Tuesday, 17 September 2024
EDUCATION NEWS

กระทรวงศึกษาธิการ หารือร่วมกับผู้แทนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติยูนิเซฟ ประเทศไทย สร้างความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็ก เน้นการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ยกระดับความรู้เรื่องทักษะดิจิทัล

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รักษา รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับนางคิม คยองซัน ผู้แทนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติยูนิเซฟ ประเทศไทย ว่า จากการหารือยูนิเซฟมีความสนใจเรื่องการศึกษาของเด็กปฐมวัย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และยูนิเซฟจะมีความร่วมด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็กมากขึ้น เช่น การดูแลความปลอดภัย การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งตนได้พูดถึงเรื่องที่ ศธ.ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กลุ่มครูได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นกลุ่มแรก ๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่เด็กนักเรียน

นอกจากนี้ยูนิเซฟยังให้ความสนใจการศึกษาของเด็กชนเผ่าและเด็กด้อยโอกาส รวมถึงได้แสดงความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ครูและนักเรียนได้ยกระดับความรู้เรื่องทักษะดิจิทัลให้มากขึ้น ซึ่งตนได้ชี้แจงว่าขณะนี้ ศธ.ได้เลือกโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลในพื้นที่จังหวัดเลยและจังหวัดกาญจนบุรีอย่างละ 1 แห่ง เพื่อนำมาเป็นโรงเรียนนำร่องในการบริหารจัดการด้านการศึกษาด้วยการเติมทักษะดิจิทัล ห้องเรียนเทคโนโลยี ครูผู้สอนด้านภาษาอังกฤษ ในการเป็นต้นแบบให้เด็กในโรงเรียนเหล่านี้มีความรู้ด้านดิจิทัลและเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีหน่วยงานภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนนุนการดำเนินงานให้ โดยการนำร่องดังกล่าวจะมีการประเมินผล 3 - 6 เดือนว่าเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กมีทักษะการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่

“สำหรับความร่วมมือในอนาคตที่จะทำให้การทำงานระหว่างยูนิเซฟและ ศธ.มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าการทำงานของยูนิเซฟด้านการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องส่งผลให้การดำเนินงานมีความกระจัดกระจายไม่เห็นการติดตามผลงานเท่าที่ควร ดังนั้น จึงมีข้อสรุปว่าอยากให้ยูนิเซฟจัดทำเป็นวารสาร เพื่อรวบรวมการดำเนินงานของยูนิเซฟในรูปแบบต่างๆ มารวมไว้ที่เดียวกัน ซึ่งจะทำให้สังคมได้รับทราบการทำงานของยูนิเซฟมากขึ้น”รมช.ศธ.กล่าว


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/96887

เปิด (ปม) ภาคการศึกษา

UNESCO เปิดเผยข้อมูลว่า เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 คือมากถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้นับเฉพาะที่เรียนในโรงเรียนเท่านั้น ยังไม่นับรวมเวลาเรียนพิเศษอื่น ๆ การเรียนอย่างหนักหน่วงของเด็กไทยที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้ก่อให้เกิดผลดี แต่อาจนำมาสู่ผลร้ายมากกว่าที่คิด

แม้เด็กไทยจะเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมการศึกษาไทยถึงรั้งท้าย ไร้คุณภาพ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญที่สังคมมองข้าม ทั้ง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของเด็ก

เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา เกือบครึ่งชีวิตของเด็กคนหนึ่งต้องต่อสู้อยู่ในระบบการศึกษาที่เพิ่มพูนความรู้ แต่กลับลดทอนความสุขในชีวิต เมื่อต้องแบกรับทั้งความกดดันจากครอบครัว ความคาดหวังในตัวเอง รวมถึงค่านิยมของสังคม ทำให้ตระหนักคิดได้ว่า ความรู้ที่จะใช้ประกอบอาชีพในอนาคตก็สำคัญ แต่ความสุขของพวกเขาก็ควรจะสำคัญไม่แพ้กัน

ปัญหาการเรียนที่หนักหนาสาหัสของเด็กไทย นอกจากจะนำไปสู่ความกดดัน การเปรียบเทียบ ความเครียด สิ่งที่น่าเป็นห่วงและเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีและตรงจุด คือประเด็นเกี่ยวกับ 'สุขภาพจิต'

ภาวะซึมเศร้า โรคเครียด ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กไทย เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาตลอด เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมานานมากแล้ว จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ที่นำเสนอประเด็นการฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียน นักศึกษา หลายต่อหลายเหตุการณ์ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร หากมองให้ลึกลงไปถึงต้นตอจะพบกับความโหดร้ายของระบบที่คร่าหลายชีวิตไปอย่างไม่ใยดี

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา เกิดเหตุนักเรียนหญิงชั้น ม.1 ใน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ป่วยโรคซึมเศร้ากระโดดอาคารเรียน 4 ชั้น หลังเลิกเรียนเสียชีวิตคาที่ ด้านแม่ของนักเรียนหญิงที่เสียชีวิตเปิดเผยว่า ลูกสาวของตนป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาปีกว่าแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาอาการ ต้องไปพบจิตแพทย์

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 64 ตำรวจและเจ้าหน้าที่การแพทย์ได้รับแจ้งเหตุนักศึกษาหญิงชั้น ปี 2 รายหนึ่งได้ฆ่าตัวตายที่ห้องพักย่านราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้สอบถามรายละเอียดของผู้เสียชีวิตจากญาติ โดยได้รับทราบว่า นักศึกษาคนดังกล่าว เป็นคนเรียนดีมาตลอด แต่หลังจากมีการเรียนออนไลน์และต้องทำรายงานส่งครู ทำให้ผู้เสียชีวิตเผชิญกับการนอนดึกไม่ต่ำกว่าตีสี่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ

เหตุการณ์ที่หยิบยกมา เป็นเพียงแค่ตัวอย่างจากหลายสิบโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นมาตลอด แท้จริงแล้วปัญหาเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลย หรืออย่างน้อยก็น่าจะสามารถยับยั้งเหตุการณ์ไม่ให้รุนแรงขนาดนี้ได้ โดยเฉพาะหากได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันหลักอย่างครอบครัว

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เผยผลวิจัย "โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21" พบว่า ความสุขเด็กไทยวัยเรียนเหลือน้อย วัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นเป็นผลมาจากการสะสมความเครียดจากโครงสร้างครอบครัวที่มีความพร้อมแตกต่างกัน, ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพสถานศึกษาและการแข่งขันในระบบการศึกษา รวมถึงความคาดหวังจากคนใกล้ตัว

ในยุคนี้ บางครอบครัวเริ่มส่งให้ลูกหลานของตัวเองเรียนพิเศษ กวดวิชากันอย่างหนัก เพราะอยากให้ลูกเข้าโรงเรียนดี เด่น ดัง อีกสาเหตุหนึ่งคือโรงเรียนส่วนใหญ่จะมีการประกาศผลสอบ เมื่อนักเรียนคนไหนสอบได้ที่ 1 หรือสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดังได้ ก็จะประกาศเชิดชูแสดงความยินดีหน้าโรงเรียน ทำให้พ่อแม่ และตัวเด็กเองเกิดการแข่งขัน

เพราะครอบครัวเป็นสถาบันหลัก เป็นด่านแรกในการบ่มเพาะปลูกฝัง สร้างค่านิยมและเสริมสร้างทรัพยากรในตัวให้เด็ก พร้อมไปเผชิญกับค่านิยมความคาดหวังของสังคม พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองชีวิตของลูก ไม่ใช่การขีดเส้นใต้ให้ทำตามที่สิ่งที่อยากให้เป็น เคยหันไปถามลูกไหม ว่าสิ่งที่เราอยากให้เขาทำ กับสิ่งที่เขาอยากทำ มันเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เคยบอกเขาไหมว่าไม่ต้องกดดัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรหรือเลือกทางไหน จะยอมรับในตัวตนและการตัดสินใจของเขา  

หากบ้านหรือโรงเรียนถูกสร้างให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ครู-นักเรียน มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ก็จะสามารถช่วยให้วัยรุ่นมีสุขภาพจิตแข็งแรง ห่างไกลจากความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้ เลิกโทษเด็กว่าจิตใจไม่เข้มแข็ง ลองย้อนกลับมามองการกระทำของตัวเอง ก่อนที่อะไรจะสาย จนนำไปสู่เหตุการณ์ความสูญเสียที่คุณจะไม่มีวันได้เขากลับคืน

.

อ้างอิงข้อมูล:  https://www.thaihealth.or.th/Content/51292-ห่วงความสุขเด็กไทยในวัยเรียนเหลือน้อย

.

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมเงินงบประมาณ 38,000 ล้านบาท สำหรับการให้กู้ยืมปีการศึกษา 2564 ให้ยื่นกู้ผ่านแอพ ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ นักศึกษาป.โท ยื่นกู้ได้ปีแรก

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ประชาสัมพันธ์ข่าวสาวจากกองทุนระบุว่า “กยศ. พร้อมให้กู้ผ่านมือถือ 38,000 ล้านบาท ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้” โดยระบุว่า

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมเงินงบประมาณ 38,000 ล้านบาท สำหรับการให้กู้ยืมปีการศึกษา 2564 เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียน นักศึกษากู้ยืมตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับปริญญาโท โดยสามารถยื่นขอกู้ยืมผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนด้วยแอพพลิเคชัน “กยศ. Connect” ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

ในปีการศึกษา 2564 กองทุนได้เตรียมเงินงบประมาณให้กู้ยืมจำนวน 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาจำนวนกว่า 624,000 ราย สามารถกู้ยืมได้สูงสุดถึง 200,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับหลักสูตรสาขาวิชาหรือประเภทวิชาที่เลือกเรียน และในปีนี้เป็นปีแรกที่กองทุนให้กู้ยืมเงินแก่นักศึกษาระดับปริญญาโท

สำหรับเงื่อนไขการกู้ยืมแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

ลักษณะที่ 1 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ลักษณะที่ 2 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

ลักษณะที่ 3 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ

ลักษณะที่ 4 นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยให้กู้ในระดับปริญญาโท

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายละเอียดสาขาวิชาและเงื่อนไขการให้กู้ยืมทั้ง 4 ลักษณะได้ที่เว็บไซต์กองทุน https://bit.ly/2Pb3Nhg โดยนักเรียน นักศึกษาสามารถยื่นกู้ผ่านแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

และสอบถามรายละเอียดได้ที่สถานศึกษาที่ผู้กู้ประสงค์จะศึกษาต่อ กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันของทุกครอบครัว เพื่อให้บุตรหลานและนักเรียน นักศึกษารุ่นหลังมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน โดยไม่มีการจำกัดโควตาการให้กู้ยืมแต่อย่างใด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ไลน์บัญชีทางการ “กยศ.” หรือโทร. 02-016-4888”


ที่มา: https://www.matichon.co.th/education/news_2636874

กระทรวงแรงงานเตรียมจัด Bangkok Job Fair 2021 มีตำแหน่งงานให้สมัครกว่า 5,000 อัตรา จากสถานประกอบการชั้นนำ กำหนดจัดงานวันที่ 26 - 27 มีนาคมนี้ ที่ ฟอร์จูนสตรีท ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ กรุงเทพมหานคร

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน มีกำหนดจัดงาน Bangkok Job Fair 2021 ในวันที่ 26 - 27 มีนาคม 2564 ณ ฟอร์จูนสตรีท ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ ผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง ประชาชนทั่วไปที่มีความประสงค์จะหางานทำ

รวมทั้งเพิ่มโอกาสคัดเลือกตำแหน่งงานว่างที่ตรงกับความรู้ความสามารถ และได้สมัครงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการจำนวนมากในคราวเดียว และเพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้าง/สถานประกอบการและผู้สมัครงานได้พบและพิจารณาคัดเลือกกันโดยตรง

ซึ่งกิจกรรมนี้จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่ประชาชนที่ว่างงาน ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน ผู้สูงอายุ คนพิการ ตลอดจนนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ต้องการทำงานในช่วงว่างระหว่างเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานและลดปัญหาความยากจนซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน ขอเชิญชวนผู้สนใจสมัครงาน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานได้ในวันที่ 26 - 27 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.30 น. ที่บริเวณลานฟอร์จูนสตรีท (หน้าอาคาร) ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ กรุงเทพมหานคร โดยภายในงานมีนายจ้าง/สถานประกอบการชั้นนำ เข้าร่วมรับสมัครงาน จำนวน 40 บริษัท

อาทิ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด บ. เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด บ.ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด บ.เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทมจำกัด (มหาชน) บ.สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บ. ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งมีตำแหน่งงานว่าง จำนวนกว่า 5,000 อัตรา

นอกจากกิจกรรมรับสมัครงานและสัมภาษณ์งานกับนายจ้าง/สถานประกอบการ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ กิจกรรมการสาธิตประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดงาน 20 อาชีพ อาทิ การทำกระเป๋าบุผ้าปักริบบิ้น สายคล้องหน้ากากอนามัย สบู่สมุนไพร ตระกร้าผ้าย้อมคราม การทำเค้กกล้วยหอม บราวนี่ ขิงอ่อนดอง เป็นต้น

การประกอบธุรกิจแฟรนไชน์ในรูปแบบ Food Truck การให้คำปรึกษาปัญหาด้านแรงงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้แก่ การให้บริการจัดหางานสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ โดยกรมการจัดหางาน การให้บริการคำปรึกษา คำแนะนำ ตามพรบ.คุ้มครองคนหางาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน การให้บริการคำปรึกษา คำแนะนำ การฝึกทักษะฝีมือแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

การให้บริการคำปรึกษา คำแนะนำ การขึ้นทะเบียนประกันตน ม.33, ม.39, ม.40 และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามพรบ.ประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคม และการให้บริการตรวจสุขภาพ โดยโรงพยาบาลวิภาราม พัฒนาการ

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694


ที่มา: https://www.prachachat.net/csr-hr/news-631262

กศน. ปรับรูปแบบพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ มุ่งเน้นให้สามารถสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร หลังผู้เรียนมีผลการสอบวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างต่ำ เนื่องจากครูผู้สอนขาดความเชี่ยวชาญ

ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่า การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพจะสำเร็จ หรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา สำนักงาน กศน.จึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะครูผู้สอนในทุกๆ ด้าน อาทิ ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการวัดและประเมินผล ด้านสื่อและแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนการพัฒนาตนเอง

เนื่องจาก กศน.มีครูหลายประเภท และส่วนใหญ่ไม่จบด้านครูหรือศาสตร์วิชาชีพครูโดยตรง และต้องจัดการเรียนรู้ในทุกรายวิชาที่ผู้เรียนลงทะเบียนในภาคเรียนนั้น ๆ จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา กศน. ที่ผ่านมาพบว่า ผู้เรียนในทุกระดับการศึกษามีผลการสอบปลายภาคเรียนและผลการสอบ N-NET วิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างต่ำ เนื่องจากครูผู้สอนขาดความเชี่ยวชาญกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาภาษาอังกฤษ

เลขาธิการ กศน. กล่าวอีกว่า เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในรายวิชาภาษาอังกฤษ กลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา สำนักงาน กศน.จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาทักษะและสมรรถนะครู กศน. ด้านการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เพื่อ Up Skill Re Skill สร้างศักยภาพ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม

ด้วยการเติมเต็มสิ่งใหม่ ๆ สร้างความมั่นใจให้แก่ครู กศน. ให้สามารถนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้พัฒนาตนเองและด้านวิชาชีพ เพื่อสร้างครู กศน. ต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจร่วมกัน ยกระดับสมรรถนะทางด้านภาษาอังกฤษ และการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น

โดย กศน.ได้ปรับรูปแบบการพัฒนาครู กศน. มุ่งเน้นให้สามารถสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ให้ทันสมัยและน่าสนใจ ตอบโจทย์การเรียนรู้ได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/2053795

งบประมาณกระทรวงวัฒนธรรมถูกหั่น สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ถูกลดงบประมาณส่วนทุนการศึกษาที่จะให้นักเรียน นักศึกษาของสถาบันในแต่ละปี ตัดเหลือ 50 ทุน จากจำนวน 100 ทุน ซึ่งอาจกระทบความต่อเนื่องที่ได้รับทุน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รับงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รวมทั้งสิ้น 7,104,347,600 บาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 858,540,900 บาท คิดเป็นร้อยละ 10.78 นั้น

ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมผู้บริหารทราบว่า หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณเพิ่มในปีนี้ คือ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้รับ 88,843,000 บาท เพิ่มขึ้น 14,737,500 บาท คิดเป็นร้อยละ 20 โดยส่วนที่เพิ่มเป็นการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ในด้านการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม การสร้างค่านิยมให้คนไทย ซึ่งโยกจากที่หน่วยงานอื่นมาให้ศูนย์คุณธรรมดำเนินการ

ทั้งนี้ เนื่องจากศูนย์คุณธรรม มีบุคลากรอยู่จำกัด การดำเนินงานจึงต้องใช้วิธีบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการศาสนา สำนักงานปลัด วธ.กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

นายอิทธิพลกล่าวอีกว่า ขณะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) ถูกลดงบประมาณมากที่สุด โดยได้รับจำนวน 1,053,641,700 บาท ลงลด จำนวน 248,539,500 บาท โดยถูกตัดจากที่เสนอขอไป ถึงร้อยละ 30

ทั้งนี้ งบประมาณที่ถูกปรับลดอยู่ในส่วนทุนการศึกษาที่จะให้นักเรียน นักศึกษา ของสถาบัน ในแต่ละปี ซึ่งได้มีการมอบให้ จำนวน 100 ทุน ในปีนี้ถูกตัดเหลือ 50 ทุน ซึ่งอาจกระทบต่อความต่อเนื่องที่ได้รับทุน อย่างไรก็ตาม สบศ. จะทำเรื่องเสนอขอแปลงงบประมาณเพิ่มเติม ในชั้นกรรมาธิการ และจะปรับแผนงานในส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยเน้นย้ำว่าให้เรียงลำดับความสำคัญและจำเป็นมากที่สุด

“ในส่วนกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มอบหมายให้ทบทวนแผนงานจัดกิจกรรมวัฒนธรรม ประเพณี ที่ได้มีการสนับสนุนผ่านเครือข่ายวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยย้ำให้เจาะกลุ่มให้แคบลง เนื่องจากงบประมาณต้องใช้อย่างจำกัด ซึ่งส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ และขยายผล คือ เรื่องอาหาร และผ้า

ทั้งนี้ ผมยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมทุกภาคส่วนที่เคยร่วมงานกันถึงการได้รับงบประมาณในการดำเนินงาน แผนกิจกรรมต่างๆ ที่ลดลง รวมถึงให้มีการปรับขอบเขตการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมตามสัดส่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต” รมว.วัฒนธรรมกล่าว.


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/2053049

ราชกิจจานุเบกษา ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และการชำระเงินคืนกองทุน ใช้บังคับตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้ กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน พ.ศ. 2563 ความว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 (7) และ (17) มาตรา 39 มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 44 และมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในการประชุมครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ได้มีมติให้ออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน พ.ศ. 2563”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับกับการดำเนินการให้กู้ยืมเงินตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิก

(1) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน พ.ศ. 2561

(2) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

“ผู้กู้ยืมเงิน” หมายความว่า นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ได้รับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และให้หมายความรวมถึงนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ได้รับเงินกู้ยืมตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 และนิสิตหรือนักศึกษาผู้รับทุนการศึกษาแบบต้องใช้คืนจากกองทุนเพื่อการศึกษาตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ด้วย

“เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา” หมายความว่า เงินที่กองทุนจัดสรรให้ผู้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ

“นักเรียนหรือนักศึกษา” หมายความว่า ผู้ซึ่งศึกษาอยู่ในสถานศึกษา และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาในสถานศึกษาด้วย

“สถานศึกษา” หมายความว่า โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา หรือสถานศึกษาอื่นของรัฐ โรงเรียนของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

“ค่าเล่าเรียน” หมายความว่า เงินค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สถานศึกษาเรียกเก็บจากนักเรียนหรือนักศึกษา

“ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายอื่นที่มิใช่ค่าเล่าเรียนที่สถานศึกษาเรียกเก็บจากนักเรียนหรือนักศึกษาตามระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของสถานศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา

“ค่าครองชีพ” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพระหว่างศึกษา

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

“นิติบุคคล” หมายความว่า นิติบุคคลไทยที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย

“ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

ข้อ 5 ในการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน ให้กองทุนสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน ผู้กู้ยืมเงิน และผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และตามระเบียบนี้ รวมทั้ง กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของกองทุน ทั้งที่ออกใช้บังคับอยู่แล้ว และที่จะออกใช้บังคับต่อไปในภายหน้าโดยเคร่งครัด

ข้อ 6 ให้ผู้จัดการเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ รวมทั้งการออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมแนวทางและวิธีดำเนินการตามระเบียบนี้

หมวด 1 การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

ข้อ 7 กองทุนจะสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ใน 4 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

อ่านต่อทั้งหมด http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/058/T_0001.PDF

ศึกษาธิการ ประชุมปรับนโยบาย ป้อนนักวิทยาศาสตร์สู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตอบโจทย์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต พร้อมขยายฐานส่งนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ทุน พสวท. ชดใช้ทุนในหน่วยงานวิจัยเอกชน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ รักษาราชการแทน รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 38-1/2564 ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายฐานหน่วยงานเอกชนที่มีหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) สามารถปฏิบัติงานตอบแทนทุนได้ในเบื้องต้น 46 แห่ง

โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจากทุน พสวท. เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานเอกชนเป็นกรณีนำร่องแล้ว เช่น บริษัท เอสบีซี อบาคัส จำกัด สถาบันวิทยสิริเมธี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นต้น ทั้งนี้ผู้สำเร็จการศึกษา จะต้องรายงานความก้าวหน้าการทำวิจัยทุก 6 เดือน และในการประชุมครั้งนี้ได้มีมติให้เพิ่มหน่วยงานเอกชนอีก 1 แห่ง คือ บริษัท ฮอทิเจนเนติคส์ รีเสิร์ช (เอส.อี.เอเซีย) รวมเป็น 47 แห่ง

การที่นักวิจัยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ได้เข้าร่วมในหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในหน่วยงานเอกชน ตามที่มีแผนพัฒนาร่วมกัน นับว่าเป็นการขยายฐานการวิจัยเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศได้ตรงจุด

รวมทั้งทำให้นักวิจัยได้รับการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรที่เหมาะสม ทันสมัยจากภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดขวัญกำลังใจที่จะสร้างงานวิจัยตอบแทนประเทศ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการให้ทุน พสวท. คือ ต้องการสร้างนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ศักยภาพสูงมาร่วมพัฒนาประเทศ

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติให้ปรับเพิ่มสาขาวิชาที่สามารถเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรีสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เพื่อตอบโจทย์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ภายใต้แนวคิดที่ว่า ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต”

“5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (FIRST S-CURVE) คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร

5 อุตสาหกรรมอนาคต (NEWS - CURVE) คือ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร”

จากเดิมการรับทุน พสวท. ระดับปริญญาตรี สามารถเลือกศึกษาได้เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ 6 สาขาวิชา (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีวิทยา และพฤกษศาสตร์) จึงได้ปรับเพิ่มให้สามารถเลือกศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้ โดยให้พิจารณาสัดส่วนระหว่างวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์กับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ อีก 42 หลักสูตร

เช่น จุลชีววิทยา เคมีบูรณาการ เคมีอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาการข้อมูล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพรังสี วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. 1,732 คน เข้าปฏิบัติงานตอบแทนทุนตามหน่วยงานต่าง ๆ 1,692 คน อยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าตอบแทนทุน 40 คน

ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาได้สร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมาก และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ 19 คน ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในระดับชาติและนานาชาติ และทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ 62 รางวัล

และยังมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ ขณะที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนหนึ่งได้สร้างนวัตกรรม งานวิจัย พัฒนา และสื่อสารข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 ที่ถูกต้อง

ในส่วนของการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษาทุน สควค. และเข้าปฏิบัติงานในโรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษา 5,397 คน ซึ่งนอกจากได้ปฏิบัติงานสอน พัฒนาและส่งเสริมนักเรียนให้ได้รับรางวัลในเวทีการประกวดต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว

ยังมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนของประเทศ โดยร่วมเป็นวิทยากรแกนนำในโครงการต่าง ๆ ของ สสวท. ร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการต่าง ๆ ของ สพฐ. ตลอดจนได้รับรางวัลหนึ่งครูแสนดี 44 คน รางวัลครูสอนดี ครูดีเด่น ครูดีเยี่ยม ครูดีในดวงใจ 94 คน รางวัล OBEC AWARDS 18 คน รางวัลวิจัยคุรุสภา 9 คน รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น 4 คน และรางวัลอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และบางส่วนได้รับเชิญเป็นกรรมการระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ สสวท.ได้เสนอขออนุมัติการดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2564-2567) โดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้าน Digital Literacy การทำวิจัยในชั้นเรียน และการนำการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ หรือใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี


ที่มา: https://moe360.blog/2021/03/17/new-engine-of-growth/?fbclid=IwAR0sOF03nwgjp4N7QP684Q-jXmi4p9iT4d26ZdYz7W41cZHenZtPrNGJZw4

ข่าวดี! โอกาสมาแล้วสำหรับผู้ที่กำลังรอสอบบรรจุข้าราชการ มาเตรียมตัว เช็คความพร้อมกับการสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2564 จำนวน 4,000 กว่าอัตรา ใครที่รอสอบอยู่ตอนนี้ รีบไปสมัครเลย!

เงื่อนไข คุณสมบัติ

- ช - ญ สัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ทั่วประเทศ

- เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ

- ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

- ไม่เป็นผู้มีการทุพพลภาพจนไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้

- เริ่มสมัครออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 9 - 31 มี.ค. 2564

- รับสมัครผ่านเว็บไซต์เท่านั้นที่ http://www.dlaapplicant2564.com

ดาวน์โหลด!! ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564

http://27.254.40.48/Docs/2564-02-09/enroll-notice/ประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน%20ปี%2064.pdf


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top