Tuesday, 7 May 2024
การศึกษา

กองรักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือสัตหีบมอบเงินช่วยเหลือการศึกษาบุตรข้าราชการ

วันนี้ 9 พ.ค.66 นาวาเอก ประเสริฐศิลป์ วรสิษฐ์ ผู้บังคับกองรักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือสัตหีบ กรมรักษาความ ปลอดภัยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือการศึกษา ให้กับบุตรข้าราชการในสังกัด ณ อาคารอเนกประสงค์ กองรักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี คณะนายทหาร ตลอดจนบุตรข้าราชการ ผู้ปกครอง เข้าร่วมในพีธีอย่างพร้อมเพียง 
   

สำหรับ พิธีมอบเงินช่วยเหลือการศึกษาให้กับบุตรข้าราชกร ในสังกัดแบ่งทุนการศึกษาออกเป็น ระดับอนุบาล ทุนละ 2,000 บาท ระดับประถมศึกษา ทุนละ 2,500 บาทระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ทุนละ 3,000 บาท และระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ทุนละ 3,500 บาท
   

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ข้าราชการและครอบครัว ในเรื่องค่าใช้จ่าย สนับสนุนการศึกษาแก่บุตร ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาในระดับต่างๆ ให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นไปตามลำดับ สำหรับปีการศึกษา 2566 นี้ มีข้าราชการในสังกัดเสนอขอรับทุนการศึกษา จำนวน 52 ราย ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาผู้ที่สมควรได้รับทุนการศึกษาแล้วทั้ง 52 ราย ประกอบด้วย ระดับอนุบาลจำนวน 2 ราย ระดับประถมศึกษาจำนวน 21 ราย ระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่าจำนวน 13 ราย และระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า จำนวน 13 ราย 
   

โดยทุนการศึกษาในปีนี้ ได้รับการสนับสนุนจากดอกผลเงินสวัสดิการข้าราชการ กองรักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อการศึกษา จำนวน 147,000บาท
นิราช ทิพย์ศรี /นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 0909535645,0945565622/086-3684323

‘เนเธอร์แลนด์’ เตรียมออกกฏห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารในชั้นเรียน ป้องกันเทคโนโลยีทำเด็กสมาธิสั้น-ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 เอเอฟพีรายงาน ว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เตรียมออกกฏห้ามการใช้โทรศัพท์มือถือในชั้นเรียน โดยหมายรวมถึงแท็บเล็ตและสมาร์ทวอทช์ด้วยเช่นกัน

รัฐบาลเปิดเผยรายงานว่า เครื่องมือสื่อสารเหล่านั้นรบกวนการเรียนรู้ของนักเรียน

“มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่าโทรศัพท์มือถือมีผลเสียในระหว่างชั้นเรียน และทำให้นักเรียนมีสมาธิน้อยลง ไปจนถึงประสิทธิภาพการทำงานลดลง” รายงานระบุ

“ด้วยเหตุผลนี้ โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต และสมาร์ทวอทช์ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในชั้นเรียนอีกต่อไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567” รัฐบาลกล่าว

ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังเร่งทำความเข้าใจกับโรงเรียน และให้เจ้าหน้าที่โรงเรียนแต่ละแห่งตกลงสร้างกฎภายในร่วมกับครูผู้สอน, ผู้ปกครอง และนักเรียน ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคมนี้

ถึงแม้รัฐบาลจะไม่ได้ออกคำสั่งห้ามอย่างเป็นทางการ แต่ขอสงวนสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้นหลังจากวัดผลสัมฤทธิ์ในปีหน้า

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเนเธอร์แลนด์กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า เขาหวังให้การเคลื่อนไหวดังกล่าวนำไปสู่ ‘การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม’ ที่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนซึ่งจะกลายเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้า

‘รัสเซีย’ บรรจุ ‘ภาษาจีน’ ในหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัย อ้าง!! หวังเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์

เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์วอชิงตันเอ็กแซมมิเนอร์ของสหรัฐฯ รายงานว่า อันเดร เฟอร์เซนโก (Andrei Fursenko) ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเครมลินซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีการศึกษาและเทคโนโลยีรัสเซียกล่าวมีใจความว่า

“จะไม่มีความรุนแรงพวกเราจะหว่านล้อมแต่ในเวลาเดียวกันพวกเราจะมุ่งหน้าสู่แนวทางนี้หากว่าพวกเราต้องการที่จะสามารถแข่งขันได้” เขากล่าวในรายงานของสื่อ RIA Novosti ของรัสเซีย

ทั้งนี้ สื่อยูเครนสกายา ปราฟดา (Ukrainska Pravda) ที่รายงานเช่นเดียวกันระบุว่า ได้มีการบรรจุภาษาแมนดารินเข้าสอนในหลักสูตรตามมหาวิทยาลัยภายในรัสเซีย

เฟอร์เซนโก ชี้ว่า หนทางนี้จะช่วยให้บรรดานักศึกษาสามารถเข้าสู่ความเข้าใจทางสาขาวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยชี้ว่า 30% ของงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกนั้นถูกตีพิมพ์เป็นภาษาจีน

วอชิงตันเอ็กแซมมิเนอร์ชี้ว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยรัสเซียชื่อดังอย่างน้อย 1 แห่งออกมาต่อต้านคำสั่งโดยชี้ว่า “แปลกประหลาดและส่งผลร้าย”

ซึ่งเฟอร์เซนโกยืนยันว่า มันมีความสำคัญจากการที่จีนมีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง มองว่า นี่เป็นหนทางที่จะทำให้ 2 ชาติสหายมีความใกล้ชิดผูกพันมากขึ้น

เฟอร์เซนโกกล่าวในการประชุมฟอรัมการศึกษาเยาวชนรัสเซีย

“พวกเราต้องการที่จะอยู่ในเทรนด์วิทยาศาสตร์กันอยู่หรือไม่? มุ่งไปข้างหน้ากันเถิด” เขากล่าว และเสริมต่อว่า “ปัญหาคือแน่นอนที่สุดมันมีความจำเป็นที่ต้องทำให้มั่นใจว่า ภาษารัสเซียยังคงอยู่ท่ามกลางไม่กี่ภาษาของด้านวิทยาศาสตร์”

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ดร.เซอร์เก โพโพป (Dr.Sergei Popov) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อฝรั่งเศส Le Monde เมื่อต้นปีว่า สำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มีภาษาเดียวเท่านั้นคือภาษาอังกฤษ และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงในอนาคตระยะใกล้

“ราว 100% ของสิ่งที่ผมได้อ่านและ 90% ของสิ่งที่ผมได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาจีนที่เป็นคำถามนั้นอาจขึ้นมา แต่พบน้อยกว่าในแวดวงวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี”

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า บรรดานักศึกษารัสเซียประจำสถาบันการศึกษาฟิสิกส์และเทคโนโลยีแห่งมอสโก MFTI (The Moscow Institute of Physics) ได้ออกมาโต้ว่า ความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์รัสเซียและนักวิทยาศาสตร์จีนไม่ถึงระดับที่จะทำให้การศึกษาภาษาจีนนั้นมีความสำคัญ

ยูเครนสกายา ปราฟดา ชี้ว่า มีการประท้วงเกิดขึ้นในหมู่นักศึกษาเมื่อมีนาคมต้นปี หลังจากทางสถาบันการศึกษาได้สั่งถอดวิชาภาษาต่างประเทศทั้งสเปน เยอรมัน และฝรั่งเศสออกจากหลักสูตร และใส่วิชาภาษาแมนดารินในหลักสูตรสำหรับภาคการศึกษา 2023-24 แทนด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่าย

และเมื่อมีนาคมต้นปีเช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งรัสเซีย (Bank of Russia) กำหนดให้พนักงานของตัวเองต้องเรียนภาษาแมนดาริน โดยอ้างว่าเพื่อการติดต่อทางธุรกิจกับเพื่อนร่วมงานจากจีน

โดยหนังสือพิมพ์มอสโกไทม์สได้รายงานเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ว่า เป็นผลมาจากการเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดกับตะวันตกหลังเครมลินเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เครมลินได้หันไปมุ่งสู่เอเชียแทน ความต้องการเรียนภาษาแมนดารินเพิ่มขึ้นจากการที่รัสเซียได้เพิ่มการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อจีน

หนังสือพิมพ์มอสโกแสดงภาพน่ารักของบรรดาสาว ๆ รัสเซียแต่งกายในชุดจีนโบราณสำหรับพิธีน้ำชาอย่างคึกคัก รวมถึงการศึกษาพู่กันจีน

ในขณะเดียวกัน จำนวนนักศึกษาระดับไฮสกูลรัสเซียได้เลือกภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศในการสอบไล่ปลายปีเพิ่มขึ้นภายใน 1 ปี มาอยู่ที่ 17,000 คน ถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษจะยังคงเป็นภาษาต่างประเทศที่เลือกเป็นอันดับ 1 สำหรับเวลานี้

มีนักเรียนรัสเซียตั้งความหวังจะไปศึกษาต่อในจีนหลังมีความหวังน้อยลงในการเข้าสู่สถาบันการศึกษาโลกตะวันตก และมีอีกบางส่วนมองหาลู่ทางที่จะเดินทางไปทำงานในจีนจากเหตุค่าตอบแทนสูงสำหรับชาวยุโรป

‘สาวกิมจิ’ ชี้!! ชีวิต นร.เกาหลีใต้หดหู่ ต้องเรียน ‘เช้าจรดดึก’ เทียบ นร.ไทย ‘ดีกว่า’ เลิกเรียนเวลาปกติ แถมมีชีวิตอิสระ

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีวิดีโอที่เป็นไวรัลอยู่ในโลกออนไลน์ เป็นวิดีโอของหญิงสาวชาวเกาหลีใต้ที่ออกมาเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนในเกาหลีใต้ และเน้นย้ำว่าชีวิตนักเรียนเกาหลีใต้น่าสงสาร แตกต่างจากนักเรียนไทยที่ดีและมีอิสระมากกว่า…

หญิงสาวชาวเกาหลีใต้เจ้าของวิดีโอมีชื่อว่า ‘ริซชี่’ ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมาแล้ว 15 ปี โดยเธอได้ระบุในวิดีโอว่า เรื่องที่ไทยดีกว่าเกาหลีใต้ มีหลายเรื่องมาก ๆ หนึ่งในนั้นคือเรื่องชีวิตประจำวันของนักเรียน โดยที่เกาหลีใต้จะมีตารางเรียนให้นักเรียน ซึ่งเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ใน 1 วันเรียนทั้งหมด 7 วิชา และต้องกินข้าวกลางวันและข้าวเย็นที่โรงเรียน

เธอยังระบุอีกว่า วิชาสุดท้ายเรียนจบตั้งแต่ช่วงห้าโมงเย็นแล้ว แต่ทางโรงเรียนบังคับนักเรียนให้อ่านหนังสือต่อจนถึงสี่ทุ่ม หลังจากอ่านหนังสือเสร็จก็ยังไม่ได้กลับบ้าน เพราะต้องไปเรียนพิเศษต่อ โดยจะมีรถบัสเรียนพิเศษมารอรับที่โรงเรียนเลย และเรียนพิเศษจนถึงเที่ยงคืน สำหรับการเรียนพิเศษ ต้องไปทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด ทำให้เด็กนักเรียนเจอคุณครูมากกว่าพ่อแม่เสียอีก

สาวเกาหลีใต้รายนี้ยังระบุอีกว่า จริง ๆ ก็เรียนไหว ไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพราะตอนที่เรียนมีเพื่อนอยู่ด้วยทุกคน เธอยังบอกอีกว่าสาเหตุที่ต้องเรียนโหดขนาดนี้ เพราะว่าการแข่งเกาหลีสูงมาก ๆ เพื่อให้ได้งานดี ๆ ก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ให้ได้ก่อน ซึ่งแตกต่างจากฝั่งตะวันตกที่สอนว่าความสามารถของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่อให้เรียนไม่เก่งก็ยังสามารถมีความสุขได้ แต่สำหรับที่เกาหลีใต้นั้นมีทรัพยากรไม่มากพอ ทำให้โรงเรียนและผู้ปกครองพยายามสอนนักเรียน ต้องเรียนให้เก่ง เพื่อหางานดี ๆ จะได้มีชีวิตที่ดีในอนาคต 

ริซชี่ระบุทิ้งท้ายว่า ตัวเธอเองไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลี และหวังว่าในอนาคตอยากเห็นนักเรียนที่เกาหลีใต้มีชีวิตที่ดี และสามารถเลิกเรียนได้ตามเวลาปกติเหมือนเด็กนักเรียนไทย 

'รศ.ดร.ดนุวัศ' แนะ 5 นโยบายด้านอุดมศึกษาในโลกยุคดิจิทัล ยกระดับ 'ระบบการศึกษา' ครบมิติ เพิ่มพูนศักยภาพเด็กยุคใหม่

(15 ก.ย.66) รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ได้โพสต์ข้อเสนอแนะนโยบายต่อภาครัฐ ด้านอุดมศึกษาในโลกยุคดิจิทัล ไว้ดังนี้...

📌 1. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

จัดสรรทรัพยากรเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีโครงสร้างดิจิทัลที่แข็งแกร่งซึ่งรวมถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบการจัดการข้อมูลที่ปลอดภัยเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ และการวิจัยออนไลน์

📌 2. มีนโยบายการเรียนรู้ออนไลน์และการศึกษาแบบผสมผสาน (Hybrid)

พัฒนาแนวปฏิบัติและการสนับสนุนสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์และการศึกษาผสมผสาน รวมถึงการฝึกอบรมคณาจารย์ในด้านการศึกษาออนไลน์และการให้ความเข้าถึงสำหรับนักเรียนทุกคน

📌 3. สร้างความเป็นส่วนตัวและความมั่งคงปลอดภัยของข้อมูล

ใช้นโยบายความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลที่เข้มงวดเพื่อปกป้องข้อมูลของนักเรียน และสถาบันในสภาพแวดล้อมดิจิทัล โดยปฏิบัติตามกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

📌 4. พัฒนาความรู้และทักษะด้านดิจิทัลสำหรับอนาคต

สนับสนุนนโยบายในการเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่นักเรียนและคณาจารย์ โดยให้มีโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความสามารถด้านดิจิทัลที่สำคัญสำหรับอนาคต

📌 5. สร้างทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด
(Open Educational Resources)

ส่งเสริมการใช้และสร้างทรัพยากรการศึกษาเปิดเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการศึกษา และเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

‘อ.วิริยะ’ ชี้ ‘การศึกษา’ คือ ‘การลงทุน’ ที่คุ้มค่าที่สุด

“การศึกษา คือ การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด…
และส่งผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจและสังคม”

อาจารย์วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ นักพูด นักเขียนด้านการศึกษา กล่าว

‘ยูเครน’ สร้างโรงเรียนใต้ดิน ดึงการศึกษาคืนเยาวชน กลายเป็นห้องเรียนในหลุมหลบภัยที่แรกของประเทศ

(3 ต.ค. 66) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กินเวลายาวนานเกือบ 3 ปี ทำวิถีชีวิตของชาวยูเครนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หนีไม่พ้นกลุ่มเด็กเล็กวัยเรียนของยูเครน ที่หลายโรงเรียนจำเป็นต้องหยุดการเรียน การสอน เพราะอยู่ในเขตสู้รบ ในขณะที่อีกหลายแห่งจำเป็นต้องเปิดการสอนผ่านทางออนไลน์เท่านั้น

จึงเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่เด็กๆ ยูเครนต้องจำใจจากบรรยากาศห้องเรียน เสียงกระดาน และฝุ่นชอล์ก เพียงเพราะความขัดแย้งรุนแรงในโลกของผู้ใหญ่

วันนี้ รัฐบาลท้องถิ่นเมืองคาร์คีฟจึงตัดสินใจสร้างโรงเรียนใต้ดิน ที่เปิดการเรียน การสอนแบบชั้นเรียนเต็มรูปแบบ ที่มีห้องเรียนมากกว่า 60 ห้อง ที่สามารถรองรับนักเรียนได้ถึง 1,000 คน นับเป็นโรงเรียนใต้ดินแห่งแรกของยูเครนอย่างเป็นทางการ

โดยทางการเมืองคาร์คีฟได้ดัดแปลงพื้นที่ภายในสถานีรถไฟใต้ดิน มาปรับสร้างเป็นโรงเรียนที่นักเรียนสามารถเข้ามานั่งเรียนได้อย่างปลอดภัย แม้จะมีสัญญาณเตือนภัยการโจมตีทางอากาศบนภาคพื้นดินก็ตาม 

‘อิฮอร์ เทเลคอฟ’ นายกเทศมนตรีเมืองคาร์คีฟ ได้โพสต์ข้อความลงใน Telegram กล่าวว่า มั่นใจในความปลอดภัยของโรงเรียนใต้ดินแห่งแรกในคาร์คีฟมาก และโรงเรียนในหลุมหลบภัยแห่งนี้จะช่วยให้เด็กๆ นับพันคน มีโอกาสเรียนหนังสือในบรรยากาศที่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับเพื่อนร่วมชั้น และ ครู ได้อีกครั้งหนึ่ง

‘คาร์คีฟ’ เป็นเมืองทางภาคตะวันออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยูเครน และตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนรัสเซียเพียง 35 กิโลเมตรเท่านั้น เมืองนี้เคยมีประชากรถึง 1.4 ล้านคน ก่อนเกิดสงครามระหว่าง 2 ชาติ อีกทั้งยังเคยเป็นเป้าหมายสำคัญของกองกำลังรัสเซีย ถึงแม้วันนี้คาร์คีฟจะสงบลงมากแล้ว แต่ยังมีสัญญาณเตือนภัย และการโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นไม่เว้นในแต่ละวัน

ส่วนระบบขนส่งทางรถไฟใต้ดินของเมืองนี้ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1975 นับเป็นเมืองที่ 2 ของยูเครนถัดจากกรุงเคียฟ ที่มีระบบรถไฟใต้ดินใช้ ปัจจุบันมีสายรถไฟ 3 สาย เปิดบริการ 30 สถานี โดยสถิติผู้ใช้งานรถไฟใต้ดินเมืองคาร์คีฟในปี 2018 มีมากถึง 223 ล้านคน

ต่อมาในปี 2022 ระหว่างที่เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพยูเครน และรัสเซีย ในเมืองคาร์คีฟอย่างหนัก รถไฟใต้ดินถูกนำมาใช้เป็นหลุมหลบภัยของชาวเมืองนับแสนคน ทำให้ อิฮอร์ เทเลคอฟ นายกเทศมนตรี เกิดความคิดที่จะปรับเอาพื้นที่สถานีรถไฟใต้ดินบางส่วนมาเปิดสอนเด็กๆ ระหว่างหลบภัย

ก่อนจะพัฒนากลายเป็นชั้นเรียนทดลอง ที่นำหลักสูตรในโรงเรียนมาสอนอย่างจริงจังซึ่งนอกจากวิชาหลักที่ใช้สอนอย่าง คณิตศาสตร์ ภาษายูเครน ภาษาอังกฤษ และกิจกรรมสันทนาการเสริมแล้ว ยังเพิ่มทักษะการป้องกันตัวด้วยการเชิญตำรวจเข้ามาอธิบายวิธีการหาที่หลบอย่างปลอดภัย เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัยการโจมตีทางอากาศอีกด้วย

‘โอฮา เดเมนโก’ ผู้อำนวยการสำนักงานด้านการศึกษาของเมืองคาร์คีฟ กล่าวว่า การที่เด็กเล็กๆ ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน หรือกับบรรดาครูอาจารย์ที่โรงเรียนนานๆ อาจส่งผลต่อทักษะทางสังคมของเด็ก นอกจากนี้ เด็กๆ ยังมีภาวะเครียด จากผลกระทบของสงคราม จึงมีความจำเป็นที่ต้องดึงเด็กๆ กลับสู่ชั้นเรียนแบบปกติให้เร็วที่สุด

หลังจากที่ทดสอบห้องเรียนในหลุมหลบภัยมาแล้วหลายเดือน วันนี้ทางการเมืองคาร์คีฟจึงตัดสินใจเดินหน้า ขยายชั้นเรียนนำร่องโรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนใต้ดินเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศ และจะนำหลักสูตรที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งนายกเทศมนตรีให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่ตัดงบประมาณด้านการพัฒนาโรงเรียนแม้แต่เหรียญเดียว อีกทั้งยังตั้งเป้าผลักดันให้คาร์คีฟเป็นเมืองอัจฉริยะที่สุดในยูเครนอีกด้วย

แม้เสียงสงคราม และ สนามรบยังไม่จบ แต่อนาคตของเด็กๆ ชาวยูเครนยังต้องดำเนินต่อไป ที่ไม่อาจรอจนถึงวันสิ้นสงครามได้ แต่การศึกษาของเด็กๆ ในวันนี้สำคัญเสมอ

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

‘เพจดัง’ ฉะ!! ‘นโยบายปลอด 0 ร มส’ กัดกินการศึกษาไทย มองผิวเผินดีเลิศ แท้จริงทำเด็กขาดวินัย-ไร้ความรับผิดชอบ

(5 ต.ค. 66) เพจวันนั้นเมื่อฉันสอน ซึ่งเป็นเพจของครูหนุ่มในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีผู้ติดตามกว่า 1.6 แสนคน ได้เขียนบทความเรื่อง ‘นโยบายปลอด 0 ร มส กำลังผลิตเด็กที่ขาดความรับผิดชอบ’ ระบุว่า ดาบสองคมของนโยบายที่แสนดี พูดความจริงได้มั้ยกับการศึกษาไทย ถ้าพูดไม่ได้ทุกอย่างมันก็ดีเลิศประเสิฐศรีมณีเด้ง แต่ถ้าพูดได้คุณจะได้รับฟังความจริงอีกด้าน

นโยบายปลอด 0 ร มส แนวคิดอันแสนดีของระบบการศึกษาที่จะนำพาประเทศเราไปสู่ฝั่งฝัน เพราะเด็กทุกคนตั้งใจเรียนครูเอาใจใส่ช่วยเหลือเด็กให้จบการศึกษาได้ทุกคน

แต่ความจริงแล้วกลับไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเด็กเกิดความรู้สึกว่า ‘เรียนยังไงก็ผ่าน’ ‘ไม่ส่งงานก็ผ่าน’ ‘ทำยังไงก็ผ่านวันสุดท้ายค่อยไปแก้’

สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบอีกมากมายสู่สังคม คนตั้งใจเรียนก็ท้อใจเพราะคนที่ไม่ตั้งใจก็ผ่านเหมือนกันจนไม่รู้ว่าจะทำดีไปทำไมเพราะไม่เรียนก็ผ่านเหมือนกัน ครูเองก็ถูกบีบให้ตัดสินด้วยผลการเรียนปลอม ๆ ออกมา

ผมเคยคุยกับ ผอ.ของผมท่านหนึ่งเรื่องการรายงานผลอ่านเขียนว่าจะให้รายงานตามความจริงไหม ? ทำไมต้องถามอย่างงั้นล่ะเพราะสถานศึกษาบางแห่งเมกคะแนนสอบจนเป็นเรื่องปกติ ผลการสอบเลิศหรูแต่เด็กก็อ่านไม่ออกก็มี มีการโกงข้อสอบเอาเฉลยมาให้บอก และที่มันเป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายที่บีบลงมาต้องได้ 90 เต็มร้อย จึงจะมีหน้าตาอยู่ได้

ระบบที่ครูพูดความจริงไม่ได้ ระบบที่ครูตัดสินตามความจริงไม่ได้กำลังกัดกินการศึกษาไทย ในชั้นเรียนระดับมัธยมเราจะเจอทั้งเด็กที่อ่านไม่ออกท่องสูตรคูณไม่ได้เป็นเรื่องปกติ ‘เพราะอ่านไม่ออกก็ได้เลื่อนชั้นอยู่ดี’

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องตั้งคำถามว่า สิ่งที่เป็นอยู่มันดีแล้วจริง ๆ ใช่ไหมกับการทำให้เด็กเกิดความคิดว่า ‘เรียนอย่างไรก็ได้ ทำยังไงก็ผ่าน’

ถ้ามันดีจริงก็คงไว้ แต่ถ้ามันไม่ได้ดีอย่างที่คิดก็ควรเกิดการเปลี่ยนแปลงปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาของทุกคนเพราะถ้าเด็กคนหนึ่งได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพวันหนึ่งเขาอาจจะเป็นภัยของสังคม ลูกคุณเรียนเก่งแล้วเรียนดีแล้ว คุณให้การอบรมสั่งสอนที่ดี แต่วันหนึ่งเขาอาจจะถูกทำร้ายจากเด็กคนอื่นที่ขาดการศึกษาที่ดีของสังคมก็ได้

จงอย่ารอให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น

‘ม.ฮ่องกง’ มอบทุนเรียนฟรี หนุน ‘นักเรียนไทย’ มากศักยภาพ จ่อเดินหน้าขยายความร่วมมืออีก 40 โรงเรียน ภายในปี 66

(8 ต.ค. 66) ศาสตราจารย์เบนเนต ชิ คิน ยิม ผู้บริหารฝ่ายรับนักศึกษาใหม่ ‘The University of Hong Kong’ เปิดเผยว่า ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะ ได้จัดกิจกรรม Thailand Admission Tour 2023 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรายงานความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 จากการจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักเรียนไทยไปศึกษาที่ The University of Hong Kong จาก 3 แห่ง ประกอบด้วย

1.) กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
2.) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
3.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปัจจุบันมีนักเรียนจากโรงเรียนดังกล่าวได้รับทุนไปศึกษาต่อแล้วกว่า 10 ทุนการศึกษา ในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนไทยกำลังศึกษาที่ The University of Hong Kong กว่า 166 คน ผลการหารือ The University of Hong Kong พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนไทยศักยภาพสูง เพื่อรับทุนไปศึกษาต่อที่ The University of Hong Kong และในปี 2566 จะขยายความร่วมมือไปยังโรงเรียนในไทยอีก 40 แห่ง

ทั้งนี้ ‘The University of Hong Kong’ มหาวิทยาลัยอันดับที่ 26 ของโลก จากการจัดลำดับของ ‘QS World University Rankings’ และเป็นอันดับ 1 ของโลกด้าน Most International University in the World จากการจัดอันดับของ ‘Times Higher Education’

‘Kimani Maruge’ นักเรียนชั้นประถมที่อายุมากที่สุดในโลก ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งโลกเห็นว่า ‘ไม่มีใครแก่เกินเรียน’


‘Kimani Maruge’ นักเรียนชั้นประถมที่อายุมากที่สุดในโลก

‘Kimani Ng'ang'a Maruge’ (ประมาณ ค.ศ. 1920 – 14 สิงหาคม 2009) เป็นชาวเคนยา เกิดในปี 1920 เขาเป็นนักรบในช่วงการจลาจลของชนเผ่า ‘Mau Mau’ เพื่อเรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักรในช่วงทศวรรษ 1950 เขาถือครองสถิติโลก The Guinness World Record ด้วยการเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดที่เข้าโรงเรียนประถม (ในระบบ) โดยเขาลงทะเบียนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2004 ด้วยวัย 84 ปี

แม้ว่าเขาจะไม่มีเอกสารพิสูจน์อายุของเขา แต่ Maruge เชื่อว่าเขาเกิดในปี 1920 อย่างไรก็ตาม รูปร่างหน้าตาของเขาดูอายุน้อยกว่า 84 ปีเล็กน้อย


ด้วยในปี 2003 รัฐบาลเคนยาออกประกาศเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลและไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนชาวเคนยาอย่างกว้างขวาง กระตุ้นให้ประชาชนจำนวนมาก ยึดมั่นในเส้นทางการศึกษาในระบบอย่างเป็นทางการ Kimani Maruge ก็เช่นกัน ดังนั้น เขาจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนประถม Kapkenduiywo ในเมือง Eldoret ประเทศเคนยา

นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลกระตุ้นให้เขาทำเช่นนั้น เขากล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลและไม่มีค่าใช้จ่าย และอีกเหตุผลของ Maruge ในการเข้าโรงเรียน คือ เขาต้องการอ่านพระคัมภีร์ให้ได้และนับเลขให้เป็น

Maruge เป็นพ่อม่ายและเป็นปู่ทวด (หลาน 2 คนจากทั้งหมด 30 คนของเขา เรียนโรงเรียนเดียวกันและช่วยติวหนังสือให้เขาในการสอบไล่)


เส้นทางการศึกษาของเขาไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ต่อต้านการเข้าเรียนของเขาอย่างดุเดือด การตัดสินใจของ Maruge ได้รับการโต้แย้งเป็นอย่างมากจากผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ

แม้ว่าจะไม่มีการบันทึกวันเกิดอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อกันว่าในขณะที่ลงทะเบียน เขามีอายุ 84 ปี ซึ่งทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุดในโลกที่เข้าเรียนในโรงเรียน ในปี 2005 Maruge นักเรียนอายุมากที่สุดก็ได้รับการยอมรับจากนักเรียนทั้งโรงเรียน เขาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้านักเรียนของโรงเรียน

ในเดือนกันยายนของปีเดียวกันนั้นเอง เขาได้ขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกในชีวิต และได้มีโอกาสขึ้นปราศรัยในการประชุมสุดยอดโลกประจำปี 2005 ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่นคร New York สหรัฐอเมริกา โดยได้ร่วมมือกับ ActionAid ในหัวข้อเกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษาที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสำหรับทุกคน


หลังจากความรุนแรงภายหลังการเลือกตั้งของเคนยา ในปี 2007-2008 ทรัพย์สินของ Kimani Maruge ถูกรื้อค้นและถูกขโมยโดยผู้ปล้นสะดม เขาจึงคิดที่จะลาออกจากโรงเรียน แต่ที่สุดเขาก็ตัดสินใจที่จะอยู่เรียนต่อ เขาต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนของเขาถึง 4 กิโลเมตร แต่เขาก็ยังคงไปเรียนทุกวัน

ในเดือนมิถุนายน 2007 Maruge ยอมแพ้ต่อแรงกดดันและยอมลาออกจากโรงเรียน และในที่สุดเดือนมิถุนายน 2008 เขาย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา อย่างไรก็ตาม Kimani ผู้ไม่ลดละได้เข้าเรียนในประถมปีที่ 6 อีกครั้งที่โรงเรียนประถม Marura ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ Kariobangi ของกรุงไนโรบี เมืองหลวงของประเทศเคนยา


ปี 2015 Google ได้สร้าง Doodle เพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘Kimani Maruge’
ชาวเคนยาที่เชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุด ที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2009 Maruge ได้เข้ารับพิธีล้างบาปที่โบสถ์คาทอลิก Holy Trinity ในเมือง Kariobangi และรับชื่อคริสเตียนว่า ‘Stephen’ ตามชื่อของ ‘นักบุญ Stephen’ เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2009 ด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ที่โรงพยาบาลแห่งชาติ Kenyatta ในกรุงไนโรบี ร่างของเขาถูกฝังที่ฟาร์มของเขาใน Subukia ปี 2015

เป็นเวลา 11 ปีหลังจากที่ Kimani Maruge ได้เข้าเรียน Google ได้สร้าง Doodle เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ซึ่งเชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุดที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา โดย Google กล่าวว่า “Doodle นี้เป็นการเตือนใจทุกคนว่า ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ”


‘The First Grader (2011)’ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจของ Kimani Maruge ซึ่งได้กระตุ้นความคิดของผู้คนจำนวนมาก ที่ตัดสินเข้าเรียนในโรงเรียนประถมอีกครั้ง


สำหรับบ้านเราแล้ว การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษาตามอัธยาศัยนั้นกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว ด้วยระบบการศึกษาของไทยที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยาวนานมาหลายสิบปีแล้ว ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (จากเดิม : กองการศึกษาผู้ใหญ่ ต่อมาเป็น; กรมการศึกษานอกโรงเรียน และเป็น; สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.)) ในปัจจุบัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top