ย้อนตำนานการนั่ง ‘เก้าอี้นายกฯ’ ในวันเด็กแห่งชาติ ที่มาเป็นอย่างไร

วันเด็กแห่งชาติปีนี้ ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติไปหนึ่งอย่าง คือการเปิดให้เด็ก ๆ ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุให้ปีนี้เด็กๆ อดนั่งเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของประเทศกันไป

เก้าอี้นายกฯ นั่นมีมานานแล้วล่ะ เพราะถ้าไม่มีเก้าอี้นายกฯ นายกฯ ก็คงไม่มีที่นั่ง ผ่ามม!! แต่นั่งแล้วใครจะเลื่อยขาเก้าอี้หรือไม่ อันนี้ก็ต้องระวัง ผ่ามม!! กลับมามีสาระกันสักนิดดีกว่า ที่มาของการเปิดให้เด็กๆ ได้เข้ามาดูห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีไทยนั้น เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2550 สมัยรัฐบาลของ พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้นได้มีการสร้าง ‘เก้าอี้นายกฯ’ อย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรก

ทำให้ในเวลาต่อมา จึงได้เปิดให้เด็กๆ เข้ามาดูห้องทำงานนายกฯ และเปิดโอกาสให้น้อง ๆ หนู ๆ ได้ทดลองนั่นเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของประเทศ นัยว่าให้เกิดแรงบันดาลใจในการใฝ่เรียนรู้ และเติบโตขึ้นมาช่วยกันพัฒนาประเทศ โดยหลังจากที่เปิดให้เด็ก ๆ ได้มีกิจกรรมดังกล่าวนี้ ปรากฎว่า กระแสดีเกินคาด ในปีถัด ๆ มา ทุกวันเด็กแห่งชาติ จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปโดยปริยายว่า ต้องมีกิจกรรมนั่งเก้าอี้นายกฯ เป็นไฮไลท์

ในมุมกลับกัน การจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ นั้นก็ต้องลงทุนด้วยเวลา โดยค่าเฉลี่ยทั้งกระบวนการของการมารอนั่งเก้าอี้นายกฯ นั้น ใช้เวลาราวๆ 2-3 ชั่วโมง ประมาณการว่าต้องตื่นราวๆ ตี 4 ตี 5 แล้วเดินทางมาให้ถึงทำเนียบฯ ในเวลา 06.00 น. เพื่อจะได้เป็นคิวแรกๆ ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีเด็กบางคน เมื่อถึงเวลาได้คิวเข้าไปนั่งเก้าอี้นายกฯ แล้ว ถึงกับผลอยหลับไปซะเฉย ๆ ไม่ใช่ว่าแอร์ห้องนายกฯ เย็น หรือตื่นเต้นจนเป็นลม แต่ด้วยความง่วงที่ตื่นเช้ามารอคิวนี่เอง เลยทำให้หลับไปเสียอย่างนั้น

ปีนี้ไม่มีภารกิจนั่งเก้าอี้นายกฯ เหมือนที่เคยเป็นมา แต่ถึงไมได้นั่ง ก็นั่งเก้าอี้ที่บ้านได้ นั่งตรงไหนก็พิเศษเหมือนกัน ถ้าเป็นเด็กดี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ รักชาติบ้านเมือง ไม่ใช่คำขวัญนะ ฝากไว้ให้กับน้อง ๆ เท่านั้นเอง