ส่องสูตร ‘ผู้ว่าฯ หมูป่า’ ฝ่าทุกวิกฤต เพราะผู้นำเชิงรุก ต้องเล่นเกมบุกในทุกสถานการณ์

ย้อนกลับไปเกือบเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เหตุการณ์เด็ก 12 คน และครูฝึกฟุตบอลทีมหมูป่า 1 คน หรือเรียกกันว่า ‘13 หมูป่า’ นั้น ได้ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย 

เหตุการณ์นี้สร้างปรากฏการณ์ในแบบที่ทั่วโลกต่างระดมความช่วยเหลือมาที่ประเทศไทย จนสุดท้ายทั้ง 13 คน ได้รับความช่วยเหลือออกมาจากถ้ำได้สำเร็จ นับเป็นความสำเร็จของยอดฝีมือทั่วโลก ในการแก้ไขภาวะวิกฤตครั้งนั้นจนสำเร็จ 

แต่เบื้องหลังความสำเร็จโดยแท้ อยู่ภายใต้ผู้บัญชาการหลักในสถานการณ์วิกฤตในครั้งนั้น…

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย!!

ใช่แล้ว!! นายณรงศักดิ์ โอสถธนากร หรือ หลายคนคุ้นกับคำว่า ‘ผู้ว่าฯ หมูป่า’ ในช่วงเวลานั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สามารถบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตดังกล่าวได้อย่างน่าประทับใจ 

“ความเป็นความตายมันห่างกันแค่เส้นบาง ๆ นิดเดียว ถ้าเราตัดสินใจผิด ก้าวผิด จะทำให้เราหลุดเข้าไปสู่ในเส้นที่เราไม่ได้อยากเข้าไปในนั้น” นายณรงศักดิ์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจครั้งนั้น ไว้ในบทสัมภาษณ์กับสื่อ ๆ หนึ่ง 

จากวันนั้นถึงวันนี้ วันที่วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำทั่วโลกผวา การช่วยเหลือกันระหว่างประเทศ อาจจะบางตาลง เพราะทุกคนเจอสภาพเดียวกัน นั่นหมายความว่า ทุกคน ทุกประเทศ ต้องหาทางดิ้นรนตามเส้นทางของตนเองให้ได้ 

จุดนี้ก็เป็นอีกบทพิสูจน์ ที่ตอกย้ำความเป็น ‘ผู้นำ’ ของ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์อีกครั้ง ภายใต้การบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดในจังหวัดลำปาง ที่ท่านได้มารั้งตำแหน่งผู้ว่าฯ ของเมืองนี้ โดยมีเสียงสะท้อนจากสังคมดังระงมว่า ‘ลำปางรอดตาย’ เพราะท่านเป็นผู้นำโคตรเก่ง

เหตุเกิดจากการบริหารสถานการณ์วิกฤตในสไตล์แบบผู้นำเชิงรุก บุกเข้าไปจับทุกปัญหา แล้วแก้แบบไม่ให้เกิดการเสียเวลา ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนผ่านเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนของคนลำปาง ที่ได้รับการเปิดเผยโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง (สสจ.) นายประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปางว่า…

“มีผู้ประสงค์จองการฉีดวีคซีน 2.3 แสนคน โดยประชากรในจังหวัดลำปางซึ่งมีประมาณ 7 แสนคนนั้น หากสามารถฉีดวัคซีนได้ครบ 5 แสนคน จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่มากพอ ที่จะทำให้คนลำปางถอดหน้ากากกินข้าวด้วยกันได้” นายแพทย์ประเสริฐ กล่าว

เกิดอะไรขึ้น? ทำไมจำนวนคนลำปางที่พร้อมใจกันลงทะเบียนฉีดวัคซีนถึงมากมายเป็นรองเพียงกรุงเทพฯ เท่านั้น 

นั่นก็เพราะคนลำปางให้ความไว้เนื้อเชื่อใจแก่ผู้นำของเขา!!

แล้วผู้นำของเขามีอะไรให้น่าเชื่อใจ?

การบริหารสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เป็นหลักการบริหารงานแบบมืออาชีพ ตั้งแต่การสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ในมิติต่าง ๆ ของเรื่องวัคซีน จนประชาชนเกิดความมั่นใจ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามวัน แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะแบบข้ามคืน

แผนงานของ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ หากกางออกมาแล้วจะพบว่า มีทั้งการตั้งเป้าหมาย เขียนแผน และมีการดำเนินงานไปตามแผนอย่างลงรายละเอียด หลังจากนั้นก็มีการสร้างทีม โดยกระจายทีมออกเป็น 3 ทีม ด้วยเหตุผลรองรับว่า หากมีทีมใดทีมหนึ่งเกิดติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงาน อีก 2 ทีม ก็สามารถทดแทนกันได้

นอกจากนี้ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ยังใช้กลไกระดับท้องถิ่นของระบบสาธารณสุข ซึ่งก็คือ อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เคาะประตูทุกบ้าน เพื่อไปช่วยเหลือให้ชาวบ้านเข้าถึงการลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ไว เพราะเข้าใจถึงสภาพความจริงว่าคนเถ้าคนแก่ หรือคนต่างจังหวัดบางส่วน ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี อย่างเช่น การลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ตามที่สาธารณสุขกลางให้ลงทะเบียนนั้น มีหลายคนไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็ทำไม่ได้ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ทางจังหวัดลำปางยังได้สร้างแอปพลิเคชัน ‘ลำปางพร้อม’ เพื่อรวบรวมข้อมูลของประชาชนในพื้นที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ระบบใหญ่อีกต่างหาก เพื่อป้องกันปัญหาคอขวด ข้อมูลไม่ครบ โดยเจ้าหน้าที่ของทางจังหวัดและอสม. จะเก็บรายงานทั้งหมด และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเอง เยี่ยมไปเลยใช่ไหมล่ะ!!

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เหนือยิ่งกว่าระบบการบริหารจัดการเชิงรุก ก็คือ การสื่อสารอย่างจริงใจและมีจิตวิทยาของผู้นำ คือ ไม่ปกปิดข้อเท็จจริง ลุยงานด้วยตัวเอง และใช้วาทะที่ว่า “หากใครไม่ร่วมลงทะเบียนฉีดวัคซีน จะกลายเป็นคนนอกคอกนะ” การสื่อสารเช่นนี้ ก็ถือเป็นจิตวิทยาที่น่าสนใจ สุดท้ายลำปางจึงกลายเป็นจังหวัดที่เปอร์เซ็นต์ผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนต่อประชากรสูงที่สุดในประเทศในช่วงนั้น

สถานการณ์สร้าง ‘วีรบุรุษ’ ฉันใด ในภาวะวิกฤตสงครามก็มักจะสร้าง ‘ผู้นำ’ ที่ยอดเยี่ยมฉันนั้น!!

2 เหตุการณ์วิกฤตใหญ่ระดับโลก กับ 1 ผู้นำที่ชื่อว่า ณรงศักดิ์ โอสถธนากร คงพอจะทำให้เราได้รู้แล้วว่า…

ผู้นำที่ดี ที่ประชาชนเขาอยากได้ มันเป็นแบบนี้นี่เอง!!