ครม. ไฟเขียว ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ 3 จว.ชายแดนใต้ ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงเงินทุน-เดินหน้าธุรกิจต่อเนื่อง

(14 มี.ค.66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม  2565 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการลงทุนและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

การปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ คือ 
1.คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ ปรับปรุงโดยขยายกลุ่มผู้ขอสินเชื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้รายเดิมที่เคยได้รับสินเชื่อโครงการมาแล้วเกิน 5 ปี สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมที่ผู้ขอสินเชื่อโครงการนี้ จะต้องไม่เคยได้รับสินเชื่อโครงการ หรือได้รับสินเชื่อโครงการมาแล้วไม่เกิน 5 ปี 

2.วงเงินโครงการ 25,000 ล้านบาท ปรับปรุงโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 
(1) วงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับผู้กู้รายเดิมที่เคยได้รับสินเชื่อของโครงการมาแล้วเกิน 5 ปี ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และมีต้องการขอรับสินเชื่อโครงการต่อเนื่อง 
(2) วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้กู้รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อของโครงการมาก่อน  

ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อ โดยให้ความสำคัญกับผู้กู้รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อมาก่อนเป็นลำดับแรก 

3.วงเงินกู้และขยายระยะเวลาชำระเงินกู้ 
(3.1) ผู้กู้รายเดิมที่เคยได้รับสินเชื่อโครงการแล้ว แบ่งเป็น 
(1) ผู้ที่เคยได้รับวงเงินกู้เกิน 20 ล้านบาท กู้ได้สูงสุดไม่เกินวงเงินที่เคยได้รับ โดยต้องชำระเงินกู้ให้คงเหลือไม่เกิน 50 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และชำระเงินกู้ให้คงเหลือไม่เกิน 20 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หลังจากนั้น ต้องชำระเงินกู้ส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 

(2) ผู้ที่เคยได้รับวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาชำระเงินกู้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 จากเดิมที่กำหนดวงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 - 30 มิถุนายน 2568 

(3.2) ผู้กู้รายใหม่ ให้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาชำระเงินกู้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 โดยให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมกับผู้ประกอบการจัดทำแผนการชำระหนี้และกำหนดหลักเกณฑ์การชำระคืนสินเชื่อ

4.ขยายระยะเวลาเบิกจ่ายสินเชื่อของธนาคารออมสินให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2567 จากเดิมภายใน 30 มิถุนายน 2566

น.ส.รัชดา กล่าวว่า แม้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการในพื้นที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน รัฐบาลจึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการให้ครอบคลุมผู้ประกอบการมากขึ้นและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง