สสส.- มหิดล ชูนวัตกรรมแนวคิด MIDL 4 ด้าน เสริมเกราะป้องกันเด็กไทยรู้เท่าทันสื่อ ห่วงเด็กตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) พบเด็กเข้าถึงสื่ออย่างปลอดภัยเพียง 56 %

สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) แถลงผลสำรวจและการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการเป็นพลเมืองดิจิทัลของเด็กไทยวัยเรียนในยุค New Normal” ภายใต้โครงการวิจัยการสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย อายุ 6 - 12 ปี

โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สำรวจโดยใช้นวัตกรรมแนวคิด Media Information and Digital Literacy (MIDL) ว่าด้วยกรอบสมรรถนะ 4 ด้าน ได้แก่ 1.) เข้าถึงสื่อ อย่างปลอดภัย 2.) วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมิน 3.) สร้างสรรค์เนื้อหา และ 4.) ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สังคมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ พร้อมออกแบบและสร้างเครื่องมือในรูปแบบแอนิเมชัน สีสันสดใส เข้าใจง่าย เหมาะสมกับพฤติกรรมและความสนใจของเด็ก

ความน่าเป็นห่วงที่พบคือการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) พบเด็กเป็นทั้งผู้กระทำและเหยื่อจากการถูกกระทำโดยไม่รู้ตัว รวมถึงการพบเห็นภาพโป๊เปลือย และเว็บไซต์การพนัน สิ่งสำคัญคือความใส่ใจของผู้ปกครองในการดูแลการเข้าใช้สื่อของเด็ก ถือเป็นการสร้างองค์ความรู้และฐานข้อมูลระดับประเทศ

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย อายุ 6 - 12 ปี ได้ดำเนินการสำรวจผ่านเว็บไซต์ www.midlkids.com

ในโรงเรียนไทยทั่วประเทศ 63 โรง มีเด็กนักเรียนร่วมตอบแบบสำรวจ 2,609 คน พบว่า การรู้เท่าทันสื่อเฉลี่ยของเด็กช่วงอายุ 6–8 ปี มีคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 73 ส่วน 9 - 12 ปี อยู่ที่ร้อยละ 76 การสำรวจแบ่งเป็น 4 ด้านตามกรอบสมรรถนะ ได้แก่ ด้านที่ 1 เข้าถึงสื่อ สารสนเทศ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยอยู่ที่ร้อยละ 56 ด้านที่ 2 วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมินอยู่ที่ร้อยละ 73 ด้านที่ 3 สร้างสรรค์เนื้อหาและข้อมูลอยู่ที่ร้อยละ 86 และ ด้านที่ 4 ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ร้อยละ 71

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยควรได้รับการพัฒนาทักษะการเข้าถึงสื่อ ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย รวมถึงการผลิตสื่ออย่างมีความผิดชอบต่อเด็ก กระตุ้นให้เด็กไทยฉลาดทางดิจิทัล ใช้สื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์


ที่มา: https://www.facebook.com/312592942736950/posts/726732504656323/