Wednesday, 17 April 2024
SVB

ปิดฉาก SVB!! สหรัฐฯ สั่งปิดธนาคารปล่อยกู้แก่ธุรกิจสตาร์ตอัป เหตุการณ์แบงก์มะกันล้มครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่วิกฤตปี 2008

นับเป็นการล้มของแบงก์สหรัฐฯ ที่ขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่วิกฤต 2008 เลยก็ว่าได้ สำหรับ Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารปล่อยกู้แก่ธุรกิจสตาร์ตอัพในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งหากย้อนไปในปี 2008 ปัญหาที่หมักหมมในสหรัฐฯ เริ่มส่งกลิ่นไม่ดีเป็นเวลาหลายปีก่อนที่ฟองสบู่จะแตกตัวในปี 2008 

โดยก่อนหน้านั้นเกิดกระแสการจำนองโดยที่ผู้กู้นำหลักทรัพย์ด้อยคุณภาพมาค้ำประกัน เพราะดอกเบี้ยในตลาดช่วงนั้นต่ำมาก ประกอบกับธนาคารมีเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่ผ่อนปรนกว่าแต่ก่อน ซึ่งเปิดทางให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านได้ทั้งที่ยังไม่มีความสามารถในการจ่าย 

ผลกระทบที่ธนาคารและสถาบันทางการเงินสหรัฐฯ ได้รับในเวลานั้นก็คือ การขาดทุนอย่างย่อยยับ และ 'เลห์แมน บราเธอร์ส' ก็ได้ประกาศล้มละลาย เนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป เพราะมีภาระหนี้สินถึง 6.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่แฮงก์ พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในเวลานั้นได้ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่อัดฉีดเงินเข้าไปช่วยโอบอุ้มธนาคาร ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดเกิดความตื่นตระหนก โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ร่วงลงกว่า 350 จุดจากข่าวดังกล่าว นอกจากนี้ยังส่งแรงกระเพื่อมสะเทือนไปทั้งตลาดเงินทั่วโลก

กลับมาที่เหตุการณ์ล่าสุด กระทรวงปกป้องการเงินและนวัตกรรมแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียประกาศปิดกิจการของ Silicon Valley Bank (SVB) ในวันนี้ (11 มี.ค.66) พร้อมกับมอบหมายให้บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC: Federal Deposit Insurance Corporation) เป็นผู้ดูแลเงินฝากของ SVB

ทั้งนี้ FDIC ได้จัดตั้ง Deposit Insurance National Bank of Santa Clara (DINB) และได้โอนเงินฝากทั้งหมดจาก SVB ที่ได้รับการค้ำประกันเข้าสู่ DINB เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ฝากเงิน

FDIC เปิดเผยว่า เจ้าของเงินฝากจะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตนเองได้ภายในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. ซึ่งสาขาต่างๆ ของ SVB จะเปิดทำการ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของ FDIC

อย่างไรก็ดี กฎระเบียบของ FDIC ให้การคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 250,000 ดอลลาร์ต่อผู้ฝาก 1 ราย ต่อ 1 ธนาคาร

ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2565 ระบุว่า SVB มีสินทรัพย์ทั้งหมดราว 2.09 แสนล้านดอลลาร์ และมีเงินฝาก 1.754 แสนล้านดอลลาร์

FED เรียกประชุมด่วน!! สหรัฐฯ หารือป้องกันวิกฤต Bank Run  หวั่น!! หากมีธนาคารอื่นล้มตาม SVB

(12 มี.ค.66) World Maker เผยว่า ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาและวิกฤตสภาพคล่องของธนาคาร SVB ซึ่งส่อแว่วจะลุกลามต่อไปยังธนาคารอื่น ๆ ที่มีปัญหาคล้ายกันนี้ ล่าสุดสหรัฐฯ ได้เริ่มหารือถึงการจัดตั้งกองทุนหนุนเงินฝากแล้ว ! ขณะที่ FED เตรียมเรียกประชุมด่วนทันทีวันจันทร์นี้ (13) เพื่อหาทาง Take Action สำหรับวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ธนาคารหลายแห่งจะล้มตามมาอีก 

ปัญหาสำคัญสุดคือเรื่องของความเชื่อมั่น เพราะถ้าไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะแห่ถอนเงินออกไปมากกว่าเดิมและยิ่งทำให้ปัญหา Bank Run รุนแรง เพราะแม้ว่าธนาคารบางแห่งจะยังไม่เกิดวิกฤต แต่ถ้ามีการแห่ถอนจนขาดสภาพคล่องเมื่อไหร่ก็จะกลายเป็น Bank Run ทันที ! เพราะกลุ่มธนาคารขาดทุนค้างพอร์ตรวมกันกว่า -21.5 ล้านล้านบาทหรือ -6.2 แสนล้านดอลลาร์ตอนนี้ !

ทำให้ตอนนี้ FDIC และ FED ต้องเริ่มชั่งน้ำหนักเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโดยด่วน โดยไม่ปล่อยให้ตลาดคาดเดากันเองต่อไป เพราะยิ่งปล่อยผ่านไปเฉย ๆ จะยิ่งทำให้ Panic มากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดในตอนนี้ว่ามาตรการป้องกันต่าง ๆ จะออกมาในรูปแบบใดบ้าง

แต่นักลงทุนบางส่วนก็คาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ย +0.5% ในครั้งนี้ เพราะจะยิ่งทำให้ตลาดตึงเครียดเข้าไปอีก เพราะแค่ตอนนี้ก็ลามไปมากกว่า SVB แล้ว ยกตัวอย่างเช่น First Republic และ PacWest ที่หุ้นร่วงตาม SVB มาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ซึ่งที่น่าห่วงไม่แพ้กันก็คือตลาดอสังหาฯ เพราะถ้าเกิดมีการล้มเป็นโดมิโน่เกิดขึ้น จะทำให้ราคาอสังหาฯ ที่สูงลิ่วในตอนนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะร่วงลงมาอย่างมีนัยสำคัญ

วิกฤตการล้มของ SVB นั้นถือว่าเป็นการล้มของธนาคารที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก และถือเป็นธนาคารจริง ๆ แห่งแรกที่มีการล้มในรอบกว่า 10 ปี ซึ่งไม่ใช่น่าใหม่ด้วย แต่เป็นธนาคารที่มีประวัติและประสบการณ์มานานราว 40 ปีแล้ว เพราะ SVB ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1983 ดังนั้นแรงสั่นสะเทือนจึงมากกว่าวิกฤต Crypto และธนาคาร SilverGate ที่ล้มไปก่อนหน้านี้

SVB ได้รับการลงนามสนับสนุนจาก VC และสถาบันการลงทุนร่วมกว่า 100 แห่ง เนื่องจาก VC และบิรษัทเทคฯ ต่าง ๆ นั้นถือว่ามีผลประโยชน์โดยตรงกับธุรกิจของ SVB จึงน่าสนใจว่าจะมีใครเข้ามาอุ้มหรือจะปล่อยให้ล้มไปเฉย ๆ กันแน่ ? ตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่คาดว่าในวันจันทร์นี้จะมีความคืบหน้าออกมาเพิ่มเติมอีกแน่นอน

ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าผลกระทบต่าง ๆ จะจบลงในเร็ว ๆ นี้ เพราะว่ายังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่รอจะเกิดขึ้น ! แต่สำหรับคำถามที่ว่าจะรุนแรงเหมือนวิกฤตการเงินโลกหรือไม่นั้น เราก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป โดยที่ไม่ควรจะประมาทหรือ Panic มากเกินไปว่ามันจะเบาหรือจะแรง

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงนั้น คงจะเห็นภาพชัดขึ้นในวันจันทร์นี้ ว่าหุ้นจะร่วงหรือไม่ ? เรื่องของค่าเงินจะเป็นอย่างไร ? รวมไปถึงทองคำและ Crypto ซึ่งในช่วงนี้อาจมีความเคลื่อนไหวที่รุนแรงและผันผวนมากกว่าเดิมได้ เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่ฝุ่นกำลังตลบอยู่

นั่นทำให้ Trader และนักลงทุนจำนวนไม่น้อยเข้าสู่โหมด Risk-off (ลดการรับความเสี่ยง) แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นข้อการันตีหรือเป็นการรับประกันว่าตลาดกำลังจะร่วงลงอย่างรุนแรง เพราะอย่างที่ World Maker ย้ำเสมอว่าตลาดนี้ไม่มีอะไรแน่นอน 100%

ยอมจำนน !! 'FED-FDIC' ร่วมปกป้องเงินฝากลูกค้า SVB ทั้งหมด หวั่น!! หากปล่อยไป อาจพาแบงก์อื่นล้มอีกหลาย

(13 มี.ค.66) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพและประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีธนาคาร SVB โดยระบุว่า...

เมื่อคืนนี้ ทางการสหรัฐฯ ประกาศ ยอมจำนน

1. อุ้มผู้ฝากเงินของ Silicon Valley Bank (เงินฝาก 175,4000 ล้านดอลลาร์) ทั้งที่ มีการค้ำประกันจากสถาบันประกันเงินฝาก FDIC หรือไม่มีค้ำประกัน

หมายความว่า คนที่ฝากเกิน $250,000 ก็จะได้เงินคืน ตั้งแต่เช้าวันจันทร์เป็นต้นไป

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ผู้ฝากเงินทั่วสหรัฐฯ เริ่มไปถอนเงินจากแบงก์เล็กๆ ตามชุมชน และแบงก์ท้องถิ่น ต่างๆ จากความกังวลใจว่าจะไม่ได้เงินคืน ทำให้เกิดแรงกดดันต่อสภาพคล่องของแบงก์ต่างๆ 

ยิ่งไปกว่านั้น Signature Bank ที่ New York (เงินฝาก 89,000 ล้านดอลลาร์) ถูกสั่งปิดเป็นรายที่ 2 กลายเป็นกรณีแบงก์ล้มที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ รองจาก Silicon Valley Bank ที่เป็นอันดับ 2 และ Washington Mutual ที่เป็นอันดับ 1 ที่ล้มไปช่วงวิกฤต Hamberger !!!

2. ช่วยสภาพคล่องแบงก์ที่เหลือ โดยเฟดประกาศ Bank Term Funding Program ขนาด 25,0000 ล้านดอลลาร์ ให้ธนาคารสามารถเอา พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือ ตราสาร Mortgage backed securities มาแลกเป็นสภาพคล่องได้ที่ราคาหน้าพันธบัตร

จีนงานงอก!! เมื่อคนเดือดร้อนที่แท้จริง จากวิกฤต SVB อาจไม่ใช่ 'สหรัฐฯ' แต่เป็น 'จีน'

(13 มี.ค.) World Maker รายงานว่า ผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤต Bank Run ของ SVB อาจไม่ใช่สหรัฐฯ แต่เป็นจีน !!! เพราะล่าสุดสื่อระดับโลกเปิดเผยว่า SVB คือสะพานเชื่อมที่สำคัญสำหรับธุรกิจ Startup ของจีนที่ต้องการระดมเงินทุนในรูปแบบของดอลลาร์ !

ดังนั้นเมื่อลูกค้าของ SVB เร่งถอนเงิน 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ออกจากธนาคารในคืนวันพฤหัสบดี ผู้มีอำนาจตัดสินใจในจีนก็ตื่นเช้ามาพบว่าเงินทุนของพวกเขาตกอยู่ในภาวะอันตรายไปแล้ว !

บริษัท VC หลายแห่งในจีนกล่าวว่า Startup จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนที่ติดค้างอยู่ใน SVB นอกประเทศจีนได้เลย ซึ่งความตึงเครียดของทั้ง 2 มหาอำนาจโลกและเหตุการณ์ล่าสุดนี้ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนลดการระดมทุนในรูปของดอลลาร์ลงถึง -75% ในปีที่แล้ว ! แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าจีนจะหลีกเลี่ยงวิกฤตไปได้ เพราะก่อนหน้านี้มีการระดมทุนเป็นดอลลาร์จำนวนมาก

โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพของจีน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ SVB สูง เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่าบริษัทด้านเทคโนโลยีและชีวภาพมากกว่า 10 แห่งที่ซื้อขายในตลาดฮ่องกงมี SVB อยู่ในกลุ่มธนาคารเงินทุนหลัก นอกจากนี้ ประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ก็ต้องระวังเอาไว้ให้ดี เพราะหลายบริษัทที่มีการระดมทุนดอลลาร์มาแต่ไม่สามารถทำกำไรได้ ก็อาจต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกันถ้า Bank Run ลามไปยังธนาคารอื่น ๆ

ดังนั้นแล้ว ที่กลัว ๆ กันว่าสหรัฐฯ จะเกิดวิกฤตการเงินหรือไม่นั้น ความจริงแล้วอาจไม่ใช่สหรัฐฯ ที่จะกระทบหนัก แต่เป็นกลุ่ม Startup ที่มีอยู่มากมายในจีน ซึ่งพึ่งเงินทุนในรูปแบบดอลลาร์ของ SVB มาเป็นเวลาช้านาน

Bill Ackman, Michael Burry, Mark Cuban คือเหล่านักลงทุนชั้นแนวหน้าที่ออกมาเตือนว่าในทำนองที่ว่าวิกฤตครั้งนี้ยังไม่จบลง ! โดยเฉพาะถ้าหากวิกฤต SVB นี้ไม่ได้รับการรับประกันเงินฝากอย่างทั่วถึงภายในวันจันทร์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิด Bank Run กับธนาคารอื่น ๆ ขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งการเปิดเผยว่า Startup จีนมากมายได้รับความเดือดร้อนจากการล้มของ SVB นี้ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับที่ The Economist ของ Rothschild เปิดเผยว่าสหรัฐฯ-จีนกำลังเตรียมทำสงครามเหนือไต้หวัน ! นั่นทำให้มีความกังวลว่าเรื่องราวของโลกจะเลวร้ายลงไปอีก

และแม้ว่าความรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะยังดูจำกัดไม่รุนแรงเท่ากับวิกฤตการเงินโลก แต่ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ก็ไม่มีใครรับประกันว่ามันจะเป็นแค่วิกฤตเบา ๆ โดยเฉพาะหากเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯ-จีนขึ้นมาอีก สถานการณ์โลกก็จะยิ่งย่ำแย่ไปกันใหญ่

ไม่ต้องตื่นตระหนก!! ‘แบงก์ชาติ’ ชี้ SVB ล้ม กระทบระบบการเงินไทยจำกัด เหตุ ธ.พาณิชย์ไทย ไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่ประสบปัญหา ซึ่ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) มีคำสั่งให้ปิดกิจการเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 ว่า สถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์

อีกทั้งพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของ ธพ. ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ venture capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากของประชาชน

ส่วนค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป

อุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ 2 กูรู ศก.ไทย เชื่อ!! กรณีแบงก์ SVB ล้ม ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อ ‘โลก-ไทย’

หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสั่งปิดธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และเข้าควบคุมอุ้มแบบทันทีทันใด เพราะเกรงว่าจะเกิดวิกฤติโดมิโนต่อธนาคารอื่นๆ (ซึ่งเริ่มมีหลายแบงก์ที่ถูกสหรัฐฯ สั่งปิดอีกมาเป็นระลอก) ภายหลัง SVB ประสบภาวะล้มละลาย จากปัญหาวิกฤตสภาพคล่องของกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และ Startup นั้น ก็พลันให้ทั่วโลกตระหนกหวั่นสถานการณ์ดังกล่าวจะซ้ำรอยวิกฤติซับไพรม์ 2008 หรือไม่?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP ได้วิเคราะห์ปมปัญหาและผลกระทบกับ THE STATES TIMES ว่า... “การที่ธนาคาร Silicon Valley Bank ซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้ให้กับกลุ่ม Venture Capital และ Startup ได้เข้าสู่ภาวะล้มละลาย เนื่องจากเพิ่มทุนไม่สำเร็จ ส่งผลให้หุ้นของบริษัทร่วง และฉุดหุ้นธนาคารอื่นๆ ร่วงลงไปด้วย ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐแคลิฟอร์เนียได้สั่งปิดกิจการ Silicon Valley Bank และให้อยู่ภายใต้การควบคุมของ US Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) อย่างรวดเร็วในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (10) โดย FDIC จะทำหน้าที่ชำระสินทรัพย์ของธนาคารเพื่อชำระคืนลูกค้า ซึ่งรวมถึงผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้

“ทว่าสิ่งที่น่าสนใจในทัศนะของ ดร.พิพัฒน์ ก็คือ Silicon Valley Bank เป็นธนาคารที่ได้ชื่อว่าค่อนข้างระมัดระวังในการบริหาร มีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ค่อนข้างมาก โดยครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ ขณะที่ NPL หรือหนี้เสีย ก็ค่อนข้างต่ำมาก (ต่ำกว่า 1%) และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากคุณภาพสินทรัพย์แบบปัญหาธนาคารอื่นๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดมาจากการที่ ‘เงินฝากเริ่มลดลง’ หรือ ‘โตช้า’ เพราะเงินร่วมลงทุนเริ่มหายาก และบริษัท Startup ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร เริ่มมีน้อยลง ทำให้มีปัญหาสภาพคล่อง จนต้องเริ่มขายสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ออกมา 

“แต่ปัญหาใหญ่ อยู่ที่เจ้าตราสารหนี้เหล่านี้ ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา พอธนาคารขายตราสารหนี้เหล่านี้ออกมาในเวลาที่ยังขาดทุนอยู่ ทำให้ต้องบันทึกการขาดทุนผ่าน Income Statement และนั่นก็พาให้อัตราส่วนทุนของธนาคาร ได้รับผลกระทบตามไปด้วย จนทำให้ธนาคารต้องเร่งเพิ่มทุนอย่างที่เห็น”

คำถาม คือ “ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นๆอีกหรือไม่?” 
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสภาพคล่องล้วนๆ และไม่คิดว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นปัญหาเชิงระบบ และธนาคารใหญ่ๆ คงไม่ได้มีปัญหาอะไรขนาดนี้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับธนาคารอื่นๆ ที่มีวิกฤตศรัทธา แต่ก็ต้องจับตากันดีๆ ครับ เพราะภาวะแบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้”

อีกทัศนะหนึ่งจาก รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับกรณี SVB ล้มในครั้งนี้ ก็ได้เปิดเผยกับ THE STATES TIMES ว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้   Silicon Valley Bank คือขาดสภาพคล่อง ซึ่งมาจาก 3 สาเหตุสำคัญ ได้แก่…

1. ผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจ ต่อให้แบงก์มีความมั่นคงแค่ไหน แต่ถ้ามีคนแห่ไปถอนเงิน แบงก์ก็จะเจอปัญหา
2. หมวดของค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นถึง 4% จึงทำให้ต้นทุนเงินฝากสูงขึ้น
3. รายรับ ที่มีปัญหาในปัจจุบัน

“เหตุการณ์ SVB ล้มละลาย ต้องมองเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา เป็นตัวตั้งก่อนว่า การที่แบงก์ล้มแบบนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระดับที่ถดถอยรุนแรงหรือไม่? ซึ่งหากเรามองดูในจุดแรก SVB มี Asset (ทรัพย์สิน) อยู่ที่ 2แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 0.1% ของGDP สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ26ล้านล้านดอลลาร์ หรือก็คือ สเกลยังต่ำ และเครือข่ายของแบงก์ไม่ได้กว้างขวาง รวมถึง SVB ยังลงทุนในธุรกรรมที่เป็นปกติ ไม่ได้มีความเสี่ยงด้วย”

ผันผวนระยะสั้น!! CIMBT มองปิด SVB กระทบตลาดสหรัฐจำกัด  ชี้ ตลาดเงิน-ตลาดทุนไทย ผันผวนระยะสั้น

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร สำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIBMT) วิเคราะห์ว่า การปิด SVB น่าจะส่งผลกระทบจำกัดต่อตลาดการเงินสหรัฐฯ

1.SVB คือใคร
SVB หรือ Silicon Valley Bank เป็นแบงก์ใหญ่เป็นอันดับ 16 ในสหรัฐด้วยสินทรัพย์ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ โดยมาทำธุรกิจกับกลุ่ม Start up หรือกลุ่มเทค ล่าสุดในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมาถูกสั่งปิดโดย FDIC หรือ Federal Deposit Insurance Corp. คล้ายๆหน่วยงานคุ้มครองเงินฝาก (แต่คุ้มครองเพียง 250,000 ดอลลาร์ ซึ่งมีเพียง 3%ของบัญชีในแบงก์นี้ (อีกราว 97% มีเงินมากกว่าและยังไม่จ่ายส่วนที่เหลือคืนจนกว่าจะขายทรัพย์สินได้ ลองนึกภาพธุรกิจจะจ่ายคู่ค้าหรือพนักงานยังไง)          

2.ทำไมล้ม
ปัญหาของแบงก์นี้คือเกิดจากความน่าเชื่อถือ เกิด bank run หรือคนไม่มั่นใจแห่ถอนเงินจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มาจาก partners ที่เป็น Private Equity, Venture Capital, Tech, Health tech แค่วันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. วันเดียวมีคนถอนเงินฝากไปราว 1 ใน 4 ของเงินฝากทั้งหมด แบงก์ขาดกระแสเงินหมุนเวียน เจอปัญหาสภาพคล่องจนลามเป็นปัญหาล้มละลาย FDIC จึงต้องมาระงับกิจการ โอนเงินฝากให้แบงก์ที่จะจัดตั้งใหม่ ขอย้ำว่าวิกฤตินี้ไม่เหมือนปี 2008 ตอนเลห์แมนล้ม ตอนนั้นคือปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิต จากการลงทุนในอนุพันธ์ด้านอสังหา ตอนนี้คือความเสี่ยงด้านตลาดหรือสภาพคล่อง

3.ทำไมคนไม่ไว้ใจ
อยู่ ๆ ราคาหุ้นร่วงลง 60% ในวันเดียวจากความกังวลว่าจะเกิดการเพิ่มทุนจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จริงๆ ถ้าไม่ขายก็ไม่ขาดทุน (แต่ต้องรับรู้ Fair Value ผ่าน Balance sheet)  เรียกว่า unrealized loss คือราคาพันธบัตรลดลงต่ำว่าหน้าตั๋ว เพราะเมื่อดอกเบี้ยขึ้นแรง ราคาพันธบัตรที่สวนทางกับดอกเบี้ยที่ขึ้นจะลดลง เมื่อ SVB ต้องการเงินก็จำเป็นต้องขายขาดทุน พอขาดทุนก็ต้องการเงิน ไปขอเพิ่มทุน คนก็กลัวเทขายหุ้น คนฝากก็ panic ตกใจถอนเงิน จนเป็นภาวะปิดตัวเช่นนี้ และอีกประเด็นที่ทำไมขาดเงินก็เพราะธุรกิจเทคในสหรัฐ โดยเฉพาะเทคตัวเล็กขาดทุนอยู่มาก ยังไม่มีกำไรหรือกระแสเงินสดดี พอดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องยิ่งมีปัญหา กระทบแบงก์นี้ไปด้วยที่เน้นธุรกิจกลุ่มนี้

4.จะลามไหม
ในช่วงวันพุธที่ 8 มี.ค.ถึงวันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค.เราเห็นราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับย่อลงเพราะความกังวลว่าจะมีแบงก์อื่นล้มด้วยไหม แต่ปัญหานี้น่าอยู่ในแบงก์ขนาดเล็กที่เน้นกลุ่มเทคหรือ start up เป็นหลัก ซึ่งต่างกับแบงก์ใหญ่ ในวันศุกร์แล้วหุ้นแบงก์ใหญ่ฟื้น แต่แบงก์เล็กลงต่อ โดยรวมไม่น่าลาม โดยธนาคารที่มีการถือตราสารที่ดี ยังสามารถเข้าถึงสภาพคล่องจากเฟดได้ แต่อาจมีแบงก์ที่มีปัญหาเพิ่มในกลุ่มที่ขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นแรงในสหรัฐ จนราคาพันธบัตรลดลง (จริงๆ ถ้าถือจนครบอายุสัญญาจะไม่ขาดทุน) ต้องดูว่าใครร้อนเงินอีก หรือมีใครโดนแห่ถอนเงินจากวิกฤติศรัทธาบ้าง (หลักๆ คงจะเป็นธนาคารที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับกลุ่มเทค ที่ลงทุนใน Crypto ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ทางการสหรัฐฯนำโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และองค์กรประกันเงินฝากในสหรัฐฯ (FDIC) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบธนาคารของสหรัฐฯ โดย 1) ประกาศรับประกันเงินฝากทั้งหมดของธนาคาร SVB  โดยผู้ฝากเงินจะสามารถเข้าถึงเงินทั้งหมดของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม เป็นต้นไป และจะไม่สูญเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด 2) ประกาศข้อยกเว้นความเสี่ยงเชิงระบบที่คล้ายคลึงกันสำหรับ Signature Bank ซึ่งผู้ฝากเงินจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆเช่นกัน 3) ประกาศจัดหาเงินกองทุนพิเศษให้กับ FDIC เพื่อให้มีเพียงพอในการสร้างความมั่นใจให้กับระบบธนาคารของสหรัฐฯ  จากสถานการณ์ล่าสุด เราจึงเห็นตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐฯ ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตอบสนองต่อมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว

5.ตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนอย่างไร
ตลาดหุ้นน่าจะยังผันผวนจากความกังวลว่าจะมีแบงก์ไหนเป็นรายต่อไปที่ล้ม หรืออย่างน้อยก็ห่วงการลงทุนในกลุ่มการเงินไว้ก่อน รวมทั้งกลุ่มเทคขนาดเล็กที่คนอาจกังวลปัญหาขาดเงินทุน โดยเฉพาะช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้

6.จะเกิดการว่างงานรุนแรงหรือไม่
ปัญหาการว่างงานในสหรัฐ หากจะเพิ่มขึ้นก็น่ากระจุกในกลุ่มเทคที่จะมีการเลิกจ้างเพิ่มเติม แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำต้นทุนสูงตาม รายได้โตไม่ทัน ต้องหาทางลดรายจ่าย ลดคน แต่ไม่น่ารุนแรงไปกระทบภาคอื่นมาก สหรัฐยังมีอัตราการว่างงานต่ำ แม้ขยับเป็น 3.6% แต่ก็นับว่าต่ำมาก โดยเฉพาะยังมีการเติบโตของค่าจ้างในกลุ่มภาคบริการมาก หาคนทำงานยาก ปัญหานี้ยังลากยาว ไม่น่าส่งผลให้คนว่างงานมากขึ้นจากกรณี SVB ล้ม

7.เงินเฟ้อมีโอกาสลดลงหรือไม่หากเศรษฐกิจมีปัญหา
อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมีโอกาสลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ย 8% ปีนี้น่าอยู่ที่ราว 4% แต่หากจะลดลงแบบเดือนต่อเดือนคงยาก เพราะอัตราค่าจ้างยังสูงขึ้น บริษัทยังต้องขยับราคาสินค้าเพิ่ม และการคาดการณ์ราคาสินค้ายังสูง แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหาชะลอลงแรงจริง อัตราเงินเฟ้อก็อาจลดลงได้บ้าง แต่ไม่น่าลงได้เร็วเหมือนในอดีต เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ห่วงโซ่อุปทานยังมีปัญหา

8.เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรอบเดือนมีนาคมหรือไม่และจะจบรอบเร็วขึ้นได้ไหม
หากเฟดจะลดความร้อนแรงของการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมไม่ขึ้น 0.50% แต่ขึ้นเพียง 0.25% และระดับดอกเบี้ยสูงสุดอาจอยู่ที่ระดับ 5.75% ไม่ใช่ไปแตะระดับ 6.00% และใกล้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งความไม่แน่นอนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นการเพิ่มของค่าจ้างไม่ร้อนแรงการขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังจำเป็นอยู่ เพราะเงินเฟ้อยังสูง กรณี SVB อาจไม่มีน้ำหนักมากหากไม่ลามและรุนแรง

9.ผลกระทบต่อไทยหลังปัญหาสภาพคล่องในสหรัฐ
โดยมากผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นจะผ่านตลาดเงินและตลาดทุนที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในสัปดาห์นี้ อาจมีแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงบ้างในระยะสั้น แต่ตลาดน่าให้น้ำหนักการชะลอตัวของค่าจ้างแรงงานและอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ แต่อาจรอตัวเลขเงินเฟ้อ ยอดค้าปลีก และอื่นๆเพื่อดูสัญญาณว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อแรงหรือไม่ ซึ่งกรณี SVB อาจมีน้ำหนักด้านเสถียรภาพตลาดการเงิน ทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เงินน่ากลับมาตลาดเกิดใหม่ เงินบาทน่าขยับแบบ sideway 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ส่วนหาก SVB มีปัญหาลามต่อหรือมีความไม่แน่นอนต่อก็อาจกระทบภาคการส่งออกของไทยซึ่งก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้วให้ชะลอต่อได้ ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าย่อลงตามอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ทำให้การนำเข้าไทยลดลงตาม ไม่น่ามีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนก่อนหน้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่น่ากระทบ โดยรวมปัญหานี้น่ากระจุกในสหรัฐ ไม่น่ากระทบเอเชียแปซิฟิกมากนัก โดยเฉพาะจีนที่ยังเติบโตได้ดี แต่แน่นอนว่าการส่งออกไม่สดใส

สำหรับธนาคารพาณิชย์ของไทย คงไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ไม่ได้อนุญาตให้ธนาคารลงทุนใน Crypto โดยตรง ขณะที่กลุ่มการเงินก็ยังคงถูกกำกับอย่างเข้มงวดจาก Regulators ของไทย

10.คำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้
เราเชื่อว่าปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐกระจุกในธนาคารขนาดเล็กที่เชื่อมโยงกลุ่มเทค หรือกลุ่ม start up รวมทั้งมีการขาดทุนทางตัวเลขที่ไม่รับรู้ (unrealized loss) สำหรับธนาคารที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แต่ด้วยความน่าเชื่อถือที่ยังดี และหากธนาคารถือพันธบัตรจนครบอายุสัญญาก็ไม่เสี่ยงขาดทุน (ผลกระทบน่าจะอยู่ในระดับจำกัด) จึงมองว่าเป็นความผันผวนระยะสั้น ไม่ลามจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดี กระจายการลงทุนทั่วโลกยังน่าทำได้ นอกจากนี้ ที่ลุ้นคือเงินเฟ้อสหรัฐแม้ยังอยู่ในระดับสูง แต่มีท่าทีชะลอลง ซึ่งนักลงทุนน่าหาจังหวะเข้าสะสมพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่ใกล้ถึงจุดสูงสุด ส่วนภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะจีนยังน่าสนใจ เราอาจให้น้ำหนัก A-share หรือหุ้นในจีนมากกว่า H-share ที่มีกลุ่มเทคในฮ่องกง โดยรวมน่าเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในจีน และจีนน่าหาทางลดความผันผวนในตลาดทุนเทียบสหรัฐได้

Lesson learned ข้อคิดที่ได้จากกรณี SVB
1. อย่าใส่ไข่ทุกใบในตะกร้าใบเดียว ควรกระจายการลงทุน อย่าเป็นเหมือนคนฝากเงินใน SVB ที่พึ่งแบงก์เดียว รวมทั้งนักลงทุนไม่ลงทุนในสินทรัพย์ใดประเภทเดียว

2.วิกฤติเปลี่ยนรูปแบบเสมอ จากด้านเครดิตปี 2008 เป็น mismatch และสภาพคล่องปี 2023 หรืออาจมีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามา แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับสูงเช่นนี้อาจเห็นธุรกิจอื่นที่มีปัญหาซ่อนไว้รอประทุขึ้นได้

3.แม้ตลาดจะฟื้น แต่นักลงทุนยังควรระมัดระวังความผันผวนต่อไปจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐ น่าแบ่งเงินลงทุนเป็นหลายๆ ไม้ ค่อยๆลงทุนทีละน้อยจนครบเป้าหมาย ไม่แนะนำลงทุนทีเดียวครบ เพราะเราไม่มีทางรู้ทิศทางตลาดและไม่จำเป็นต้องได้ราคาต่ำสุดเสมอไป แต่น่าได้ความสบายใจไปด้วย

วิเคราะห์!! ธนาคารดังยุโรปจะแห่ล้มตาม SVB หรือไม่? ในวันที่หลายแบงก์มะกัน เชื่อ!! ไม่เกิด Bank Run ซ้ำรอย

(14 มี.ค.66) World Maker ได้ตั้งคำถามถึงวิกฤตสภาพคล่องธนาคาร ว่าจบลงหรือยัง? แล้วธนาคารดังในยุโรปจะล้มตาม SVB หรือไม่? ซึ่งถือเป็นคำถามสำคัญที่สุดของภาคการเงิน ณ วินาทีนี้เลยก็ว่าได้ หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมามีรายงาน ว่าหุ้นกลุ่มธนาคารเกือบทั้ง Sectors ยังคงโดนเทขายร่วงลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Commerzbank AG ของยุโรปที่ร่วงเกือบ -13% ในคืนนี้

ขณะเดียวกัน สิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญและกลายเป็นข่าวใหญ่ก็คือการที่ Credit Default Swap หรือ CDS ของ Credit Suisse ซึ่งเป็นตราสารอนุพันธ์ที่จะมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อบริษัทเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้ ได้พุ่งทำระดับ All Time High ใหม่สูงกว่า 452 หน่วยหลังเปิดตลาด พร้อมกับราคาหุ้นที่ร่วงลงเกือบ -6%

นั่นเป็นการบ่งชี้ว่า นักลงทุนกำลังกลัวว่า Credit Suisse จะไม่สามารถชำระหนี้ได้? หรืออาจถึงขั้นล้มละลาย? ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธ ว่าความเสี่ยงนั้น 'มีจริง' แต่ต้องเข้าใจด้วยว่านี่ไม่ได้เป็นการการันตีแต่อย่างใดว่าธนาคารจะล้มจริงๆ เพราะในช่วงปลายปี 2022 ก็เคยมีข่าวว่า Credit Suisse จะล้มและ CDS ดีดทำ All Time High เช่นกัน แต่สุดท้ายธนาคารก็รอดวิกฤตครั้งนั้นมาได้โดยไม่ล้มละลาย ดังนั้นครั้งนี้จึงต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะล้มหรือไม่?

ทั้งนี้ Credit Suisse ยังถือว่ามีเรื่องฉาวในภาคการเงินมานานหลายปี และอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่หลังจากราคาหุ้นร่วงยับ ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนจะกังวลเกี่ยวกับบริษัทนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตสภาพคล่องของ SVB เข้าไปเสริม จึงไปกระตุ้นให้นักลงทุน Bet ว่าบริษัทจะไม่สามารถชำระหนี้ได้และทำให้ CDS พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มธนาคารยังคงเผชิญการเทขายจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง (สอดคล้องกับราคาหุ้นที่ร่วงลงในระยะสั้น) แม้รัฐบาลสหรัฐฯ และ FED จะก้าวเข้ามาอุ้มเงินฝากภายใน SVB แล้วก็ตาม แต่อย่างที่ World Maker บอกไปว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาแยกกับอารมณ์ (Sentiment) ของตลาดและราคาหุ้น ซึ่งเคลื่อนไหวเป็นอิสระและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอุ้มของหน่วยงานกำกับดูแล

โดยเฉพาะ First Republic ซึ่งร่วงมากกว่า -70% ในช่วง Premarket วันนี้ รวมไปถึง Charles Schwab ที่ร่วงเกือบ -20% หรือแม้แต่ธนาคารยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ใน Wall Street ของสหรัฐฯ เช่น JPMorgan, Goldman Sachs, Citigroup, Well Fargo, Bank of America, Morgan Stanley ล้วนร่วงกันหมดยกแผงคืนนี้ แม้จะไม่หนักเท่ากับธนาคารเล็กๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม First Republic ยังให้ความมั่นใจกับนักลงทุน โดยกล่าวว่าได้รับสภาพคล่องเพิ่มเติมจาก JPMorgan และ Federal Home Loan Bank มาอย่างน้อย 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ไม่น่าจะเกิด Bank Run ซ้ำรอย SVB แต่ทั้งนี้ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป

ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ แสดงให้เห็นว่าภาคการเงินของสหรัฐฯ-ยุโรป มีความเชื่อมโยงถึงกัน และกำลังช่วยกันดูแลสภาพคล่องในตลาด รวมไปถึงการได้รับแรงหนุนจากภาครัฐและธนาคารกลางที่ดูเหมือนจะไม่อยากให้เกิด Domino Bank Run เหมือนในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวิกฤตสภาพคล่องจะจบที่ SVB แล้ว เพราะยังไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่นักลงทุนยังคงเทขายหุ้นธนาคารหรือเข้าสู่โหมด Risk-Off อย่างที่เราเห็นว่า Bond Yield ปรับตัวร่วงลงพร้อมกับราคาพันธบัตรพุ่งสูงขึ้น รวมไปถึงทองคำที่พุ่งทะลุ 1900 $/Oz ไปในวันนี้

อนึ่ง นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า Bank ใหญ่ๆ ระดับ Top ของสหรัฐฯ ไม่น่าจะเกิดวิกฤต Bank Run อย่าง SVB หรือธนาคารเล็กๆ อื่นๆ เนื่องจากยังมีงบดุลค่อนข้างแข็งแกร่งมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปี 2008 นั้นมีความแตกต่างกันอย่างหลาย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ผลกระทบของ Bank Run ครั้งนี้จะเป็นลูกโซ่แค่ในวงจำกัด?

และถึงแม้ว่าธนาคารต่างๆ จะยังมีการขาดทุนค้างพอร์ตจากหลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงพันธบัตรอยู่สูงถึง -21.5 ล้านล้านบาทหรือ -6.2 แสนล้านดอลลาร์ แต่สามารถกล่าวได้ว่า การขาดทุนเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นจริง ตราบใดที่รัฐบาลและ FED เสริมสภาพคล่องให้ธนาคารมากเพียงพอที่พวกเขาจะ Run ระบบต่อไปได้โดยไม่ต้องขายหลักทรัพย์ที่ถืออยู่ก่อนครบกำหนด

อย่างไรก็ตามการล้มของ SVB ก็ได้ทำให้ตลาดมีแรงสะเทือนไปบ้างแล้วในหลายจุด โดยเฉพาะการคาดการณ์เรื่องดอกเบี้ยของ FED ที่ถูกปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แม้ว่า FED เองจะยังไม่ได้ออกมาพูดชัดเจนว่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่ตลาดก็คาดการณ์ไปแล้ว ดังนั้นจึงมีกรณีที่ต้องระวังอยู่บ้าง เพราะถ้าอยู่ๆ ในการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ FED ยืนยันจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก ตลาดก็อาจมีการ Risk-Off มากกว่าเดิมได้

ที่น่าจับตามองต่อไปจากวิกฤต Bank Run ก็คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากวิกฤตของ SVB นั้นมีสาเหตุหลักอย่างหนึ่งมาจากผลกระทบด้านดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ธนาคารที่เข้าไปถือพันธบัตรอยู่สูงมากต้องยอมเทขายหลักทรัพย์ออกมาในราคาขาดทุน เมื่อลูกค้าแห่ถอนเงินจนมีเงินสดไม่เพียงพอจะไปชำระคืน

ดังนั้น ภาคอสังหาฯ ที่มีการลงทุนในพันธบัตรอย่างเช่น Mortgage Backed-Secuirty หรือ MBS ซึ่งได้รับผลกระทบไม่ต่างจากพันธบัตรรัฐบาลเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงถือว่ามีความเสี่ยงโดยตรง ขณะที่ตลาดอสังหาฯ ก็เริ่มแสดงสัญญาณชะลอตัวไปแล้ว หลังราคาบ้านพุ่งสูงลิ่วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนไปถึงระดับที่หลายคนเอื้อมไม่ถึง

และเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงทำให้ภาระของผู้ผ่อนบ้านหนักหนาสาหัสเข้าไปอีก ดังนั้นหากเกิดวิกฤตสภาพคล่องในตลาดอสังหาฯ ก็อาจคล้ายคลึงกับลักษณะของ Bank Run ที่จะต้องมีการเทขายหลักทรัพย์ออกมา ซึ่งก็รวมถึงตัว MBS หรือตัวบ้าน อพาร์ตเมนต์ คอนโด หรืออื่นๆ

โดยเฉพาะพวกกองทุนอสังหาฯ อย่าง REIT ซึ่งมีการกู้ยืมเงินและระดมทุนจากนักลงทุนไปพัฒนาโครงการอสังหาฯ หรือแม้แต่การนำไปเก็งกำไรราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งแม้ว่าการใช้ระดับ Leverage จะไม่สูงและแพร่หลายเท่ากับในช่วงวิกฤตการเงินโลก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการใช้ Leverage เลย ดังนั้นมันจึงถือเป็นความเสี่ยงที่ปฏิเสธไม่ได้

‘พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์’ ถอดบทเรียนอวสาน Silicon Valley Bank  โอกาส ‘โดมิโนเอฟเฟกต์’ เป็นไปได้แค่ไหน?

จากกรณี สหรัฐอเมริกา สั่งปิดกิจการ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสินทรัพย์ประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 7 ล้านล้านบาท เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ลูกค้าเจ้าของบัญชีแห่ถอนเงิน จนทางการต้องสั่งปิดกิจการ และให้ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้ประกันเงินฝากจากความล้มเหลวของธนาคาร มาเป็นผู้ดูแลสินทรัพย์ของ SVB โดยจะขายสินทรัพย์ของธนาคารเพื่อจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ธนาคาร จากกระแสข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตัวให้กับภาคเศรษฐกิจ การเงิน การธนาคารของไทย รวมถึงคำถามจากประชาชนผู้ฝากเงินกับธนาคารในประเทศไทยว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้หรือไม่ 

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้สัมภาษณ์ คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ถึงกรณีดังกล่าวว่าจะมีผลกระทบวงกว้างต่อโลกและประเทศไทยแค่ไหน โดยกล่าวว่า “SVB เริ่มมีฐานะการเงินเลวร้ายลง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้น SVB จึงพยายามที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียน ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อได้ แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มทุนได้  ทำให้แผนการเพิ่มทุนจึงล้มไป ส่งผลให้หุ้น SVB ตกต่ำลงอย่างมาก ลดลง 60% ในครั้งแรก และลดลงอีก 70%” 

ส่วนสาเหตุที่ SVB ถูกปิดกิจการนั้น คุณพงษ์ภาณุ กล่าวว่า “SVB ทำหน้าที่เป็นนายธนาคารของธุรกิจ Startup ในสหรัฐอเมริกา ย่าน Silicon Valley ซึ่งเป็นย่านธุรกิจไฮเทค โดย SVB ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ธนาคารทั่วไปจะไม่ปล่อย เพราะธุรกิจ Startup ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะมาวางเป็นหลักประกันเงินกู้ให้แบงก์ โดย Silicon Valley ในช่วงที่ผ่านมาก่อนดอกเบี้ยจะปรับขึ้น มีธุรกิจที่ขยายตัวเร็วมาก มีเงินฝากเพิ่มและปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่าสินเชื่อ เพราะตอนนั้นสภาพคล่องในธุรกิจไฮเทค ค่อนข้างสูง เกิด Mix & Match ระหว่างเงินฝากกับสินเชื่อ สภาพคล่องที่มีมากเกินไปโดยนำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ถึง 2 ใน 3 ของสินทรัพย์ที่แบงก์มีอยู่ ปล่อยเป็นสินเชื่อเพียง 1 ใน 3 ซึ่งเป็นสถานะของแบงก์ SVB ในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤต

“พอปี 2022 โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อต่อต้านเงินเฟ้อที่เกิดในสหรัฐอเมริกาอย่างไม่มีทางเลือก เพราะต้องควบคุมเงินเฟ้อตามที่วางเป้าหมายไว้ เมื่อดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พันธบัตรที่ธนาคาร SVB ลงทุนไป ตอนเริ่มลงทุนรัฐบาลสหรัฐฯ ดอกเบี้ยต่ำ ราคาพันธบัตรแพง เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ราคาพันธบัตรก็ลดลง แม้ว่าพันธบัตรรัฐบาลจะไม่มีความเสี่ยงทางด้านเครดิต แต่อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงทางด้านดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยขึ้นแรง ก็จะทำให้ราคาพันธบัตรลดลง พอ SVB เริ่มมีปัญหา จึงจำเป็นต้องขายพันธบัตรนี้ออกไป เพื่อนำเงินมาใช้จุนเจือสภาพคล่องของตัวเองโดยขายพันธบัตรราคาถูก ทำให้ SVB ขาดทุนจำนวนมาก ถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงพยายามเพิ่มทุนโดยเสนอ FDIC ปรากฏว่าเพิ่มทุนไม่สำเร็จ จึงเป็นที่มาของการปิดกิจการ ไม่สามารถชำระคืนเงินผู้ฝากได้ โดยสรุปแล้ว SVB ประสบปัญหาขาดทุนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย”

เมื่อถามถึงความกังวลในระดับโลกว่ามีโอกาสเกิดโดมิโนหรือวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่หรือไม่? คุณพงษ์ภาณุ กล่าวว่า “ไม่น่าจะมีโอกาสสูงนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส SVB เป็นแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อน้อย ลงทุนตราสารการเงินค่อนข้างเยอะ แบงก์โดยทั่วไป ถ้าดูงบดุลแบงก์ ทางด้านหนี้สินแบงก์มีเงินฝากจากประชาชนเข้ามา แล้วนำเงินฝากไปปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ ไปปล่อยลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่ง SVB ปล่อยสินเชื่อน้อย ลงทุนเยอะ แต่แบงก์อื่นๆในสหรัฐอเมริกาจะปล่อยสินเชื่อมากกว่าลงทุน เพราะฉะนั้นสินเชื่อสามารถปรับดอกเบี้ยให้ขึ้นได้ ถ้าเกิดลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็น FIXED INCOME ดอกเบี้ยไม่ขึ้น แต่ถ้าเป็นพันธบัตรระยะยาว ดอกเบี้ยคงที่ เพราะฉะนั้นราคาจึงต้องปรับตัวลดลง แบงก์ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เป็นแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อ สามารถมีความยืดหยุ่นได้มากกว่า SVB เป็นสิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ลุกลามไปยังแบงก์อื่นๆ อาจจะจำกัดอยู่แค่แบงก์ SVB” 

เมื่อถามว่า ประเทศไทยควรถอดบทเรียนจากกรณีข้างต้นเพื่อรับมือได้อย่างไร? คุณพงษ์ภาณุ กล่าวว่า “ประเทศไทยหนีไม่พ้นกับการที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น จากที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้น ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนประมาณ 90% ของ GDP หนี้ของประชาชน หนี้ของครัวเรือนสูง ดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไหร่ หนี้เหล่านี้ก็พร้อมที่จะเป็นหนี้เสียได้ทุกเมื่อ ในขณะที่หนี้รัฐบาล ซึ่งอยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาล ก็มีอยู่มากพอสมควร ปัจจุบัน 60% ของ GDP โดยหนี้ส่วนใหญ่ถูกถือโดยสถาบันการเงิน เมื่อดอกเบี้ยขึ้น สถาบันการเงินจะต้องปรับราคาของพันธบัตรเหล่านี้ แม้จะไม่มีความเสี่ยงกับเครดิตเหล่านี้ แต่มีความเสี่ยงทางด้านอัตราดอกเบี้ยอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องใช้เป็นบทเรียน คือ การปรับดอกเบี้ยขึ้นมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่ในภาคธุรกิจจริงเท่านั้น แต่สถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงนี้อย่างเต็มที่ 

'กรณ์' ออกโรงสร้างความมั่นใจ หลัง 2 แบงก์อเมริกาล้ม  ชี้!! กระทบไทยน้อย ยันธนาคารไทยแข็งแกร่ง

จากกรณี 2 ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ อย่างธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB และ Signature Bank ล้มกะทันหัน สร้างความตื่นตระหนกต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีความกังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินของเราหรือไม่ 

(15 มี.ค.66) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ที่สามารถฝ่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จนทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อปี 2553 กล่าวถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวว่า...

ปรากฎการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่จากบทเรียนในอดีตทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการวางแผนรองรับไว้อย่างดี ส่งผลให้สถาบันการเงินของไทยแข็งแกร่งที่สุดในโลก จึงอยากให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อลูกค้าของสถาบันการเงินอย่างแน่นอน 

นายกรณ์ วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาต่อการล่มสลายของธนาคาร SVB ว่า SVB ก่อตั้งมาเกือบ 40 ปี แต่มาเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตโควิด เนื่องจากฐานลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจสายเทคถึง 30,000 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้ากระจุกตัวอย่างมาก ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2019  จากเดิมที่มีฐานเงินฝากอยู่ที่ 50,000 ล้านเหรียญ ณ ช่วงต้นปี 2022 ฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 190,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 300% ซึ่งเร็วกว่าคนสถาบันการเงินอื่นที่เพิ่มขึ้นเพียง 30% เท่านั้น เหตุผลเกิดจากช่วงโควิดมีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีการระดมทุนของบริษัทสายเทคบูมมาก มีเงินไหลเข้า SVB มาก จนปล่อยกู้ไม่ทัน จึงนำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งในอดีตสามารถทำได้ แต่โดยปกติธนาคารต้องมีความระมัดระวังเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินฝากกับเงินลงทุน และส่วนใหญ่จะลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น แต่เนื่องจากช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก SVB จึงนำเงิน 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว 10 ปี  เพื่อหวังผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น พอลงทุนไป ก็เกิดปรากฏการณ์หลายเรื่องพร้อมกัน จนนำไปสู่การล้มละลายในที่สุด 

อดีต รมว.คลัง กล่าวต่อว่า พอช่วงโควิดผ่านไป ราคาหุ้นของลูกค้า SVB เริ่มปรับลดลง และเริ่มมีการถอนเงินฝากในปริมาณที่สูงกว่าที่ธนาคารคาดไว้ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงมีนโยบายออกมาต่อสู้ โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อลดอุปสงค์ของเงิน แต่อัตราการปรับเพิ่มขั้นดอกเบี้ยถึง 4% ส่งผลกระทบต่อการลงทุนพันธบัตรที่ธนาคารไปลงทุนไว้ ทางการเงินเรียกว่าขาดทุนทางบัญชี เนื่องจากยังไม่ได้ขาย เพราะหากฝากไว้ครบ 10 ปี ก็จะยังได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่ แต่ SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรเนื่องจากขาดสภาพคล่อง จึงทำให้เกิดภาวะขาดทุนจริงถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงมาก และเป็นสาเหตุต้องพยายามเพิ่มทุน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่ออุดช่องโหว่ ทำให้ลูกค้าธนาคารเริ่มเกิดความกังวลจนแห่ไปถอนเงิน จนเงินหมด ทำให้เฟดต้องเข้ามาจัดการโดยการปิดกิจการ SVB ในที่สุด 

นายกรณ์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโจ ไบเดน ออกมาย้ำเพื่อความมั่นใจว่า รัฐบาลจะคุ้มครองเงินฝาก 100% ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะถอนเงินได้หรือไม่ เพราะหากถอนไม่ได้ ผลข้างเคียงจะส่งผลต่อผู้ประกอบกิจการซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพ ไม่สามารถจ่ายเงินเดือน และชำระหนี้สินได้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและอาจกระทบจนถึงขั้นปิดกิจการได้ และอาจจะลามไปถึงการแห่ถอนเงินจากสถาบันการเงินอื่น ๆ สร้างปัญหาเป็นวงกว้างทั้งระบบ  อย่างไรก็ตามสิ่งที่นายไบเดนพูด รัฐบาลค้ำประกันเฉพาะผู้ฝาก แต่ไม่ค้ำประกันผู้ถือหุ้น เจ้าของพันธบัตรหรือเจ้าหนี้ของตัวธนาคาร และเป็นการใช้เงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเท่านั้น ไม่กระทบต่อภาษีประชาชนแต่อย่างใด เป็นการส่งสัญญาณเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้งที่ส่งผลต่อคะแนนนิยม แต่ทั้งนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็มีเงินเพียง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าทุกคนยังแห่ถอนเงินก็ไม่เพียงพอ เวลานี้จึงต้องรอดูว่าจะมีใครมาซื้อกิจการของ SVB ของสหรัฐ เหมือนที่ HSBC ซื้อกิจการ SVB ในอังกฤษไปแล้วในราคา 1 ปอนด์ 

นายกรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในบริเวณ ซิลิคอนวัลเลย์สูง เนื่องจากสตาร์ทอัพเกือบทุกรายใช้บริการ SVB ที่เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่เข้าใจมายาวนาน วันนี้ต้องไปคุยกับสถาบันการเงินอื่นที่เข้าใจน้อยกว่า ทำให้ความได้เปรียบการเข้าถึงแหล่งทุน เมื่อเทียบกับที่อื่นในโลกลดลง ยกเว้นว่าจะมีใครไปซื้อและดำเนินการทำธุรกิจในวัฒนธรรมเดิมกับกลุ่มลูกค้าเดิม ก็อาจไม่ส่งผลมากนัก แต่หากไม่มี หรือมีชุดความคิดที่แตกต่าง ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพ ที่ซิลิคอนวัลเลย์เริ่มหมดเสน่ห์ หรือขีดความสามารถในการแข่งขันที่เคยได้เปรียบก็จะลดลง 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top