Wednesday, 24 April 2024
ISSUE

นับถอยหลัง EV ไทย!! ‘บอร์ดอีวี’ ตั้งเป้าอีก 14 ปี EV เต็มถนน เชื่อยานยนต์ไฟฟ้าปั้นเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ หรือ ‘Electric Vehicle: EV) คือ เทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกอย่างแท้จริง หลังจากหลายประเทศทั่วโลกได้กำหนดเป้าหมายก้าวไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยมลพิษในอากาศอย่างถ้วนหน้า

เมื่อมองนโยบายด้านพลังงานของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่า ทุกประเทศจะมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้งาน EV แทบทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น อังกฤษ ที่ได้วางเป้าหมายส่งเสริมการผลิตรถ EV 100% ในปี 2035

ขณะที่สหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าเพิ่มจำนวน EV บนถนน 4 ล้านคัน พร้อมพัฒนา EV Charging Station สาธารณะ 500,000 แห่งทั่วประเทศในปี 2030 พร้อมทั้งกำหนดให้เปลี่ยนรถสันดาป (ICE) ของรัฐบาลกลางเป็นรถ EV จำนวน 645,000 คัน โดยจะผลิตและใช้แรงงานในประเทศเป็นหลัก

ส่วนจีน เป็นหนึ่งประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของ EV ค่อนข้างสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะผลักดันให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 0% ภายในปี 2060 โดยไม่สนับสนุนโรงงานผลิตรถยนต์สันดาปอีกต่อไป พร้อมกับประกาศว่า จะเปลี่ยนรถยนต์สันดาปเป็น EV ทั่วประเทศในปี 2040 คู่ขนานไปกับการพัฒนา EV Charging Station 4.8 ล้านหัวจ่าย ทั่วประเทศ

จากนโยบายที่ว่ามาของประเทศต่างๆ ได้ส่งผลให้ EV เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงตั้งแต่ปี 2014 - 2019 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 60% ต่อปี โดยเมื่อสิ้นปี 2019 มี EV ทั่วโลกสะสมอยู่ราว 7.2 ล้านคัน และมีการประเมินว่าส่วนแบ่งตลาดรถ EV จะเท่ากับรถ ICE ในปี 2037 (พ.ศ.2580)

ทีนี้หากขยับมาดูนโยบายด้าน EV ของประเทศเพื่อนบ้านไทยในกลุ่มอาเซียน อย่าง อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งของไทยในการผลิตรถยนต์ ต่างก็พยายามผลักดันการผลิต EV เป็นนโยบายหลัก โดยอินโดนีเซีย ตั้งเป้าหมายผลิต EV 20% ในปี 2025 ส่วนมาเลเซีย ตั้งเป้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาคในปี 2022 พร้อมกำหนดรถยนต์ส่วนบุคคล ต้องเป็นรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูง (Energy Efficient Vehicles : EEVs) จำนวน 1 แสนคัน ในปี 2030 และเวียดนาม ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนและร่วมทุนผลิต เทคโนโลยีระดับสูง ด้าน EV อันดับ 1 ของอาเซียน เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า ประเทศที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ในอาเซียน ต่างตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำด้านการผลิต EV ทั้งสิ้น เพราะประเทศเหล่านี้ต่างหมายมั่นที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แข่งกับไทยนั่นเอง

เอาล่ะ!! ทีนี้มามองดูไทย ที่ถือเป็นประเทศฐานการผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอาเซียนมายาวนานหลายทศวรรษ จนได้รับฉายาว่า ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ จากการเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดอันดับที่ 12 ของโลก และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน กับยอดการผลิตราว 2 ล้านคันต่อปี เป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน และบริโภคภายในประเทศอีก 1 ล้านคัน

แต่นั่น คือ ภาพของผู้นำการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาป!!

ฉะนั้นเมื่อ EV กำลังก้าวขึ้นมาเป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และถ้าประเทศไทยไม่อยากเสียแชมป์ด้านการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ ก็คงอยู่เฉยปล่อยให้คู่แข่งแซงหน้าไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกราว 1 ล้านคันต่อปี แต่ในขณะที่ประเทศคู่ค้าที่นำเข้ารถยนต์จากไทยหลายประเทศ เริ่มประกาศนโยบายลดการใช้งานรถยนต์เครื่องสันดาปแล้ว หากไทยไม่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าแบบจริงจัง ก็อาจจะสูญเสียตลาดส่งออกรถยนต์ให้กับคู่แข่งเป็นแน่แท้

อย่างไรก็ดี การจะเปลี่ยนเทคโนโลยีจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดปุ๊บแล้วทำได้ปั๊บ เพราะไม่ว่าจะด้านการผลิต การใช้งาน โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพอสมควร

ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ทางรัฐบาล จึงได้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ’ หรือ ‘บอร์ดอีวี’ ขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งกรอบที่ทางบอร์ดอีวีได้วางไว้ในการประชุมครั้งแรก นั่นคือ เร่งให้เกิดการผลิต ยานยนต์ไฟฟ้า BEV (Battery Electric Vehicle: รถยนต์ที่พึ่งพิงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว) ในประเทศไทยภายใน 5 ปี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ร่วมประชุมบอร์ดอีวี โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ด้วยการลดการใช้รถยนต์ที่่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเป็นรูปธรรม

โดยในที่ประชุมได้ร่วมกำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผ่านมาผลิตเครื่องยนต์สันดาปซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จึงได้วางเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ทางบอร์ดอีวี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณาส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย รถยนต์ จักรยานยนต์ และรถบัสสาธารณะ

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นเจ้าภาพในการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของอุปทาน (ผู้ผลิต) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว

ขณะเดียวกัน ทางบอร์ดอีวี ยังได้กำหนดเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น1,055,000 คัน แบ่งเป็น...

รถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน

รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน

รถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน

และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็น...

รถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน

รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน

รถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน

ส่วนเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในปี 2568 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 คัน แบ่งเป็น...

รถยนต์/รถปิกอัพ 400,000 คัน

รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน

รถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน

และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็น...

รถยนต์/รถปิกอัพ 8,625,000 คัน

รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน

รถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้วางนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการระยะเร่งด่วนและมาตรการระยะ 1-5 ปี ประกอบด้วย...

มาตรการเร่งด่วน...

1.) มาตรการกระตุ้น การใช้รถ สองล้อ สาม ล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า

2.) มาตรฐาน และ ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ -แผนพลังงาน และ การจัดตั้งสถานีอัด ประจุสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์

3.) ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐจัดซื้อ/เช่ารถยนต์ไฟฟ้า

4.) จัดให้มีโครงการเช่ารถเมล์ ขับเคลื่อนด้วยพลังงาน ไฟฟ้า 2,511 คัน

ส่วนมาตรการในระยะ 1 - 5 ปี มีดังนี้...

1.) ด้านมาตรการแรงจูงใจ (Demand)

- ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต (เริ่มพ.ศ. 2569 หรือ ค.ศ.2026) เพื่อส่งเสริมการใช้ ZEV

- ปรับปรุงภาษีรถยนต์ประจำปี ตามหลักสากล “รถยิ่งเก่า ยิ่งต้องจ่าย แพง”

2.) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

- สนับสนุนให้มีสถานีชาร์จสาธารณะสำาหรับรถ BEV และ สถานี SWAP สำหรับ รถจักรยานยนต์ BEV ให้เพียงพอ

- มาตรการทางภาษี กองทุนเพื่อการบริหารจัดการแบตเตอรี่ในรถยนต์

- การบริหารจัดการซากรถยนต์ แบตเตอรี่และ Solar cell ใช้แล้วอย่างยั่งยืน

- การพัฒนาบุคลากร Upskill / Reskill ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสำหรับ ZEV รวมทั้งมาตรการรองรับบุคลากรจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมไปสู่ S-Curve

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น ได้แก่

1.) คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน

2.) คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า

3.) คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า

4.) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ตั้งขึ้นเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดำเนินนโยบายไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเกิดการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การนำประเทศก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกนั่นเอง


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

จาก โจ ไบเดน ถึง ประชาชนของลุงตู่...เมื่อไรเราจะได้ใช้รถไฟฟ้ากันจริงจังเสียที

ยังจำกันได้ไหมครับ ? เมื่อต้นปี หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของนายโจ ไบเดน ข่าวแรก ๆ ที่พอจะส่งแรงสะเทือนไปได้ทั่วโลก คือข่าวอะไร ?

ใช่แล้ว, นายโจ ไบเดน ประกาศจะยกเลิกการใช้รถที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปด้วยน้ำมัน ของรัฐบาลกลางทั้งหมด แล้วเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100 เปอร์เซนต์ ข่าวนี้ถือว่าส่งแรงสั่นสะเทือนในตลาดผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกา และรวมถึงส่งแรงกระเพื่อมมายังตลาดรถยนต์ทั่วโลกอีกด้วย

อย่างที่หลายคนทราบกันดี โจ ไบเดน ชูนโยบายรักษ์โลกในการเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่สิ่งที่ประธานาธิบดีคนล่าสุดของอเมริกาประกาศออกมานั้น ไม่ได้ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงทั้งหมดหรอก เหตุผลส่วนหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลย นั่นคือ ไบเดนกำลังสร้างความคูล หรือภาษาไทยเรียกว่า สร้างความเท่ ๆ ที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างภาพลักษณ์ ‘ผู้นำโลกยุคใหม่’ โดยเฉพาะกับเรื่องราวเทคโนโลยีอันเป็นวิถีใหม่ของผู้คนวันนี้ นัยว่า ผมอายุเยอะ แต่ผมไม่เชยนะคร้าบ !

พูดตามหลักยุทธศาสตร์ ไบเดนเห็นวิถีของผู้คนยุคหน้า ที่ต้องพึ่งพารถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่พลังงานทดแทนอีกสารพัด นั่นคือ สิ่งที่มันกำลังจะเป็นไปในเร็ววัน และไม่ใช่แค่ โจ ไบเดน คนเดียวหรอกที่ ‘เล็งเห็น’ ภาพอนาคตอะไรทำนองนี้ ปัจจุบัน ชาติมหาอำนาจทางพาหนะขับเคลื่อน อาทิ เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และที่มาแรงสุด ๆ ตอนนี้คือ จีน ประเทศเหล่านี้ ต่างเปิดฉากความจริงจังเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ากันแล้วทั้งสิ้น

สงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร ไม่รู้ แต่ที่รู้ ๆ ‘สงครามรถยนต์ไฟฟ้า’ เตรียมจุดชนวนแน่นอน

ข้ามน้ำทะเลมาที่ประเทศไทย เมื่อไม่กี่วันก่อน คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ มีการประชุมและพิจารณา การกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หลักใหญ่ใจความชูประเด็นที่ว่า ‘ประเทศไทยจะยกเลิกขาย ยานยนต์ เครื่องยนต์ ภายในปี พ.ศ. 2578’

ขยายความต่อมาอีกนิด ภายในปี พ.ศ. 2578 ผู้ขับขี่ยานยนต์ต้องจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ ที่เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ ZEV 100% พูดให้ง่ายกว่านั้น อีกราว ๆ 14 ปี ประเทศไทยจะต้องใช้รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น

ถามว่า ทำได้ไหม เรียกว่า มันต้องทำจะดีกว่า เพราะนานาประเทศในเวลานี้ ต่างขานรับกับเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าของรถยนต์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งระยะเวลา 14 ปี ไม่นานเลย ยิ่งเป็นยุคสมัยนี้ วงรอบการวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีไปเร็วมากกว่าในอดีตหลายเท่าตัวนัก ดังนั้น 14 ปี หรือสั้นกว่านั้น เรา ๆ ท่าน ๆ ได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งเกลื่อนถนนเมืองไทย และในโลกนี้อย่างแน่นอน

แต่กลับมาที่ความจริงในปัจจุบันวันนี้ แม้ภาพรวมของรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย จะเริ่มมาดีขึ้นเป็นลำดับ ปีนี้ เปิดหัวต้นปีที่งานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 42 ก็พยายามชูเซกเม้นท์ไฮไลท์ที่ รถยนต์อีวี หรือยานยนต์ไฟฟ้า ที่เข้มข้นมากกว่าที่เคย

เพราะทุกค่าย ทุกฝ่าย ต่างรู้ดีว่า วิถีของโลกกำลังจะต้องดำเนินไปแบบนั้น แว่วว่า บางค่ายรถยนต์ เตรียมแผนงานสิ้นสุดสายพานงานผลิตรถสันดาปน้ำมันกันเรียบร้อย รวมไปถึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ากันไปอีกหลายสเต็ป เพียงแค่ยังไม่เปิดเผยกันในสงครามครั้งล่าสุดนี้เท่านั้นเอง

ภาพใหญ่ไปอย่างนั้น แต่กลับมาที่ภาพผู้ใช้ในเมืองไทยในเวลานี้ ข่าวสารเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าถูกเสิร์ฟกันออกมามากมาย เหมือนไฟที่กำลังสปาร์ค แต่หากส่องกันให้จริง ๆ จัง ๆ มันก็ยัง ‘จุดไม่ติด’ เสียทีเดียว ด้วยปัจจัยนานาสารพัน เอาที่เห็นกันชัด ๆ มี 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ

1.) ราคา

2.) ตัวเลือกน้อย

3.) ยังไม่คูล

เจอปัจจัยแรก เรื่องราคา ก็แทบจะเลิกพูดเรื่องต่อ ๆ ไป ซื้อของแพงเพื่อรักษ์โลก มันก็แลดูย้อนแย้งไปสักหน่อย ถูกไหม แต่ในอนาคตอันใกล้ เมื่อเทคโนโลยีมีความเสถียรมากขึ้น การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ก็จะมีความเสถียรและมีมาตรฐานตามขึ้นมา เมื่อนั้น การคำนวนต้นทุนต่าง ๆ จะชัดเจนขึ้น

และเมื่อมาบวกรวมกับดีมานด์ (Demand) หรือความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น ตลาดจะทำราคาให้ ‘กว้าง’ และหลากหลายมากขึ้นเอง ซึ่งจะส่งผลไปสู่ทางออกของปัจจัยปัญหาข้อที่สอง นั่นคือ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีหลายเกรด และมีทางเลือกของรถที่มากขึ้น

พูดง่าย ๆ เราจะไม่ต้องมาขับรถหน้าตาเหมือน ๆ กันทั้งถนน แถมยังเป็นรถยนต์หน้าตาแปลก ๆ แบรนด์ไม่คุ้นเคย ซึ่งเชื่อมโยงมาสู่ปัญหาข้อที่สาม นั่นคือ ‘มันไม่คูล’

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่านิยมของการใช้รถยนต์บ้านเรา ยังบ่งบอกถึงวิทยฐานะ รสนิยม รวมถึงภาพลักษณ์ สมมติตั้งคำถามว่า หากต้องเลือกรถยนต์ที่สะท้อนถึง ‘การเป็นคนรักษ์โลก’ กับ ‘การเป็นคนมีอันจะกิน’ เดาได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังตัดสินใจเลือกใช้รถในเหตุผลแบบหลังกันอยู่

แต่ว่าเมื่อไรก็ตาม ที่คนหมู่มากเริ่มใช้ หรือเริ่มฮิต จนกลายเป็นเทรนด์หลักขึ้นมาได้ เมื่อนั้น รถยนต์ไฟฟ้าจะขายได้ทันที เหมือนเห็นคนข้างบ้านใช้ เห็นคนหน้าปากซอยบ้านใช้ คนที่ทำงานก็ใช้ ลูกน้องเงินเดือนน้อยกว่าฉันยังใช้ ดังนั้น เดี๋ยวฉันก็คงต้องใช้เช่นกัน

คาดการณ์กันว่า อีกไม่เกิน 3 ปี ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์อีวี (Electric Vehicle) จะโตขึ้นอีกหลายเท่าในเมืองไทย และหลายฝ่ายต่างตั้งความหวังกันว่า ในอนาคตจะกลายเป็น ‘รถยนต์คันหลักของบ้าน’ ที่ต่างจากในเวลานี้ที่ยังเป็นรถคันที่สอง สาม สี่ ของบ้านอยู่ มากไปกว่านั้น คือการตระหนักรู้ถึงคุณประโยชน์ที่ใช้จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อไม่มีควันจากท่อไอเสีย ก็ไม่มีก๊าซพิษ และไม่มีฝุ่น คุณภาพอากาศก็จะดีขึ้น และคุณภาพชีวิตของเรา ก็จะดีตามมาเป็นลำดับ

เขียนถึงตรงนี้ สรุปว่า รถยนต์ไฟฟ้า มา ! และต้องมาในเร็ววัน แต่อะไรที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ของใหม่’ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัว จนเมื่อเวลาผ่านไป ก็จะกลายเป็น ‘ของที่คุ้นเคย’ ไปในที่สุด โลกนี้ไม่ได้มีของที่ล้ำที่สุดคือ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ เราๆ ท่าน ๆ เตรียมตื่นตาตื่นใจกับอะไร ๆ อีกมากมายไว้ได้เลย

ความรื่นรมย์ส่วนหนึ่งในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ คือการมองเห็นความเปลี่ยนแปลงไปของโลกนี่เอง...

เขียนมาถึงตรงนี้ (อีกครั้ง) เราขึ้นต้นถึง ‘โจ ไบเดน และประชาชนของลุงตู่’ จะไม่เขียนเอ่ยถึง ‘ลุงตู่ของคนไทย’ ก็กระไรอยู่ เอาเป็นว่า อยากฝากถึงลุงตู่สั้น ๆ ปิดท้าย...

ถ้า โจ ไบเดน จะเปลี่ยนรถที่ใช้ของรัฐบาลกลาง เป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ลุงตู่ก็ไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอกครับ (ประเดี๋ยวทัวร์จะลงเรื่องเอาภาษีข้อยคืนมา!) แค่เปลี่ยนรถประจำแหน่งที่ใช้ ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ก็พอ

‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ ลุงตู่ใช้รถไฟฟ้าเมื่อไร ประชาชนก็น่าจะจริงจังตาม...ว่าไหมล่ะครับ


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

รัฐบาลส่งเสริมให้คนไทยใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้วจริงหรือ ?

กระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) กำลังมาอย่างมาก จากกระแสธารเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของทั่วโลก กระตุ้นความสนใจให้กับผู้คนในประเทศไทยพอสมควร ประเทศที่มีปัญหาด้านมลพิษสูงอย่าง PM2.5 ติดอันดับโลกอยู่หลายครั้ง และหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิด PM2.5 คือมลภาวะจากควันรถยนต์ที่ปล่อยออกมา

ปัญหาทางโครงสร้างทางคมนาคม ถนนหนทาง และนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการซื้อรถยนต์ กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาระยะยาว คือปัญหารถติด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เมืองที่ติดอันดับรถติดของโลก (แต่ละอันดับ ดูไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่) ที่ไม่รู้ว่าทั้งชีวิตนี้จะแก้ปัญหานี้ได้ไหม รวมไปถึงการโดยสารสาธารณะไม่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุและอาชญากรรรมในพื้นที่สาธารณะ ความรู้สึกของผู้คนในเมืองใหญ่จึงยอมที่จะซื้อรถส่วนตัว เพื่อแลกกับความปลอดภัย จำนวนรถเยอะขึ้น จำนวนมลพิษก็เยอะขึ้นเป็นธรรมดา รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จึงอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ประชาชนอย่างเรา จะยอมซื้อเพื่อแลกกับคุณภาพอากาศที่ดี (ที่รัฐแก้ปัญหาไม่ได้สักที)

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รถยนต์แห่งโลกอนาคต ที่ในไม่ช้าคงกลายเป็นรถยนต์กระแสหลัก ตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนและสังคมอย่างมาก จากข้อดีหลายประการ อาทิ ลดมลภาวะจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงน้ำมัน, ความเงียบและอัตราเร่งที่ได้ดั่งใจ ,ประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุงไม่ต้องเสียเวลาไปปั๊มน้ำมัน ,ประหยัดเงินค่าน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันในมหานครใจกลางกรุง ก็มีสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าหลายจุด

อย่างไรก็ตามเราแทบไม่เห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนถนนเลย เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่รถยนต์ไฟฟ้าบ้านเรายังต้องนำเข้า และมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสมรรถนะและความสะดวกสบายที่ได้รับ แถมแบรนด์ที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าก็ยังมีให้เลือกไม่มากนัก บวกกับคนทั่วไปอาจมีความกังวล และไม่เข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเพียงพอ รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็มีการจัดซื้อและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะเพื่อเป็นตัวอย่างนำร่อง

แต่รู้ไหมว่า ? หากศึกษาถึงความคุ้มค่า สำหรับคนที่กำลังจะซื้อรถยนต์และต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย ก็ต้องบอกว่าคุ้มมาก เพราะมาตรการทางภาษียังถูกกว่ารถยนต์เชื้อเพลิงอีกต่างหาก

โดยรัฐมีการส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิต ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรการนำเข้าพวกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ โดยผู้ผลิตต้องยื่นเข้ารับการส่งเสริมแก่ BOI และยังมีมาตรการในการลดภาษีสรรพาสามิต และทำให้ผู้บริโภคหาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งภาครัฐมีเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดปลั๊กอิน และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคันในปี พ.ศ. 2579

ลองเปรียบเทียบกับต่างประเทศกันดูบ้างว่ารัฐบาลบ้านเขาส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) อย่างไร

ประเทศนอร์เวย์ ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับการยกเว้นภาษีจดทะเบียนและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยรัฐให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการที่ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า และผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทุกคนในประเทศสามารถชาร์จไฟฟ้าในแท่นชาร์จสาธารณะได้ ‘โดยไม่มีค่าใช้จ่าย’ มียกเว้นค่าผ่านทางในถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทาง และอนุญาตให้รถยนต์ไฟฟ้าใช้ช่องทางสำหรับรถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ (Bus and taxi lanes) พร้อมทั้งให้จอดรถในพื้นที่สาธารณะทุกแห่งได้โดยไม่เสียค่าจอด

ประเทศญี่ปุ่นภาครัฐนั้นให้เงินสนับสนุนในเรื่องของงานวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมุ่งให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งเรื่องของโมเดลรถและแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้นในเรื่องของ ‘แท่นชาร์จ’ ให้รถทุกยี่ห้อสามารถใช้หัวชาร์จแบบเดียวกันได้ รวมถึงยังมีการให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการลดหรือยกเว้นภาษีจากผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีมาตรการนำรถยนต์ทั่วไปคันเก่า มาแลกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ที่สอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐกำหนดไว้ อีกทั้งมีการจัดตั้ง

‘เมืองยานยนต์ไฟฟ้า EV/PHEV town’ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย

นโยบายที่ชัดแจนและการสร้างองค์ความรู้ที่ชัดเจนให้กับประชาชนในประเทศ ผนวกกับการส่งเสริมของภาครัฐอย่างจริงจังก็สะท้อนให้เห็นว่าประเทศเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า รักษาสิ่งแวดล้อม ประชาชนก็ได้ประโยชน์

ส่วนบ้านเรา !! ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประชาชนผู้เสียภาษี และมีความจำเป็นที่ต้องออกรถใหม่ในไม่ช้า ส่วนตัวก็มีความสนใจในรถยนต์ไฟฟ้า แต่ทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่ารัฐส่งเสริมมาตรการภาษีอย่างไร การให้บริการพร้อมสรรพหรือยัง รู้แต่เพียงว่าราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าช่างสูงลิ่ว และเราอาจต้องนั่งรถเมล์สูดควันดำกันต่อไป


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

เมื่อ Eco-Friendly กลายเป็นกระแสหลักของโลก

เมื่อ Eco-Friendly กลายเป็นกระแสหลักของโลก และส่งผลให้เกิดคลื่นแห่งการรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในทุกมิติ ทุกวงการ แน่นอนรวมไปถึงวงการยานยนต์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักในการสร้างมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ผนวกกับความผันผวนของราคาน้ำมันในศตวรรษนี้ การพัฒนารถยนต์ที่มลพิษต่ำและสามารถใช้เชื้อเพลงทางเลือกจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง กลายมาเป็นรถยนต์ Hybrid Electric Vehicle (HEV) และ Trend ของยานยนต์ที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นวงกว้างในปัจจุบันนี้อย่าง Electric Vehicle (EV) รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100 %

ข้อดีของรถยนต์ EV หากจำแนกออกมานั้นมีความน่าสนใจหลายเรื่อง เริ่มต้นจากความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงเพราะใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนจาก Battery ไปสู่ Motor เมื่อพลังงานหมดก็สามารถชาร์ทใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องมาสนใจกับความผันผวนของราคาน้ำมันเพราะค่าไฟฟ้านั้นค่อนข้างคงที่ การทำงานของเครื่องยนต์ก็เงียบเนื่องจากกลไกการขับเคลื่อนไม่มีการจุดระเบิดเพื่อการเผาไหม้ แรงม้าและแรงบิดก็ตอบสนองได้ไวกว่า การบำรุงรักษานั้นก็ง่ายเพราะมีการออกแบบระบบให้ถูกใช้ซ้ำ ๆ แม้จะมีการชาร์จบ่อยครั้ง ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเสื่อมสภาพของ Battery

ทั้งเรื่องของเครื่องยนต์ที่มีอัตราสึกหรอต่ำ อะไหล่แต่ละชิ้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทั้งยังพัฒนาระบบสมองกลอัจฉริยะที่เชื่อมต่อข้อมูลและสั่งการด้วยการใช้ Mobile Phone หรือ Smart Tablet ปิดท้ายด้วยความหลากหลายของ Brand ผู้ผลิตที่มีอยู่อย่างมากมาย จาก Brand ระดับ Luxury อย่าง Porsche, Mercedes Benz, BMW, MINI หรือจากเจ้าพ่อรถ EV อย่าง Tesla ที่แรงสมใจขาแรง หากอยากได้ Brand จาก Asia อย่าง Nissan, Mitsubishi , BYD ก็มีให้เลือกมากมาย

แต่กระนั้นรถยนต์ EV ก็มีข้อสังเกตอีกพอสมควรว่ามันเหมาะที่จะใช้ในชีวิตประจำวันจริงหรือ ? เริ่มต้นด้วยราคาของรถ EV ที่ยังค่อนข้างสูงหากเทียบกับรถที่ใช้ทั่วไป แม้ราคาจะถูกลงกว่าเดิมมากก็ตาม Battery ที่ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่แพงที่สุดชิ้นหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้า หากเสียหายสนนราคาการเปลี่ยนอยู่ที่ 300,000 - 500,000 บ. โดยประมาณ ระยะการเดินทางที่จำกัดเนื่องจากการชาร์จ Battery หนึ่งครั้งจะสามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300 - 400 กม. เท่านั้น จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในเมือง

ส่วนการเดินทางระยะไกลนั้นต้องวางแผนให้ดี ถ้าจำเพาะมาที่ประเทศไทยสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 570 แห่งหัวจ่ายประมาณ 1,800 แห่ง ก็ยังไม่สามารถรองรับการใช้งานได้อย่างทั่วถึง ยังไม่รวมไปถึงการชาร์จที่ค่อนข้างถี่และการติดตั้งแท่นชาร์จที่บ้านก็มีค่าใช้จ่ายพอสมควร

วันนี้รถยนต์ EV ในประเทศไทยมีอัตราเติบโตประมาณ 2% หากจะผลักดันรถยนต์ EV ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนก็คงไม่พ้นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสนับสนุนในหลายมิติอย่างที่หลายประเทศดำเนินการ โดยอาจจะเริ่มต้นจากลดภาษีซื้อเพื่อสร้างแรงจูงใจ งดภาษีหรือลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าประจำปี อุดหนุนเม็ดเงิน

ลงไปในตลาดเพื่อให้รถ EV ราคาถูกลง หรือง่ายต่อการเปลี่ยนรถยนต์ของผู้บริโภคปัจจุบัน ทั้งยังต้องผลักดันให้ยานพาหนะของภาครัฐมาใช้รถยนต์ EV อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมร่วมมือกับเอกชนเพื่อกำหนดแผนกลยุทธ์ระยะยาว ส่งเสริมการผลิต Battery เพื่อรถ EV ในประเทศให้มากขึ้นและสร้างฐานการผลิตรตยนต์ EV ในประเทศอย่างจริงจัง และตอบโจทย์การสร้างสถานีชาร์จไฟที่รองรับอย่างเพียงพอ หากการคาดการณ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย .

ซึ่งคาดว่าในปี 2564 นี้รถ EV ในประเทศไทยจะมียอดซื้ออยู่ไม่ต่ำกว่า 6,000 คันรวมกับที่จดทะเบียนไว้ก่อนหน้าในปี 2563 ประมาณ 3,000 คัน ทั้งนี้ยังไม่รวมรถ Plug-in Hybrid ที่มาแชร์การชาร์จด้วย การจะสนองตอบต่อการใช้งานที่มากขึ้นจำเป็นต้องมีสถานีชาร์จไฟรองรับในระยะทาง 75 กิโลเมตรต่อ 1 สถานี ซึ่งประเทศไทยจะทำได้ไหม ? และการเอื้อต่อรถ EV จะเป็นการ Disrupt สถานีบริการน้ำมันที่ไม่พร้อมให้บริการชาร์จไฟไหม ? ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีเพียง PTT ที่เริ่มขยับ นโยบายการผลิตรถยนต์ EV ไม่น่าจะยาก ที่ยากและน่าจะเป็นปัญหาระยะยาวคงเป็นเรื่องสถานีชาร์จไฟมากกว่า อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว สนใจรถยนต์ EV สักคันไหม ?


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

EV เพื่อนรัก ใคร(ไม่)รัก...โลกรัก

EV คือ รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้า 100% ภาษาอังกฤษเรียกว่า Electric Vehicle เรียกสั้น ๆ ว่า EV (อีวี) เป็นนวัตกรรมที่พัฒนา เพื่อให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถ หลายคนเลือกใช้ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะประหยัดค่าน้ำมัน รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ ได้สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ จีน เยอรมนี หรือ อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอยู่ และพยายามที่จะผลักดันนโยบายให้รถยนต์ไฟฟ้า กลายเป็นรถยนต์แห่งอนาคตที่ทั้งโลกจะหันมาใช้ แต่สำหรับประเทศไทย ก็จะถูกกดดันให้ต้องเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนที่ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเผาไหม้ ไม่ว่าไทยจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม...

EV เพื่อนรัก ก็คงเป็นเพราะว่า รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ‘ประหยัดค่าใช้จ่าย’ (พูดถึงหลังจากที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว) สิ่งที่น่าสนใจอย่างแรกของรถยนต์ไฟฟ้าคือ ‘ไม่ต้องใช้น้ำมัน’ แต่เป็นการ ‘ชาร์จไฟฟ้า’ แทน

ไม่ต้องใช้น้ำมัน... เราจะใช้รถยนต์แบบไม่ต้องเติมน้ำมันเชื่อเพลิงอีกต่อไป ถ้าราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่เราจะเสียค่าไฟครั้งละ 90 - 150 บาท ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.60 - 1 บาทต่อกิโลเมตร เห็นได้ว่าประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงไปได้มากกว่า 2 - 3 เท่า โดยขณะที่ราคาน้ำมัน มีราคาผันผวนตามตลาดโลก

ชาร์จไฟฟ้า... เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเก็บอยู่ในแบตเตอรี่ ปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนเรามีโทรศัพท์มือถือ จะใช้งานได้ ก็แค่ชาร์จแบตโทรศัพท์เท่านั้น จากนั้นพลังงานก็จะถูกเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ของตัวเครื่อง สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เรียกว่าแบตเตอรี่ ‘ลิเธียมไอออน’ ซึ่งเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ ง่ายดีไหม

ใครไม่รัก...

ไม่รัก

ไม่รัก = ทว่าการเดินทางไกลเกินกว่า 300 กิโลเมตร หรือเดินทางไกลไปต่างจังหวัด ก็ยังไม่สามารถทำได้โดยการชาร์จเพียงครั้งเดียว บางคันใช้เวลาชาร์จประมาณ 4 ชั่วโมง แต่วิ่งได้แค่ 30 กิโลเมตร บางคันใช้เวลาชาร์จ 8 ชั่วโมง แต่สามารถวิ่งได้ไกลถึง 480 กม. ต่างจากการเติมน้ำมันใช้เวลาแค่นิดเดียว

ไม่รัก = สถานีชาร์จไฟยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าในไทยไม่ได้มีมาก สถานีชาร์จก็ไม่ได้มากมายตาม ก็จะสร้างมามากให้ใครใช้ และในการสร้างก็ใช้งบประมาณที่สูงมาก

ไม่รัก = ราคารถไฟฟ้าที่ยังแพงกว่ารถน้ำมัน ส่วนนี้คงเป็นที่น่าหนักใจที่สุดในเรื่องของราคาที่สูงมาก ยกตัวอย่าง รถยนต์ไฟฟ้าของอเมริกาอย่าง ‘Tesla Model S’ มีราคาสูงถึง 2.4 ล้านบาท ซึ่งราคานี้ยังไม่รวมภาษีนำเข้าหากนำมาขายในประเทศไทย ซึ่งราคาไม่ต่างจากรถยนต์หรู และไม่ต้องพูดถึง รถค่ายตลาดทั่วไป Nissan Leaf ราคาเริ่มต้นในสหรัฐฯ ก็ยังสูงถึง 1 ล้านบาท สิ่งนี้ เลยส่งผลให้จำนวนผู้ซื้อน้อยตามลงไป ก็เป็นไปตามกลไกการตลาดเลย เมื่อความต้องการจากผู้ซื้อน้อย การผลิตก็น้อย แต่ทำให้ราคายังก็ยังสูงอยู่

โลกรัก...โลกถูกใจสิ่งนี้มากที่สุด ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นมิตรต่อโลกหรือสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพราะลดมลภาวะที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง

ระยะทาง 1 ไมล์ ของรถยนต์ปกติ สามารถสร้าง คาร์บอนออกมาได้ 174 กรัม

ระยะทาง 1 ไมล์ ของรถยนต์ไฟฟ้า สามารถสร้าง คาร์บอนออกมาได้ 381 กรัม

ส่วนต่างอยู่ที่ 207 กรัม หรือ รถยนต์ไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยคาร์บอน ได้ถึง 54 %

คิดดูว่า ถ้ามีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งในไทยมากกว่า 100,000 คัน โดยรถแต่ล่ะคันวิ่งเฉลี่ยที่ 10,000 ไมล์ หรือ 16,000 กิโลเมตร ก็จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีล่ะ 2 แสนตัน

ตรงนี้อยู่ที่ว่าใครจะคำนึงถึงโลกมากแค่ไหน... ซึ่งอเมริกามีรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1 ล้านคันแล้ว

ถ้ามีกำลัง ส่วนตัวว่ามันก็น่าลงทุนนะ สมมติเราซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ราคาสูง ถ้าใช้ไปอีก 5 - 10 ปี ข้างหน้า เทียบกับรถน้ำมัน แล้วใช้ในระยะยาว ก็ประหยัดกว่าค่าน้ำมันที่เสียไปอีก ว่าไหม หรือไม่ดีราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจจะสามารถลดลงได้อีกในอนาคต…

ลำบากวันนี้... สบายวันหน้า แต่ถ้าวันข้างหน้า หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันหมด การผลิตน้ำในเชื้อเพลิงน้อยลงหรือไม่มีแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ ที่อัตราค่าไฟอาจจะคิดเพิ่มไปอีกหน่วยละเท่าไหร่... ตรงนี้ ก็มาคิดดูอีกที


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

“ดาวม็อบ” แสงสว่างจากธรรมศาสตร์

ปีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 87 ปี แต่ดูเหมือนช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ‘ธรรมศาสตร์จะร้อนแรง’ เป็นพิเศษ อย่างที่หลายคนติดตามข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นม็อบสารพัดม็อบก็ดี เหล่าแกนนำม็อบก็ดี อาจารย์ และรวมถึงผู้สนับสนุนจากหลายฝั่งหลายฝ่ายก็ดี พอเชื่อมโยงกันให้ดี ๆ อ้าว ! ถนนทุกสาย วิ่งเข้า วิ่งออก จากคำว่า ‘ธรรมศาสตร์’ แทบทั้งสิ้น ?!

เสมือนเป็น ‘โมเดลลิ่งการเมือง’ ดาวม็อบจากคณะนั้น อาจารย์ผู้เป็นแนวหลังจากคณะนี้ หรือศิษย์ผู้พี่ที่คอยให้กำลังใจจากคณะโน้น และอีกบลา ๆ ๆ

มันอาจจะร้อนแรงดี สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่มันก็เป็นเครื่องหมายคำถาม สำหรับคนอีกหลาย ๆ กลุ่ม ที่ต่างตั้งคำถามกลับมาระดับเบา ๆ ถึงหนักมาก ‘ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัย บ่มเพาะการศึกษาเป็นพื้นฐาน แต่ที่กำลังทำและเป็นอยู่นั่น มันคืออิหยัง ?’

เรื่องทุกอย่างล้วนมีที่มา เมื่อมีผล ก็ต้องมีเหตุ ย้อนกลับไปเดย์วัน หรือวันแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยชื่อก็ชัดเจนในตัวระดับหนึ่ง แต่เดิมชื่อของมหาวิทยาลัย คือ ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 จากเจตนารมย์ของ ศ.ปรีดี พนมยงค์

ในครั้งนั้น ทั้งอาจารย์ปรีดี และคณะราษฎร มีมุ่งหมายที่จะ ‘ยกระดับ’ การศึกษาของประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองของประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ ดังตามประกาศของคณะราษฎร บางท่อนบางตอนที่ว่า ‘การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะขาดการศึกษา ที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ 

แม้ในช่วงแรก การศึกษาที่ว่า จะมุ่งเน้นที่วิชากฎหมายและการเมือง แต่เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะในเวลานั้น การจะหาครูบาอาจารย์ หรือที่เรียกว่า ‘ผู้รู้’ นั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าต่อมา ในช่วงปี พ.ศ. 2495 ชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ถูกเปลี่ยน โดยตัดคำว่า วิชา และการเมืองออก เหลือไว้เพียง ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ พร้อมการขยับขยายภาควิชาและคณะเรียนให้มากขึ้น

ไม่ว่าเบื้องลึก เบื้องหลัง จะเป็นอย่างไร นั่นเป็นเรื่องของอดีต แต่สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ เมื่อมีวิชาให้เรียนมากขึ้น ประชาชนก็จะได้รู้มากขึ้น และกว้างขึ้น แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าจะธรรมศาสตร์ชื่อสั้น หรือธรรมศาสตร์ชื่อยาว ภาพที่ถูกติดเอาไว้ เหมือนรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ การเมือง

ธรรมศาสตร์ กับ การเมือง อยู่คู่กันมาอย่างแยกไม่ออก

ไม่แปลก หากจิตวิญญาณของการสร้างแต่แรกเริ่ม จะยังคงอบอวลอยู่ในสถานที่แห่งนี้ มองในมิติกลับกัน การมีสถานที่ที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญให้กับเรื่องใด ๆ ถือเป็นความสำเร็จของผู้สร้าง และกับสถานที่แห่งนั้น รวมทั้งกับคนรุ่นหลังไว้เพื่อศึกษา

เพียงแต่ เมื่อเวลาผ่านไป ภาพที่ติดกับมหาวิทยาลัย กลับถูกนำไปใช้ในบริบททางการเมืองอีกมากมาย ดีร้ายสลับกันไปอย่างแยกไม่ออก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดและแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ คือ ‘แบรนด์ธรรมศาสตร์‘ ที่ผูกติดกับการเมือง หากว่ากันในโลกการตลาด ถ้าแบรนด์แข็งแรง จะหยิบจับโฆษณาอะไรก็ทำได้โดยง่าย เพียงแต่ปัญหาสำคัญคือ คนที่หยิบจับแบรนด์ไปทำอะไรนั้น เอาไปทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองแค่ไหน อย่างไร ?

จึงเป็นที่มาของ ‘ธรรมศาสตร์ร้อนแรง’ ในวันนี้

ประวัติศาสต์ในอดีตมักสะท้อนเรื่องราวอยู่เสมอว่า มีกลุ่มคนไม่กี่คนนักหรอก ที่มักก่อปัญหาให้กับคนหมู่มาก ฉันใดฉันนั้น เวลานี้จึงมีไม่กี่คนนักหรอก ที่กำลัง ‘สุมไฟ’ ให้กับสถาบัน โดยสวนทางเจตนารมย์แรกเริ่ม ในการก่อตั้งขึ้นมาไปสิ้น

‘โง่เพราะขาดการศึกษา...’ แต่พอฉลาดขึ้นมา จึงทำแบบนี้หรือ ?

ปัจจุบัน ‘ธรรมศาสตร์’ มีคณะที่เปิดทำการสอนกว่า 19 คณะ มีวิทยาลัยและสถาบันที่แยกย่อยลงไปอีกมากมาย และประการที่สำคัญ มีบัณฑิตที่ผลิตออกไปนับแสนนับล้านคน คงเป็นการไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย หากคนที่ได้ชื่อว่า เป็นศิษย์ร่วมสถาบัน คนที่ถูกประสิทธิ์ประสาทวิชาจากสถาบันแห่งนี้ คนที่เดินออกไปทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมในบริบทอื่น ๆ อีกมากมาย จะถูกปรามาสว่า เป็นธรรมศาสตร์แบบเดียวกัน

แม้ ‘การเมือง’ จะเป็นเรื่องของทุกคน แต่เรา หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ก็ไม่จำเป็นต้องมี ‘การเมือง’ อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่แค่รู้ว่า หน้าที่อันจริงแท้นั้น ควรทำอะไร และวางบทบาทอย่างไรให้ถูกที่ ถูกเวลา และเหมาะสมตามบริบทสังคม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอายุ 87 ปี โลกหมุนรอบตัวเองมา 31,755 รอบ มีผู้คนหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านสถานที่แห่งนี้มานับไม่ถ้วน วันนี้ชาวธรรมศาสตร์เชิดหน้ามองตึกโดม ที่ผ่านวันเวลาและความปวดร้าวทางการเมืองมาหลายต่อหลายครั้ง ตึกเก่าหลังแรกของสถาบันยังคงอยู่ คนต่างหากที่เปลี่ยนไป ไม่มีอะไรจีรัง แม้แต่การเมือง...

จุดยืนที่ “ยืนเอง” หรือมีใคร “ชี้จุดยืน” ?

แม้จะผ่านมาแล้วหลายยุค หลายสมัย แต่คำถามตัวใหญ่ๆ ที่มักเกิดขึ้นกับ 'มหาวิทยาลัย' และ 'นักศึกษาธรรมศาสตร์'  คือ การถูก 'ตีตรา' ว่าเป็นกลุ่มเด็กหัวรุนแรงบ้าง หัวก้าวหน้าบ้าง ไม่รักชาติบ้านเมืองบ้าง หรือคิดย้อนแย้งกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยในช่วงหนึ่งๆ บ้าง 

ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะพูดให้ถูกนี่ไม่ควรเป็นการตีตราใส่  'ผ้าขาวบาง' ที่มี 'ความเป็นอิสระ'  ซึ่งพร้อมคิดต่าง เพราะหากมองในแง่บวก นี่คือหัวคิด ที่กล้าคิดกระตุกสังคมไทยแบบที่คัมภีร์ประชาธิปไตยได้กางไว้ให้เดินตาม

และส่วนตัวมองว่านี่ก็คือจุดเด่นของ 'เด็กธรรมศาสตร์' ที่มีเลือดประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาคม 2516 / 6 ตุลาคม 2519 ไหลเวียนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาพูดเรื่องการปฏิรูประบบการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ การศึกษา และอีกมากมาย ถือเป็นเรื่องอันดี ในยุคที่สังคมไทยมัวแต่ 'ถนอมน้ำใจ' กันแบบไม่รู้จบ

และหากพวกเขาเหล่านี้ ลุกออกมาแสดง 'จุดยืน' ทางความคิด แต่คนเห็นต่างกลับไปจำกัดความคิด อันนี้น่าจะเรียกว่า 'สังคมใจแคบ' เสียมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ในหลากหลายเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ 'มีซีน' ในสังคม มาพร้อมกับทิศของประชาธิปไตยบนจุดยืนแบบ 'ปัญญาชน' แท้จริงมากเพียงใด...

หากใครเห็นต่าง คือ ศัตรู ใครเชียร์ตรู คือ พวกพ้อง...ทำไมจึงเกิดมิติเหล่านี้เกิดขึ้นกับเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต ที่ช่วงแรกหลากหลายชนชั้นในสังคมชื่นชมและแอบเชียร์ห่าง ๆ อันนี้คือคำถามตัวโตๆ

ว่ากันตามตรงภายใต้รั้วแม่โดม คงมิได้มีแค่กลุ่มเด็กนักศึกษา แต่มีเหล่าคณาจารย์ / กลุ่มคนที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากความพ่ายแพ้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และขณะเดียวกันก็มีก้อนเนื้อทางการเมืองที่แสดงจุดยืนบางประการ คอยตีลู่ให้อนาคตของชาติเดินทางหรือไม่ ?

การแสดงออกเชิงก้าวร้าว ตาต่อตา ฟันต่อฟันสไตล์วัยกระเต๊าะ ที่ไม่ควรเกิด มันมาจาก 'จุดยืน' ของเด็กเอง หรือ 'จุดยืน' ของใคร ?

ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสได้คุย สุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำพันธมิตร ที่วันนี้ผันตัวไปเป็นอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต

หากลองคิดตามแบบไม่อคติ สิ่งที่ สุริยะ พูดถึงภาพสถาบันการศึกษาแบบไม่เอ่ยสถาบันนั้น น่าสนใจมาก !!

เขาเล่าว่า บทเรียน และประวัติศาสตร์ ทางการเมือง ถูกย้อมด้วยอุดมการณ์กลุ่มบุคคลที่เรียกได้ว่าครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ล้มเหลวทางการเมืองในยุคตัวเองอย่างเข้มข้น หล่อหลอมจนเป็น 'มายาคติ' ให้เด็กในคลาสผูกพัน

โอ้ !! ถ้าเป็นเช่นนั้น น่ากลัวนะ

เพราะหากเป็นเช่นนั้น หมายความว่า 'ซีน' ที่เกิดขึ้นบนเวทีการต่อสู้ทางการเมืองของเด็กรุ่นใหม่ยุคนี้ มันอาจจะไม่ได้มาจาก 'จุดยืน' ของเด็กทั้งหมด แต่ทั้งหมดมาจาก 'จุดยืน' ของใครที่โหดเหี้ยมในการลากเด็กเข้าไปเป็นแขนขาให้ตนแข็งแรงขึ้น

ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้านปรัชญาการเมือง เคยเล่าว่า เรื่องนี้มันเป็นภาพแบบ 'เดจาวู' โมเดลการเมืองที่เคลื่อนไหวในยุคนี้มันมีมาแล้ว แค่เปลี่ยนตัวละครจากประเทศจีน เป็นประเทศไทย

โดยมีกลุ่มบุคคล ที่เข้ามาปั่นให้คนเกลียดชัง ดูถูก เหยียดหยามกัน ปลุกปั่นให้มวลชนคิดว่าตนเองเป็นคน ‘ หัวก้าวหน้า ’ กว่าคนอื่นในประเทศ แล้วคิดว่าประเทศไม่ก้าวหน้าเพราะมีพวกคนแก่ฉุดรั้ง ต้องจัดการทิ้งไปให้หมด (ทั้ง ๆ ที่คนปลุกปั่นก็ ‘ หงอก ’ พอ ๆ กัน)

โมเดลการเมืองที่ปั่นให้เด็กวัยรุ่นเกลียดชังผู้ใหญ่ เกลียดครูบาอาจารย์ที่คิดต่าง เกลียดพ่อแม่ ถึงขั้นหากทำร้ายหรือทำให้อับอายได้ (เมื่อตนมีอำนาจ) ก็พร้อมจะทำ เพราะมันรู้สึก 'เท่ห์' และมองว่าคนจาก 'โลกเก่า' หรือ 'ล้าหลัง' คือพวกฉุดรั้งสังคม

โมเดลแบบนี้ เกิดขึ้นกับจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ระหว่างปี 1967 - 1977 ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

เพราะสุดท้ายพอหมดช่วงนั้น ทุกคนก็ตาสว่าง แกนนำก็โดนจับ โดนประหาร เด็กวัยรุ่นจีนในวันนั้น วันนี้อายุ 60 - 70 ปี ก็พยายามลืม ๆ ไม่พูดถึงความผิดพลาดที่ตัวเองเคยตกหลุมพราง 'จุดยืน' ที่อาจจะไม่ใช่ของตนในช่วงนั้นอย่างถ่องแท้

เยาวชนในรั้วการศึกษา ณ วันนี้ เหมือนเครื่องมือชั้นดีของกลุ่มที่มี 'จุดยืน' ที่เคยล้มเหลว แล้วเฝ้ารอวันรื้อหรือเปลี่ยนประวัติศาสตร์การเมืองไทยและการเมืองโลก ให้รู้ในมุมที่จำกัดกับผลประโยชน์ในมุมตนเอง แล้วเด็ก ๆ ก็พร้อมคล้อยตามอย่างเพลิดเพลินเป็นตุเป็นตะ

ยกตัวอย่างให้พอขำจากเด็ก ๆ ที่พอได้เคยคุยกันมาบ้าง หลายคนยัง 'ตาใส' ใส่เหตุการณ์กีฬาสี (เหลือง - แดง) และมองว่าการถูกน้ำแรงดันฉีดจนขาถ่างของม็อบคณะราษฎร เป็นการกระทำที่เลวร้ายของประวัติศาสตร์ไทย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าช่วงกีฬาสี เขาฉีดกระสุนจริง ปาบึ้มใส่กันจนไส้แตก เด็ก ๆ ก็แค่ทำ 'ตาใส' ใส่ซ้ำอีกรอบ

หรือแม้แต่การตั้งคำถามว่า สถาบันกษัตริย์ มีไว้เพื่ออะไร ทั้ง ๆ ที่ในช่วงอายุ ก็มิได้ทราบและไม่สืบแสวงหาความเป็นมา แล้วปล่อยความคิดที่ยึดไปตาม 'ความคิด' ให้ผู้อื่นชักจูง ทำร้ายจิตใจคนไทยที่รับรู้ดีว่าตลอดช่วงพระชนม์ชีพของสถาบันทรงทำสิ่งใดไว้เพื่อคนไทย

นี่คือ 'จุดยืน' ที่มาพร้อมความเบือนบิดหรือไม่ ? (ไม่มีคำตอบให้ หากสุดท้ายคนรุ่นใหม่มักบอกว่าตนมีความคิดอยู่แล้ว)

อย่างไรเสีย ความคิดของเด็ก ก็เป็นเหมือนผ้าขาว อยู่ที่ใครจะป้ายอะไรเข้าไปใส่ เขาคงไม่ได้จ้องจะอาฆาตแค้น หรือไม่ได้ต้องการจะรื้อถอนโครงสร้างใด ๆ ของสังคมไทย อันนี้เป็นเรื่องที่การันตีได้ 100%

พวกเขาแค่อยากตั้งคำถาม แล้วก็อยากเห็นสังคมไทยที่เขารักดีกว่าเดิม

เพียงแต่มันก็อยู่ที่ว่า 'จุดยืน' ของพวกเขา อยู่บน 'ความคิด' ของเขาแค่ไหน แล้วจุดยืนนั้น ๆ มาจากการคิดพิจารณาข้อมูล เหตุการณ์ ประวัติศาสตร์แบบรอบด้านจริงแท้เพียงใด ?

อันนี้ก็ยากจะให้คำตอบอีกเช่นกัน...


อ้างอิง:

https://www.thaipost.net/main/detail/74529

บทบาทแห่งธรรมศาสตร์ ผลิต (อนาคต) ชาติ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย ! อันดับที่ 561 - 570 ของโลก จากการประกาศผล QS World University Rankings 2021 

จัดอันดับโดย QS Quacquarelli Symonds Limited สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยพิจารณาจากเกณฑ์การจัดอันดับ อันได้แก่ Academic Reputation (ชื่อเสียงทางวิชาการ)  Employer Reputation (การสำรวจผู้ว่าจ้าง) และ Faculty Student (อัตราส่วนของคณะต่อนักศึกษา) รวมทั้งการอ้างอิงในรายงานวิจัยแยกย่อยแต่ละคณะ 

ปัจจุบันมีคณะเปิดการเรียนการสอนจากทั้งศูนย์รังสิต ท่าพระจันทร์ ลำปาง และพัทยา ทั้งหมด 19 คณะ 4 วิทยาลัย 1 สถาบัน 1 สำนักวิชา จำนวนหลักสูตรทุกระดับจำนวนทั้งสิ้น 297 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาตรี 139 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 6 หลักสูตร ปริญญาตรีควบปริญญาโท 4 หลักสูตร  ปริญญาโท 118 หลักสูตร และปริญญาเอก 34 หลักสูตร จัดการศึกษาทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำ 

อันดับและหลักสูตรเหล่านี้บ่งบอกถึงการรักษามาตรฐานในทางวิชาการและการบริหารสถาบันทางการศึกษาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะคณะสายสังคมศาสตร์ อย่างนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 
ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 

แม้ว่าห้วงเวลานี้ ในแวดวงการศึกษาอาจจะมีคำถามถึงความจำเป็นของบทบาทของมหาวิทยาลัยอยู่บ้างก็ตาม แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือรั้วแม่โดมแห่งนี้ก็ยังคงยืนหยัดพัฒนาต่อไป เพราะหากมองลึกเข้าไปถึงคุณของความมีอยู่ของมหาวิทยาลัย คุณค่าที่นอกจากการบริการวิชาการแล้ว ยังรวมไปถึงสภาพแวดล้อม สังคม ผู้คน และจิตวิญญาณ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงจิตวิญญาณของความเป็น “คนธรรมศาสตร์” กลิ่นอายของเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองก็ลอยขึ้นมาเตะจมูกทันที

นอกจากความโดดเด่นทางวิชาการ และจิตวิญญาณคนธรรมศาตร์แล้ว ธรรมศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 นี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดในยุคของฮองเฮา หรือ อธิการบดีหญิง รองศาสตราจารย์เกศินี  วิฑูรชาติ คือการพัฒนาสภาพแวดล้อมมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่และรักษ์โลก 

จากการตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน ลดการใช้พลาสติก และรักษาสภาพแวดล้อม การเอาจริงเอาจังด้านความยั่งยืนนี้ จึงทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกจาก International Sustainable Campus Network (ISCN) หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ ให้เป็น Award Winner ประจำปี 2020 ด้าน Cultural Change for Sustainability จากการรณรงค์สร้างวิถีชีวิตที่ปลอดจากการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (No More Single Use Plastics) นับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยไทยได้รางวัลจาก ISCN

ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านขยายฐานการผลิตอนาคตของชาติ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังแตกหน่อ ต่อยอดการบริหารการศึกษาเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากแนวคิดที่เห็นปัญหาของระบบการศึกษา คือ การเน้นท่องจำมากกว่าทำความเข้าใจ และบรรยากาศของการแข่งขันเพื่อไปสู่ความสำเร็จตามค่านิยมของสังคม 

กลายเป็นปัญหาที่สะสมอยู่ในวัฒนธรรมการศึกษาไทย จนส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยขาดความสุขในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มองโรงเรียนเป็นเพียงพื้นที่แห่งการแข่งขัน และเติบโตเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาโดยปราศจากการค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเอง 

จึงเป็นที่มาของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาภายใต้รั้วเหลืองแดงแห่งนี้ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Active Learning) สร้างวัฒนธรรมการเคารพและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียน ผู้สอนและผู้ปกครองด้วย

รั้วมหาวิทยาลัยยังคงเป็นดินแดนที่นักเรียนจำนวนมากใฝ่ฝันที่จะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ละสถาบันก็จะมีอัตลักษณ์และภาพจำที่แตกต่างกันไป นอกจากอันดับความแข็งแกร่งทางวิชาการแล้ว คุณค่าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยที่ทำให้แตกต่าง คือ กลุ่มสังคมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

การเข้าถึงโอกาสทางอาชีพการงาน และเปิดโอกาสทางสังคมในการพบเพื่อนใหม่ๆ ให้การศึกษาเป็นตัวนำทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับอีกหลาย ๆ คน 

“การศึกษา” จึงเป็นความเท่าเทียมแรกของมนุษย์ทุกคนที่ควรจะมีโอกาสเข้าถึง และตลอดระยะเวลา 86 ปี รั้วแม่โดมแห่งนี้ ก็ดูเหมือนว่ากำลังทำหน้าที่นี้อยู่ ดั่งปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รายงานต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในครั้งพิธี เปิดมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา”

หมายชูชาติ หรือ หมาย ชังชาติ

สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง

ข้อความนี้ตัดถ้อยคำมาจากเพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ทำนองมอญดูดาว) อันเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพลงแรก ประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา เมื่อ พ.ศ. 2478 จากวันที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เพื่อเป็นตลาดวิชาที่ให้การศึกษาด้านกฏหมายและการเมืองแก่ประชาชนทั่วไป จนถึงวันนี้กว่า 87 ปี ที่สำนักนี้สร้างบุคลากรคุณภาพจำนวนมากออกมาขับเคลื่อนประเทศไทย หลายท่านเป็นบุคคลสำคัญของประเทศและของโลก แต่ ณ ปัจจุบัน “สำนักนี้ยังหมายชูประเทศชาติจริงหรือ ?”

เพราะหากเรามองช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่าน บริบทโดยรวมของขบวนการนักศึกษาที่ผลักดันความชอบธรรมของสังคมพร้อมด้วยคณะอาจารย์ผู้ปลูกฝังสำนึกของธรรมศาสตร์นั้นเปลี่ยนไปมาก สังเกตได้จาก “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งไม่ทราบว่าจะไม่ทนอะไร ? เพราะบรรยากาศวันนั้นทุกประเด็นที่เรียกร้องโดยนักศึกษา มีแต่ความย้อนแย้ง หยาบคาย ไม่สร้างสรรค์ กักขฬะ ตื้นเขินทางปัญญาและความคิดเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ก็รับมาอ่านบนเวทีทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมี และไม่ทราบว่ามาจากใคร ร่วมไปถึงอีกหลาย ๆ ภาพกิจกรรมบนเวที ที่ละเมิดขอบเขตทางกฏหมายอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นความจริงอันน่ารันทดว่านักศึกษาธรรมศาสตร์บางส่วนได้กลายเป็นหุ่นเชิดไร้สมองไปเสียแล้ว นอกจากนั้นการแสดงความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยก็ช่างมักง่าย อาจารย์ระดับรองอธิการบดี ออกมาแก้ต่างเรื่องการชุมนุมว่า “ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการทำผิดกฏหมายเกิดขึ้น” แต่จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย

สุดท้ายก็ไม่มีสิ่งใดที่แสดงถึงการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ไม่น่าเชื่อเลยว่านี่คือมหาวิทยาลัยที่เริ่มโดยนักกฏหมายและมุ่งเน้นสอนให้คนรู้กฏหมาย แต่เมื่อมีคนทำผิดกฏหมายซึ่งหน้า กลับปิดตาทั้งสองข้างแล้วบอกว่าตนไม่เคยรู้มาก่อน ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า “ตอแหล” เช่นนี้แล้ว สำนักนี้หมายชูประเทศชาติจริงหรือ ? แล้วจะชูด้วยอะไร ?

เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้ อีกหนึ่งวรรคทองของธรรมศาสตร์อันหมายถึง สำนึกในความเป็นธรรมและความเสียสละเพื่อสังคม วรรคทองนี้คงไม่อยู่ในใจของคณาจารย์ที่ประท้วงหยุดสอนแต่ยังรับเงินเดือน ขู่ว่าจะลาออกแต่ก็กลับคำ คณาจารย์หน้าเดิมที่ไม่เคยสร้างประโยชน์อื่นใดให้สังคมนอกจากการแก้มาตรา 112 ทั้งยังสอนสั่งสอนลูกศิษย์ด้วยความบิดเบี้ยวทางความคิด ให้พวกเขาเติบโตอย่างต่ำตม จริยธรรมและสำนึกความเป็นธรรมศาสตร์ของอาจารย์พวกนี้หายไปไหน ?  

นอกจากนี้ยังมี อีแอบระดับอดีตอธิการบดี รองอธิการบดีและนักวิชาการทางกฏหมายที่บิดเบือนกฏหมายตามใจ ปลูกฝังและชักใยอยู่เบื้องหลังมายาวนาน คอยบงการให้นักศึกษามาลงถนน มาแสดงเสรีภาพอันบ้าคลั่ง วิพากษ์และระรานทุกคนที่เห็นต่าง นี่หรือ “ธรรมะ” ที่อาจารย์ธรรมศาสตร์บางจำพวก สอนแก่ลูกศิษย์ ส่วน “แดง” ที่แทน “โลหิต” นั้น อีแอบ กลุ่มเดิมคงมุ่งหวังให้เกิดการนองเลือด เลือดของนักศึกษาที่เรียกว่า “ลูกศิษย์” เพื่อเป็นปัจจัยในการป้ายสีและสร้างความไม่ชอบธรรม ให้เกิดกับสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย อีแอบพวกนี้ ยังสุมไฟแห่งความแตกแยก ทำลายสำนึกในความเป็นธรรมและเสียสละเพื่อสังคมอันเป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปจนหมด

ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน วลีอมตะ สะท้อนชัดซึ่งหลักการของประชาคมและจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ แต่จากแถลงการณ์ล่าสุดที่อ้างว่ามาจากผู้บริหารและคณาจารย์ธรรมศาสตร์รวมไปถึงแถลงการณ์ขององค์การนักศึกษาและชุมนุมต่าง ๆ ที่ปราศจากคนลงนามรับผิดชอบ ประกอบกับบรรดาอาจารย์ล้มเจ้าที่ทยอยเปิดตัวออกมาพล่ามข้อกฏหมายที่เป็นประโยชน์เพียงฝ่ายตน บิดเบือนทุกเรื่องอย่างไร้มโนสำนึก กดดันให้ศาลพิจารณาการประกันตัวเพื่อปล่อยตัวนักศึกษาผู้ทำผิดซ้ำซาก เหยียบย่ำระบบยุติธรรม เหยียบย่ำหัวใจของประชาชนคนอื่น ๆ หรือประชาชนของธรรมศาสตร์วันนี้จะมีแค่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ปณัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ประชาชนที่ธรรมศาสตร์รักคือใคร ? คือคนประเภทไหนในประเทศนี้ ?

เราเชื่อว่า คนดีและจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ยังคงมีอยู่ แต่แสงไม่เคยส่องไปถึงพวกเขาเพราะเรามัวแต่หลงอยู่กับสีที่คนเลวสาดอยู่ทุกวัน จนภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับกลายไปหมดแล้วอย่างน่าอนาถใจ

ธรรมศาสตร์ ทำ-ปะ-สาด ได้ทุกยุค ทุกสมัย

โดยเล็งเห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขณะนั้นมีจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว เมื่อมีการ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ.2475 ประเทศชาติ มีความจำเป็นต้องมีบุคคล ที่มีความรู้ ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม มารับใช้ประเทศชาติโดยด่วน จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง พ.ศ.2476 เพื่อเปิดสอนในวิชาแขนงดังกล่าว

เมื่อพระราชบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ได้มีพิธี เปิดมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้กระทำพิธีเปิด และ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยคนแรกของมหาวิทยาลัย (และเป็นบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยคนเดียว เพราะต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ ตำแหน่ง เป็นอธิการบดี)

ปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รายงานต่อผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์มีดังนี้

“... มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา...”

จากคำกล่าว ของ ปรีดี พนมยงค์ เหมือนการสร้างปราสาทอันยิ่งใหญ่สำหรับประชาธิปไตยของประเทศไทย คือการสร้างความรู้ให้กับประชาชนคนไทย ธรรมศาสตร์ จึงวนเวียนกับการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยมาโดยตลอด 87 ปี ที่ผ่านมา ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยมาโดยตลอด

ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนฉันให้รักประชาชน

ธรรมศาสตร์ ดินแดนแห่งเสรีภาพ ทุกตารางนิ้ว

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว…”

เหลืองของเรา คือ ธรรมประจำจิต แดงของเรา คือ โลหิตอุทิศให้

ธรรมศาสตร์ ไม่มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง แต่จะเรียกว่าเพื่อนใหม่ เพราะถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

วันสถาปนามหาวิทยาลัย คือ 27 มิถุนายน 2477 (ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว)

นักศึกษาไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักศึกษามาเรียนก็ได้ แต่อาจจะยกเว้นบางวิชา แต่ตอนนี้ได้มีการรณรงค์ให้แต่งชุดนักศึกษา

มีผู้เคยกล่าวไว้ว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็คือประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์

ไม่ว่า ธรรมศาสตร์ จะเป็นเช่นไร ...ธรรมศาสตร์ ก็ ทำ-ปะ-สาด ให้กับผู้มีอำนาจได้ทุกยุค ทุกสมัย...


อ้างอิง

https://teen.mthai.com/education/102409.html

https://www4.tu.ac.th/index.php/th/408-th-th/teach/280-his


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top