2 เหมือนสุดต่าง ระหว่าง 'เจ้านาย' vs 'ผู้นำ'

คุณเคยลาออกเพราะเจ้านายบ้างไหม? 

หากเจ้านายคือเหตุผลที่คุณลาออกจากงาน นั่นแสดงว่าคุณอาจโชคไม่ดี!!

เพราะคุณกำลังทำงานภายใต้การควบคุมของ ‘เจ้านาย’ มิใช่ทำงานกับ ‘ผู้นำ’ หรือคนที่จะพาคุณก้าวไปข้างหน้า 

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะคำว่า “เจ้านาย” และ “ผู้นำ” อาจฟังดูคล้ายคลึงกันแต่ว่าความหมายแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

ข้อแรก เจ้านายบ้าอำนาจ แต่ ผู้นำกระจายอำนาจ 

เมื่อลูกน้องและงานอยู่ภายใต้การควบคุมของ เจ้านาย คนเป็นนายจะทำตัวแบบผู้มีสิทธิขาดในทุกเรื่อง เพราะถือว่ากุมอำนาจการตัดสินใจ แม้เขาจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในงานนั้น ๆ หรือเป็นผู้ลงมือทำงานด้วยตนเอง 

หนึ่งในความสามารถที่โดดเด่นของเจ้านายในมิตินี้ คือ การทำหูทวนลม เมื่อลูกน้องแย้งหรือออกความเห็น เพราะมองว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่นในฐานะเจ้านาย ความเห็นของลูกน้อง จึงไม่มีค่าเท่าความคิดของผู้เป็นนาย 

นอกจากนี้เจ้านายยังหวงสิทธ์และชื่อเสียงที่ได้มาจากตำแหน่งของตนเอง ลูกน้องที่โดดเด่น อาจโชคร้าย เพราะถูกเพ่งเล็ง 

ในทางตรงกันข้ามกัน หากเป็น ‘ผู้นำ’ บทบาทนี้จะต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะผู้นำจะรู้จักกระจายอำนาจและแบ่งงานให้บุคคลที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ มีดุลยพินิจที่เฉียบคมและสามารถมอบอำนาจให้ลูกน้องที่ตนเห็นว่ามีศักยภาพทำงานให้สำเร็จได้โดยมิได้กังวลว่าลูกน้องจะโดดเด่นกว่าตนเอง ลูกน้องที่ทำงานกับผู้นำ จึงได้รับทั้งโอกาสแสดงผลงาน ได้ปลดปล่อยอิสระทางความคิดมากกว่าลูกน้องที่อยู่ใต้ ‘เจ้านาย’

ข้อสอง เจ้านาย คือ หัวหน้า แต่ ผู้นำ คือ ผู้ร่วมทีม 

เจ้านายจะทำเพียงสั่งงาน ตรวจงานลูกน้อง ว่ากล่าวลูกน้องเมื่องานพลาด และรับคำชมเอาหน้าเมื่องานสำเร็จเท่านั้น อาจมีหลายกรณีที่ลูกน้องเห็นหน้าเจ้านายในวันแรกของการสั่งงานและวันสุดท้ายของการส่งงาน ซึ่งนั่นหมายความว่างานที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถของลูกน้องทั้งสิ้น 

แต่น่าขันที่ชะตาของลูกน้องกลับต้องขึ้นอยู่กับเจ้านายผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของลูกน้องเลย 

ในขณะเดียวกัน ‘ผู้นำ’ เปรียบเสมือนผู้ร่วมทีมที่พร้อมจะร่วมหอลงโรงไปกับลูกน้อง ผู้นำมีความรับผิดชอบในการนำทางและดูแลลูกน้อง ไม่ว่าจะเรื่องทักษะการทำงานหรือความรู้สึกของลูกน้องในทีม ไม่เพียงแต่คำสั่งที่หลุดจากปากผู้นำ แต่ยังมีคำชม กำลังใจ และคำแนะนำเพื่อให้ลูกน้องเข้มแข็งทั้งเรื่องงานและจิตใจ 

เมื่องานผิดพลาดผู้นำจะรับผิดเนื่องจากบริหารไม่ดีเท่าที่ควร แต่ผู้นำจะยกความดีความชอบให้ลูกน้องที่ตนบริหารอยู่ เมื่องานสำเร็จ ลูกน้องในทีมผู้นำ ก็จะได้รับคุณค่าจากผลงานที่ได้ทำอย่างเต็มที่ เพราะว่าผู้นำเห็นลูกน้องเป็นส่วนสำคัญของงาน ต่างจากเจ้านายที่ไม่เห็นค่าของลูกน้อง เรียกได้ว่าเจ้านายเป็นนักสั่งงานตัวยง แต่ผู้นำเป็นผู้บริหารชั้นนำก็ไม่ผิด

ข้อสุดท้าย อำนาจของเจ้านายมาจากตำแหน่ง แต่อำนาจของผู้นำนั้นมาจากความสามารถ 

หากลูกน้องอยู่ภายใต้เจ้านาย ไม่เพียงแต่บุคลากรที่จะทุกข์กายและใจ แต่บริษัทรวมถึงงานพาลจะวิบัติกันไปหมด 

ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุด อาจเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่พัฒนาเสียที บางประเทศที่ผู้บริหารประเทศนั้นเป็นได้เพียง ‘เจ้านาย’ แต่ไม่ใช่ ‘ผู้นำ’

แน่นอนว่าทุกวันนี้ในสังคมไทย มีความหลากระดับของสายพันธุ์มนุษย์ ตั้งแต่บนสุดของแท่งพีระมิด มาจนถึงกลาง-ล่างของฐานพีระมิด ที่ล้วนเต็มไปด้วย ‘เจ้านาย’ และ ‘ผู้นำ’ คละเคล้ากันไป ซึ่งในโลกของความจริง เราก็ยากที่จะเลือก ‘เจ้านาย’ หรือเลือก ‘ผู้นำ’ ได้ตามใจอยาก 

แต่สิ่งที่เราพอเลือกได้ คือ หากวันใดเราได้ก้าวผ่านจากสภาวะของ ‘ผู้ตาม’ เราจะเลือกปฏิบัติตนเป็น ‘ผู้นำ’ ที่ดีตามอุดมคติที่ฝันใฝ่ไว้ หรือเราก็เป็นได้แค่ ‘เจ้านาย’ ที่เราเคยแอบบ่น (ด่า) เมื่อถึงเวลาก้าวขึ้นสู่บังเหียน 

ต้องแยกแยะให้เป็นแต่เนิ่นๆ