'กรณ์' ออกโรงสร้างความมั่นใจ หลัง 2 แบงก์อเมริกาล้ม  ชี้!! กระทบไทยน้อย ยันธนาคารไทยแข็งแกร่ง

จากกรณี 2 ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ อย่างธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB และ Signature Bank ล้มกะทันหัน สร้างความตื่นตระหนกต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีความกังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินของเราหรือไม่ 

(15 มี.ค.66) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ที่สามารถฝ่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จนทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อปี 2553 กล่าวถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวว่า...

ปรากฎการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่จากบทเรียนในอดีตทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการวางแผนรองรับไว้อย่างดี ส่งผลให้สถาบันการเงินของไทยแข็งแกร่งที่สุดในโลก จึงอยากให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อลูกค้าของสถาบันการเงินอย่างแน่นอน 

นายกรณ์ วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาต่อการล่มสลายของธนาคาร SVB ว่า SVB ก่อตั้งมาเกือบ 40 ปี แต่มาเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตโควิด เนื่องจากฐานลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจสายเทคถึง 30,000 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้ากระจุกตัวอย่างมาก ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2019  จากเดิมที่มีฐานเงินฝากอยู่ที่ 50,000 ล้านเหรียญ ณ ช่วงต้นปี 2022 ฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 190,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 300% ซึ่งเร็วกว่าคนสถาบันการเงินอื่นที่เพิ่มขึ้นเพียง 30% เท่านั้น เหตุผลเกิดจากช่วงโควิดมีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีการระดมทุนของบริษัทสายเทคบูมมาก มีเงินไหลเข้า SVB มาก จนปล่อยกู้ไม่ทัน จึงนำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งในอดีตสามารถทำได้ แต่โดยปกติธนาคารต้องมีความระมัดระวังเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินฝากกับเงินลงทุน และส่วนใหญ่จะลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น แต่เนื่องจากช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก SVB จึงนำเงิน 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว 10 ปี  เพื่อหวังผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น พอลงทุนไป ก็เกิดปรากฏการณ์หลายเรื่องพร้อมกัน จนนำไปสู่การล้มละลายในที่สุด 

อดีต รมว.คลัง กล่าวต่อว่า พอช่วงโควิดผ่านไป ราคาหุ้นของลูกค้า SVB เริ่มปรับลดลง และเริ่มมีการถอนเงินฝากในปริมาณที่สูงกว่าที่ธนาคารคาดไว้ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงมีนโยบายออกมาต่อสู้ โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อลดอุปสงค์ของเงิน แต่อัตราการปรับเพิ่มขั้นดอกเบี้ยถึง 4% ส่งผลกระทบต่อการลงทุนพันธบัตรที่ธนาคารไปลงทุนไว้ ทางการเงินเรียกว่าขาดทุนทางบัญชี เนื่องจากยังไม่ได้ขาย เพราะหากฝากไว้ครบ 10 ปี ก็จะยังได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่ แต่ SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรเนื่องจากขาดสภาพคล่อง จึงทำให้เกิดภาวะขาดทุนจริงถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงมาก และเป็นสาเหตุต้องพยายามเพิ่มทุน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่ออุดช่องโหว่ ทำให้ลูกค้าธนาคารเริ่มเกิดความกังวลจนแห่ไปถอนเงิน จนเงินหมด ทำให้เฟดต้องเข้ามาจัดการโดยการปิดกิจการ SVB ในที่สุด 

นายกรณ์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโจ ไบเดน ออกมาย้ำเพื่อความมั่นใจว่า รัฐบาลจะคุ้มครองเงินฝาก 100% ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะถอนเงินได้หรือไม่ เพราะหากถอนไม่ได้ ผลข้างเคียงจะส่งผลต่อผู้ประกอบกิจการซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพ ไม่สามารถจ่ายเงินเดือน และชำระหนี้สินได้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและอาจกระทบจนถึงขั้นปิดกิจการได้ และอาจจะลามไปถึงการแห่ถอนเงินจากสถาบันการเงินอื่น ๆ สร้างปัญหาเป็นวงกว้างทั้งระบบ  อย่างไรก็ตามสิ่งที่นายไบเดนพูด รัฐบาลค้ำประกันเฉพาะผู้ฝาก แต่ไม่ค้ำประกันผู้ถือหุ้น เจ้าของพันธบัตรหรือเจ้าหนี้ของตัวธนาคาร และเป็นการใช้เงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเท่านั้น ไม่กระทบต่อภาษีประชาชนแต่อย่างใด เป็นการส่งสัญญาณเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้งที่ส่งผลต่อคะแนนนิยม แต่ทั้งนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็มีเงินเพียง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าทุกคนยังแห่ถอนเงินก็ไม่เพียงพอ เวลานี้จึงต้องรอดูว่าจะมีใครมาซื้อกิจการของ SVB ของสหรัฐ เหมือนที่ HSBC ซื้อกิจการ SVB ในอังกฤษไปแล้วในราคา 1 ปอนด์ 

นายกรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในบริเวณ ซิลิคอนวัลเลย์สูง เนื่องจากสตาร์ทอัพเกือบทุกรายใช้บริการ SVB ที่เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่เข้าใจมายาวนาน วันนี้ต้องไปคุยกับสถาบันการเงินอื่นที่เข้าใจน้อยกว่า ทำให้ความได้เปรียบการเข้าถึงแหล่งทุน เมื่อเทียบกับที่อื่นในโลกลดลง ยกเว้นว่าจะมีใครไปซื้อและดำเนินการทำธุรกิจในวัฒนธรรมเดิมกับกลุ่มลูกค้าเดิม ก็อาจไม่ส่งผลมากนัก แต่หากไม่มี หรือมีชุดความคิดที่แตกต่าง ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพ ที่ซิลิคอนวัลเลย์เริ่มหมดเสน่ห์ หรือขีดความสามารถในการแข่งขันที่เคยได้เปรียบก็จะลดลง 

“แต่สำหรับประเทศไทย ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีเพียงบางกองทุนที่ไปซื้อหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งพวกนั้นถือพันธบัตรของ SVB บ้างแต่น้อยมากเจ้าสูงสุดก็เพียง 4% กว่า ไม่สามารถส่งผลกระทบกับระบบการเงินของไทยได้เลย 

"วันนี้ผมขอพูดได้เลยว่า สถาบันการเงินไทยเข้มแข็งมาก สัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง เข้มแข็งกว่าสถาบันการเงินใดในโลก เขาตั้งเกณฑ์ไว้ 12% ไทยเรามีสัดส่วน 16-18% ด้วยซ้ำไป และยังมีการคุ้มครองเงินฝาก โดยธนาคารจ่ายค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากมาโดยตลอดเพื่อเก็บไว้คุ้มครองคนไทย ที่รายละ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงินอีกด้วย 

"และถ้าถามว่าปรากฎการณ์ SVB ให้บทเรียนอะไรกับประเทศไทย คำตอบคือ การบริหารความเสี่ยง ซึ่งประเทศไทยได้สรุปบทเรียนและวางแผนไว้อย่างรัดกุมแล้ว ไม่ต้องห่วงและไม่ต้องไปถอนเงินครับ” อดีต รมว.คลัง กล่าวย้ำ