Wednesday, 15 May 2024
THE STATES TIMES TEAM

หยุดพฤติกรรม ‘Silo’ เพราะเรื่องของ ‘กู’ อาจทำให้ Me too ‘So Slow’

หลังจากคุณ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์รวมธุรกิจการค้าออนไลน์ในไทย ภายใต้นโยบาย ‘คนละครึ่ง’ และรวมถึงยอดขาย ‘11.11’ ที่ผ่านมา

ผลปรากฏที่เด่นชัดมาก ๆ คือ คนไทยค่อนข้างพร้อมกับการใช้จ่ายแบบสังคมไร้เงินสดพอสมควร

สังเกตุจากโครงการคนละครึ่งที่พอมีการเปิดให้ลงทะเบียนรอบ 2 ก็ลงกันสิทธิ์อย่างรวดเร็ว มียอดการใช้จ่ายผ่านแอพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ไปแล้วถึง 13,764 ล้านบาท กระจายสู่ร้านหาบเร่แผงลอยได้กว่า 650,000 ร้าน

ที่น่าสนใจในุมมของคุณกรณ์ คือ ตอนนี้รัฐได้ทำให้คนกว่า 12 ล้านคนยอมรับและคุ้นเคยกับการใช้ Cashless (ไร้เงินสด) มากขึ้น และเช่นเดียวกันผู้ค้ากว่า 6.5 แสนรายก็เข้ามาอยู่ในระบบดิจิทัลไปเรียบร้อย (และลุงตู่ก็คงยิ้มแป้น)

แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ทำไมประเทศไทย ไม่พัฒนาระบบ e-Commerce Platform ของตัวเองแบบเป็นจริงเป็นจังสักที

ทั้ง ๆ ที่ยอดการใช้จ่ายในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปี ตัวภาครัฐก็มีข้อมูล ‘Big Data’ มากมายมาตุนไว้ อุปสรรคคืออะไร? ทำไมเรายังไม่ไปถึงจุดนั้น?

ลองจินตนาการต่อไปว่าในอนาคต หากรัฐเปิดโอกาสให้คนไทยเสนอขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภคตามฐานข้อมูลที่รัฐมี

รวมถึงรัฐคอยช่วยสนับสนุนด้วยโปรโมชั่นต่าง ๆ และบริการส่งของผ่านไปรษณีย์ไทย...นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ e-Commerce Platform ของไทยที่เรารอคอยก็ได้

คำตอบหนึ่งที่ได้จากบทสรุปนี้คืออะไร

ปัญหาใหญ่ที่เด็กอมมือก็ยังรู้ คือ รัฐไทยยังทำงานกันแบบ ‘Silo’ หรือต่างคนต่างทำ อย่างกรณีโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ตัวข้อมูลอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่ผู้ที่มีพันธกิจสร้าง e-Commerce Platform คือ กระทรวงดิจิทัล และกระทรวงพาณิชย์

ผลคือการทำงานแบบตัวใครตัวมัน และทำให้เกิดปัญหา ‘คอขวด’ เวลาต้องคิดโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่ล่าช้า

ว่าแต่ ‘Silo’ ที่คุณกรณ์พูดถึงนี้คืออะไร?

Silo มาจาก Siloed Organization หรือ Siloed Company มีความหมายตรงตัว คือ แผนกต่าง ๆ ในองค์กรเดียวกัน ไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือองค์ความรู้ระหว่างกัน

โดยสัญญาณที่บ่งชี้ว่า Silo กำลังเข้ามาครอบงำการทำงานไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือรัฐบาลในตอนนี้ คือ...

1.) ภาครัฐไม่สามารถใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางการสื่อสารเพื่อแบ่งแยกกำลังซื้อจริงของประชาชน กับกำลังซื้อแฝง ยกตัวอย่างเช่น ทีมการตลาดหรือทีมบริหารไม่คิดจะดูแลคนที่ซื้อของไปแล้ว ราวกับคนที่ยังไม่ได้ซื้อของ เพราะฝ่ายเซลล์กับฝ่ายการตลาดไม่คุยกัน สุดท้ายก็ทำลายประสบการณ์ของลูกค้า

2.) ความแปลกหน้าในองค์กร สัญญาณเตือนภัย คือ หากไม่รู้จักคนหรืองานจากนอกทีม ซึ่งไม่ได้หมายถึงให้ต้องรู้จักแบบละเอียด จะไม่มีวันเข้าใจปัญหาของแต่ละฝ่ายได้เลย ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นบริษัทเล็ก ๆ ก็ควรรู้จักชื่อของทุกคน แต่ถ้าเป็นองค์กรใหญ่อย่างน้อยก็ควรจะรู้ชื่อและช่องทางติดต่อระดับบริหารแต่ละแผนก เพื่อให้เกิดการทำงานแบบประสานมือได้ง่ายขึ้น

3.) ภาวะ ‘เรา’ กับ ‘เขา’ ระหว่างแผนก จะทำให้เกิดภาวะการแข่งขันเชิงเห็นแก่ตัว เพราะไม่มีการแชร์ข้อมูลและขาดความร่วมมือร่วมใจ เหตุกลัวว่าอีกทีมจะได้หน้า แต่สุดท้ายจะแพ้ฝ่าย

4.) พนักงานที่ถูกเพิกเฉย หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม และถูกปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่น อาจจะไม่มีความสุข รู้สึกไม่มีประโยชน์ และเสี่ยงต่อการแชร์หรือปั่นหัวสิ่งที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ

5.) การทำงานซ้ำซ้อน เพราะไม่มีการสื่อสารกัน ไม่มีทางที่จะรู้ว่าสิ่งที่เราทำไป ได้ทำซ้ำกับคนอื่นหรือแผนกอื่นหรือไม่ ธุรกิจที่ขาดความร่วมมือจะมีคนและทีมงานที่ทำงานในโครงการที่คล้ายกัน ซึ่งนำไปสู่ความไร้ประสิทธิผลและสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานไปอย่างน่าเสียดาย

ฉะนั้นไม่ว่าจะรัฐหรือองค์กรไหนควรสร้าง Sharing is caring และ Knowledge is power ด้วยการร่างระบบการทำงานที่ทุกคน ‘ควรรู้ในสิ่งที่ควรรู้’ และต้อง ‘ไม่ต่างคนต่างรู้’ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งของการ Move on

การทำงานของรัฐในมุมของคุณกรณ์ จึงเหมือน Silo ที่หากปล่อยไปเรื่อย ๆ ไอ้สิ่งดี ๆ ที่จะคิดสร้างสรรค์หรือทำต่อในอนาคต (ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่มาก) จะยิ่งไกลฝั่งออกไปๆ เลยล่ะลุงตู่!!…

.

อ้างอิง: เฟซบุ๊ค กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij / ETDA Thailand

ปรับร่างยังไงให้พร้อมเริ่มงานใหม่

ยังจำ ‘ยุ่น’ ในหนังฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามรักหมอ กันได้อยู่ใช่ป่ะ

ในเรื่อง ยุ่น เป็นฟรีแลนซ์กราฟิกขั้นเทพ ผลิตงานได้แบบไม่หลับไม่นอน จนสุดท้ายเม็ดขึ้นเต็มตัว ชีวิตจริงของบรรดาคนทำอาชีพฟรีแลนซ์ก็มีความคล้ายคลึงอย่างหนัง แต่อยากเตือนว่า ทำงานหาเงินจนป่วย แต่ป่วยแล้วเอาเงินไปรักษาตัว เพื่อ?

แต่เป็นฟรีแลนซ์มายาวนาน เกิดวันหนึ่งมีอันต้องไปเป็นพนักงานประจำ ประมาณว่า จากคนที่กินนอนไม่เป็นเวลา ประเภทนอนตี 5 ตื่น 6 โมงเย็น เริ่มงาน 2 ทุ่ม แต่จู่ ๆ กลับต้องเข้านอน 3 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้า เพื่อไปเข้างาน 8 โมง งานนี้ร่างกายมีเพี้ยนแน่นอน The States Times Lite ชวนคนที่ต้องเจอเรื่องราวทำนองนี้ มาเตรียมร่างกายให้พร้อมกันดีกว่า

.

1.) ฝึกการนอนใหม่ : ก่อนจะเข้าเริ่มงานประจำ ควรเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้านอนตามใจฉัน ให้กลายเป็นเวลานอนประจำให้ได้ แรก ๆ อาจจะยากสักหน่อย เพราะเปลี่ยนอะไรไม่ยากเท่าเปลี่ยนนิสัยตัวเองนี่ล่ะ จากทฤษฎีที่เคยมีนักวิจัยในต่างประเทศได้บันทึกเอาไว้ การเปลี่ยนนิสัยที่เคยชินจะสามารถเปลี่ยนได้เฉลี่ยที่ 60 วัน หรือพูดง่าย ๆ ว่า อยากจะเปลี่ยนนิสัยที่ทำประจำสักอย่าง ต้องใช้เวลากว่า 2 เดือน เพราะฉะนั้น เตรียมปรับนิสัยการนอนไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้เลย

.

2.) ต้องหัดกินอาหารเช้า : มันคือเรื่องเบสิกที่เคยฟังมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่ามื้อเช้าคือมื้อที่ดีที่สุด แต่เป็นฟรีแลนซ์มาตลอด เรื่องมื้อเช้านี่แทบจะลืมไปได้เลย แต่การกลับมากินมื้อเช้าเพื่อเริ่มต้นการทำงานประจำ จะช่วยทำให้ร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะระบบประสาทและกลไกการทำงานสมอง ทำให้มีความจำที่ดีขึ้น และมีสมาธิมากขึ้น

.

3.) ดื่มน้ำให้มากขึ้น : นี่ก็เบสิกอีกเรื่อง แต่เชื่อเถอะว่า ช่วงแรก ๆ ของการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้าระบบการทำงานประจำ คุณจะมีภาวะแปรปรวนทางร่างกายค่อนข้างสูง เรื่องหนึ่งที่สามารถช่วยได้ คือการดื่มน้ำ น้ำสะอาดมีประโยชน์ครอบจักรวาลจริง ๆ ดื่มวันละ 7 - 8 แก้วต่อวัน ทำให้สดชื่นขึ้นแน่ ๆ และทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายเป็นไปอย่างปกติ รวมถึงการทำงานของระบบย่อยอาหารก็จะดีขึ้นด้วย

.

4.) ออกกำลังกาย : เมื่อเข้าสู่ชีวิตงานประจำ ร่างกายต้องทำงานหนักกว่าตอนอยู่กับบ้านแน่นอน เพราะฉะนั้น ออกกำลังกายไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ร่างของเรามีกำลังวังชา ออกไปสู้รบกับภารกิจการงาน ตลอดจนชั้นบรรยากาศอันเต็มไปด้วยฝุ่นภายนอก จำไว้เสมอ หากมีเวลา จงออกกำลังกาย!

.

5.) อาหารเสริม : อันนี้ไม่ได้แนะนำบรรดาอาหารเสริมที่ต้องไปซื้อหามาในราคาแพง ๆ แต่อาหารเสริมดี ๆ มีอยู่ในของที่เรามักไม่กินนี่ล่ะ จากที่เคยเขี่ยออกนอกจาน หรือเลี่ยงไม่กิน ลองหันมากินดู เช่น มะเขือเทศ ผักโขม หรือพวกถั่วต่าง ๆ ที่ว่ามาเหล่านี้ เป็นผัก - ผลไม้ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของเซลล์ประสาททั้งนั้น กินเข้าไปเถอะ ช่วยบำรุงสมองล้วน ๆ เพราะเมื่อไรที่เข้าสู่การทำงานประจำ ได้ใช้สมองเต็มที่แน่นอน

เริ่มงานประจำ ใจพร้อมแล้ว กายก็ต้องพร้อมด้วย เตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง ตามนั้นนะ...

ปตท. ยังท็อปฟอร์ม โกย ‘DJSI’ 9 ปีติด โตทั้งกำไร ได้ใจทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม

กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เสียแล้วขององค์กรธุรกิจทั่วโลก ที่จะต้องคำนึงถึง ‘การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม’ โดยธุรกิจในยุคนี้จำเป็นต้องสนใจคำ 3 คำ คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ บรรษัทภิบาล (Governance) หรือย่อๆ ว่า ‘ESG’

เพราะ ESG จะช่วยกรองให้ธุรกิจดำเนินไปโดยใส่ใจกับผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวเนื่องกับ 3 คำที่ว่ามา ไม่ใช่แค่ดีต่อมวลรวม แต่การให้ความสำคัญกับ ESG ขององค์กร ยังดีต่อใจของนักลงทุนที่จะตัดสินใจได้ง่ายในการเข้าไปร่วมลงทุนหรือถือหุ้นในธุรกิจนั้น ๆ

แต่ ESG ก็ไม่ใช่ว่าจะแค่ทำไปตามแต่ใจ เพราะตามเกณฑ์มาตรฐานสากลโลก ได้มีการออกดัชนี หรือตัวชี้วัดในการประเมินองค์กรที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้อยู่

โดยหนึ่งในนั้น คือ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ ‘DJSI’ (Dow Jones Sustainability Indices) ที่จัดทำโดย RobecoSAM และ S&P Dow Jones Indices ดัชนีนี้มีการคัดเลือกจาก 2,521 บริษัทในตลาดทุนทั่วโลก และ 802 บริษัทในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (ข้อมูลปีพ.ศ.2561)

มีการประเมินผลการดำเนินงานในมิติเศรษฐกิจ บรรษัทภิบาล สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อคัดเลือกบริษัทที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้กองทุนต่าง ๆ ทั่วโลกใช้พิจารณาประกอบการลงทุน แน่นอนว่าการจะรักษาสถานะตัวเองให้อยู่ในลิสต์ DJSI ต่อไปเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก!!

หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ESG เหล่านี้ ก็แค่ไปปลูกป่า ลดมลพิษโรงงาน และบลา ๆ ที่พร้อมจะบอกว่าองค์กรนั้น ๆ Go Green แต่นั่นแค่เรื่องผิวเผิน เพราะที่พูด ๆ กันเขาเรียกว่า CSR!!

ในความเป็นจริงแล้ว การจะก้าวเข้าไปอยู่ใน DJSI ได้ ต้องยกระดับกระบวนการทางธุรกิจ เอาแบบว่าทั้งองค์กรต้องร่วมมือกันแบบเครือทั่วถึง จะเรียกว่าเป็นจิตวิญญาณขององค์กร ต้องร่วมกันทำเพื่อให้ตอบสนองต่อทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแบบพัฒนาใจมาได้ระดับหนึ่งตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงานตัวเล็ก ๆ

ส่วนในเชิงโครงสร้างก็ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ ESG ของตนเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงรูปแบบธุรกิจ ตรงนี้จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้บรรดานักลงทุนเกิดความมั่นใจ อยากมาร่วมลงทุน โดยไม่ได้มองแค่ผลกำไรขององค์กรนั้น ๆ เป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียว

สรุปเลยก็คือ ธุรกิจเดินหน้ามีกำไร แถมยังต้องโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หูยย...ยากเหลือล้น

ทั้งนี้บริษัทไทยที่ผ่านการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนี DJSI เป็นครั้งแรก คือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่ได้ในปีพ.ศ.2547 หลังจากนั้น ก็มีบริษัทไทยทยอยคว้ารางวัลนี้กันมากขึ้น เช่น ในปีพ.ศ.2561 ที่มีบริษัทไทยถึง 20 บริษัท ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนี เช่น KBANK, SCB, PTTEP, PTT, CPALL, THBEV, PTTGC, SCC และ CPN

ล่าสุดในปี พ.ศ.2563 บริษัท ปตท. เป็นอีกรายที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับปตท. กวาดรางวัลนี้มาแล้วต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) และดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Index) โดยปตท.ได้คะแนนสูงสุดเป็น Industry Leader ในกลุ่ม Oil & Gas Upstream & Integrated (OGX) นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย...

.

- บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

- บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

- และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (จีซี)

.

ยังได้ผ่านการประเมินเป็นสมาชิก DJSI ต่อเนื่องครบทุกบริษัท โดย ไทยออยล์ ได้คะแนนสูงสุดเป็น Industry Leader ในกลุ่ม Oil & Gas Refining & Marketing (OGR) และ จีซี ได้คะแนนสูงสุดเป็น Industry Leader ในกลุ่ม Chemicals (CHM) อีกด้วย

ยาต้านซึมเศร้า...รักษาโควิด-19?

อ่ะจริงดิ?! มีรายงานข่าวออกมาว่า กลุ่มนักวิจัยทางการแพทย์ได้ทำการทดลองใช้ยาต้านซึมเศร้าในผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งปรากฎว่าได้ผลดีเกินคาด!

งานวิจัยครั้งนี้ ถูกเผยแพร่ออนไลน์ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน (JAMA) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา โดยเป็นการศึกษาเบื้องต้นของคณะวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองเซนต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาได้ทดลองใช้ยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) ซึ่งเป็นยารักษาโรคซึมเศร้า กับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่อาสาเข้าร่วมโครงการนี้จำนวนกว่า 152 ราย

ปรากฎว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ คณะวิจัยได้โทรศัพท์สอบถามติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และพบว่า ผู้ป่วยกว่า 80 คน ไม่มีผู้ใดมีอาการทรุดหนักลงหลังผ่านไป 15 วัน ส่วนที่เหลืออีก 72 ราย ก็พบแค่เพียง 6 รายที่มีอาการป่วยขั้นรุนแรง โดย 4 ใน 6 คน จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

คณะวิจัยได้ให้เหตุผลถึงผลการทดลองที่เป็นไปในทิศทางบวกนี้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยาฟลูวอกซามีน เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการลดทอนจำนวนการผลิตโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จึงส่งผลต่ออาการของผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ยังเป็นเพียงการวิจัยเบื้องต้นเท่านั้น แต่ภายในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป คณะวิจัยจะขยายผลการทดลองนี้ไปทั่วคลีนิคในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากว่า ผลการทดลองเป็นไปด้วยดี คาดว่าจะมีการยกระดับและศึกษารายละเอียดถึงความเป็นไปได้ในการใช้ยานี้ต่อไป

.

อ้างอิง: https://newsroom.uvahealth.com/2020/11/13/antidepressant-may-prevent-severe-covid-19-clinical-trial-finds/

ผู้ป่วยหนีออกจากโรงพยาบาลที่รัฐปีนัง​ ล็อคดาวน์ยาวไปโควิดทำมาเลเซียวุ่นไม่พอ!

คอลัมน์​ "สายตรงจากเคแอล"

ผู้ป่วยโควิด-19 หนีออกจากโรงพยาบาลที่กักตัวในรัฐปีนัง โดยผู้ป่วยชายรายนี้แอบตัดสายรัดข้อมือสีชมพู แล้วหนีออกจากโรงพยาบาลซึ่งเขาเดินเท้าไปไกลถึง 25 กิโลเมตร

จนในที่สุดเจ้าหน้าที่สามารถตามตัวพบที่บริเวณหน้าตึกแถวอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นย่านค้าขายในรัฐปีนัง และในตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าตลอดทางที่เขาหลบหนีมาได้เจอใครหรือสัมผัสอะไรไปบ้าง

สถานการณ์โควิด-19 ในมาเลเซียตอนนี้ยังคงน่าเป็นห่วง ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงอยู่ในหลักพันกว่าติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันแล้ว โดยทางรัฐบาลได้ประกาศล็อคดาวน์รอบสองตามมาตราการควบคุมการเดินทางแบบมีเงื่อนไข (CMCO) ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม พ.ศ.2563 ไปเกือบทั่วประเทศมีเพียง 3 รัฐเท่านั้นที่ไม่ถูกล็อคคดาวน์คือ รัฐเปอร์ริส, กลันตัน และปาหัง

โดยตัวเลขสถานการณ์ล่าสุดวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

.

มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,103 คน

ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 48,520 คน

ยอดผู้เสียชีวิต 313 คน

รักษาหายกลับบ้าน 35,606 คน

ยังคงรักษาตัวอยู่ 12,601 คน

.

Cr.Photo & Story https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1745015925676110&id=223545897823128

Cr. Kementerian Kesihatan Malaysia.

.

ผิงกั่ว

สาวเมืองชล ตั้งรกรากชานกรุงกัวลาลัมเปอร์​ ตามสามีคนจีนมาเลย์​ ชีวิตท่ามกลางคนจีน​ แขกมาเลย์​ และแขกอินเดีย​ พหุวัฒนธรรม​ ส่องมุมมองจากประเทศเพื่อนบ้านด้านล่างแผ่นดินแม่​ มาเล่าสู่กันฟัง

ล้อมได้ ล้อมไป!!

วันที่ 17 พฤษจิกายน พ.ศ. 2563 บริเวณรอบรัฐสภา เจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องกีดขวางมาติดตั้ง ตั้งแต่เวลา 2.00 น. ซึ่งประกอบไปด้วยลวดหนามหีบเพลง แท่งปูนแบริเออร์ และรถเมล์ มาเป็นเครื่องมือกีดขวางถนน

เนื่องจากในวันนี้มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีผู้ชุมนุมนัดชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา จึงได้มีการวางเครื่องกีดขวางไว้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้มีการปิดทางเข้าไปยังแยกเกียกกาย เลยแยกบางโพ

ก่อนถึงสะพานข้ามไปยังแยกเกียกกาย มีการปิดเพื่อตั้งด่านตำรวจและด่านความมั่นคง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำรถประจำทางปรับอากาศสีเหลือง ปิดทาง แล้ววางรั้วกั้น โดยเจาะพื้นถนนเพื่อยึดแผงรั้ว

ในส่วนท่าเรือเกียกกายก็ได้มีการนำรถเมล์ปิดกั้นทางเข้าออกทั้งหมด ตลอดเส้นทางหน้ารัฐสภามีรถตู้ตำรวจจอดกว่า 30 คันและตั้งเต็นท์กว่า 6 จุด

โดยทางเข้าออกสภาเปิดให้ใช้เพียง 1 ช่องทาง เพื่อให้ ส.ส. สามารถเข้ามาประชุมสภาได้ เมื่อเข้าไปทั้งหมดแล้วเจ้าหน้าที่จะปิดทางเข้ารัฐสภาก่อนทั้งหมด หากยังมีบุคคลเข้าไปไม่หมดเจ้าหน้าที่จะคัดกรองเป็นบุคคลไป

พิธีการรับปริญญาใน'บรูไน' ประเทศที่ปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

คอลัมน์ "เสียงจากเกาะบอร์เนียวตอนเหนือ บรูไน"

กษัตริย์บรูไน สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ มอบปริญญาแก่ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย University of Brunei Darussalam (UBD) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติของประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ประเพณีนี้รับสืบต่อมาจากอดีตเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เหมือน ๆ กับประเทศในเครือจักรภพหลาย ๆ ประเทศ

ซึ่งเป็นเกียรติสูงสุดของบัณฑิตทุก ๆ คนในประเทศบรูไน เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ มอบให้แก่บัณฑิต แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยเอกชน ก็มอบหมายให้องคมนตรีหรือผู้แทนพระองค์

ในประเทศไทยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก มีขึ้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2473 หรือราว 90 ปีที่แล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และถือว่านี่คือต้นแบบประเพณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จไปในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนกระทั่งทุกวันนี้

มหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไนเป็นมหาวิทยาลัยที่ติด Times Higher Education(THE) World University Ranking ครั้งแรกในปีนี้

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยจาก 3 ชายแดนภาคใต้ทุก ๆ ปี ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ยัน ปริญญาเอก ค่าใช้จ่ายทุกอย่างทางรัฐบาลบรูไนสนับสนุน ใครมีผลการศึกษาดี ทางมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนให้เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยอีกต่างหาก

https://borneobulletin.com.bn/2020/11/his-majesty-to-graduates-maintain-integrity-faith/

.

อะมีนะห์

สาวไทยมุสลิม เกิดใจกลางกรุงเทพ ชีวิตผกผันแต่งงานกับหนุ่มบรูไน ตั้งรกรากปากกัดตีนถีบแต่มีความสุขดี ยังชีพกับการเผยแพร่อาหารไทย มีความรักผูกพันบ้านเกิดทุกลมหายใจ เลี้ยงลูกสองคน วันนึงจะพาลูกมารู้จักแผ่นดินที่เเม่เกิดให้มากขึ้น แนะนำเพื่อนบ้านบรูไนจากกรุงเสรีเบการ์วันให้คนไทยรู้จักมากขึ้น

อัสลามมุอะลัยกุม​ ริมทางถนนคาราโครัมไฮเวย์

GB Election 2020

วันนี้วันสุดท้าย ที่ทุกคนมีโอกาสหาเสียง พรุ่งนี้วันเลือกตั้ง พรรค PPP ขึ้นคะแนนความนิยมมาอันดับ 1

(ผู้นำพรรคคือ บิลลาวาล บรุตโตร ตระกูลนักการเมืองที่แท้จริง)

คุณมาเรียม นาวาส บุตรสาวของคุณนาวาส ชารีฟ ตอนนี้พ่อหนีคดีอยู่ลอนดอน นายกเก่าโดนจับฐานคอรัปชั่น รอบนี้ส่งลูกสาวมา พรรคอื่นจะชอบดิสเครดิตเธอด้วยคำว่า พ่อมันเป็นโจร มันก็เป็นลูกโจร ยังจะเลือกมันมาอีก!!!

การหาเสียงที่นี่​ ดุเดือดเลือดพล่าน​ การเมืองทั่วโลก ก็เป็นแบบนี้แหละ เปิดตา เปิดใจมองนะคะ ส่วนนายกฮิมราน ข่าน อยู่พรรค PTI ปีนี้คะแนนตกฮวบ ๆ เนื่องจากของแพงทุกอย่าง และแก้ไขเรื่อโควิดทางเหนือได้แย่ แต่ที่บ้านเชียร์ท่านนายกนะคะ ท่านสนับสนุนการท่องเที่ยว และของแพงเพราะท่านอยากยกระดับปากีสถาน น้องชายของเรา อิสรา น้องแท้ๆ ลงเลือกตั้งเขตพาสสุ ไคเบอร์ กุลมิต จัลราบัด

สามีเรามีน้องอยู่พรรค​ PPP (พรรคของบิลลาวาล บุตโต )มารอลุ้นพรุ่งนี้ ว่าแกจะได้เป็นผู้แทนหรือไม่ นโยบายขายฝันหรือประชานิยมของที่นี่​ ก็มีมากมาย เช่น แจกแป้งทำโรตีฟรี (ส่วนนายกปัจจุบัน​ไม่แจกฟรี จ่ายกระสอบละพัน)

ผู้สนับสนุนการท่องเที่ยวมีแค่นายก กับบิลลาวาล นอกนั้นอาจจะไม่สนใจหรือไม่แคร์เลย

พวกเราคนทางเหนือยังชีพได้ด้วยการท่องเที่ยว​ เราจึงสนับสนุนคนที่ช่วยเหลือและนำพานักท่องมา​ GB มากที่สุด การเลือกตั้ง​ของที่นี่จะต่างกับหลายประเทศ​ อาจจะเพราะเหตุผลประเทศกว้างใหญ่​ และการสัญจรลำบาก​ เวลาเลือกตั้งแต่ละรอบเลยไม่ตรงกัน​ แต่ รอบนี้เป็นของโซน​ GB​หรือทางเหนือของประเทศ

รายงานจากเมือง​พาสสุ​ เมืองเล็กๆทางตอนเหนือของประเทศใกล้กับพรมแดนจีน​ -​ ปากีสถาน​ เมืองนี้อยู่ในรัฐกิลกิตบาติสถาน ​(Gilgitbaltistan)

ยืนยันว่าหนูเป็นคนไทยคนเดียวบนถนนคาราโครัมไฮเวย์​ในเวลานี้ ถนนนี้ในอดีตคือเส้นทางสายไหม​ และเป็นถนนที่สูงที่สุดในโลก หนูนอนหนาวท่ามกลางอุณหภูมิ​ติดลบทุกคืน​ โอ๊ย​หนาวจัด

.

.

.

.

.

.

.

.

.

กุลไลล่า

ไกด์สาวชาวไทย​ สะใภ้​ปากี​สถาน จากหัวหิน​พบรักหนุ่มปากีเชื้อสายวาคี อาศัยอยู่เมืองพาสสุ​ ดินแดนเหนือสุดของประเทศปากีสถาน ปัจจุบันเปิดร้านอาหารริมถนนคาราโครัมไฮเวย์​ ถนนที่ได้รับการขนานนามว่าสูงที่สุดในโลก​ หรือเส้นทางสายแพรไหมในอดีต​

คอยต้อนรับแขกที่ผ่านทางมา​ แวะกินอาหารไทย​และชิมชา​ เบเกอรี่ชื่อดัง​ ทางเหนือของปากีสถานได้​ พร้อมให้บริการท่องเที่ยวปากีสถาน​หลังโควิด​-19 ผ่านไป

17 พฤศจิกายน ค.ศ.1970...50 ปี มี ‘เมาส์’

มีอุปกรณ์มากมายที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น ‘คอมพิวเตอร์’ แต่หนึ่งในอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น เหมือนเกิดมาคู่กัน นั่นคือ ‘เมาส์’

เมาส์ ไม่ใช่ปาก แต่เมาส์ทำหน้าที่คล้ายๆ ปาก คือคอยคลิ๊กคำสั่งการ เพื่อให้โปรแกรมต่างๆ ปฏิบัติงานได้ตามใจเรา หากย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 50 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 1970 ถือเป็นวันที่มีการจดสิทธิบัตรเจ้าอุปกรณ์ที่เรียกว่าเมาส์ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก

‘US3541541’ คือรหัสสิทธิบัตรของมัน แต่คงไม่จดจำเท่าที่มาของการประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้ ถูกเริ่มสร้างขึ้นมาในช่วงปี 1963 โดยนักประดิษฐ์ที่ชื่อ ดร. ดักลาส อิงเกิลบาร์ต ณ สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) ประเทศสหรัฐอเมริกา

แรกเริ่มเดิมที มันถูกออกแบบเป็นเฟือง 2 ตัววางในลักษณะตั้งฉากกัน และเคลื่อนที่ไปแบบ 2 มิติ ก่อนที่ต่อมาจะแทนที่ล้อหมุนด้วยลูกบอล จึงทำให้สามารถหมุนไปได้รอบทิศทาง

เมาส์ กลายเป็นอุปกรณ์ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกร่วมกับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ และกลายเป็น ‘ของที่ต้องมี’ บนโต๊ะคอมพิวเตอร์ทุกบ้าน วันนี้เมาส์มีอายุ 50 ปี ก็สุดจะเดาว่า อีก 50ข้างหน้า เมาส์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หรือไม่...มันอาจจะเป็นอะไรที่มากกว่าเมาส์ไปแล้วก็ได้เมื่อถึงวันนั้น

อ้างอิง: th.wikipedia.org/wiki/เมาส์

"นิวนอร์มอล" รับปริญญา ในรัฐปะหัง ประเทศมาเลเชีย มาแล้ว

คอลัมน์ "สายตรงจากเคแอล" 

รับปริญญาแบบ new normal - มหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซีย University College of Yayasan Pahang (UCYP) ในรัฐปะหัง นำร่องจัดพิธีรับปริญญาบัตรแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตัดต่อเสมือนจริง

ผู้สำเร็จการศึกษาเหมือนได้ร่วมรับพระราชทานปริญญาบัตรกับสมเด็จพระราชินี รายา ประไหมสุหรี (Her Majesty Raja Permaisuri Agong Tunku Hajah Azizah Aminah Maimunah Iskandariah binti Almarhum Al-Mutawakkil Alallah Sultan Iskandar Al-Haj.) พระองค์จริง

เนื่องจากมาเลเซียยังอยู่ในช่วงล็อคดาวน์ประเทศจากการระบาดของโรคโควิด 19 ดังนั้นพิธีการต่างๆจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อสอดคล้องตามมาตรฐาน (SOP) ของรัฐบาลมาเลเซีย

ซึ่งการรับปริญญารูปแบบใหม่นี้ ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้งคือ ตั้งแต่วัน 9 - 11 ตุลาคม , 16 - 18 ตุลาคม และ 23 - 25 ตุลาคม ทั้ง 3 ครั้งจัดขึ้นในปีนี้ (ค.ศ.2020) ที่ผ่านมา ซึ่งการจัดงานดำเนินไปด้วยดีมีผู้สำเร็จการศึกษา 376 คน

Cr: houseofpahang

.

ผิงกั่ว 

สาวเมืองชล ตั้งรกรากชานกรุงกัวลาลัมเปอร์​ ตามสามีคนจีนมาเลย์​  ชีวิตท่ามกลางคนจีน​ แขกมาเลย์​ และแขกอินเดีย​ พหุวัฒนธรรม​ ส่องมุมมองจากประเทศเพื่อนบ้านด้านล่างแผ่นดินแม่​ มาเล่าสู่กันฟัง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top