‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ จากน้องชายคนที่สองของตระกูล สู่ประธานอาณาจักรไทยซัมมิท พ่อผู้วางรากฐานให้ลูกชายที่ชื่อ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’

พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ ชื่อนี้คุ้นหูแค่ไหน?

หากจะบอกว่า เขาคือ (อดีต) ประธานแห่งอาณาจักรไทยซัมมิทกรุ๊ป ผู้คนในแวดวงธุรกิจคงร้องอ๋อ แต่หากเพิ่มความคุ้นเคยเข้าไปอีกสักนิด เขาคนนี้ คือคุณพ่อบังเกิดเกล้าของ เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นั่นเอง

พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ เดิมมีชื่อว่า นายฮั้งฮ้อ แซ่จึง เป็นบุตรชายคนที่สองของ นายโหลยช้วง แซ่จึง กับนางบ่วยเชียง แซ่โป่ว มีพี่น้องด้วยกัน 5 คน คือ พี่ชาย-นายฮังตง แซ่จึง (เปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็น สรรเสริญ จุฬางกูร) น้องชายคนที่สาม โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายคนที่สี่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และน้องสาวคนเล็ก อิสริยา จึงรุ่งเรืองกิจ

ทั้ง ฮังตง (สรรเสริญ) และ (ฮั้งฮ้อ) พัฒนา เกิดที่เมืองจีน และได้ติดตามป๊าและม้าเดินทางมาที่เมืองไทย โดยเป็น พัฒนา ที่ช่วยกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวของพ่อและแม่ จนได้พบรักกับลูกสาวร้านขายกระเพาะปลาที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน นั่นคือ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ และตัดสินใจแต่งงานกันในเวลาต่อมา

พัฒนาไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือสูงนัก เขาจบแค่ ป.4 เพราะต้องช่วยพ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่อายุ 8 – 9 ขวบ แต่ต่อมา สรรเสริญ-พี่ชาย ได้ชวนให้ไปช่วยงานที่ร้านซ่อมเบาะ ซึ่งเจ้าตัวลงทุนเปิดร่วมกับเพื่อนที่ชื่อว่า สามอิ้ว ที่แปลว่า สามมิตร แต่กิจการในระยะแรก ๆ ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ในที่สุด เพื่อนก็ถอนตัว เหลือแต่คู่พี่น้องที่ต้องลุยกันเอง

“คุณพัฒนาเป็นคนขยัน เขาจะไปเฝ้าร้านตั้งแต่เช้า จนวันหนึ่งโอกาสมาถึง เมื่อเจ้าหน้าที่ของยามาฮ่าเอาเบาะรถมาถามว่า ทำแบบนี้ได้ไหม คุณพัฒนารีบรับเรื่องไว้ แล้วไปควานหาซื้ออะไหล่มาทำเองทุกอย่าง ปรากฏว่าผลงานเป็นที่พอใจ หลังจากนั้น ทางยามาฮ่าก็ป้อนงานเรื่อย ๆ แถมยังได้งานจากฮอนด้า ซูซูกิ และคาวาซากิ พองานเข้าเยอะขึ้น จึงขยับขยายไปแถวสาธุประดิษฐ์ เริ่มสร้างโรงงานและเปลี่ยนชื่อให้อินเตอร์ขึ้นเป็น ซัมมิท ออโต อินดัสตรี จำกัด”

สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงเส้นทางชีวิตของสามี โดยเล่าที่มาที่ไปของการเติบโตทางธุรกิจว่า เป็นเพราะวิสัยทัศน์ของสามี จึงทำให้ธุรกิจเติบโต เนื่องจากหลังจากนั้นไม่นาน พัฒนาได้ขยายไลน์ธุรกิจทำเบาะ ไปทำชิ้นส่วนอะไหล่มอเตอร์ไซค์ และขยายไปยังชิ้นส่วนรถยนต์ในที่สุด

กระทั่งในปี พ.ศ. 2520 พัฒนาจึงแยกตัวธุรกิจออกจากพี่ชาย พร้อมกับซื้อที่ดินย่านบางนาตราด แล้วเปิดบริษัทใหม่ของตัวเอง โดยเปลี่ยนชื่อเพื่อกันความสับสน นำคำว่า ‘ไทย’ เข้ามาใส่ข้างหน้า จึงเป็นที่มาของบริษัทที่ชื่อว่า ไทยซัมมิท จนถึงทุกวันนี้

แม้จะมีคำว่า ‘ซัมมิท’ (Summit) ที่มีความหมายว่า จุดสูงสุด เหมือนกัน แต่บนเส้นทางธุรกิจแล้ว ‘พี่น้องแซ่จึง’ เลือกเดินทางใครทางมัน ไทยซัมมิทภายใต้การบริหารของพัฒนา เติบโตรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปริมาณการใช้มอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ของคนไทยในเวลานั้น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจของเขาก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว

และแม้จะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่พัฒนาก็ยึดถือเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจอยู่ 3 อย่าง คือ ระบบดี คนดี และสังคมดี นอกจากนี้ เขายังยึดรูปแบบการบริหารธุรกิจแบบผสมผสาน โดยใช้วิธีบริหารแบบอนุรักษ์นิยม หรือเรียกว่าแบบครอบครัวคนจีน ที่ค่อนข้างเก็บตัว เน้นการทำงาน ไม่เน้นออกงานสังคม 

ผสมกับวิธีบริหารแบบสมัยนิยม ที่มีความเป็นสากล โดยเฉพาะการเน้นการออกไปขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งหมดจึงส่งให้ ‘ไทยซัมมิท’ ก้าวขึ้นมาสู่การเป็นอาณาจักรธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ที่อยู่ลำดับท็อป ๆ ของเมืองไทย

พัฒนาและสมพร แทบจะเรียกว่า เป็นเงาในการทำงานคู่กัน พัฒนาเป็นประธาน สมพรเป็นเลขาฯ ที่รอบรู้และจัดการทุกเรื่องในบริษัท แต่ก้าวข้ามจากเรื่องการงาน พวกเขามีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ ชนาพรรณ ธนาธร รุจิรพรรณ สกุลธร และบดินทร์ธร 

พัฒนาเป็นคุณพ่อที่ดูแลใส่ใจลูก ๆ ทุกคนอย่างดี แต่ในคราวเดียวกัน เขาก็สอนให้ลูก ๆ รู้จักความลำบากมาตั้งแต่เล็ก ๆ โดยครั้งหนึ่ง ธนาธรเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เขาถูกคุณพ่อส่งเข้าโรงงานตั้งแต่อยู่ ป.3 ทุก ๆ ปิดเทอม พ่อจะให้ทำงานนับเหล็ก โดยให้ค่าแรงวันละ 30 บาท หรือเมื่อตอนอายุ 15 – 16 ปี พ่อก็ส่งให้ไปเรียนรู้ชีวิตอยู่สหรัฐอเมริกา งานล้างจาน เจ้าตัวก็เคยทำมาแล้ว 

ครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจของพัฒนา ถือเป็นครอบครัวที่อบอุ่น แต่แล้วเมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2545 ก็เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่กับครอบครัว เมื่อพัฒนาเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งตับ 

ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อหัวเรือใหญ่ของบ้านต้องจากไป จึงนำมาสู่การดึงตัว ‘ลูกชายคนโต’ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เวลานั้นกำลังเรียนอยู่ที่อังกฤษกลับมา แม้เจ้าตัวจะสนใจการทำงานด้านเอ็นจีโอมากกว่าการทำธุรกิจ แต่เมื่อในเวลานั้น พี่สาวคนโต (ชนาพรรณ) มีสถานภาพแต่งงานแล้ว ส่วนน้องสาวคนที่สาม (รุจิรพรรณ) กำลังเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น น้องชายคนที่สี่ (สกุลธร) ก็เรียนอยู่ที่อังกฤษ ด้านน้องชายคนเล็ก (บดินทร์ธร) ก็เพิ่งอายุ 10 ขวบ ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลให้เขา ต้องกลับมารับช่วงต่อธุรกิจ และดำเนินงานร่วมกับคุณแม่ทันที

แม้จะไม่ใช่เงาร่างที่ทับซ้อนกันแบบไร้รอยต่อ แถมยังคนละสไตล์กับคุณพ่อ แต่ในวัย 23 – 24 ปี กับตำแหน่งรองประธานกรรมการไทยซัมมิทกรุ๊ป ธนาธรก็ออกตัวลุยธุรกิจตามแบบฉบับคนรุ่นใหม่ ไม่น่าเชื่อว่า นับจากปี พ.ศ. 2544 ที่บริษัทมีรายได้รวม 16,000 ล้านบาท ผ่านมาถึงปี พ.ศ. 2560 ไทยซัมมิทกรุ๊ป มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 80,000 ล้านบาท โดยขยายฐานการผลิตออกไปต่างประเทศมากกว่า 7 ประเทศ และมีธุรกิจในเครือข่ายทั้งอดีตและปัจจุบันรวมกันอยู่ที่มากกว่า 100 บริษัท

สิ่งที่ธนาธรทำ ดูไม่ไกลจากคำว่า ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ แต่แล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561 ลูกไม้ต้นนี้ก็กระโดดออกจากร่มไม้ใหญ่ เมื่อเขาได้ทำการจดทะเบียนพรรคการเมืองที่ชื่อ ‘อนาคตใหม่’ พร้อมการประกาศลงสนามการเมืองเต็มตัว หันหลังให้กับอาณาจักร 8 หมื่นล้านที่สร้างมากับมือ 

ในเวลาต่อมา สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า นางสมพรผู้เป็นแม่ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการตัดสินใจของลูกชายครั้งนี้ จนครั้งหนึ่ง ธนาธร เคยเล่าเรื่องราวความขัดแย้งของตนเองกับคุณแม่ ผ่านสื่อออกมาว่า 

“แกเริ่มคำถามแรกว่า สำหรับผมแล้ว ไทยซัมมิท หรือประเทศ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน ผมตอบสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ประเทศไทย”

แม้ไม่อาจทัดทาน แต่สุดท้าย นางสมพรก็อวยพรลูกชายด้วย ‘ส้มมงคล’ ก่อนวันเปิดตัวพรรค เพื่อให้เจ้าตัวสมหวังและมีความเจริญรุ่งเรือง กับเส้นทางที่เลือกเดิน 

ในวันนี้ แม้จะไม่มีชื่อลูกชายคนที่สองของบ้านในฐานะผู้บริหารขององค์กร แต่ลูก ๆ ที่เหลือทั้ง 4 คน ก็ยังคงดำเนินกิจการ และเดินหน้าสานต่อเจตนารมย์ของคุณพ่อต่อไป ดังตามที่สมพรเคยเขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกงานศพของพัฒนาที่ว่า ‘สิ่งต่าง ๆ ป่าป๊าสร้างไว้ และอุดมการณ์ของพ่อ ม้าจะสานต่อและรักษาไว้ให้ได้’

นี่คือเส้นทางชีวิตและครอบครัวของผู้ชายที่ชื่อ ‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ จากลูกชายคนที่สองของครอบครัวชาวจีนที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยการขายก๋วยเตี๋ยว วันเวลาผ่านไป เขา ภรรยา และลูก ๆ ได้ร่วมกันสร้างอาณาจักรธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ให้เติบใหญ่จนขึ้นไปในระดับประเทศ สมดังคำที่ต้นตระกูลใช้ร่วมกันว่า ซัมมิท หรือจุดสูงสุด

แม้จะเดินทางกันคนละเลน สร้างธุรกิจกันคนละแบบ บางคนเปลี่ยนชื่อ บางคนเปลี่ยนนามสกุล แถมยังมีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันไป แต่ทั้ง ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ และ ‘จุฬางกูร’ มีสายใยบาง ๆ ที่เชื่อมกันไว้ด้วยคำว่า ซัมมิท (Summit) ซึ่งสุดท้าย ไม่จะเชื่อมกันแบบไหน อย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สายใยนี้ เหนียว แน่น และแข็งแรง ไม่เป็นสองรองใครในประเทศนี้เลยทีเดียว...


อ้างอิงข้อมูล

https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1696715,

https://www.bbc.com/thai/thailand-44001760,

https://www.bbc.com/thai/thailand-44276427,

https://www.nationweekend.com/content/special_article/9746,

https://www.prachachat.net/general/news-572052,

https://www.sarakadee.com/2007/01/14/thanatorn/