ก้าวสำคัญ!! มิตรภาพ ‘ไทย-ซาอุดีอาระเบีย’ เปิดประตูเชื่อมหลากประเทศในโลกมุสลิม

การเสด็จเยือนประเทศไทยของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย และแขกพิเศษการประชุมผู้นำเอเปคครั้งที่ 29 ในวาระเดียวกัน เป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อไทยที่เพิ่งฟื้นคืนเป็นปกติ และมองอนาคตร่วมกันอย่างมีนัยสำคัญ 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียที่คืบหน้านี้ ทาง ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นกับ THE STATES TIMES ไว้ว่า…

“ความสัมพันธ์มีความคืบหน้าไปมากหลังจากรัฐบาลไทย ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ ทำให้มีความคืบหน้าด้านการทูต และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้เดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ผมคิดว่าได้ประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนทางการค้า การลงทุนในหลายเรื่อง ที่สำคัญและโดดเด่น คือการขอให้ซาอุดีอาระเบียช่วยสนับสนุนไทยทำความตกลงทางการค้า FTA กับกลุ่มประเทศร่ำรวยน้ำมัน ได้แก่ โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงคูเวต เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันซึ่ง FTA (Free Trade Area) หรือ เขตการค้าเสรี ในปัจจุบันประเทศไทยมี FTA กับกลุ่มประเทศในอาเซียน แต่ไม่มีในตะวันออกกลาง ผมคิดว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนทางการค้าระหว่างกันซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

ส่วนของตลาดแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบีย หลังจากฟื้นฟูความสัมพันธ์ ดร.ศราวุฒิ ให้ความเห็นว่า “ตลาดแรงงานของซาอุดีอาระเบียได้เปลี่ยนแปลงไป เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เมื่อ 30 - 40 ปีที่แล้ว ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่เจริญเติบโตจากการขายน้ำมันและมีภูมิประเทศเป็นทะเลทราย ซึ่งเขาต้องการพัฒนาประเทศให้อยู่ดีกินดี สร้างความทันสมัย เจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้นแรงงานที่ไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียในอดีต คือ แรงงานที่ไปสร้างวัตถุปัจจัยต่าง ๆ แต่ในวันนี้ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศร่ำรวย ประชาชนมีสวัสดิการดี บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทันสมัยไปเรียบร้อยแล้ว รูปแบบของตลาดแรงงานวันนี้จึงกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน ภายใต้วิสัยทัศน์ 2030 โดยต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ความต้องการแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ และรวมถึงการเปิดรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้กลายเป็นการเปิดกว้างแก่แรงงานและนักลงทุนทั่วโลก ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้วิสัยทัศน์ 2030 กลายเป็นจริง” 

ในด้านการท่องเที่ยวและความมั่นคงทางอาหาร ก็เป็นอีกประเด็นที่ซาอุดีอาระเบียมุ่งเน้นผลักดันไม่แพ้กัน ซึ่ง ดร.ศราวุฒิ เห็นว่า “ประเทศซาอุดีอาระเบียพยายามผลักดันเรื่องการท่องเที่ยว ปัจจุบันซาอุฯ เป็นศูนย์กลางศาสนสถานของโลกมุสลิม และมีผู้ศรัทธาไปแสวงบุญ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ทำให้มีรายได้เข้าประเทศ นอกจากนี้ยังพยายามขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่น ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ท่องเที่ยวย่านที่ติดทะเลแดง มีโบราณสถานหลายแห่ง ที่เป็น Unseen ของโลก ตรงนี้ผมคิดว่าประเทศไทยสามารถที่จะเข้าไปประสานความร่วมมือและมีอะไรที่สนับสนุนกันได้ นอกจากนี้ยังมองเห็นปัญหาทางด้านความมั่นคงทางอาหารของซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลัง ประสบปัญหาราคาอาหารสูงขึ้นและกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียต้องนำเข้าอาหารจากโลกเยอะมาก และประเทศไทยได้ร่วมสนับสนุนซาอุดีอาระเบียเรื่องของไก่และเรื่องของอาหารฮาลาล จึงเป็นความร่วมมือที่ประเทศไทยอาจได้ประโยชน์ในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ส่วนความร่วมมือทางการเกษตรก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียมีศักยภาพในการผลิตปุ๋ยได้ในราคาถูก และประเทศไทยก็มีความต้องการให้บริษัทผู้ผลิตปุ๋ยในประเทศซาอุดีอาระเบียส่งออกปุ๋ยให้กับประเทศไทยในราคาสมเหตุสมผล”

เมื่อถามถึงในส่วนบทบาทของซาอุดีอาระเบียในการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยนั้น ดร.ศราวุฒิ แสดงความเห็นว่า “ถึงแม้ประเทศซาอุดีอาระเบียไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปค แต่เป็น ‘แขกพิเศษ’ ของรัฐบาลไทย ที่จะเดินทางมาร่วมสังเกตการณ์และประชุมเอเปคครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญในการประชาสัมพันธ์ วิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดีอาระเบียให้กับสมาชิกกลุ่มเอเปคทราบ”

“ทั้งนี้หนึ่งในเป้าหมายสำคัญประเทศไทยของเรา คือ ความต้องการที่จะสร้างความร่วมมือกับโลกมุสลิม การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าในโลกมุสลิมมีอยู่ 50 กว่าประเทศ การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ทำให้ภาพความสัมพันธ์ของประเทศไทยในสายตาของโลกมุสลิมดีขึ้นอย่างมาก และเราก็ทราบกันดีว่าซาอุดีอาระเบีย คือ ผู้นำของโลกมุสลิม การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย เป็นการเปิดประตูเพื่อสร้างความร่วมมือกับอีกหลายประเทศในโลกมุสลิม ซึ่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้ต้องยกเครดิตให้รัฐบาลไทยชุดนี้ ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการต่างประเทศ” ดร.ศราวุฒิ กล่าวสรุป


เรื่อง: วสันต์ มนต์ประเสริฐ Content Manager