Wednesday, 22 January 2025
THE STATES TIMES TEAM

17 พฤศจิกายน ค.ศ.1970...50 ปี มี ‘เมาส์’

มีอุปกรณ์มากมายที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น ‘คอมพิวเตอร์’ แต่หนึ่งในอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น เหมือนเกิดมาคู่กัน นั่นคือ ‘เมาส์’

เมาส์ ไม่ใช่ปาก แต่เมาส์ทำหน้าที่คล้ายๆ ปาก คือคอยคลิ๊กคำสั่งการ เพื่อให้โปรแกรมต่างๆ ปฏิบัติงานได้ตามใจเรา หากย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 50 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 1970 ถือเป็นวันที่มีการจดสิทธิบัตรเจ้าอุปกรณ์ที่เรียกว่าเมาส์ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก

‘US3541541’ คือรหัสสิทธิบัตรของมัน แต่คงไม่จดจำเท่าที่มาของการประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้ ถูกเริ่มสร้างขึ้นมาในช่วงปี 1963 โดยนักประดิษฐ์ที่ชื่อ ดร. ดักลาส อิงเกิลบาร์ต ณ สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) ประเทศสหรัฐอเมริกา

แรกเริ่มเดิมที มันถูกออกแบบเป็นเฟือง 2 ตัววางในลักษณะตั้งฉากกัน และเคลื่อนที่ไปแบบ 2 มิติ ก่อนที่ต่อมาจะแทนที่ล้อหมุนด้วยลูกบอล จึงทำให้สามารถหมุนไปได้รอบทิศทาง

เมาส์ กลายเป็นอุปกรณ์ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกร่วมกับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ และกลายเป็น ‘ของที่ต้องมี’ บนโต๊ะคอมพิวเตอร์ทุกบ้าน วันนี้เมาส์มีอายุ 50 ปี ก็สุดจะเดาว่า อีก 50ข้างหน้า เมาส์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หรือไม่...มันอาจจะเป็นอะไรที่มากกว่าเมาส์ไปแล้วก็ได้เมื่อถึงวันนั้น

อ้างอิง: th.wikipedia.org/wiki/เมาส์

"นิวนอร์มอล" รับปริญญา ในรัฐปะหัง ประเทศมาเลเชีย มาแล้ว

คอลัมน์ "สายตรงจากเคแอล" 

รับปริญญาแบบ new normal - มหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซีย University College of Yayasan Pahang (UCYP) ในรัฐปะหัง นำร่องจัดพิธีรับปริญญาบัตรแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตัดต่อเสมือนจริง

ผู้สำเร็จการศึกษาเหมือนได้ร่วมรับพระราชทานปริญญาบัตรกับสมเด็จพระราชินี รายา ประไหมสุหรี (Her Majesty Raja Permaisuri Agong Tunku Hajah Azizah Aminah Maimunah Iskandariah binti Almarhum Al-Mutawakkil Alallah Sultan Iskandar Al-Haj.) พระองค์จริง

เนื่องจากมาเลเซียยังอยู่ในช่วงล็อคดาวน์ประเทศจากการระบาดของโรคโควิด 19 ดังนั้นพิธีการต่างๆจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อสอดคล้องตามมาตรฐาน (SOP) ของรัฐบาลมาเลเซีย

ซึ่งการรับปริญญารูปแบบใหม่นี้ ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้งคือ ตั้งแต่วัน 9 - 11 ตุลาคม , 16 - 18 ตุลาคม และ 23 - 25 ตุลาคม ทั้ง 3 ครั้งจัดขึ้นในปีนี้ (ค.ศ.2020) ที่ผ่านมา ซึ่งการจัดงานดำเนินไปด้วยดีมีผู้สำเร็จการศึกษา 376 คน

Cr: houseofpahang

.

ผิงกั่ว 

สาวเมืองชล ตั้งรกรากชานกรุงกัวลาลัมเปอร์​ ตามสามีคนจีนมาเลย์​  ชีวิตท่ามกลางคนจีน​ แขกมาเลย์​ และแขกอินเดีย​ พหุวัฒนธรรม​ ส่องมุมมองจากประเทศเพื่อนบ้านด้านล่างแผ่นดินแม่​ มาเล่าสู่กันฟัง

8 ปีที่รอคอย!! ไทยเข้า ‘ตี้’ RCEP หุ้นส่วนเศรษฐกิจ 15 ชาติสะเทือนโลก

ประเทศไทยปิดดีล RCEP เรียบร้อย หลังการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่ยาวนานกว่า 8 ปี จบลงโดยมี 15 ชาติพันธมิตรเข้าร่วม หากนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 ก็เรียกว่าผ่านมาเนิ่นนานร่วม 8 ปี ของการเจรจา RCEP!!

RCEP คืออะไร?

RCEP มีชื่อย่อมาจาก Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป้าหมายของการก่อตั้ง RECP ก็เหมือน ๆ กับการตั้ง EU ในยุโรปนั่นแหละ เพราะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ การค้า และให้แก่ทุกประเทศที่เข้าร่วม

โดยอยู่ภายใต้ระบบการค้าเสรีที่ใช้กฎระเบียบเดียวกันของผู้มีส่วนใน RCEP (ภาคี) ที่มีทั้งหมด 15 ประเทศ แบ่งเป็รนชาติอาเซียน (รวมไทย) 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ การรวมตัว RCEP จะทำให้เกิดภาพอะไรขึ้น?

- ประชากรในประเทศสมาชิก RCEP จะครอบคลุมคนถึง 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก

- คาดจะเกิดมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 326 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

- และสร้างตัวเลข GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือ 30% ของ GDP โลก

.

จะเรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาครอบนี้ กลายเป็นเรื่องใหญ่ของโลกเลยก็ได้ เพราะ RCEP จะเหมือนกับ 1 ประเทศใหญ่ที่คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 1 ใน 3 ของโลกกันเลยทีเดียว เมื่อทั่วโลกเห็นภาพแบบนี้ จะมีใครไม่อยากมาลงทุน พอมาลงทุน เม็ดเงินก็ไหลเวียนในระบบประเทศสมาชิก เกิดตลาดงานใหม่ โครงการใหม่ ๆ เกิดการสะพัดทางเม็ดเงินเศรษฐกิจแบบต่อเนื่อง สรุปประเทศรวย ประชาชนก็สบาย

ฉะนั้นทุกประเทศที่อยู่ในการเจรจา RCEP ต่างพยายามให้ข้อตกลงนี้ลุล่วง

แล้วก็เป็นข่าวดีมาก ๆ โดยเฉพาะกับไทย เพราะร่วมปิดดีลนี้ได้แล้ว!! โดยรัฐบาลไทยที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมประชุม RCEP รอบนี้ และมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ลงนาม RCEP กันทางออนไลน์ไปเป็นทีเรียบร้อย

จากนั้นคาดว่า เมื่อแต่ละประเทศให้สัตยาบัน ก็น่าจะเริ่มเปิดเสรี RCEP ทางการค้าและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ.2564

ผลบวกที่ 15 ชาติ RCEP รอคอย?

- RCEP นั้นจะทำให้ประเทศสมาชิกสามารถซื้อขายสินค้าและบริการได้อย่างเสรี ‘ไร้กำแพงภาษี’ ใน 15 ประเทศ RCEP

- RCEP ในส่วนของอาเซียน อาจจะได้อานิสงค์จากประเทศจีน ที่ถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ได้สำเร็จ

- การลงนามในข้อตกลง RCEP จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเชื่อมเศรษฐกิจอาเซียนเข้าสู่เศรษฐกิจโลกได้ง่ายยิ่งขึ้น

.

ทั้งนี้ RCEP ได้ถูกยกให้เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศสมาชิกประกอบไปด้วยอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่อินเดียได้ถอนตัวออกไปก่อนหน้านี้ จึงเหลือแค่ 15 ประเทศ เพราะอินเดียกลัวปัญหาสินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้าประเทศ

แม้จะขาดตลาดใหญ่อย่างอินเดีย แต่ก็เชื่อว่าประเทศสมาชิกใน RCEP ที่ว่ามาก็ยังสร้างระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้อยู่ดี

ความลุล่วงของ RCEP ในช่วงเวลานี้ จึงนับเป็นข่าวดีอย่างมากของเศรษฐกิจไทย!!

เพราะในจังหวะที่ทั่วโลกยังเจอปัญหาโควิด-19 แต่ไทยเราสามารถรับมือได้ จะเป็นแต้มต่อที่ผสมกับแรงหนุนใหม่ที่มี 15 ชาติ RCEP ผลักให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้ไวกว่าเดิม...

การเมืองที่ไม่จบลงแค่ ‘ ม็อบ ’

“ ศิลปะ “ เป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับมนุษย์ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปในสังคม วัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องการเมือง ศิลปะจึงเป็นกระบอกเสียงของประชาชนที่สะท้อนความเห็นผ่านการเรียกร้องอย่างมีชั้นเชิงจากความสร้างสรรค์ในศิลปะ เมื่อเห็นแบบนี้แล้วม็อบก็คงไม่ใช่ทางออกเดียวที่จะแสดงความเห็นหรือแสดงจุดยืน

.

The States Times จึงได้รวม 4 ผลงานศิลปะที่สะท้อนภาพทางการเมืองที่ไม่ได้มีเพียงแค่ ‘ ม็อบ ’ จากศิลปินสุดเจ๋งที่ใช้ศิลปะมาแสดงออกอย่างแสบสันและสร้างสรรค์

.

.

A Show of Hands - Htein Lin
ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินชาวพม่า สื่อสารผ่านปูนปลาสเตอร์ที่หล่อจากมือของอดีตนักโทษทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายที่รัฐบาลพม่าได้หยิบยื่นให้กับอดีตนักโทษเหล่านี้
.
Credit : https://www.albrightknox.org/art/exhibitions/htein-lin-show-hands

.

.

Israeli & Palestinian Pillow Fight- Banksy
ผลงานจากศิลปินชื่อดังระดับโลกที่ฝากผลงานเสียดสีแสนเจ็บแสบไว้ตามผนังตึกบ้านเรือนต่างๆเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับผลงาน Israeli & Palestini-an Pillow Fight ภาพสะท้อนของสงครามที่มีเพียงกำแพงกั้น ของสงครามอิสราเอลและปราเลสไตล์
.
Credit : Facebook Banksy

.

.

Politicians' Lies - Marco Melgrati
ผลงานสุดกวนจากศิลปินอิสระชาวอิตาเลียน
ผู้เสียดสีการเมืองผู้จิกกัดนักการเมืองผ่านภาพวาดที่ว่าด้วยคำโกหกต่างๆที่ออกมาผ่านฉากหน้าที่อยู่ในรูปแบบนักการเมือง
.
Credit : Facebook Marco Melgrati

.

.

Carcass - Petr Pavlensky
ศิลปะแสดงสดจากศิลปินชาวรัสเซีย ที่ทุ่มสุดตัวด้วยการนอนเปลือยกายในลวดหนามเพื่อแสดงให้เห็นถึง จุดยืนในการต่อต้านนโยบายที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนจากรัฐบาลของรัฐเซีย
.
Credit : https://www.saatchigallery.com/art/art-riot.php

รวมเรื่องราวดี ๆ และคดีดราม่า 'กันต์ กันตถาวร'

เป็นข่าวดราม่ากันมาทั้งอาทิตย์ กรณีที่ กันต์ กันตถาวร พิธีกรรายการ 10 Fight 10 ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้คำพูดไม่เหมาะสม ทั้งกับ แน็ก-ชาลี ไตรรัตน์ และ อาเธอร์ หลานชาย ภายหลังศึกปะทะหมัดของ ‘แน็ก & เจมส์ กิจเกษม’ จบลงแล้ว 

.

แต่ที่ดูจะเป็นประเด็นร้อนแรงมากขึ้นไปอีก เห็นจะเป็นกรณีที่ กันต์เมินเฉย และไม่พูดคุยกับ ‘โฟกัส จีระกุล’ แฟนสาวของเจมส์ที่ขึ้นไปแสดงความยินดีบนเวที งานนี้จึงถูกเชื่อมโยงไปยังเรื่องการเมือง ด้วยสาเหตุที่โฟกัสเพิ่งประกาศจุดยืนทางการเมือง และไปปรากฎตัวในม็อบมาก่อนหน้านี้ 

.

ดูเหมือนดราม่าครั้งนี้จะเป็นไฟลามทุ่ง เพราะมีการติดแฮชแท็ก แบนกันต์ รวมถึงให้เลิกติดตามไอจีของพิธีกรคนดัง และเลยเถิดไปยังการแบนช่องเวิร์คพอยท์อีกด้วย แต่เอาเข้าจริง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยเกิดกรณีดราม่าของหนุ่มกันต์ The States Time Lite จึงไปรวบรวมข่าวเดือดและข่าวดี กรณีที่เคยเกิดขึ้นกับพิธีกรคนนี้มาบอกกัน...

 

16 พฤศจิกายน…วันแห่งการยอมรับความต่าง

ไม่ใช่แค่เป็นวันออกผลสลากกินแบ่งรัฐบาลอย่างเดียวนะ แต่วันนี้ยังมีความสำคัญอีกอย่าง เรียกว่าเป็นวัน ‘วันสากลแห่งการยอมรับความต่าง’ หรือ International Day for Tolerance ถูกกำหนดขึ้นมาจากองค์การสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.2538 จุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเปิดใจยอมรับในความแตกต่าง และความคิดเห็นของผู้อื่น

การกำหนดวันสำคัญนี้ ยังเกิดขึ้นในวันครบรอบ 50 ปีของการถือกำเนิดขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย ซึ่งอย่างที่ทราบกันดี ผู้คนบนโลกนี้ล้วนมีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือจะผิวสีแบบไหน แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการยอมรับและเปิดใจกว้าง เพื่อ ‘รับความคิดเห็น’ ของกันและกัน

เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก และโลกก็ไม่ได้เป็นของเราคนเดียว การยอมรับความแตกต่างย่อมเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่สังคมพึงมี เหลียวกลับมามองที่สังคมไทยในเวลานี้ เราเชื่อว่า การตั้งใจฟัง ‘ความเห็น’ ของกันและกัน อย่างมีเหตุมีผล จะช่วยทำให้บรรยากาศของสังคมรื่นรมย์มากขึ้น เริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้ และเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการ...เปิดใจ

.

อ้างอิง: https://www.un.org/en/observances/tolerance-day

รับมือกับคนชอบเม้นแรงยังไงดี?

"ชูใจ" เป็นคอนเท้นประจำที่พวกเราชาว The States Times Lite ตั้งขึ้นมา ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า "ทุกคนอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น" โดยเฉพาะโลกในวันนี้ ที่หมุนไปเร็วเหลือเกิน จนบางทีเราตั้งรับไม่ทัน หรือปรับเปลี่ยนตัวเองไม่ทัน จุดนี้เราจึงอยากนำปัญหาและเรื่องราวดี ๆ มาบอกเล่า อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อ "ชุบชูใจ" ให้หัวใจเบิกบาน ให้มองโลกอย่างสร้างสรรค์ และให้เราก้าวไปเป็นคนที่พร้อมจะพัฒนาตัวเองเสมอ

เริ่มต้นด้วยเรื่องใกล้ตัวทุกคน "โซเชี่ยลมีเดีย" เคยหงุดหงิดไหมกับคนที่เข้ามาคอมเม้นใต้สเตตัสของเราแบบ...แกจะแรงไปไหน?

อ่ะ เม้นครั้งแรกก็ยังรับได้ (เพื่อนมันคงอยากจะแซวละมั้ง) จนมีครั้งที่ 2 3 4 5 เดี๋ยว ๆๆๆๆ ฉันไปทำอะไรให้แกเกลียดป่ะวะ? ขนาดโพสต์สเตตัสขำที่สุด แกยังเม้นประชดเหน็บแนม บ้ารึป่าววว!!

เรื่องทำนองนี้ เคยเกิดกับตัวเองบ้างไหม? จากที่อ่านแล้วยิ้ม ๆ เพราะคิดว่าเพื่อนแซว แต่พออ่าน ๆ ไป ชักจะไม่ใช่ล่ะ อารมณ์เริ่มมา สติปัญญาเริ่มหาย ต้องแสดงความเกรี้ยวกราดด้วยการตอบ Reply กลับไป และร้อยทั้งร้อย อิเพื่อนก็จะตอบ Reply กลับมาว่า "ไม่มีไร๊ ล้อเล่นนน!"

มันมีคนแบบนี้อยู่จริง คือคนที่ประเภทชอบเห็นคนอื่นโกรธ ประมาณว่า ได้ล้อ ได้แซว แล้วเห็นรีแอ็คกลับทันที มันจะสาแก่ใจ เหมือนเพื่อนที่ชอบแกล้งเพื่อนในห้องเรียนนั่นแหละ แต่ทุกวันนี้มันมีโลกมากกว่าห้องเรียนไง มันเลยมาแกล้งเราในโซเชี่ยลด้วย

.

.

ถามว่า ทำไงดีหากเจอเหตุการณ์ทำนองนี้?

จะเลิกเล่นโซเชี่ยลไปเลย? จะเข้าไปเม้นแรงๆ ในสเตตัสมันบ้าง? หรือจะเปิดศึกนอกโซเชี่ยล นัดตบนัดต่อยกันไปเลย?

คำตอบคือ "ปล่อยวาง" ฟังดูง่าย แต่รู้ว่าโคตะระยาก แต่ก็ต้องลองทำ!

สมมติว่า ต้นเหตุมาจากการที่เพื่อนอยากแกล้งเรา อยากเห็นเราเสียจริตทางโลกโซเชี่ยล แต่หากเราไม่ได้ทำแบบนั้นสมดั่งใจเพื่อน โจทย์ของเพื่อนก็จะถูกทำลายทันที เข้าตำรา ปรบมือข้างเดียวไม่มีทางดัง หรือสมมติต่อไปอีกว่า อิเพื่อนมันเกลียดเราจริง ๆ ตามเม้นทุกโพสต์เหมือนเจ้ากรรมนายเวร หากประเมินได้แบบนั้น ก็ตัดขาดความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนไปเถอะ คนเกลียดกันจะเป็นเพื่อนกันเพื่อ?

โอเค มันอาจจะยุ่งยากรำคาญใจสักหน่อยในช่วงแรก ๆ ที่ต้อง "ทน" กับตัวหนังสือแย่ ๆ แถมยังรู้สึกไม่ดีอีก หากคนอื่นจะต้องมาเห็นประโยคเหล่านี้ ทำบรรยากาศในเฟซบุ๊กเราพลอยด่างพร้อยไปด้วย แต่ให้คิดซะว่า "นี่เป็นการฝึกวุฒิภาวะ" ให้กับตัวเรา เชื่อเถอะ ถ้ามันเห็นเราไม่ไปต่อล้อต่อเถียงด้วยสักพัก เดี๋ยวเจ้าอารมณ์ที่เรียกว่า "ความเสร่อ" มันจะตีกลับไปที่เขาเอง เหมือนอะไรเอ่ย ไม่เข้าพวก สเตตัสนี้เขาคุยกันเรื่องดีๆ แต่แกมาแซวบ้าบอคอแตกอะไร? ทำบ่อย ๆ เข้า คิดว่าคนอื่นจะไม่เห็นเหรอ

.

โซเชี่ยลมีเดียไม่ได้แค่ให้เราได้สื่อสาร หรืออ่านข่าว หรือสนุกกับเพื่อน ๆ เท่านั้น มันยังสร้างให้เรามีวุฒิภาวะ จะด้วยทางตรง หรือทางอ้อม ก็สุดแท้ ถ้าเรามองเห็นในจุดนั้น โซเชี่ยลมีเดียจะมีประโยชน์มาก ๆ สำหรับตัวเราเอง

ของทุกอย่างจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่ที่เรา ส่วนคำพูด หรือคำวิจารณ์ของคนอื่น รับฟังได้ แต่สุดท้าย ก็ขึ้นอยู่กับเราเหมือนกัน ว่าจะเลือกเก็บเอาไว้ หรือจะเลือกโยนมันทิ้งลงถังขยะซะ!

ทรัมพ์ยังไม่เอ่ยปาก ขอยอมแพ้

เกือบจะกลายเป็นบุรุษที่โลกลืมไปแล้ว สำหรับ "โดนัลด์ ทรัมพ์" หลังจากที่มีการสรุปผลการเลือกตั้งเรียบร้อยในหลายรัฐ และ "โจ ไบเดน" ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคณะผู้เลือกตั้งไปแล้ว แม้จะยังเหลืออีกไม่กี่รัฐเท่านั้นที่คะแนนยังมีปัญหา แต่แทบไม่มีผลกับการเลือกตั้งแล้วในตอนนี้

แม้ว่าทรัมพ์จะกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้ง และขอต่อสู้ในชั้นศาล แต่ศาลในบางรัฐก็ยกคำร้อง ไม่รับพิจารณาคดี อีกทั้งโจ ไบเดน ก็เดินหน้าประกาศตัวเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่อย่างเต็มตัว ด้วยการเริ่มวางตัวคณะรัฐมนตรีของตัวเองในสมัยหน้าแล้ว

ซึ่งต่างจากทรัมพ์ ที่ยังคงเก็บตัวเงียบ แทบไม่ได้ออกสื่อ มีเพียงการเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ส่วนตัว และมาพร้อมกับข่าวลือความขัดแย้งภายใน ทั้งในครอบครัว และ ในพรรครีพับลิกัน ว่าจะให้ทรัมพ์ลาตำแหน่งอย่างสง่างาม หรือ จะยังคงยื้อเวลา เดินหน้าต่อสู้ในชั้นศาล

และล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาตามเวลาสหรัฐ ทรัมพ์ก็ได้ปรากฏตัวออกสื่ออย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากห่างหายมาเนิ่นนาน ที่งานแถลงข่าวหน้าทำเนียบขาว ด้วยการประกาศความสำเร็จของวัคซีน Covid-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทยา Pfizer ที่ได้ผลดีเกินคาดถึง 90% ในกลุ่มทดลอง 43,500 คนใน 6 ประเทศ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา

โดยทรัมพ์ได้เคลมความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนของ Pfizer ว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Operation Warp Speed ของเขา ที่ได้อนุมัติอัดเม็ดเงินมากกว่า 1 พันล้านเหรียญให้กับบริษัทยาชั้นนำที่ได้รับคัดเลือก ในการพัฒนาวัคซีน Covid-19 ให้ออกมาให้เร็วที่สุด

ทรัมพ์อ้างว่า ด้วยโครงการ Operation Warp Speed ทำให้โลกได้วัคซีนตัวใหม่นี้เร็วกว่าการพัฒนาแบบธรรมดาถึง 5 เท่า นับว่าเร็วที่สุดในโลก และเขาจะผลักดันให้ชาวอเมริกันได้รับวัคซีน Covid-19 ตัวใหม่นี้ ให้เร็วที่สุด อย่างน้อยภายในสิ้นปีนี้

ซึ่งการที่ทรัมพ์ออกมาเคลมความสำเร็จของวัคซีน จาก Pfizer ก็เพราะเป็นหนึ่งในเรื่องที่ทรัมพ์พยายามผลักดันอย่างหนัก ที่จะให้ชาวอเมริกันต้องได้รับข่าวดีเรื่องวัคซีนก่อนการเลือกตั้ง เพื่อเป็นผลดีกับคะแนนเสียงของเขา

เพียงแต่โชคไม่เข้าข้าง ข่าวดีที่ทรัมพ์รอคอยนั้นมาช้าไม่ทันการณ์ และที่ตลกร้ายกว่านั้นคือ Pfizer ไม่ได้อยู่ในโครงการ Operation Warp Speed

บริษัทยาที่ได้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Operation Warp Speed ที่ประกาศอย่างเป็นทางการมีรายชื่อดังนี้

.

- Johnson & Johnson

- AstraZeneca–University of Oxford

- Moderna

- Merck ร่วมกับ IAVI

- Novavax

- Sanofi ร่วมกับ GlaxoSmithKline

.

และบริษัทยาที่ได้ทุนวิจัยบางส่วนอีก 2 แห่งคือ Vaxart และ Invio แต่ไม่มี Pfizer

แคทเธอรีน แจนเซน รองประธานบริษัท Pfizer ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อของสหรัฐเองว่า Pfizer ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Warp Speed เราไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐ

นอกจากนี้ ด็อกเตอร์ แอนโธนี ฟาวซี หัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์ Covid-19 ของสหรัฐ ก็เคยออกมาบอกว่า ถึงจะเร่งผลิตวัคซีนแค่ไหนก็ตาม ชาวอเมริกันน่าจะได้รับวัคซีนอย่างเร็วที่สุดก็เดือนมีนาคมปีหน้า

ถึงเวลานั้น สหรัฐคงยืนยันประธานาธิบดีคนที่ 46 อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งจะยังคงเป็นทรัมพ์หรือเปล่า ตอนนี้ทรัมพ์เองก็ชักจะไม่แน่ใจ ได้แต่บอกว่า "เดี๋ยวถึงเวลาก็รู้เองแหล่ะ"

ถึงจะไม่พูดออกมาตรง ๆ แต่ถือเป็นครั้งแรกที่ทรัมพ์มีท่าทีอ่อนลง และเริ่มส่งสัญญาณว่าคงยอมรับความพ่ายแพ้ แต่จะให้ประกาศโต้ง ๆ ว่า "ผมแพ้" คงไม่ใช่สไตล์ของแก จึงได้แต่พูดอ้อมๆว่า

.

"Hopefully the – whatever happens in the future, who knows which administration will be. I guess time will tell. But I can tell you this administration will not go to a lockdown.”

(ผมหวังว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ใครจะได้เป็นรัฐบาลชุดใหม่ ถึงเวลาก็รู้เองแหล่ะครับ แต่ผมยืนยันกับพวกคุณได้อย่างหนึ่งก็คือ รัฐบาลของผมจะไม่ยอมให้มีการ Lockdown เมืองเป็นอันขาด)

แต่ว่าล่าสุด รัฐโอเรกอน และ นิว เม็กซิโก ได้ประกาศมาตรการ Lockdown บางเขตที่มีปัญหาการระบาด Covid-19 อย่างหนักไปแล้วในวันนี้

ก็สงสัยว่ารัฐบาลชุดต่อไป ไม่น่าจะเป็นทรัมพ์แล้วหล่ะมั้ง

.

ข้อมูลอ้างอิง

The Guardian

https://www.theguardian.com/us-news/2020/nov/13/trump-biden-white-house-defeat-election

The Hill

https://thehill.com/homenews/administration/525927-trump-breaks-public-silence-but-doesnt-talk-election

New York Times

https://www.nytimes.com/2020/11/10/health/was-the-pfizer-vaccine-part-of-the-governments-operation-warp-speed.html

AP News

https://apnews.com/article/virus-surge-officials-resist-restriction-f7995f3df600b3115fe7058db4b84435

Wikipedia

https://en.wikipedia.org/wiki/Operation_Warp_Speed

กระตุ้นเศรษฐกิจแบบอินเดีย

คอลัมน์ "หลังม่านส่าหรี"

วัฒนธรรมการจิบชายามบ่ายของผู้ดีอังกฤษ ถ่ายทอดมาให้ชาวอินเดียในยุคล่าอาณานิคมที่อังกฤษเข้ายึดครองดินแดนเอเชียใต้ พร้อมเอาชามาปลูก แล้วถ่ายทอดการจิบชาสู่คนพื้นเมือง

ชาหอม ๆ ใส ๆ จิบกันเช้าสายบ่ายเย็น และก่อนนอนกันทีเดียว แต่เรื่องเล่าชาวอินเดียบอกว่าการจิบชาของชาวอินเดียมีมาก่อนเจ้าอาณานิคมอังกฤษเข้ามายึดครอง แต่ไม่มีชื่อเสียง และได้รับการส่งเสริมการปลูกชาอย่างจริงจัง จนมีชื่อเสียง เช่น ชาอัสสัม ชาสิกขิม ชาอู่หลง และอื่น ๆ ในเวลาต่อมา จนสร้างเศรษฐกิจให้อินเดียจากการขายชาส่งออก

.

ชาอินเดียจริง ๆ ที่มีชื่อเสียงมากคือ "ชามาซาร่า" ที่วางขายข้างทางริมถนนทั่วไปราคาแก้วละ 10 รูปี หรือ 5 บาทไทย รสชาติหวานหอมผสมเครื่องเทศ กลิ่นเตะจมูก จะออกแนวรักสุขภาพ

ร้านชาที่มีชื่อเสียงมาในอินเดียและสาขาค่อนข้างเยอะคือ"ร้าน Chaayos" เป็นร้านชาในดวงใจเลยทีเดียว มีเมนูให้เลือกมากมาย รวมทั้งเมนูของว่างด้วย

.

จุดที่น่าสนใจคือเศรษฐกิจจาก "ถ้วยชาดินเผา" นี่แหละ

เนื่องจากคนอินเดีย มีคนจนมากมาย การสร้างงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าเลยต้องมีคนขายชาเลยนิยามว่า "ชาถ้วยเก่ารสชาติจะไม่อร่อยเท่ากับชาถ้วยใหม่ กินแล้วอย่าใช้ซ้ำให้ทิ้งไปเลย" และคนขายจะให้ถ้วยดินเผาแก่ลูกค้าโดยไม่ขี้เหนียวเลย

"นี่น่าจะเป็นวิธิกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าที่แหลมคมมาก"

.

“จิญา”

พยาบาลสาวไทยจากนครปฐม ผู้พบรักกับหนุ่มฮินดูชาวอินเดีย ตอนนี้มีพยานรักตัวน้อย 1คนใช้ชีวิตในดินแดนฮินดู เมืองคุรุคาม (Gurugram) รัฐหรยาณา ทางใต้นครหลวงเมืองนิวเดลี ราว ๆ 30 กิโลเมตร สรรหาเรื่องเล่า ที่พบเจอระหว่างอยู่ที่นั่นมาเล่าให้ฟัง เรื่องแปลก คนแปลก และวิถีชีวิตที่คนไทย ไม่คุ้นเคย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top