ไม่นานมานี้ Mission To The Moon ได้นำเสนอบทความที่สืบเนื่องจากแบรนด์ใหญ่ในสหรัฐฯ เริ่มปรับทิศทาง ไม่นิยมจ้างอินฟลูฯ ที่ตื่นรู้ทางการเมือง โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า...
ปัจจุบันนี้อาชีพ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ถือเป็นสายงานที่มาแรงและสร้างกำไรให้กับตัวคนทำ รวมถึงบริษัท และแบรนด์ผู้จ้างได้อย่างมากมายมหาศาล
ด้วยพลังของโซเชียลมีเดียที่ผนวกกับพลังของความคิดสร้างสรรค์ ทำให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพก็สามารถสร้างคอนเทนต์ พัฒนาทักษะการเล่าเรื่องและตัดต่อ รวมถึงค่อยๆ เก็บเกี่ยวความนิยมจนกลายมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ทั้งนั้น
ยิ่งไปกว่านั้นความนิยมในตัวของอินฟลูเอนเซอร์เองก็ยังสามารถต่อยอดมูลค่าได้อีกมากมาย เช่น ทำแบรนด์เป็นของตัวเอง เป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าคนที่มาสายอาชีพนี้จะประสบความสำเร็จกันถ้วนหน้าทุกคน
เพราะความผันผวนรอบทิศทางทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นในตลาดแรงงาน ยิ่งในอุตสาหกรรมอินฟลูเอนเซอร์ที่มีทั้งระดับเล็กไปจนถึงระดับใหญ่ ทั้งอินฟลูเอนเซอร์ที่ดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโดยตรงของแบรนด์ได้ และอินฟลูเอนเซอร์ที่อาจเพิ่มโอกาสใหม่ๆ หรือกลุ่มลูกค้าใหม่ให้กับแบรนด์
แต่ก็ใช่ว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง และมียอดผู้ติดตามสูงๆ จะได้รับโอกาสจากทุกแบรนด์ เพราะผู้จ้างเองก็ต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของอินฟลูเอนเซอร์ ลักษณะของกลุ่มผู้ติดตาม รวมไปถึงประเด็นความอ่อนไหวอื่นๆ ที่อาจกระทบกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วย และหนึ่งในประเด็นที่อาจเรียกได้ว่าอ่อนไหวจนถึงขั้นทำให้อินฟลูเอนเซอร์บางคนกลายเป็น ‘โปรไฟล์ที่มีความเสี่ยงสูง’ ต่อแบรนด์ก็คือเรื่องการเมืองนั่นเอง
>> เพราะ ‘การเมือง’ คือเรื่องอ่อนไหวในโลก Marketing
การทำการตลาดให้กับสินค้าและแบรนด์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) มีอิทธิพลกับสร้างการรับรู้และกำไรให้กับแบรนด์สูงมากจริงๆ และแบรนด์ต่างๆ เองก็พร้อมที่จะลงทุนเม็ดเงินมหาศาลเพื่อทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง เช่น Walmart, Kraft Heinz หรือ Coca-Cola
โดยจากการรายงานของ CNBC มีการคาดการณ์ว่า Creator Economy หรือเศรษฐกิจจากการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของเหล่าครีเอเตอร์จะมีมูลค่าถึง 528 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 และสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจรูปแบบนี้ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างคอนเทนต์กับแบรนด์ หรือบริษัทที่ลงโฆษณา
โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ความเห็นทางการเมืองมักประกอบสร้างขึ้นมาจากทฤษฎีสมคบคิด และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ยิ่งต้องระมัดระวังในเรื่องของคอนเทนต์ที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองมากเป็นพิเศษ เพราะถ้าหากมีการคว่ำบาตรอินฟลูเอนเซอร์เกิดขึ้น คนที่จะโดนผลกระทบหนักที่สุดก็คือแบรนด์ที่เป็นผู้จ้างนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้นการที่คอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์ที่แบรนด์จ้างไปอยู่ใกล้กับคอนเทนต์อื่นๆ ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ก็จะทำให้ส่งผลต่ออัลกอริทึม ยอดการเข้าถึง และอาจส่งผลกระทบไปถึงทัศนคติที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้แบรนด์จึงต้องมีการศึกษาภาพลักษณ์ของอินฟลูเอนเซอร์ในตลาดเป็นอย่างดี เพื่อพิจารณาถึงกำไร ผลประโยชน์ รวมไปถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คริชนา สุบรามาเนียน (Krishna Subramanian) ผู้ก่อตั้ง Captiv8 บริษัทการตลาดกล่าวว่า แบรนด์ต้องการที่จะรู้ว่าพวกเขาต้องเผชิญความเสี่ยงอะไรบ้าง ถ้าพวกเขาจะจ้างอินฟลูเอนเซอร์สักคนเพื่อทำการตลาดให้กับสินค้า
โดยเครื่องมือ AI ของ Captiv8 จะแบ่งเกรดของอินฟลูเอนเซอร์หรือเน็ตไอดอลในสหรัฐฯ ออกเป็นระดับต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของแบรนด์ เช่น...
- เกรด A หมายถึง ‘โปรไฟล์ที่ปลอดภัย’ หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่นำเสนอคอนเทนต์ที่มีความอ่อนไหวทางสังคม
- เกรด C ที่หมายถึง ‘โปรไฟล์ที่ต้องระวัง’ หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่พูดถึงเรื่องการเมือง และประเด็นอ่อนไหวทางสังคมบ่อย ๆ
- รวบรวมและวิเคราะห์เนื้อหาที่เป็นประเด็น เช่น ประเด็นทางสังคมที่ละเอียดอ่อน ความตายและสงคราม คำพูดที่สร้างความเกลียดชังจากตัวครีเอเตอร์จากการรายงานข่าว
นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัท Viral Nation ผู้ให้บริการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียที่สร้างบริการ Advanced Brand Safety ในการช่วยวิเคราะห์คำสำคัญและตรวจจับคอนเทนต์ที่อาจเป็นประเด็นอ่อนไหว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ในภายหลังได้
>> ตระหนักรู้ทางการเมืองอย่างไรไม่ให้กระทบกับ ‘ภาพลักษณ์’ ของเรา?
แม้ว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ในโลกธุรกิจกลับไม่เป็นเช่นนั้น ความคิดเห็นที่ของคนที่มีอุดมการณ์ขัดแย้งกันอาจทำให้เกิดอคติขึ้น ส่วนแบรนด์เองก็ถือว่ามีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ใกล้ชิดกับอินฟลูเอนเซอร์ ทำให้หลายแบรนด์ไม่สามารถลอยตัวเหนือดรามาที่เกิดขึ้นได้
แต่การจะทิ้งอุดมการณ์ไปเลยก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญกับจุดยืนของแบรนด์ และอินฟลูเอนเซอร์ที่แบรนด์จ้าง ถ้าเช่นนั้นแล้วเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งหลายควรจะรับมือกับความต้องการของแบรนด์ และสถานการณ์การเมืองที่เพิกเฉยไม่ได้นี้อย่างไร?
>> แสดงออกอย่างมีมารยาท
ภาพลักษณ์และวิธีการสื่อสารของอินฟลูเอนเซอร์สำคัญอย่างมากในยุคนี้ โดยเฉพาะคนที่ใช้โซเชียลมีเดียทำมาหากินก็ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าทุกการโพสต์จะถูกเผยแพร่ และแชร์ต่ออยู่บนโลกออนไลน์ ดังนั้นความคิดและการแสดงออกของเราจะสร้างผลกระทบในอนาคตอย่างแน่นอน แต่จะเป็นผลดีหรือผลร้ายนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการสื่อสารของเรา
>> เคารพในความเห็นที่ต่างกัน
อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ทำให้เราได้พบเจอกับความคิดเห็นมากมาย ทั้งความเห็นที่คล้ายกับเราและความเห็นที่ต่างจากเรา ดังนั้นต้องเข้าใจว่าคนทุกคนสามารถมีมุมมอง ความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันได้ แต่ต้องเคารพในเหตุผลของทุกฝ่าย และไม่สร้างความขัดแย้งด้วยคำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง
>> คำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเอง
ในกรณีที่ประเด็นความอ่อนไหวนั้นเป็นเรื่องที่เฉพาะกลุ่มมาก ๆ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเราโดยตรง คนที่ทำอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์อาจจะต้องไตร่ตรองถึงความคุ้มค่าอย่างถี่ถ้วน ว่าการแสดงความคิดเห็นออกไปนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรกับภาพลักษณ์และอาชีพของเรา แล้วจะได้อะไรกลับมาคุ้มกับที่เสียไปหรือไม่?
สุดท้ายนี้ แม้ว่าเรื่องบางเรื่องอาจกำลังกลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างน่าติดตาม แต่ในฐานะของผู้ประกอบอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้สร้างคอนเทนต์ออนไลน์จำเป็นจะต้องคำนึงถึงทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ผู้จ้าง ภาพลักษณ์ของตัวเราเอง และทัศนคติของโลกอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบกับประเด็นอ่อนไหวที่เกิดขึ้นด้วย
การคำนึงถึงทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบอย่างถี่ถ้วน จะช่วยให้เราระมัดระวังในการผลิตและเผยแพร่คอนเทนต์มากขึ้น มีการตรวจสอบที่รัดกุมมากขึ้น ซึ่งจุดนี้เองจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของอินฟลูเอนเซอร์ให้ดูน่าเชื่อถือได้ และถ้าหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิดขึ้น อินฟลูเอนเซอร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ก็มีส่วนผิด และจำเป็นที่จะต้องแสดงการรับผิดชอบต่อแบรนด์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดนั้นด้วยเช่นกัน