จุดยืนที่ “ยืนเอง” หรือมีใคร “ชี้จุดยืน” ?

แม้จะผ่านมาแล้วหลายยุค หลายสมัย แต่คำถามตัวใหญ่ๆ ที่มักเกิดขึ้นกับ 'มหาวิทยาลัย' และ 'นักศึกษาธรรมศาสตร์'  คือ การถูก 'ตีตรา' ว่าเป็นกลุ่มเด็กหัวรุนแรงบ้าง หัวก้าวหน้าบ้าง ไม่รักชาติบ้านเมืองบ้าง หรือคิดย้อนแย้งกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยในช่วงหนึ่งๆ บ้าง 

ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะพูดให้ถูกนี่ไม่ควรเป็นการตีตราใส่  'ผ้าขาวบาง' ที่มี 'ความเป็นอิสระ'  ซึ่งพร้อมคิดต่าง เพราะหากมองในแง่บวก นี่คือหัวคิด ที่กล้าคิดกระตุกสังคมไทยแบบที่คัมภีร์ประชาธิปไตยได้กางไว้ให้เดินตาม

และส่วนตัวมองว่านี่ก็คือจุดเด่นของ 'เด็กธรรมศาสตร์' ที่มีเลือดประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาคม 2516 / 6 ตุลาคม 2519 ไหลเวียนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาพูดเรื่องการปฏิรูประบบการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ การศึกษา และอีกมากมาย ถือเป็นเรื่องอันดี ในยุคที่สังคมไทยมัวแต่ 'ถนอมน้ำใจ' กันแบบไม่รู้จบ

และหากพวกเขาเหล่านี้ ลุกออกมาแสดง 'จุดยืน' ทางความคิด แต่คนเห็นต่างกลับไปจำกัดความคิด อันนี้น่าจะเรียกว่า 'สังคมใจแคบ' เสียมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ในหลากหลายเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ 'มีซีน' ในสังคม มาพร้อมกับทิศของประชาธิปไตยบนจุดยืนแบบ 'ปัญญาชน' แท้จริงมากเพียงใด...

หากใครเห็นต่าง คือ ศัตรู ใครเชียร์ตรู คือ พวกพ้อง...ทำไมจึงเกิดมิติเหล่านี้เกิดขึ้นกับเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต ที่ช่วงแรกหลากหลายชนชั้นในสังคมชื่นชมและแอบเชียร์ห่าง ๆ อันนี้คือคำถามตัวโตๆ

ว่ากันตามตรงภายใต้รั้วแม่โดม คงมิได้มีแค่กลุ่มเด็กนักศึกษา แต่มีเหล่าคณาจารย์ / กลุ่มคนที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากความพ่ายแพ้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และขณะเดียวกันก็มีก้อนเนื้อทางการเมืองที่แสดงจุดยืนบางประการ คอยตีลู่ให้อนาคตของชาติเดินทางหรือไม่ ?

การแสดงออกเชิงก้าวร้าว ตาต่อตา ฟันต่อฟันสไตล์วัยกระเต๊าะ ที่ไม่ควรเกิด มันมาจาก 'จุดยืน' ของเด็กเอง หรือ 'จุดยืน' ของใคร ?

ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสได้คุย สุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำพันธมิตร ที่วันนี้ผันตัวไปเป็นอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต

หากลองคิดตามแบบไม่อคติ สิ่งที่ สุริยะ พูดถึงภาพสถาบันการศึกษาแบบไม่เอ่ยสถาบันนั้น น่าสนใจมาก !!

เขาเล่าว่า บทเรียน และประวัติศาสตร์ ทางการเมือง ถูกย้อมด้วยอุดมการณ์กลุ่มบุคคลที่เรียกได้ว่าครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ล้มเหลวทางการเมืองในยุคตัวเองอย่างเข้มข้น หล่อหลอมจนเป็น 'มายาคติ' ให้เด็กในคลาสผูกพัน

โอ้ !! ถ้าเป็นเช่นนั้น น่ากลัวนะ

เพราะหากเป็นเช่นนั้น หมายความว่า 'ซีน' ที่เกิดขึ้นบนเวทีการต่อสู้ทางการเมืองของเด็กรุ่นใหม่ยุคนี้ มันอาจจะไม่ได้มาจาก 'จุดยืน' ของเด็กทั้งหมด แต่ทั้งหมดมาจาก 'จุดยืน' ของใครที่โหดเหี้ยมในการลากเด็กเข้าไปเป็นแขนขาให้ตนแข็งแรงขึ้น

ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้านปรัชญาการเมือง เคยเล่าว่า เรื่องนี้มันเป็นภาพแบบ 'เดจาวู' โมเดลการเมืองที่เคลื่อนไหวในยุคนี้มันมีมาแล้ว แค่เปลี่ยนตัวละครจากประเทศจีน เป็นประเทศไทย

โดยมีกลุ่มบุคคล ที่เข้ามาปั่นให้คนเกลียดชัง ดูถูก เหยียดหยามกัน ปลุกปั่นให้มวลชนคิดว่าตนเองเป็นคน ‘ หัวก้าวหน้า ’ กว่าคนอื่นในประเทศ แล้วคิดว่าประเทศไม่ก้าวหน้าเพราะมีพวกคนแก่ฉุดรั้ง ต้องจัดการทิ้งไปให้หมด (ทั้ง ๆ ที่คนปลุกปั่นก็ ‘ หงอก ’ พอ ๆ กัน)

โมเดลการเมืองที่ปั่นให้เด็กวัยรุ่นเกลียดชังผู้ใหญ่ เกลียดครูบาอาจารย์ที่คิดต่าง เกลียดพ่อแม่ ถึงขั้นหากทำร้ายหรือทำให้อับอายได้ (เมื่อตนมีอำนาจ) ก็พร้อมจะทำ เพราะมันรู้สึก 'เท่ห์' และมองว่าคนจาก 'โลกเก่า' หรือ 'ล้าหลัง' คือพวกฉุดรั้งสังคม

โมเดลแบบนี้ เกิดขึ้นกับจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ระหว่างปี 1967 - 1977 ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

เพราะสุดท้ายพอหมดช่วงนั้น ทุกคนก็ตาสว่าง แกนนำก็โดนจับ โดนประหาร เด็กวัยรุ่นจีนในวันนั้น วันนี้อายุ 60 - 70 ปี ก็พยายามลืม ๆ ไม่พูดถึงความผิดพลาดที่ตัวเองเคยตกหลุมพราง 'จุดยืน' ที่อาจจะไม่ใช่ของตนในช่วงนั้นอย่างถ่องแท้

เยาวชนในรั้วการศึกษา ณ วันนี้ เหมือนเครื่องมือชั้นดีของกลุ่มที่มี 'จุดยืน' ที่เคยล้มเหลว แล้วเฝ้ารอวันรื้อหรือเปลี่ยนประวัติศาสตร์การเมืองไทยและการเมืองโลก ให้รู้ในมุมที่จำกัดกับผลประโยชน์ในมุมตนเอง แล้วเด็ก ๆ ก็พร้อมคล้อยตามอย่างเพลิดเพลินเป็นตุเป็นตะ

ยกตัวอย่างให้พอขำจากเด็ก ๆ ที่พอได้เคยคุยกันมาบ้าง หลายคนยัง 'ตาใส' ใส่เหตุการณ์กีฬาสี (เหลือง - แดง) และมองว่าการถูกน้ำแรงดันฉีดจนขาถ่างของม็อบคณะราษฎร เป็นการกระทำที่เลวร้ายของประวัติศาสตร์ไทย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าช่วงกีฬาสี เขาฉีดกระสุนจริง ปาบึ้มใส่กันจนไส้แตก เด็ก ๆ ก็แค่ทำ 'ตาใส' ใส่ซ้ำอีกรอบ

หรือแม้แต่การตั้งคำถามว่า สถาบันกษัตริย์ มีไว้เพื่ออะไร ทั้ง ๆ ที่ในช่วงอายุ ก็มิได้ทราบและไม่สืบแสวงหาความเป็นมา แล้วปล่อยความคิดที่ยึดไปตาม 'ความคิด' ให้ผู้อื่นชักจูง ทำร้ายจิตใจคนไทยที่รับรู้ดีว่าตลอดช่วงพระชนม์ชีพของสถาบันทรงทำสิ่งใดไว้เพื่อคนไทย

นี่คือ 'จุดยืน' ที่มาพร้อมความเบือนบิดหรือไม่ ? (ไม่มีคำตอบให้ หากสุดท้ายคนรุ่นใหม่มักบอกว่าตนมีความคิดอยู่แล้ว)

อย่างไรเสีย ความคิดของเด็ก ก็เป็นเหมือนผ้าขาว อยู่ที่ใครจะป้ายอะไรเข้าไปใส่ เขาคงไม่ได้จ้องจะอาฆาตแค้น หรือไม่ได้ต้องการจะรื้อถอนโครงสร้างใด ๆ ของสังคมไทย อันนี้เป็นเรื่องที่การันตีได้ 100%

พวกเขาแค่อยากตั้งคำถาม แล้วก็อยากเห็นสังคมไทยที่เขารักดีกว่าเดิม

เพียงแต่มันก็อยู่ที่ว่า 'จุดยืน' ของพวกเขา อยู่บน 'ความคิด' ของเขาแค่ไหน แล้วจุดยืนนั้น ๆ มาจากการคิดพิจารณาข้อมูล เหตุการณ์ ประวัติศาสตร์แบบรอบด้านจริงแท้เพียงใด ?

อันนี้ก็ยากจะให้คำตอบอีกเช่นกัน...


อ้างอิง:

https://www.thaipost.net/main/detail/74529