Thursday, 2 May 2024
EDUCATION NEWS

การสำรวจความเห็นเด็กนักเรียนมัธยมปลายอเมริกัน พบว่า พวกเขามีความสนใจที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยน้อยลง เพื่อให้ได้งานการที่ดีในอนาคต และเผยว่าผลจากโควิด-19 กระทบแนวคิดเรื่องการเรียนต่อของพวกเขาอย่างมาก

การสำรวจความเห็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายชาวอเมริกัน 3,202 คน โดย ECMC Group ร่วมกับ VICE Media ที่ถามว่า มหาวิทยาลัยคือหนทางสำหรับเส้นทางอาชีพที่ดีหรือไม่? ปรากฏว่ามีเพียง 1 ใน 4 ของนักเรียนอเมริกันในการสำรวจ ที่คิดเห็นเช่นนั้น

วัยรุ่นอเมริกันครึ่งหนึ่งในการสำรวจ บอกว่า พวกเขาสามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในระยะ 3 ปีข้างหน้าได้ หรือเชื่อว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องเรียนได้วุฒิสูงๆ ขณะที่ส่วนใหญ่ในการสำรวจบอกว่า พวกเขาต้องการจะเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง แม้ว่าจะไม่แน่ใจนักว่าจะเริ่มต้นอย่างไรและชีวิตจะไปในเส้นทางไหนก็ตาม

ระดับความสนใจในการเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ลดลงของวัยรุ่นอเมริกัน เกิดขึ้นหลังจากการปิดการเรียนการสอนช่วงการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส โควิด-19 ประเด็นการเมือง เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงกับคนต่างเชื้อชาติสีผิว ที่สะท้อนการแบ่งแยกในสังคมอเมริกันที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งค่าเล่าเรียนที่สูงสำหรับระดับอุดมศึกษาในอเมริกา

เมื่อจัดอันดับปัจจัยที่นักเรียนม.ปลายอเมริกันในยุคนี้กังวล อันดับแรก คือ ค่าเล่าเรียนระดับอุดมศึกษาที่สูงลิ่ว อันดับ 2 คือเส้นทางชีวิตที่ไม่แน่นอนหลังจบม.ปลาย อันดับ 3 คือ รู้สึกว่าเตรียมตัวไม่พร้อมสำหรับการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา

กว่าครึ่งหนึ่งในการสำรวจ ยอมรับว่า โควิด-19 ทำให้พวกเขากังวลถึงอนาคตอย่างยิ่ง และไม่พร้อมสำหรับชีวิตในก้าวต่อไป และผลกระทบทางการเงินจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้พวกเขาไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยอีก 4 ปีต่อจากนี้ และไม่อยากจะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้น

เจเรมี วีตัน ซีอีโอของ ECMC Group องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นเรื่องการศึกษาในระดับอุดมศึกษา บอกว่า นักเรียนมัธยมปลายและพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขา เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเมื่อปีก่อน จากการระบาดของโควิด-19 นั่นหมายถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับอาชีพของพวกเขา

ซีอีโอของ ECMC Group ระบุว่า การเปลี่ยนแนวคิดด้านการศึกษาต่อไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และเป็นโจทย์สำหรับครูอาจารย์นักการศึกษาที่จะมอบโอกาสในอนาคตให้พวกเขาอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเส้นทางการศึกษาต่อที่หลากหลายในปัจจุบัน

นักเรียนม.ปลายในการสำรวจนี้ ระบุว่า พวกเขาต้องการให้โรงเรียนให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกหลังจบมัธยมปลายที่หลากหลายกว่านี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคเอกชน จัดเตรียมระบบการศึกษา เงินทุนการศึกษา และยกเว้นผ่อนผันเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วย


ที่มา : https://www.voathai.com/a/fewer-us-high-schoolers-plan-to-attend-university-03162021/5817072.html

ผนึกเครือข่ายนักวิจัยอาเซียน เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสะเต็มศึกษา กระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษาในอาเซียน หลังพบปัญหาเยาวชนอาเซียนคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลก

ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และเชฟรอน คอร์ปอเรชั่น จัดประชุมนักวิจัยระดับนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสะเต็มศึกษา เพื่อกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษาในอาเซียน หลังพบปัญหาเยาวชนอาเซียนคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลก

ประกอบกับ 3 ปัจจัยที่การศึกษาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ คือ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำของเด็กในเมืองและชนบท และผลกระทบจากโควิด-19 การประชุมมี 3 วิทยากรหลักนำเสนอภาพรวม ได้แก่ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ และ มิสดี เบอบอน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการลงทุนเพื่อสังคม เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น

ดร.สุภัทรชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยที่ช่วยยกระดับการศึกษาของอาเซียน เนื่องจากสภาพปัญหาที่มีความคล้ายกัน 3 เรื่องคือ เยาวชนอาเซียนมีผลประเมินด้านการศึกษาต่ำ (PISA) การขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะสะเต็มศึกษา โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยดึงประเทศให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง และการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงต้องเร่งส่งเสริมงานวิจัยด้านการศึกษาที่ตอบโจทย์อนาคต นำผลการวิจัยไปขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อยกระดับศักยภาพของอาเซียนอย่างยั่งยืน

ขณะที่ ดร.พรพรรณกล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษากับการพัฒนาอาชีพครู และการสนับสนุนงานวิจัยที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน โดยระบุว่าการหารือครั้งนี้ครอบคลุม 3 ประเด็นหลักคือ กระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) การบูรณาการสะเต็มศึกษาตั้งแต่ระบบเรียนฟรี หรือ K-12 และการสร้างโมเดลวิทยาลัยอาชีวะสะเต็มศึกษาที่ได้มาตรฐานโลก เวทีนี้ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา หลังผลกระทบจากดิจิทัล ดิสรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กในเมืองและชนบท และสภาพเศรษฐกิจจากโควิด-19

ด้าน มิสดี กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างเชฟรอนกับ SEAMEO STEM-ED เพื่อพัฒนาสะเต็มศึกษาในภูมิภาคอาเซียน โดยเชฟรอนเริ่มมีส่วนร่วม พัฒนา “พลังคน” ในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง 6 ปีแล้วภายใต้โครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สองกลายเป็นโมเดลต้นแบบงานซีเอสอาร์ ด้านการศึกษาระดับภูมิภาค โดยนำเสนองานวิจัย ที่ถอดบทเรียนในโครงการให้กับนักวิจัยทั้งอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการสอนในห้องเรียน ประโยชน์ของกระบวนการสร้างชุมชน แห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) รวมถึงการประเมินครู ผู้สอน ซึ่งมีความสำคัญต่อเด็กและการยกระดับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอาเซียน

บทสรุปและแนวทางที่ได้จากงานประชุมครั้งนี้ จะถูกนำไปพัฒนาและบรรจุเป็นวาระนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAMEO Congress 2021 ที่จะมีขึ้นปลายเดือน เม.ย.นี้


ที่มา: https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_6142318

สพฐ. คัดเลือก 349 โรงเรียน ลุยแผนบูรณาการการศึกษาจังหวัด เสนอของบพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาในปีงบประมาณ 2565 ชี้ ผู้บริหารโรงเรียนคิดโครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนมาคนละ 1 โครงการ ให้ ศธ.พิจารณา

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ รักษาการ รมว.ศธ. กล่าวภายหลังการประชุมมอบนโยบายแผนบูรณาการการศึกษาจังหวัดทั่วประเทศให้แก่ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทุกจังหวัด ว่า

ขณะนี้แผนบูรณาการการศึกษาจังหวัดมีความคืบหน้าอย่างมาก ศธ.พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้ต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำการคัดเลือกโรงเรียนจำนวนทั้งสิ้น 349 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนคุณภาพของชุมชนจำนวน 183 แห่ง โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองจำนวน 77 แห่ง และโรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง (Stand Alone) จำนวน 89 แห่ง เพื่อเสนอของบประมาณพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาในปีงบประมาณ 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่ในปี 2564 นี้ ตนต้องการคัดเลือกโรงเรียนนำร่องที่สามารถเป็นต้นแบบของโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียน Stand Alone แบ่งเป็น 5 ภูมิภาค จำนวนทั้งสิ้น 15 แห่งให้แต่ละโรงเรียนเขียนโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา 1 โครงการเพื่อเสนอของบประมาณปี 2564

“ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนทั้ง 349 แห่ง คิดโครงการในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนมาคนละ 1 โครงการ และส่งเข้ามาให้ ศธ.พิจารณา เราจะมีคณะกรรมการพิจารณา แต่หากโครงการไม่ตอบโจทย์ตัวชี้วัดด้านคุณภาพเราก็จะไม่อนุมัติโครงการให้ ทั้งนี้เชื่อว่า รมว.ศธ.คนใหม่จจะให้ความสำคัญกับแผนการศึกษาจังหวัด” คุณหญิงกัลยา กล่าว


ที่มา: https://www.facebook.com/312592942736950/posts/728841491112091/

สพฐ. เตรียมดำเนินโครงการโรงเรียนทางเลือก ให้เด็กได้เลือกเรียนตามความถนัดของตัวเอง ปรับรูปแบบบริหารจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มุ่งเน้นการต่อยอดอาชีพ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมที่จะดำเนินโครงการการศึกษา มุ่งสู่อาชีพที่เป็นอาชีพเฉพาะทาง เลือกตามความถนัดของผู้เรียน โดยได้เลือกการทำโครงการนี้ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.พื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร

เนื่องจากมองว่าโรงเรียนใน กทม.ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงอยู่หลายแห่ง และเด็กเลือกไปสมัครแย่งที่นั่งในโรงเรียนเหล่านี้จำนวนมาก จนทำให้โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลางและเล็กมีจำนวนผู้เข้าเรียนลดน้อยลง ดังนั้นตนจึงคิดว่าหากโรงเรียนของ สพฐ.ในเขตกทม.ปรับรูปแบบบริหารจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อมุ่งเน้นการต่อยอดอาชีพจะดีหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษา และสำรวจข้อมูลแล้ว

“เรามีความเป็นห่วงโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลางและเล็ก ที่ทุกวันนี้เด็กลดจำนวนลง ไม่เพียงเพราะผู้ปกครองที่สนใจอยากจะพาบุตรหลานไปเข้าโรงเรียนดังอย่างเดียว แต่อัตราการเกิดของประชากรก็ลดน้อยลงเช่นกัน เช่น โรงเรียนวัดสังเวช ในอดีตเป็นโรงเรียนมัธยมฯ ขนาดใหญ่ แต่ทุกวันนี้มีเด็กน้อยมาก

ดังนั้นเราจึงคิดว่า จะส่งเสริมให้โรงเรียนลักษณะนี้จัดการศึกษาเพื่ออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสำหรับดนตรี กีฬา คหกรรม ซึ่งหากอนาคตเด็กสนใจจะประกอบอาชีพเชฟ หรืออยากเป็นนักแสดง ก็สามารถนำความรู้ที่เรียนไปต่อยอดอาชีพในฝันของตัวเองได้ โดยโรงเรียนเหล่านี้จะเป็นโรงเรียนทางเลือกให้เด็กได้เลือกเรียนตามความถนัดของตัวเอง

รวมถึงในอนาคต สพฐ.มีแนวคิดจะทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โดยเด็กคนไหนอยากเรียนคณะรัฐศาสตร์ก็ให้นำเนื้อหาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมาให้เด็กม.ปลายได้เรียน หากสอบผ่านก็ให้เก็บสะสมเป็นหน่วยกิตหรือเครดิตแบงค์ เมื่อเรียนจบม.6 และเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ทำความร่วมมือก็ไม่จำเป็นต้องไปลงเรียนในวิชาเหล่านั้นอีก” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


ที่มา: https://www.facebook.com/312592942736950/posts/728729127789994/

สสส.- มหิดล ชูนวัตกรรมแนวคิด MIDL 4 ด้าน เสริมเกราะป้องกันเด็กไทยรู้เท่าทันสื่อ ห่วงเด็กตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) พบเด็กเข้าถึงสื่ออย่างปลอดภัยเพียง 56 %

สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) แถลงผลสำรวจและการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการเป็นพลเมืองดิจิทัลของเด็กไทยวัยเรียนในยุค New Normal” ภายใต้โครงการวิจัยการสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย อายุ 6 - 12 ปี

โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สำรวจโดยใช้นวัตกรรมแนวคิด Media Information and Digital Literacy (MIDL) ว่าด้วยกรอบสมรรถนะ 4 ด้าน ได้แก่ 1.) เข้าถึงสื่อ อย่างปลอดภัย 2.) วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมิน 3.) สร้างสรรค์เนื้อหา และ 4.) ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สังคมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ พร้อมออกแบบและสร้างเครื่องมือในรูปแบบแอนิเมชัน สีสันสดใส เข้าใจง่าย เหมาะสมกับพฤติกรรมและความสนใจของเด็ก

ความน่าเป็นห่วงที่พบคือการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) พบเด็กเป็นทั้งผู้กระทำและเหยื่อจากการถูกกระทำโดยไม่รู้ตัว รวมถึงการพบเห็นภาพโป๊เปลือย และเว็บไซต์การพนัน สิ่งสำคัญคือความใส่ใจของผู้ปกครองในการดูแลการเข้าใช้สื่อของเด็ก ถือเป็นการสร้างองค์ความรู้และฐานข้อมูลระดับประเทศ

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย อายุ 6 - 12 ปี ได้ดำเนินการสำรวจผ่านเว็บไซต์ www.midlkids.com

ในโรงเรียนไทยทั่วประเทศ 63 โรง มีเด็กนักเรียนร่วมตอบแบบสำรวจ 2,609 คน พบว่า การรู้เท่าทันสื่อเฉลี่ยของเด็กช่วงอายุ 6–8 ปี มีคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 73 ส่วน 9 - 12 ปี อยู่ที่ร้อยละ 76 การสำรวจแบ่งเป็น 4 ด้านตามกรอบสมรรถนะ ได้แก่ ด้านที่ 1 เข้าถึงสื่อ สารสนเทศ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยอยู่ที่ร้อยละ 56 ด้านที่ 2 วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมินอยู่ที่ร้อยละ 73 ด้านที่ 3 สร้างสรรค์เนื้อหาและข้อมูลอยู่ที่ร้อยละ 86 และ ด้านที่ 4 ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ร้อยละ 71

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยควรได้รับการพัฒนาทักษะการเข้าถึงสื่อ ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย รวมถึงการผลิตสื่ออย่างมีความผิดชอบต่อเด็ก กระตุ้นให้เด็กไทยฉลาดทางดิจิทัล ใช้สื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์


ที่มา: https://www.facebook.com/312592942736950/posts/726732504656323/

เฟซบุ๊ก สำนักงานยุทธศาสตร์การศึกษา สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความ เปิดข้อปฏิบัติในการสอบ O-NET ปีการศึกษา 2563 มีดังนี้

ระเบียบการเข้าห้องสอบ

1.) ไม่มีเลขที่นั่งสอบ (ไม่มีสิทธิ์สอบ)

2.) ไม่มีบัตรแสดงตน (ไม่มีสิทธิ์สอบ)

3.) ไปผิดสนามสอบ (ไม่มีสิทธิ์สอบ)

4.) ไปสายเกิน 30 นาที (ไม่มีสิทธิ์สอบในวิชานั้น)

5.) ห้ามนําเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารเข้าห้องสอบ

6.) ให้นั่งสอบจนหมดเวลา

7.) อนุญาต ให้นํานาฬิกาเข้าห้องสอบ (ต้องเป็นนาฬิกาธรรมดาที่ใช้ดูเวลาเท่านั้น)

หลักฐานที่ใช้ในการเข้าห้องสอบ

บัตรประจําตัวประชาชน หรือบัตรประจําตัวนักเรียนที่มีรูปถ่าย หรือ บัตรที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่มีรูปถ่ายและยังไม่หมดอายุ

อุปกรณ์และหลักฐานที่อนุญาตให้นําเข้าห้องสอบ

1.) ปากกา ใช้สําหรับกรอกรายละเอียดต่าง ๆ บนหัวกระดาษคําตอบ

2.) ดินสอดํา 2B ใช้สําหรับระบายรหัสวิชา เลขที่นั่งสอบและคําตอบที่ต้องการเลือก

3.) ยางลบ

4.) กบเหลาดินสอ

5.) บัตรประจําตัวประชาชน หรือบัตรประจําตัวนักเรียนที่มีรูปถ่าย หรือบัตรที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่มีรูปถ่ายและยังไม่หมดอายุ

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวนักเรียนที่มีรูปถ่าย หรือบัตรที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่มีรูปถ่าย และยังไม่หมดอายุ.


ที่มา: https://www.facebook.com/bmaedustrategy/posts/1619905211529371

สพฐ. ยันไม่มีการถอด วิชาประวัติศาสตร์ - หน้าที่พลเมือง แต่จะเพิ่มภาคปฎิบัติหน้าที่พลเมืองสัปดาห์ละ 1 ชม. สร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ทำให้วิชาประวัติศาสตร์มีความทันสมัยมากขึ้น

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องการถอดวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมืองที่ปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า

เนื้อหาวิชาดังกล่าวยังอยู่ในหลักสูตรปัจจุบันและหลักสูตรฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงอย่างแน่นอน ซึ่งวิชาประวัติศาสตร์จัดเป็นวิชาบังคับกำหนดให้ต้องเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่ป.1 - ม.6 โดย ชั้น ป.1 - ม.3 มีเวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี หรือสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ส่วนชั้นม.4 - 6 มีเวลาเรียน 80 ชั่วโมง ตลอดปีการศึกษา

สำหรับสาระหน้าที่พลเมือง ถือว่าเป็นสาระบังคับเช่นกัน โดยชั้น ป.1-6 จะเรียนรวมกับอีก 3 สาระ รวมเรียกว่าวิชาสังคมศึกษา มีเวลาเรียน 80 ชั่วโมงต่อปี หรือ สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ชั้น ม.1 - 6 อาจจัดแยกเป็นวิชาๆ หรือรวมสาระก็ได้ โดยชั้น ม.1 - 3 มีเวลาเรียนรวมทั้ง 4 สาระ 120 ชั่วโมงต่อปี (3 หน่วยกิต) หรือสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง และ ม.4 - 6 รวม 3 ปีเรียน 240 ชั่วโมง

นอกจากที่หลักสูตรกำหนดแล้ว ยังมีนโยบายให้เรียนหน้าที่พลเมืองที่เน้นการปฏิบัติเพิ่มอีกสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง โดยอาจจะบูรณาการไปกับวิชาพื้นฐาน วิชาเพิ่มเติม กิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งเนื้อหาการเรียนประวัติศาสตร์จะได้เรียนเรื่องเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ เช่น ข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิธีการทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญในอดีต สถาบันพระมหากษัตริย์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย เป็นต้น

“ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ รวมถึงการทำให้การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์มีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยการสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ตามนโยบายการอ่าน การเขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง Augmented Reality (AR) เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์รักชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทำการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง ทั้งนี้ยังได้จัดทำคู่มือการใช้สื่อวีดีทัศน์ พร้อม QR Code เพื่อเข้าถึงตัวอย่างเนื้อหาสื่อนวัตกรรมการสอนประวัติศาสตร์อีกด้วย” เลขาฯ กพฐ. กล่าว


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/95496

กระทรวงศึกษาธิการ เผย TCAS ยังยึดปฏิทินตามกำหนดเดิม จัดติวออนไลน์ร่วมกับ สพฐ. ส่งบทเรียนและเทคนิคการสอนของครูจากโรงเรียนดัง เผยแพร่ผ่านช่อง OBEC Channel ดันเด็ก ม.6 ฟิตสอบเข้ามหาวิทยาลัย

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รักษา รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้มอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ไปหารือร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย วิทยศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.)

เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ว่าการเลื่อนสอบรายวิชาที่ใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2564 (TCAS) ได้แก่ ความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 20 - 23 มีนาคม ตรงกับวันสอบปลายภาคของโรงเรียน

วันสอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 3 - 4 เมษายน และวันทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) วันที่ 27 - 28 มีนาคม ตรงกับวันเกณฑ์ทหารและวันเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น ส่งผลให้เด็กเรียนได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องหยุดเรียนโดยที่ไม่ได้เรียนกับครูผู้สอนในชั้นเรียนเป็นเวลา 1 เดือนจึงขอให้มีการขยับการสอบทีแคสออกไปอีก 1 เดือนได้หรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการติวสอบ

ขณะเดียวกันตนยังมีไอเดียที่จะทำห้องเรียนติวออนไลน์เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการแล้ว เพราะจะทำให้เด็กได้ทบทวนบทเรียน และเติมเต็มความรู้ในช่วงที่ต้องหยุดเรียน เนื่องจากวิกฤตโควิด

ด้าน นายสุภัทร กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมกับทปอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ) และ อว.แล้ว ซึ่งมีข้อสรุปว่าการเลื่อนสอบ TCAS ยังยึดปฏิทินตามกำหนดเดิม เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มีการจองตารางการเดินทางของรถโดยสารและเครื่องบินไว้แล้ว

ซึ่งการสอบที่สามารถเลื่อนสอบได้คือ การสอบโอเน็ตจากเดิมกำหนดไว้วันที่ 28 มีนาคมให้ขยับมาสอบวันที่ 29 มีนาคมแทน ส่วนนโยบายการติวออนไลน์ของคุณหญิงกัลยานั้น ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วว่า ให้นำบทเรียนและเทคนิคการสอนของครูจากโรงเรียนดังๆ มาเผยแพร่ผ่านช่อง OBEC Channel

รวมถึง สพฐ.มีบทเรียนออนไลน์ดีๆ อยู่แล้วก็ให้นำมาแชร์ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ ขณะเดียวกัน โรงเรียนดังใน กทม.ที่จะมีการสอนไลฟ์สดสอนเด็ก ได้ขอความร่วมมือให้แชร์ลิงค์ไลฟ์สดเหล่านั้นมาแขวนไว้ที่ช่องของ สพฐ.ด้วย เพื่อให้เด็กคนอื่นๆ ได้เรียนรู้เทคนิคการเรียนดีๆ ไปพร้อมกัน


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/95414

ก.ศึกษาธิการ เล็งแก้ปัญหาข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนที่สรุปไปแล้ว หลังเปลี่ยนรมว.ศึกษาธิการ ต้องส่งให้คนใหม่พิจารณา ขณะ สพฐ. เตรียมชงเครื่องแบบนักเรียนไม่ต้องแก้ระเบียบใหม่ ส่วนทรงผมควรไว้ยาวได้ ตั้งแต่ระดับม.ต้น ขึ้นไป

ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหานักเรียน ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน ประกอบด้วย 1.) คณะทำงานด้านการละเมิด-ความรุนแรง-ความปลอดภัยในสถานศึกษา 2.) คณะทำงานด้านกฎระเบียบที่ล้าหลัง 3.) คณะทำงานด้านการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา 4.) คณะกรรมการพิจารณาเรื่องเครื่องแบบ ทรงผมนักเรียน 5.) คณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ซึ่งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ได้สรุปข้อมูลการแก้ปัญหาให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาไปแล้ว แต่เมื่อนายณัฏฐพล พ้นจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ทำให้ข้อสรุปการแก้ปัญหานักเรียนยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงต้องรอให้ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่เข้ามาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง

ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุ พิจารณาแล้วว่า เครื่องแต่งกายนักเรียน เห็นว่า ไม่ต้องแก้ระเบียบใหม่ รวมทั้งทรงผมนักเรียน คณะกรรมการมีข้อเสนอที่จะให้ไว้ผมยาวได้ตั้งแต่เด็กปฐมวัย - มัธยมฯ แต่ สพฐ.เห็นว่าควรให้เด็กไว้ผมยาวได้ ตั้งแต่ ม.ต้น เพราะเด็กระดับนี้มีความรับผิดชอบที่จะดูแลสุขอนามัยสุขภาพผมด้วยตัวเอง โดยจะเสนอรมว.ศึกษาธิการคนใหม่พิจารณาต่อไป


ที่มา: https://siamrath.co.th/n/225135

กระทรวงศึกษาธิการ หารือ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาต่อยอด ยกระดับการศึกษาไทย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และภาษา

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวภายหลังนายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ‪เข้าเยี่ยมคารวะ ว่า ได้หารือถึงความร่วมมือด้านการศึกษา เนื่องจากประเทศฟินแลนด์จัดการศึกษาดีที่สุดในโลก ดังนั้น กระทรวงศึกษาฯ จะทำงานร่วมกันทางด้านวิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศ ให้แก่ครูและผู้บริหารโรงเรียน และทางฟินแลนด์เสนอจะอบรมด้านพลศึกษาให้ด้วย ‬‬

และมีความร่วมมือทางด้านสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ การเกษตร กำจัดขยะ พลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้ฟินแลนด์ได้จัดอบรมออนไลน์ภาษาต่างประเทศให้กับครูไทย จำนวน 36 คน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะประเมินผลการอบรมออนไลน์ว่าผลเป็นอย่างไร และอาจจะจัดอัพสกิล รีสกิล โดยจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้น เนื่องจากช่วงนี้มีคนตกงานเยอะเพื่อช่วยให้ผู้ที่ตกงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

“ขณะนี้ให้อาชีวะร่างโครงการความร่วมมือ ซึ่งภายใน 2 อาทิตย์นี้กระทรวงศึกษาธิการ จะเซ็น MOU กับ ศูนย์การเรียนรู้ของประเทศฟินแลนด์ ผ่านสถานทูตฟินแลนด์ เพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว และหลังจาก MOU แล้ว ก็จะไปพัฒนาโครงการร่วมกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าโครงการใดจะเกี่ยวข้องกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาใด หรือนักเรียนระดับประถมฯมัธยมฯ รวมทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนใดบ้าง

ส่วนความร่วมมือยังไม่มีรายละเอียด แต่อาจจะขอให้ทางฟินแลนด์ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ แล้วเรานำมาพัฒนาต่อเอง โดยเราจะไม่เอาทุกอย่างของฟินแลนด์มาใช้ทั้งหมด แต่จะดูความต้องการและบริบทของแต่ละสถานศึกษาแต่ละพื้นที่” คุณหญิงกัลยา กล่าว


ที่มา: https://www.naewna.com/local/557672/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top