บทบาทแห่งธรรมศาสตร์ ผลิต (อนาคต) ชาติ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย ! อันดับที่ 561 - 570 ของโลก จากการประกาศผล QS World University Rankings 2021 

จัดอันดับโดย QS Quacquarelli Symonds Limited สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยพิจารณาจากเกณฑ์การจัดอันดับ อันได้แก่ Academic Reputation (ชื่อเสียงทางวิชาการ)  Employer Reputation (การสำรวจผู้ว่าจ้าง) และ Faculty Student (อัตราส่วนของคณะต่อนักศึกษา) รวมทั้งการอ้างอิงในรายงานวิจัยแยกย่อยแต่ละคณะ 

ปัจจุบันมีคณะเปิดการเรียนการสอนจากทั้งศูนย์รังสิต ท่าพระจันทร์ ลำปาง และพัทยา ทั้งหมด 19 คณะ 4 วิทยาลัย 1 สถาบัน 1 สำนักวิชา จำนวนหลักสูตรทุกระดับจำนวนทั้งสิ้น 297 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาตรี 139 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 6 หลักสูตร ปริญญาตรีควบปริญญาโท 4 หลักสูตร  ปริญญาโท 118 หลักสูตร และปริญญาเอก 34 หลักสูตร จัดการศึกษาทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำ 

อันดับและหลักสูตรเหล่านี้บ่งบอกถึงการรักษามาตรฐานในทางวิชาการและการบริหารสถาบันทางการศึกษาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะคณะสายสังคมศาสตร์ อย่างนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 
ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 

แม้ว่าห้วงเวลานี้ ในแวดวงการศึกษาอาจจะมีคำถามถึงความจำเป็นของบทบาทของมหาวิทยาลัยอยู่บ้างก็ตาม แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือรั้วแม่โดมแห่งนี้ก็ยังคงยืนหยัดพัฒนาต่อไป เพราะหากมองลึกเข้าไปถึงคุณของความมีอยู่ของมหาวิทยาลัย คุณค่าที่นอกจากการบริการวิชาการแล้ว ยังรวมไปถึงสภาพแวดล้อม สังคม ผู้คน และจิตวิญญาณ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงจิตวิญญาณของความเป็น “คนธรรมศาสตร์” กลิ่นอายของเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองก็ลอยขึ้นมาเตะจมูกทันที

นอกจากความโดดเด่นทางวิชาการ และจิตวิญญาณคนธรรมศาตร์แล้ว ธรรมศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 นี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดในยุคของฮองเฮา หรือ อธิการบดีหญิง รองศาสตราจารย์เกศินี  วิฑูรชาติ คือการพัฒนาสภาพแวดล้อมมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่และรักษ์โลก 

จากการตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน ลดการใช้พลาสติก และรักษาสภาพแวดล้อม การเอาจริงเอาจังด้านความยั่งยืนนี้ จึงทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกจาก International Sustainable Campus Network (ISCN) หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ ให้เป็น Award Winner ประจำปี 2020 ด้าน Cultural Change for Sustainability จากการรณรงค์สร้างวิถีชีวิตที่ปลอดจากการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (No More Single Use Plastics) นับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยไทยได้รางวัลจาก ISCN

ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านขยายฐานการผลิตอนาคตของชาติ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังแตกหน่อ ต่อยอดการบริหารการศึกษาเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากแนวคิดที่เห็นปัญหาของระบบการศึกษา คือ การเน้นท่องจำมากกว่าทำความเข้าใจ และบรรยากาศของการแข่งขันเพื่อไปสู่ความสำเร็จตามค่านิยมของสังคม 

กลายเป็นปัญหาที่สะสมอยู่ในวัฒนธรรมการศึกษาไทย จนส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยขาดความสุขในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มองโรงเรียนเป็นเพียงพื้นที่แห่งการแข่งขัน และเติบโตเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาโดยปราศจากการค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเอง 

จึงเป็นที่มาของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาภายใต้รั้วเหลืองแดงแห่งนี้ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Active Learning) สร้างวัฒนธรรมการเคารพและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียน ผู้สอนและผู้ปกครองด้วย

รั้วมหาวิทยาลัยยังคงเป็นดินแดนที่นักเรียนจำนวนมากใฝ่ฝันที่จะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ละสถาบันก็จะมีอัตลักษณ์และภาพจำที่แตกต่างกันไป นอกจากอันดับความแข็งแกร่งทางวิชาการแล้ว คุณค่าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยที่ทำให้แตกต่าง คือ กลุ่มสังคมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

การเข้าถึงโอกาสทางอาชีพการงาน และเปิดโอกาสทางสังคมในการพบเพื่อนใหม่ๆ ให้การศึกษาเป็นตัวนำทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับอีกหลาย ๆ คน 

“การศึกษา” จึงเป็นความเท่าเทียมแรกของมนุษย์ทุกคนที่ควรจะมีโอกาสเข้าถึง และตลอดระยะเวลา 86 ปี รั้วแม่โดมแห่งนี้ ก็ดูเหมือนว่ากำลังทำหน้าที่นี้อยู่ ดั่งปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รายงานต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในครั้งพิธี เปิดมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา”