คน (พยายาม) ดี เหตุใด​ 'การทำดี'​ ต้องมี 'ความพยายาม'​

การแสดงออกในสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่คิดต่าง บางครั้งอาจต้องยอมสูญเสียความเป็นตัวเอง​ด้วยการ เสแสร้งบ้าง​ สร้างภาพบ้าง เพื่อให้สามารถยืนอยู่รอดในสังคม 

เชื่อไหมว่า​ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องมโน​ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยยึดมั่นจนกลายเป็นหลักสูตรที่ฝึกหัดกันอย่างแพร่หลาย​ เพื่อให้ได้รับ 'สถานภาพอันดีทางสังคม' มาครอบครอง

เห็นปรากฏการณ์แบบนี้แล้ว​ จึงอดคิดไม่ได้ว่า​ สังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่​ ล้วนเต็มไปด้วย 'หน้ากาก'​ ที่ซ้อนทับ​ 'หน้ากากกันโควิด'​ 

เพียงแต่ที่น่ากลัว​กว่านั้น คือ​ ตอนนี้เริ่มมีการพูดถึงการสร้างสถานภาพอันดี ผ่าน​ 'ความพยายามในการทำดี​' หรือจะเรียกแรงๆ​ ว่า​ 'ทำดีเอาหน้า'​ ก็ไม่ผิดอันใด



เอ่อ!! นี่เรามาถึงจุดนี้แล้วหรือ​ จุดที่ต้องทำให้สังคมเห็นว่า​ 'ฉันคือคนดี' 

- ตัวตนของเราจริงๆ
- ตัวตนที่ไร้การปรุงแต่ง
- ตัวตนของคนที่อยากทำดีแบบไม่ต้องเสแสร้ง 

สิ่งเหล่านี้​ ยังมีจริงอยู่​หรือไม่? 

แล้วเหตุใดถึงเกิดประเด็นเช่นนี้ในสังคม? 

ว่ากันว่า​ คำนิยามของการทำความดีนั้นมีอยู่มากมาย​ เช่น​ สิ่งที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ ความพอใจ ความสุขใจ ความอิ่มเอมใจที่ส่งต่อให้แก่ผู้อื่น​ สังคม​ ประเทศ​ และโลก​ ในแบบที่ตัวผู้ทำไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนตนเอง​ และครอบครัว

ฟังดูแล้ว​ ธรรมดา!! 

ใช่!! มันธรรมดามากๆ

และเพราะมันธรรมดามากๆ​ นี่แหละ​ มันจึงไม่สอดรับกับสภาวะใหม่ของสังคมปัจจุบัน​ 'สังคมของคนหิวแสง'​ ที่เริ่มหยิบการทำดีแบบได้รับยอมรับและยกย่องเข้ามาเอี่ยว

อย่างที่บอก!! วันนี้​หลายคนที่ต้องสวม 'หน้ากากมนุษย์' เพื่อเข้าหาสังคมแห่งการยกย่อง​ ชื่อเสียง​ เกียรติยศ​ และผลประโยชน์ให้เชื่อมโยงเข้าตัวเอง​ จำเป็นต้องสร้าง​อัตลักษณ์บางอย่างให้เกิดการจดจำ

นั่นจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก​ ที่ตัวแปรอย่าง​ 'การทำความดี'​ จะถูกแปรเจตนาจาก​ 'ทำเพราะมันคือความดี'​ เป็น​ 'ทำเพราะฉันต้องพยายามทำความดี'​ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็เช่น นักแสดง เน็ตไอดอล หรือศิลปินบางคน เมื่อครั้งที่ยังไม่มีชื่อเสียง ก็ใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป ทำความดีได้แต่ไม่ถึงกับเอิกเกริกยิ่งใหญ่ เป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องพยายาม​ อยากทำอะไรที่สุขใจก็ทำกันไป

แต่เมื่อก้าวเข้ามาในวงการ มีชื่อเสียง มีคนมากมายรู้จักและให้ความสนใจ กลายเป็นบุคคลสาธารณะ ก็มีโจทย์ใหญ่พ่วงชีวิตเข้ามา​ นั่นคือ​ 'การพยายามเป็นต้นแบบที่ดีให้กับผู้อื่น'​ 



ทุกอย่างที่ทำถูกจับตามอง เพราะเขากลายเป็นคนที่ต้องอยู่ท่ามกลาง​ 'แสง'​ แม้จะหิวแสงหรือไม่หิวแสงก็ตาม​ 

ฉะนั้น​ หลายๆ​ กิจกรรมของการทำความดี​ จึงไม่ใช่แค่ทำเพราะอยากทำ​ แต่ต้องทำแล้วมีผลประโยชน์​ ทำแล้วต้องมีผู้คนยกย่องสรรเสริญ​ โดยมีกระบวนการคัดกรองความดีที่ทำ​แล้วเวิร์กในสายตาสังคม

ว่ากันไปขนาดนั้น!! ก็ขนาดนั้นเลยนั่นแหละ!! เพราะทำแล้ว​จะ Failed ก็ไม่ได้​ ทำแล้วถูกจับผิดนินทาว่า​ Fake ก็ไม่ได้อีก​ โอ้โห!! ทำไมมันดูยากจัง

แต่นี่แหละ​ คือ​ กฎเหล็กของการทำดีเอาหน้า​ เพราะทุกอย่างก็เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีที่สุดในการทำงานหรือแม้แต่การอยู่ในสังคมทั้งสิ้น

อันที่จริง​ ที่เล่ามาทั้งหมด​ ไม่ใช่เรื่องผิดอันใด​ เพราะอย่างน้อย​ ต่อให้พยายามทำดี​ มันก็คือ​ 'ความดี'​ ที่ได้ทำเหมือนกัน​ แต่แค่มันดูน่าเศร้า​ ที่บางครั้งเราต้องเลือกใช้ชีวิต​ ใช้คำพูด​ สายตา​ การแสดงออก​ ที่มาจากการกลั่นกรอง​ เพียงเพื่อคนอื่น​

มันก็เลยลามมาถึงคำถามที่ว่า​ การทำความดีที่เคยมีการนิยามไว้​นั้น เป็น​ 'อะไร'​ ในสังคมมนุษย์กันแน่​ 'เครื่องมือปันความสุข' หรือ​ 'เครื่องมือปั้นความสุข'​

แล้วสรุปเราจะเลือกอยู่กับ​ 'สังคมพยายามดี'​ ที่มีคนยกย่อง​ เชิดชู​ แต่ไม่มีความสุขใจ

หรือเลือกทำดี 'ตามหัวใจ'​ โดยไม่ต้องพยายาม​ แม้ไร้คนเชิดชู

คำถามนี้​ ทุกคนมีคำตอบ​ ผ่านคำถามอีกทอดที่ว่า... 

'หิวแสง'​ หรือเปล่าล่ะ?