Friday, 19 April 2024
ISSUE

‘Yes man’ ชีวิตเกือบตุ้บ เพราะมุ่ง​ 'เซย์เยส'​

เชื่อว่าหลายๆ​ คนคงได้ยินประโยคติดหูอย่าง ‘ทำดีย่อมได้ดี’ ซึ่งก็อาจจะจริง แต่ไม่จริงทั้งหมด วันนี้เลยอยากจะยกกรณีของหนังเรื่อง ‘Yes Man’ หรือชื่อไทย ‘คนมันรุ่งเพราะมุ่งเซย์เยส’ หนัง Feel Good ที่สะท้อนให้เห็นว่าการทำดี (แบบไม่ลืมหูลืมตา) ก็ไม่ใช่ผลดีเสมอไป

โดยหนังเรื่องนี้ได้เล่าถึง ‘คาร์ล อัลเลน’ นายธนาคาร ที่มีชีวิตสุดหดหู่ เพราะการหย่าร้าง ทำให้เขาเริ่มใช้ชีวิตแบบหันหลังให้สังคม คำพูดติดปากของเขาคือ​ การเซย์ ‘โน’ (ปฏิเสธทุกอย่าง)​

เขาปฏิเสธกับทุกสิ่งที่เหวี่ยงเข้ามาในชีวิต แต่ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปเมื่อเขาได้มาเจอกับเพื่อนเก่าที่ชักชวนให้เขาไปเข้าร่วมสัมมนา ที่ทุกคนต่างพูดแต่คำว่า ‘เยส’ (ตอบรับทุกเรื่อง)​ ซึ่งก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่ม​ 'เซย์เยส’ กับทุกเรื่องที่เข้ามาในชีวิต 

หลังจากนั้นชีวิตเขาก็เริ่มเปลี่ยนไป​ เพราะชีวิตที่เคยมีแต่ความหดหู่กลับมีเรื่องดีๆ เข้ามา แต่เมื่อไหร่ที่เขาเซย์ ‘โน’ เรื่องแย่ๆ ก็จะเกิดขึ้นกับเขาไปเสียทุกที ทำให้เขายิ่งเชื่อว่าหากเขาเริ่มปฏิเสธเขาก็จะกลับมาสู่ชีวิตหดหู่แบบเดิมอีกครั้ง 

เพียงแต่การเซย์ ‘เยส’ ของเขา​ ก็ใช่ว่าจะเจอเรื่องดีๆ​ ทั้งหมด​ เพราะมันกลับทำให้เกิดเรื่องยุ่งๆ   ด้วยเช่นกัน​ เมื่อเขาดันตกปากรับคำไปซะทุกเรื่อง แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่เต็มใจทำ หรือเกินความสามารถที่เขาจะทำได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เขาต้องมาทำความเข้าใจเสียใหม่กับการ เซย์ ‘เยส’ แบบไม่ลืมหูลืมตาของเขา

จากโลกของหนัง​ อ้อมมาสู่โลกของความเป็นจริง​  อะไรที่หล่อหลอมให้คนหนึ่งคนเกิดพฤติกรรมชอบเยสแบบ​ ‘คาร์ล อัลเลน’

ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่สะท้อนจากเรื่องนี้​ คือ ‘ความขี้เกรงใจ’ จนไม่กล้าปฏิเสธ ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาของจีน 'โจวเหวยลี่'​ เชื่อว่า "ความวุ่นวายส่วนใหญ่ของชีวิตมาจากการที่คุณพูดว่า YES เร็วเกินไป และพูดว่า NO ช้าเกินไป" โดยเธอมองว่าความเกรงใจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่มาทำลายชีวิต 

และทางออกที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้​ ก็ง่ายๆ​ แค่หัดรู้จักเซย์ ‘โน’ เสียบ้าง ซึ่งอาจจะต้องเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด กำจัดความเกรงใจออกไป เพื่อให้เรากล้าที่จะปฏิเสธ พร้อมท่องจำไว้ด้วยว่า "ก่อนจะเห็นแก่คนอื่น เราต้องเห็นแก่ตัวเองเสียก่อน" 

"การปฏิเสธไม่ใช่การกระทำที่แย่ แต่เราควรต้องเรียนรู้ที่จะพูดคำว่า ‘ไม่’ และคำว่า ‘ได้’ ไปพร้อมๆ​ กัน"

หากมองดูจากภาพยนต์เรื่อง Yes Man นี้แล้วก็สะท้อนให้เห็นว่าการเซย์ ‘เยส’ ที่สุดโต่ง​ หรือ​ 'โน'​ แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองได้ทั้งนั้น

ฉะนั้นหนทางที่ดีที่สุด​ คือ ควรอยู่บนความพอดี เราควร เซย์ ‘เยส’ กับเรื่องที่ทำได้ และเซย์ ‘โน’ กับเรื่องที่เกินตัวไปสำหรับเรา เพราะถ้ายังเป็น Yes Man ในชีวิตจริง ก็คงชีวิตหวิดตุ้บ เพราะมุ่งเซย์เยสอย่างแน่นอน


ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.brandthink.me/content/moody-digest-say-no
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1229676

คน (พยายาม) ดี เหตุใด​ 'การทำดี'​ ต้องมี 'ความพยายาม'​

การแสดงออกในสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่คิดต่าง บางครั้งอาจต้องยอมสูญเสียความเป็นตัวเอง​ด้วยการ เสแสร้งบ้าง​ สร้างภาพบ้าง เพื่อให้สามารถยืนอยู่รอดในสังคม 

เชื่อไหมว่า​ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องมโน​ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยยึดมั่นจนกลายเป็นหลักสูตรที่ฝึกหัดกันอย่างแพร่หลาย​ เพื่อให้ได้รับ 'สถานภาพอันดีทางสังคม' มาครอบครอง

เห็นปรากฏการณ์แบบนี้แล้ว​ จึงอดคิดไม่ได้ว่า​ สังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่​ ล้วนเต็มไปด้วย 'หน้ากาก'​ ที่ซ้อนทับ​ 'หน้ากากกันโควิด'​ 

เพียงแต่ที่น่ากลัว​กว่านั้น คือ​ ตอนนี้เริ่มมีการพูดถึงการสร้างสถานภาพอันดี ผ่าน​ 'ความพยายามในการทำดี​' หรือจะเรียกแรงๆ​ ว่า​ 'ทำดีเอาหน้า'​ ก็ไม่ผิดอันใด



เอ่อ!! นี่เรามาถึงจุดนี้แล้วหรือ​ จุดที่ต้องทำให้สังคมเห็นว่า​ 'ฉันคือคนดี' 

- ตัวตนของเราจริงๆ
- ตัวตนที่ไร้การปรุงแต่ง
- ตัวตนของคนที่อยากทำดีแบบไม่ต้องเสแสร้ง 

สิ่งเหล่านี้​ ยังมีจริงอยู่​หรือไม่? 

แล้วเหตุใดถึงเกิดประเด็นเช่นนี้ในสังคม? 

ว่ากันว่า​ คำนิยามของการทำความดีนั้นมีอยู่มากมาย​ เช่น​ สิ่งที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ ความพอใจ ความสุขใจ ความอิ่มเอมใจที่ส่งต่อให้แก่ผู้อื่น​ สังคม​ ประเทศ​ และโลก​ ในแบบที่ตัวผู้ทำไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนตนเอง​ และครอบครัว

ฟังดูแล้ว​ ธรรมดา!! 

ใช่!! มันธรรมดามากๆ

และเพราะมันธรรมดามากๆ​ นี่แหละ​ มันจึงไม่สอดรับกับสภาวะใหม่ของสังคมปัจจุบัน​ 'สังคมของคนหิวแสง'​ ที่เริ่มหยิบการทำดีแบบได้รับยอมรับและยกย่องเข้ามาเอี่ยว

อย่างที่บอก!! วันนี้​หลายคนที่ต้องสวม 'หน้ากากมนุษย์' เพื่อเข้าหาสังคมแห่งการยกย่อง​ ชื่อเสียง​ เกียรติยศ​ และผลประโยชน์ให้เชื่อมโยงเข้าตัวเอง​ จำเป็นต้องสร้าง​อัตลักษณ์บางอย่างให้เกิดการจดจำ

นั่นจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก​ ที่ตัวแปรอย่าง​ 'การทำความดี'​ จะถูกแปรเจตนาจาก​ 'ทำเพราะมันคือความดี'​ เป็น​ 'ทำเพราะฉันต้องพยายามทำความดี'​ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็เช่น นักแสดง เน็ตไอดอล หรือศิลปินบางคน เมื่อครั้งที่ยังไม่มีชื่อเสียง ก็ใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป ทำความดีได้แต่ไม่ถึงกับเอิกเกริกยิ่งใหญ่ เป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องพยายาม​ อยากทำอะไรที่สุขใจก็ทำกันไป

แต่เมื่อก้าวเข้ามาในวงการ มีชื่อเสียง มีคนมากมายรู้จักและให้ความสนใจ กลายเป็นบุคคลสาธารณะ ก็มีโจทย์ใหญ่พ่วงชีวิตเข้ามา​ นั่นคือ​ 'การพยายามเป็นต้นแบบที่ดีให้กับผู้อื่น'​ 



ทุกอย่างที่ทำถูกจับตามอง เพราะเขากลายเป็นคนที่ต้องอยู่ท่ามกลาง​ 'แสง'​ แม้จะหิวแสงหรือไม่หิวแสงก็ตาม​ 

ฉะนั้น​ หลายๆ​ กิจกรรมของการทำความดี​ จึงไม่ใช่แค่ทำเพราะอยากทำ​ แต่ต้องทำแล้วมีผลประโยชน์​ ทำแล้วต้องมีผู้คนยกย่องสรรเสริญ​ โดยมีกระบวนการคัดกรองความดีที่ทำ​แล้วเวิร์กในสายตาสังคม

ว่ากันไปขนาดนั้น!! ก็ขนาดนั้นเลยนั่นแหละ!! เพราะทำแล้ว​จะ Failed ก็ไม่ได้​ ทำแล้วถูกจับผิดนินทาว่า​ Fake ก็ไม่ได้อีก​ โอ้โห!! ทำไมมันดูยากจัง

แต่นี่แหละ​ คือ​ กฎเหล็กของการทำดีเอาหน้า​ เพราะทุกอย่างก็เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีที่สุดในการทำงานหรือแม้แต่การอยู่ในสังคมทั้งสิ้น

อันที่จริง​ ที่เล่ามาทั้งหมด​ ไม่ใช่เรื่องผิดอันใด​ เพราะอย่างน้อย​ ต่อให้พยายามทำดี​ มันก็คือ​ 'ความดี'​ ที่ได้ทำเหมือนกัน​ แต่แค่มันดูน่าเศร้า​ ที่บางครั้งเราต้องเลือกใช้ชีวิต​ ใช้คำพูด​ สายตา​ การแสดงออก​ ที่มาจากการกลั่นกรอง​ เพียงเพื่อคนอื่น​

มันก็เลยลามมาถึงคำถามที่ว่า​ การทำความดีที่เคยมีการนิยามไว้​นั้น เป็น​ 'อะไร'​ ในสังคมมนุษย์กันแน่​ 'เครื่องมือปันความสุข' หรือ​ 'เครื่องมือปั้นความสุข'​

แล้วสรุปเราจะเลือกอยู่กับ​ 'สังคมพยายามดี'​ ที่มีคนยกย่อง​ เชิดชู​ แต่ไม่มีความสุขใจ

หรือเลือกทำดี 'ตามหัวใจ'​ โดยไม่ต้องพยายาม​ แม้ไร้คนเชิดชู

คำถามนี้​ ทุกคนมีคำตอบ​ ผ่านคำถามอีกทอดที่ว่า... 

'หิวแสง'​ หรือเปล่าล่ะ? 

Top 5 ผู้นำ ที่อยู่ในตำแหน่ง ‘ยาวนาน’

เอ่ยคำว่า ‘ผู้นำ’ ผู้คนมักจะเห็นแต่ภาพผู้นำการเมือง หรือผู้นำประเทศ แต่โลกนี้มี ‘ผู้นำ’ มากมายหลายแขนง และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ผู้นำที่อยู่ในตำแหน่ง ‘ยาวนาน’ 

THE STATES TIMES จึงขอหยิบยกเหล่า ‘ผู้นำ’ จากหลากหลายด้าน ที่มีความน่าสนใจ และดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน มาบอกเล่ากัน

‘5 ผู้นำในตำนาน’ ที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน

ปอล บิยา (Paul Biya) : เป็นผู้นำประเทศแคเมอรูน ที่ได้ชื่อว่า ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก ด้วยระยะเวลา 46 ปี นายปอล บิยา ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศแคเมอรูน ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1975-1982 และต่อจากนั้น จึงขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งแคเมอรูน ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ.1982 จนถึงปัจจุบัน 

บียาถือเป็นผู้นำที่มีชื่อเสียงของประเทศแคมเมอรูน ในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 เขาได้เข้ามาปฏิรูปการเมืองของประเทศแคเมอรูน จากระบบพรรคการเมืองเดียว มาเป็นระบบหลายพรรค ตลอดเส้นทางการเมือง เขาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด ทั้งแบบคะแนนท่วมท้น ฉิวเฉียด หรือแม้กระทั่งเคยถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง ปัจจุบันบียายังคงเป็นผู้นำแคเมอรูน ในวัย 88 ปี

จอมพลแปลก พิบูลสงคราม : เป็นผู้นำทางการเมืองไทยที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 15 ปี 25 วัน โดยจอมพลแปลก หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่งเก้าอี้นายกฯ เมืองไทย 8 สมัย ระหว่างปี พ.ศ.2481-2487 และปี พ.ศ.2491-2500 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็นผู้นำที่มีบทบาทต่อประเทศ และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อยู่มากมาย อาทิ การเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก ‘ประเทศสยาม’ มาเป็น ‘ประเทศไทย’ เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ มาใช้เป็นวันที่ 1 มกราคม ตามสากล หรือเปลี่ยนเพลงชาติไทยแบบเก่า ให้มาเป็นเพลงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งคำทักทาย ‘สวัสดี’ ก็เกิดในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีคนนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังมีวาทะในตำนาน ที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำตลอดกาลได้เป็นอย่างดี นั่นคือ ประโยคที่ว่า ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ 

มาร์กาเรต แทตเชอร์ : หากจะหาผู้นำที่เป็นสุภาพสตรี ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนาน และเป็นที่จดจำมากที่สุด คงต้องยกให้กับ นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ โดยเธอขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1979 ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ.1990 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 11 ปี 24 วัน

มาร์กาเรต แทตเชอร์ ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของยุโรปและคนแรกของอังกฤษ และเป็นผู้นำทางการเมืองที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษ นับตั้งแต่ยุคของวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ตลอดระยะเวลาของการเป็นผู้นำ แทตเชอร์มีผลงานที่โดดเด่น พอ ๆ กับการมีช่วงเวลาที่ต้องประสบกับมรสุมทางการเมืองมากมาย จนได้รับฉายาว่า ‘หญิงเหล็ก’ แห่งวงการเมืองโลก

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร : ประเทศไทยมี ‘ผู้นำสงฆ์’ ที่ทรงดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด นั่นคือ สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณสังวร หรือ สมเด็จพระญาณสังวร พระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงเริ่มต้นดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2532 จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2556 รวมเวลาทั้งสิ้น 24 ปี 186 วัน

สมเด็จพระญาณสังวร ทรงมีพระกรณียกิจมากมาย ตลอดจนทำนุบำรุงพุทธศาสนาในประเทศไทยให้มีความเป็นปึกแผ่น น่าเลื่อมใส จนมีผู้คนให้ความเคารพศรัทธาทั่วทั้งประเทศ พระองค์ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีต และยังเป็นพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี โดยสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2556 ด้วยพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน : ในโลกกีฬาก็มี ‘ผู้นำ’ โดยเฉพาะผู้นำสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ ที่ได้ชื่อว่า ดำรงตำแหน่งมายาวนานที่สุด นั่นคือ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เขาเป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ.1986 จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.2013 กินระยะเวลาทั้งสิ้นกว่า 27 ปี

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หรือ เฟอร์กี้ ทำผลงานพาทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้าถ้วยรางวัลต่าง ๆ กว่า 38 รายการ โดยเป็นการคว้าแชมป์รายการใหญ่อย่างพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ถึง 13 ครั้ง และแชมป์ฟุตบอลยุโรปถึง 2 ครั้ง สไตล์การทำงานของอดีตผู้จัดการทีมคนนี้ คือการสู้ไม่ถอยจนถึงวินาทีสุดท้าย จนทำให้ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลายเป็นทีมที่ภาพลักษณ์ของการเป็นนักสู้มาจนถึงทุกวันนี้

หยิบยก ‘ผู้นำ’ ทั้ง 5 มาบอกเล่ากัน ยังมีผู้นำอีกมากมายในโลกนี้ที่เต็มไปด้วยความสามารถ และมีชื่อเสียง แต่ทั้ง 5 ท่านเหล่านี้ คือตัวแทนของความเป็นผู้นำที่เต็มไปด้วยศรัทธา จนกลายเป็นตำนานที่ผู้คนยังกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ


ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/แปลก_พิบูลสงคราม

https://www.gqthailand.com/culture/article/longest-non-royal-national-leaders

https://th.wikipedia.org/wiki/มาร์กาเรต_แทตเชอร์

https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1160

https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระสังฆราชเจ้า_กรมหลวงวชิรญาณสังวร

https://th.wikipedia.org/wiki/อเล็กซ์_เฟอร์กูสัน

5 ผู้นำที่แอบทำให้ ‘ฉัน’ อยากลอง ‘ตามติด’

คุณเป็นผู้นำที่ควรเดินตามหรือเปล่า?  

การเป็น ‘ผู้นำ’ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อ ตำแหน่ง ที่อาจมีประดับไว้บนนามบัตร เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจยังไม่ได้สะท้อนถึง ความเป็นผู้นำที่ครบถ้วนทั้งหมด

วันนี้ The States Times ขอยกตัวอย่าง 5 สุดยอดผู้นำ ที่ประกอบร่างคุณสมบัติของความเป็นผู้นำเข้าด้วยกัน จากคนธรรมดา กลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จบนทางเดินของตนเอง จนเราเองก็อยากเดินตามหลังพวกเขาเหล่านี้ !! 

1.) โกโก ชาแนล (Coco Chanel) ผู้นำความสำเร็จ กุญแจที่เป็นหัวใจสำคัญของ ‘นักสู้’ 

ในอดีต โกโก ชาแนล เคยเป็นเด็กที่ถูกครอบครัวทอดทิ้งให้อยู่ในบ้านเด็กกำพร้า ถูกเลี้ยงโดยแม่ชี ซึ่งหวังจะให้เธอเป็นช่างตัดเย็บ แต่ด้วยความใฝ่ฝันของเธอ จึงมุ่งหน้าสู่การเป็นนักร้องคาบาเร่ต์ แต่ใครจะรู้ว่านั่นแหละ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จระดับโลกอย่าง ‘Chanel’ 

มาดูกันว่าเธอมีแนวคิดอย่างไร ที่ทำให้กลายเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นสุดหรูที่ถือกำเนิดมาแล้วมากกว่า 100 ปี

- กล้าที่จะเดินตามความฝัน เธอเดินทางจากบ้านเด็กกำพร้าสู่เมืองมูแล็ง ออกไล่ตามความฝันของตัวเอง เพื่อเป็นนักร้องคาบาเร่ต์ แม้ว่าเธอจะไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้อง แต่การล้มเหลวครั้งนี้ ก็ทำให้เธอได้พบกับนายทุนคนหนึ่ง ที่สนับสนุนให้เธอเปิดร้านขายเสื้อผ้าของตัวเองในปารีส จนนำมาซึ่งโอกาสที่ทำให้ได้เปิดร้านขายเสื้อผ้า อันเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Chanel 

- เชื่อมั่นในตัวเอง เธอเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง กลายเป็นข้อดีที่ทำให้คนอื่นเชื่อในสิ่งที่เธอทำ เมื่อเธอนำเสนอชุดสูทที่ทำจากผ้ายืด มีแต่คนวิจารณ์งานของเธอในแง่ลบ แต่เธอเชื่อว่าเสื้อผ้าจะต้องใส่สบาย และรับกับสรีระของคนได้ดีมาตัดเย็บ ซึ่งเธอเคยพูดไว้ว่า “ความหรูหราสง่างาม จะต้องมาพร้อมกับการสวมใส่ที่สบาย” เสื้อผ้าของเธอได้รับการตอบรับอย่างดีในภายหลัง แสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในความคิด ถึงแม้จะต้องเสี่ยงหรือแหกกฎเกณฑ์ของสังคมบ้างก็ตาม 

- มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักเอาปัญหาหรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาประยุกต์ใช้ แฟชั่นหลายอย่างที่สร้างขึ้นนั้นมาจากการหยิบเอาสิ่งที่เห็นรอบตัวมาปรับ เช่น เสื้อผ้าของชายคนรัก นำมาประยุกต์เป็นชุดของผู้หญิงที่ทะมัดทะแมง และในสมัยนั้นกระเป๋าผู้หญิงยังไม่มีสายสะพาย ต้องถือไว้ตลอดเวลา ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะออกแบบ เพื่อเพิ่มความสะดวก ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระเป๋าผู้หญิงที่มีสายสะพายมาจนถึงปัจจุบัน

2.) ผู้พันแซนเดอส์ / ฮาร์แลนด์ ดี แซนเดอร์ส (Colonel Harland David Sanders) ผู้นำที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค แม้ล้มเหลวมาเกือบทั้งชีวิต

ช่วงเวลากว่า 75 ปีที่ KFC เป็นหนึ่งในแบรนด์อาหารจานด่วนที่โด่งดัง และเติบโตเร็วที่สุดในโลก ถือกำเนิดโดย ‘ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส’ หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม ‘ผู้พันแซนเดอร์ส’ ชายผู้มีหนวดเครา/ผมสีขาว ท่าทางใจดี มาพร้อมเอกลักษณ์สวมสูทสีขาว ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จและกว่าจะมาเป็น KFC นั้น เขาต้องฝ่าฝันอุปสรรค และล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็สะสมความล้มเหลวมาผสมผสานกับแนวคิดและมุมมองการตลาดที่ลับจนแหลมคมขึ้นเรื่อย ๆ 

- ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ผู้พันแซนเดอร์สนั้นให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ และไม่ได้มองว่า ‘เงินคือสิ่งที่สำคัญที่สุด’ ในการดำเนินธุรกิจ แต่เขามองว่าการช่วยเหลือผู้คนต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ

- ความเท่าเทียม ผู้พันแซนเดอร์สปฏิบัติกับทุกคนเสมือนคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือลูกค้า โดยผู้พันเคยกล่าวไว้ว่า “สำหรับผมไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีพันล้าน หรือคนขับรถบรรทุก แต่เมื่อพวกเขานั่งลงบนโต๊ะเดียวกันแล้ว พวกเขาก็คือคนที่อยากกินอาหารดี ๆ สักมื้อ” และไม่ว่าใครที่ต้องการจะรับประทานไก่ทอดของเขา นั่นก็คือ คนที่ต้องการรับประทานอะไรดี ๆ เหมือนกัน

- การควบคุมคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ ผู้พันแซนเดอร์สเชื่อมั่นในรสชาติ และคุณภาพของไก่ทอดของตัวเองว่า ดีที่สุด และอยากจะแบ่งปันสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนรอบข้างอยู่เสมอ ดังนั้นการควบคุมคุณภาพจึงถือเป็นหลักในการทำธุรกิจที่เขายึดถือมาตลอด

- จิตวิญญาณนักสู้ ไม่ว่าจะเจอปัญหาและอุปสรรคสักเท่าไหร่ แต่ผู้พันแซนเดอร์สไม่คอยยอมแพ้ และยังพยายามสู้ต่อเพื่อความสำเร็จอยู่เสมอ เช่นเดียวกับธุรกิจของเขาที่ไม่ว่าจะต้องเจอปฏิเสธกี่ครั้ง สุดท้ายก็พยายามจนประสบความสำเร็จในที่สุด

3.) อีลอน มัสก์ ผู้นำอัจฉริยะ ด้านนวัตกรรมของโลก

มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX ที่เปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ ผลักดันจนโลกต้องเอนเอียงมาใส่ใจรถยนต์ไฟฟ้า และจุดประกายความหวังของการเดินทางสู่ห้วงอวกาศของมนุษย์ จนมักถูกเรียกเทียบว่าเป็นไอร่อนแมนแห่งโลกความจริง ว่าแต่ภายใต้รอยหยักในสมองเขา มีแนวคิดใดที่ผลักให้เขากลายเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในยุคนี้ แถมยังเป็นมหาเศรษฐีได้ตั้งแต่วัย 23 ปี

ความสำเร็จสร้างขึ้นเองได้ เขามักจะบอกว่า “ความสำเร็จไม่มีวันมาได้มาง่าย ๆ หากไม่ลงมือทำ” ทุกอย่างต้องสำเร็จหากมีการลงมือทำ

- กล้าที่จะเสี่ยง เพราะหากสำเร็จแล้วมันต้องคุ้มค่า เขาจะมีมุมมองความคิดที่กว้างไกล และกล้าที่จะกำหนดเป้าหมายที่คาดว่าจะสำเร็จในอนาคต แม้หลายคนจะบอกว่ามันคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่มัสก์กล้าที่จะเสี่ยงในสิ่งที่เขาคิดว่าหากมันสำเร็จแล้วต้องคุ้มค่า 

- ต้องไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค เขามีความมุ่งมั่นต่อแนวคิด และโครงการที่จะทำทุกครั้ง ทำให้เขาไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่าง ๆ แม้ในอดีตที่ผ่านมา การทดสอบจรวดไปสู่อวกาศของเขาประสบความล้มเหลวหลายครั้ง แต่เขาไม่ยอมแพ้และยังคงทำสิ่งที่ผิดพลาดให้กลับมาสำเร็จอีกครั้ง

- ต้องรักในสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะหากไม่รัก ก็คงจะไม่มีความสุขและไม่มีใจที่อยากจะทำ แต่ถ้ารักในสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องคอยคิดถึงสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลา และต้องไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ ให้คิดว่าเหมือนกับเป็นงานอดิเรกที่ทำเท่าไรก็ไม่มีทางเบื่อ

- ความล้มเหลวเป็นเหมือนตัวเลือก “ความล้มเหลวถือเป็นหนึ่งในตัวเลือก หากคุณยังไม่เคยพลาด นั้นอาจแปลว่าคุณยังไม่เคยที่จะริเริ่มสร้างสิ่งใหม่ ๆ” เขาจึงมักพยายามหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อต่อยอดให้สำเร็จ 

- ทุกวินาทีมีค่าเสมอ มัสก์เองก็ถือว่าเป็นหนอนหนังสือตัวยง เขาอ่านหนังสือมากพอ ๆ กับที่คนอื่น ๆ ชอบดูทีวี ในหนึ่งวันทุกคนต่างก็มี 24 ชั่วโมงเท่ากัน ซึ่งคุณไม่สามารถขอเวลาเพิ่มได้แม้แต่วินาทีเดียว ตัวเขาต้องการใช้เวลาทุกวินาทีให้เกิดประโยชน์เพื่อเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ เสมอ

4.) โดราเอม่อน (Doraemon) ผู้นำมุมมอง ความเข้าใจ และยอมรับจุดอ่อนของผู้ตาม 

เชื่อได้ว่าในช่วงหนึ่งของวัยหลาย ๆ คน น่าจะเคยได้ดูการ์ตูนยอดนิยมและเป็นอมตะ อย่าง “โดราเอม่อน” ซึ่งนอกจากความมหัศจรรย์ของกระเป๋าสารพัดไอเทมวิเศษแล้ว อีกมุมหนึ่ง โดราเอม่อน ถือเป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นถึงแบบอย่างของ “ผู้นำ” ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมาก โดยมีตาแว่นโนบิตะเป็นผู้เดินตามประจำ มาลองดูกันว่าวิถีของการเป็นผู้นำในแบบโดราเอม่อนเป็นอย่างไร

- ความมุ่งมั่นในการทำงาน ก่อนที่โดราเอม่อนจะถูกส่งมาช่วยโนบิตะนั้น โดราเอม่อนรู้แล้วว่าความไม่เอาไหนของโนบิตะเป็นอย่างไร แต่ว่าโดราเอม่อนเองแสดงความมุ่งมั่น ในการที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จ ซึ่งถ้าเราดูจากแต่ละตอน โนบิตะจะนำปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่มาปรึกษาโดราเอม่อนเสมอ แม้บางครั้งโดราเอม่อนจะท้อแท้บ้าง แต่ก็ไม่มีตอนไหนเลยที่แสดงให้เห็นความละเลยต่อการทำงานของตน และนั่นก็ทำให้โดราเอม่อนกลายเป็นส่วนสำคัญต่อความฝันของผู้ตามอย่างโนบิตะ ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงอนาคตของตัวเองจากคนไม่เอาไหนให้ได้สำเร็จตามที่ฝันไว้

- เข้าใจและยอมรับจุดอ่อนของผู้ตาม โนบิตะเปรียบเสมือนคนที่ขี้แพ้ทำอะไรก็ไม่ได้เรื่อง แต่โดราเอม่อนก็มักจะทำความเข้าใจถึงความสามารถของโนบิตะที่น้อยนิด และพร้อมรับในจุดอ่อนต่าง ๆ ของโนบิตะด้วยความเต็มใจ จากนั้นก็คอยช่วยวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ล่วงหน้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะโดราเอม่อนเองก็เชื่อว่าบนความไม่เอาไหนของโนบิตะ ก็ซ่อนมุมมองของความตั้งใจอยู่ เช่น การมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ และหาทางแก้ไขปัญหา แม้ว่าบางครั้งวิธีการแก้ไขปัญหาอาจดูไม่เหมาะสมก็ตาม ทำให้โดราเอม่อนเต็มใจช่วยเหลือโนบิตะเป็นอย่างดี

5.) เราทุกคน คือ ผู้นำ!! 

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความเป็นผู้นำของตัวเราเอง เราทุกคนสามารถที่จะเป็นผู้นำได้ดี เพราะเชื่อว่าภาวะผู้นำมีอยู่ภายในตัวเราทุกคน หากมีการเรียนรู้ ฝึกหัด และอบรมอย่างสม่ำเสมอ ก็ไม่ยากที่จะกระตุ้นภาวะผู้นำในตัวบุคคลออกมาได้ มาดูกันว่าคุณลักษณะใดบ้างที่เราควรหันมาพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็น “ผู้นำ” บ้าง 

- มีความเชื่อมั่นในตัวเอง หากไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ เราไม่มีวันที่จะทำได้ ดังนั้นความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องมาเป็นอันดับ 1 ก่อนการลงมือทำ ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในตัวเองใครจะมาเชื่อมั่นในตัวเรา!! เพราะฉะนั้น...ทัศนคติเชิงบวกจะช่วยให้เราเชื่อมั่นในศักยภาพของเรามากขึ้น โดยเราต้องบอกตัวเองอยู่เสมอว่า “เราทำได้!” แล้วเราก็จะทำสำเร็จได้

- รับฟังผู้อื่นอย่างจริงใจ การรับฟังเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้นำ เพราะการรับฟังทำให้เข้าใจผู้อื่น เมื่อหากเราต้องการนำใครแล้ว เราควรเข้าใจในความต้องการของเขา เมื่อผู้นำรับฟังผู้อื่นมากขึ้น ผู้อื่นก็จะรับฟังผู้นำอย่างเต็มใจ เมื่อเราพูด เราจะรู้เท่าที่เราพูด แต่เมื่อเราฟัง เราจะรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้

- เผชิญหน้าท้าอุปสรรคแบบปิดทองหลังพระ บทพิสูจน์ผู้นำที่แท้จริง คือ การเผชิญกับปัญหาแล้วสามารถแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ถอยหนีแม้ว่าจะเจออุปสรรคแค่ไหนก็ตาม ผู้นำมักจะอยู่ด้านหลัง เวลางานนั้นได้ผลสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ผู้นำจะออกมายืนแถวหน้าทันที เมื่องานนั้นพบกับปัญหา และแก้ไขปัญหานั้นจนสำเร็จได้

- ความเป็นผู้รับผิดชอบอย่างแท้จริง ผู้นำจะรับทั้ง ผิด และ ชอบ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรก็ตาม คนที่มีความรับผิดชอบ จะทำให้การปฏิบัติงานไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ และช่วยให้การทำงานสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างดี

จริง ๆ แล้วการเป็นผู้นำที่ดี คงต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าลองวิเคราะห์จากบรรดาผู้นำที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น รวมถึงถ้าคุณได้เจอคนที่คุณกล้าเรียกเขาว่าผู้นำด้วยแล้ว จะพบสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ ‘พลังด้านบวก’ ที่ปล่อยออกมากระแทกกายและสัมผัสไปถึงข้างในใจ 

พลังที่พร้อมจะผลักให้เรากล้าเผชิญหน้ากับทุกความท้าทาย โดยมีเขาประคองอยู่ข้างหลัง และกระซิบเบา ๆ ให้เราเคลื่อนตัวได้แบบท้อถอย 

พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่ถูกปิดกั้น เมื่อเราอยากออกความคิดเห็น แต่ถ้าฟุ้งเตลิด เขาจะช่วยตบให้มันเข้ากรอบ และปล่อยให้เราบันเทิงกับมันต่อ

พลังแห่งการโอบอุ้ม เมื่อเรารู้สึกท้อแท้และหมดกำลังใจ ทำไมแค่คำพูดไม่กี่คำ ที่อาจจะมีทั้งหวานฉ่ำ หรือเข้มปนดุ กลับสร้างแรงกระตุ้นและฮึดกับอุปสรรคตรงไหนได้แบบไม่รู้ตัว

นั่นแหละ ‘ผู้นำ’ ที่มีตัวตน 


ข้อมูลอ้างอิง : https://www.tpa.or.th/publisher/pdfFileDownloadS/FQ146_p45-47.pdf

https://blog.jobthai.com/inspiration

https://www.marketingoops.com/exclusive/business-case/kentucky-fried-chicken/

https://www.maruey.com/article/contentinjournal/689

New Normal New Skill ทักษะแบบนี้สิ ที่ ‘ผู้นำ’ ยุคนี้ควรต้องมี!!

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อยู่กับเรามานานมากกว่า 1 ปี ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง (กว้างมว้ากกกก) และทุก ๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็เจอชะตากรรมสุดย่ำแย่ไม่ต่างกัน 

ทุกประเทศประสบปัญหาจากการติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตสูง กระทบไปสู่วิถีการใช้ชีวิตบางอย่างที่เคยคุ้น จนต้องปรับตัวอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ การค้าขาย การทำงาน การศึกษา และอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามพฤติกรรมที่ต้องเปลี่ยน ทำให้เกิด ‘นวัตกรรมสุดด่วน’ เพื่อกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้ามาชดเชยความเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตบางอย่างให้ทัน ใต้บริบทที่เรียกว่า New Normal หรือวิถีชีวิตแบบใหม่ จากเรื่องใหม่ ตัวแปรใหม่ ที่ต้องทำ ต้องใช้ และต้องอยู่กับมันให้กลายเป็นเรื่องปกติ

พูดถึง New Normal นอกจากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อวิถีชีวิตของมนุษย์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อหลายองค์กรธุรกิจ ที่ต้องปรับตัวเองเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมรวมของมนุษย์โลกไปในตัว

หนึ่งในสิ่งที่เริ่มเห็นชัดไม่แพ้กัน คือ ‘ผู้นำ’ ในยุค New Normal ต้องเริ่มปรับตัว เพิ่มทักษะ (Skill) ใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และนำพาองค์กรอยู่รอดต่อไปได้ในสังคม โดยหลัก ๆ ตอนนี้มี 3 ทักษะเร่งด่วนที่ผู้นำยุค New Normal ต้องมีไว้เพื่ออัพเกรดเป็นผู้นำยุคใหม่ได้แบบเต็มตัว!

3 ทักษะ (Skill) จำเป็น สำหรับผู้นำแห่งยุค New Normal มีอะไรบ้าง?

1.) Resilience & Adaptability

ความสามารถในการยืดหยุ่นและการปรับตัว ถือเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมากในยุคนี้ เพราะท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ผู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้เร็ว จะรับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้ดีกว่าผู้ที่เอาแต่ยึดติดและจมอยู่กับปัญหา (อย่างที่บอกใครปรับตัวก่อนได้เปรียบกว่า) ซึ่งผู้นำที่มีทักษะนี้จะสามารถคิดวางแผนกลยุทธ์ หาทางออก ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน เพื่อพาทีมไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ นำผู้ตามให้ก้าวไปข้างหน้า กล้าที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการรับมืออย่างชาญฉลาด

ลองยกตัวอย่างง่าย ๆ หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารที่ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 เปิดขายเพียงแต่หน้าร้าน แต่เมื่อโควิดมา ร้านอาหารถูกปิด ไม่อนุญาตให้นั่งทานที่ร้าน ทุกคนอยู่บ้าน ยอดขายหล่นฮวบ จะปรับตัวอย่างไรล่ะ? สิ่งที่ร้านอาหารหลายร้านทำคือ ‘ปรับตัว’ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เมื่อขายหน้าร้านไม่ได้ ก็หาช่องทางขายออนไลน์มันซะเลย ซึ่งการ ‘ปรับตัว’ และ ‘ยืดหยุ่น’ เช่นนี้ก็คือการเผชิญกับปัญหาและหาทางออกเพื่อให้ธุรกิจนั้นอยู่รอดไปได้

2.) Digital Skill

ทักษะนี้ใครไม่มีบอกเลยว่า Out!! เพราะตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 เรียกได้ว่า ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในสังคมอย่างมาก เพราะวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่ทำให้การพบปะไม่สามารถพบเจอหรือรวมกลุ่มกันได้ตามปกติ ซึ่งเจ้าเทคโนโลยีเหล่านี้นี่แหละ เป็นตัวช่วยในการปรับเปลี่ยนรูปแบบทั้งด้านการทำงาน การวางแผน การนำเสนอต่าง ๆ เพราะฉะนั้นผู้นำในยุคนี้หากไม่มีความรู้หรือทักษะทางด้านดิจิทัล ก็อาจทำให้งานดำเนินไปได้ไม่สะดวกนัก หรือไม่สามารถนำผู้ตามให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ 

ยกตัวอย่าง ต่อเนื่องกับในข้อแรก ถ้าคุณเป็นเจ้าของร้านอาหาร การปรับตัวของร้าน เมื่อเปลี่ยนรูปแบบมาขาย ‘ออนไลน์’ จะเห็นได้ว่าดิจิทัลเข้ามามีบทบาทไม่น้อย ซึ่งถ้าคุณมีทักษะทางด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือทางสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือแม้แต่เข้าร่วมกับแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่ สิ่งเหล่านี้นี่แหละ การเพิ่มทักษะความเข้าใจของดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมาเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ธุรกิจของคุณดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ให้กับธุรกิจคุณได้หากทำแล้วเกิด

3.) Emotional intelligence

แน่นอนว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลใจให้กับคนทุกกลุ่ม สิ่งที่หลายคนอาจจะหลงลืม แต่ความจริงแล้วเป็นทักษะที่ต้องการอย่างมากในยุคที่ผู้คนตกอยู่ในความเครียด นั่นก็คือ ‘ความมั่นคงทางอารมณ์’ การจมอยู่กับปัญหา กลัว เครียด กดดัน นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ยังทำให้กระบวนการคิดและการตัดสินใจไม่ดีเท่าที่ควร นั่นหมายความว่าผู้นำที่มีความฉลาดทางอารมณ์ สามารถจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติ มีความเข้าใจและเห็นใจในตัวผู้อื่น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสำเร็จในสิ่งที่ทำ เพราะผู้นำที่ดีจะช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ตามให้ดียิ่งขึ้น

ท่ามกลางวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม หากคุณกำลังเผชิญกับปัญหา ยอดขายตก ปรับตัวไม่ทัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณจะรู้สึกเครียด และกดดัน แต่เมื่อไหร่ที่คุณนำอารมณ์เป็นตัวตั้ง แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของตัวคุณเอง รวมทั้งสมาชิกในธุรกิจ แถมอาจยิ่งทำให้ปัญหาที่มีกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไปอีกด้วย ดังนั้น ‘ความมั่นคงทางอารมณ์’ เองก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่ต้องมีและไม่ควรมองข้าม

จริง ๆ อาจจะมีทักษะใหม่ ๆ ที่พร้อมพอกพูนเข้ามาไม่รู้จบ แต่กับ 3 ทักษะนี้ น่าจะเป็นอาวุธที่ควรต้องมีของ ‘ผู้นำ’ ในยุค New Normal แบบด่วน ๆ 


อ้างอิงข้อมูล : https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/new-normal-skills-2020
 

2 เหมือนสุดต่าง ระหว่าง 'เจ้านาย' vs 'ผู้นำ'

คุณเคยลาออกเพราะเจ้านายบ้างไหม? 

หากเจ้านายคือเหตุผลที่คุณลาออกจากงาน นั่นแสดงว่าคุณอาจโชคไม่ดี!!

เพราะคุณกำลังทำงานภายใต้การควบคุมของ ‘เจ้านาย’ มิใช่ทำงานกับ ‘ผู้นำ’ หรือคนที่จะพาคุณก้าวไปข้างหน้า 

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะคำว่า “เจ้านาย” และ “ผู้นำ” อาจฟังดูคล้ายคลึงกันแต่ว่าความหมายแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

ข้อแรก เจ้านายบ้าอำนาจ แต่ ผู้นำกระจายอำนาจ 

เมื่อลูกน้องและงานอยู่ภายใต้การควบคุมของ เจ้านาย คนเป็นนายจะทำตัวแบบผู้มีสิทธิขาดในทุกเรื่อง เพราะถือว่ากุมอำนาจการตัดสินใจ แม้เขาจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในงานนั้น ๆ หรือเป็นผู้ลงมือทำงานด้วยตนเอง 

หนึ่งในความสามารถที่โดดเด่นของเจ้านายในมิตินี้ คือ การทำหูทวนลม เมื่อลูกน้องแย้งหรือออกความเห็น เพราะมองว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่นในฐานะเจ้านาย ความเห็นของลูกน้อง จึงไม่มีค่าเท่าความคิดของผู้เป็นนาย 

นอกจากนี้เจ้านายยังหวงสิทธ์และชื่อเสียงที่ได้มาจากตำแหน่งของตนเอง ลูกน้องที่โดดเด่น อาจโชคร้าย เพราะถูกเพ่งเล็ง 

ในทางตรงกันข้ามกัน หากเป็น ‘ผู้นำ’ บทบาทนี้จะต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะผู้นำจะรู้จักกระจายอำนาจและแบ่งงานให้บุคคลที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ มีดุลยพินิจที่เฉียบคมและสามารถมอบอำนาจให้ลูกน้องที่ตนเห็นว่ามีศักยภาพทำงานให้สำเร็จได้โดยมิได้กังวลว่าลูกน้องจะโดดเด่นกว่าตนเอง ลูกน้องที่ทำงานกับผู้นำ จึงได้รับทั้งโอกาสแสดงผลงาน ได้ปลดปล่อยอิสระทางความคิดมากกว่าลูกน้องที่อยู่ใต้ ‘เจ้านาย’

ข้อสอง เจ้านาย คือ หัวหน้า แต่ ผู้นำ คือ ผู้ร่วมทีม 

เจ้านายจะทำเพียงสั่งงาน ตรวจงานลูกน้อง ว่ากล่าวลูกน้องเมื่องานพลาด และรับคำชมเอาหน้าเมื่องานสำเร็จเท่านั้น อาจมีหลายกรณีที่ลูกน้องเห็นหน้าเจ้านายในวันแรกของการสั่งงานและวันสุดท้ายของการส่งงาน ซึ่งนั่นหมายความว่างานที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถของลูกน้องทั้งสิ้น 

แต่น่าขันที่ชะตาของลูกน้องกลับต้องขึ้นอยู่กับเจ้านายผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของลูกน้องเลย 

ในขณะเดียวกัน ‘ผู้นำ’ เปรียบเสมือนผู้ร่วมทีมที่พร้อมจะร่วมหอลงโรงไปกับลูกน้อง ผู้นำมีความรับผิดชอบในการนำทางและดูแลลูกน้อง ไม่ว่าจะเรื่องทักษะการทำงานหรือความรู้สึกของลูกน้องในทีม ไม่เพียงแต่คำสั่งที่หลุดจากปากผู้นำ แต่ยังมีคำชม กำลังใจ และคำแนะนำเพื่อให้ลูกน้องเข้มแข็งทั้งเรื่องงานและจิตใจ 

เมื่องานผิดพลาดผู้นำจะรับผิดเนื่องจากบริหารไม่ดีเท่าที่ควร แต่ผู้นำจะยกความดีความชอบให้ลูกน้องที่ตนบริหารอยู่ เมื่องานสำเร็จ ลูกน้องในทีมผู้นำ ก็จะได้รับคุณค่าจากผลงานที่ได้ทำอย่างเต็มที่ เพราะว่าผู้นำเห็นลูกน้องเป็นส่วนสำคัญของงาน ต่างจากเจ้านายที่ไม่เห็นค่าของลูกน้อง เรียกได้ว่าเจ้านายเป็นนักสั่งงานตัวยง แต่ผู้นำเป็นผู้บริหารชั้นนำก็ไม่ผิด

ข้อสุดท้าย อำนาจของเจ้านายมาจากตำแหน่ง แต่อำนาจของผู้นำนั้นมาจากความสามารถ 

หากลูกน้องอยู่ภายใต้เจ้านาย ไม่เพียงแต่บุคลากรที่จะทุกข์กายและใจ แต่บริษัทรวมถึงงานพาลจะวิบัติกันไปหมด 

ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุด อาจเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่พัฒนาเสียที บางประเทศที่ผู้บริหารประเทศนั้นเป็นได้เพียง ‘เจ้านาย’ แต่ไม่ใช่ ‘ผู้นำ’

แน่นอนว่าทุกวันนี้ในสังคมไทย มีความหลากระดับของสายพันธุ์มนุษย์ ตั้งแต่บนสุดของแท่งพีระมิด มาจนถึงกลาง-ล่างของฐานพีระมิด ที่ล้วนเต็มไปด้วย ‘เจ้านาย’ และ ‘ผู้นำ’ คละเคล้ากันไป ซึ่งในโลกของความจริง เราก็ยากที่จะเลือก ‘เจ้านาย’ หรือเลือก ‘ผู้นำ’ ได้ตามใจอยาก 

แต่สิ่งที่เราพอเลือกได้ คือ หากวันใดเราได้ก้าวผ่านจากสภาวะของ ‘ผู้ตาม’ เราจะเลือกปฏิบัติตนเป็น ‘ผู้นำ’ ที่ดีตามอุดมคติที่ฝันใฝ่ไว้ หรือเราก็เป็นได้แค่ ‘เจ้านาย’ ที่เราเคยแอบบ่น (ด่า) เมื่อถึงเวลาก้าวขึ้นสู่บังเหียน 

ต้องแยกแยะให้เป็นแต่เนิ่นๆ

ส่องสูตร ‘ผู้ว่าฯ หมูป่า’ ฝ่าทุกวิกฤต เพราะผู้นำเชิงรุก ต้องเล่นเกมบุกในทุกสถานการณ์

ย้อนกลับไปเกือบเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เหตุการณ์เด็ก 12 คน และครูฝึกฟุตบอลทีมหมูป่า 1 คน หรือเรียกกันว่า ‘13 หมูป่า’ นั้น ได้ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย 

เหตุการณ์นี้สร้างปรากฏการณ์ในแบบที่ทั่วโลกต่างระดมความช่วยเหลือมาที่ประเทศไทย จนสุดท้ายทั้ง 13 คน ได้รับความช่วยเหลือออกมาจากถ้ำได้สำเร็จ นับเป็นความสำเร็จของยอดฝีมือทั่วโลก ในการแก้ไขภาวะวิกฤตครั้งนั้นจนสำเร็จ 

แต่เบื้องหลังความสำเร็จโดยแท้ อยู่ภายใต้ผู้บัญชาการหลักในสถานการณ์วิกฤตในครั้งนั้น…

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย!!

ใช่แล้ว!! นายณรงศักดิ์ โอสถธนากร หรือ หลายคนคุ้นกับคำว่า ‘ผู้ว่าฯ หมูป่า’ ในช่วงเวลานั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สามารถบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตดังกล่าวได้อย่างน่าประทับใจ 

“ความเป็นความตายมันห่างกันแค่เส้นบาง ๆ นิดเดียว ถ้าเราตัดสินใจผิด ก้าวผิด จะทำให้เราหลุดเข้าไปสู่ในเส้นที่เราไม่ได้อยากเข้าไปในนั้น” นายณรงศักดิ์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจครั้งนั้น ไว้ในบทสัมภาษณ์กับสื่อ ๆ หนึ่ง 

จากวันนั้นถึงวันนี้ วันที่วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำทั่วโลกผวา การช่วยเหลือกันระหว่างประเทศ อาจจะบางตาลง เพราะทุกคนเจอสภาพเดียวกัน นั่นหมายความว่า ทุกคน ทุกประเทศ ต้องหาทางดิ้นรนตามเส้นทางของตนเองให้ได้ 

จุดนี้ก็เป็นอีกบทพิสูจน์ ที่ตอกย้ำความเป็น ‘ผู้นำ’ ของ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์อีกครั้ง ภายใต้การบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดในจังหวัดลำปาง ที่ท่านได้มารั้งตำแหน่งผู้ว่าฯ ของเมืองนี้ โดยมีเสียงสะท้อนจากสังคมดังระงมว่า ‘ลำปางรอดตาย’ เพราะท่านเป็นผู้นำโคตรเก่ง

เหตุเกิดจากการบริหารสถานการณ์วิกฤตในสไตล์แบบผู้นำเชิงรุก บุกเข้าไปจับทุกปัญหา แล้วแก้แบบไม่ให้เกิดการเสียเวลา ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนผ่านเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนของคนลำปาง ที่ได้รับการเปิดเผยโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง (สสจ.) นายประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปางว่า…

“มีผู้ประสงค์จองการฉีดวีคซีน 2.3 แสนคน โดยประชากรในจังหวัดลำปางซึ่งมีประมาณ 7 แสนคนนั้น หากสามารถฉีดวัคซีนได้ครบ 5 แสนคน จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่มากพอ ที่จะทำให้คนลำปางถอดหน้ากากกินข้าวด้วยกันได้” นายแพทย์ประเสริฐ กล่าว

เกิดอะไรขึ้น? ทำไมจำนวนคนลำปางที่พร้อมใจกันลงทะเบียนฉีดวัคซีนถึงมากมายเป็นรองเพียงกรุงเทพฯ เท่านั้น 

นั่นก็เพราะคนลำปางให้ความไว้เนื้อเชื่อใจแก่ผู้นำของเขา!!

แล้วผู้นำของเขามีอะไรให้น่าเชื่อใจ?

การบริหารสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เป็นหลักการบริหารงานแบบมืออาชีพ ตั้งแต่การสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ในมิติต่าง ๆ ของเรื่องวัคซีน จนประชาชนเกิดความมั่นใจ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามวัน แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะแบบข้ามคืน

แผนงานของ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ หากกางออกมาแล้วจะพบว่า มีทั้งการตั้งเป้าหมาย เขียนแผน และมีการดำเนินงานไปตามแผนอย่างลงรายละเอียด หลังจากนั้นก็มีการสร้างทีม โดยกระจายทีมออกเป็น 3 ทีม ด้วยเหตุผลรองรับว่า หากมีทีมใดทีมหนึ่งเกิดติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงาน อีก 2 ทีม ก็สามารถทดแทนกันได้

นอกจากนี้ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ยังใช้กลไกระดับท้องถิ่นของระบบสาธารณสุข ซึ่งก็คือ อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เคาะประตูทุกบ้าน เพื่อไปช่วยเหลือให้ชาวบ้านเข้าถึงการลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ไว เพราะเข้าใจถึงสภาพความจริงว่าคนเถ้าคนแก่ หรือคนต่างจังหวัดบางส่วน ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี อย่างเช่น การลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ตามที่สาธารณสุขกลางให้ลงทะเบียนนั้น มีหลายคนไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็ทำไม่ได้ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ทางจังหวัดลำปางยังได้สร้างแอปพลิเคชัน ‘ลำปางพร้อม’ เพื่อรวบรวมข้อมูลของประชาชนในพื้นที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ระบบใหญ่อีกต่างหาก เพื่อป้องกันปัญหาคอขวด ข้อมูลไม่ครบ โดยเจ้าหน้าที่ของทางจังหวัดและอสม. จะเก็บรายงานทั้งหมด และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเอง เยี่ยมไปเลยใช่ไหมล่ะ!!

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เหนือยิ่งกว่าระบบการบริหารจัดการเชิงรุก ก็คือ การสื่อสารอย่างจริงใจและมีจิตวิทยาของผู้นำ คือ ไม่ปกปิดข้อเท็จจริง ลุยงานด้วยตัวเอง และใช้วาทะที่ว่า “หากใครไม่ร่วมลงทะเบียนฉีดวัคซีน จะกลายเป็นคนนอกคอกนะ” การสื่อสารเช่นนี้ ก็ถือเป็นจิตวิทยาที่น่าสนใจ สุดท้ายลำปางจึงกลายเป็นจังหวัดที่เปอร์เซ็นต์ผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนต่อประชากรสูงที่สุดในประเทศในช่วงนั้น

สถานการณ์สร้าง ‘วีรบุรุษ’ ฉันใด ในภาวะวิกฤตสงครามก็มักจะสร้าง ‘ผู้นำ’ ที่ยอดเยี่ยมฉันนั้น!!

2 เหตุการณ์วิกฤตใหญ่ระดับโลก กับ 1 ผู้นำที่ชื่อว่า ณรงศักดิ์ โอสถธนากร คงพอจะทำให้เราได้รู้แล้วว่า…

ผู้นำที่ดี ที่ประชาชนเขาอยากได้ มันเป็นแบบนี้นี่เอง!!

 

‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ผู้บุกเบิกเส้นทางการเมือง ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ นักการเมือง ‘แมวเก้าชีวิต’ ที่ครบเครื่องทั้ง ‘ฝีมือ-กึ๋น-บารมี’

ในยุทธจักรการเมืองช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ตระกูลการเมืองที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ตระกูล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ เหตุเพราะนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ได้กระโดดเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเต็มตัว ด้วยการตั้งพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2561 ก่อนจะเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 และถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค พร้อมกับตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี กรณีให้เงินพรรคกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท 

แม้ว่า จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่เชื่อของ ‘ธนาธร’ ก็ไม่ได้ห่างหายจากวงการการเมือง โดยได้ตั้งคณะก้าวหน้า และว่ากันว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ‘พรรคก้าวไกล’ ซึ่งเป็นพรรคสำรองของอนาคตใหม่ และตัว ‘ธนาธร’ แสดงตัวอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างชัดเจน จะเห็นได้จากการออกมาวิพากวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อยู่เนืองๆ แม้ไม่ได้ทำงานในฐานะส.ส.แล้วก็ตาม

‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ ไม่ได้มีแค่ ‘ธนาธร’

แต่หากจะย้อนดูเส้นทางทางการเมืองของตระกูล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ นั้น ผู้บุกเบิกที่แท้จริงนั่นคือ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ซึ่งเป็นอาแท้ๆ ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ (บุตรของพัฒนา และ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ) นั่นเอง ต้องยอมรับว่าชื่อชั้นของ ‘สุริยะ’ นั้นได้สั่งสมบารมีทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้คนทุกวงการทั้งในด้านการเมืองและธุรกิจ ต่างให้การยอมรับในฝีมือ ที่สำคัญเป็นหนึ่งในบุคคลที่สามารถทำงานให้กับประเทศชาติได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในสีเสื้อพรรคใดก็ตาม

เมื่อย้อนดูเส้นทางชีวิตของ ‘สุริยะ’ เขาไม่เพียงประสบความสำเร็จทางการเมืองเท่านั้น แต่ในช่วงก่อนที่จะเข้าสู่วงการการเมือง ตัวเขาเองนับเป็นนักธุรกิจที่มากด้วยฝีมือ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่นำพาเครือ ‘ซัมมิท’ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เบอร์ 1 ของประเทศ ก่อนที่ผันตัวเองเข้าสู่แวดวงการเมืองเมื่อราวปี 2540

สำหรับประวัติส่วนตัวของ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2497 เป็นคนกรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ อาฮง แซ่จึง (ถึงแก่กรรม) และบ่วยเชียง แซ่โป่ว (ถึงแก่กรรม) โดยเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน (คนที่ 2-5 ใช้นามสกุล จึงรุ่งเรืองกิจ) ดังนี้ สรรเสริญ จุฬางกูร, ดร.พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ, โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ อิสริยา จึงรุ่งเรืองกิจ (เดิมชื่อ อริสดา) น้องสาวคนที่ 5

ช่วงวัยเรียน ‘สุริยะ’ กล่าวได้ว่าเป็นคนที่เรียนเก่งมาก หลังจบระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เพราะด้วยผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น จึงได้เรียนแค่ครึ่งปีเท่านั้น ทำให้ต้องเปลี่ยนแผนไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศแทน

กระทั่งเมื่อปี 2521 จบระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐ อเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของโลก

หลังจบการศึกษากลับมาจากสหรัฐ อเมริกา ซึ่งในขณะนั้น พี่ชายทั้งสอง คือ ‘สรรเสริญ’ และ ‘พัฒนา’ ต่างเป็นเจ้าของธุรกิจ โดย ‘สรรเสริญ’ เป็นเจ้าของซัมมิท ส่วน ‘พัฒนา’ แยกออกมาเป็นไทยซัมมิท ซึ่งทั้งคู่ต่างต้องการให้ ‘สุริยะ’ ไปช่วยงานของตนเอง

และท้ายที่สุด ‘สุริยะ’ ได้ตัดสินใจไปช่วยงาน ‘สรรเสริญ’ ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของตระกูล ที่ซัมมิท ก่อนแตกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเองในที่สุด ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนั้น ก็คือ ‘โกมล’ พี่ชายคนกลางนั่นเอง

ถึงแม้ว่า ‘สุริยะ’ จะตัดสินใจไปช่วยงาน ‘สรรเสริญ’ แต่ในด้านความสัมพันธ์กับ ‘พัฒนา’ ยังคงแนบแน่น เพราะถือเป็นน้องชายสุดที่รัก ช่วงที่เรียนอยู่ต่างแดน ‘พัฒนา’ ก็ทำหน้าที่ส่งเสียน้องชายตลอด กระทั่งกลับมาอยู่ไทย ช่วงหนึ่งก็พักที่บ้านเก่าของ ‘พัฒนา’ ที่สุขุมวิท ด้วยอุปนิสัยที่เข้ากับคนได้ทุกคน จึงทำให้ ‘สุริยะ’ มีสายสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องทุกคน

และด้วยสายสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องทุกคนนี่เอง จึงทำให้ ‘สุริยะ’ สามารถก้าวเข้าสู่วงการการเมืองได้อย่างไม่ลำบากนัก โดยมีพี่ ๆ เป็นแบ็คคอยหนุนหลังให้

ก่อนที่จะฉายแววเป็นนักการเมืองผู้มากด้วยบารมีดังเช่นทุกวันนี้ ‘สุริยะ’ ที่ผันตัวเองจากนักธุรกิจ เข้าสู่เส้นทางการเมืองในสีเสื้อของของพรรคกิจสังคม โดยเริ่มต้นด้วยการที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม - ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี - ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ – ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ก่อนที่จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อปี 2541 ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล ‘ชวน หลีกภัย’ 

แต่ชื่อเสียงของ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรือกิจ’ เริ่มก้าวสู่ทำเนียบนักการเมืองระดับบิ๊กเนม เมื่อปี 2544 หลังจากแท็กทีม ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ลาออกจากพรรคกิจสังคม แล้วย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ก่อตั้งพรรคใหม่ในขณะนั้น

ด้วยฐานเสียงของ ส.ส.ภาคเหนือตอนล่างในมือของ ‘สมศักดิ์’ ผนวกกับการมีทุนใหญ่อย่าง ‘สุริยะ’ ทำให้มุ้งการเมืองในชื่อ ‘กลุ่มวังบัวบาน’ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ‘เจ๊แดง’ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กลายเป็นมุ้งใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองสูงขึ้นมาในทันที

แน่นอนว่า ด้วยทุนและอำนาจต่อรองในมือ รวมถึงการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถคุยได้กับทุกก๊กทุกก๊วนการเมืองในพรรคไทยรักไทย ส่งผลให้ ‘สุริยะ’ ขยับขึ้นเป็นแกนนำหลักของ พรรคไทยรักไทย ในเวลาไม่นาน มีตำแหน่งเป็นถึงเลขาธิการพรรค และผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ต้น พร้อมตามมาด้วยการเป็นเจ้ากระทรวงเกรดเอ อย่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ปี 2544 และปี 2548) และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ปี 2545 และปี 2548) เรื่อยมา โดย ‘สมศักดิ์’ ช่วยเหลือผลักดันอยู่เบื้องหลัง  

ก่อนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 กลุ่มของ ‘สุริยะ-สมศักดิ์’ ที่ได้แยกออกมาตั้งกลุ่ม ‘วังน้ำยม’ ถูกลดบทบาทลง โดยตำแหน่งสุดท้ายของ ‘สุริยะ’ ในสีเสื้อพรรคไทยรักไทย เหลือเพียงเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

หลังถูกยึดอำนาจปี 2549 ‘สุริยะ’ เก็บตัวเงียบ พร้อมข่าวลือที่ว่าเขาหลบไปรักษาอาการป่วยหนักที่ต่างประเทศประกอบกับขณะนั้น โดนพิษการเมืองเล่นงาน ซึ่งถือเป็นรอยด่างในชีวิตการเมือง ทั้งกรณีถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ตั้งแต่ 30 พ.ค. 2550 จากคดียุบพรรคไทยรักไทย และถูก คสต. ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตรวจสอบคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจสัมภาระภายในสนามบินสุวรรณภูมิ หรือ CTX 9000 ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เมื่อปี 2548 แต่ต่อมา ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องไปเมื่อปลายปี 2555 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

แต่มักมีคำกล่าวว่า คนเก่งย่อมตกงานไม่นาน เมื่อจู่ ๆ ก็ปรากฏชื่อของ ‘สุริยะ’ หวนคืนสนามการเมืองอีกครั้งในนาม พรรคภูมิใจไทย ในปี 2552 เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่เวทีเลือกตั้งในปี 2554 จากการชักชวนของอดีตแกนนำจากไทยรักไทย นำโดย ‘เนวิน ชิดชอบ’ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ‘สุชาติ ตันเจริญ’ และ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ แต่การเลือกตั้งในครั้งนั้น ได้จำนวน ส.ส.ต่ำกว่าเป้าอย่างมาก โดยได้มาเพียงแค่ 34 ที่นั่งเท่านั้น ทำให้ต้องกลายเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และชื่อของ ‘สุริยะ’ ก็เริ่มหายจากหน้าสื่ออีกครั้ง

แต่แล้วเมื่อปลายปี 2561 ชื่อของ ‘สุริยะ’ ก็กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อแท็กทีมกับ สมศักดิ์ เทพสุทิน - สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตั้ง กลุ่มสามมิตร ก่อนที่จะตั้งเป็น ‘พรรคพลังประชารัฐ’ หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย

ภายใต้สีเสื้อของพรรคพลังประชารัฐ แม้จะมีหลายกลุ่มหลายก๊วน เรียกว่าเป็นแหล่งซุ่มมังกรซ่อนพยัคฆ์ แต่ ‘สุริยะ’ ก็ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน ทำให้ได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ และถือว่าเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐ กวาด ส.ส. มาได้กว่าร้อยที่นั่ง ตามหลังพรรคเพื่อไทยที่มากกว่า ราวสิบที่นั่งเท่านั้น พร้อมกับการได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ทำให้ ‘สุริยะ’ ได้หวนคืนกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้ง ในฐานะเจ้ากระทรวงเป็นคำรบที่ 3 แม้หลายคนจะตั้งข้อสังเกตุว่า ที่ได้ตำแหน่งมา เพราะกุมจำนวนส.ส.ในมือจำนวนมาก

แต่หากมองให้ลึกลงไป รัฐบาลชุดนี้ ที่กำลังผลักดันประเทศให้ปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน ถ้าจะมองหาใครซักคนในรัฐบาลชุดนี้ ที่มี ‘กึ๋น’ มีฝีมือเจนจัดในเรื่องอุตสาหกรรมของประเทศไทย เชื่อว่าชื่อแรกที่เด้งขึ้นต้องเป็น ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ อย่างแน่นอน

เพราะ ‘บารมี’ และ ‘กึ๋น’ ของ ‘สุริยะ’ ที่สั่งสมมายาวนาน ไม่เพียงได้รับการยอมรับจากแวดวงการเมืองเท่านั้น แต่ในฟากธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ต่างยอมรับในฝีมือของเจ้ากระทรวงคนนี้ ที่รู้ลึก รู้จริง ในทุกเรื่องที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ

แม้ในชีวิตการเมืองของ ‘สุริยะ’ จะมี ‘รอยด่าง’ อยู่บ้าง จากคดีความที่ถูกกล่าวหาโดยค.ต.ส. และการติดร่างแห คดียุบพรรคไทยรักไทย รวมถึงมีหลานอา อย่าง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ที่อยู่คนขั้วการเมืองอย่าง ‘ตัดขาด’ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกัน นอกจาก ‘นามสกุล’ เท่านั้น 

แต่หากพูดถึงฝีไม้ลายมือในการทำงานแล้ว ‘สุริยะ’ ไม่เป็นสองรองใครแน่ เพราะได้ผ่านการพิสูจน์ฝีมือมาแล้ว ไม่เช่นนั้น พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชวน พรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลทักษิณ ในนามพรรคไทยรักไทย จนมาถึงรัฐบาลพ.อ.ประยุทธ์ ในสีเสื้อพรรคพลังประชารัฐ ต่างยกให้เป็นมือ ‘ทำงาน’ ในกระทรวงสำคัญ ระดับเกรดเอ ทั้งสิ้น

เช่นนี้แล้ว คงปฏิเสธยากว่าผู้ยิ่งใหญ่ของกลุ่มสามมิตร ในพรรคพลังประชารัฐ นาม ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ คือหนึ่งใน ‘แมวเก้าชีวิต’ ของวงการการเมืองไทยอย่างแท้จริง

รู้จัก ‘โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ’ ‘พี่สาม’...ผู้ Low Profile แต่ High Profit เลือดแท้ ‘ตระกูลจึง’ นอกรั้วธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์

ภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ประเทศไทยก็ได้มี 3 ส.ส. จาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ ที่ใช้นามสกุลเดียวกันว่า ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’

คนแรกคือ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ไพร่หมื่นล้าน หัวหน้าพรรค ‘อนาคตใหม่’ (ถูกยุบ)

อีก 2 ท่านคือ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ และ ‘พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ’ ผู้ลงสมัครในฐานะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ในอันดับที่ 2 และ 16

หลายคนอาจจะมองว่าตระกูลเดียวกัน ยังไงก็ตัดกันไม่ขาด!! ต่อให้อยู่ฝ่ายการเมืองแบบคนละฟาก แต่สัมพันธภาพของครอบครัวก็พร้อมจะยอมรับกับเส้นทาง ‘ซ้าย’ หรือ ‘ขวา’ ของคนใน ‘ตระกูล’ แบบรู้เห็นเป็นใจกันบ้างไม่มากก็น้อย

แต่หากมองจาก ‘เส้นทาง’ ในปัจจุบันของ ส.ส. 2 ฟากจากวงเครือญาติเดียวกัน คงพอพูดได้ว่า ‘ยากจะบรรจบ’ เพียงแต่จะให้ฟันธงว่าทั้ง 2 ขั้วการเมืองในตระกูลเดียวกัน มีความขัดแย้งในแง่อื่นๆ หรือไม่นั้น? อันนี้พูดยาก!! พูดยาก!! พูดยาก!!

ทั้งนี้ หากลองไล่เรียงความเป็นมาของ ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ จะพบว่า ตระกูลนี้เติบโตมาจากการทำมาค้าขายธุรกิจชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันเฉพาะแค่ ‘ซัมมิท’ และ ‘ไทยซัมมิท’ (ธนาธร) ก็น่าจะครอบคลุมส่วนแบ่งตลาดในไทยไปแล้วกว่า 80% แล้ว

….แต่ก็ต้องบอกก่อนว่าตระกูลนี้ไม่ใช่ ‘กงสี’ ธุรกิจฝั่งใครก็ฝั่งนั้น และคนที่แยกธุรกิจออกไปทำเอง ก็ไม่ได้มีความผูกพันกันแต่อย่างใดต่ออีกครอบครัว

ขณะเดียวกันหากลงไปดูสาแหรกเครือญาติแล้ว คนรุ่นใหม่ของตระกูลอย่าง ‘พงศ์กวิน’ และ ‘ธนาธร’ ที่เข้ามาในวงการเมืองด้วยวัยหนุ่มแน่นนั้น ถือเป็นยุคเดียวกันของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ด้วยอายุห่างกันแค่ปีเศษๆ

โดยปู่และย่าของทั้งคู่ คือ ‘โหลยช้วง แซ่จึง’ และ ‘บ่วยเซียง แซ่จึง’ ซึ่งทั้ง 2 ท่านมีลูกด้วยกัน 5 คน ได้แก่…

• สรรเสริญ จุฬางกูร

• พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ (บิดาธนาธร)

• โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ (บิดาพงศ์กวิน)

• สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

• และ อริสดา จึงรุ่งเรืองกิจ

ทั้งนี้ สรรเสริญ ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ ได้เปลี่ยนนามสกุลไปให้แตกต่างจากพี่น้องคนอื่นเป็น ‘จุฬางกูร’ ขณะที่พี่น้องอีก 4 คนใช้นามสกุลร่วมกันคือ ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’

ส่วน ‘ธนาธร’ แห่งอนาคตใหม่ คือ บุตรชายคนโตของ ‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ (เสียชีวิต) และ ‘สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ’

ขณะที่ ‘โฟม-พงศ์กวิน’ แห่งพลังประชารัฐ คือ บุตรชายคนโตของ ‘โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ’ ซึ่งทั้งคู่อายุห่างกันเพียงปีเศษเท่านั้น

หลายคนอาจจะรู้จัก ‘ธนาธร’ ดีถึงดีมาก รวมถึงคุณแม่สมพร แต่หลายคนอาจจะแค่คุ้น ‘พงศ์กวิน’ แต่ถ้าย้อนไปมองคุณพ่อ ‘โกมล’ ต้องบอกว่าชื่อนี้คือชื่อของชายชายแห่งตระกูลจึงที่เจนจัดมากๆ ในสังเวียนธุรกิจและการลงทุนสูง

โกมล เป็นน้องคนที่ 3 ของ ‘สรรเสริญ จุฬางกูร’ และเป็นพี่ชายของ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ซึ่งในวงการสื่อมักจะยกให้เขาเป็นบุคคลที่ ‘Low Profile’ แต่ ‘High Profit’ เป็นคนทำธุรกิจแบบเรียบง่าย ไม่ชอบเปิดตัว 

บ่อยครั้งชื่อของ ‘โกมล’ ปรากฏออกมาในตลาดหุ้น ด้วยการถือหุ้นหลายบริษัท โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มักคิดโยงใยว่าเขามีส่วนกับการเก็งกำไรหุ้นร้อนหลายตัวในตลาด ซึ่งในความเป็นจริง ‘เขา’ คือ บ่อทองที่นักธุรกิจรายใหญ่ ต่างวิ่งเข้ามาหาเองเสียมากกว่า จากการที่ลงไปจับอะไร ก็มีโอกาสปังเกือบทั้งสิ้น

โกมลเป็นนักธุรกิจที่มากด้วยกิจการในฐานะเจ้าของ 100% ทุกธุรกิจที่ทำประสบความสำเร็จ ปราศจากปัญหาสภาพคล่อง เขาเป็นเจ้าของธุรกิจรองเท้า ‘แอร์โรซอฟท์’ ที่ผลิตเดือนละ 2 ล้านคู่ ส่งออกไปขายต่างประเทศเป็นหลักที่ 70% โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ตะวันออกกลาง

เขามีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สท ย่านรังสิต เป็นเจ้าของอพาร์ตเม้นต์ให้เช่าหลายหมื่นยูนิต ย่านรังสิต เป็นเจ้าของรับเหมาก่อสร้าง ไปจนถึงโรงงานผลิตเคมีสำหรับงานเคลือบหลังคากระเบื้อง 

นอกจากนี้ยังถือหุ้นใหญ่กว่า 60% ในบริษัท อกริเพียวโฮลดิ้งส์ฯ (APURE) ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน APURE มีสภาพไม่ต่างจาก IEC (บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ที่ถูกดร.อดีตมือดีของ ดีแทค เพิ่มทุนไป-มา ทำพังและนำมาสู่ความย่ำแย่ของ IEC) โดยตอนนั้น ‘โกมล’ ออกมาแสดงฝีมือการบริหารด้วยตัวเอง ตั้งแต่การซ่อมบำรุงเครื่องจักรการผลิตใหม่ทั้งหมด ด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งมีความรู้ช่างเครื่องเป็นอย่างดี ช่วยประหยัดต้นทุนได้อย่างมากให้กับ APURE 

และไม่เพียงแค่การลงแรงดูเครื่องจักร เขายังลงมาคลุกกับการปรับปรุงคุณภาพการผลิตที่ให้ผลผลิตต่อหน่วยที่สูง ผลิตเม็ดพันธุ์ข้าวโพดที่มีคุณภาพ การบริหารจัดการผลประโยชน์ให้กับชาวไร่ข้าวโพด ทำให้ APURE ฟื้นจากบริษัทขาดทุน สู่บริษัทที่กลับมาสร้างกำไรได้ในเวลาไม่นานนัก โดยผลงานที่ชัดมาจากตัวเลขกำไรของ APURE เมื่อปี 2559 ที่สร้างสถิติสูงสุด 191 ล้านบาท เติบโตจากปี 2558 ที่มีกำไร 96 ล้านบาท โตเกือบเท่าตัว และปี 2557 มีกำไรเพียง 79 ล้านบาท จนในที่สุดกลับมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ปีละ 2 ครั้ง ได้ถึงทุกวันนี้

แล้วนั่นก็เป็นเหตุผลให้ต่อมาบรรดาผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 25,000 คนของบริษัท IEC ตัดสินใจเลือก โกมล เข้ามากอบกู้ IEC ยุคคลุกฝุ่น เพราะมองว่าเป็นคนที่มีความตั้งใจ มีศักยภาพพร้อมทั้งเงินและบุคลากร โปร่งใส ไม่เอาเปรียบ ทำร้ายผู้ถือหุ้น และพร้อมทำธุรกิจใหม่ๆ ที่จะปรับปรุงธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้เดินหน้าต่อไปได้ แม้สุดท้าย IEC จะต้องเดินเข้าแผนฟื้นฟูก็มิได้แคร์ 

ทั้งนี้ หากมองการลงทุนส่วนตัว ‘โกมล’ ก็มักจะถูกเล็งในฐานะแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนรายย่อย เพราะไม่ว่าจะลงทุนหุ้นตัวไหน ก็มักเชื้อเชิญรายย่อยมาร่วมเติมเต็มมูลค่าการซื้อขายตัวนั้นๆ เสมอ เช่น...

การลงทุนใน พร๊อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟ็ค จำกัด (มหาชน) หรือ PF และหุ้นบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG จนทำให้ 2 หุ้นที่แทบไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลย กลับมาซื้อขายกันอย่างคึก ทั้งมูลค่าซื้อขายที่หนาตาและราคาที่ร้อนแรง โดยรูปแบบการเก็งกำไรหุ้น PF และ BWG ไม่ได้ซับซ้อนซ่อนกระบวนท่าอะไรมากหนัก เป็นการเข้าไล่เก็บหุ้นในกระดาน เหมือนกับปกติที่เคยลงทุนหลายตัวมาในอดีต

แต่ไฮไลต์มันอยู่ตรงที่ ‘โกมล’ มีการขยับพอร์ตหุ้น PF อีกครั้ง ด้วยการเข้าซื้อหุ้น PF เพิ่ม 0.23% วันที่ 25 พ.ค.63 ซึ่งก็เพียงพอที่จะดึงดูดนักลงทุนผสมโรงแห่ซื้อตาม จนราคาพุ่งพรวดเกือบ 40% และจังหวะหุ้นกำลังขึ้นนั่นเอง วันที่ 1 มิ.ย.63 ‘โกมล’ ตัดสินใจเจียดขายหุ้น PF ออกมา 0.07% ได้กำไรเท่าไหร่? ลองคิดเอาดูละกัน?

เช่นเดียวกับหุ้น BWG ที่เก็บเพิ่มช่วงเดือน เม.ย.63 อีกประมาณ 0.52% เกิดภาพเดียวกับหุ้น PF เลย หลัง ‘โกมล’ เข้าเก็บมีแรงผสมโรงเข้าซื้อหุ้น BWG จากนักลงทุนรายอื่นๆ จนราคาปรับขึ้นกว่า 35% จนวันที่ 1 มิ.ย.63 ‘โกมล’ มีการเจียดขายหุ้นออกมา 0.20% ดูจากส่วนต่างราคาหุ้นที่เกิดขึ้น ชัดเจนว่าฟาดกำไรไปไม่น้อยทีเดียว

นี่คือ..ความเจนจัดบนสังเวียนหุ้นและสังเวียนธุรกิจของ โกมล ที่หลายคนอาจจะไม่สังเกต และรู้แค่ว่าเขาเป็นคน Low Profile แต่ High Profit เพราะส่วนหนึ่ง คือ ในบรรดาตระกูล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ ทั้งหมด เขาน่าจะเป็นคนที่เข้าถึงได้ยากที่สุดคนหนึ่งด้วย เหตุจากการไม่ชอบเปิดตัวหรือเข้าสังคมไฮโซไฮซ้อกับใคร 

แต่ทุกวันนี้ชื่อของ โกมล กลับเริ่มถูกคลิกค้นหาบ่อยหน่อย อาจจะเพราะลูกชายอย่าง ‘โฟม-พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ’ ก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองในพรรคประชารัฐ ทำให้คนเริ่มสนใจความเป็นมาของคนอื่นๆ ในตระกูลนอกจาก ‘สุริยะ’ และ ‘ธนาธร’ จึงรุ่งเรืองกิจ 

พูดถึง โฟม เขาเป็นคนหนุ่มที่น่ารัก อัธยาศัยดี ไม่ถือตัว และเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีมุมคิดเชิงบวกสูงมาก ซึ่งเขาเล่าให้ฟังไว้ว่า สิ่งที่เขาเป็นทุกวันนี้ ก็มาจากการเลี้ยงดูที่ดีของผู้เป็นพ่อ (โกมล) 

โฟม ขยายความวัยเด็กว่า “พ่อเลี้ยงดูผมอย่างเข้มงวดเรื่องการเงิน พยายามให้เงินลูกไปโรงเรียนน้อยที่สุด เรียนชั้นประถมได้เงินวันละ 5 บาท มัธยมได้วันละ 20 บาท จึงใช้เงินอย่างประหยัดมาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็ต้องคิดและเลือกทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง และอย่าเอาแต่บ่น อย่าเอาแต่เป็นผู้ชมที่คอยติ ถ้าอยากเห็นอะไรดีขึ้น ก็ต้องลงมือทำเอง”

โฟม ยังเล่าแตะไปถึงเส้นทางการเมืองของเขาอีกว่า พ่อของเขาไม่เคยบังคับให้เข้ามาเล่นการเมือง เฉกเช่นเดียวกันกับคุณอา (สุริยะ) ที่แม้จะไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามาในเส้นทางการเมือง แต่ก็ไม่แนะนำอะไรทั้งนั้น นอกจากบอกให้ไปเรียนรู้เอาเอง 

ฉะนั้นการก้าวเข้ามาของ โฟม ในพรรคเดียวกับคุณอา จึงไม่ได้เกิดจากมีการชี้นำของใคร แต่เขาเลือกตามสิ่งที่คิดว่าถูกต้องตามมุมมองและความคิดส่วนบุคคลภายใต้รั้วครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจฟากฝั่งคุณพ่อและคุณอา โดยเขาเคยเผยว่า เหตุผลง่ายๆ ที่เลือกฟากพรรคปัจจุบัน (พลังประชารัฐ) เพราะเป้าหมายของพรรค ‘ไม่ต้องการความขัดแย้งแบบ 2 ขั้ว’ 

หากจะให้สรุปว่าตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจในวันนี้ มีขั้วความคิด 2 ฟาก คงไม่ได้ผิดอะไรนัก เพราะ โฟม เองก็เคยเผยว่า ตัวเขากับ ‘เอก- ธนาธร’ ลูกพี่ลูกน้องตระกูล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ ก็ไม่เคยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันใดๆ อยู่แล้ว ยิ่งธุรกิจของตระกูลก็แยกกัน ไม่ได้ร่วมกันแบบ ‘กงสี’ ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวไม่มีความใกล้ชิดกันมากเท่าไร จะคิดเห็นต่างใดๆ ก็ไม่แปลก ซึ่งนั่นคงหมายรวมถึง ‘เส้นทางการเมือง’ ที่มาจากมุมคิดส่วนตัว ไม่ใช่จากฉันทามติของตระกูลรวม!!

ฉะนั้นถึงแม้จะใช้ชื่อตระกูลเดียวกัน แต่เส้นทางและอุดมการณ์ต่างกัน มันก็เป็นเรื่องปกติ!!

เพียงแต่ ‘ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ’ ของ ‘แท้-เทียม’ วัดกันจากจุดไหน? อันนี้คงต้องดูจากทิศทางและบทบาทของตระกูลส่วนใหญ่ที่ประพฤติกันในวันนี้ 

ส่วนทิศทางของ ‘ครอบครัว’ ที่แค่หยิบนามสกุลเขามาใช้เดินเกมชีวิตแบบต่างสุดขั้ว 

อันนี้ก็อย่าไปเหมารวม!! ว่า ‘จึง’ เป็นแบบนี้แบบนั้นทั้งสาแหรกเชียว!!


ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.kaohoon.com/content/369229
https://www.thansettakij.com/content/money_market/216957
https://www.matichonweekly.com/column/article_156902

‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ จากน้องชายคนที่สองของตระกูล สู่ประธานอาณาจักรไทยซัมมิท พ่อผู้วางรากฐานให้ลูกชายที่ชื่อ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’

พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ ชื่อนี้คุ้นหูแค่ไหน?

หากจะบอกว่า เขาคือ (อดีต) ประธานแห่งอาณาจักรไทยซัมมิทกรุ๊ป ผู้คนในแวดวงธุรกิจคงร้องอ๋อ แต่หากเพิ่มความคุ้นเคยเข้าไปอีกสักนิด เขาคนนี้ คือคุณพ่อบังเกิดเกล้าของ เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นั่นเอง

พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ เดิมมีชื่อว่า นายฮั้งฮ้อ แซ่จึง เป็นบุตรชายคนที่สองของ นายโหลยช้วง แซ่จึง กับนางบ่วยเชียง แซ่โป่ว มีพี่น้องด้วยกัน 5 คน คือ พี่ชาย-นายฮังตง แซ่จึง (เปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็น สรรเสริญ จุฬางกูร) น้องชายคนที่สาม โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายคนที่สี่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และน้องสาวคนเล็ก อิสริยา จึงรุ่งเรืองกิจ

ทั้ง ฮังตง (สรรเสริญ) และ (ฮั้งฮ้อ) พัฒนา เกิดที่เมืองจีน และได้ติดตามป๊าและม้าเดินทางมาที่เมืองไทย โดยเป็น พัฒนา ที่ช่วยกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวของพ่อและแม่ จนได้พบรักกับลูกสาวร้านขายกระเพาะปลาที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน นั่นคือ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ และตัดสินใจแต่งงานกันในเวลาต่อมา

พัฒนาไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือสูงนัก เขาจบแค่ ป.4 เพราะต้องช่วยพ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่อายุ 8 – 9 ขวบ แต่ต่อมา สรรเสริญ-พี่ชาย ได้ชวนให้ไปช่วยงานที่ร้านซ่อมเบาะ ซึ่งเจ้าตัวลงทุนเปิดร่วมกับเพื่อนที่ชื่อว่า สามอิ้ว ที่แปลว่า สามมิตร แต่กิจการในระยะแรก ๆ ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ในที่สุด เพื่อนก็ถอนตัว เหลือแต่คู่พี่น้องที่ต้องลุยกันเอง

“คุณพัฒนาเป็นคนขยัน เขาจะไปเฝ้าร้านตั้งแต่เช้า จนวันหนึ่งโอกาสมาถึง เมื่อเจ้าหน้าที่ของยามาฮ่าเอาเบาะรถมาถามว่า ทำแบบนี้ได้ไหม คุณพัฒนารีบรับเรื่องไว้ แล้วไปควานหาซื้ออะไหล่มาทำเองทุกอย่าง ปรากฏว่าผลงานเป็นที่พอใจ หลังจากนั้น ทางยามาฮ่าก็ป้อนงานเรื่อย ๆ แถมยังได้งานจากฮอนด้า ซูซูกิ และคาวาซากิ พองานเข้าเยอะขึ้น จึงขยับขยายไปแถวสาธุประดิษฐ์ เริ่มสร้างโรงงานและเปลี่ยนชื่อให้อินเตอร์ขึ้นเป็น ซัมมิท ออโต อินดัสตรี จำกัด”

สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงเส้นทางชีวิตของสามี โดยเล่าที่มาที่ไปของการเติบโตทางธุรกิจว่า เป็นเพราะวิสัยทัศน์ของสามี จึงทำให้ธุรกิจเติบโต เนื่องจากหลังจากนั้นไม่นาน พัฒนาได้ขยายไลน์ธุรกิจทำเบาะ ไปทำชิ้นส่วนอะไหล่มอเตอร์ไซค์ และขยายไปยังชิ้นส่วนรถยนต์ในที่สุด

กระทั่งในปี พ.ศ. 2520 พัฒนาจึงแยกตัวธุรกิจออกจากพี่ชาย พร้อมกับซื้อที่ดินย่านบางนาตราด แล้วเปิดบริษัทใหม่ของตัวเอง โดยเปลี่ยนชื่อเพื่อกันความสับสน นำคำว่า ‘ไทย’ เข้ามาใส่ข้างหน้า จึงเป็นที่มาของบริษัทที่ชื่อว่า ไทยซัมมิท จนถึงทุกวันนี้

แม้จะมีคำว่า ‘ซัมมิท’ (Summit) ที่มีความหมายว่า จุดสูงสุด เหมือนกัน แต่บนเส้นทางธุรกิจแล้ว ‘พี่น้องแซ่จึง’ เลือกเดินทางใครทางมัน ไทยซัมมิทภายใต้การบริหารของพัฒนา เติบโตรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปริมาณการใช้มอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ของคนไทยในเวลานั้น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจของเขาก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว

และแม้จะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่พัฒนาก็ยึดถือเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจอยู่ 3 อย่าง คือ ระบบดี คนดี และสังคมดี นอกจากนี้ เขายังยึดรูปแบบการบริหารธุรกิจแบบผสมผสาน โดยใช้วิธีบริหารแบบอนุรักษ์นิยม หรือเรียกว่าแบบครอบครัวคนจีน ที่ค่อนข้างเก็บตัว เน้นการทำงาน ไม่เน้นออกงานสังคม 

ผสมกับวิธีบริหารแบบสมัยนิยม ที่มีความเป็นสากล โดยเฉพาะการเน้นการออกไปขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งหมดจึงส่งให้ ‘ไทยซัมมิท’ ก้าวขึ้นมาสู่การเป็นอาณาจักรธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ที่อยู่ลำดับท็อป ๆ ของเมืองไทย

พัฒนาและสมพร แทบจะเรียกว่า เป็นเงาในการทำงานคู่กัน พัฒนาเป็นประธาน สมพรเป็นเลขาฯ ที่รอบรู้และจัดการทุกเรื่องในบริษัท แต่ก้าวข้ามจากเรื่องการงาน พวกเขามีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ ชนาพรรณ ธนาธร รุจิรพรรณ สกุลธร และบดินทร์ธร 

พัฒนาเป็นคุณพ่อที่ดูแลใส่ใจลูก ๆ ทุกคนอย่างดี แต่ในคราวเดียวกัน เขาก็สอนให้ลูก ๆ รู้จักความลำบากมาตั้งแต่เล็ก ๆ โดยครั้งหนึ่ง ธนาธรเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เขาถูกคุณพ่อส่งเข้าโรงงานตั้งแต่อยู่ ป.3 ทุก ๆ ปิดเทอม พ่อจะให้ทำงานนับเหล็ก โดยให้ค่าแรงวันละ 30 บาท หรือเมื่อตอนอายุ 15 – 16 ปี พ่อก็ส่งให้ไปเรียนรู้ชีวิตอยู่สหรัฐอเมริกา งานล้างจาน เจ้าตัวก็เคยทำมาแล้ว 

ครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจของพัฒนา ถือเป็นครอบครัวที่อบอุ่น แต่แล้วเมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2545 ก็เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่กับครอบครัว เมื่อพัฒนาเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งตับ 

ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อหัวเรือใหญ่ของบ้านต้องจากไป จึงนำมาสู่การดึงตัว ‘ลูกชายคนโต’ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เวลานั้นกำลังเรียนอยู่ที่อังกฤษกลับมา แม้เจ้าตัวจะสนใจการทำงานด้านเอ็นจีโอมากกว่าการทำธุรกิจ แต่เมื่อในเวลานั้น พี่สาวคนโต (ชนาพรรณ) มีสถานภาพแต่งงานแล้ว ส่วนน้องสาวคนที่สาม (รุจิรพรรณ) กำลังเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น น้องชายคนที่สี่ (สกุลธร) ก็เรียนอยู่ที่อังกฤษ ด้านน้องชายคนเล็ก (บดินทร์ธร) ก็เพิ่งอายุ 10 ขวบ ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลให้เขา ต้องกลับมารับช่วงต่อธุรกิจ และดำเนินงานร่วมกับคุณแม่ทันที

แม้จะไม่ใช่เงาร่างที่ทับซ้อนกันแบบไร้รอยต่อ แถมยังคนละสไตล์กับคุณพ่อ แต่ในวัย 23 – 24 ปี กับตำแหน่งรองประธานกรรมการไทยซัมมิทกรุ๊ป ธนาธรก็ออกตัวลุยธุรกิจตามแบบฉบับคนรุ่นใหม่ ไม่น่าเชื่อว่า นับจากปี พ.ศ. 2544 ที่บริษัทมีรายได้รวม 16,000 ล้านบาท ผ่านมาถึงปี พ.ศ. 2560 ไทยซัมมิทกรุ๊ป มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 80,000 ล้านบาท โดยขยายฐานการผลิตออกไปต่างประเทศมากกว่า 7 ประเทศ และมีธุรกิจในเครือข่ายทั้งอดีตและปัจจุบันรวมกันอยู่ที่มากกว่า 100 บริษัท

สิ่งที่ธนาธรทำ ดูไม่ไกลจากคำว่า ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ แต่แล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561 ลูกไม้ต้นนี้ก็กระโดดออกจากร่มไม้ใหญ่ เมื่อเขาได้ทำการจดทะเบียนพรรคการเมืองที่ชื่อ ‘อนาคตใหม่’ พร้อมการประกาศลงสนามการเมืองเต็มตัว หันหลังให้กับอาณาจักร 8 หมื่นล้านที่สร้างมากับมือ 

ในเวลาต่อมา สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า นางสมพรผู้เป็นแม่ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการตัดสินใจของลูกชายครั้งนี้ จนครั้งหนึ่ง ธนาธร เคยเล่าเรื่องราวความขัดแย้งของตนเองกับคุณแม่ ผ่านสื่อออกมาว่า 

“แกเริ่มคำถามแรกว่า สำหรับผมแล้ว ไทยซัมมิท หรือประเทศ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน ผมตอบสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ประเทศไทย”

แม้ไม่อาจทัดทาน แต่สุดท้าย นางสมพรก็อวยพรลูกชายด้วย ‘ส้มมงคล’ ก่อนวันเปิดตัวพรรค เพื่อให้เจ้าตัวสมหวังและมีความเจริญรุ่งเรือง กับเส้นทางที่เลือกเดิน 

ในวันนี้ แม้จะไม่มีชื่อลูกชายคนที่สองของบ้านในฐานะผู้บริหารขององค์กร แต่ลูก ๆ ที่เหลือทั้ง 4 คน ก็ยังคงดำเนินกิจการ และเดินหน้าสานต่อเจตนารมย์ของคุณพ่อต่อไป ดังตามที่สมพรเคยเขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกงานศพของพัฒนาที่ว่า ‘สิ่งต่าง ๆ ป่าป๊าสร้างไว้ และอุดมการณ์ของพ่อ ม้าจะสานต่อและรักษาไว้ให้ได้’

นี่คือเส้นทางชีวิตและครอบครัวของผู้ชายที่ชื่อ ‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ จากลูกชายคนที่สองของครอบครัวชาวจีนที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยการขายก๋วยเตี๋ยว วันเวลาผ่านไป เขา ภรรยา และลูก ๆ ได้ร่วมกันสร้างอาณาจักรธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ให้เติบใหญ่จนขึ้นไปในระดับประเทศ สมดังคำที่ต้นตระกูลใช้ร่วมกันว่า ซัมมิท หรือจุดสูงสุด

แม้จะเดินทางกันคนละเลน สร้างธุรกิจกันคนละแบบ บางคนเปลี่ยนชื่อ บางคนเปลี่ยนนามสกุล แถมยังมีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันไป แต่ทั้ง ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ และ ‘จุฬางกูร’ มีสายใยบาง ๆ ที่เชื่อมกันไว้ด้วยคำว่า ซัมมิท (Summit) ซึ่งสุดท้าย ไม่จะเชื่อมกันแบบไหน อย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สายใยนี้ เหนียว แน่น และแข็งแรง ไม่เป็นสองรองใครในประเทศนี้เลยทีเดียว...


อ้างอิงข้อมูล

https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1696715,

https://www.bbc.com/thai/thailand-44001760,

https://www.bbc.com/thai/thailand-44276427,

https://www.nationweekend.com/content/special_article/9746,

https://www.prachachat.net/general/news-572052,

https://www.sarakadee.com/2007/01/14/thanatorn/ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top