เปิด (ปม) ภาคการศึกษา

UNESCO เปิดเผยข้อมูลว่า เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 คือมากถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้นับเฉพาะที่เรียนในโรงเรียนเท่านั้น ยังไม่นับรวมเวลาเรียนพิเศษอื่น ๆ การเรียนอย่างหนักหน่วงของเด็กไทยที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้ก่อให้เกิดผลดี แต่อาจนำมาสู่ผลร้ายมากกว่าที่คิด

แม้เด็กไทยจะเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมการศึกษาไทยถึงรั้งท้าย ไร้คุณภาพ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญที่สังคมมองข้าม ทั้ง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของเด็ก

เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา เกือบครึ่งชีวิตของเด็กคนหนึ่งต้องต่อสู้อยู่ในระบบการศึกษาที่เพิ่มพูนความรู้ แต่กลับลดทอนความสุขในชีวิต เมื่อต้องแบกรับทั้งความกดดันจากครอบครัว ความคาดหวังในตัวเอง รวมถึงค่านิยมของสังคม ทำให้ตระหนักคิดได้ว่า ความรู้ที่จะใช้ประกอบอาชีพในอนาคตก็สำคัญ แต่ความสุขของพวกเขาก็ควรจะสำคัญไม่แพ้กัน

ปัญหาการเรียนที่หนักหนาสาหัสของเด็กไทย นอกจากจะนำไปสู่ความกดดัน การเปรียบเทียบ ความเครียด สิ่งที่น่าเป็นห่วงและเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีและตรงจุด คือประเด็นเกี่ยวกับ 'สุขภาพจิต'

ภาวะซึมเศร้า โรคเครียด ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กไทย เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาตลอด เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมานานมากแล้ว จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ที่นำเสนอประเด็นการฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียน นักศึกษา หลายต่อหลายเหตุการณ์ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร หากมองให้ลึกลงไปถึงต้นตอจะพบกับความโหดร้ายของระบบที่คร่าหลายชีวิตไปอย่างไม่ใยดี

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา เกิดเหตุนักเรียนหญิงชั้น ม.1 ใน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ป่วยโรคซึมเศร้ากระโดดอาคารเรียน 4 ชั้น หลังเลิกเรียนเสียชีวิตคาที่ ด้านแม่ของนักเรียนหญิงที่เสียชีวิตเปิดเผยว่า ลูกสาวของตนป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาปีกว่าแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาอาการ ต้องไปพบจิตแพทย์

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 64 ตำรวจและเจ้าหน้าที่การแพทย์ได้รับแจ้งเหตุนักศึกษาหญิงชั้น ปี 2 รายหนึ่งได้ฆ่าตัวตายที่ห้องพักย่านราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้สอบถามรายละเอียดของผู้เสียชีวิตจากญาติ โดยได้รับทราบว่า นักศึกษาคนดังกล่าว เป็นคนเรียนดีมาตลอด แต่หลังจากมีการเรียนออนไลน์และต้องทำรายงานส่งครู ทำให้ผู้เสียชีวิตเผชิญกับการนอนดึกไม่ต่ำกว่าตีสี่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ

เหตุการณ์ที่หยิบยกมา เป็นเพียงแค่ตัวอย่างจากหลายสิบโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นมาตลอด แท้จริงแล้วปัญหาเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลย หรืออย่างน้อยก็น่าจะสามารถยับยั้งเหตุการณ์ไม่ให้รุนแรงขนาดนี้ได้ โดยเฉพาะหากได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันหลักอย่างครอบครัว

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เผยผลวิจัย "โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21" พบว่า ความสุขเด็กไทยวัยเรียนเหลือน้อย วัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นเป็นผลมาจากการสะสมความเครียดจากโครงสร้างครอบครัวที่มีความพร้อมแตกต่างกัน, ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพสถานศึกษาและการแข่งขันในระบบการศึกษา รวมถึงความคาดหวังจากคนใกล้ตัว

ในยุคนี้ บางครอบครัวเริ่มส่งให้ลูกหลานของตัวเองเรียนพิเศษ กวดวิชากันอย่างหนัก เพราะอยากให้ลูกเข้าโรงเรียนดี เด่น ดัง อีกสาเหตุหนึ่งคือโรงเรียนส่วนใหญ่จะมีการประกาศผลสอบ เมื่อนักเรียนคนไหนสอบได้ที่ 1 หรือสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดังได้ ก็จะประกาศเชิดชูแสดงความยินดีหน้าโรงเรียน ทำให้พ่อแม่ และตัวเด็กเองเกิดการแข่งขัน

เพราะครอบครัวเป็นสถาบันหลัก เป็นด่านแรกในการบ่มเพาะปลูกฝัง สร้างค่านิยมและเสริมสร้างทรัพยากรในตัวให้เด็ก พร้อมไปเผชิญกับค่านิยมความคาดหวังของสังคม พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองชีวิตของลูก ไม่ใช่การขีดเส้นใต้ให้ทำตามที่สิ่งที่อยากให้เป็น เคยหันไปถามลูกไหม ว่าสิ่งที่เราอยากให้เขาทำ กับสิ่งที่เขาอยากทำ มันเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เคยบอกเขาไหมว่าไม่ต้องกดดัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรหรือเลือกทางไหน จะยอมรับในตัวตนและการตัดสินใจของเขา  

หากบ้านหรือโรงเรียนถูกสร้างให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ครู-นักเรียน มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ก็จะสามารถช่วยให้วัยรุ่นมีสุขภาพจิตแข็งแรง ห่างไกลจากความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้ เลิกโทษเด็กว่าจิตใจไม่เข้มแข็ง ลองย้อนกลับมามองการกระทำของตัวเอง ก่อนที่อะไรจะสาย จนนำไปสู่เหตุการณ์ความสูญเสียที่คุณจะไม่มีวันได้เขากลับคืน

.

อ้างอิงข้อมูล:  https://www.thaihealth.or.th/Content/51292-ห่วงความสุขเด็กไทยในวัยเรียนเหลือน้อย

.