Sunday, 6 October 2024
NEWS FEED

ผอ.ศรชล.ภาค 1 มอบนโยบายการปฏิบัติงาน แก่ 'กำลังพล' 

(4 ต.ค.67) พลเรือโท อาภา ชพานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1 (ผอ.ศรชล.ภาค 1) ได้ประชุมมอบนโยบายให้กับ รอง.ผอ.ศรชล.จว. และ หน.ศคท.จว. ในพื้นที่ ศรชล.ภาค 1 ทั้ง 12 จังหวัด พร้อมฝ่ายอำนวยการ และกำลังพลของ ศรชล.ภาค 1 เนื่องในโอกาส มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 และดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.ศรชล.ภาค 1 ซึ่งเป็นไปตาม พรบ.ศรชล. พ.ศ.2562 มาตรา 25

เพื่อให้แนวทางการปฏิบัติงาน การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเล พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัย และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล อย่างเต็มขีดความสามารถ 

มีเหตุด่วน เหตุร้าย หรือภัยทางทะเล ต้องการความช่วยเหลือ โทร.1465 แจ้ง ศรชล.ภาค 1 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

'นายกฯ แพทองธาร' ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ย้ำ!! ทุกหน่วยงานดูแลประชาชน พร้อมแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ทันท่วงที

(4 ต.ค.67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ในโอกาสนี้ นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ได้บรรยายสรุปสถานการณ์ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 2 ต.ค.67 สถานการณ์น้ำจากพื้นที่ตอนบนในลุ่มน้ำปิง วัง ยม  และน่าน ยังคงมีปริมาณฝนตกอยู่ในบางพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณจากทางตอนบนทยอยไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง 

ทำให้ปัจจุบันที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,128 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามลำดับ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลอง และสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตรา 1,899 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เฝ้าระวังปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดระดับน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่ให้เกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที และยังได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ พร้อมเร่งสูบระบายน้ำส่วนเกินออกทางฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันตก และคลองชายทะเล ก่อนระบายลงสู่อ่าวไทย ซึ่งมีศักยภาพการสูบระบายน้ำรวมกันได้ประมาณวันละ 164 ล้าน ลบ.ม. 

ตลอดจนบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการน้ำในจุดที่เชื่อมต่อกัน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตรนายกรัฐมนตรี และ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์     

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 1 – 3 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวน 

โดยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2567 จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, นครปฐม, นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น  จึงยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในระยะนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการในการแจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำให้ทันท่วงที รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนได้โดยเร็วที่สุด

'สรรพามิต' โชว์ปราบสินค้าผิดกฎหมาย 33,359 ดคี พุ่งขึ้น 28% กว่า 2,400 ล้าน

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตเผยผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตทั่วประเทศผ่านช่องทางต่าง ๆ ปีงบ 2567 พบการกระทำผิด จำนวน 33,359 คดี สูงขึ้นกว่าปีก่อน 28.03% คิดเป็นเงินค่าปรับ 690.75 ล้านบาท และประมาณการค่าปรับ 2,465.86 ล้านบาท โดยจำแนกเป็น 

1. สุรา 15,974 คดี ค่าปรับ 150.69 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 48.59 ล้านบาท จำนวนของกลาง แบ่งเป็นสุราในประเทศ 117,361.70 ลิตร และสุราต่างประเทศ 30,340.54 ลิตร
2. ยาสูบ 13,170 คดี ค่าปรับ 361.73 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 2,334.40 ล้านบาท จำนวนของกลาง แบ่งเป็นยาสูบในประเทศ 301,961 ซอง และยาสูบต่างประเทศ 2,579,434 ซอง 
3. น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 1,465 คดี ค่าปรับ 76.86 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 11.41 ล้านบาท จำนวนของกลาง 2.56 ล้านลิตร

4. รถจักรยานยนต์ 1,109 คดี ค่าปรับ 29.75 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ
6.34 ล้านบาท จำนวนของกลาง 1,493 คัน 
5. ไพ่ 575 คดี ค่าปรับ 7.07 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 10.14 ล้านบาท จำนวน ของกลาง 79,561 สำรับ 
6. รถยนต์ 268 คดี ค่าปรับ 27.89 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 34.16 ล้านบาท จำนวนของกลาง 269 คัน 

7. เครื่องหอมและเครื่องสำอาง 226 คดี ค่าปรับ 13.40 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 20.32 ล้านบาท จำนวนของกลาง 244,723 ขวด 
8. เครื่องดื่ม 216 คดี ค่าปรับ 5.84 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 3.84 แสนบาท จำนวนของกลาง 108,259.31 ลิตร
9. แบตเตอรี่ 210 คดี ค่าปรับ 13.78  ล้านบาท จำนวนของกลาง 89,059 ก้อน 
10. สินค้าอื่น ๆ 146 คดี ค่าปรับ 3.69 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 83,240 บาท

กรมสรรพสามิตได้ยกระดับการทำงานเชิงรุกในด้านการปราบปรามและสืบค้นในทุกช่องทาง อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสืบค้นการกระทำผิดในช่องทางออนไลน์ ผ่านศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ ของกรมสรรพสามิต ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการขนส่งทางบก กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ไปรษณีย์ไทย เป็นต้น ทำให้สามารถจับกุมผู้กระทำผิดพร้อมของกลางได้เป็นจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่อง กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญกับการปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่เป็นสินค้าที่มิได้ เสียภาษี ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนในการบริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐาน และยังเป็นการสร้างความชอบธรรมต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต

สามารถแจ้งเบาะแสที่กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วน 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมลล์ [email protected] โดยกรมสรรพสามิตจะไม่เปิดเผยข้อมูลผู้แจ้งเบาะแส

'รมว.สาธารณสุข' เปิดอาคาร 100 ปีชาตกาล รพ.หลวงพ่อคูณฯ ปลื้มรร.เบาหวานวิทยาด่านขุนทด ลดป่วย-ลดการใช้ยา

(4 ต.ค. 67) ที่ รพ.หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในพิธีประดิษฐานรูปหล่อพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) เปิดอาคาร 100 ปี ชาตกาล และเปิดสวนสุขภาพ 101 ปีชาตกาล โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายรชตะ ด่านกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ บุคลากรเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และ อสม.ร่วมพิธี. นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาศักยภาพ รพ.ในสังกัด และยกระดับระบบบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งโรงพยาบาลหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ได้พัฒนาการจัดบริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และได้ย้ายสถานที่ให้สามารถรองรับผู้รับบริการได้มากขึ้น เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการ 

โดยมีการจัดสร้างอาคารบริการต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2559 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ปัจจุบันเป็น รพ.ชุมชนแม่ข่ายขนาด 120 เตียง ดูแลประชากรในอำเภอด่านขุนทดกว่า 123,000 คน มีศักยภาพการให้บริการเฉพาะทาง ทั้งอายุรกรรม, ศัลยกรรมทั่วไป, ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, กุมารเวชกรรม, เวชศาสตร์ฉุกเฉิน, ผ่าตัดต้อกระจก, เวชศาสตร์ครอบครัว, CT SCAN, การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร (EDG & Colonoscope) 

นอกจากนี้ ยังมีแผนยกระดับบริการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การเป็น รพ.แม่ข่ายด้านศัลยกรรม เพิ่มการเข้าถึงบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ใกล้บ้าน, เพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง และการดูแลผู้ป่วยวิกฤติอีกด้วย... สำหรับอาคาร 100 ปี ชาตกาล ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน พ.ค. 2563 ใช้งบประมาณก่อสร้างจากกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 80,190,000 บาท เป็นอาคารผู้ป่วยใน 5 ชั้น รวม 114 เตียง ประกอบด้วย ชั้น 1 หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย ชั้น 2 หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง ชั้น 3 แผนกกายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทย ชั้น 4-5 หอผู้ป่วยพิเศษ เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ส่วนสวนสุขภาพ 101 ปี ชาตกาล เป็นการปรับพื้นที่เพื่อใช้เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ให้ญาติผู้ป่วยได้พักผ่อนหย่อนใจ โดยใช้เงินบริจาคของชาวด่านขุนทด จำนวน 2,400,000 บาท 

ทั้งนี้ อาคาร 100 ปี ชาตกาล และสวนสุขภาพ 101 ปี ชาตกาล สร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงคุณูปการต่อวงการศาสนา การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ที่บำเพ็ญทานบารมีสร้างอาคารและจัดหาเครื่องมือแพทย์ให้กับ รพ.ต่างๆ จำนวนมาก

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จังหวัดนครราชสีมา ยังเป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนการลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก โดย รพ.หลวงพ่อคูณฯ เป็นหน่วยบริการหนึ่งที่ได้เปิดโรงเรียนเบาหวานวิทยา และเป็นพี่เลี้ยงให้หน่วยบริการ 4 แห่งในอำเภอด่านขุนทด ที่ผ่านมามีนักเรียนเข้าร่วมโครงการฯ 81 คน แบ่งเป็น ผู้ป่วยเบาหวาน 74 คน และกลุ่มเสี่ยง 7 คน ใช้กระบวนการดูแลแบบปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ การอดอาหารเป็นช่วงเวลา ร่วมกับการออกกำลังกาย ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถหยุดยาได้ 20.4% ปรับลดยาได้ 48.2% ในจำนวนนี้ อยู่ระหว่างรอประเมินผลอีก 20 คน ลดมูลค่าการใช้ยาได้ 22,797.55 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายโรงเรียนเบาหวานวิทยาในอำเภอด่านขุนทดเพิ่มอีก 7 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น

‘รร.ราชินี’ ยกมาตรฐานการเลือก ‘รถทัศนศึกษา’ พร้อมส่งครู 7-9 คนนั่งประจำจุด คุมเข้มตลอดเส้นทาง

(4 ต.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Rajiniactivity’ ของโรงเรียนราชินี ได้โพสต์ถึงการจัดกิจกรรมนอกสถานที่และการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย ว่า วันที่ 3 - 6 ตุลาคม 2567 นักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 116 คน เข้าร่วมกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษ (English Camp) รุ่นที่ 21 โรงเรียนมีมาตรการความปลอดภัยด้านการเดินทาง ดังนี้

1. คัดเลือกบริษัทรถที่ได้มาตรฐาน คือ บริษัท ซีอาร์วี ทรานสปอร์ต จำกัด รถมีสภาพดี มีประตูฉุกเฉินที่มีสภาพพร้อมใช้งาน เบาะที่นั่งเป็นเบาะกันไฟ และเป็นรถใช้น้ำมัน ไม่ใช้แก๊ส และจำกัดความเร็วไม่เกิน 90 กม./ ชม. หากพนักงานขับรถเกินความเร็วที่กำหนด จะมีเสียงเตือนภายในรถ และพนักงานขับรถติดต่อกันด้วยวิทยุสื่อสาร แจ้งสภาพปัญหาการจราจรเป็นระยะ

2. มีตำรวจนำทางตลอดการเดินทาง ทั้งขาไปและขากลับ และมีความชำนาญเส้นทางเป็นอย่างดี

3. รถทุกคันมีครูและ staff นั่งกระจายอยู่ด้านหน้า ตรงกลาง และด้านหลัง คันละ 7-9 คน มีครูนั่งประจำอยู่ประตูฉุกเฉินทุกคัน และครูชายฝ่ายเดินทางติดต่อด้วยวิทยุสื่อสาร โดยคันที่ 1 จะแจ้งเหตุการณ์บนถนนด้านหน้า เป็นระยะ 

4. วันเดินทาง ครูชายตรวจสอบสภาพรถทุกคัน ทดสอบความพร้อมของประตูฉุกเฉินและอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อนักเรียนขึ้นรถ ครูอธิบายการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินให้นักเรียนเข้าใจอีกครั้ง

‘สุกฤษฏิ์ชัย’ ชี้เหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ เกิดจากวิกฤติทรัพยากรธรรมชาติแนะเร่งฟื้นฟูป่าไม้ สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ลดผลกระทบในอนาคต

(4 ต.ค. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า 

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจ รวมถึงขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก 

เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสภาพพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย เสียหาย เปลี่ยนแปลงสภาพ จากการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ ป่าสมบูรณ์ จนเกิดเป็นภูเขาหัวโล้น การบุกรุกเพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตร ทำไร่เลื่อยรอย ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว 

ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำป่าไหลหลากและเกิดดินถล่มโดยไม่มีการชะลอความรุนแรงจากป่า รวมถึงการปลูกสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่กีดขวาง รุกล้ำทางน้ำธรรมชาติ

ข้อมูลจากสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ พบว่าพื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือในปี 2566 มีจำนวน 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่ 

การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการดูดซับน้ำของพื้นที่ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติ 

อีกข้อมูลจากคณะนักวิจัยจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าในปี 2566 พื้นที่ป่าลดลงมาก ปัจจัยหนึ่งเกิดจากไฟป่าที่ลุกลามและขยายวงอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ สะท้อนถึงปัญหาเรื้อรังและเป็นปัจจัยสำคัญสู่วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น 

การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น จริงจัง คงเป็นสิ่งที่หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องรีบดำเนินการ และถือปฏิบัติโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ รวมถึงการเร่งฟื้นฟูป่าไม้ จัดกิจกรรมรณรงค์ปลูกต้นไม้ เพิ่มความแข็งแรงสมบูรณ์ให้ป่าต้นน้ำ ให้ระบบนิเวศธรรมชาติคืนกลับมาโดยเร็ว บนพื้นฐานให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน 

ภาครัฐ ภาคราชการอาจเป็นผู้สนับสนุนให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มูลนิธิต่าง ๆ มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพดำเนินการ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ให้มากขึ้นและครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล ภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาใช้กำหนดแผนงาน สำรวจภูมิประเทศ

เราอาจได้ทั้งป่าไม้ที่คืนสภาพธรรมชาติเดิม และยังแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษ PM2.5 ได้อากาศสะอาดกลับคืนมา วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้เราได้แก้ไขและบูรณาการการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบจากทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืนด้วย

ศูนย์บริบาลช้างแม่แตง แจ้งข่าวน้ำท่วมศูนย์หนัก ต้องการเรือ-กรงสัตว์ ขนย้ายสัตว์หนีน้ำขึ้นเขา

(4 ต.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศูนย์บริบาลช้าง แม่แตง-เชียงใหม่ หรือ 'Elephant Nature Park' ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ของศูนย์ ว่า

สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เป็นครั้งที่หนักที่สุด ! 
น้ำป่าลงมาจากเขาเร็วมากเข้าท่วมพื้นที่ของศูนย์บริบาลเวลานี้ หนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา บางพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมก็ท่วมแล้ว ควาญช้างและอาสาสมัครของเราทำงานกันอย่างหนักในการขนย้ายทุก ๆ ชีวิตขึ้นพื้นที่ปลอดภัย

และล่าสุดเมื่อประมาณ 10.00 น. ทางศูนย์บริบาลช้าง แม่แตง-เชียงใหม่ ได้โพสต์ว่า 

ต้องการอาสาสมัครและกรงค่ะ เพราะต้องย้ายสัตว์ไปบนเขาด่วน เนื่องจากถนนถูกตัดทั้งสองทาง

ดังนั้นจึงขอความช่วยเหลือเรื่องเรือค่ะ เพราะอาสาจะเข้าพื้นที่ไม่ได้เลย ถนนบางจุดสองเมตรแล้วค่ะ ถนนที่ปางไม้แดงเป็นเส้นทางเดียวที่ยังจะไปได้ แต่ตอนนี้ดินสไลด์ถนนปิด 

ดิฉันได้ประสานงานท่านรองผู้ว่าจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้ช่วยเหลือเปิดทาง เส้นทางที่จะไปได้คือสายบ้านช้างปางไม้แดง 

สิ่งที่เราต้องการที่สุดในเวลานี้คือ เรือ และกรงขนสัตว์เล็ก และผ้าเต้นท์กันฝน ค่ะ เพราะน้ำท่วมหมดต้องย้ายพวกเขาไปอยู่บนเขาเท่านั้น 

ถ้าท่านใดต้องการเข้าไปช่วยในพื้นที่ ติดต่อพนักงานที่ออฟฟิศตามเบอร์ข้างล่างนี้ เพราะในพื้นที่สัญญาณอ่อนมากค่ะ

คุณดาด้า 098-6566685
064-44688989
คุณยุ้ย 095-361515
คุณเปรี้ยว 095-3615156
คุณไพลิน 088-9172668
สำนักงานมูลนิธิ 053-272855
ขอความช่วยเหลือด่วนค่ะ

ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน อุเทนถวาย เกือบ 100 ชีวิต ยกพลขึ้นเชียงราย ช่วยเหลือชาวบ้าน  

อดีตไม่สำคัญ ปัจจุบันขอเป็นพลังอาสาฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วมใหญ่ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน อุเทนถวาย เกือบ 100 ชีวิต ยกพลขึ้นเชียงราย ช่วยเหลือชาวบ้าน เยาวชนจากศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาภิเษก กว่า 20 ชีวิต เดินทางมาร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ลงพื้นที่ฟื้นฟู ตักโคลนล้างบ้าน ด้านนายวิศาล ประธาน กมธ.วิสามัญ พรบ.คุมเหล้า ลงพื้นที่ให้กำลังใจ พร้อมหนุนเสริมภารกิจเยาวชนช่วยชาวเชียงรายสู้ภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ (29 ก.ย.67) ที่ผ่านมานายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเดินทางมาศึกษาดูงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จังหวัดเชียงราย และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (27-29 กย.) ได้เดินทางมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน ผู้ประสบภัยในพื้นที่ และได้เดินทางไปมาเยี่ยมให้กำลังใจนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย และศิษย์เก่า ที่ประจำการอยู่ที่สนามกีฬากลาง อบจ.เชียงราย ได้ร่วมสนับสนุนเงินและสิ่งของกับโครงการ 'หมดตัวไม่หมดใจ เพราะยังมีอีจัน' และหลังจากนั้นกรรมาธิการฯได้เดินทางไปยังบ้านเกาะลอย อ.เมือง จ.เชียงราย 

เพื่อพบปะกับนักศึกษาอุเทนถวายที่ทำงานกันอยู่ในพื้นที่ ได้มอบอาหารให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม และทานข้าวกับน้อง ๆ นักศึกษา “ในฐานะที่เป็นคนเชียงราย ต้องขอบคุณน้อง ๆ ชาวอุเทนถวายและรุ่นพี่ทุกคน ที่เดินทางไกลเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบกับความทุกข์ยากในเวลานี้ ทราบมาว่าในแต่ละวันทุกคนมีภารกิจที่หนักหน่วงกันมาก ทั้งที่จุดจัดการของบริจาคร่วมกับเพจอีจัน และในพื้นที่ประสบภัย ทำงานกันชนิดแทบไม่ได้พัก ได้เห็นภาพที่น้อง ๆ นอนพักกลางวันทั้งที่เนื้อตัวยังเต็มไปด้วยโคลนแล้ว ยังต้องลุกขึ้นมาทำงานต่อ ยิ่งรู้สึกเห็นใจและชื่นชมในความเป็นนักสู้ของทุกคน หากต้องการความช่วยเหลือให้ประสานงานมาได้ตลอด” นายวิศาล กล่าว  

นายเตชาติ์ มีชัย ประธานมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัวมกล่าวว่า ท่ามกลางความโกลาหลหลังเกิดภัยพิบัติฝนตกถล่มเชียงรายในหลายพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 9-14 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบราย บ้านเรือนเสียหายมากกว่าห้าหมื่นครัวเรือน หลายหน่วยงานเร่งเข้าให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูความเสียหายที่มาพร้อมกับความรุนแรงของกระแสน้ำและดินโคลนจำนวนมหาศาล กลุ่มคนเล็กๆสองกลุ่มที่เข้าพื้นที่มาปฏิบัติภารกิจอย่างเงียบ ๆ และสม่ำเสมอ เรียกได้ว่าสายตัวแทบจะขาดในแต่ละวัน กลุ่มแรกพวกเขาคือคนหนุ่มสาวชาวอุเทนถวาย ที่ในอดีตมักถูกสังคมตัดสินตีตรา ในนามเด็กอาชีวะที่มักจะมีข่าวทะเลาะวิวาทต่างสถาบัน แต่วันนี้พวกเขาทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง และศิษย์เก่าเกือบ 100 ชีวิต พร้อมใจกันมาทุ่มเทแรงกายแรงใจเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมเชียงราย แม้จะรู้ว่าต้องมาเจองานที่ยากและหนักยิ่งก็เต็มใจที่จะมา และอีกกลุ่มคือเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กว่า 20 คน พร้อมเจ้าหน้าที่ ก็เดินทางเข้าพื้นที่ด้วยเช่นกัน  

ซึ่งเป็นภารกิจที่ถูกจัดขึ้นแทบทุกครั้งที่มีภัยพิบัติครั้งใหญ่ ๆในประเทศ เช่น กรณี คลื่นยักษ์สึนามิที่พังงา ดินถล่มที่ลับแล เป็นต้น โดยเป็นการตัดสินใจร่วมกันของเยาวชนในศูนย์ฝึกแห่งนี้ ซึ่งทุกคนต้องการใช้พลังกายพลังใจตอบแทนคืนสู่สังคมในยามที่ยากลำบากแบบนี้ มูลนิธิฯเป็นเพียงลมใต้ปีกผู้ที่คอยสนับสนุนภารกิจของทั้งสองกลุ่มนี้ให้ลุล่วง และพยายามระดมทรัพยากรช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้  

นายศุภชัย ลิ้มพิพัฒนโสภณ นายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย กล่าวว่า ช่วงมีข่าวน้ำท่วมหนักที่เชียงราย พวกเรารุ่นพี่รุ่นน้องอุเทนถวาย ได้จัดทำโครงการอาสารวมน้ำใจคนไทย กู้วิกฤตภัยน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย โดยเบื้องต้นระดมเงินจากรุ่นพี่ ๆ หน่วยงานห้างร้าน องค์กรเครือข่ายเพื่อสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม โคลนถล่มในจังหวัดเชียงราย เราเดินทางเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แบ่งภารกิจเป็นสองส่วนคือส่วนแรกประจำการที่สนามกีฬากลาง อบจ.เชียงราย สนับสนุนภารกิจจัดการกับของบริจาค ในโครงการ 'หมดตัวไม่หมดใจ เพราะยังมีอีจัน' ที่จะส่งมอบอุปกรณ์ของใช้จำเป็นให้บ้านที่ได้รับผลกระทบหนัก ช่วยเหลือตัวเองได้ยากลำบาก เช่น 

ที่นอน หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส ฯลฯ ส่วนที่สองจะเข้าไปในพื้นที่ที่น้ำท่วมโคลนถล่ม ไปช่วยตักโคลน ล้างบ้าน ทำความสะอาดบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่เป็นอย่างดีทำให้ภารกิจที่วางไว้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  

ด้านนายอนนทกรณ์ นาดี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย กล่าวว่า รู้สึกมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก พวกเขาลำบากเราก็เห็นใจ พวกเราทุกคนมีความสุขได้รับการต้อนรับจากคนในพื้นที่เหมือนลูกเหมือนหลาน น้อง ๆ ที่มาช่วยก็เต็มใจมา รู้สึกดี  เห็นแววตาที่ชาวบ้านมองเราอย่างเอ็นดู อยากชักชวนเพื่อนคนนักเรียนนักศึกษามาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มาช่วยเหลือชาวบ้านในยามที่ทุกคนกำลังแย่ ผมคิดว่าการมีกิจกรรมแบบนี้ เป็นเรื่องที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและน้อง ๆ ที่มาร่วมด้วย แม้ว่าเราจะเหนื่อย หนัก และได้พักผ่อนน้อย แต่เราก็มีความสุขทุกครั้งที่ออกไปทำงาน เวลาที่ได้ยินเสียงขอบคุณ แววตาของความเมตตาจากชาวบ้านที่มองเรา การโอบกอดเราอย่างลูกหลานคือพลังใจที่เราได้กลับมา

ด้านนายเอ นามสมมุติ เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า พวกเราเดินทางมาเชียงรายด้วยความสมัครใจ กว่า 20 ชีวิต และยังมีเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ที่บ้านกาญ คอยไปเป็นอาสาสมัครช่วยจัดการของบริจาคของมูลนิธิกระจกเงาที่กรุงเทพ ตามที่ได้รับแจ้งภารกิจมา ก่อนการตัดสินใจทำภารกิจในครั้งนี้ ป้ามล ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษก ได้เปิดโอกาสให้พวกเราได้พูดคุยกัน หาข้อมูล ตัดสินใจร่วมกันว่าจะไปช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่เชียงราย ส่วนคนที่ไม่ได้ไปจะต้องพร้อมสแตนบายสำหรับภารกิจอาสาที่กรุงเทพ เราได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ จากพี่ๆที่เคยเป็นศิษย์เก่าบ้านกาญ มูลนิชนะใจ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และเครือข่ายที่เป็นกัลยาณมิตรกับบ้านกาญจนา พวกเรารู้ดีว่าการมาในครั้งนี้ต้องเจองานใหญ่แน่นอน  

ซึ่งในความจริงที่มาก็เจองานหนักจริง ๆ ในแต่ละวันการเข้าพื้นที่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย งานตักโคลน ล้างบ้าน ทำความสะอาดทุกอย่าง ต้องใช้พลังกายพลังใจอย่างมาก มีเวลาพักน้อยต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่สิ่งที่ตอบแทนกลับมามันมีคุณค่ามากๆสำหรับพวกเราคือรอยยิ้ม คำขอบคุณและความเมตตาของลุงป้าน้าอา ที่เราเข้าไปช่วย เหมือนกับพวกเราเป็นลูกหลานจริง ๆ หลายๆบ้านคุณตาคุณยายร้องไห้บอกให้เราแวะมาเยี่ยมด้วยนะถ้ามีโอกาส เรารู้สึกได้เลยว่านี่คุณค่า คือความหมายที่พวกเราตามหามานาน  และไม่เสียใจเลยที่ตัดสินใจมาที่นี่แม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็ตาม

'มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง' เสริมสร้างอนาคตเด็กไทย ลงพื้นที่ภาคใต้ มอบทุนการศึกษาในระดับชั้นประถม และทุนฯ ทุกระดับปีสุดท้าย (ทุนสัญจร) แก่เยาวชนรวม 53 สถาบัน มูลค่ากว่า 2.28 ล้านบาท

เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.67) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พร้อมด้วย นายนิพนธ์ ลีละศิธร กรรมการ  นายนิพนธ์ โชคภิรมย์วงศา กรรมการปฏิคม และนางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ  ลงพื้นที่มอบทุนการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา และทุนฯ ทุกระดับปีสุดท้าย (ทุนสัญจร) ประจำปี พ.ศ. 2567 แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล 

โดยมี จังหวัดพัทลุงเป็นศูนย์กลางในการมอบทุนฯ รวม 53 สถาบัน 265 ทุน รวมเป็นเงินจำนวน 2,280,000 บาท (สองล้านสองแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมตามที่มุ่งหวัง เติบโตพร้อมมีวิชาความรู้ สร้างอนาคตของตนเองและครอบครัว เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง โดยมี นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะพัทลุงการกุศลมูลนิธิฯ เป็นผู้ประสานงานและร่วมในพิธี ณ ศูนย์ประชุม โรงเรียนพัทลุง ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

การมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต และนักศึกษา เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของงานสังคมสงเคราะห์ ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลากว่า 50 ปี โดยในปี พ.ศ. 2567 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้จัดสรรงบประมาณในการมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 18,345,000 บาท (สิบแปดล้านสามแสนสี่หมื่นห้าพันบาทถ้วน)

ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ดังปณิธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง “ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” 

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมงานสาธารณกุศลมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก 
แฟนเพจ http://www.facebook.com/pohtecktungofficial

ประธานศาลปกครองสูงสุด แถลงนโยบาย เน้นย้ำการบริหารจัดการคดีและบังคับคดีด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว พร้อมยกระดับการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยี ก้าวสู่ศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์

เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.67) เวลา 09.30 น. นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงนโยบายการบริหารงานศาลปกครอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 เพื่อให้ตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ตลอดจนบุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 10 อาคารศาลปกครองถนนแจ้งวัฒนะ และถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบLive Streaming และระบบ Cisco WebexMeetings ให้แก่บุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค ได้ร่วมรับฟังโดยพร้อมเพรียงกัน

ประธานศาลปกครองสูงสุดได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนศาลปกครองเป็นระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรฐานการบริหารจัดการคดีที่เป็นสากลจึงได้กำหนดนโยบายหลัก
ในการดำเนินงานของศาลปกครอง 

ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 ดังนี้
1. บริหารจัดการคดีและบังคับคดีด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว โดยการเร่งรัดและติดตาม
การบริหารจัดการคดีให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานศาลปกครอง
พ.ศ. 2566-2570 ในส่วนของการบริหารจัดการคดีค้างนั้น ตั้งเป้าหมายว่า เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จะไม่มีคดีค้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ลงไป และคดีค้างของปี พ.ศ. 2565-2567 จะคงเหลือไม่เกินร้อยละ 25 ของคดีค้างทั้งหมด สำหรับกรณีคดีรับเข้าใหม่และคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการจะต้องพยายามบริหารจัดการคดีให้แล้วเสร็จในกรอบระยะเวลาตามประกาศศาลปกครอง เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานคดี
ในศาลปกครอง พ.ศ. 2566 

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว จะต้องเร่งรัดขั้นตอนการกลั่นกรอง
ร่างคำวินิจฉัยที่ค้างอยู่จำนวนมาก รวมถึงจัดทำแนวคำวินิจฉัยต้นแบบ เพื่อเป็นแนวทางในการเรียบเรียง
คำพิพากษาหรือคำสั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งพัฒนา ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดี

นอกจากนี้ จะต้องรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์
พร้อมส่งเสริมให้บุคลากรศาลปกครองขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองโดยใช้ระบบงาน
คดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการสัมมนาปัญหากฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้บุคลากรศาลปกครอง ปฏิรูประบบงาน โดยการสนับสนุนให้วิเคราะห์ปัญหาที่ส่งผลต่อการพิจารณาคดีที่ล่าช้า และนำมาสู่
การกำหนดแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน รวมถึงส่งเสริมให้ตุลาการศาลปกครองนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ในคดีปกครองมาใช้ในการระงับข้อพิพาททางปกครอง และส่งเสริมความร่วมมือของคู่กรณีให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อยุติข้อพิพาทด้วยความเรียบง่าย รวดเร็ว 

รวมทั้งผลักดันการใช้ระบบไกล่เกลี่ย
ข้อพิพาทในคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คดีเสร็จจากศาลโดยเร็ว และปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ
ที่เกี่ยวข้องให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ศึกษาวิเคราะห์ผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้องเกี่ยวกับรูปแบบของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของคดี

ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองที่ยั่งยืน เป็นธรรม โดยผลักดันการปรับปรุงพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่เกี่ยวข้องกับ
คดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม และยกระดับความรู้ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม
ทั้งบุคลากรศาลปกครอง หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งส่งเสริมระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองให้มีมาตรฐาน

ในส่วนของการบังคับคดีปกครอง จะเร่งรัดการบังคับคดีปกครองให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา และต้องนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบังคับคดี รวมทั้งส่งเสริมให้บุคลากรศาลปกครองใช้ระบบการบังคับคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ชั้นบังคับคดี และศึกษาเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองชั้นบังคับคดีด้วย

2. เสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม โดยการส่งเสริมสนับสนุนการวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดี เพื่อเสนอแนวปฏิบัติราชการที่ดีจากคำวินิจฉัยของศาลปกครอง เผยแพร่ต่อหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้แพร่หลายส่งเสริมให้ศูนย์การเรียนรู้ศาลปกครองออนไลน์(ALL Cloud) เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองและแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีจากคำวินิจฉัยของ
ศาลปกครองเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงเสริมสร้างกลไกภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของศาลปกครองในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแพร่หลายและครอบคลุมทุกภาคส่วน

3. ส่งเสริมผลักดันระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Admincourt) ในประเด็นนี้เป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญ โดยจะผลักดันให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับ
การปฏิบัติงานของศาลปกครองและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์
(e-Admincourt) ที่สมบูรณ์ ทั้งในส่วนของระบบที่สนับสนุนการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน (e-Service) ระบบการใช้งานของศาลปกครอง (e-Court) ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทั้งการไกล่เกลี่ย
ข้อพิพาท การพิจารณาพิพากษาคดี และการบังคับคดีปกครอง และระบบการใช้งานของสำนักงาน
ศาลปกครอง (e-Office) ให้มีความพร้อมสอดคล้องกัน 

นอกจากนี้ จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบเครือข่าย การเชื่อมโยงข้อมูล และระบบความมั่นคงปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการใช้ระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเพิ่มจำนวนห้องพิจารณา/ไต่สวนคดี
ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Courtrooms) เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่มากขึ้น เสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อวางระบบและรากฐานของศาลปกครองที่จะก้าวสู่การเป็นศาลปกครองอัจฉริยะ (Smart Admincourt)ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2571-2575 ต่อไป

4. พัฒนาองค์กรให้ทันสมัย มีมาตรฐานในระดับสากล โดยการพัฒนาระบบวิธีการปฏิบัติงานของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองให้มีความทันสมัย โปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาล โดยผสานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ถูกต้อง และรวดเร็ว
นอกจากนี้ จะเร่งรัดการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลปกครองในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น 
ในด้านการพัฒนาบุคลากร 

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนภาระงานต่าง ๆ ก็จะส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรม
ศาลปกครอง (TRUST) ให้บุคลากรทุกคนสามารถดำรงตนได้อย่างเหมาะสม มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน

สำหรับการพัฒนาองค์กรให้มีมาตรฐานในระดับสากล จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการศาลและวิชาการกับองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรของศาลปกครองและเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของศาลปกครอง รวมถึงสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นสากล

ท้ายนี้ ประธานศาลปกครองสูงสุดขอให้ความเชื่อมั่นว่า จะมุ่งมั่นและทุ่มเทในการนำพาศาลปกครองให้ไปสู่การบรรลุเป้าหมายสำคัญ นั่นคือศาลปกครองเป็นระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรฐานการบริหารจัดการคดีที่เป็นสากล ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 โดยขอให้บุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองทุกคน ร่วมกันขับเคลื่อนงานของศาลปกครองตามนโยบายสำคัญข้างต้น
ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ เพื่อให้ศาลปกครองเป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทยต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top