Monday, 24 June 2024
NEWS FEED

พระราชวังบักกิงแฮม ของสหราชอาณาจักรรายงานว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และดยุกแห่งเอดินบะระ ซึ่งเป็นพระราชสวามี ทรงเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

เมื่อวันเสาร์ (9 ม.ค. ) สื่อท้องถิ่นอ้างอิงแหล่งข่าวพระราชสำนักว่า แพทย์ประจำพระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของทั้งสองพระองค์ในช่วงล็อกดาวน์ เป็นผู้ถวายการฉีดวัคซีน และพระราชินีนาถเป็นผู้ตัดสินพระทัยเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว เพื่อป้องกันการคาดเดาหรือสร้างข่าวลือ

ปัจจุบัน มีชาวสหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนแล้วราว 1.5 ล้านคน ซึ่งรวมถึงพระราชินีนาถที่มีพระชนพรรษา 94 พรรษา และเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีที่มีพระชนพรรษา 99 พรรษา โดยสหราชอาณาจักรจัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มแรก

อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าทั้งสองพระองค์เข้ารับการถวายการฉีดวัคซีนตัวใด

เมื่อวันศุกร์ (8 ม.ค.) สหราชอาณาจักรอนุมัติวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ตัวที่ 3 ขณะยอดผู้ป่วยเสียชีวิตและยอดผู้ป่วยใหม่รายวันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ขึ้นในประเทศ โดยยอดผู้ป่วยสะสมของสหราชอาณาจักรพุ่งแตะ 3,017,409 ราย ในวันเสาร์ (9 ม.ค.)

(แฟ้มภาพซินหัว: สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และดยุกแห่งเอดินบะระ ซึ่งเป็นพระราชสวามี ทรงประทับราชรถเนื่องในวโรกาสครบรอบพระชนมพรรษา 90 พรรษาของสมเด็จพระราชินีนาถ ณ พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร วันที่ 11 มิ.ย. 2016)


ที่มา : www.xinhuathai.com

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สู้โควิด จัดหลักสูตรเสริมทักษะแรงงานแบบออนไลน์ ยุค New Normal อยู่ไหนก็เรียนรู้ได้ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเป็นแรงงานคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังสถานการณ์คลี่คลาย

นายธวัช  เบญจาทิกุล  อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ  ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล  ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยประชาชนและพี่น้องแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะแรงงานที่ไม่ควรหยุดนิ่งและจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับความปลอดภัยของแรงงาน จึงมอบหมายให้กพร.ช่วยเหลือแรงงานทั้งแรงงานในระบบและแรงงานอิสระ ภายใต้ภารกิจของ กพร.

ซึ่งได้ดำเนินการฝึกทักษะแรงงานแบบ New Normal โดยจัดฝึกอบรมออนไลน์เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่แรงงานได้พัฒนาทักษะฝีมือในช่วงที่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวและเตรียมความพร้อมเป็นแรงงานคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายต่อไป

นายธวัช  กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) จัดฝึกอบรมออนไลน์ให้แก่แรงงานทุกช่วงวัย ในหลักสูตรต่างๆ พร้อมทั้งสำรวจความต้องการฝึกในหลักสูตรอื่นๆ ของแต่ละพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั่วประเทศ อาทิ สนพ. สมุทรสาคร ปรับแผนการฝึกทันทีโดยเปิดรับสมัครฝึกอบรม 3 หลักสูตร ได้แก่ การขายสินค้าออนไลน์ 2 รุ่น อบรมระหว่างวันที่ 20-26 มกราคม 2564 การสร้างแบรนด์ธุรกิจดิจิทัลด้วย Adobe Photoshop วันที่ 11 – 25 ม.ค. และพนักงานการใช้คอมพิวเตอร์ (การประมวลผลคำ) ระดับ 1 วันที่ 11 – 19 ม.ค. คุณสมบัติผู้รับการอบรม ต้องมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวพร้อมติดตั้งกล้องหรือคอมพิวเตอร์แลปท็อป สามารถฝึกอบรมได้ตลอดหลักสูตรผ่านระบบ Application Zoom Meeting ซึ่งผู้รับการอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นของ E-commerce การใช้โซเชียลมีเดียในการทำธุรกิจ กลยุทธ์ทางการตลาด 

สนพ. กำแพงเพชร เปิดฝึกอบรม 2 หลักสูตร ได้แก่ ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้าน และการพาณิชย์ขนาดเล็ก ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 18 - 21 ม.ค. และช่างเดินสายไฟฟ้าในอาคาร ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 22 - 26 ม.ค. คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรมต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีความรู้พื้นฐานด้านช่างเครื่องปรับอากาศหรือด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หรืองานที่เกี่ยวข้อง มีสภาพร่างกายและจิตใจไม่เป็นอุปสรรคต่อการฝึก สามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้ตลอดหลักสูตร 

นอกจากหลักสูตรที่กล่าวข้างต้น ยังมีหลักสูตรอื่นๆ อีกกว่า 100 หลักสูตร ที่จะอบรมออนไลน์ในภาคทฤษฎี และฝึกปฏิบัติที่หน่วยฝึกของ กพร.โดยจัดสถานที่รองรับมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้วย สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดหรือสมัครได้ที่ สพร.หรือ สนพ.ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือเว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th

สายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ถูกตรวจเจอในนักเดินทาง 4 คน ที่มาจากรัฐอามาโซนัสของบราซิล จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เมื่อวันอาทิตย์ (10 ม.ค.) ถือเป็นตัวกลายพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่พบ

เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรายหนึ่ง เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อตัวกลายพันธุ์ใหม่ล่าสุดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งต่างจากตัวกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้ ที่ผลักจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากมันแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าตัวดั้งเดิมหลายเท่า

“ณ ตอนนี้ ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าตัวกลายพันธุ์ใหม่ที่พบในบุคคลที่เดินทางมาจากบราซิลนั้น แพร่กระจายเชื้อได้ง่าย” ทาคาจิ วาคิตะ ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติกล่าว

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นระบุว่า ในบรรดานักเดินทาง 4 คน ที่เดินทางมาถึงสนามบินฮาเนดะของกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 2 มกราคม ชายคนหนึ่งอายุ 40 ปีเศษๆ มีปัญหาด้านการหายใจ ผู้หญิงในวัย 30 ปีเศษๆ ปวดศีรษะและเจ็บคอ ชายวัยรุ่นมีไข้ และคนสุดท้ายเป็นหญิงสาววัยรุ่น ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ

นักเดินทางทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรการกักกันโรคที่สนามบินของกรุงโตเกียว ตามการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขบราซิล

หลังจากพบเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นอย่างมาก ญี่ปุ่นตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับกรุงโตเกียวและอีก 3 จังหวัดที่อยู่ติดกับเมืองหลวงเมื่อวันพฤหัสบดี (7 ม.ค.)

สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเครายงานว่า จนถึงตอนนี้ ทั่วประเทศมีผู้ติดเชื้อ 289,000 คน ในนั้นเสียชีวิต 4,061 ราย


ที่มา: รอยเตอร์ / https://mgronline.com/around/detail/9640000002372

10 จุดสะสมเชื้อโรค สัมผัสแล้วควรทำความสะอาดทันที

แม้จะเริ่ม work from home กันเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อย ที่ต้องออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน หรือยังต้องเดินทางมาทำงานอยู่ เรื่องป้องกันตัวเองพื้นฐานนั้น เราเชื่อว่าทุกคนพยายามตระหนักใส่ใจกันอยู่แล้ว แต่ในเมื่อชีวิตยังต้องออกมายังที่สาธารณะ

ยังไงก็หลีกไม่พ้นการสัมผัสกับสิ่งของมากมาย และนี่คือ 10 จุดตามที่สาธารณะ ที่อยากให้คุณตระหนักเอาไว้เสมอว่า หากสัมผัสเมื่อไร ควรล้างมือเพื่อความปลอดภัยทันที

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (10 มกราคม พ.ศ.2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 245 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 10,298 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 67 ราย รักษาหายเพิ่ม 882 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 6,428 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3,803 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 245 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากตุรกี 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 1 ราย ,อินเดีย 1 ราย ,เมียนมา 17 ราย ,ฮังการี 1 ราย

ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ จำนวน 181 ราย

ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 43 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 173 ราย รักษาหายแล้ว 153 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 391 ราย รักษาหายแล้ว 371 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 8.18 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.74 แสน เสียชีวิต 23,947 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.34 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.07 แสน ราย เสียชีวิต 542 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.3 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.14 ราย เสียชีวิต 2,826 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.86 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.5 แสน ราย เสียชีวิต 9,398 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,865 ราย รักษาหายแล้ว 58,611 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,513 ราย รักษาหายแล้ว1,361 ราย เสียชีวิต 35 ราย

กระทรวงการคลัง เตรียมเปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง รอบเก็บตก อีกประมาณ 1 ล้านสิทธิ ช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ ยืนยัน ยังไม่มีแผนขยายเวลาและเพิ่มวงเงินเป็น 5,000 บาท ตามที่เอกชนเสนอ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเปิดให้คนไทยลงทะเบียนข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” ในรอบเก็บตก อีกครั้งช่วงกลางเดือนม.ค.นี้ เพราะตอนนี้ได้รับทราบรายงานแล้วว่า มีสิทธิคงเหลือรวมประมาณ 1 สิทธิ จากการดำเนินโครงการในเฟสแรก และเฟส 2 รวมทั้งยังมีสิทธิตกหล่นจากผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมเฟส 2 แต่ไม่ได้ใช้จ่ายภายใน 14 วันด้วย

ซึ่งจะต้องมาสรุปตัวเลขอีกครั้ง ขณะที่ข้อเสนอของทางภาคเอกชน ที่เสนอให้รัฐบาลพิจารณาขยายเวลาโครงการคนละครึ่งออกไปอีก 3 เดือน และเพิ่มวงเงินเป็นคนละ 5,000 บาท นั้น กรณีนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา เพราะยังเหลือเวลาอยู่ 3 เดือน หลังจากนั้นจึงจะประเมินกันใหม่อีกครั้ง

สำหรับโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 ได้เปิดให้ประชาชนได้เริ่มใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 นั้น จากข้อมูล ณ วันที่ 3 ม.ค. 2564 มีผู้ใช้สิทธิรวมทั้งหมด 12,050,115 คน โดยเป็นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ได้รับสิทธิเดิมจำนวน 9,536,644 คน ใช้จ่ายสะสม 52,358.3 ล้านบาท และผู้ได้รับสิทธิใหม่จำนวน 2,513,471 คน ใช้จ่ายสะสม 1,073.6 ล้านบาท รวมยอดการใช้จ่ายสะสม 53,431.9 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 27,353.4 ล้านบาท

และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 26,078.5 ล้านบาท จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา ชลบุรี เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ และมีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.1 ล้านร้านค้า โดยผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

รมว.สธ. ‘อนุทิน ชาญวีรกุล’ สั่งกระทรวงสาธารณสุข เสนอคณะรัฐมนตรี ยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบกิจการรายปีแก่ร้านนวด สปา กว่า 10,000 แห่ง เป็นระยะเวลารวม 2 ปี เพื่อเยียวยากิจการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าได้สั่งการให้นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในฐานะผู้กำกับดูแลมาตรฐานและขึ้นทะเบียนร้านนวด ร้านสปา มากกว่า 10,000 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

จัดทำข้อมูลความเดือดร้อน และผลกระทบ รายงานต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งเสนอให้ขยายการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี จากเดิม 1 ปี เป็น 2 ปี เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า หลังการระบาดระลอกแรก และมีการผ่อนคลายให้เปิดกิจการได้ ช่วงกลางปี 2563 ก็พบว่ามีกิจการที่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้เพียง 4,000 กว่าแห่งเท่านั้น และจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ในเดือนธันวาคม 2563 กรม สบส.ได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนที่ผู้ประกอบการได้รับ จึงมีมติในการประชุมคณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพฯ

ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ให้เพิ่มระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี อีก 1 ปี รวมกับระยะเวลาที่เคยเสนอไปในคราวก่อน รวมเป็น 2 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ

“ขณะนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดทำวาระเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบ นอกจากนี้ กรม สบส. จะมีการพูดคุยหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อหามาตรการในการเยียวยาด้านอื่นๆ ต่อไป” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าว

'นิด้าโพล' ชี้!! ค่าเฉลี่ยคนไทย 77.68% สนเปลี่ยนขับรถยนต์ไฟฟ้า หวังช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม แต่รับไหวเรทราคา 5 - 9 แสน

ภายใต้แคมเปญ Get to know Thai consumers เกรท วอลล์ มอเตอร์ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมผู้ใช้รถยนต์ของคนไทย 1,000 คน ทั่วประเทศ

ซึ่งผลการสำรวจระบุว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีความสนใจใน รถยนต์ไฟฟ้า (xEV) สูงถึง 77.68% โดยมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นการช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 28.97% และมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย 26.88% อีก 16.96% มองว่าเป็นการช่วยประหยัดค่าบำรุงรักษาในระยะยาว

ทั้งนี้ หนึ่งในผลสำรวจพบว่า 80.26% คิดว่า ราคาที่เหมาะสมของรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) ควรอยู่ระหว่าง 500,000 - 900,000 บาท ขณะที่รูปแบบรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) ที่คนไทยสนใจแบ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) 38.69% รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) 30.95% และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) 30.36%

ส่วนปัจจัยที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนใจมาใช้ รถยนต์ไฟฟ้า (xEV) แทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันคือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 22.02% แสดงถึงความกังวลและความตระหนักถึงปัญหา PM2.5 ซึ่งมีที่มาจากควันจากท่อไอเสียรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ในขณะที่ 19.05% มองว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่เป็นมิตรมากกว่าและมาพร้อมเทคโนโลยีที่ดีกว่า

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังระบุประเด็นสำคัญ อื่น ๆ อาทิ 57.74% จะนำ รถยนต์ไฟฟ้า มาใช้ทดแทนทุกกิจกรรมที่เคยใช้งานรถยนต์พลังงานน้ำมัน โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกในการตัดสินใจซื้อ คือ ความคุ้มค่า ความปลอดภัย และศักยภาพของรถ

และคนไทย 99.31% มีความเห็นเชิงบวกต่อรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน และมีมุมมองที่เปิดกว้างต่อเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่จากจีน โดยส่วนใหญ่ยอมรับว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีจากจีนนั้น มีความน่าสนใจน่าติดตามในราคาที่เข้าถึงง่าย

ณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตอกย้ำจุดยืนที่ชัดเจนตามกลยุทธ์ consumer-centric ในการรับฟังทุกความเห็นของผู้บริโภคมาวางแผน พัฒนา และส่งมอบผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และการให้บริการอันล้ำสมัยเข้าสู่ตลาดไทย

รวมไปถึงการร่วมพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (xEV) พร้อมผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้าง Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพการบริการ ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคชาวไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย ให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในอนาคต

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (9 มกราคม พ.ศ.2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 212 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 10,053 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 67 ราย รักษาหายเพิ่ม 291 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 5,546 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,440 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 212 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากเยอรมนี 4 ราย ,ตุรกี 3 ราย ,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3 ราย ,ยูกันดา 1 ราย ,สหราชอาณาจักร 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 2 ราย

เดินทางมาจากต่างประเทศ ผ่านเส้นทางธรรมชาติ

เป็นคนไทย 4 ราย สัญชาติเมียนมา 1 ราย จากเมียนมา เข้ารับการรักษาตัวใน รพ.แม่สอด

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 187 ราย

ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 6 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 173 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 387 ราย รักษาหายแล้ว 365 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 8.08 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.67 แสน เสียชีวิต 23,753 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.31 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.05 แสน ราย เสียชีวิต 537 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.29 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.13 ราย เสียชีวิต 2,812 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.84 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.49 แสน ราย เสียชีวิต 9,364 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,836 ราย รักษาหายแล้ว 58,850 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,512 ราย รักษาหายแล้ว1,357 ราย เสียชีวิต 35 ราย

รองนายกรัฐมนตรี ‘จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์’ เสนอใช้งบ 2.56 พันล้าน เตรียมพร้อมรับสังคมสูงวัย ภายใต้ 4 แนวทางหลัก สร้างความรู้สู่สังคมสูงวัย, เสริมทักษะอาชีพ, พัฒนาเครือข่ายการคุ้มครองทางสังคม และพัฒนานวัตกรรมดูแลสุขภาพ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2565 แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาแผนงาน/โครงการที่จะมีการขับเคลื่อนและใช้งบประมาณร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใต้งบบูรณาการปี 2565 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความพร้อมในทุกด้านก่อนวัยสูงอายุ”

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ กรอบงบวงเงินงบประมาณ 2.56 พันล้านบาท เพื่อบูรณาการการดำเนินงานของ 6 กระทรวง (41หน่วยงาน) ภายใต้ 4 แนวทางหลัก คือ

1.) สร้างการตระหนักรู้ในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย

2.) เสริมทักษะด้านอาชีพในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง

3.) พัฒนาเครือข่ายการคุ้มครองทางสังคมและปรับปรุงสภาพแวดล้อมสิ่งอำนวยความสะดวก

4.) พัฒนาระบบและนวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม แผนงานและงบประมาณจะต้องเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณา ก่อนเสนอครม.

ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้งบบูรณาการฯ ผลการดำเนินงานของปีงบประมาณ 2563 ถือว่ามีความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่อง การให้ความรู้แก่ประชนเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ 6.8 ล้านคน สูงกว่าเป้าสี่แสนคน การจัดหางานให้ผู้สูงอายุ 1.5 แสนคน สูงกว่าเป้า 208% แสดงถึงความสนใจที่จะทำงานของผู้สูงอายุและภาคเอกชนให้การสนับสนุน

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานปี 2565 ได้มีการปรับให้สอดรับสถานะ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ที่ประชากรไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเป็น 28% ในปี 2574 ซึ่งเป้าหมาย อาทิ

1.) สัดส่วนประชากรช่วงอายุ 25 - 59 ปีร้อยละ 60 มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการเงิน สุขภาพ และสภาพแวดล้อม

2.) ผู้สูงอายุ (61 - 65 ปี) มีงานทำและมีรายได้จำนวน 3.85 แสนคน

3.) ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ 11.7 ล้านคน

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องทำงานกันหลายได้และเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน มีทั้งต้องเริ่มต้นจากตัวทุกคนในวัยหนุ่มสาว ให้รู้จักเรื่องการออม การดูแลสุขภาพ ภาครัฐช่วยสร้างเครือข่ายสังคมให้มีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ การสร้างสภาพแวดล้อมในบ้าน องค์กร ชุมชน และสังคม ให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

รวมถึงการเสริมและให้โอกาสผู้สูงอายุในการใช้ศักยภาพของตนเอง แผนงานบูรณาการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของรัฐบาล จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งให้ ภาครัฐ ประชาชน เอกชน ประชาสังคม เดินหน้าสู่เป้าหมายเพื่อคนทุกคน เมื่อเป็นผู้สูงอายุ ก็จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งพาตนเองได้ และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top