Tuesday, 1 July 2025
NEWS FEED

ทัพเรือภาคที่ 1 จัดอบรมหลักสูตร “การประมงกับความมั่นคงของชาติ และไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล” ประจำปีงบประมาณ 2568 ในพื้นที่จังหวัดระยอง

ระหว่างวันที่ 17 - 20 มิถุนายน 2568 ศูนย์ไทยอาสาป้องกันชาติในทะเลเขตทัพเรือภาคที่ 1 จัดการอบรมหลักสูตร “การประมงกับความมั่นคงของชาติ และไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล” รุ่นที่ 129/361 ประจำปีงบประมาณ 2568 ให้แก่ประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงและอาชีพต่อเนื่องจากการทำประมงในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยมีพิธีเปิดการอบรมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 และพิธีปิดในวันที่ 20 มิถุนายน 2568 ณ ศาลาการเปรียญ วัดพลา ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

พิธีเปิดการอบรมได้รับเกียรติจาก พลเรือตรี รังสรรค์ บัวเผือก รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ไทยอาสาป้องกันชาติในทะเลเขตทัพเรือภาคที่ 1 เป็นประธานเปิดการอบรม ส่วนพิธีปิดการอบรมมี พลเรือโท อาภา ชพานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ / ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นประธานในพิธีปิด

การอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 70 คน โดยเน้นให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เช่น
- ประวัติความเป็นมาและสิทธิประโยชน์ของไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล
- การปลูกฝังจิตสำนึกรักชาติและความเป็นพลเมืองดี
- ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ การประมง และการสื่อสารทางวิทยุ
- การให้ข่าวสารทางทะเลที่เป็นประโยชน์ต่อราชการ
- สถานการณ์ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ
- การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล
- การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การทำ CPR และการใช้เครื่อง AED

การอบรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุตามวัตถุประสงค์ของทางราชการในการเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนในภาคการประมงให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงทางทะเลของกองทัพเรือในอนาคต

‘เพชรโกศล’ ทุบกำปั้นปินส์ ซิวแชมป์โลก IBF กลายเป็นแชมป์โลกคนที่ 50 ในประวัติศาสตร์มวยไทย

(19 มิ.ย. 68) การแข่งขันชิงแชมป์โลกมวยสากล IBF รุ่นจูเนียร์ฟลายเวท (108 ปอนด์) ที่ว่างลง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2568 ณ สังเวียนโอตะ เยเนอรัล ยิมเนเซียม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นการพบกันระหว่าง คริสเตียน อาราเนตา รองแชมป์โลกอันดับ 1 จากฟิลิปปินส์ กับ เพชรโกศล กรีนซึดะ นักชกไทยวัย 25 ปี ดีกรีแชมป์ OPBF

แม้เพชรโกศลจะโดนนับในยกที่ 3 จากหมัดสวนของอาราเนตา แต่จากยก 4 เป็นต้นไป นักชกไทยกลับมาเร่งเกม ใช้ความเร็วและการเข้าวงในอย่างชาญฉลาด ดักต่อยเข้าเป้าอย่างต่อเนื่อง ตลอด 12 ยก จนกรรมการให้คะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ 2-1 (115-112, 113-114, 116-111) คว้าเข็มขัดแชมป์โลกมาครองอย่างยิ่งใหญ่

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้เพชรโกศล กลายเป็นแชมป์โลกคนที่ 50 ของไทย ในประวัติศาสตร์วงการมวยสากลอาชีพ และถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญในการปลุกกระแสศรัทธามวยไทยบนเวทีโลก หลังจากช่วงที่ผ่านมาไทยห่างหายจากการได้แชมป์โลกไปช่วงหนึ่ง

หลังชก เพชรโกศลเปิดใจว่า “ผมขอขอบคุณแฟนมวยชาวไทยทุกคนที่ส่งแรงใจมาถึงโตเกียว นี่คือความฝันที่เป็นจริง” พร้อมย้ำว่า จะตั้งใจป้องกันแชมป์และพัฒนาฝีมือต่อไป เพื่อเป็นตัวแทนของคนไทยในเวทีระดับโลกอย่างภาคภูมิใจ

กมธ.ทหารฯ วุฒิสภา เตรียมยื่นถอดถอนนายกฯ แพทองธาร 

(19 มิ.ย.68) เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา นำโดย พลเอก สวัสดิ์ ทัศนา ประธานคณะกรรมาธิการ ออกแถลงการณ์โดยระบุถึงกรณีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงยอมรับว่าคลิปเสียงที่เผยแพร่ออกมานั้นเป็นคลิปเสียงของตนสนทนากับสมเด็จฮุนเซนจริง โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงแม่ทัพภาคที่ 2 ว่าเป็นคนของฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งเป็นการด้อยค่าไม่ให้เกียรติทหารและกองทัพที่ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน อีกทั้งการสนทนาได้แสดงท่าทีที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการที่สมเด็จฮุนเซนเรียกร้อง ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างใหญ่หลวง อาจเข้าข่ายเป็นความผิด ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เช่น มาตรา 5 บุคคล มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (2) ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาตรา 52 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูตและการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ มาตรา 164 ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย 

(1) ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม (4) สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดองกัน 

2. ประมวลกฎหมายอาญา หมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร และหมวด 3 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักรในมาตราต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฐานเป็นกบฏ หรือคบคิดกับบุคคลซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐต่างประเทศหรือที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ หรือร่วมเป็นข้าศึกของประเทศ และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต 

3. นอกจากกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายในหลายมาตราดังกล่าว ยังส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการตำหนิผู้นำทหาร คือ แม่ทัพภาคที่ 2 ว่าเป็นคนละฝ่ายกับเรา ซึ่งหมายถึงเป็นคนละฝ่ายกับนายกรัฐมนตรีไทยกับประธานวุฒิสภาของกัมพูชาถือเป็นการสร้างความแตกแยกในชาติ และยังเป็นการกระทำที่เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริต และละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมาธิการจึงไม่อาจปล่อยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศต่อไป จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งและยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที พร้อมกันนี้ มีความจำเป็นต้องยื่นถอดถอนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เพราะไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 และตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564 รวมทั้งดำเนินการเอาผิดกับนายกรัฐมนตรีต่อองค์กรต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในแถลงการณ์ของ กมธ.การทหารฯ วุฒิสภา ยังได้ขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนรับฟังข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ อย่าหลงเชื่อข่าวสารที่เป็นข่าวปลอม เพื่อปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจผิดจากผู้ไม่หวังดี เพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวายและขอให้ประชาชนร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความสงบ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ประเทศชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดย กมธ.การทหารฯ วุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภาจะยืนยันหยัดทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนคนไทยให้ดีที่สุด และพร้อมจะยืนเคียงคู่กับประชาชน ข้าราชการทุกหมู่เหล่า และกองทัพ เพื่อดำรงรักษาอธิปไตย และประเทศชาติอย่างสุดกำลัง

‘ลีดเดอร์ชิพโพลล์’ ม.รังสิต สะท้อนวิกฤตผู้นำ ชี้ ประชาชนไม่เชื่อมั่น ‘แพทองธาร’ แก้ปมเขมร

(19 มิ.ย. 68) ลีดเดอร์ชิพโพลล์ วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “มุมมองต่อสถานการณ์ชายแดน (ไทย–กัมพูชา)” จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,500 คนทั่วประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่าง วันที่ 12–18 มิถุนายน 2568 โดยสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกห่วงกังวลของสังคมต่อความขัดแย้งชายแดน ตลอดจนความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนนี้

จากผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่จำนวนมากถึงร้อยละ 60.13 ระบุว่า “ไม่มีความเชื่อมั่นเลย” ว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะสามารถจัดการปัญหาข้อพิพาทชายแดนกับกัมพูชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่อีกร้อย ละ 23.47 ก็ระบุว่า “ไม่ค่อยเชื่อมั่น” โดยมีเพียงส่วนน้อยคือร้อยละ 7.93 ที่ “ค่อนข้างเชื่อมั่น” และเพียงร้อยละ 1.07 เท่านั้นที่ “เชื่อมั่นสูง” ในศักยภาพของรัฐบาล ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายเชิงภาวะผู้นำที่นายกรัฐมนตรีต้องเผชิญท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงระหว่างประเทศ

ในทางกลับกัน กองทัพไทยกลับได้รับความเชื่อมั่นในระดับสูงจากประชาชน โดยร้อยละ 59.73 ระบุว่ามี “ความเชื่อมั่นสูง” ว่ากองทัพจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ชายแดนในครั้งนี้ได้ ขณะที่อีกร้อยละ 30.27 “ค่อนข้างเชื่อมั่น” ซึ่งต่างจากความรู้สึกที่มีต่อฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน

ในประเด็นแนวทางการแก้ไขปัญหา ประชาชนร้อยละ 55.80 เสนอว่าไทยควรใช้การเจรจาทวิภาคีกับกัมพูชา ขณะที่ร้อยละ 27.93 สนับสนุนความร่วมมือผ่านกลไกอาเซียน และมีเพียงร้อยละ 6.87 ที่เห็นว่าควรยื่นเรื่องต่อศาลโลก (ICJ)

ประชาชนยังแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบจากความตึงเครียดบริเวณชายแดน โดยร้อยละ 39.87 เห็นว่ามีผลกระทบ“มาก” ต่อการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว และร้อยละ 35.20 เห็นว่ากระทบ “พอสมควร” สอดคล้องกับข้อค้นพบที่ว่า ร้อยละ 68.73 ของประชาชนรับรู้ถึงการ “ปลุกกระแสชาตินิยม” จากทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ของประชาชนสองฝั่งชายแดน ร้อยละ 60.00 เห็นว่ามีความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ “แน่นแฟ้นพอสมควร” อีกทั้งยังมีประชาชนถึงร้อยละ 41.33 ที่ต้องการให้อาเซียนเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยในกรณีพิพาทนี้ ในขณะที่อีกร้อยละ 38.20 เห็นว่าอาเซียนควรมีบทบาทเฉพาะเมื่อสถานการณ์รุนแรงเท่านั้น

สุดท้าย เมื่อประเมินความมั่นใจของประชาชนว่าไทยจะสามารถรักษาผลประโยชน์ของประเทศในกรณีพิพาทชายแดน ครั้งนี้ได้หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 36.27 “ค่อนข้างมั่นใจ” และร้อยละ 16.20 “มั่นใจสูง” ขณะที่อีกร้อยละ 29.53 “ไม่ค่อยมั่นใจ” และร้อยละ 11.00 “ไม่มีความมั่นใจเลย”

ผลสำรวจนี้ สะท้อนถึงความกังวลของสังคมอย่างมาก ความท้าทายของรัฐบาลในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนภายใต้สถานการณ์ที่มีทั้งความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ และความเปราะบางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผลสำรวจของลีดเดอร์ชิพโพลล์ สะท้อนวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร อย่างชัดเจน ขณะที่กองทัพกลับได้รับความ ไว้วางใจสูงกว่ามาก ซึ่งยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่อ่อนแอในวิกฤตการณ์นี้ ความไม่ไว้วางใจนี้ยิ่งรุนแรงขึ้นจากคลิปเสียง สนทนาระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับสมเด็จฮุนเซนที่หลุดออกมาท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังอ่อนไหวทางการเมืองในทุกมิติ ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความชัดเจนของท่าทีรัฐบาลและความโปร่งใสในการเจรจาระหว่างประเทศ การที่ประชาชนส่วนใหญ่เสนอให้ใช้การเจรจาทวิภาคี สะท้อนความคาดหวังต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสุขุมรอบคอบความท้าทายที่ซับซ้อนสำหรับผู้นำของนา ยกแพทองธาร โดยเฉพาะภาพลักษณ์และวุฒิภาวการณ์เป็นผู้นำ ซึ่งกำลังส่งผลต่อความชอบธรรมของรัฐบาลที่กำลังสั่นคลอนจากความรู้สึกไม่มั่นใจของประชาชนต่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติในเวทีระหว่างประเทศ

กต. แถลงตอบโต้ ‘กัมพูชา’ ปมคลิปเสียงหลุด ชี้ ทำลายความเชื่อใจระหว่างกันอย่างร้ายแรง

(19 มิ.ย.68) กระทรวงการต่างประเทศ แถลง คลิปเสียงหลุดของสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาของกัมพูชา และนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรของไทยจากฝ่ายกัมพูชา ทำลายความเชื่อใจระหว่างกันอย่างร้ายแรง

นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงสถานการณ์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ตามที่ได้มีการเปิดเผยบทสนทนาระหว่าง สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาของกัมพูชา และ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ของไทยจากฝ่ายกัมพูชา โดยฝ่ายไทยเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อจรรยาบรรณและมารยาทขั้นพื้นฐานของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่ไม่อาจยอมรับได้ และถือเป็นการทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และความพยายามที่จะใช้กลไกวิภาคีในการแก้ไขปัญหาของทั้งสองฝ่ายตามแนวปฏิบัติสากล และการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี 

ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นใคร ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศที่ควรได้รับการยอมรับและให้เกียรติตามแนวปฏิบัติสากลของการดำเนินการระหว่างประเทศ

วันนี้กระทรวงการต่างประเทศ จึงทำหนังสือประท้วงกรณีดังกล่าวผ่านช่องทางการทูต โดยได้เชิญเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยมารับหนังสือดังกล่าว

ในเนื้อหาเป็นการแจ้งว่าการกระทำของฝ่ายกัมพูชาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ถือว่าผิดมารยาทพื้นฐานของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ เป็นการทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างร้ายแรง

การดำเนินการของฝ่ายไทย ซึ่งรวมถึงการตอบโต้ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามแนวทางการทูตกระทำโดยใช้วิจารณญาณ มีความรอบคอบ โปร่งใสและมีวุฒิภาวะ ใช้สันติวิธี และดำเนินอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลคนไทยในกัมพูชาไว้เรียบร้อยแล้ว กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำอีกครั้ง ว่าเรื่องนี้เป็นการดำเนินการทางการทูตระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่ายไม่ใช่ปัญหาระหว่างประชาชนสองประเทศ ซึ่งต่างจากกัมพูชาที่ใช้การสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย โดยมุ่งหวังเพื่อปลุกระดมความนิยมจากประชาชนและสร้างความแตกแยกให้กับสังคมของทั้งสองประเทศหรือประเทศอื่น ซึ่งแสดงถึงการไม่เคารพหลักการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และการกระทำเช่นนี้ไม่ควรได้รับการยอมรับและความไว้วางจากประชาคมระหว่างประเทศ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดโครงการฝึกครูฝึกยิงปืน เสริมเขี้ยวเล็บตำรวจด่านหน้า 3 สายงานทั่วประเทศ อบรมเข้ม 300 นาย ฝึกจริง ยิงจริง รับมือทุกสถานการณ์

(19 มิ.ย.68) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) , พล.ต.อ.ประจวบ  วงศฺสุข รอง ผบ.ตร.(ปป) , พล.ต.ท.สำราญ  นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร.(ปป1) มอบหมายให้ พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรม “ครูฝึก (ครู ก.) ทักษะยิงปืน” สำหรับข้าราชการตำรวจสายป้องกันปราบปราม สืบสวน และจราจรทั่วประเทศ ณ ศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 20 มิถุนายน 2568 การอบรมแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก วันที่ 15 - 17 มิถุนายน 2568 เตรียมความพร้อมสำหรับครูฝึก มุ่งเน้นทั้งภาคทฤษฎี ความรู้ด้านอาวุธ และเทคนิคการฝึกอย่างปลอดภัย , ช่วงที่สอง วันที่ 18 - 20 มิถุนายน 2568 ฝึกอบรมครูฝึก (ครู ก.) จำนวน 300 นาย จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1 - 9 เพื่อเป็นกำลังหลักถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ตำรวจระดับพื้นที่ทั่วประเทศ

พล.ต.ท.นิธิธรฯ กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า จากสถานการณ์อาชญากรรมที่รุนแรงขึ้น คนร้ายมักมีพฤติกรรมต่อต้านการจับกุม และใช้อาวุธเป็นเครื่องมือก่อเหตุ ทำให้ตำรวจแนวหน้า ไม่ว่าจะเป็นสายตรวจ สายสืบ หรือแม้แต่สายจราจร ต่างมีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องมีทักษะยุทธวิธีและการใช้อาวุธปืนที่ถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ หลักสูตรฝึกอบรมจึงเข้มข้น ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้การใช้อาวุธปืนประจำกายให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง การวิเคราะห์ความเสี่ยง การบริหารพื้นที่ การจัดวางกำลัง รวมถึงการฝึกยิงกระสุนจริงในระยะต่าง ๆ ภายใต้มาตรการความปลอดภัยขั้นสูง พร้อมฝึกการจัดสนามยิงและควบคุมผู้ฝึกอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังใช้เทคนิค “การจำลองสถานการณ์” (Scenario-based training) เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในสนามจริง เป้าหมายสำคัญของโครงการคือการสร้าง “ครูฝึกต้นแบบ” ที่สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดต่ออย่างมีมาตรฐาน ครอบคลุม และปลอดภัย โดยมีการบูรณาการการทำงานระหว่างครูฝึกระดับกองบัญชาการ (ครู ก.) และระดับกองบังคับการ (ครู ข.) เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องทั่วทุกหน่วยในประเทศ

นอกจากนี้ พล.ต.ท.นิธิธรฯ กล่าวว่า แม้ภารกิจจะแตกต่างกัน แต่เป้าหมายของตำรวจทุกนายคือความปลอดภัยของประชาชน การฝึกยุทธวิธีที่ได้มาตรฐานจะช่วยให้การใช้อาวุธเป็นไปอย่างมืออาชีพ มีสติ มีวินัย ลดการสูญเสีย และเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์จริง ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการยกระดับศักยภาพตำรวจไทยทุกสายงาน พร้อมรับมือภัยคุกคามที่ซับซ้อน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินหน้ารับฟังความคิดเห็น 'ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.วิ.อาญา' ต่อเนื่อง จัดเวทีเสวนาภาคใต้ ที่ภูเก็ต

(19 มิ.ย.68)เวลา 09.00 น. ณ ห้องบุตรน้ำเพชร หอประชุมชัยจินดา ตำรวจภูธรภาค 8 จังหวัดภูเก็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.นิรันดร เหลื่อมศรี รอง ผบ.ตร. (รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและคดี) เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา ทางวิชาการ หัวข้อ “การคุ้มครองสิทธิของประชาชน บนเส้นทางการสืบสวนสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา (ร่างของ ส.ส.พรรคประชาชน) ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี พล.ต.ท. อิทธิพล อิทธิสารรณชัย  ผู้ช่วย ผบ.ตร.  พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผบช.ภ.8  พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน  ก.ร.ตร./อดีต ผบช.ภ.1 พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาระดับ รอง ผบช. และ ผบก.
ในสังกัด ภ.8 และ ภ.9 ร่วมงานเสวนา  

การจัดเวทีเสวนาครั้งนี้นับเป็นเวทีที่ 3 ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องจากเวทีในภาคกลาง (ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จ.นครปฐม) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ภายในงาน ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในกระบวนการยุติธรรมร่วมอภิปราย ได้แก่ คุณอมรพันธุ์ นิติธีรานนท์ อดีตผู้พิพากษา, ดร.รังสรรค์ คงทอง อาจารย์พิเศษ สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, 

คุณรุ่งนภา พุฒแก้ว ประธานสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต, พล.ต.ต.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน อดีต ผบก.สส.ภ.8 และ พล.ต.ต.นรินทร์ บูสะมัญ รอง ผบช.ภ.9 การเสวนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน ประกอบด้วย ตัวแทนหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ภาคประชาชน นักศึกษาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนพนักงานสอบสวนและข้าราชการตำรวจในสังกัด ภ.8 และ ภ.9 ภายหลังการเสวนาในภาคเช้า ยังมีกิจกรรมสัมมนากลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อระดมความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อเสนอในการพัฒนางานสอบสวนจากผู้ปฏิบัติ
 
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการหารือ มีสาระสำคัญคือ การให้อัยการมีอำนาจกำกับดูแลงานสอบสวนมากขึ้น เช่น การให้ความเห็นชอบก่อนออกหมายเรียกหรือหมายจับ รวมถึงการกำกับการสอบสวนในคดีสำคัญ หรือคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งหลายฝ่ายได้แสดงความห่วงกังวลว่า อาจก่อให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการสอบสวนจากความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานของ พงส. อัยการ และศาล และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย เช่น ขั้นตอนการออกหมายเรียก หมายจับ ซึ่งหากนำมาใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านสถานการณ์และความมั่นคง นอกจากนี้ในวงเสวนายังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องของงบประมาณรัฐที่จะต้องจัดสรรเพิ่มเติมเพื่อจัดหาบุคลากร ทรัพยากร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อรองรับภารกิจและกระบวนงานที่จะเพิ่มขึ้นจากร่างกฎหมายนี้        

ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีการแลกเปลี่ยนกันในการเสวนา คือ การจะแก้ไขปัญหางานสอบสวนและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำสำนวน ระหว่างพนักงานสอบสวนและอัยการ อาจสามารถดำเนินการได้ผ่านการปรับปรุงรูปแบบการประสานงาน หรือการแก้ไขระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เหมาะสม และรวดเร็วกว่า  โดยไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข ป.วิ.อาญา เพราะการแก้ไข ป.วิ.อาญา ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทกลับจะทำให้ไปกระทบหลักการภาพใหญ่ของระบบกฎหมายอาญาที่เป็นระบบกล่าวหาของประเทศไทยทั้งระบบโดยไม่จำเป็น และส่งผลให้เกิดความล่าช้าจากการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน และส่งผลเสียต่อประชาชนผู้เสียหาย    

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะรวบรวมผลการเสวนาทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ เพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อคิดเห็นอย่างเป็นทางการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป

 

รร.เสนาธิการทหารบก ลงพื้นที่ชายแดนศรีสะเกษ มอบของ - มอบแรงใจ แด่ผู้เสียสละปกป้องแผ่นดินไทย

(19 มิ.ย. 68) คณะศึกษาดูงานโรงเรียนเสนาธิการทหารบก นำนายทหารนักเรียนหลักสูตรหลักประจำ รุ่นที่ 103 โดยการนำของ พันเอก ชัชวินท์ ยิ้มแย้ม รองผู้บัญชาการโรงเรียนฯ จัดกิจกรรม CSR ภายใต้แนวคิด “แนวหน้าอุ่นใจ แนวหลังส่งแรงใจไม่ขาดสาย” ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อส่งเสริมขวัญกำลังใจให้แก่ทหารแนวหน้าและเยาวชนในพื้นที่ชายแดน

กิจกรรมเริ่มต้นที่โรงเรียนบ้านภูมซรอล อำเภอกันทรลักษ์ คณะได้มอบสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้กับนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีนายสวรรค์ ศรีกรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูและนักเรียนร่วมให้การต้อนรับ ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นและเปี่ยมด้วยกำลังใจ

จากนั้น คณะเดินทางต่อไปยังฐานปฏิบัติการผาตุ้มโฮม เพื่อมอบถังเก็บน้ำขนาด 1,050 ลิตร จำนวน 5 ถัง พร้อมสิ่งของจำเป็นให้กับเจ้าหน้าที่ โดยมีพันเอก รัฐพล ศิริทับ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 เป็นผู้รับมอบ พร้อมตัวแทนนายทหารนักเรียนมอบดอกกุหลาบแทนความห่วงใย

พันเอก ชัชวินท์ ยิ้มแย้ม ได้กล่าวโอวาทเสริมพลังใจแก่กำลังพลแนวหน้า ย้ำถึงความเสียสละและความเข้มแข็งของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน พร้อมขอบคุณที่ทหารกล้ายังคงปกป้องแผ่นดินไทยอย่างไม่ย่อท้อ

กิจกรรมในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการมอบสิ่งของ แต่คือการส่งแรงใจแทนความห่วงใยจากคนไทยทั้งแผ่นดินสู่ทหารแนวหน้าและเยาวชนชายขอบ เพื่อเป็นพลังใจให้ทุกคนก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงและศรัทธาร่วมกันปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนต่อไป

รู้จัก ‘บิ๊กเล็ก’ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้กุมบังเหียน ศบ.ทก. สู้ศึก ‘ไทย-กัมพูชา’

(19 มิ.ย 68) เปิดประวัติ ‘บิ๊กเล็ก’ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยฯ กลาโหม กับภารกิจคุมบังเหียน ศบ.ทก. วางแผน แก้ไขปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เจรจาอย่างสันติ หลีกเลี่ยงการปะทะ

สถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชายังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพื้นที่และชายแดน ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา

เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงมีคำสั่งจัดตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา” (ศบ.ทก.) ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อประสานและบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ศูนย์เฉพาะกิจนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการวางแผน แก้ไข และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณชายแดนอย่างถูกต้องและเป็นเอกภาพ รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในแนวทางสันติวิธี บนพื้นฐานของการเคารพในเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค และบูรณภาพแห่งดินแดนตามหลักทวิภาคี

พร้อมกันนี้ ยังมีการประสานกับสภาความมั่นคงแห่งชาติในการอนุมัติการดำเนินการต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ และสร้างแนวทางสู่การเจรจาอย่างสันติระหว่างประเทศเพื่อนบ้านต่อไป

สำหรับ พล.อ.ณัฐพล นั้นเป็นผู้ที่เข้าใจในมิติด้านความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างดี เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังเคยเป็นกรรมการ “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือ“ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19”(ศปก.ศบค.) รวมทั้งยังรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่กันไปด้วย กล่าวได้ว่าประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตของชาติมีอย่างเต็มเปี่ยม

เปิดประวัติบิ๊กเล็ก
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ หรือ บิ๊กเล็ก เกิดเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ปี 2504 จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 31 (รุ่นเดียวกับพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองเลขาธิการพระราชวัง) โรงเรียนเสนาธิการทหารบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

• ผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2531
• อาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก พ.ศ. 2536
• อาจารย์วิทยาลัยการทัพบก พ.ศ. 2540
• ผู้อำนวยการกอง กรมยุทธการทหารบก พ.ศ. 2550
• เจ้ากรมยุทธการทหารบก พ.ศ. 2558
• รองเสนาธิการทหารบก พ.ศ. 2559
• หัวหน้าส่วนอำนวยการ สำนักงานเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. 2559
• เสนาธิการทหารบก พ.ศ. 2560
• รองผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2561-2563
• กรรมการ บริษัท ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2561-พ.ศ. 2563
• กรรมการอิสระและกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2562-พ.ศ. 2563
• เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2563
• ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
• ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข พ.ศ. 2564
• รองผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ประวัติการศึกษา พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์
• พ.ศ.2529 หลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 74 โรงเรียนทหารราบ
• พ.ศ.2532 หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 52 โรงเรียนทหารราบ
• พ.ศ.2540 หลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับผู้บริหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก
• พ.ศ.2542 หลักสูตรความมั่นคงภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ประเทศสหรัฐอเมริกา
• พ.ศ.2560 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 59


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top