‘ปราชญ์การศึกษาไทย’ ยก!! ‘ลูกเสือ’ เพชรในตมอันล้ำค่าต่ออนาคตชาติ หากพัฒนาให้เฉียบขาดได้มากกว่าแค่วิชา ‘ระเบียบแถว-ทะลึ่ง-ไร้สาระ’

เมื่อไม่นานนี้ อาจารย์สุทัศน์ เอกา ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็น ‘ปราชญ์การศึกษาไทย’ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง ‘วิชาลูกเสือในยุคสมัยนี้’ ไว้ดังนี้...

“ผมยังมีความหวังว่า… สักวันหนึ่ง การศึกษาไทย ‘ต้องไปถึงฝั่งฝันจนได้’ นั่นคือ การศึกษาเพื่อสร้าง ศักยภาพของคนไทยให้มีปัญญาภายในตนเอง… ทำให้เขาเป็นคนที่มีความคิดดี, คิดเป็น, รู้จักคิด และมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนรู้จักทำการงานอาชีพ, รู้จักปรับปรุงและพัฒนางาน, เอื้ออาทรต่อผู้อื่น เรียนรู้ และสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามสังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพในการแก้ปัญหาเพื่อผ่านพ้นอุปสรรคไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ… 

ทางวิชาการ เรียกว่า ‘การเรียนรู้เพื่อชีวิต’ (Learn for life) อันเป็นจุดหมายปลายทางของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 และเป็นไปตามทฤษฎีการศึกษาใหม่ล่าสุด ‘ทฤษฎีเครือข่ายและการเชื่อมต่อการเรียนรู้’ (Connectivism) และ ‘ทฤษฎีการศึกษาแบบมนุษยนิยม’ (Humanism)

วิชาลูกเสือ คติพจน์, กฎ และคำปฏิญานของ ‘ลูกเสือ’ สอดคล้อง และตรงประเด็นที่สุดในการเรียนรู้เพื่อชีวิต แต่น่าเสียใจ… ที่กิจกรรมลูกเสือ ‘ถูกมองข้าม’ เหมือนกับได้โยนเพชรเม็ดงามนี้ลงไปในท้องร่องปลักตมอย่างมักง่าย และมองไม่เห็นคุณค่ามหาศาลที่มีอยู่ในนั้น…

เหตุแห่งปัญหา คือ
วิชาลูกเสือ ‘ถูกด้อยค่า’ โดยนักวิชาการผู้มีอำนาจบนหอคอยงาช้าง… ผู้บริหารสถานศึกษา และครูที่ไม่รู้วิชาครู ‘สอนลูกเสือไม่เป็น’ แต่ถูกบังคับให้สอน แม้จะได้ไปอบรม BTC แล้ว… ได้ท่อนไม้เล็กๆ มาห้อยคอคนละสองสามท่อน แต่กลับสอนลูกเสือตามแบบ ‘ประเพณีนิยม’ ที่ ‘ลอร์ด เบเดน โพเอลล์’ ได้ใช้มาแล้วเมื่อหลายร้อยปีก่อน ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก

หนักเข้าก็กลายเป็นวิชาระเบียบแถว, กิจกรรมทะลึ่ง, ทะเล้น, ข่มขู่, ทรมาน, ไร้สาระ และน่าเบื่อ… เพราะขาดความเข้าใจ และวัตถุประสงค์ของการ ‘สอนคน’ เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณมนุษย์ให้สูงส่ง...

การแก้ปัญหา คือ
เอาเพชรเม็ดงามนี้กลับคืนมา ‘ล้างสิ่งโสโครก’ แล้ว ‘บูรณาการ Integrated’ วิชาลูกเสือ คติพจน์, กฎ และคำปฏิญานของลูกเสือ ให้เข้ากับการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย Active learning สร้างทักษะมนุษย์ (คิดเป็น, ทำเป็น, เรียนรู้เป็น และแก้ปัญหาเป็น)สร้างระบบหมู่ Patrol system ช่วยเหลือเกื้อกูล, ทำงานร่วมกัน และเรียนรู้ร่วมกัน Cooperative and Collaborative learning

เอาวิชาพิเศษของลูกเสือ เช่น วิชาปฐมพยาบาล, วิชานักสารพัดช่าง, วิชามัคคุเทศก์, ภาษาต่างประเทศ, วิชาผู้พิทักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม, วิชาช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือจะสร้างวิชาใหม่ๆ ที่ใช้เป็นอาชีพเลี้ยงตนเองได้ เช่น วิชาเพาะเห็ด, วิชาทำขนมและอาหารขาย เป็นต้น

เราควรเอาอย่างสิงคโปร์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียน มีความกล้าหาญ, มีทักษะ และความสามารถในการเผชิญกับความท้าทายของเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ‘ทันโลกาภิวัฒน์’ และขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัล...

หากเป้าหมาย และ ‘กิจกรรมลูกเสือไทยในโรงเรียน’ จะสอนให้เด็กมีความกล้าหาญ, มีทักษะ, มีความอดทน และความสามารถในการเผชิญกับความท้าทายทุกชนิดตามแบบนี้บ้าง จะเหมาะสมอย่างยิ่งกับความเป็นลูกเสือไทยไม่น้อยเลย…

สุทัศน์ เอกา