หมายชูชาติ หรือ หมาย ชังชาติ

สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง

ข้อความนี้ตัดถ้อยคำมาจากเพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ทำนองมอญดูดาว) อันเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพลงแรก ประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา เมื่อ พ.ศ. 2478 จากวันที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เพื่อเป็นตลาดวิชาที่ให้การศึกษาด้านกฏหมายและการเมืองแก่ประชาชนทั่วไป จนถึงวันนี้กว่า 87 ปี ที่สำนักนี้สร้างบุคลากรคุณภาพจำนวนมากออกมาขับเคลื่อนประเทศไทย หลายท่านเป็นบุคคลสำคัญของประเทศและของโลก แต่ ณ ปัจจุบัน “สำนักนี้ยังหมายชูประเทศชาติจริงหรือ ?”

เพราะหากเรามองช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่าน บริบทโดยรวมของขบวนการนักศึกษาที่ผลักดันความชอบธรรมของสังคมพร้อมด้วยคณะอาจารย์ผู้ปลูกฝังสำนึกของธรรมศาสตร์นั้นเปลี่ยนไปมาก สังเกตได้จาก “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งไม่ทราบว่าจะไม่ทนอะไร ? เพราะบรรยากาศวันนั้นทุกประเด็นที่เรียกร้องโดยนักศึกษา มีแต่ความย้อนแย้ง หยาบคาย ไม่สร้างสรรค์ กักขฬะ ตื้นเขินทางปัญญาและความคิดเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ก็รับมาอ่านบนเวทีทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมี และไม่ทราบว่ามาจากใคร ร่วมไปถึงอีกหลาย ๆ ภาพกิจกรรมบนเวที ที่ละเมิดขอบเขตทางกฏหมายอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นความจริงอันน่ารันทดว่านักศึกษาธรรมศาสตร์บางส่วนได้กลายเป็นหุ่นเชิดไร้สมองไปเสียแล้ว นอกจากนั้นการแสดงความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยก็ช่างมักง่าย อาจารย์ระดับรองอธิการบดี ออกมาแก้ต่างเรื่องการชุมนุมว่า “ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการทำผิดกฏหมายเกิดขึ้น” แต่จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย

สุดท้ายก็ไม่มีสิ่งใดที่แสดงถึงการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ไม่น่าเชื่อเลยว่านี่คือมหาวิทยาลัยที่เริ่มโดยนักกฏหมายและมุ่งเน้นสอนให้คนรู้กฏหมาย แต่เมื่อมีคนทำผิดกฏหมายซึ่งหน้า กลับปิดตาทั้งสองข้างแล้วบอกว่าตนไม่เคยรู้มาก่อน ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า “ตอแหล” เช่นนี้แล้ว สำนักนี้หมายชูประเทศชาติจริงหรือ ? แล้วจะชูด้วยอะไร ?

เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้ อีกหนึ่งวรรคทองของธรรมศาสตร์อันหมายถึง สำนึกในความเป็นธรรมและความเสียสละเพื่อสังคม วรรคทองนี้คงไม่อยู่ในใจของคณาจารย์ที่ประท้วงหยุดสอนแต่ยังรับเงินเดือน ขู่ว่าจะลาออกแต่ก็กลับคำ คณาจารย์หน้าเดิมที่ไม่เคยสร้างประโยชน์อื่นใดให้สังคมนอกจากการแก้มาตรา 112 ทั้งยังสอนสั่งสอนลูกศิษย์ด้วยความบิดเบี้ยวทางความคิด ให้พวกเขาเติบโตอย่างต่ำตม จริยธรรมและสำนึกความเป็นธรรมศาสตร์ของอาจารย์พวกนี้หายไปไหน ?  

นอกจากนี้ยังมี อีแอบระดับอดีตอธิการบดี รองอธิการบดีและนักวิชาการทางกฏหมายที่บิดเบือนกฏหมายตามใจ ปลูกฝังและชักใยอยู่เบื้องหลังมายาวนาน คอยบงการให้นักศึกษามาลงถนน มาแสดงเสรีภาพอันบ้าคลั่ง วิพากษ์และระรานทุกคนที่เห็นต่าง นี่หรือ “ธรรมะ” ที่อาจารย์ธรรมศาสตร์บางจำพวก สอนแก่ลูกศิษย์ ส่วน “แดง” ที่แทน “โลหิต” นั้น อีแอบ กลุ่มเดิมคงมุ่งหวังให้เกิดการนองเลือด เลือดของนักศึกษาที่เรียกว่า “ลูกศิษย์” เพื่อเป็นปัจจัยในการป้ายสีและสร้างความไม่ชอบธรรม ให้เกิดกับสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย อีแอบพวกนี้ ยังสุมไฟแห่งความแตกแยก ทำลายสำนึกในความเป็นธรรมและเสียสละเพื่อสังคมอันเป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปจนหมด

ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน วลีอมตะ สะท้อนชัดซึ่งหลักการของประชาคมและจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ แต่จากแถลงการณ์ล่าสุดที่อ้างว่ามาจากผู้บริหารและคณาจารย์ธรรมศาสตร์รวมไปถึงแถลงการณ์ขององค์การนักศึกษาและชุมนุมต่าง ๆ ที่ปราศจากคนลงนามรับผิดชอบ ประกอบกับบรรดาอาจารย์ล้มเจ้าที่ทยอยเปิดตัวออกมาพล่ามข้อกฏหมายที่เป็นประโยชน์เพียงฝ่ายตน บิดเบือนทุกเรื่องอย่างไร้มโนสำนึก กดดันให้ศาลพิจารณาการประกันตัวเพื่อปล่อยตัวนักศึกษาผู้ทำผิดซ้ำซาก เหยียบย่ำระบบยุติธรรม เหยียบย่ำหัวใจของประชาชนคนอื่น ๆ หรือประชาชนของธรรมศาสตร์วันนี้จะมีแค่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ปณัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ประชาชนที่ธรรมศาสตร์รักคือใคร ? คือคนประเภทไหนในประเทศนี้ ?

เราเชื่อว่า คนดีและจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ยังคงมีอยู่ แต่แสงไม่เคยส่องไปถึงพวกเขาเพราะเรามัวแต่หลงอยู่กับสีที่คนเลวสาดอยู่ทุกวัน จนภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับกลายไปหมดแล้วอย่างน่าอนาถใจ