Saturday, 20 April 2024
PRESS

เปิดกลยุทธ์ WICE ขนส่งข้ามแดนแบบครบวงจร ตั้งเป้า!! ขอเป็นโลจิสติกส์ชั้นนำแห่งเอเชียใน 3 ปี

(19 พ.ย. 65) นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำบริการโลจิกติกส์ครบวงจรที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียภายในปี 2568

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนระยะกลาง (ปี 2566-2568) มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันมากขึ้นระหว่างบริษัทย่อยทั้งหมด 9 แห่ง เพื่อขยายตลาดให้กับบริษัทในเครือ รองรับปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น อาทิ ประเทศจีน และ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตเป็นอย่างมากทั้งการขนส่งทางทะเลและทางอากาศ โดยมีแผนการขยายสำนักงานและบุคลากร อีกทั้งจุดเด่นของบริษัทในการใช้กลยุทธ์เข้าถึงลูกค้าในพื้นที่ด้วยการบริหารการขนส่ง และบริการหลากหลาย อาทิ การให้บริการส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container) การขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มตู้ (LTL : Less-Than-Truckload)

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนความร่วมมือกับพันธมิตร ที่จะเปิดสาขาใหม่ไปยังประเทศในทวีปเอเชียที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ ประเทศเวียดนาม ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้ นอกจากเป็นการขนส่งสินค้าและการขยายเส้นทางครอบคลุมทั่วภูมิภาคแล้ว ยังมีผลดีด้านการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มกำไรให้กับบริษัทอีกด้วย

ขณะที่แผนการเพิ่มบริการขนส่งสินค้าไปยังประเทศกลุ่มลูกค้าหลักประเทศสหรัฐฯ ท่ามกลางปัญหาด้านค่าระวางเรือที่ปรับตัวลดลง แต่บริษัทมีการบริหารต้นทุนค่าขนสงร่วมกับบริษัทในเครือเพื่อรักษาอัตรากำไร อีกทั้งปริมาณการขนส่งยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่เมื่อค่าระวางเรือกลับมาอยู่ในระดับปกติ จะส่งผลปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากสินค้าประเภทกลุ่มชิ้นสวนยานยนต์, กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน บริษัทมีแผนการเพิ่มสัดส่วนการขนสงของสินค้าประเภทอาหารมากขึ้น

ผบ.ตร. สรุปเหตุการณ์ APEC 2022 ขอบคุณประชาชน เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทุกนายร่วมปฏิบัติ ร่วมมือกันเป็นเจ้าภาพที่ดี พอใจประชุมเอเปคเรียบร้อย

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจร แถลงภายหลังการประชุมสรุปการปฏิบัติงาน และปิดกอ.ร่วมฯ ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.กอ.ร่วมฯ มอบหมายให้ตน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ และแถลงปิด กองอำนวยการร่วมฯ ที่ร่วมกันปฏิบัติภารกิจ ตั้งแต่วันที่  14 – 20 พฤศจิกายน 2565 

“ผลการปฏิบัติในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์การประชุมฯ เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ต่อประเทศไทย การรักษาความปลอดภัยและการจราจร ถือเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการประชุมฯ ครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ยังคงมีภารกิจที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยยังคงเหลือเขตเศรษฐกิจเอเปค 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย ปาปัวนิวกินี จีนไทเป สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ที่จะเดินทางกลับประเทศตามกำหนดการทั้งหมดในวันนี้ โดยกองอำนวยการร่วมฯ ยังต้องคงความเข้มข้นในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จนกว่าภารกิจจะเสร็จสิ้น” ผบ.ตร. กล่าว 

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ กล่าวว่า  ตามแผนรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก ในการจัดตั้งกองอำนวยการร่วมฯ บูรณาการทุกภาคส่วน ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ จนกว่าจะเสร็จสิ้นการประชุมฯ นั้น ภาพรวมการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ดังนี้ 

1. การรับแจ้งเหตุ 1599 (22 สาย) และ 191 (34 สาย) รวมจำนวน 56 เรื่อง ตรวจสอบและดำเนินการเรียบร้อยทุกเรื่อง
2. การยื่นข้อเรียกร้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 4 เรื่อง
3. บุคคลทิ้งสิ่งของ (ถังดับเพลิง) ลงไปยังพื้นผิวการจราจรวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565
4. จับกุมอาวุธมีด 4 ราย ปืนพก 1 ราย (18 พฤศจิกายน 2565 ) และโดรนผิดกฎหมาย 1 ราย (17 พฤศจิกายน 2565)
5. ตรวจพบเหตุวัตถุต้องสงสัย 8 ราย (รถยนต์ 1 รถจักรยานยนต์ 1 สิ่งของต้องสงสัย 6)
6. ดำเนินคดีบุคคลบุกรุกเข้าไปในงานเลี้ยงรับรองฯ 4 ราย (หอประชุมกองทัพเรือ)
7. การชุมนุมสาธารณะในพื้นที่ กทม. จำนวน 13 กลุ่ม โดยมีการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการชุมนุม 25 ราย ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ ประมาณ 10 กว่าราย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 14 นาย (อยู่ระหว่างพักรักษาตัวโรงพยาบาล 1 ราย) และทรัพย์สินของทางราชการเสียหายหลายรายการ (รถกระบะ 4 คัน ฯลฯ)  อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนฯ นอกจากนี้มีข้าราชการตำรวจเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ 1 ราย ด้วยเหตุโรคประจำตัว ปฏิบัติหน้าที่จุดคัดกรอง ณ โรงแรมดิแอทธินี

‘สี จิ้นผิง’ เยือนทำเนียบฯ หารือความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน พร้อมพัฒนาความมั่นคง โครงสร้างพื้นฐาน และรถไฟไทย-จีน

วันที่ 19 พ.ย. 65 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และศาสตราจารย์เผิง ลี่หยวน ภริยา ได้ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึก ณ บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กห. ให้การต้อนรับ

โดยการเยือนไทยของประธานสีในรอบนี้ นับว่าเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ทั้งสองร่วมกันหารือถึงการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือ โดยนายกฯ ฝ่ายไทย เสนอให้เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ และหารือยุทธศาสตร์ในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคง

'ลุงตู่' ขอบคุณ 'ลุงสี' ไฟเขียว #พาเด็กไทยกลับจีน แล้วถึง 6 เที่ยวบิน รวมยอด 1,127 คน

เมื่อบ่ายวันที่ 19 พ.ย. 65 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำทีมประเทศไทยประชุมเต็มคณะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และคณะผู้แทนฝ่ายจีน ในโอกาสเยือนไทย ระหว่างการประชุม APEC 2022 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณจีนที่อนุญาตให้นักศึกษาไทยทยอยกลับไปศึกษาต่อในจีนได้ รวมทั้งพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง ซึ่งประธานาธิบดีจีนกล่าวว่า จีนและไทยเป็นเหมือนพี่น้องและญาติมิตร จีนส่งเสริมให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายเดินทางไปมาหาสู่กันได้ หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาโควิด-19 ได้สำเร็จด้วยดี เชื่อว่าหากทุกฝ่ายสามัคคีร่วมมือกัน จะนำไปสู่ผลประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนได้ในระยะยาว

ถอดรหัสสุนทรพจน์ 'สี จิ้นผิง' ที่ APEC 2022 แย้ม!! จีนอาจเปิดประเทศกลางปี 2023

ในสุนทรพจน์ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 29 ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ในหัวข้อ ‘สามัคคี ร่วมมือ และกล้ารับผิดชอบ เพื่อประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของเอเชียแปซิฟิก’ 

มีข้อความท่อนหนึ่งที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวไว้ว่า... 

“ในปีหน้าจีนจะพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฟอรัมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 เพื่อเพิ่มพลังขับเคลื่อนใหม่แก่การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก”

'บิ๊กตู่' เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันรับ ‘สี จิ้นผิง’ พร้อมหารือข้อราชการต่อ หลังประชุมเอเปค

ประชุมเสร็จแล้ว แต่ยังต้องคุยงานต่อ!!

เสร็จสิ้นไปแล้ว กับการประชุม APEC 2022 ในวันที่ 19 พ.ย. 65 โดยลำดับถัดไป ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ถูกรับเชิญให้เข้าร่วมหารือข้อราชการกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และร่วมเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันซึ่งนายกรัฐมนตรีและภริยาเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและภริยา รวมถึงคณะฝ่ายจีน

สำหรับประเด็นที่ผู้นำจีนได้นำเสนอไว้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งการปลุกประชาคมเอเชียแปซิฟิกให้จับมือร่วมกันต่อต้าน 'สงครามเย็นใหม่' ที่ถูกผลักดันโดยมหาอำนาจใหญ่, การกล่าวว่า “ภูมิภาคนี้ไม่ใช่สวนดอกไม้ของใคร อย่าใช้เป็นพื้นที่ถ่วงดุลอำนาจ”, การสร้าง 'ปาฏิหาริย์แห่งเอเชียแปซิฟิก' และการย้ำกับสมาชิกเอเปค ให้จับมือฝ่าฟันอุปสรรค-ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ให้ร่วมมือกันอย่างสมัครสมานสามัคคี

ความสัมพันธ์ 'ไทย-ฝรั่งเศส' จากอดีตถึงปัจจุบัน สู่การยกระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2024

จากภาพปรากฏตั้งแต่ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก้าวเท้าเข้าสู่ทำเนียบและเข้าทักทายนายกรัฐมนตรีของไทย ด้วยความจริงใจและดูนอบน้อม ในฐานะแขกรับเชิญคนสำคัญจากประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุม APEC 2022 หนนี้

ยิ่งทำให้รู้สึกถึงแนวโน้มอันดีงามในการหารือแบบทวิภาคีของ ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ โดยเฉพาะในแง่ของความคืบหน้าการยกระดับสถานะความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ระหว่างกันภายในปี ค.ศ. 2024 

โดยเชื่อว่า ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ จะได้มีการเผยแพร่ถ้อยแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือเร่งด่วนที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการก่อนตามแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (2022-2024) ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ กรุงปารีส ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่... การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ ประชาชน และประเด็นระดับโลก 

ภาพความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่าง ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ จะเป็นเช่นไร อาจจะยังตอบแบบชัดๆ ได้ยาก แต่ถ้าย้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต้องขอบอกว่า ไทยและฝรั่งเศส มีการเจริญสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันในหลายด้านแล้วด้วย

>> ด้านการทูต : พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีในปี 2228 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีทางการค้าและการเดินเรือ (Treaty - of Friendship, Commerece and Navigation) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2399 

>> ด้านการเมือง : ดำเนินไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสได้รับการยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยมีแผนปฎิบัติการร่วมไทย - ฝรั่งเศส ความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน และสามารถปฎิบัติได้จริงในช่วง 5 ปี ครอบคลุมทั้งด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และความร่วมมือระหว่างประเทศ ฯลฯ

>> ด้านเศรษฐกิจ : มีการส่งออกของไทย และสินค้าที่นำเข้าจากฝรั่งเศสหลายประการ ได้แก่...
- สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ เลนส์แว่นตา เครื่องนุ่งห่ม อัญมณี เครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว
- สินค้านำเข้าจากฝรั่งเศส ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง

>> ด้านการร่วมมือด้านการค้า : ในภาครัฐ มีคณะทำงานร่วมด้านการค้าไทย-ฝรั่งเศส และมีการจัดทำข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (The High Level Economic Dialogue between Thailand and France) ปี 2553-2557 ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือและส่งเสริมผลประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างสองประเทศทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบ

>> ด้านการทหารและความมั่นคง : ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดผ่านกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือด้านการฝึกปฎิบัติการร่วมทางเรือ การแลกเปลี่ยนการเยือนของนายทหารในระดับผู้นำเหล่าทัพและผู้บังคับบัญชาระดับสูง และการลงนามข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือด้านการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ การวิจัยและการพัฒนา การทหาร การส่งกำลังบำรุง และความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์

จากอดีต มาสู่ปัจจุบัน ซึ่งหากลองพิจารณาถึงการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส (2022 - 2024) ที่ลงนามไว้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านประชาชน และประเด็นประดับโลกนั้น จะมีความน่าสนใจใดให้ติดตามต่อบ้าง...

>> ด้านการเมืองและความมั่นคง : ทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมจัดตั้งกลไกการเจรจา 2+2 (กระทรวงการต่างประเทศ + กระทรวงกลาโหม) การสนับสนุนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการจัดทำความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างไทยกับฝรั่งเศสโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง สำหรับด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีกับความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิด บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ตลอดจนยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด -แปซิฟิกรวมถึงไทย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกการหารือ 2+2 dialogue ไทย - ฝรั่งเศส เพื่อหารือในประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสเห็นว่า ไทยกับฝรั่งเศสมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อใจและความใกล้ชิดระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย การสร้างฐานอุตสาหกรรมในประเทศไทยการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยทางทะเล เป็นต้น

>> ด้านเศรษฐกิจ : ทั้ง 2 ฝ่ายยินดีกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยเห็นพ้องกันว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก ซึ่งรัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC

>> ด้านประชาชน : ทั้ง 2 ฝ่ายย้ำความสำคัญของการเดินทางที่ปลอดภัยโดยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค การเพิ่มพูนการฝึกอบรมวิชาชีพและการศึกษาให้บุคลากรไทยเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจของฝรั่งเศส และยินดีที่ปีหน้ากำหนดให้เป็นปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566)

>> ด้านการศึกษาและวิชาการ : ไทยกับฝรั่งเศสมีความร่วมมือในด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในความตกลงด้านการศึกษาระหว่างกันได้ ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

>> สำหรับประเด็นเร่งด่วนระดับโลก : เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การรับมือกับโรคระบาดรวมถึงย้ำความเป็นหุ้นส่วนที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแสวงหาทางออกที่สันติผ่านการหารือต่อความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ในยูเครนและในเมียนมา เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานของโลกรวมถึงการเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของสหประชาชาติภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

ฟ้าเปิด!! สินค้าเกษตรไทย หลังปิดฉาก APEC 2022 คาด!! กลุ่มพรีเมียมมาแรง แซงป้ายเข้าตลาดจีน

เป็นข่าวดีของคนไทยที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ประเทศจีนกับกระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย ซึ่งจะมีการลงนามในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและสินค้าไทย สามารถเข้าถึงตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนได้ 

โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูปและผลไม้พรีเมียมของไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในจีน ปัจจุบันจีนมีตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่มาก โดยปี 2564 มีมูลค่าการค้าสูงถึง 77.55 ล้านล้านบาท มียอดผู้ซื้อออนไลน์ประมาณ 842.1 ล้านคน

นี่จึงเป็นสิ่งเราต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า หากมีการลงนามเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรไทยควรจะพัฒนาสินค้าเกษตร ที่อยู่ในมือของตัวเองอย่างไรให้พรีเมี่ยม วันนี้ทีมข่าว THE STATES TIMES จะพามารู้จักแนวคิด ต้นแบบการทำสินค้าเกษตรไทยให้พรีเมียม โดยคุณวันทนา ศรีอาคาร ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท สหพันธ์ฟู้ดส์ จำกัด ที่นำเอาปลาโอ ปลาทูน่ามาแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบของทูน่าหยอง ยกระดับสินค้าให้พรีเมียม

โดยจุดเริ่มต้นของการทำทูน่าหยอง เริ่มจากการที่เจ้าของธุรกิจมีแพปลาเป็นของตัวเอง ซึ่งปลาที่นำมาผลิตเป็นปลาทูน่า ปลาโอของไทย และได้นำมาแปรรูปเป็นทูน่าหยองโดยจะมีลักษณะคล้าย หมูหยอง หรือ ไก่หยอง ซึ่งในทูน่าหยองนั้นจะมีโอเมก้าที่ได้จากปลา สามารถตอบโจทย์คนรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การผลิตยังใช้เนื้อปลาล้วน 100% รวมถึงแยกก้างปลาออกและเอาแค่เนื้อปลาล้วนมาแปรรูป

ทูน่าหยองถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในไทยยังไม่เคยมีใครทำ นี่ถือว่าเป็นแบรนด์เจ้าแรก ๆ ที่เริ่มผลิตและขาย สำหรับกลยุทธ์ในการทำการตลาดนั้นจะเน้นขายออนไลน์ และเปิดตัวสินค้าตามบูธในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ โดยทางแบรนด์ยังเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ที่ให้การสนับสนุนเรื่อง R&D แนะนำและให้องค์ความรู้ในการต่อยอดธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนะนำเรื่องการปรับปรุงแพคเกจจิ้งให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ตั้งแต่ได้รับคำปรึกษาและความรู้เหล่านั้น ทางแบรนด์นำมาปรับปรุงให้สินค้ายกระดับมาตรฐานให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันทูน่าหยองมีราคากระปุกละ 65 บาท ขนาด 50 กรัม เก็บรักษาได้ประมาณ 4 เดือน

นี่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจให้เกษตรกรไทยนำไปปรับใช้ได้ คือการมองหาสิ่งที่แตกต่าง แปลกใหม่ ดึงจุดเด่นของตัวเองที่ไม่เหมือนกับคนอื่นออกมา 

หรือจะมาดูตัวอย่างสินค้าอีกชนิดที่น่าสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ นั่นคือ 'มะพร้าว' คุณรู้หรือเปล่าว่าจีนปลูกมะพร้าวได้ แต่กำลังการผลิตคิดเป็น 10% ของความต้องการบริโภคเท่านั้น สถิติปี 2564 มณฑลไห่หนานมีกำลังการผลิตมะพร้าวได้ 250 ล้านลูก แต่ตลาดจีนมีความต้องการบริโภคมะพร้าวสูงถึง 2,600 ล้านลูก ยังไม่รวมความต้องการมะพร้าวเพื่อการแปรรูปอีก 150 ล้านลูก 

เมื่อมามองที่มะพร้าวไทยส่งออกไปจีน พบว่าช่วง 9 เดือนแรก ปี 2565 ประเทศจีนนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลาจากไทยไปแล้ว 382,539 ตัน ปริมาณเพิ่มขึ้น 68.55% (YoY) รวมมูลค่า 2,169 ล้านหยวน หรือเกือบ 11,500 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้น 64.59% (YoY) โดย ‘มะพร้าวไทย’ครองสัดส่วน 48.26% ของปริมาณการนำเข้ารวม และคิดเป็นสัดส่วน 73.38% ในแง่มูลค่าการนำเข้ารวม โดยอินโดนีเซีย (30.77%) เวียดนาม (20.59%) เป็น ‘คู่แข่ง’ ที่ต้องจับตามอง นี่จึงทำให้เห็นว่าหากเกษตรกรมาจับ ‘มะพร้าวไทย’ แล้วส่งออกไปจีน บอกเลยว่าอนาคตสดใส

‘สี จิ้นผิง’ ประกาศ เตรียมจัดฟอรั่ม BRI ปี 66 ฟื้นเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขยายฐานลงทุน

(18 พ.ย. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงหนึ่งของการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งมีแผนจัดฟอรั่มการประชุม 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3' (3rd Belt & Road Forum for International Cooperation) ในปีหน้า ซึ่งจะเป็นครั้งแรกหลังโลกผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ด้วย

โดยโครงการ Belt & Road หรือ BRI เป็นผลงานโดดเด่นที่ริเริ่มโดยประธานสี เป็นโครงการเพื่อส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค โดย ฟอรั่มการประชุม 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ' เคยถูกจัดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วสองหน ในปี ในปี 2560 และ 2562

แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการ 'โควิดเป็นศูนย์' ของจีน ทำให้ห่างหายจากฟอรั่มการประชุมดังกล่าวไป

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนได้เริ่มผ่อนปรนการใช้นโยบายปลอดโควิดที่เข้มงวด แม้จะต่อสู้กับการแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ โดยนักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่าจะมีการเปิดประเทศมากกว่านี้ที่ในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน ปี 2566

ก้าวสำคัญ!! มิตรภาพ ‘ไทย-ซาอุดีอาระเบีย’ เปิดประตูเชื่อมหลากประเทศในโลกมุสลิม

การเสด็จเยือนประเทศไทยของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย และแขกพิเศษการประชุมผู้นำเอเปคครั้งที่ 29 ในวาระเดียวกัน เป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อไทยที่เพิ่งฟื้นคืนเป็นปกติ และมองอนาคตร่วมกันอย่างมีนัยสำคัญ 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียที่คืบหน้านี้ ทาง ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นกับ THE STATES TIMES ไว้ว่า…

“ความสัมพันธ์มีความคืบหน้าไปมากหลังจากรัฐบาลไทย ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ ทำให้มีความคืบหน้าด้านการทูต และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้เดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ผมคิดว่าได้ประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนทางการค้า การลงทุนในหลายเรื่อง ที่สำคัญและโดดเด่น คือการขอให้ซาอุดีอาระเบียช่วยสนับสนุนไทยทำความตกลงทางการค้า FTA กับกลุ่มประเทศร่ำรวยน้ำมัน ได้แก่ โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงคูเวต เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันซึ่ง FTA (Free Trade Area) หรือ เขตการค้าเสรี ในปัจจุบันประเทศไทยมี FTA กับกลุ่มประเทศในอาเซียน แต่ไม่มีในตะวันออกกลาง ผมคิดว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนทางการค้าระหว่างกันซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

ส่วนของตลาดแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบีย หลังจากฟื้นฟูความสัมพันธ์ ดร.ศราวุฒิ ให้ความเห็นว่า “ตลาดแรงงานของซาอุดีอาระเบียได้เปลี่ยนแปลงไป เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เมื่อ 30 - 40 ปีที่แล้ว ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่เจริญเติบโตจากการขายน้ำมันและมีภูมิประเทศเป็นทะเลทราย ซึ่งเขาต้องการพัฒนาประเทศให้อยู่ดีกินดี สร้างความทันสมัย เจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้นแรงงานที่ไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียในอดีต คือ แรงงานที่ไปสร้างวัตถุปัจจัยต่าง ๆ แต่ในวันนี้ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศร่ำรวย ประชาชนมีสวัสดิการดี บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทันสมัยไปเรียบร้อยแล้ว รูปแบบของตลาดแรงงานวันนี้จึงกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน ภายใต้วิสัยทัศน์ 2030 โดยต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ความต้องการแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ และรวมถึงการเปิดรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้กลายเป็นการเปิดกว้างแก่แรงงานและนักลงทุนทั่วโลก ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้วิสัยทัศน์ 2030 กลายเป็นจริง” 

ในด้านการท่องเที่ยวและความมั่นคงทางอาหาร ก็เป็นอีกประเด็นที่ซาอุดีอาระเบียมุ่งเน้นผลักดันไม่แพ้กัน ซึ่ง ดร.ศราวุฒิ เห็นว่า “ประเทศซาอุดีอาระเบียพยายามผลักดันเรื่องการท่องเที่ยว ปัจจุบันซาอุฯ เป็นศูนย์กลางศาสนสถานของโลกมุสลิม และมีผู้ศรัทธาไปแสวงบุญ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ทำให้มีรายได้เข้าประเทศ นอกจากนี้ยังพยายามขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่น ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ท่องเที่ยวย่านที่ติดทะเลแดง มีโบราณสถานหลายแห่ง ที่เป็น Unseen ของโลก ตรงนี้ผมคิดว่าประเทศไทยสามารถที่จะเข้าไปประสานความร่วมมือและมีอะไรที่สนับสนุนกันได้ นอกจากนี้ยังมองเห็นปัญหาทางด้านความมั่นคงทางอาหารของซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลัง ประสบปัญหาราคาอาหารสูงขึ้นและกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียต้องนำเข้าอาหารจากโลกเยอะมาก และประเทศไทยได้ร่วมสนับสนุนซาอุดีอาระเบียเรื่องของไก่และเรื่องของอาหารฮาลาล จึงเป็นความร่วมมือที่ประเทศไทยอาจได้ประโยชน์ในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ส่วนความร่วมมือทางการเกษตรก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียมีศักยภาพในการผลิตปุ๋ยได้ในราคาถูก และประเทศไทยก็มีความต้องการให้บริษัทผู้ผลิตปุ๋ยในประเทศซาอุดีอาระเบียส่งออกปุ๋ยให้กับประเทศไทยในราคาสมเหตุสมผล”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top