษัทเอฟดับบลิวดี (FWD Group) ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในภูมิภาคเอเชียที่มีลูกค้ามากกว่า 11 ล้านคนใน 10 ประเทศทั่วภูมิภาค รวมถึงประเทศไทยในชื่อบริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยก่อตั้งในไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 จนถึงขณะนี้ ครบรอบ 10 ปี มีเป้าหมายต่อจากนี้ที่จะมุ่งเน้นการทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไร ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ ESG และการดูแลพนักงานอย่างต่อเนื่อง

KFC ช่วยเด็กนอกระบบ สู่โลกการศึกษา จุดเริ่มต้นสังคมเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.66) เศกไชย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และประธานมูลนิธิเคเอฟซี กล่าวว่า การทำธุรกิจมายาวนานกว่า 39 ปี มาจากความเชื่อของผู้พันแซนเดอร์สที่ว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ทุกฝ่ายในสังคมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน 

KFC จึงมุ่งมั่นร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคมในหลากหลายมิติ แทนคำขอบคุณคนไทยที่สนับสนุนแบรนด์เป็นอย่างดีเสมอมา เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องมีส่วนช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะนับจากปี 2566-2568 ต่อจากนี้ เราจะมุ่งผลักดันศักยภาพครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ผู้คน (people), โลก (planet) และอาหาร (food) 

โดยจะมุ่งเน้นเรื่องของผู้คนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของเรา หรือคนในสังคม ทั้งการผลักดันศักยภาพผู้คน และพนักงานด้วยการมอบโอกาส และการจัดการด้านอาหารผ่านโครงการ Harvest & Colonel’s Kitchen ที่ช่วยลดเรื่องของอาหารส่วนเกินที่ยังอุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพสูงให้กับองค์กรการกุศลที่ต้องการความช่วยเหลือ และ Planet ที่จะมุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืน โดยเริ่มจากบรรจุภัณฑ์ในร้าน และ Green Store Concept ที่จะเริ่มต้นดำเนินการในปีหน้า โดยทุกแผนงานจะเดินหน้าไปพร้อมกันทุกแฟรนไชส์

“สำหรับแผนความยั่งยืน เราอยากโฟกัสไปที่เรื่องคนเป็นหลักก่อน โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำในสังคมเห็นได้ชัดมาก เราจึงร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แก้ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาผ่านโครงการ KFC Bucket Search”

เศกไชย กล่าวต่อว่า เมื่อมองไปถึงระดับประเทศพบว่าเด็กไทยอายุ 15-23 ปี มีแนวโน้มออกจากระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นปีละเกือบ 1 แสนคน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงานหรือการฝึกอบรมพัฒนาใดๆ หรือกลุ่ม Not in Education, Employment, or Training (NEET) มากถึง 1.4 ล้านคน คิดเป็นราวร้อยละ 10 ของประชากรฐานภาษี

ประชากรกลุ่มนี้ถือเป็นทุนมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แม้บางส่วนจะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบ ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ จึงเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคม

“ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง เป็นโจทย์ที่ซับซ้อน และต้องได้รับการแก้ไข จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบของ กสศ. พบว่าเมื่อออกจากระบบกลางคัน เด็กส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แพ้ ถูกตีตราจากสังคม จนเป็นชนวนไปสู่ปัญหาเชิงพฤติกรรม หากปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนาน การช่วยเหลือเยียวยาจะยิ่งทำได้ยาก หนึ่งในภารกิจของ กสศ. คือการส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีเส้นทางรองรับเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้ก้าวต่อไปได้บนวิถีทางของตน”

หากแก้ปัญหาเด็กนอกระบบได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีมูลค่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นปีละประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ KFC Bucket Search เป็นโครงการระยะยาวตลอดปี 2566-2568 โดยมอบโอกาสทางการศึกษา พัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นจากการให้โอกาสพวกเขาทำความเข้าใจตัวเอง และวางแผนชีวิตผ่านการศึกษาทางเลือกที่สอดรับกับความต้องการของตน ทำให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเอง และกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้

สำหรับเด็กและเยาวชนภายใต้โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะการดำรงชีวิตและเงินทุนตั้งต้น เติมเต็มทักษะและศักยภาพในด้านที่พวกเขาตั้งใจ โดยไม่กระทบกับชีวิตประจำวันที่บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปด้วย

ด้วยทางเลือก work & study ที่ช่วยแบ่งเวลาและรายได้ และทางเลือกเงินทุนเพื่อวิชาชีพ หากน้อง ๆ ต้องการเป็นช่างตัดผม ช่างสัก หรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ก็พร้อมมอบให้ทั้งองค์ความรู้และเงินทุนตั้งต้นอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม สิ้นปีนี้ตั้งเป้าปลดล็อกศักยภาพน้อง ๆ กว่า 200 คน และขยายขึ้นในทุก ๆ ปี ผ่านโครงการ KFC Bucket Search คาดว่าจะมีน้อง ๆ ทั้งสิ้นกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ที่จะเปลี่ยนสถานะจากเด็กนอกระบบการศึกษาสู่การเป็นเด็กนอกกรอบที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพ” เศกไชย กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วง 2-3 ปีนี้ถือว่าวิกฤตหนัก จากงานวิจัยพบมี 2 รูปแบบคือ…

1.เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน จากปัญหาความยากจน ซึ่งพบว่าสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้น ประชาชนเกือบ 3-4 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นรายได้ของประเทศ หรือมีรายได้ 1,370 บาทใน 1 เดือน รวม 1 ปีไม่เกิน 2 แสนบาท แต่มีหนี้สินถึง 147,707 บาท ซึ่งเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำสูง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อของ ป.6 จะขึ้น ม.1 หรือ ม.3 จะขึ้น ม.4 ซึ่งการเรียนฟรีไม่มีอยู่จริง เพราะสุดท้ายแล้วก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอีกเยอะ

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มเด็กที่ถูกผลักออกจากการศึกษา ซึ่งมาจากปัญหาเชิงพฤติกรรมที่โรงเรียนไม่สามารถรักษาไว้ได้ เช่น เด็กตั้งครรภ์ ยาเสพติด ความรุนแรง ส่วนใหญ่ออกช่วง ม.2 ครึ่ง หรือช่วงมัธยมต้น หรือติดศูนย์ ติด ร. กลุ่มนี้มีจำนวนมากถึงปีละ 6-7 หมื่นราย เฉพาะช่วงโควิด-19 ระยะเวลา 2-3 ปีรวมราว 237,700 ราย แต่ถ้ารวมทั้งหมดตอนนี้มีประมาณ 1.4 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือ 4 ใน 5 ของเด็กกลุ่มนี้ ไม่มีเป้าหมาย หรือแรงจูงใจในการศึกษาที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เขาอยู่ไปวัน ๆ นี่คือกลุ่มที่ใหญ่ของสังคมไทย แล้วเรายังมีเด็กนอกระบบ เด็กด้อยโอกาสอีก 15 กลุ่ม ทั้งเด็กเร่ร่อน ตอนนี้จาก 3 หมื่น พุ่งเป็น 5 หมื่น จากแรงงานเด็ก ที่ทะลุจากชายแดนเมียนมาก็เยอะ เด็กไร้สัญชาติก็มาก ปัญหาใหญ่คือประเทศเพื่อนบ้านเด็กหนีสงครามเข้ามา กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ อยู่ตามแม่สอด เชียงราย แม่ฮ่องสอนเต็มไปหมด พวกนี้ค่อย ๆ ทะลักเข้ามา สุดท้ายมากองรวมที่ กทม.เป็นหลัก

“แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นบ้าง แต่ไม่ได้ลงไปถึงคนระดับรากหญ้าเท่าไหร่นัก การจะทำให้การศึกษาไปต่อยากมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น จัดโครงการ หรือช่วยกันยกระดับอย่างไรก็ได้ เพราะลำพัง กสศ.หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่เราจะมีหน้าที่ชี้เป้า สร้างต้นแบบ บทเรียน ถ้าเราช่วยกันมากขึ้น อีก 10-15 ปี ความเหลื่อมล้ำจะค่อย ๆ ลดลง หรือดีขึ้นตามลำดับ”

‘อนุทิน’ ยก ‘แก้จน’ เป็นวาระแห่งชาติ ขจัดปัญหาปากท้องคนไทย ชี้!! ไม่ใช่ทำให้ทุกคนรวย แต่ ปชช.ต้องพ้นทุกข์-คุณภาพชีวิตดีขึ้น

(20 พ.ย. 66) ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องวาระแห่งชาติ ‘นโยบายแก้จนของประเทศ’ ในงานสัมมนาเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน วิถีความสำเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี จัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอนหนึ่งว่า นโยบายแก้จน ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ที่ผ่านมาในการหาเสียงไม่มีรัฐบาลใดไม่คิดแก้ปัญหาความยากจน ดังนั้น เมื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วต้องแก้ไขให้ได้ ไม่ใช่ให้เป็นวาระที่ต้องทำแบบถาวร เมื่อตนมีโอกาสทำงานที่กระทรวงมหาดไทย ต้องทำทุกอย่างเพื่อกำจัดความยากจน และเป็นภารกิจและวาระแรกของตนที่ตั้งใจจะทำ

“ถ้าตั้งใจแก้ปัญหา โดยให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำปัญหาปากท้องให้ดีขึ้นเยอะๆ เมื่อมีคนพูดว่ามาแก้ความจน ผมก็ท้อ เพราะต้องแก้ทุกอย่างจะแก้ได้อย่างไร มีแค่พูดกันไป โยนกันมา แต่ผมมองว่าการแก้ปัญหาความยากจน ไม่ใช่ให้ทุกคนรวย เพราะความรวยมีหลายระดับ แต่ต้องทำให้ประชาชนพ้นทุกข์ขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พ้นความลำบาก ซึ่งนโยบายแก้จนของประเทศไทยต้องเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนสวัสดิการด้านต่างๆ ยกระดับการศึกษา เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ผมเชื่อว่าจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และพัฒนาให้เติบโตที่ยั่งยืนได้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมสนับสนุนภารกิจต่างๆ รวมถึงนโยบายที่จะแก้ปัญหาตามอำนาจและหน้าที่ โดยตนขอให้สัญญาประชาคม และยืนยันความพร้อมทำเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จ ทั้งนี้ แผนการทำงานนอกจากต้องสนับสนุนเรื่องปัจจัย 4 ให้ประชาชนแล้ว ยังต้องเติมเต็มปัจจัยที่ 5 คือการศึกษาของเยาวชนที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันต้องหาทางลดรายจ่ายของประชาชน เช่น สนับสนุนให้น้ำประปาดื่มได้ เพื่อประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำบริโภค นอกจากนั้นแล้วตนยังมองในประเด็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการอพยพย้ายถิ่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดกว้างให้ประชากรคุณภาพจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า สำนักสถิติระบุว่า ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีมากที่สุดและเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุด ดังนั้น การแก้ปัญหา คือ การหาที่ดินทำกินและพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม โดยตนฐานรองนายกฯ ที่ดูแลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมจะใช้นวัตกรรมเพื่อใช้การบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งต้องทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

“ผมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ถือเป็นเพื่อร่วมรุ่นกันที่มีสายสัมพันธ์ ได้พูดคุยกันและมีแนวคิดแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะใช้เวลาเท่ากับอายุของรัฐบาลนี้ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด ผมอาจจะขอเยอะ อาจจำเป็นต้องแลกกัน ทั้งงบประมาณที่ใช้ หรือโครงการที่ใช้ ผมจะใช้ความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและบ้านเมือง” นายอนุทิน กล่าว

‘ธนาธร’ ตอกย้ำ!! สังคมไทยในวันที่รัฐสวัสดิการไม่ทั่วถึง ต้องแก้ที่อำนาจ ให้พลังประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ

จากงานสัมมนา Learning From the Past, Addressing the Present, and Embracing the Future
ซึ่งจัดขึ้นโดย ‘สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์’ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.67 ณ Brunei Gallery, SOAS University of London ได้เปิดช่วงเวลาหนึ่งให้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้พูดคุยถึงประเด็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการ มีเนื้อหาโดยประมาณ ดังนี้…

เหตุผล 10 ปีที่ผ่านมา ไทยถดถอยลงเมื่อเทียบกับโลกและเพื่อนบ้าน และ ‘Welfare States and Why it Matters’ (ความสำคัญของรัฐสวัสดิการ) คือหัวข้อที่ผมจะมาพูดวันนี้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า คุณผู้ฟังจะอยากฟังเรื่องนี้มากกว่า หรือ อยากฟังเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลล้มเหลวมากกว่า

ก่อนอื่น ขอเริ่มจากจำนวนประชากรคนไทยที่ 66 ล้านคน ทราบหรือไม่ว่ามีกลุ่มคนที่รายได้น้อยที่สุดโดยเฉพาะอยู่ที่ 7,000 บาทต่อปี ตก 155 บาทต่อวัน ส่วนค่าเฉลี่ยต่อครัวเรือน ก็จะมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเงินเท่านี้ในยุคนี้ สถานการณ์ค่าครองชีพ ราคาพลังงาน และอื่น ๆ จะสามารถทำอะไรได้ 

แน่นอนว่า โดยส่วนตัวแล้ว ผมเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ ทําให้ตอนเด็ก ๆ ไม่รู้จักหน้าตาของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยสักเท่าไร จนกระทั่งได้เข้ามารู้จักกับความเหลื่อมล้ำผ่านมุมของคนไทยในหลากหลายกลุ่ม หลากหลายครัวเรือนของประเทศ ซึ่งนับวันยิ่งจะเป็นปัญหาที่ทวีคูณ และพร้อมซ้ำต่อไปสู่คนรุ่นหลัง ๆ มากยิ่งขึ้น

ผมขอยกตัวอย่างเป็นรายกรณีแบบนี้ ตั้งแต่ เรื่องของการเดินทาง ถ้าในกรุงเทพฯ คุณไม่ต้องมีรถยนต์ ก็ยังสามารถเดินทางได้ด้วยรถไฟฟ้า หรือคมนาคมหลากหลายส่วนที่มีการพัฒนาขึ้น จะเดินทางไปทำงานหรือหาหมอก็ง่าย แต่กับคนต่างจังหวัดนั้นต่างกันมาก เพราะไม่มีสาธารณูปโภคด้านคมนาคม ถ้าเกิดต้องไปหาหมอในโรงพยาบาลดี ๆ ต้องเดินทางกันมากกว่า 10 กิโลเมตรขึ้นไป…นี่คือความเหลื่อมล้ำ

ในส่วนของน้ำประปา ผมขอยกกรณีชาวบ้านในต่างจังหวัด แต่ที่พบเห็นมากับตัวคือชาวบ้านประมาณพันกว่าคนที่อยู่ในมหาสารคาม ไม่สามารถนำน้ำประปามาดื่ม หรือแม้แต่ใช้ซักผ้าได้ เพราะมันเป็นน้ำประปาแดง และมีจำนวนคนอีกเป็นล้าน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปาที่มีคุณภาพ และเข้าไม่ถึงตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันต่อปี ซึ่งนี่คือภาพที่เกิดขึ้นจริงในต่างจังหวัด แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ…นี่คือความเหลื่อมล้ำ

โรงพยาบาลในต่างจังหวัด หลายคนคงนึกไม่ถึงความเหลื่อมล้ำว่ามีหน้าตาอย่างไร ผมยกตัวอย่างแบบนี้ ในกรุงเทพฯ จะพบแพทย์ 1 คนต่อประชากร 500 คน อันดับสองภูเก็ตจะพบแพทย์ 1 คนต่อประชากร 900 คนอันดับ 3 สมุทรสาคร แพทย์ 1 คนต่อประชากร 900 คน ส่วนจังหวัดที่แย่ที่สุดในประเทศไทย คือ บึงกาฬ มีหมอหนึ่งคนต่อประชากร 6,000 คน ขณะที่ความแออัดของระบบสาธารณสุขไทย ทําให้ประชาชนต้องติดต่อคิวยาวทั้งทั้งที่การเดินทาง ก็ลําบากอยู่แล้ว เพราะในต่างจังหวัดโรงพยาบาลดี ๆ ไม่ได้อยู่ใกล้บ้าน…นี่คือความเหลื่อมล้ำ จากโอกาสชีวิตที่เลือกไม่ได้

นี่แค่ส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ที่ลากกระทบไปถึงเรื่องอื่น ๆ 

คุณคิดว่าทําไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่อยากมีลูก ทําไมอัตราคนเกิดใหม่น้อยลง พวกคุณ (แฟน) นอนด้วยกันน้อยลงงั้นหรือ ผมว่าไม่ใช่นะ แต่คำตอบ คือ ถ้าคุณมีค่าครองชีพ ที่เฉลี่ยแล้วตกประมาณเดือนละ 20,000 บาท คุณก็คงเริ่มคิดว่าจะเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพได้จริงหรือ นี่ยังไม่นับว่าจะต้องหวาดผวาทุกเดือนถึงหารายได้ที่ต้องหามาประคองชีวิตประจำวันอีก

แน่นอนว่า ทุกคนอยากมีเงินเก็บที่พอเพียงแบบที่ไม่ต้องรวยมากก็ได้ ขอแค่ตอนแก่พออยู่ได้อย่างสบาย มีบ้านของตัวเองสักหลัง มีรถสักคัน ส่งลูกเรียนโรงเรียนดี ๆ ได้ ให้ลูกมีชีวิตดีกว่าเราได้ และถ้าเป็นไปได้ถ้าเป็นไปได้และไปเที่ยวต่างประเทศปีละสักครั้งนึง

เชื่อว่านี่คือความฝันที่คนส่วนใหญ่ต้องการ แต่เมื่อรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมันอยู่เท่านี้ แถมความเหลื่อมล้ำจากสวัสดิการทางสังคมมันยังเป็นแบบนี้ และนี่ยังไม่ได้บวกปัญหาผู้สูงวัยที่เตรียมพุ่ง ซึ่งคนวัยหลักที่กำลังเผชิญสังคมเช่นนี้อยู่ต้องเข้าไปแบกด้วยอีก มันจึงไม่แปลก ที่คนยุคนี้จะเลือกตัดสินใจไม่มีลูกและหมดซึ่งความคิดสร้างสรรค์

ผมอยากจะบอกว่ารัฐสวัสดิการไม่ได้หมายถึง End Game เหมือนแบบสแกนดิเนเวีย แต่มันคือ การตั้งเป้าหมาย และการเดินทางที่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้ เพื่อประคองความพ่ายแพ้ของชีวิตคน ให้ยังลุกขึ้นมายืนได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์…รัฐต้องสร้าง ‘โซเชียลเซฟตี้’ ให้กับประชาชน…การค่อย ๆ สร้างสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็งมากขึ้น มันจะลดความเหลื่อมล้ำได้ 

ทุกวันนี้ ประเทศ สังคม ภาครัฐ บริษัทเอกชน คาดหวังที่จะเห็นประชาชนคนไทยปลดปล่อยศักยภาพ มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่คุณคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์ จะเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อคุณท้องหิว? หรือ เมื่อคุณท้องอิ่ม?

คุณต้องมีความมั่นคงในชีวิตก่อน แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีตรงนี้ ไม่มีงานมั่นคงทำ ไม่มีสวัสดิการที่ช่วยให้เกิดความสะดวกต่อการใช้ชีวิตแบบไม่พะวงหน้าพะวงหลัง ยิ่งคนต่างจังหวัดด้วยแล้ว เขาทำได้แค่รับจ้างทำไร่ทำนา ไม่ก็รับจ้างก่อสร้าง เป็นแรงงานรายวัน ที่ไม่มีความมั่นคง

คำถาม คือ งบประมาณประเทศปีละ 3 ล้านล้านบาท 10% คือ 300,000 ล้าน 1% คือ 30,000 ล้าน แต่แนวทางที่มาสามารถนำมาพัฒนาด้านรัฐสวัสดิการจริง ๆ เอาแค่ 0.5% ก็เพียงพอแล้ว ถ้าตั้งใจทำ เพียงแต่ทั้งหมดก็เพราะ ‘อํานาจ’ บางอย่าง ที่ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้

อำนาจในการจัดการทรัพยากร? อำนาจไหนที่สามารถจัดการเรื่องน้ำ? อำนาจ คืออะไร? 

90 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ โดยเฉลี่ยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 4.5 ปีต่อหนึ่งฉบับ เรามีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน มีรัฐประหาร 13 ครั้ง 

หากเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมไทยสันติ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อวันนี้อำนาจไม่ใช่ของประชาชน ประชาชนจะเอาอะไรไปต่อรอง ‘ดอกผลแห่งการพัฒนา’ เพื่อมาเป็นส่วนแบ่งให้แก่ตนเองบ้าง

การรวมตัวเรียกร้อง สิทธิในการรวมตัวเรียกร้อง ซึ่งถูกลิดรอนอย่างที่เป็นอยู่ จึงไม่แปลกใจที่ดอกผลของการพัฒนาไม่ถึง คนจน เรารวมตัวกันเรียกร้องไม่ได้ ผมเชื่อว่าประเทศไทย มีศักยภาพเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการ ถ้าอำนาจนั้น ๆ ถูกใช้อย่างถูกต้อง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top