เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2567 ได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม 'ทางรัฐ' และ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ปลอม แล้ว 312 บัญชี โดยแบ่งเป็น บัญชี Facebook จำนวน 297 บัญชี และบัญชี Tiktok จำนวน 15 บัญชี พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันยังพบว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลอันเป็นเท็จ และบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเติมเงินให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรประจำตัวผู้พิการ อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบกรณีข่าวปลอม ที่ได้รับความสนใจ และมีการส่งต่อข้อมูลเป็นจำนวนมาก อาทิ “ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 สิงหาคม 2567 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท” และ “รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ตใหม่ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ที่ ธ.ออมสิน ธกส. และกรุงไทย” เป็นต้น
สำหรับข่าวปลอมดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าทั้งหมดเป็น “ข้อมูลเท็จ” โดยประเด็นเรื่องของสิทธิ์ผู้พิการในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขยายเวลาลงทะเบียนให้กับคนพิการทุกคนทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยเพื่อที่จะให้ผู้พิการทุกคนได้รับสิทธิ์ในการรับเงิน 10,000 บาท
ในส่วนการเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนใหม่ในโครงการลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่านธนาคารของรัฐแต่อย่างใด
"กระทรวงดีอีได้ดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่นำข้อมูลเท็จ ข้อมูลบดเบือน ไม่เป็นความจริง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ข่าวปลอมเรื่อง 'ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แล้ว' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) , 2.ข่าวปลอมเรื่อง 'การโหลดแอปพลิเคชันยืนยันตัวตนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ถูกดูดเงินหมดบัญชี และเรื่องมีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA , 3.ข่าวปลอมเรื่อง 'มีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' ซึ่งได้มีการพิจารณาดำเนินคดี โดยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อดำเนินการต่อไป" นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีห่วงใยพี่น้องประชาชนต่ออันตราย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโจรออนไลน์ ซึ่งได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' และการใช้งานแอปพลิเคชัน 'ทางรัฐ' ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอม พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ ประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด 'หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน' พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์