Monday, 24 June 2024
NEWS FEED

โครงการ ‘Apple Car’ หนึ่งในอภิมหาโปรเจ็คของแอปเปิล ที่มีข่าวลือมานานหลายปี อาจใกล้ความเป็นจริงในเร็วๆ นี้ หลัง Hyundai ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ ได้เจรจาเบื้องต้นกับทาง Apple เสนอตัวเป็นฐานการผลิตให้แล้ว

โครงการรถ Apple Car ของ แอปเปิล อิงค์ ถูกลือมานานหลายปี ว่าบริษัทแห่งนี้ ซุ่มพัฒนาโครงการรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า Project Titan เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2557 แต่ในช่วงที่ผ่านมา กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และทาง Apple ยังไม่ได้เปิดเผยความคืบหน้าโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด

นั่นเพราะ การพัฒนาโครงสร้างรถยนต์ เป็นสิ่งที่ทาง Apple เองไม่มีความถนัดนัก ซึ่งในส่วนที่เป็นโครงสร้างรถยนต์อาจจะต้องหาพาร์ทเนอร์มาผลิตให้นั่นเอง

กระทั่ง เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทางสำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า Apple กำลังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และตั้งเป้าที่จะผลิตรถยนต์โดยสารภายในปี 2567 ซึ่งอาจรวมถึงการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ ที่เรียกว่า Monocell ซึ่งมีการคิดค้นขึ้นมาใหม่ด้วย

ล่าสุด มีรายงาน Hyundai แบรนด์รถยนต์ชั้นนำของเกาหลีใต้ กำลังเจรจาเบื้องต้นกับทาง Apple ถึงความเป็นไปได้ ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ ให้กับทาง Apple

Hyundai Motor ของเกาหลีใต้ เปิดเผยแถลงการณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่า บริษัทกำลังเจรจาในขั้นต้นกับบริษัทแอปเปิล อิงค์ของสหรัฐ

ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้น ภายหลังจากที่โคเรีย อีโคโนมิก เดลี รายงานว่า ทั้งสองบริษัทกำลังเจรจากันเพื่อร่วมมือกันในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรีรถยนต์

แม้ในแถลงการณ์ ของ Hyundai Motor จะไม่มีความชัดเจนมากนัก มีเพียงข้อความว่า “แอปเปิลและฮุนไดกำลังหารือกัน แต่เป็นการหารือในขั้นต้น และยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ”

แต่จากข่าวดังกล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้นฮุนไดในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ทะยานขึ้นถึง 24% ช่วงเช้าวันศุกร์ ก่อนจะลงมาเหลือบวก 19% ช่วงปิดตลาดการซื้อขาย

จากราคาหุ้นที่ตอบรับกับข่าวการเจรจาของ 2 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า ดีลนี้มีความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นจริง นั่นเพราะก่อนหน้านี้ Apple ก็มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์มาก่อนแล้วในบริการ CarPlay ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ของ Apple สำหรับการเชื่อมต่อ iPhone เข้ากับยานพาหนะ ของผู้ผลิตรถยนต์หลายราย

หาก Apple จะทำรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองอย่างจริงจริง และต้องการก้าวตามคู่แข่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้ทัน การจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ Apple ไม่ควรมองข้าม ถ้าต้องการให้ Apple Car ออกมาโลดแล่นบนท้องถนนโดยเร็วที่สุด


อ้างอิง :

https://www.reuters.com/article/idUSKBN29D02E

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด ในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด ทั้งการพักหนี้ และการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารของรัฐ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ม.ค.64 พิจารณาเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือทั้ง การพักหนี้ เช่น การพักเงินต้นไว้ก่อน โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม

รวมไปถึงการปล่อยสินเชื่อ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในพื้นที่เสี่ยง 28 จังหวัด รวมถึงใน 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด

นายอาคม กล่าวถึงแนวทางการออกมาตรการมาช่วยเหลือประชาชน 40 ล้านคน ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ว่า "ล่าสุดกำลังการพิจารณารายละเอียด สามารถทยอยออกมาได้ หลังจากออกมาตรการทางการเงินแล้ว ส่วนรูปแบบการเยียวยานั้น ต้องดูให้ละเอียด เนื่องจากลักษณะเป็นการดูแลเฉพาะกลุ่ม พร้อมประเมินสถานการณ์แพร่ระบาว่าจะยาวนานแค่ไหนด้วย"

ย้อนตำนานการนั่ง ‘เก้าอี้นายกฯ’ ในวันเด็กแห่งชาติ ที่มาเป็นอย่างไร

วันเด็กแห่งชาติปีนี้ ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติไปหนึ่งอย่าง คือการเปิดให้เด็ก ๆ ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุให้ปีนี้เด็กๆ อดนั่งเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของประเทศกันไป

เก้าอี้นายกฯ นั่นมีมานานแล้วล่ะ เพราะถ้าไม่มีเก้าอี้นายกฯ นายกฯ ก็คงไม่มีที่นั่ง ผ่ามม!! แต่นั่งแล้วใครจะเลื่อยขาเก้าอี้หรือไม่ อันนี้ก็ต้องระวัง ผ่ามม!! กลับมามีสาระกันสักนิดดีกว่า ที่มาของการเปิดให้เด็กๆ ได้เข้ามาดูห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีไทยนั้น เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2550 สมัยรัฐบาลของ พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้นได้มีการสร้าง ‘เก้าอี้นายกฯ’ อย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรก

ทำให้ในเวลาต่อมา จึงได้เปิดให้เด็กๆ เข้ามาดูห้องทำงานนายกฯ และเปิดโอกาสให้น้อง ๆ หนู ๆ ได้ทดลองนั่นเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของประเทศ นัยว่าให้เกิดแรงบันดาลใจในการใฝ่เรียนรู้ และเติบโตขึ้นมาช่วยกันพัฒนาประเทศ โดยหลังจากที่เปิดให้เด็ก ๆ ได้มีกิจกรรมดังกล่าวนี้ ปรากฎว่า กระแสดีเกินคาด ในปีถัด ๆ มา ทุกวันเด็กแห่งชาติ จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปโดยปริยายว่า ต้องมีกิจกรรมนั่งเก้าอี้นายกฯ เป็นไฮไลท์

ในมุมกลับกัน การจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ นั้นก็ต้องลงทุนด้วยเวลา โดยค่าเฉลี่ยทั้งกระบวนการของการมารอนั่งเก้าอี้นายกฯ นั้น ใช้เวลาราวๆ 2-3 ชั่วโมง ประมาณการว่าต้องตื่นราวๆ ตี 4 ตี 5 แล้วเดินทางมาให้ถึงทำเนียบฯ ในเวลา 06.00 น. เพื่อจะได้เป็นคิวแรกๆ ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีเด็กบางคน เมื่อถึงเวลาได้คิวเข้าไปนั่งเก้าอี้นายกฯ แล้ว ถึงกับผลอยหลับไปซะเฉย ๆ ไม่ใช่ว่าแอร์ห้องนายกฯ เย็น หรือตื่นเต้นจนเป็นลม แต่ด้วยความง่วงที่ตื่นเช้ามารอคิวนี่เอง เลยทำให้หลับไปเสียอย่างนั้น

ปีนี้ไม่มีภารกิจนั่งเก้าอี้นายกฯ เหมือนที่เคยเป็นมา แต่ถึงไมได้นั่ง ก็นั่งเก้าอี้ที่บ้านได้ นั่งตรงไหนก็พิเศษเหมือนกัน ถ้าเป็นเด็กดี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ รักชาติบ้านเมือง ไม่ใช่คำขวัญนะ ฝากไว้ให้กับน้อง ๆ เท่านั้นเอง

กระทรวงการท่องเที่ยว หารือข้อสรุปให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เลื่อนการจองได้โดยไม่เสียสิทธิ ภายในระยะเวลา 6 เดือน - 1 ปี โดยสถานประกอบการ หรือ โรงแรมรับเรื่องไว้ก่อนและจะดำเนินการในระบบของธนาคารกรุงไทยต่อไป

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวได้นัดสมาคมโรงแรมไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว มาหารือถึงแนวทางการเลื่อนจองห้องพักในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยจากการหารือก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลื่อนการจองได้โดยไม่เสียสิทธิ ภายในระยะเวลา 6 เดือน - 1 ปี โดยสถานประกอบการ หรือ โรงแรม รับเรื่องไว้ก่อนและจะดำเนินการในระบบของธนาคารกรุงไทยต่อไป ภายหลังธนาคารได้ดำเนินการปรับปรุงระบบแล้ว

ขณะเดียวกันทางสมาคมโรงแรมไทย ยังยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือเพิ่มเติม ทั้งการขอให้ช่วยจ่ายค่าจ้างให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวคนละครึ่งจำนวนเงินไม่เกิน 7,500 บาท เป็นเวลา 12 เดือน มาตรการพักชำระหนี้, มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบของผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) โดยขอให้ลดค่าไฟฟ้า 15% ต่อหน่วย ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวจะนำข้อเสนอทั้งหมดเข้าหารือในที่ประชุมครม.วันที่ 12 ม.ค.นี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า "ททท.ได้คุยกับสมาคมโรงแรม ให้รีบแจ้งไปถึงสมาชิกทุกคนให้ร่วมกันช่วยเหลือผู้ที่จองห้องพักในโครงการแล้วต้องการจะยกเลิกหรือเลื่อนเวลาการจองออกไป โดยให้ทุกโรงแรมรับการเลื่อนจองของประชาชนเอาไว้ก่อน โดยอาจจดเป็นรายละเอียดหลักฐานเอาไว้ เพราะตอนนี้ระบบกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ยังไม่สามารถทำการเลื่อนผ่านระบบได้ ซึ่งถ้าเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ททท.พร้อมรับผิดชอบแทน โดยเฉพาะเงินส่วนต่างที่โรงแรมจะได้รับ 40% จากรัฐบาล"

เปิดเรื่องราวการแข่งขันของสองมหาเศรษฐีอันดับ 1 และ 2 ของโลก อีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบโซส์ ที่นอกจากความร่ำรวย พวกเขายังแข่งกันสร้างอาณาจักรนอกโลกอีกด้วย

ข่าวยืนยันล่าสุดรับปี 2021 อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง Space X ขึ้นแท่นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเป็นที่เรียบร้อย ด้วยทรัพย์สินที่เขาครอบครองในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1.85 แสนล้านเหรียญ หรือ ราว ๆ 5.55 ล้านล้านบาท เบียดแซง เจฟฟ์ เบโซส์ เจ้าพ่อ Amazon คู่แข่งคนสำคัญ ที่มีทรัพย์สินมูลค่า 1.84 แสนล้านเหรียญ

สิ่งที่ทำให้ อีลอน มัสก์ มาถึงจุดสูงสุดนี้ได้ เนื่องจากปีที่ผ่านมา มูลค่าของ Tesla พุ่งทะยานถึง 7 แสนล้านเหรียญ ทำให้ Tesla กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงกว่า โตโยต้า โฟล์คสวาเกน ฮุนได GM และ ฟอร์ด รวมกัน

ซึ่ง อีลอน มัสก์ ไม่ได้ตื่นเต้นกับตำแหน่งที่คนทั้งโลกใฝ่ฝันเลยแม้แต่น้อย แค่โพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ก็แปลกดี” และ “ไปทำงานต่อได้แล้ว” แค่นั้น จบ! แยก! เป็นทัศนคติที่มักพบเจอในมหาเศรษฐีระดับโลก ที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อผลสำเร็จในการทำงานมากกว่ามูลค่าของเงินในกระเป๋า

แต่สิ่งที่ทำให้ชาวโลกสนใจยิ่งกว่าอันดับของความมั่งคั่ง คือการขับเคี่ยวกันมาอย่างสูสีราวกับแข่งเรือยาว ระหว่าง 2 อภิมหาเศรษฐีระดับโลก อีลอน มัสก์ และ เจฟ เบโซส์ ที่ไม่ใช่แค่การแข่งกันรวย แต่แข่งกันเพื่อมุ่งหน้าสู่จุดสูงสุดของความฝันของตัวเอง ที่ไม่หยุดอยู่เพียงแค่บนโลกอีกต่อไป

เบื้องหลังความสำเร็จของคู่แข่งตลอดกาลอย่าง อีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบโซส์ เริ่มต้นจากความคลั่งไคล้ในอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี และใช้โอกาสในช่วงยุคธุรกิจดอทคอมเฟื่องฟู โดย เจฟฟ์ เบโซส์ ได้ก่อตั้งร้านหนังสือออนไลน์ ทื่ชื่อว่า Amazon ในปี 1993 จนขยายตัวกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่สามารถทำรายได้มากกว่า 2.8 แสนล้านเหรียญในแต่ละปี

ด้านอีลอน มัสก์ ก็ตัดสินใจยกเลิกแผนการเรียนปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อมาลุยธุรกิจออนไลน์ของตัวเอง ด้วยการตั้งเว็บ Zip2 ในปี 1995 ที่สามารถขายต่อให้ Compaq ได้ถึง 300 ล้านเหรียญ และนำเงินมาลงทุนสร้างเว็บไซต์ X.com ในปี 1999 ที่ให้บริการด้านการเงินออนไลน์ ซึ่งได้ควบกิจการร่วมกับ Confinity และพัฒนากลายเป็น Paypal ในเวลาต่อมา

ในปี 2008 อีลอน มัสก์ ได้เข้ามารับตำแหน่ง CEO พ่วงผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับบริษัทรถยนต์ Tesla ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นผู้นำด้านยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด และยั่งยืน ที่จะเป็นทิศทางของรถยนต์แห่งโลกอนาคต และเขาก็ทำได้จริง ๆ ในปัจจุบัน Tesla เป็นรถยนต์แบตเตอรี่ที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก มีส่วนแบ่งตลาดถึง 17% ทำรายได้ให้กับบริษัทถึง 3.33 หมื่นล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา

แม้จะเริ่มต้นจับธุรกิจที่ต่างกัน แต่ทั้ง อีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบโซส์ มีความฝันอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ การมุ่งหน้าสู่อวกาศ

ธุรกิจสู่อวกาศนี้ เจฟฟ์ เบโซส์ ได้ออกตัวก่อนด้วยการก่อตั้ง Blue Origin ในปี 2000 ด้วยทุนที่ได้จากความสำเร็จของ Amazon.com ของเขา ซึ่ง เจฟฟ์ เบโซส์ ตั้งเป้าหมายของ Blue Origin ไว้ว่า ต้องการสร้างสถานีอวกาศนอกโลก ที่จะกลายเป็นเมืองอวกาศของมนุษยชาติในอนาคต โดยที่ เจฟฟ์ ต้องการให้โครงการเขาเติบโตอย่างค่อยเป็น ค่อยไป ไม่ได้ตั้งเป้าที่จะแข่งกับใครจนกระทั่งการมาถึงของคู่แข่งที่มาแรงที่สุดก็คือ SpaceX

ในขณะที่ เจฟฟ์ เบโซส์ ต้องการสร้างเมืองทางเลือกให้กับมนุษยชาตินอกโลก อีลอน มัสก์ ฝันไกลกว่านั้น สิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร โดยเขาใช้เงินทุนที่ได้กำไรจากธุรกิจ Paypal มาลงทุนก่อตั้ง SpaceX สร้างยานขนส่งอวกาศเอกชน ที่จะพามนุษย์มุ่งสู่อวกาศ

ในช่วงที่ทำโครงการใหม่ ๆ ทั้งเจฟฟ์ เบโซส์ และ อีลอน มัสก์ ก็ยังมีนัดคุยปรึกษากันถึงโครงการสร้างอาณานิคมมนุษย์ในจักรวาลอยู่เลย จนกระทั่งเกิดเรื่องบาดหมางกันในการขอสัมปทานใช้ฐานปล่อยยานของ NASA ในปี 2013 โดยที่ อีลอน มัสก์ ต้องการได้สัญญาการใช้ฐานปล่อยยานของ NASA ที่เป็นสิทธิพิเศษเฉพาะของ SpaceX เจฟฟ์ เบโซส์ ยื่นคำคัดค้านถึงรัฐบาลสหรัฐ เนื่องด้วยฐานปล่อยยาน NASA ควรเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่พัฒนายานอวกาศทั่วไปได้ใช้

ด้านอีลอน มัสก์ ไม่ยอม และยังแซะ เจฟฟ์ เบโซส์ ว่าจะจองฐานปล่อยยานล่วงหน้าไว้ทำไมให้กับบริษัทที่พัฒนายานอวกาศกว่า 10 ปีแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ และในที่สุด SpaceX ก็ได้สิทธิ์สัมปทานฐานปล่อยยานของ NASA เฉพาะสำหรับยานของ SpaceX

ต่อมา เจฟฟ์ เบโซส์ พยายามยื่นสิทธิบัตรยานโดรนที่ใช้ในการจอดยาน Rocket Booster ของ Blue Origin อีลอน มัสก์ ยื่นคัดค้านหาว่า ยานโดรนนี้ เป็นเทคโนโลยีเก่า ที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งศาลสหรัฐเข้าข้าง SpaceX ในกรณีนี้

หลังจากนั้น ก็มีข่าวว่า ทั้งอีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบโซส์ มักจะแซะกันไปมาผ่านทางทวิตเตอร์ หรือ การให้สัมภาษณ์ จนเป็นที่จับตาของชาวโลกว่า ความศรศิลป์ไม่กินกันระหว่างอภิมหาเศรษฐีเบอร์ 1 และ เบอร์ 2 ของโลกจะจบลงแบบไหน

จนกระทั่งมาในวันนี้ ที่อีลอน มัสก์ ได้ขึ้นแท่นเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก แซงเจฟฟ์ เบโซส์ ที่เคยครองตำแหน่งนี้มานานถึง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2017 จึงเรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย ว่าอีลอน มัสก์ จะไปไกลได้ถึงไหน ซึ่งเจ้าตัวก็ออกมาบอกแล้วว่า อีลอน มัสก์ ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ มากไปกว่างานพัฒนาเทคโนโลยีของเขา ที่ทำให้เขาภาคภูมิใจในตัวเองมากกว่าทรัพย์สินเงินทองล้นฟ้าที่เขาหาได้

และนี่ก็คือเรื่องราว เส้นทางสู่ความเป็นมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลก อีลอน มัสก์ ผู้ที่ประกาศความฝันว่าเขาต้องไปดาวอังคารก่อนตายให้ได้นั่นเอง


แหล่งข่าว

https://www.bbc.com/news/technology-55578403

https://edition.cnn.com/2021/01/07/investing/elon-musk-jeff-bezos-richest-person/index.html

https://www.businessinsider.com/jeff-bezos-elon-musk-rivalry-history-timeline-2020-7#the-feud-isnt-just-about-space-ambitions-however-musk-has-taken-issue-with-blue-origins-hiring-practices-and-has-taunted-bezos-in-interviews-7

https://www.businessinsider.com/elon-musk-jeff-bezos-fights-disagreements-insults-list-2019-6

ตัวแทนนักร้อง นักดนตรีอาชีพอิสระ ยื่นหนังสือ 4 ข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มคนอาชีพทำงานกลางคืนในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด หลังไม่มีงาน เหตุโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนกลุ่มคนทำงานสถานบันเทิง นักร้อง นักดนตรี และอาชีพกลางคืน จำนวน 10 คน นำโดย นายทักษะศิลป์ อุดมชัย ตัวแทนนักร้อง นักดนตรีอาชีพอิสระ ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มคนอาชีพนักร้องนักดนตรีอิสระ กลุ่มคนอาชีพทำงานกลางคืนในพื้นที่ 28 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด โควิด-19 รอบสอง เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ

ผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวทำให้ตกงาน จึงมีข้อเรียกร้อง คือ

1.) มาตรการเยียวยา 5000 บาทระยะเวลาสองเดือน แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็ขอให้เยียวยาต่ออีกรวมเป็นสามเดือน ทั้งนี้โปรดพิจารณาตอบกลับทางกลุ่มก่อนวันที่ 1กุมภาพันธ์

2.) พักชำระหนี้ โดยเฉพาะกรณีพักชำระหนี้ไฟแนนซ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าหรือผ่อนที่พักอาศัย โดยขอให้ทางรัฐบาลออกหนังสือรับรองให้พวกเราเป็นบุคคลไร้รายได้ฉุกเฉินเนื่องจากถูกสั่งให้ไม่สามารถทำงานได้ เพราะเป็นพื้นที่แพร่กระจายโรคโควิด-19 ทั้งนี้หนังสือรับรองเป็นบุคคลไร้รายได้ฉุกเฉินเพื่อให้เราสามารถขอผ่อนผันค่างวดบ้าน คอนโด ที่พักอาศัยออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แล้วกลับมามีอาชีพ มีรายได้ตามปกติ

3.) ขอผ่อนปรนใบอนุญาตการแสดงดนตรีของสถานประกอบการให้กับร้านอาหาร เพื่อให้สามารถแสดงดนตรีได้และให้เคร่งครัดในการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข

4.) วอนรัฐบาลช่วยเหลือการจัดจ้างงาน ให้เราได้ใช้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในอาชีพการแสดงดนตรี กับผู้ประกอบการหรือองค์กรที่สนใจนำการแสดงดนตรีช่วยส่งเสริมการขายทางออนไลน์

หวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามข้อเสนอทั้งสี่ข้อกับพวกเราตามเห็นสมควรทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดขอให้มีรายได้จุนเจือครอบครัวต่อไปไม่มากก็น้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังยื่นหนังสือของกลุ่มดังกล่าว น.สพ.บูรณ์ อารยพล ในฐานะ ผจก.ทีมก๊อปปี้โชว์.com ได้กล่าวถึงการขอให้แก้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกันตนได้รับการเยียวยาด้วย และจะมาติดตามเรื่องข้อเรียกร้องของทางกลุ่มฯ กับความคืบหน้าเรื่องกองทุนประกันสังคม ในวันจันทร์ที่ 11 ม.ค. 64 เวลา 09.00น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (8 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 205 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 9,841 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 67 ราย รักษาหายเพิ่ม 734 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 5,255 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,519 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 205 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากอินเดีย 1 ราย ,สวีเดน 1 ราย ,ฝรั่งเศส 1 ราย ,สหราชอาณาจักร 1 ราย ,สาธารณรัฐเช็ก 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 4 ราย

เดินทางมาจากต่างประเทศ ผ่านเส้นทางธรรมชาติ จากเมียนมา 7 ราย

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 131 ราย

ตรวจคัดกรองเชิงรุก 58 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 173 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 386 ราย รักษาหายแล้ว 362 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 7.98 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.59 แสน เสียชีวิต 23,520 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.28 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.03 แสน ราย เสียชีวิต 521 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.29 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.12 แสน ราย เสียชีวิต 2,799 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.82 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.49 แสน ราย เสียชีวิต 9,356 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,813 ราย รักษาหายแล้ว 58,562 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,509 ราย รักษาหายแล้ว 1,353 ราย เสียชีวิต 35 ราย

นายแพทย์เกรกอรี ไมเคิล วัย 56 ปี สูตินรีเวชวิทยา จากศูนย์การแพทย์เมาท์ไซนาย ในไมอามีบีช รัฐฟลอริดา กลายเป็นอีกหนึ่งรายที่ต้องสงสัยว่าเสียชีวิตจากวัคซีนของบริษัทใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา

โดยเขาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันจันทร์ (4ม.ค.) หลังจากมีอาการหลอดเลือดสมอง ชนิดเลือดออกในสมอง (hemorrhagic stroke) ซึ่งในทางการแพทย์เชื่อว่าอาการดังกล่าวมีต้นตอจากการขาดเกล็ดเลือด

ไมเคิล ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม จากนั้นก็มีอาการรุนแรง จากการเปิดเผยของ เฮดี เนคเคิลมันน์ ภรรยาของเขา

เนคเคิลมันน์ ได้เขียนลงบนเฟซบุ๊กเมื่อวันอังคาร (5 ม.ค.) ว่า 3 วันหลังจากได้รับวัคซีน ไมเคิลต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากมีตุ่มผุดขึ้นบริเวณผิวหนังของเขา ซึ่งบ่งชี้ว่าเขาอาจมีอาการตกเลือดภายใน

แพทย์สรุปว่าเขามีอาการเกล็ดเลือดต่ำซึ่งพวกเขาพยายามเพิ่มเกล็ดเลือด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

“พวกผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาเขา แต่ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไร เกล็ดเลือดก็ไม่เพิ่มขึ้น” เธอเขียนบนทวิตเตอร์

เนคเคิลมันน์ เล่าว่า "ไมเคิล มีสติและดูกระฉับกระเฉงตลอดกระบวนการทั้งหมด จนกระทั่งเขามีอาการหลอดเลือดสมอง ซึ่งคร่าชีวิตเขาภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที"

กระทรวงสาธารณสุขรัฐฟลอริดา ระบุว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์กำลังนำการสืบสวน และจะมอบผลการค้นพบแก่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคต่อไป

ด้าน ไฟเซอร์ บริษัทผู้พัฒนาวัคซีนบอกว่า ทางบริษัทฯ จะเปิดการสืบสวนต่อเหตุเสียชีวิตของไมเคิลเช่นกัน “เรากำลังสืบสวนอย่างกระตือรือร้นในคดีนี้ในเวลานี้ เราไม่เชื่อว่ามันจะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงใดๆ กับวัคซีน”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคนหนึ่งในโปรตุเกส เสียชีวิต 2 วันหลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งข่าวคราวที่สร้างความช็อกแก่ประชาคมโลกนี้ ยิ่งเพิ่มข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพวัคซีนของไฟเซอร์ไปอีกขั้น


ที่มา : นิวยอร์กโพสต์

นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีความจำเป็นยิ่ง ที่ไทยต้องเตรียมตั้ง รพ.สนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด19 โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหลาย ๆ พื้นที่ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ต้องเร่งจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ นำมาพัฒนาเป็น รพ.สนาม ที่สามารถดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ แต่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ และรักษาผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง เพื่อแยกผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ให้สัมผัสกับคนปกติ

หากไม่เร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์การระบาดในไทยรุนแรงเพิ่มขึ้น

สำหรับ รพ.สนาม มีความจำเป็น 4 ข้อ คือ

1.) ผู้ป่วยทั่วไปใน รพ.จะลดการติดเชื้อ แยกแยะระหว่างผู้ป่วยโรคทั่วไป ผู้ป่วยโควิด19 ไม่ให้ปะปนกัน

2.) บุคลากรสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ

3.) รพ.ในระบบปกติ จะมีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไม่ต้องงดรับผู้ป่วยทั่วไป เหมือนช่วงระบาดเมื่อต้นปี 63

และ 4.) ชุมชนจะปลอดภัยมากขึ้น เพราะ รพ.สนาม จะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ติดเชื้อ ผู้กักกันตัวเองที่อยู่ระหว่างรอผลยืนยัน ช่วยแยกคนติดเชื้อออกจากชุมชน ลดการแพร่เชื้อได้อย่างดี

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า รอบนี้การติดเชื้อมาจากเรื่องที่ผิดกฎหมาย แหล่งอบายมุข การลับลอบเข้าเมือง การสอบสวนโรคจึงทำได้จำกัด ดังนั้นผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ ยังปิดบังไทม์ไลน์และไม่กักตัว ยังใช้ชีวิตตามปกติ ยังมีอีกมาก ในที่สุดไทยจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีอาการรุนแรงขึ้น จนทำให้เตียงในรพ.ไม่พอ เหมือนหลายๆ พื้นที่เสี่ยงที่ รพ.ในพื้นที่เริ่มส่งสัญญาณแล้ว

ส.ส.พรรคก้าวไกล ดาหน้า จี้รัฐบาล เร่งเดินหน้าฝ่าวิกฤตโควิดซัด ชู 3 ประเด็นร้อน มาตรการเยียวยา, สินเชื่อซอร์ฟโลน SMEs 5 แสนล้าน และการศึกษา ซัด โครงการเราไม่ทิ้งกันล่าช้า หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย วรภพ วิริยะโรจน์ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ถอดบทเรียนรัฐบาลที่เคยเผชิญในภาวะวิกฤติการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเเรก เมื่อต้นปี 2563 โดยระบุถึง 3 ประเด็นหลักควรเร่งแก้ไขอย่างตรงจุด ตรงประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เเละได้ประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ได้แก่ การช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงกลุ่มทุนโดยตรง การศึกษาหรือปัญหาการเรียนออนไลน์ที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ เเละมาตรการเราไม่ทิ้งกันรอบ 2 ของกระทรวงการคลัง ที่ต้องเตรียมเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนให้ทั่วถึงและทันเวลา

วรภพ ระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับ SMEs รัฐบาลต้องเร่งช่วยให้ตรงจุด ด้วยการเร่งแก้ไข พ.ร.ก. Soft Loan (พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ ) รวมถึงการพักชำระหนี้ เนื่องจากมาตรการ ‘ล็อคดาวน์ที่ไม่เรียกว่าล็อคดาวน์’ กำลังดับความหวังสุดท้ายของ SMEs โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ หลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินกิจการโดยที่ไม่ได้ทำผิดพลาดอะไรเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความหละหลวมของรัฐบาล ที่ปล่อยให้มีขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าว บ่อนพนันกลางเมือง ในวันนี้ SMEs ยังอยู่ในสภาวะโคม่า จากยอดรวม SMEs 1.8 ล้านล้านบาทที่มาขอพักชำระหนี้ในรอบที่แล้วยังมีที่ยังอยู่ในสภาวะปรับโครงสร้างหนี้อีกประมาณ 678,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs รอบใหม่โดยด่วนที่สุด

“รัฐบาลต้องเสนอให้สภาผู้เเทนราษฎรเร่งแก้ไขพระราชกำหนดซอร์ฟโลน 5 แสนล้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้จริง ในเรื่องนี้พรรคก้าวไกลได้พยายามผลักดันในคณะกรรมาธิการแก้ไขงบประมาณโควิดมาตลอด เพราะที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายไปเพียง 20 % เท่านั้น เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เข้าถึงยาก เรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถฟื้นตัวได้เองหลังจากภาวะวิกฤติ” วรภพ กล่าว

ในด้านประเด็นการศึกษา วิโรจน์ ระบุว่า มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณานำไปปรับใช้ ดังต่อไปนี้

1.) กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งทบทวน และจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้ครบถ้วนตั้งแต่ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษา เนื้อหาส่วนใดที่ผิดพลาด ให้เร่งแก้ไข พร้อมกับจัดทำใบงาน แบบฝึกหัด และเอกสารประกอบการเรียนการสอน ให้ถูกต้องครบถ้วน มีงบประมาณในการจัดพิมพ์ให้กับนักเรียน ไม่ต้องให้นักเรียนไปพิมพ์กันเอาเอง มีการวางตารางเวลา จัดสรรเวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับนักเรียนอย่างชัดเจน มีการซักซ้อมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้มีความเข้าใจในบทบาทของตนเอง ในการให้คำปรึกษากับบุตรหลาน ในการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน ไม่ใช่ปล่อยให้พ่อแม่ไปจัดการกันเอง ตามมีตามเกิดแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2.) นักเรียนระดับอนุบาล และประถมศึกษา ป.1-6 การมาพบปะคุณครู เพื่อให้ครูได้แนะนำ ยังคงมีความจำเป็นอยู่มาก แต่เพื่อลดความหนาแน่นลง โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถแบ่งนักเรียนหนึ่งห้อง ออกเป็น 4 รอบ เพื่อทยอยมาพบกับคุณครู เช่น จันทร์พุธศุกร์เช้า จันทร์พุธศุกร์บ่าย อังคารพฤหัสเสาร์เช้า อังคารพฤหัสเสาร์บ่าย นักเรียนที่มีอยู่ห้องละ 40 คน ก็จะเหลือรอบละแค่ 10 คน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะจัดการให้นักเรียนมี Social Distancing ได้ และหากมีปัญหาการระบาดเกิดขึ้น นักเรียนก็จะไม่ระบาดข้ามกลุ่มกันด้วย โดยให้คุณครูคอยทบทวนเนื้อหาสำคัญ ในเฉพาะวิชาที่สำคัญ ต่อการเรียนรู้ต่อยอดด้วยตนเองในบทเรียนถัดๆ ไป เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น และสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งพอจะมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองในระดับหนึ่งแล้ว อาจจะมาพบคุณครู ที่โรงเรียนน้อยกว่าระดับประถมศึกษา โดยอาจจะมาพบเพียงสัปดาห์ละ 1-2 วัน เท่านั้น เพื่อให้ครูทบทวนเนื้อหาเฉพาะวิชาที่สำคัญ เช่นเดียวกัน

3.) มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้แก่ครู ในการโทรศัพท์ติดตามนักเรียน เพื่อสอบถามถึงความเข้าใจในการเรียน และอาจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่นักเรียนที่มีข้อสงสัย มีระบบ Call Center ในวิชาต่างๆ เพื่อให้นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยตนเองแล้วไม่เข้าใจ สามารถโทรศัพท์มาสอบถามคุณครูได้ ไม่ต้องเก็บความไม่เข้าใจเอาไว้

4.) สำหรับนักเรียนที่มีความขาดแคลนจริง ๆ ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน อันเนื่องมาจากไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีแท็บเล็ต หรือไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จริง ๆ อันเนื่องจากที่บ้านไม่มีผู้ดูแล เพราะทั้งพ่อแม่ต่างต้องไปทำงาน กระทรวงศึกษาธิการ ควรอนุญาตให้นักเรียนเหล่านี้ มาเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ภายใต้การกำกับของครู ซึ่งคาดว่านักเรียนที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ ไม่น่าจะมีจำนวนมากนัก ซึ่งก็ย่อมอยู่ในวิสัยของโรงเรียนที่จะป้องกันการระบาดได้

“กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะเร่งจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้กับโรงเรียนแต่ละแห่ง ในการจัดสร้าง จัดหา จัดเตรียม อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาให้เพียงพอได้แล้ว เช่น การจัดสร้างอ่างล้างมือหน้าห้องเรียน การจัดหาอุปกรณ์ในการวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ สบู่เหลวล้างมือ หน้ากากอนามัย สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลน หรือไม่ได้นำมาจากที่บ้าน เพื่อให้เมื่อโรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อีกครั้ง โรงเรียนแต่ละแห่งจะได้มีศักยภาพในการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้” วิโรจน์ กล่าว

สำหรับในส่วนประเด็นมาตรการเราไม่ทิ้งกัน รอบ 2 ที่มีกระเเสข่าวออกมาว่ารัฐเตรียมออกมาตรการเพื่อชดเชยเเละเยียวยานั้น ณัฐชา ระบุว่า สุดท้ายมาตรการเยียวยาจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอคือ รัฐบาลต้องถอดบทเรียนและเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตเพื่อปรับปรุงให้การเยียวยารอบใหม่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีกระสุนที่มากพอที่จะรองรับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยมีเรื่องที่ต้องนำไปพิจารณา คือ

1.) ต้องไม่มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ซับซ้อน ขั้นตอนต้องเข้าถึงคนออฟไลน์ บทเรียนจากในคราวที่แล้วคือในการขอรับสิทธิ์ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ยุ่งยาก หลักเกณฑ์ ‘อาชีพอิสระ’ ไม่มีความชัดเจน ทำให้คนที่เดือดร้อนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับสิทธิ์ หรือได้รับสิทธิ์ล่าช้าเพราะต้องลงทะเบียนใหม่ ในขณะที่ผู้ที่เดือดร้อนบางส่วนก็เข้าไม่ถึงโครงการ เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้คนที่เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจจำนวนมากไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล

2.) การเยียวยาต้องรวดเร็ว ต้องไม่ให้เหมือนรอบที่แล้ว ที่กว่าที่ประชาชนจะได้เงินไปต่อชีวิตต้องรอเวลาเป็นเดือนๆ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน (เปิดลงทะเบียนครั้งแรกวันที่ 29 เม.ย. จ่ายเงินงวดสุดท้าย 26 มิ.ย.) รัฐบาลล่าช้ามามากพอแล้วในการออกมาตรการเยียวยา เราหวังว่ามาตรการที่ออกมาจะไม่มีการจ่ายเงินเยียวยาที่ล่าช้ายิ่งขึ้นไปอีก

3.) นโยบายต้องมีความชัดเจน ออกแบบให้รัดกุม คิดให้จบ ไม่ให้เหมือนครั้งที่แล้ว ที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียน เดี๋ยวก็บอก 3 ล้านคน เดี๋ยวก็ 24 ล้านคน เดี๋ยวก็ 15 ล้านคน เงื่อนเวลาก็ขยายแล้วขยายอีก ตอนแรกบอก 5 วันหลังลงทะเบียนได้รับเงิน ตอนหลังขยายไป 7 วัน แล้วก็ขยายไปเรื่อย ๆ ทำให้การจ่ายเงินล่าช้า

“รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีคลังคนใหม่มีบทเรียนจากมาตรการที่ผ่านมาแล้ว มาตรการในรอบนี้จึงควรต้องรู้ว่าจะจัดกระบวนการเยียวยาให้รวดเร็วและทั่วถึงได้อย่างไร และรัฐบาลมีงบประมาณเหลือพอที่จะใช้เยียวยาประชาชนรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่อนุมัติไปได้ครึ่งเดียวเท่านั้น และงบประมาณปี 2564 ที่ยังไม่เคยนำมาเกลี่ย เรามักคิดว่าเรื่องปากท้องกับการควบคุมโรคเป็นเรื่องที่ต้องแลกกัน แต่สำหรับพรรคก้าวไกล เราเชื่อว่ารัฐบาลที่ดี สามารถประคับประคองให้ทั้งสองเป้าหมายเดินไปด้วยกันได้” ณัฐชากล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top