Saturday, 5 July 2025
ECONBIZ

‘กรณ์’ ชี้!! วิกฤต Credit Suisse กระทบไทยน้อย ยัน!! ฐานะทางบัญชีธนาคารไทย ‘เข้มแข็ง’

(16 มี.ค. 66) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณี มูลค่าหุ้นของธนาคาร เครดิต สวิส (Credit Suisse) ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์อันดับ 2 ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ร่วงลงไปถึง 24% ภายในวันเดียวในช่วงค่ำวันที่ 15 มีนาคม 2566 ทำให้สำนักงานกำกับตลาดการเงินและธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อลดความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้น ว่า ธนาคาร Credit Suisse อยู่ในสถานการณ์วิกฤต หลังจากที่วันนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ Saudi National Bank ประกาศว่าไม่สามารถสนับสนุนทุนเพิ่มให้ได้อีกต่อไป

นายกรณ์ กล่าวว่า ธนาคาร Credit Suisse ประสบปัญหาจากการบริหารจัดการที่ไม่ดีมานาน ราคาหุ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาปรับลดลงต่อเนื่องถึง -90% ทางผู้บริหารอ้างว่าทุนเพียงพอ แต่หากมีการแห่ถอนเงินออก เชื่อว่ารัฐบาลสวิสคงไม่ปล่อยให้เป็นไปตามชะตากรรม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะนี้ปรับตัวลง 600 จุด ในขณะที่เงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ประเด็นเรื่อง Credit Suisse เป็นคนละประเด็นปัญหากับ SVB และ Signature ของสหรัฐ แต่ความเปราะบางความเชื่อมั่นในขณะนี้จะทำให้ทุกปัญหาถูกขยายผลจนกลายเป็นวิกฤติได้” นายกรณ์ กล่าว

‘รมว.เฮ้ง’ ชวนคนหางานผ่านเว็บไซต์ ‘ไทยมีงานทำ’ รวบรวมอาชีพ-ตำแหน่งงานครบวงจรกว่า 250,000 อัตรา!!

กระทรวงแรงงาน ชวนคนหางานใช้บริการเว็บไซต์ ‘ไทยมีงานทำ.doe.go.th’ และแอปฯ ‘ไทยมีงานทำ’ ให้บริการฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย รวมตำแหน่งงานภาครัฐ เอกชน และตำแหน่งงานจากบริษัทจัดหางานเพื่อผู้หางาน

(16 มี.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน เตรียมตำแหน่งงานว่าง จำนวน 255,885 อัตรา รองรับผู้ว่างงาน ผู้จบการศึกษาใหม่ ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้เปราะบาง และทุกคนที่ต้องการมีงานทำ โดยพร้อมให้บริการประชาชนผ่านระบบออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม ‘ไทยมีงานทำ’ ซึ่งให้บริการทั้ง Web Application และ Mobile Application ประชาชนสามารถหางาน เข้าถึงตำแหน่งงานที่สนใจเหมาะสมกับตนเอง และสมัครหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มโอกาสการมีงานทำ

ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งงาน (Active ในระบบ) จากทั่วประเทศ จำนวน 255,885 อัตรา โดยตำแหน่งงาน 5 อันดับแรกที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่

1.) แรงงานด้านการประกอบ
2.) แรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์
3.) พนักงานขายของหน้าร้านและสาธิตสินค้า
4.) พนักงานขายโฆษณาและตัวแทนนายหน้าขาย
5.) ตัวแทนฝ่ายขายด้านเทคนิคและการค้า

“รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานอย่างยิ่ง เพราะเป็นปัญหาเริ่มต้นที่กระทบต่อการดำเนินชีวิต การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของภาคครัวเรือน ตลอดจนเศรษฐกิจในระดับประเทศเป็นลูกโซ่ จึงได้กำชับกระทรวงแรงงานสำรวจและเตรียมตำแหน่งงานไว้เพื่อรองรับคนไทยทุกคนที่ต้องการมีงานทำ” นายสุชาติ รมว.แรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แพลตฟอร์ม ‘ไทยมีงานทำ’ เป็นเว็บไซต์สำหรับคนหางานที่รวบรวมตำแหน่งงานภาครัฐ เชื่อมโยงข้อมูลจากสำนักงาน ก.พ. ซึ่งมีตำแหน่งงานจากหน่วยงานราชการกว่า 300 หน่วยงาน ภาคเอกชน จากนายจ้าง สถานประกอบการที่เข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์ม ‘ไทยมีงานทำ’ และได้แจ้งตำแหน่งงานว่างไว้ และตำแหน่งงานจากบริษัทจัดหางานชั้นนำที่เป็นพันธมิตร ความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำกับกรมการจัดหางาน อาทิ บริษัท จัดหางาน จ๊อบบีเคเค ดอท คอม จำกัด บริษัท จัดหางานจ็อบท็อปกัน จำกัด บริษัท จัดหางาน อเด็คโก้ (ประเทศไทย) จำกัด โดยคนหางานสามารถค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตัวเอง

นายกฯ ยินดี ‘ไทย-กานา’ ขยายความร่วมมือด้านเกษตร เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง-เกษตรทฤษฎีใหม่

ไทย-กานา ขยายความร่วมมือด้านเกษตรกรรม ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง-เกษตรทฤษฎีใหม่  

(16 มี.ค.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ประเทศกานามีความสนใจในแนวทางพระราชดำริว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยกเป็นต้นแบบพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งสนใจการทำการเกษตรแบบ BCG Model นายกรัฐมนตรียืนยันไทยพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยี องค์ความรู้ ให้คำแนะนำ และผลักดันความร่วมมือสู่ความสำเร็จระหว่างประเทศ

ประเทศกานา มีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวและเพิ่มผลผลิตภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศกานาสนใจในแนวทางพระราชดำริว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการทำการเกษตรแบบ BCG Model โดยกานาชื่นชมโครงการ “ข้าวรักษ์โลก” ของไทยที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี และเป็นแนวทางใหม่ของการทำเกษตรกรรมโลก ซึ่งโครงการข้าวรักษ์โลก เป็นต้นแบบการปฏิวัติการทำนาแบบยั่งยืนตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางไว้ จากแนวคิดการผลิตข้าวแบบใหม่ โดยการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้เพื่อการผลิตและลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต ข้าวที่ได้มีคุณภาพสูง และสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากโครงการข้าวรักษ์โลกตอบโจทย์กระแสผู้บริโภคในโลกยุคปัจจุบัน ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

‘นักลงทุน’ แห่ช้อปทองคำ เหตุเป็น ‘สินทรัพย์ปลอดภัย’ ลุ้นนิวไฮใหม่ทองคำ ปี 65 อาจทะลุบาทละ 32,100 บาท

พิษแบงก์มะกันล้ม นักลงทุนแห่ช้อปทองคำ ลุ้นทะลุนิวไฮบาทละ 32,100 บ. ขณะที่หุ้นหายตื่นดีดแรงบวก 41 จุด

(15 มี.ค.66) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีการปิดตัวลงของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank : SVB) และซิกเนเจอร์แบงก์ (Signature Bank) ในสหรัฐ ว่า คงไม่มีผลกระทบกับแผนเงินกู้ในตลาดตราสารหนี้ ที่จับตาดูอยู่ยังไม่มีอะไร และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังดูแลอยู่ เชื่อว่าจะมีการจำกัดผลกระทบส่วนนี้ให้น้อยลง หากเกิดความผันผวนขึ้นมาในช่วงรัฐบาลยุบสภา สามารถใช้มาตรการเข้าไปดูแลในช่วงรักษาการได้หรือไม่นั้น ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใด ๆ ที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินมาตรการเพื่อดูแลประชาชน คาดหวังว่าเหตุที่เกิดขึ้นในสหรัฐจะไม่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง หากไม่ได้เป็นประเทศที่ไปลงทุน และฝากเงินใน 2 แบงก์นั้นจำนวนมาก

“ส่วนถามว่าจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลเช่นใดนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบว่าปัญหาจะเป็นเรื่องอะไร วิกฤตที่เกิดขึ้นในสหรัฐ แบงก์ที่ปิดตัวเป็นธนาคารในภูมิภาค แม้จะอยู่ที่อันดับ 16 ก็ตาม แต่หากขยายไปสู่แบงก์ยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ก็อาจจะมีผลกระทบ” นายอาคมกล่าว

นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดทองคำ นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน ปรับขึ้นมาแล้วกว่า 1,150 บาทต่อบาททองคำ โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมนี้ บวกแล้ว 800 บาทต่อบาททองคำ ราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่บริเวณ 31,100 บาทต่อบาททองคำ ราคาทองคำปรับขึ้นร้อนแรงตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ตอบรับวิกฤตธนาคารสหรัฐขาดสภาพคล่องจนต้องปิดตัวไปแล้ว 3 แห่ง ยังไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่รายรอปิดตัวเพิ่มอีก ทำให้ทองคำถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหรือเซฟเฮฟเว่นในการลงทุนอีกครั้ง เพราะขณะนี้ตลาดมีความกังวลกับการล้มของแบงก์สหรัฐสูงมาก

“มีการมองภาพย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐ ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องพิมพ์เงินเพิ่มจำนวนมาก (คิวอี) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งถือเป็นการทำคิวอีครั้งแรกในรอบนั้นด้วย โดยในช่วง 10 ปีก่อนหน้าทองคำถือเป็นฮีโร่ในช่วงวิกฤตการเงิน ทำให้นักลงมุนมองว่า ทองคำอาจเป็นฮีโร่อีกครั้งได้ แต่ภาพปัจจุบันแตกต่างกัน เพราะดอกเบี้ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำมาก แต่ตอนนี้ก็คงค้างอยู่สูงมาแทน” นายพิบูลย์ฤทธิ์กล่าว

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เกาะติดแบงก์สหรัฐฯ ล้ม พร้อมรับมือ แม้สถาบันการเงินไทยไร้ธุรกรรมเกี่ยวข้อง

กรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และธนาคาร Signature Bank ในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกปิดกิจการ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 ล่าสุด สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ได้มีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พบว่าปัญหาของธนาคารดังกล่าวมีที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งนี้หน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) และ Federal Reserve (Fed) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธนาคารดังกล่าวนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ สถาบันการเงินของไทยไม่มีธุรกรรมโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับธนาคารดังกล่าวและไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกปิดกิจการของธนาคารดังกล่าว

'กรณ์' ออกโรงสร้างความมั่นใจ หลัง 2 แบงก์อเมริกาล้ม  ชี้!! กระทบไทยน้อย ยันธนาคารไทยแข็งแกร่ง

จากกรณี 2 ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ อย่างธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB และ Signature Bank ล้มกะทันหัน สร้างความตื่นตระหนกต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีความกังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินของเราหรือไม่ 

(15 มี.ค.66) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ที่สามารถฝ่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จนทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อปี 2553 กล่าวถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวว่า...

ปรากฎการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่จากบทเรียนในอดีตทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการวางแผนรองรับไว้อย่างดี ส่งผลให้สถาบันการเงินของไทยแข็งแกร่งที่สุดในโลก จึงอยากให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อลูกค้าของสถาบันการเงินอย่างแน่นอน 

นายกรณ์ วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาต่อการล่มสลายของธนาคาร SVB ว่า SVB ก่อตั้งมาเกือบ 40 ปี แต่มาเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตโควิด เนื่องจากฐานลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจสายเทคถึง 30,000 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้ากระจุกตัวอย่างมาก ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2019  จากเดิมที่มีฐานเงินฝากอยู่ที่ 50,000 ล้านเหรียญ ณ ช่วงต้นปี 2022 ฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 190,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 300% ซึ่งเร็วกว่าคนสถาบันการเงินอื่นที่เพิ่มขึ้นเพียง 30% เท่านั้น เหตุผลเกิดจากช่วงโควิดมีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีการระดมทุนของบริษัทสายเทคบูมมาก มีเงินไหลเข้า SVB มาก จนปล่อยกู้ไม่ทัน จึงนำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งในอดีตสามารถทำได้ แต่โดยปกติธนาคารต้องมีความระมัดระวังเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินฝากกับเงินลงทุน และส่วนใหญ่จะลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น แต่เนื่องจากช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก SVB จึงนำเงิน 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว 10 ปี  เพื่อหวังผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น พอลงทุนไป ก็เกิดปรากฏการณ์หลายเรื่องพร้อมกัน จนนำไปสู่การล้มละลายในที่สุด 

อดีต รมว.คลัง กล่าวต่อว่า พอช่วงโควิดผ่านไป ราคาหุ้นของลูกค้า SVB เริ่มปรับลดลง และเริ่มมีการถอนเงินฝากในปริมาณที่สูงกว่าที่ธนาคารคาดไว้ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงมีนโยบายออกมาต่อสู้ โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อลดอุปสงค์ของเงิน แต่อัตราการปรับเพิ่มขั้นดอกเบี้ยถึง 4% ส่งผลกระทบต่อการลงทุนพันธบัตรที่ธนาคารไปลงทุนไว้ ทางการเงินเรียกว่าขาดทุนทางบัญชี เนื่องจากยังไม่ได้ขาย เพราะหากฝากไว้ครบ 10 ปี ก็จะยังได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่ แต่ SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรเนื่องจากขาดสภาพคล่อง จึงทำให้เกิดภาวะขาดทุนจริงถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงมาก และเป็นสาเหตุต้องพยายามเพิ่มทุน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่ออุดช่องโหว่ ทำให้ลูกค้าธนาคารเริ่มเกิดความกังวลจนแห่ไปถอนเงิน จนเงินหมด ทำให้เฟดต้องเข้ามาจัดการโดยการปิดกิจการ SVB ในที่สุด 

นายกรณ์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโจ ไบเดน ออกมาย้ำเพื่อความมั่นใจว่า รัฐบาลจะคุ้มครองเงินฝาก 100% ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะถอนเงินได้หรือไม่ เพราะหากถอนไม่ได้ ผลข้างเคียงจะส่งผลต่อผู้ประกอบกิจการซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพ ไม่สามารถจ่ายเงินเดือน และชำระหนี้สินได้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและอาจกระทบจนถึงขั้นปิดกิจการได้ และอาจจะลามไปถึงการแห่ถอนเงินจากสถาบันการเงินอื่น ๆ สร้างปัญหาเป็นวงกว้างทั้งระบบ  อย่างไรก็ตามสิ่งที่นายไบเดนพูด รัฐบาลค้ำประกันเฉพาะผู้ฝาก แต่ไม่ค้ำประกันผู้ถือหุ้น เจ้าของพันธบัตรหรือเจ้าหนี้ของตัวธนาคาร และเป็นการใช้เงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเท่านั้น ไม่กระทบต่อภาษีประชาชนแต่อย่างใด เป็นการส่งสัญญาณเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้งที่ส่งผลต่อคะแนนนิยม แต่ทั้งนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็มีเงินเพียง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าทุกคนยังแห่ถอนเงินก็ไม่เพียงพอ เวลานี้จึงต้องรอดูว่าจะมีใครมาซื้อกิจการของ SVB ของสหรัฐ เหมือนที่ HSBC ซื้อกิจการ SVB ในอังกฤษไปแล้วในราคา 1 ปอนด์ 

นายกรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในบริเวณ ซิลิคอนวัลเลย์สูง เนื่องจากสตาร์ทอัพเกือบทุกรายใช้บริการ SVB ที่เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่เข้าใจมายาวนาน วันนี้ต้องไปคุยกับสถาบันการเงินอื่นที่เข้าใจน้อยกว่า ทำให้ความได้เปรียบการเข้าถึงแหล่งทุน เมื่อเทียบกับที่อื่นในโลกลดลง ยกเว้นว่าจะมีใครไปซื้อและดำเนินการทำธุรกิจในวัฒนธรรมเดิมกับกลุ่มลูกค้าเดิม ก็อาจไม่ส่งผลมากนัก แต่หากไม่มี หรือมีชุดความคิดที่แตกต่าง ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพ ที่ซิลิคอนวัลเลย์เริ่มหมดเสน่ห์ หรือขีดความสามารถในการแข่งขันที่เคยได้เปรียบก็จะลดลง 

อลงกรณ์’ เผยบอร์ดเกลือ แก้ปัญหาราคาผันผวน มีมติกำหนดราคาขั้นต่ำเกลือทะเลเป็นครั้งแรก

‘อลงกรณ์’ เผยบอร์ดเกลือมีมติกำหนดราคาขั้นต่ำเกลือทะเลเป็นครั้งแรก แก้ปัญหาราคาผันผวน พร้อมเร่งพัฒนานาเกลือด้วยแนวทาง BCG โมเดลเน้น “เพิ่มมูลค่า-คุ้มค่า-ยั่งยืน”

วันนี้ (15มี.ค. 2566) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/ 2566 แบบ Hybrid Meeting ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ zoom cloud meeting 

นายอลงกรณ์ ได้กล่าวหลังการประชุมว่า เพื่อแก้ไขปัญหาราคาเกลือผันผวนมีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวนาเกลือ คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ

1. การกำหนดราคาขั้นต่ำเกลือทะเลใน 3 ชนิดเกลือ ดังนี้ (1) ราคาเกลือขาว 1,800 บาท (2) เกลือกลาง 1,500 (3) เกลือดำ 1,300 บาท และขอให้ออกเป็นประกาศของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย โดยเป็นราคาขั้นต่ำที่กำหนดเป็นเกณฑ์ในการซื้อขายเกลือทะเล

2. คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบในหลักการ มาตรการการจัดการและป้องกันแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 เพื่อรองรับสภาพปัญหาการผลิตเกลือทะเลไทย

3.คณะกรรมการ ฯ ยังได้รับทราบแนวทางการพัฒนาเกลือทะเลไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทาง มาตรการ และกลไกการดําเนินงานรวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2564 – 2570 เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นการพัฒนาห่วงโซ่การเพิ่มมูลค่าเกลือทะเลไทย (BCG Value Chain เกลือทะเลไทย) คำนึงถึงการสร้างมูลค่า การหมุนเวียนใช่ทรัพยากรและความสมดุลและยั่งยืน

โดยกำหนดกิจกรรมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ตอนน้ำ จนถึงปลายน้ำได้แก่ ต้นน้ำ (เกษตรกร) โดยพัฒนาเกษตรกรผู้ผลิตเกลือทะเลให้เป็น smart farmer กระบวนการผลิตเกลือทะเลได้รับมาตรฐาน GAP รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการผลิตดอกเกลือและดีเกลือ ใช้พลาสติกปูพื้นนาเกลือเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำประมงน้ำกร่อย เชื่อมโยง กลางน้ำ (องค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการ) พัฒนาในส่วนของผู้ประกอบการและองค์กรเกษตร ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นองค์กรเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยแนวทางดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเกลือทะเลไทยตามรูปแบบโมเดลเศรษฐกิจ ใน 3 ด้าน ได้แก่ 

'สุริยะ' สั่ง 'กรมโรงงาน' จับตา 8 กลุ่มอุตฯ เกิดเพลิงไหม้บ่อย เข้มผู้ประกอบกิจการเฝ้าระวัง หวั่น!! อัคคีภัยช่วงฤดูร้อน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยโรงงาน เน้น 8 กลุ่มอุตสาหกรรม เพลิงไหม้สูงปีที่ผ่านมา ให้เฝ้าระวังอัคคีภัยช่วงฤดูร้อน สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมรับมือ โดยกำหนดข้อปฏิบัติในการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานช่วงฤดูแล้ง แบบตรวจสอบและประเมินตนเองด้านอัคคีภัย (Self Checklist) พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบกิจการ เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์

(15 มี.ค.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่อากาศแห้ง ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย จึงขอให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานทุกประเภท โดยเฉพาะใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีสถิติเกิดเหตุเพลิงไหม้สูงในปีที่ผ่านมา ระมัดระวัง ตรวจสอบ ตรวจตราอุปกรณ์เครื่องจักรให้พร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดไฟได้ง่าย ต้องมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ หากเกิดเหตุขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมและประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เตรียมมาตรการรองรับการเกิดอัคคีภัย โดยการจัดทำข้อปฏิบัติในการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานช่วงฤดูแล้ง และแบบตรวจสอบและประเมินตนเองด้านอัคคีภัย (Self Checklist) รวมถึงรณรงค์การป้องกันอัคคีภัยในช่วงฤดูร้อน ให้โรงงานได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของโรงงาน ลดผลกระทบต่อชุมชน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบาย MIND ที่เน้นสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรม

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงถึง 40 - 43 องศาเซลเซียส เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัย โดยจากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุปี 2565 พบว่าอุบัติเหตุในโรงงานใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม กว่า 76% เป็นการเกิดเพลิงไหม้ 81 ครั้ง มากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม และเกิดมากสุดในอุตสาหกรรมพลาสติก โฟม กระดาษ ยาง 26% อุตสาหกรรมสิ่งทอและเส้นใย 14% อุตสาหกรรมโกดังและคลังสินค้า 14% อุตสาหกรรมอาหาร 8% อุตสาหกรรมกากหรือขยะ 6% อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ 6% อุตสาหกรรมสี ไวไฟ 4% และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี 3% ตามลำดับ

'ผู้เชี่ยวชาญ' แนะ!! จังหวะตลาดหุ้นไทย 'ร่วงแรง'  ช่วงเวลาน่าสนใจ ซื้อ RMF/SSF เก็บเข้าพอร์ต

(15 มี.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Invest Like A Pro' ได้โพสต์ข้อความหลังเมื่อวานตลาดหุ้นไทยร่วงแรงแบบผิดคาด ว่า...

ปัญหาเกิดที่แบงก์ในสหรัฐฯ แต่ที่ตกใจกลัวที่สุด คือ ตลาดหุ้นไทย 
ต้องยอมรับว่า ที่ SET ร่วงแรงแบบนี้ ผิดคาดมาก เคยคิดว่า 1580 เอาอยู่ นี่เลยมาจนเกือบจะถึงแนวรับถัดไปที่ 1520 แล้ว

พยายามคิดทบทวนอยู่หลายรอบว่า ปัญหา SVB และแบงก์อื่นๆ ในสหรัฐฯ กระทบธนาคารไทยไหม ก็คิดว่า น่าจะไม่กระทบ … SET ที่ลงมาแรงช่วงนี้ จึงน่าจะเกิดจาก Sentiment ‘ความกลัว’ เป็นหลัก มีหลายท่านถามว่า ควรซื้อไหม ขอแนะนำเบื้องต้นว่า ถ้าใครกำลังรอจังหวะซื้อ RMF/SSF ผมว่าจุดนี้ น่าสนใจครับ ส่วนคนที่อยากซื้อเพื่อลุ้นเด้งกลับ ก็ลองดูแนวรับที่ 1520 ครับ 

ครม. ไฟเขียว ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ 3 จว.ชายแดนใต้ ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงเงินทุน-เดินหน้าธุรกิจต่อเนื่อง

(14 มี.ค.66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม  2565 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการลงทุนและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

การปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ คือ 
1.คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ ปรับปรุงโดยขยายกลุ่มผู้ขอสินเชื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้รายเดิมที่เคยได้รับสินเชื่อโครงการมาแล้วเกิน 5 ปี สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมที่ผู้ขอสินเชื่อโครงการนี้ จะต้องไม่เคยได้รับสินเชื่อโครงการ หรือได้รับสินเชื่อโครงการมาแล้วไม่เกิน 5 ปี 

2.วงเงินโครงการ 25,000 ล้านบาท ปรับปรุงโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 
(1) วงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับผู้กู้รายเดิมที่เคยได้รับสินเชื่อของโครงการมาแล้วเกิน 5 ปี ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และมีต้องการขอรับสินเชื่อโครงการต่อเนื่อง 
(2) วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้กู้รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อของโครงการมาก่อน  

ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อ โดยให้ความสำคัญกับผู้กู้รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อมาก่อนเป็นลำดับแรก 

ธุรกิจน่าจับตามอง ‘Cybersecurity’ เทรนด์การลงทุน ที่ไม่ควรมองข้าม ความปลอดภัจากแฮกเกอร์ ที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ

ระบบป้องกันภัยทางไซเบอร์ หรือ Cybersecurity นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญภายใต้การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจัดอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve ที่น่าจับตามองและจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจ โดยจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจต่าง ๆ

เติบโตต่อเนื่องบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และมีความคล่องตัว เนื่องจากในปัจจุบันภาคธุรกิจต่างเร่งลงทุนในเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่อุปกรณ์ต่าง ๆ เชื่อมต่อบนอินเทอร์เน็ต (IOT) รวมถึงเทรนด์ของการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from anywhere) ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ มีการใช้บริการ Cloud computing มากขึ้น ซึ่งหนีไม่พ้นที่ความเสี่ยงในด้านไซเบอร์จะมีโอกาสเกิดได้ง่ายขึ้น ทั้งการรั่วไหลหรือการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ผู้ประกอบการจึงหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในด้าน Cybersecurity มากขึ้น สะท้อนได้จากการที่บริษัทชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกยอมจ่ายเงินลงทุนมากขึ้นสำหรับงบประมาณในด้านเครื่องมือ และซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากแฮกเกอร์ ทั้งนี้จากข้อมูลผลสำรวจของ Gartner พบว่า ผู้บริหารธุรกิจ 9 ใน 10 บริษัทในสหรัฐ เห็นว่า Cybersecurity เป็นหนึ่งในความเสี่ยงของภาคธุรกิจ (Business risk) ที่ต้องมีการบริหารจัดการ มากกว่าที่จะมองว่าเป็นเพียงประเด็นที่เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านไอทีแต่เพียงอย่างเดียว 

แนวโน้มในระยะข้างหน้า การลงทุนในด้าน Cybersecurity จะทวีความสำคัญ และแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากการโจมตีทาง ไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้นจากความก้าวหน้าของแฮกเกอร์ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้ผู้พัฒนาโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ต้องปรับตัวพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนอกเหนือจากบริษัทชั้นนำด้านไอทีที่เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้าน Cybersecurity แล้ว กลุ่ม Startup ต่าง ๆ มีแนวโน้มให้ความสนใจในการพัฒนาโซลูชันด้าน Cybersecurity

รู้จัก 'ตลาดนินจาอมตะ' บนที่ดินมูลค่าเกือบพันล้าน ที่ 'เสี่ยตัน' ทำเพื่อช่วยพ่อค้าแม่ค้า-เพิ่มมูลค่าที่ดินไปในตัว

จากเพจ BrandCase ได้แชร์อีกหนึ่งกรณีศึกษาในการทำธุรกิจของ คุณตัน ภาสกรนที ที่มักจะมองเห็นโอกาสในแบบที่ผู้อื่นมองข้ามเสมอ ผ่าน 'ตลาดนินจาอมตะ' โดยมีเนื้อหาดังนี้...

หลายคนคงรู้จัก คุณตัน ภาสกรนที ในฐานะนักธุรกิจหมื่นล้าน เจ้าของ บริษัทชาเขียวอิชิตัน แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากธุรกิจชาเขียวแล้ว คุณตัน ยังเป็นเจ้าของ 'ตลาดนินจาอมตะ' ในจังหวัดชลบุรีอีกด้วย

สำหรับตลาดแห่งนี้ ใช้ทุนสร้างกว่า 200 ล้านบาท รวมมูลค่าที่ดินที่คุณตันซื้อมาอีก อีกเกือบ 1,000 ล้านบาท 

แต่คุณตันกลับเก็บค่าเช่าแผงในราคาค่อนข้างถูก คิดเป็นต่อปีแล้ว รายได้จากการเก็บค่าเช่าของตลาด น่าจะไม่ถึง 50 ล้านบาท ด้วยซ้ำ

>> แล้วคุณตันเห็นอะไร ทำไมเอาที่ดินแพงๆ มาทำตลาดนัด แล้วเก็บค่าเช่าถูกๆ?

ตลาดนินจาอมตะ ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 80 ไร่ ติดถนนบางนา-ตราด กม. 57 และถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ซึ่งเดิมทีคุณตันซื้อที่ดินตรงนี้ ด้วยราคาเฉลี่ยไร่ละ 12 ล้านบาท

>> หมายความว่า มูลค่าที่ดินรวมทั้งหมดตรงนี้ คือ 80 x 12 = 960 ล้านบาท

โดยในตลาด มีร้านค้ากว่า 2,000 แผง ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร, เสื้อผ้าแฟชัน, ตลาดนัดมือสอง, ต้นไม้ และสัตว์เลี้ยง พร้อมที่จอดรถอีกกว่า 1,000 คัน 

นอกจากนี้ ตลาดยังอยู่ตรงข้าม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ชลบุรี ซึ่งมีกลุ่มนักศึกษาจำนวนมาก แถมยังใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งมีกลุ่มคนทำงานราว 200,000 คน ก็เลยไม่น่าแปลกใจ ที่ตลาดแห่งนี้จะมีคนมาเดินไม่ขาดสาย 

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 6 - 10 มี.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก - ลบ’ ชี้ แนวโน้ม 13 - 17 มี.ค. 66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ยังสามารถยืนเหนือระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ แม้เกิดสถานการณ์วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ จากปัญหา Silicon Valley Bank (SVB) ประกาศล้มละลายหลังประสบปัญหาสภาพคล่อง และธนาคาร Signature Bank ถูกสั่งปิดกิจการตามคำสั่งของหน่วยงานด้านการกำกับกิจการประจำรัฐนิวยอร์ก เพื่อป้องกันวิกฤตการธนาคารลุกลาม ล่าสุด ประธานาธิบดี Joe Biden แถลงการณ์ยืนยันให้ผู้ฝากเงินที่ธนาคาร SVB และ Signature Bank สามารถถอนเงินได้ในวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. 66 หลังจากที่กระทรวงการคลังประกาศคุ้มครองเงินฝาก นับเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008

ด้านตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ดีกว่าที่คาดการณ์ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ในเดือน ก.พ. 66 เพิ่มขึ้น 311,000 ราย จากเดือนก่อนหน้า (นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 205,000 ราย) อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3.6% ตลาดจับตามองมติการประชุมนโยบายทางการเงิน (FOMC) ครั้งต่อไปในวันที่ 21-22 มี.ค. 66 โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามีโอกาส 42.5% ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% และมีโอกาส 57.5% ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ล่าสุด Goldman Sachs คาดว่าสถานการณ์ความปั่นป่วนในขณะนี้ อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 21-22 มี.ค. นี้ นับว่าพลิกผันเป็นอย่างมากจากที่เดิมตลาดคาดการณ์ว่าจะขึ้น 0.25% และระยะหลังคาดว่าจะขึ้นแรงถึง 0.5%

ทางเทคนิคสัปดาห์นี้คาดการณ์แนวโน้มราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 80-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากที่ก่อนหน้านี้ทดสอบระดับแนวรับจิตวิทยาสำคัญที่ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้สามารถ Rebound ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 84, 85, และ 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ กอปรกับ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักของโลกปิดตลาดวันที่ 10 มี.ค. 66 ลดลง 0.73 จุด อยู่ที่ 104.58 จุด ลดลงต่อเนื่องวันที่สอง

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
•หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs) รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ ในช่วง ม.ค.-ก.พ. 66 ลดลง 1.3% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน

BTS ยันทำถูกต้องตามกฎหมาย ปม สัญญาเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยาย

บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหาต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับพวกรวม 13 คน รวมถึง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BTS นายคีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะกรรมการของ BTSC เกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 โดยมีการกล่าวหาในประเด็นหลักว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (กฎหมายร่วมทุน)

บริษัทชี้แจงดังนี้
(ก) กรณีนี้ยังคงเป็นเพียงขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการป.ป.ช. เท่านั้น และ BTSC ยังไม่ได้ถูกฟ้องร้องเป็นคดีแต่อย่างใด BTSC มีสิทธิคัดค้านและแก้ข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย โดย BTSC ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

ผันผวนระยะสั้น!! CIMBT มองปิด SVB กระทบตลาดสหรัฐจำกัด  ชี้ ตลาดเงิน-ตลาดทุนไทย ผันผวนระยะสั้น

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร สำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIBMT) วิเคราะห์ว่า การปิด SVB น่าจะส่งผลกระทบจำกัดต่อตลาดการเงินสหรัฐฯ

1.SVB คือใคร
SVB หรือ Silicon Valley Bank เป็นแบงก์ใหญ่เป็นอันดับ 16 ในสหรัฐด้วยสินทรัพย์ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ โดยมาทำธุรกิจกับกลุ่ม Start up หรือกลุ่มเทค ล่าสุดในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมาถูกสั่งปิดโดย FDIC หรือ Federal Deposit Insurance Corp. คล้ายๆหน่วยงานคุ้มครองเงินฝาก (แต่คุ้มครองเพียง 250,000 ดอลลาร์ ซึ่งมีเพียง 3%ของบัญชีในแบงก์นี้ (อีกราว 97% มีเงินมากกว่าและยังไม่จ่ายส่วนที่เหลือคืนจนกว่าจะขายทรัพย์สินได้ ลองนึกภาพธุรกิจจะจ่ายคู่ค้าหรือพนักงานยังไง)          

2.ทำไมล้ม
ปัญหาของแบงก์นี้คือเกิดจากความน่าเชื่อถือ เกิด bank run หรือคนไม่มั่นใจแห่ถอนเงินจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มาจาก partners ที่เป็น Private Equity, Venture Capital, Tech, Health tech แค่วันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. วันเดียวมีคนถอนเงินฝากไปราว 1 ใน 4 ของเงินฝากทั้งหมด แบงก์ขาดกระแสเงินหมุนเวียน เจอปัญหาสภาพคล่องจนลามเป็นปัญหาล้มละลาย FDIC จึงต้องมาระงับกิจการ โอนเงินฝากให้แบงก์ที่จะจัดตั้งใหม่ ขอย้ำว่าวิกฤตินี้ไม่เหมือนปี 2008 ตอนเลห์แมนล้ม ตอนนั้นคือปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิต จากการลงทุนในอนุพันธ์ด้านอสังหา ตอนนี้คือความเสี่ยงด้านตลาดหรือสภาพคล่อง

3.ทำไมคนไม่ไว้ใจ
อยู่ ๆ ราคาหุ้นร่วงลง 60% ในวันเดียวจากความกังวลว่าจะเกิดการเพิ่มทุนจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จริงๆ ถ้าไม่ขายก็ไม่ขาดทุน (แต่ต้องรับรู้ Fair Value ผ่าน Balance sheet)  เรียกว่า unrealized loss คือราคาพันธบัตรลดลงต่ำว่าหน้าตั๋ว เพราะเมื่อดอกเบี้ยขึ้นแรง ราคาพันธบัตรที่สวนทางกับดอกเบี้ยที่ขึ้นจะลดลง เมื่อ SVB ต้องการเงินก็จำเป็นต้องขายขาดทุน พอขาดทุนก็ต้องการเงิน ไปขอเพิ่มทุน คนก็กลัวเทขายหุ้น คนฝากก็ panic ตกใจถอนเงิน จนเป็นภาวะปิดตัวเช่นนี้ และอีกประเด็นที่ทำไมขาดเงินก็เพราะธุรกิจเทคในสหรัฐ โดยเฉพาะเทคตัวเล็กขาดทุนอยู่มาก ยังไม่มีกำไรหรือกระแสเงินสดดี พอดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องยิ่งมีปัญหา กระทบแบงก์นี้ไปด้วยที่เน้นธุรกิจกลุ่มนี้

4.จะลามไหม
ในช่วงวันพุธที่ 8 มี.ค.ถึงวันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค.เราเห็นราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับย่อลงเพราะความกังวลว่าจะมีแบงก์อื่นล้มด้วยไหม แต่ปัญหานี้น่าอยู่ในแบงก์ขนาดเล็กที่เน้นกลุ่มเทคหรือ start up เป็นหลัก ซึ่งต่างกับแบงก์ใหญ่ ในวันศุกร์แล้วหุ้นแบงก์ใหญ่ฟื้น แต่แบงก์เล็กลงต่อ โดยรวมไม่น่าลาม โดยธนาคารที่มีการถือตราสารที่ดี ยังสามารถเข้าถึงสภาพคล่องจากเฟดได้ แต่อาจมีแบงก์ที่มีปัญหาเพิ่มในกลุ่มที่ขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นแรงในสหรัฐ จนราคาพันธบัตรลดลง (จริงๆ ถ้าถือจนครบอายุสัญญาจะไม่ขาดทุน) ต้องดูว่าใครร้อนเงินอีก หรือมีใครโดนแห่ถอนเงินจากวิกฤติศรัทธาบ้าง (หลักๆ คงจะเป็นธนาคารที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับกลุ่มเทค ที่ลงทุนใน Crypto ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ทางการสหรัฐฯนำโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และองค์กรประกันเงินฝากในสหรัฐฯ (FDIC) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบธนาคารของสหรัฐฯ โดย 1) ประกาศรับประกันเงินฝากทั้งหมดของธนาคาร SVB  โดยผู้ฝากเงินจะสามารถเข้าถึงเงินทั้งหมดของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม เป็นต้นไป และจะไม่สูญเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด 2) ประกาศข้อยกเว้นความเสี่ยงเชิงระบบที่คล้ายคลึงกันสำหรับ Signature Bank ซึ่งผู้ฝากเงินจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆเช่นกัน 3) ประกาศจัดหาเงินกองทุนพิเศษให้กับ FDIC เพื่อให้มีเพียงพอในการสร้างความมั่นใจให้กับระบบธนาคารของสหรัฐฯ  จากสถานการณ์ล่าสุด เราจึงเห็นตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐฯ ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตอบสนองต่อมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว

5.ตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนอย่างไร
ตลาดหุ้นน่าจะยังผันผวนจากความกังวลว่าจะมีแบงก์ไหนเป็นรายต่อไปที่ล้ม หรืออย่างน้อยก็ห่วงการลงทุนในกลุ่มการเงินไว้ก่อน รวมทั้งกลุ่มเทคขนาดเล็กที่คนอาจกังวลปัญหาขาดเงินทุน โดยเฉพาะช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้

6.จะเกิดการว่างงานรุนแรงหรือไม่
ปัญหาการว่างงานในสหรัฐ หากจะเพิ่มขึ้นก็น่ากระจุกในกลุ่มเทคที่จะมีการเลิกจ้างเพิ่มเติม แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำต้นทุนสูงตาม รายได้โตไม่ทัน ต้องหาทางลดรายจ่าย ลดคน แต่ไม่น่ารุนแรงไปกระทบภาคอื่นมาก สหรัฐยังมีอัตราการว่างงานต่ำ แม้ขยับเป็น 3.6% แต่ก็นับว่าต่ำมาก โดยเฉพาะยังมีการเติบโตของค่าจ้างในกลุ่มภาคบริการมาก หาคนทำงานยาก ปัญหานี้ยังลากยาว ไม่น่าส่งผลให้คนว่างงานมากขึ้นจากกรณี SVB ล้ม

7.เงินเฟ้อมีโอกาสลดลงหรือไม่หากเศรษฐกิจมีปัญหา
อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมีโอกาสลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ย 8% ปีนี้น่าอยู่ที่ราว 4% แต่หากจะลดลงแบบเดือนต่อเดือนคงยาก เพราะอัตราค่าจ้างยังสูงขึ้น บริษัทยังต้องขยับราคาสินค้าเพิ่ม และการคาดการณ์ราคาสินค้ายังสูง แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหาชะลอลงแรงจริง อัตราเงินเฟ้อก็อาจลดลงได้บ้าง แต่ไม่น่าลงได้เร็วเหมือนในอดีต เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ห่วงโซ่อุปทานยังมีปัญหา

8.เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรอบเดือนมีนาคมหรือไม่และจะจบรอบเร็วขึ้นได้ไหม
หากเฟดจะลดความร้อนแรงของการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมไม่ขึ้น 0.50% แต่ขึ้นเพียง 0.25% และระดับดอกเบี้ยสูงสุดอาจอยู่ที่ระดับ 5.75% ไม่ใช่ไปแตะระดับ 6.00% และใกล้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งความไม่แน่นอนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นการเพิ่มของค่าจ้างไม่ร้อนแรงการขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังจำเป็นอยู่ เพราะเงินเฟ้อยังสูง กรณี SVB อาจไม่มีน้ำหนักมากหากไม่ลามและรุนแรง

9.ผลกระทบต่อไทยหลังปัญหาสภาพคล่องในสหรัฐ
โดยมากผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นจะผ่านตลาดเงินและตลาดทุนที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในสัปดาห์นี้ อาจมีแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงบ้างในระยะสั้น แต่ตลาดน่าให้น้ำหนักการชะลอตัวของค่าจ้างแรงงานและอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ แต่อาจรอตัวเลขเงินเฟ้อ ยอดค้าปลีก และอื่นๆเพื่อดูสัญญาณว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อแรงหรือไม่ ซึ่งกรณี SVB อาจมีน้ำหนักด้านเสถียรภาพตลาดการเงิน ทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เงินน่ากลับมาตลาดเกิดใหม่ เงินบาทน่าขยับแบบ sideway 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ส่วนหาก SVB มีปัญหาลามต่อหรือมีความไม่แน่นอนต่อก็อาจกระทบภาคการส่งออกของไทยซึ่งก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้วให้ชะลอต่อได้ ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าย่อลงตามอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ทำให้การนำเข้าไทยลดลงตาม ไม่น่ามีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนก่อนหน้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่น่ากระทบ โดยรวมปัญหานี้น่ากระจุกในสหรัฐ ไม่น่ากระทบเอเชียแปซิฟิกมากนัก โดยเฉพาะจีนที่ยังเติบโตได้ดี แต่แน่นอนว่าการส่งออกไม่สดใส

สำหรับธนาคารพาณิชย์ของไทย คงไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ไม่ได้อนุญาตให้ธนาคารลงทุนใน Crypto โดยตรง ขณะที่กลุ่มการเงินก็ยังคงถูกกำกับอย่างเข้มงวดจาก Regulators ของไทย

10.คำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้
เราเชื่อว่าปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐกระจุกในธนาคารขนาดเล็กที่เชื่อมโยงกลุ่มเทค หรือกลุ่ม start up รวมทั้งมีการขาดทุนทางตัวเลขที่ไม่รับรู้ (unrealized loss) สำหรับธนาคารที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แต่ด้วยความน่าเชื่อถือที่ยังดี และหากธนาคารถือพันธบัตรจนครบอายุสัญญาก็ไม่เสี่ยงขาดทุน (ผลกระทบน่าจะอยู่ในระดับจำกัด) จึงมองว่าเป็นความผันผวนระยะสั้น ไม่ลามจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดี กระจายการลงทุนทั่วโลกยังน่าทำได้ นอกจากนี้ ที่ลุ้นคือเงินเฟ้อสหรัฐแม้ยังอยู่ในระดับสูง แต่มีท่าทีชะลอลง ซึ่งนักลงทุนน่าหาจังหวะเข้าสะสมพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่ใกล้ถึงจุดสูงสุด ส่วนภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะจีนยังน่าสนใจ เราอาจให้น้ำหนัก A-share หรือหุ้นในจีนมากกว่า H-share ที่มีกลุ่มเทคในฮ่องกง โดยรวมน่าเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในจีน และจีนน่าหาทางลดความผันผวนในตลาดทุนเทียบสหรัฐได้

Lesson learned ข้อคิดที่ได้จากกรณี SVB
1. อย่าใส่ไข่ทุกใบในตะกร้าใบเดียว ควรกระจายการลงทุน อย่าเป็นเหมือนคนฝากเงินใน SVB ที่พึ่งแบงก์เดียว รวมทั้งนักลงทุนไม่ลงทุนในสินทรัพย์ใดประเภทเดียว

2.วิกฤติเปลี่ยนรูปแบบเสมอ จากด้านเครดิตปี 2008 เป็น mismatch และสภาพคล่องปี 2023 หรืออาจมีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามา แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับสูงเช่นนี้อาจเห็นธุรกิจอื่นที่มีปัญหาซ่อนไว้รอประทุขึ้นได้

3.แม้ตลาดจะฟื้น แต่นักลงทุนยังควรระมัดระวังความผันผวนต่อไปจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐ น่าแบ่งเงินลงทุนเป็นหลายๆ ไม้ ค่อยๆลงทุนทีละน้อยจนครบเป้าหมาย ไม่แนะนำลงทุนทีเดียวครบ เพราะเราไม่มีทางรู้ทิศทางตลาดและไม่จำเป็นต้องได้ราคาต่ำสุดเสมอไป แต่น่าได้ความสบายใจไปด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top