Tuesday, 7 May 2024
การศึกษา

‘ดร.กมล’ ภท. เล็งต่อยอด ‘เรียนออนไลน์’ เน้นคุณภาพ-เท่าเทียม ผลักดัน จัดตั้ง ‘สถาบันพัฒนาฯ’ สร้างระบบการเรียน-สอนใหม่ ให้มีคุณภาพ

‘ดร.กมล รอดคล้าย’ ทีมการศึกษา ภท. เล็งต่อยอดเรียนออนไลน์ให้มีคุณภาพ เพื่อความเท่าเทียม สร้างระบบใหม่การจัดการสอน เปลี่ยนภาพจำของโรงเรียน นำพาคนไทยให้มีขีดความสามารถแข่งขันระดับโลก

(27 มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.กมล รอดคล้าย คณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวในรายการ ‘พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำ’ เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ยูทูป และ TikTok พรรคภูมิใจไทย ถึงนโยบาย 'การจัดการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์ (Online)'

โดยระบุว่า พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอนโยบายการจัดการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์ไว้ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยมองว่าช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องของการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียม สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา มีค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก และจะทำให้ระบบการศึกษาไทยสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีคุณภาพ ในช่วงที่ผ่านมา การศึกษาผ่านระบบออนไลน์ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ตามที่พรรคภูมิใจไทยได้ประกาศนโยบายไว้

“ระบบนี้กำลังจะขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต เราเตรียมการอีกอย่างน้อย 3-4 เรื่อง เช่น การจัดการเรียนการสอน หรือเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ระบบออนไลน์สามารถจัดการได้ ส่วนการฝึกงาน กิจกรรมกลุ่ม หรือห้องแลป (ห้องปฏิบัติการ) เด็กๆ หรือนักศึกษา ก็มาที่สถาบันได้เหมือนเดิม” ดร.กมล ระบุ

ดร.กมล กล่าวต่อว่า ทุกโรงเรียนในประเทศไทยซึ่งเรียนผ่านออนไซต์ (On-site) ปัจจุบัน เราสามารถสร้างระบบที่เรียกว่า เวอร์ช่วลสคูล (Virtual School) หรือออนไลน์สคูล (Online School) เป็นห้องที่ทำการเรียนการสอนได้ทุกแห่ง จุดเด่นก็คือเด็กๆ ไม่ว่าอยู่ในชนบทห่างไกล หรือโรงเรียนขนาดเล็ก จะได้เรียนกับครูเก่งๆ

นอกจากนี้ยังนำไปสู่อีก 2 ประเด็นหลักๆ ก็คือ เรากำลังจะส่งเสริมพัฒนาคุณภาพของครู ให้ครูสามารถได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากระบบออนไลน์ด้วย

โดยเมื่อครูสอนเสร็จ ก็จัดทำเป็นคลิปการเรียนการสอนของตัวเอง เพื่ออัปโหลดลงไปในระบบออนไลน์ เมื่อเด็กๆ คลิกเข้าไปชม ครูที่สอนก็จะได้รายได้ เป็นรายได้แบบเพย์-เพอร์-วิว (Pay Per View) หรือชำระเงินเพื่อการรับชม แต่การจ่ายเงินตรงนี้ เด็กไม่ได้เป็นผู้จ่าย รัฐจะเข้ามาเป็นผู้จ่ายแทน

‘ภูมิใจไทย’ ชู พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ หนุนการศึกษาตลอดชีวิต เล็งจัดตั้ง ‘ครูหมู่บ้าน’ 8 แสนคน ให้ความรู้-สอนทักษะแก่ชุมชน

‘ภูมิใจไทย’ ดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ สำเร็จ หนุนจัดการศึกษาตลอดชีวิต-เพื่ออาชีพ-ตามอัธยาศัย เพิ่มบทบาทกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้สนับสนุน เปิดทางองค์กรอื่นเป็นผู้จัดการศึกษาเอง เพื่อสร้างคนตามความต้องการ พร้อมตั้งธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อเทียบโอน-พักเรียน เล็งจัดตั้ง ‘ครูหมู่บ้าน’ จำนวน 800,000 คนทั่วประเทศ เป็นอาสาสมัครให้ความรู้กับชุมชน

(1 เม.ย.66) ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอในหัวข้อ ‘พลิกโฉมการศึกษาไทย ด้วย พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้’ โดย ดร.กมล รอดคล้าย คณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย ได้กล่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ไว้ว่า…

“โดยทั่วไปแล้ว การจัดการศึกษามีกรอบแนวทาง ซึ่งจะมีแผนการศึกษาแห่งชาติกำหนดทิศทางเนื้อหา สาระ และสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ไว้ แต่มันจะต้องมีกฎหมายหลักอีกตัวหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนการจัดการศึกษา เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ’ แต่เนื่องจากว่า นับตั้งแต่นี้ต่อไป โลกของการเรียนรู้ได้ออกไปนอกห้องเรียนมากขึ้น ทุกคนสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ และยังมีวิธีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต นับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะฉะนั้น จึงมีพระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่งเกิดขึ้น เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้’ ”

ดร.กมล ได้กล่าวต่อว่า “แม้ว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จะยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา แต่พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เราได้ขับเคลื่อน พ.ร.บ ฉบับนี้จนประสบผลสำเร็จ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ประมาณ 3-4 เรื่อง ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น

เรื่องที่ 1 รูปแบบการจัดการศึกษา ซึ่งเดิมทีใช้ระบบการจัดการศึกษาแบบตามคุณวุฒิ คือ เรียนประถมฯ มัธยมฯ ซึ่งการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เราเรียกว่า ‘การศึกษาเพื่ออาชีพ’ สำหรับนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพต่าง ๆ และการจัดการการศึกษาเพื่อส่งเสริมความรู้ตามอัธยาศัย ตามความสนใจ รูปแบบการจัดการศึกษาในอนาคต จึงเปลี่ยนไปจากเดิม และไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราสามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ เข้าถึงการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น รวมถึงสามารถที่จะไปเรียนต่อในต่างประเทศ ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้

ประการต่อไป คือ ผู้จัดการศึกษา ต้องไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว กระทรวงศึกษาธิการอาจทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาตามคุณวุฒิ แต่เราสามารถสนับสนุนให้ผู้อื่นจัดการศึกษาเพิ่มเติมได้ เช่น โรงงาน บริษัทใหญ่ ๆ หรือภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องการผู้ที่มีความชำนาญในอาชีพเฉพาะทาง เราสามารถที่จะให้งบในการซัพพอร์ตบางส่วน เพื่อให้หน่วงงานเหล่านั้นไปเป็นคนจัดการศึกษา และจากนั้น เด็กจึงนำวิชาที่เรียนมาเทียบโอนกับการศึกษาในระบบได้ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกจัดเก็บไว้ในระบบที่เรียกว่า ‘ธนาคารหน่วยกิต’ หรือ ‘เครดิตแบงก์’ (Credit Bank) ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเตรียมพร้อมที่จะจัดตั้ง ‘สถาบันพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิต’ ขึ้นในโอกาสต่อไป หากพรรคภูมิใจไทยได้เข้าไปเป็นรัฐบาล เราจะต้องพัฒนาส่งเสริมให้หน่วยงานมีพิพิธภัณฑ์ มีศูนย์วิทยาศาสตร์ มีศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มีห้องสมุด ทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการที่เราจะจัดการศึกษาให้กับทุกคน และเป็นการศึกษาตลอดชีวิต สามารถที่จะหยุดพักการเรียนเพื่อไปทำงานแล้วเก็บหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิต เพื่อให้สามารถกลับมาเรียนในโอกาสต่อไปได้”

‘เพื่อไทย’ ชู การเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่าน ‘Learn to Earn’ หนุนเด็กไทยมีความรู้ มีรายได้ เข้าถึงการศึกษาได้ทุกช่วงวัย

(2 เม.ย. 66) เฟซบุ๊กแฟนเพจหลักของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

“ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกช่วงวัย หางานทำสร้างรายได้ทุกช่วงชีวิต พรรคเพื่อไทยส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านขั้นตอน Learn to Earn เรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต”

ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรค และผู้ดูแลนโยบายการศึกษา พรรคเพื่อไทย ร่วมตอบคำถามสดในรายการตอบโจทย์ ศึกประชันวิสัยทัศน์นโยบายด้านการศึกษา สถานีโทรทัศน์ Thai PBS โดยได้กล่าวโดยรวมถึงระบบการศึกษาในปัจจุบันว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้รองรับต่อความเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างหลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนแต่ละช่วงวัย แต่ละช่วงชั้นที่แตกต่างกัน โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องเป็นการศึกษาที่กินได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคด้านการศึกษา

ณหทัย ทิวไผ่งาม กล่าวว่า ด้วยเพราะสังคมทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว การส่งเสริมการเรียนรู้ เด็กเข้าโรงเรียนผ่านไป 4 ปี กลับออกมาปรากฏว่าสิ่งที่เรียนไปล้าสมัยแล้ว เราจึงต้องส่งเสริมให้ทุกคนไม่ใช่แค่เด็กนักเรียน “ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านขั้นตอน Learn to Earn” หมายถึงว่า ต้องเรียนด้วยและนำความรู้มาสร้างรายได้ด้วย และสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ เข้าถึงความรู้ได้ทุกช่วงวัย เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองตลอดเวลา แม้แต่ในวัยทำงานแล้วหากต้องการเพิ่มความรู้ก็จะมีสถาบันการศึกษา สถาบันวิชาชีพที่จะเสริมสร้างทักษะความรู้เฉพาะทางให้ศึกษาได้ และยิ่งทุกวันนี้เทคโนโลยีเจริญขึ้น สามารถเรียนได้โดยไม่ต้องไปมหาวิทยาลัยแต่เรียนผ่านคอร์สออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันนี้มีหลายหมื่นหลักสูตรของแทบทุกสถาบันที่รองรับ ตรงนี้จะทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์แก่การเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เราเห็นความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนเพราะเด็กนักเรียนต้องเรียนออนไลน์ เด็กที่พ่อแม่มีกำลังทรัพย์ ก็พอมีเงินซื้อโน๊ตบุ๊ก มือถือ เพื่อใช้เรียนออนไลน์ได้ แต่สำหรับเด็กยากจนก็ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เราจะลดความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างไร สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราเคยมีโครงการ One Tablet per Child ซึ่งตอนนั้นน่าเสียดายที่เราทำยังไม่สำเร็จดี ก็ถูกยกเลิกไป ทั้งที่ต่อมาจะเห็นว่า เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด Tablet ที่เราเคยแจกไปได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมถึงทั้งปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดครู Tablet นี้ก็จะช่วยให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครู สามารถเข้าถึงความรู้ เชื่อมการเรียนการสอนและหลักสูตรกับโรงเรียนหรือสถานศึกษาอื่นในเมืองได้โดยไม่ขาดโอกาสอีกต่อไป ดังนั้น พรรคเพื่อไทย จะนำโครงการนี้กลับมา ไม่ใช่ให้ Tablet แค่เด็กนักเรียน แต่จะต้องให้คุณครูได้ด้วยเพื่อใช้สอนเด็ก พร้อมกับสัญญาณอินเทอร์เนตฟรี เพื่อให้ทั้งเด็กนักเรียนและครูได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากสื่อการเรียนการสอนชิ้นนี้

ประเด็นที่รัฐบาลทหารกลัว จนไม่ออกใบรับรองผลการเรียน สวนทาง!! การสนับสนุนแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ

หลังจากรัฐบาลทหารเมียนมาทำการรัฐประหาร ก็ทำให้มีคนต้องการจะเดินทางไปเรียนหรือทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความปลอดภัยก็ดี หรือ เรื่องของผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้คนว่างงานสูงขึ้นตาม

เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้หนุ่มสาวเมียนมาเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างแดน แต่ชีวิตในต่างแดนนั้น มันไม่ง่ายเหมือนในเมียนมา...

ในเมียนมาหลักฐานการศึกษาที่ใช้เป็นตัวบ่งสถานะจะเป็นใบรับรองที่ระบุเป็นภาษาพม่าว่า ได้จบหลักสูตรตามที่ทางกระทรวงศึกษากำหนดไว้ แต่ไม่มีการให้ใบเกรดหรือใบทรานสคริปต์ ซึ่งแตกต่างจากหลาย ๆ ประเทศในเอเซีย และใบทรานสคริปต์นี่แหละคือเอกสารสำคัญหรือเป็นใบเบิกทางที่ใช้ในการศึกษาต่อหรือทำงานตามสิ่งที่ไปเรียนมา

ในช่วงแรกที่มีการปิดไม่ให้ใบทรานสคริปต์หลายคนเข้าใจได้ว่าภายในรัฐบาลยังสับสน เจ้าหน้าที่หลายคนทำอารยะขัดขืน หรือ CDM (Civil Disobedient Movement) โดยการไม่ไปทำงาน 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปจากเดือนเป็นปี จากเหตุการณ์วุ่นวายจนเหตุการณ์สงบ คำสั่งลับที่ไม่มีการประกาศนี้ ก็ไม่มีท่าทีจะเปลี่ยนหรือยกเลิกไป

สุดท้ายจึงทำให้เกิดมิจฉาชีพขึ้น หลายคนเลือกซื้ออนาคตด้วยการติดต่อทำทรานสคริปต์ปลอม ในขณะที่หลายคนพยายามติดต่อสถาบันการศึกษาที่ตนสำเร็จมา แต่ผลตอบกลับมาคือ ทำได้แค่รอหากต้องการทรานสคริปต์กับสามารถออกอีเมลรับรองให้ว่าได้ผ่านการศึกษาวิชานั้นวิชานี้ ซึ่งในหลักสากลไม่สามารถนำมาใช้ในการสมัครศึกษาต่อหรือสมัครงานได้เลย

‘คุณหญิงกัลยา’ หนุนยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย เตรียมพร้อมมุ่งหน้าสู่เป้าหมายการศึกษาโลก

(21เม.ย.66) ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ ‘2 ทศวรรษแห่งการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการศึกษา’ พร้อมด้วย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รักษาการประธานกรรมการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 23 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาและได้มุ่งปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้กระทบถึงการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงจำเป็นต้องมาระดมความคิดกันว่าอยากจะเห็นประเทศไทยพัฒนาคนไปในทิศทางใด จึงจะทำให้เด็กมีความสุขและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้

โดยเรื่องนี้เป็นภาระของคนรุ่นเราที่ต้องทำให้ได้ภายในเวลารวดเร็ว สอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษาโลก คือ เด็กต้องเรียนอย่างมีความสุข ระหว่างเรียนมีรายได้ เรียนจบแล้วมีอาชีพ สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทันสมัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเราจะไปถึงตรงจุดนั้นได้เร็วได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวและการประเมินคุณภาพการศึกษา

‘เพนกวิน’ ชี้ นโยบายการศึกษา ‘เพื่อไทย’ คิดแบบเผด็จการ แนะ ควรถามผู้เรียนก่อน อย่ายัดเยียด-มองเด็กเป็นหุ่นยนต์

(24 เม.ย. 66) นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ ‘เพนกวิน’ แกนนำม็อบราษฎร โพสต์เฟซบุ๊ก ‘เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak’ พร้อมภาพกราฟิกจากเพจ ‘นักเรียนเลว’ ที่หยิบยกคำพูดของ น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม ประธานคณะทำงานด้านนโยบายการศึกษา พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า…

“เราก็พูดกันถึงเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราเปิดให้ไปแต่งชุดที่เป็นไปรเวทเนี่ย มันจะไม่สร้างความเหลื่อมล้ำมากกว่านั้นเหรอ เพราะว่าเวลาไปโรงเรียนเนี่ย ก็จะดูแล้วว่าคุณใส่เสื้อยี่ห้ออะไร คุณใส่กางเกงรองเท้าอะไรล่ะ แล้วทรงผมคุณจะเป็นยังไง”

ย้อนอดีตร่วม 10 ปี รายได้ครอบครัวเอเชียในสหรัฐฯ พบ!! แซงหน้าชาวมะกัน สะท้อนการศึกษาสำคัญ มีผลต่อรายได้

(25 เม.ย.66) เพจ 'หรรสาระ By Jeans Aroonrat) ได้โพสต์ข้อมูลจาก US Census Bureau ซึ่งกล่าวถึงค่าเฉลี่ยรายได้ต่อครัวเรือนของครอบครัวจากเชื้อชาติต่างๆ ที่เข้าไปตั้งรกรากในสหรัฐฯ ช่วงปี 2013-2015 โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจมากๆ ว่า...

ชาวเอเชียหลายชาติในสหรัฐฯ มีรายได้ต่อครัวเรือนสูงกว่า ค่าเฉลี่ยรวมที่ $56,000 มาก และยังสูงกว่าครอบครัวคนผิวขาวเสียอีก 

ส่วนชาวผิวดำ และลาตินยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนค่าเฉลี่ยการศึกษาของครอบครัวชาวเอเชียก็สูงปรี๊ด ด้วยค่านิยมที่อยากให้ลูกหลานเรียนจบมหาวิทยาลัย ที่ให้มีค่าเฉลี่ยการศึกษาในระดับปริญญาตรีสูงกว่าชาวอเมริกันทั่วไป 2-3 เท่า

‘ดร.เอ้’ ปราศรัยปลุกใจชาวกระบี่!! ดันสร้าง ‘มหาวิทยาลัยอันดามัน’ ชี้ เพื่อจุดเปลี่ยนของการศึกษา พร้อมเชื่อมวิสัยทัศน์ ‘สร้างคน’ ของ ‘ปชป.’

(6 พ.ค. 66) ‘ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมงานปราศรัยเย็น เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 66 ณ ลานปูดำ จ.กระบี่ โดยมี 'นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' หัวหน้าพรรค ขึ้นปราศรัยก่อนหน้า และผู้สมัคร ส.ส. กระบี่ ทั้ง 3 เขต คือ เขต 1 นายธนวัช ภูเก้าล้วน (เคี่ยง) เบอร์ 3 เขต 2 นายสาคร เกี่ยวข้อง เบอร์ 5 และเขต 3 ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล (น้ำผึ้ง) เบอร์ 5 

นอกจากนี้ยังมีผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตั้งแต่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง และนายทวีเกียรติ ใจดี ร่วมปราศรัยอย่างคับคั่ง 

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างคนวิชาชีพให้มีคุณภาพ และจำนวนมากพอ ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม สร้างเศรษฐกิจ เพื่อการแข่งขันของชาติ ดังนั้นจึงต้องมีมหาวิทยาลัย อย่างทั่วถึง ครอบคลุม เท่าเทียม และเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ 'สร้างคน' ของพรรคประชาธิปัตย์ 

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องใหญ่โต แต่ต้องอยู่กระจายให้ครบทุกภูมิภาค ไม่เช่นนั้น เด็กไทยในแต่ละพื้นที่ย่อมเสียโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับวิชาชีพ นอกจากประเทศเสียหาย พื้นที่ก็เสียโอกาส วันนี้จังหวัดฝั่งอันดามันยังไม่มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนครบสาขาเลย ทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่ฝันอยากเป็นวิศวกร หมอ นักบัญชี หรือแม้แต่นักกฎหมาย ต้องไปเรียนไกลบ้าน ที่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองต่างจังหวัด

ชัยวุฒิ’ ชู!! นโยบายการศึกษา มุ่งพัฒนา ‘ภาษา-ดิจิทัล’ ด้าน นักศึกษา มศว ปลื้ม ‘พี่โอ๋ ตัวตึง’ เป็นกันเองกว่าที่คิด

‘ชัยวุฒิ’ ร่วมเสวนานโยบายการศึกษา ระบุชัด ความจริงมีเรื่องเดียว แต่ได้รับข้อมูลไม่ตรงกัน จึงมีความเห็นต่าง พปชร.ขออาสาประสานให้ทุกฝ่ายสามารถพูดคุยกันได้ เพื่อพัฒนาประเทศและระบบการศึกษาไทย ด้านนักศึกษา มศว ปลื้ม ‘พี่โอ๋ ตัวตึง’ เป็นกันเองกว่าที่คิด ให้ถ่ายรูปได้อย่างใกล้ชิด 

(9 พ.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมเสวนาทางการเมือง ซึ่งหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัดขึ้นในหัวข้อ นโยบายด้านการศึกษาและสังคม ณ สนามกีฬากลาง ม.ร.ว.จุรีพรหม กมลาศน์ (มศว ประสานมิตร) โดยมีตัวแทนจาก ทั้งหมด 8 พรรคการเมืองเข้าร่วม

ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงนโยบายระบบการศึกษาว่า ส่วนมากหลายพรรคการเมืองมักไม่ค่อยพูดถึงเรื่องการศึกษาในเวทีดีเบตต่างๆ เท่าที่ควร เนื่องจากเป็นนโยบายที่ไม่ค่อยมีความขัดแย้งทางความคิดกันมากนัก หลายๆ พรรคมักจะมีนโยบายเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปิดโอกาส การเรียนเสริมด้านภาษา เทคโนโลยีและดิจิทัล ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีการพัฒนามาโดยตลอด เพราะไม่ต้องใช้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หนึ่งปัญหาใหญ่ของประเทศ คือ การขาดแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ ‘STEM’ ที่ค่อนข้างมีน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และเรื่องของภาษาก็มีส่วนสำคัญ ที่ต้องพัฒนา เพราะมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาเปิดโรงงาน หรือ ฐานการผลิตภายในประเทศ 

ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา ระหว่างพื้นที่ห่างไกลกับเขตเมือง ซึ่งยังคงมีคุณภาพที่แตกต่างกันอยู่ ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไข โดยทุกรัฐบาลก็พยายามแก้ไข ให้โอกาสเด็กๆ ทั้งประเทศได้มีความเท่าเทียมกันทางด้านการศึกษา

นอกจากนี้ นายชัยวุฒิ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายในการเสวนาครั้งนี้อีกด้วยว่า เห็นด้วยกับหลายนโยบายด้านการศึกษาของพรรคต่างๆ ที่มาร่วมเสวนาในวันนี้ ซึ่งถือเป็นการร่วมมือกันพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ เรื่องของการเมืองนั้นไม่ได้สำคัญแค่เรื่องนโยบาย แต่สำคัญที่ว่า หากพรรคนั้นได้เป็นรัฐบาลแล้ว สามารถทำให้รัฐบาลมีสเถียรภาพได้หรือไม่ ทำงานได้ บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าได้ โดยไม่มีความขัดแย้ง ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ ขออาสาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง บางเรื่องสามารถคิดต่างกันได้ เห็นไม่ตรงกันได้ แม้ความจริงจะมีอยู่เรื่องเดียว แต่รับข้อมูลมาไม่เหมือนกันก็เกิดเป็นความขัดแย้ง พรรคพลังประชารัฐจึงสามารถประสานให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยทำความเข้าใจกันได้ หาทางออกแก้ไขร่วมกัน จับมือไปด้วยกัน ให้ประเทศไทย เป็นบ้านเมืองที่น่าอยู่ตลอดไป

ด้าน ‘น้องมังกร’ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มศว ปี 1 นักศึกษาที่มาร่วมรับฟังการเสวนา ได้สะท้อนมุมมองที่มีต่อพรรคพลังประชารัฐ และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค ว่า รู้สึกปลื้มใจ ไม่คิดว่าจะเป็นกันเองมากขนาดนี้ จากที่เห็นภาพลักษณ์ตามเวทีดีเบตต่างๆ ที่ได้ฉายา ‘ตัวตึง’ คิดว่าจะเข้าถึงได้ยาก แต่กลับกัน เป็นคนที่อัธยาศัยดี เป็นกันเอง ขอถ่ายรูปก็ได้ถ่ายด้วยอย่างใกล้ชิด จึงรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก พร้อมขอบคุณที่มาร่วมในการเสวนา และให้ความรู้ในวันนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top