ส.ส.พรรคก้าวไกล ดาหน้า จี้รัฐบาล เร่งเดินหน้าฝ่าวิกฤตโควิดซัด ชู 3 ประเด็นร้อน มาตรการเยียวยา, สินเชื่อซอร์ฟโลน SMEs 5 แสนล้าน และการศึกษา ซัด โครงการเราไม่ทิ้งกันล่าช้า หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย วรภพ วิริยะโรจน์ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ถอดบทเรียนรัฐบาลที่เคยเผชิญในภาวะวิกฤติการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเเรก เมื่อต้นปี 2563 โดยระบุถึง 3 ประเด็นหลักควรเร่งแก้ไขอย่างตรงจุด ตรงประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เเละได้ประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ได้แก่ การช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงกลุ่มทุนโดยตรง การศึกษาหรือปัญหาการเรียนออนไลน์ที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ เเละมาตรการเราไม่ทิ้งกันรอบ 2 ของกระทรวงการคลัง ที่ต้องเตรียมเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนให้ทั่วถึงและทันเวลา

วรภพ ระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับ SMEs รัฐบาลต้องเร่งช่วยให้ตรงจุด ด้วยการเร่งแก้ไข พ.ร.ก. Soft Loan (พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ ) รวมถึงการพักชำระหนี้ เนื่องจากมาตรการ ‘ล็อคดาวน์ที่ไม่เรียกว่าล็อคดาวน์’ กำลังดับความหวังสุดท้ายของ SMEs โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ หลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินกิจการโดยที่ไม่ได้ทำผิดพลาดอะไรเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความหละหลวมของรัฐบาล ที่ปล่อยให้มีขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าว บ่อนพนันกลางเมือง ในวันนี้ SMEs ยังอยู่ในสภาวะโคม่า จากยอดรวม SMEs 1.8 ล้านล้านบาทที่มาขอพักชำระหนี้ในรอบที่แล้วยังมีที่ยังอยู่ในสภาวะปรับโครงสร้างหนี้อีกประมาณ 678,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs รอบใหม่โดยด่วนที่สุด

“รัฐบาลต้องเสนอให้สภาผู้เเทนราษฎรเร่งแก้ไขพระราชกำหนดซอร์ฟโลน 5 แสนล้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้จริง ในเรื่องนี้พรรคก้าวไกลได้พยายามผลักดันในคณะกรรมาธิการแก้ไขงบประมาณโควิดมาตลอด เพราะที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายไปเพียง 20 % เท่านั้น เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เข้าถึงยาก เรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถฟื้นตัวได้เองหลังจากภาวะวิกฤติ” วรภพ กล่าว

ในด้านประเด็นการศึกษา วิโรจน์ ระบุว่า มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณานำไปปรับใช้ ดังต่อไปนี้

1.) กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งทบทวน และจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้ครบถ้วนตั้งแต่ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษา เนื้อหาส่วนใดที่ผิดพลาด ให้เร่งแก้ไข พร้อมกับจัดทำใบงาน แบบฝึกหัด และเอกสารประกอบการเรียนการสอน ให้ถูกต้องครบถ้วน มีงบประมาณในการจัดพิมพ์ให้กับนักเรียน ไม่ต้องให้นักเรียนไปพิมพ์กันเอาเอง มีการวางตารางเวลา จัดสรรเวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับนักเรียนอย่างชัดเจน มีการซักซ้อมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้มีความเข้าใจในบทบาทของตนเอง ในการให้คำปรึกษากับบุตรหลาน ในการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน ไม่ใช่ปล่อยให้พ่อแม่ไปจัดการกันเอง ตามมีตามเกิดแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2.) นักเรียนระดับอนุบาล และประถมศึกษา ป.1-6 การมาพบปะคุณครู เพื่อให้ครูได้แนะนำ ยังคงมีความจำเป็นอยู่มาก แต่เพื่อลดความหนาแน่นลง โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถแบ่งนักเรียนหนึ่งห้อง ออกเป็น 4 รอบ เพื่อทยอยมาพบกับคุณครู เช่น จันทร์พุธศุกร์เช้า จันทร์พุธศุกร์บ่าย อังคารพฤหัสเสาร์เช้า อังคารพฤหัสเสาร์บ่าย นักเรียนที่มีอยู่ห้องละ 40 คน ก็จะเหลือรอบละแค่ 10 คน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะจัดการให้นักเรียนมี Social Distancing ได้ และหากมีปัญหาการระบาดเกิดขึ้น นักเรียนก็จะไม่ระบาดข้ามกลุ่มกันด้วย โดยให้คุณครูคอยทบทวนเนื้อหาสำคัญ ในเฉพาะวิชาที่สำคัญ ต่อการเรียนรู้ต่อยอดด้วยตนเองในบทเรียนถัดๆ ไป เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น และสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งพอจะมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองในระดับหนึ่งแล้ว อาจจะมาพบคุณครู ที่โรงเรียนน้อยกว่าระดับประถมศึกษา โดยอาจจะมาพบเพียงสัปดาห์ละ 1-2 วัน เท่านั้น เพื่อให้ครูทบทวนเนื้อหาเฉพาะวิชาที่สำคัญ เช่นเดียวกัน

3.) มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้แก่ครู ในการโทรศัพท์ติดตามนักเรียน เพื่อสอบถามถึงความเข้าใจในการเรียน และอาจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่นักเรียนที่มีข้อสงสัย มีระบบ Call Center ในวิชาต่างๆ เพื่อให้นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยตนเองแล้วไม่เข้าใจ สามารถโทรศัพท์มาสอบถามคุณครูได้ ไม่ต้องเก็บความไม่เข้าใจเอาไว้

4.) สำหรับนักเรียนที่มีความขาดแคลนจริง ๆ ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน อันเนื่องมาจากไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีแท็บเล็ต หรือไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จริง ๆ อันเนื่องจากที่บ้านไม่มีผู้ดูแล เพราะทั้งพ่อแม่ต่างต้องไปทำงาน กระทรวงศึกษาธิการ ควรอนุญาตให้นักเรียนเหล่านี้ มาเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ภายใต้การกำกับของครู ซึ่งคาดว่านักเรียนที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ ไม่น่าจะมีจำนวนมากนัก ซึ่งก็ย่อมอยู่ในวิสัยของโรงเรียนที่จะป้องกันการระบาดได้

“กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะเร่งจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้กับโรงเรียนแต่ละแห่ง ในการจัดสร้าง จัดหา จัดเตรียม อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาให้เพียงพอได้แล้ว เช่น การจัดสร้างอ่างล้างมือหน้าห้องเรียน การจัดหาอุปกรณ์ในการวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ สบู่เหลวล้างมือ หน้ากากอนามัย สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลน หรือไม่ได้นำมาจากที่บ้าน เพื่อให้เมื่อโรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อีกครั้ง โรงเรียนแต่ละแห่งจะได้มีศักยภาพในการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้” วิโรจน์ กล่าว

สำหรับในส่วนประเด็นมาตรการเราไม่ทิ้งกัน รอบ 2 ที่มีกระเเสข่าวออกมาว่ารัฐเตรียมออกมาตรการเพื่อชดเชยเเละเยียวยานั้น ณัฐชา ระบุว่า สุดท้ายมาตรการเยียวยาจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอคือ รัฐบาลต้องถอดบทเรียนและเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตเพื่อปรับปรุงให้การเยียวยารอบใหม่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีกระสุนที่มากพอที่จะรองรับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยมีเรื่องที่ต้องนำไปพิจารณา คือ

1.) ต้องไม่มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ซับซ้อน ขั้นตอนต้องเข้าถึงคนออฟไลน์ บทเรียนจากในคราวที่แล้วคือในการขอรับสิทธิ์ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ยุ่งยาก หลักเกณฑ์ ‘อาชีพอิสระ’ ไม่มีความชัดเจน ทำให้คนที่เดือดร้อนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับสิทธิ์ หรือได้รับสิทธิ์ล่าช้าเพราะต้องลงทะเบียนใหม่ ในขณะที่ผู้ที่เดือดร้อนบางส่วนก็เข้าไม่ถึงโครงการ เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้คนที่เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจจำนวนมากไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล

2.) การเยียวยาต้องรวดเร็ว ต้องไม่ให้เหมือนรอบที่แล้ว ที่กว่าที่ประชาชนจะได้เงินไปต่อชีวิตต้องรอเวลาเป็นเดือนๆ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน (เปิดลงทะเบียนครั้งแรกวันที่ 29 เม.ย. จ่ายเงินงวดสุดท้าย 26 มิ.ย.) รัฐบาลล่าช้ามามากพอแล้วในการออกมาตรการเยียวยา เราหวังว่ามาตรการที่ออกมาจะไม่มีการจ่ายเงินเยียวยาที่ล่าช้ายิ่งขึ้นไปอีก

3.) นโยบายต้องมีความชัดเจน ออกแบบให้รัดกุม คิดให้จบ ไม่ให้เหมือนครั้งที่แล้ว ที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียน เดี๋ยวก็บอก 3 ล้านคน เดี๋ยวก็ 24 ล้านคน เดี๋ยวก็ 15 ล้านคน เงื่อนเวลาก็ขยายแล้วขยายอีก ตอนแรกบอก 5 วันหลังลงทะเบียนได้รับเงิน ตอนหลังขยายไป 7 วัน แล้วก็ขยายไปเรื่อย ๆ ทำให้การจ่ายเงินล่าช้า

“รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีคลังคนใหม่มีบทเรียนจากมาตรการที่ผ่านมาแล้ว มาตรการในรอบนี้จึงควรต้องรู้ว่าจะจัดกระบวนการเยียวยาให้รวดเร็วและทั่วถึงได้อย่างไร และรัฐบาลมีงบประมาณเหลือพอที่จะใช้เยียวยาประชาชนรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่อนุมัติไปได้ครึ่งเดียวเท่านั้น และงบประมาณปี 2564 ที่ยังไม่เคยนำมาเกลี่ย เรามักคิดว่าเรื่องปากท้องกับการควบคุมโรคเป็นเรื่องที่ต้องแลกกัน แต่สำหรับพรรคก้าวไกล เราเชื่อว่ารัฐบาลที่ดี สามารถประคับประคองให้ทั้งสองเป้าหมายเดินไปด้วยกันได้” ณัฐชากล่าวทิ้งท้าย