Thursday, 24 April 2025
POLITICS NEWS

เชื่อหมอ ! “อธิบดี คร.”  ชี้ วัคซีนแอสตร้าฯ แบ่งฉีดขวดละ 12 โดสได้

จากกรณีที่ฝ่ายการเมืองตั้งคำถามในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายแบ่งฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา ต่อขวดให้ได้ 12 โดส ว่าอาจจะทำให้ประชาชนได้วัคซีนไม่เพียงพอ ล่าสุด 20 พฤษภาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในประเด็นดังกล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ใช่ประเด็นอะไร เนื่องจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามกลไกผลิตของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนฯ ใน 1 ขวด จะบรรจุวัคซีนในขวดเผื่อไว้ประมาณ 20-30% โดยวัคซีนแอสตร้าฯ 1 ขวด บรรจุวัคซีนมา 6.5 ซีซีแต่เวลาฉีด 1 โดส จะใช้ปริมาณ 0.5 ซีซี ดังนั้น การฉีด 10 เข็มจึงใช้วัคซีนที่ 5 ซี ยังเหลือที่ขวดอีก 1.5 ซีซี  ดังนั้น การฉีด 11-12 โดสต่อขวด จึงสามารถทำได้

วิธีการฉีดจะใช้เข็มพิเศษ เรียกว่า Low Dead Space Syringes ทำให้การสูญเสียวัคซีนในปลายหลอดลดลง โดยได้อบรมพยาบาลดึงวัคซีนเป็นอย่างดี ด้วยเทคนิคการดึงยาที่มีความแม่นยำ ซึ่งที่ผ่านมาเขาสามารถดึงยาได้ 11-12 โดสต่อขวด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ  

"องค์การอนามัยโลก ก็เห็นว่า สามารถทำได้และเกิดประโยชน์ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนให้ได้เพิ่มเป็น 11-12 โดส จะทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น" นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนประชากรที่มากขึ้น จะทำให้เราสร้างภูมิคุ้มกันระดับหมู่ได้เร็วขึ้น ตนมั่นใจว่าวัคซีนที่เพิ่มมา 20% ในแต่ละขวด จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก และขอให้ประชาชนมั่นใจในความสามารถของบุคลากรแพทย์พยาบาลผู้ฉีดวัคซีน ทุกคนผ่านการอบรมและฝึกซ้อมดึงยา มาเป็นอย่างดี

วัคซีนหยดเดียว!!

เรียกได้ว่าเดือดระอุกันเลยทีเดียว เมื่อคนของ 2 พรรคการเมือง ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับ พรรคภูมิใจไทย ที่ออกมาซัดกันเอง ชนิดหมัดต่อหมัด ซึ่งสาเหตุก็มาจาก กรณีนายกรัฐมนตรี เบรค ‘วอล์กอินฉีดวัคซีน’ เปรียบเหมือนการทะเลาะกันด้วย ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ เพียงแต่ครั้งนี้ ต้นเหตุมาจาก ‘วัคซีน’ เท่านั้นเอง


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

“บิ๊กตู่” สั่งคุมเข้มชายแดน ต้องให้มั่นใจ ไม่มีโควิดสายพันธุ์ใหม่ข้ามมาพร้อมผู้ลักลอบข้ามแดน ย้ำฟันเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งการฝ่ายความมั่นคง ทหารและตำรวจ ในที่ประชุมสภากลาโหม ให้สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดคุมเข้มเฝ้าระวังและสกัดกั้นชายแดน ป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ยาเสพติดและการค้ามนุษย์ที่อาจเข้ามาพร้อมโควิดสายพันธุ์ใหม่ โดยให้มีมาตรการคัดกรองโรคเข้มข้นต่อเนื่องควบคู่กันไป ทั้งนี้ให้ประสานสืบจับกุมทำลายเครือข่ายและดำเนินการทางกฎหมายกับนายทุน ผู้ลักลอบและนำพาอย่างจริงจัง  ทั้งนี้ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับเข้าไปเกี่ยวข้อง จะดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาอย่างเด็ดขาด ไม่มีการละเว้น

พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า ภาพรวม การปฏิบัติของหน่วยงานความมั่นคง ทหารและตำรวจ ที่ผ่านมา ได้เพิ่มกำลังสกัดกั้นและความถี่การลาดตระเวนมากขึ้น ร่วมกับการวางเครื่องกีดขวาง จัดตั้งจุดตรวจและกวาดล้างจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดนและพื้นที่ชั้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ ธ.ค.63 จนถึงปัจจุบัน มีการจับกุมทั้งสิ้น 2,122 ครั้ง สามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ จำนวน 18,039 คน เป็นผู้นำพา  243 คน (ชาวเมียนมา 8,010 คน ลาว 1,345 คน กัมพูชา 5,977คน มาเลเซีย 37 คน ชาวไทย 1,851 คน และสัญชาติอื่น ๆ 576 คน )  

โดยเป็นการจับกุมในพื้นที่ชายแดนได้กว่า 15,000 คน และพื้นที่ตอนในเกือบ 3,900 คน ซึ่งจากสถิติผลการจับกุมรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านและความต้องการแรงงานจากภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการสู้รบในเมียนมา มีผลให้การจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองได้มากขึ้น ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามฝ่ายความมั่นคง ยังคงให้ความสำคัญและปฏิบัติงานร่วมกันโดยไม่ประมาท โดยเฉพาะการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในพื้นที่ชายแดนด้านมาเลเซียและเมียนมา ที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการข้ามมาของโควิด-19 สายพันธ์ที่ยังไม่พบการแพร่ระบาดในไทยพร้อมกับผู้ลักลอบเข้าเมือง

รมว.สุชาติ ประสานทูต กรุงเทลอาวีฟ ส่ง 2 ศพแรงงานกลับมาตุภูมิ ถึงไทย 26 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือการนำศพแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในอิสราเอลกลับประเทศไทยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความเสียใจกรณีแรงงานไทยเสียชีวิตและห่วงใยแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บ จึงได้สั่งการให้ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ และในวันนี้ผมได้โทรศัพท์ประสานพูดคุยกับ น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ 

ซึ่งจากการประสานทราบว่า ศพของแรงงานไทยจำนวน 2 ราย คือ นายวีรวัฒน์ การันบริรักษ์ อายุ 44 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และ นายสิขรินทร์ สงำรัมย์ อายุ 24 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ จะมาถึงประเทศไทย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ โดยบริษัทที่แรงงานไทยทำงานอยู่จะรับผิดชอบในการจัดส่งศพไปจนถึงบ้านของแรงงาน ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 8 ราย ขณะนี้ยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 ราย คือ นายอัตรชัย ธรรมแก้ว อายุ 28 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนที่เหลืออีก 7 รายได้กลับไปที่พักคนงานทั้งหมดแล้ว

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า มีแรงงานไทย อีก จำนวน 5 คนที่แจ้งความประสงค์กับสถานเอกอัครราชทูต โดยจะเดินทางกลับในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ยังได้สั่งการให้ฝ่ายกงสุล ประสานให้ทางการอิสราเอลดูแลคนงานไทยเป็นอย่างดี ซึ่งในเบื้องต้นเมื่อวานนี้ (19 พ.ค.64) ได้ให้จิตแพทย์เข้าไปพูดคุยกับคนงานในพื้นที่ที่มีการระเบิด 

ทั้งนี้ นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ได้มาบรรยายสรุปถึงสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจกับท่านทูตฯ ในกรณีที่แรงงานไทยเสียชีวิตจำนวน 2 ราย และบาดเจ็บอีก 8 ราย จากเหตุระเบิดในครั้งนี้ ขณะเดียวกันท่านทูต ยังได้รายงานกับนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลว่า กรณีการเกิดเหตุระเบิดในครั้งนี้ ระบบไซเรนไม่มีเสียงดังขึ้น และที่หลบภัยยังมีน้อยเกินไป ซึ่งขอให้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลรับจะไปดำเนินการ

ขณะที่แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลอยู่แล้วในขณะนี้ และยังไม่ประสงค์จะแจ้งการเดินทางกลับประเทศไทย หากแรงงานไทยรายได้ประสงค์จะขอให้ย้ายออกจากพื้นที่อันตราย ท่านทูตก็ยินดีที่จะดำเนินการให้ตามที่ร้องขอต่อไป

นายกฯ ประชุมสภากลาโหม สั่งเข้มตามชายแดนสกัดโควิด-19 กระจายวัคซีนกำลังพลด่านหน้าทั่วถึงแล้ว ให้หน่วยขึ้นตรงเร่งสร้างความเชื่อมั่นฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภากลาโหมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ไปยังหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม 

โดยภายหลังการประชุมพ.อ.วีรยุทธ์ น้อมศิริ ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์มอบนโยบายหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงทุกเหล่าทัพสนับสนุนกำลังพลสายแพทย์ช่วยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ที่ตั้งขึ้นมาภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ด้านความมั่นคง และศูนย์ปฎิบัติการบริหารสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐของกระทรวงกลาโหม และศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึงสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ตกค้างและติดตามข่าวสารที่มีการบิดเบือน ทั้งนี้ขอให้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานอย่างระมัดระวัง เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุขกำหนด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว และให้ทุกหน่วยสร้างการรับรู้ในการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในเรื่องการฉีดวัคซีน รวมถึงกำลังพล และครอบครัวด้วย ขณะที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้กำลังพล ตอนนี้กระจายไปยังทั่วถึงแล้ว

พ.อ.วีรยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการป้องกันลักลอบหนีเข้าเมือง และการลักลอบขนสินค้าตามแนวชายแดน ให้หน่วยขึ้นตรงกลาโหม เฝ้าระวังตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด โดยให้กองกำลังป้องกันแนวชายแดนประสาน การปฎิบัติกับหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการสกัดกั้นการทำผิดกฎหมาย หากตรวจพบว่ามีข้าราชการมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องจะลงโทษทางวินัยและอาญาโดยไม่มีการละเว้น ส่วนการรับทหารเกณฑ์ผลัดที่ 1 ปี 2564 และการฝึกทหารใหม่ให้หน่วยขึ้นตรงกลาโหม และเหล่าทัพเตรียมการสำหรับการรับทหารใหม่ ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย คำนึงถึงมาตรการสาธารณสุข และปฎิบัติตามระเบียบ ตามหลักสูตรทหารใหม่อย่างเคร่งครัด ระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการฝึก ส่วนการลงโทษทหารที่ทำผิดวินัยให้เป็นไปตามระเบียบทหารเท่านั้น

‘หมอวรงค์’ ได้ที ขี่กระแส ‘ดราม่าพิมรี่พาย’ ขย่มซ้ำ ‘พี่โทนี่’ ชี้หมดเวลานายทักษิณแล้วจริง ๆ เชื่อหลังจากนี้คงหายจากหน้าจออีกนาน หลังโดนเด็กสวนกลับหน้าหงาย

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก ‘Warong Dechgitvigrom’ แสดงความเห็นกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพูดในคลับเฮาส์ ช่วงหนึ่งระบุว่า แนะนำให้รัฐบาลเร่งทำโรงพยาบาลสนาม โดยหากไม่รู้ว่าจะทำให้ดี ถูก คุ้มค่าอย่างไร ก็ให้ดูจากที่พิมรี่พาย ลงไปทำ ต่อมาถูกพิมรี่พาย วิจารณ์กลับ เรียกร้องนายทักษิณ อย่าพูดถึงตนอีก เพราะถูกอำนาจมืดเล่นงาน ถูกไม่ได้รับความร่วมมือแล้วหลายครั้ง เวลาที่นายทักษิณกล่าวถึง นพ.วรงค์ ระบุว่า

#หมดเวลาของนายทักษิณจริงๆ

การที่นายทักษิณออกมาแขวะรัฐบาล โดยอาศัยชื่อเสียงขอพิมรี่พาย ยูทูปเบอร์ชื่อดัง แต่ท้ายที่สุด ก็โดนสวนกลับอย่างแรง อย่างตรงไปตรงมา ชนิดที่ต้องหายจากหน้าจอไปอีกนาน

นายทักษิณต้องรู้ตัวได้แล้วว่า ช่วงโควิดนี้ สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะดารา เซเล็ป เขากล้า เขาไม่กลัว ใช้ข้อมูล ใช้ความจริง บนเหตุและผล คนที่รวยจากการผูกขาดสัมปทานรัฐ คงไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้

ผมดูแล้ว ไม่รู้ว่า นายทักษิณจะรู้ตัวไหมว่า หมดเวลาของนายทักษิณแล้วครับ "แม้ช่วงหนึ่งจะเป็นดวงอาทิตย์ แต่อาทิตย์ดวงนี้ ก็กำลังจะลับขอบฟ้าแล้ว"

 

ที่มา : https://www.facebook.com/therealwarong


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

กอ.รมน. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐรณรงค์ให้ประชาชนเข้าร่วมการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อประเทศตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

พล.ต. ธนาธิป  สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประเทศไทยในขณะนี้ และโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก และพบผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น วัคซีนจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดและหยุดยั้งการแพร่กระจายเชื้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

กอ.รมน. โดย พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ศรมน.) จัดประชุมติดตามสถานการณ์การให้บริการวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาร่วมในการฉีดวัคซีนมากที่สุด โดยใช้ช่องทาง กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด บูรณาการร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขร่วมรณรงค์แนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระบาด รวมทั้งประชาสัมพันธ์เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการให้บริการวัคซีน อีกทั้งการเตรียมความพร้อมจุดให้บริการวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาลผ่านช่องทางการลงทะเบียนและการรับบริการฉีดวัคซีนตามนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากรในประเทศ และให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนที่รัฐบาล ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 เป็นต้นไป

สำหรับช่องทางการลงทะเบียนและการเข้ารับวัคซีน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 จองผ่าน "หมอพร้อม" (Line OA และ Application) กลุ่มที่ 2 เป็นวิธีเสริมจากระบบหมอพร้อม ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุด ในกรณีที่มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ โดยให้ลงทะเบียนผ่านสถานพยาบาล หรือ อสม. หรือผ่านองค์กร หรือ การลงทะเบียน ณ จุดฉีด (On Site Registration) กลุ่มที่ 3 การจัดสรรวัคซีนกลุ่มเฉพาะ ได้แก่ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ กลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน

สำหรับการจองผ่าน “หมอพร้อม” ขณะนี้ยังเปิดให้จองได้เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม โรคเรื้อรัง คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดระหว่างการรักษา โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ส่วนประชาชนทั่วไปให้เริ่มจองได้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 64 การปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ซึ่งมีความจำเป็นที่ประชาชนต้องให้ความสำคัญกับการเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อหยุดเชื้อ เพื่อชาติ โดยวัคซีนจะทำให้การแพร่กระจายเชื้อ อาการป่วยหนัก และการสูญเสียชีวิตลดลง

อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. และรัฐบาลกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมาตรการส่วนบุคคล (D-M-H-T-T-A) ได้แก่ การเว้นระยะห่าง, สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อย ๆ, ตรวจวัดอุณหภูมิ, สังเกตอาการ และ สแกนหมอชนะ เน้นย้ำการสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่มีการอยู่ร่วมกัน ลดกิจกรรมการชุมนุมสังสรรค์ ทุกประเภท และขอความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนให้ใช้มาตรการการทำงานที่บ้าน (Work from home) ต่อไป จนกว่าการแพร่ระบาดจะลดลง รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการบริหารของทางรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ เพื่อรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

คณะที่ปรึกษาสธ.ศบค. แนะ กทม.กรุงเทพฯ เร่ง ตีวงต่างด้าวผิดกม. จัดสถานที่อยู่-ขยายขึ้นทะเบียน หวั่น มีพฤติกรรมเสี่ยงทำคุมระบาดยาก ด้านกทม.ขอกำลังเสริม ทีมสอบสวนโรค-ฉีดวัคซีน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า วันนี้คณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นพ.อุดม คชินทร นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ได้ประชุมหารือถึงการออกมาตรการเฉพาะในบางเรื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อในกรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อ 1,001 ราย พบจากการเฝ้าระวังในโรงพยาบาล คนไทย 541 รายต่างด้าว 167 ราย จากการค้นหาเชิงรุก คนไทย 132 ราย ต่างด้าว 161 ราย 

โดยที่ประชุมโฟกัสจุดระบาด ที่ดอนเมือง แคมป์ก่อสร้างหลักสี่แฟลตดินแดง ตลาดห้วยขวางที่พักคนงานก่อสร้างคลองเตยตลาดพลอยบางรัก จะอยู่ในจุดเฝ้าระวังสูงสุด 36 คลัสเตอร์ กระจาย 25 เขต แบ่งเป็นกลุ่มระวังสูงสุด14 คือ ดินแดง ราชเทวี หลักสี่ ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองเตย บางรัก สาทร พระนคร ประเวศ บางกอกน้อย ห้วยขวาง บางเขน บางคอแหลม เช่น ชุมชนแคมป์ก่อสร้าง ตลาดชุมชน สถานประกอบการที่เป็นคอลเซ็นเตอร์ เฝ้าระวังสูง วัฒนา สวนหลวง จตุจักร ราชเทวี ดอนเมือง บางกะปิ และพบใหม่ที่บางพลัดแคมป์ก่อสร้าง สำหรับเขตที่ดูแลดีและควบคุมการระบาดได้มี 8 เขต คือ ทวีวัฒนา ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย สาทร สัมพันธวงศ์  ลาดพร้าว สวนหลวง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากรายงานของกรุงเทพฯ พบแคมป์ก่อสร้างทั้งหมด 409 แห่ง มีคนงานรวม 62,169 คน คนไทยกว่า 2 หมื่น เป็นคนต่างชาติกว่า 36,000 คน ซึ่งแคมป์คนงานก่อสร้างมีความสำคัญสูง ที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และทางกรุงเทพฯ ไดเมอนิเตอร์ติดตามผ่านสำนักงานเขตทุกเขต ดังนั้นผู้อำนวยการเขตทั้งหลาย ฝ่ายปกคลอง ต้องทำงานอย่างเต็มที่ในการเฝ้าระวังร่วมกับคนในพื้นที่และท้องถิ่น เฝ้าระวังและช่วยกันดูแลคนในเขต เพราะจากการตรวจเชิงรุกพบติดเชื้อวันละ300-400 คนมี คนต้องการเตียงวันละไม่ต่ำกว่า 500 คน

โดยกรมควบคุมโรควิเคราะห์ปัจจัยระบาดในกรุงเทพฯ ที่ต้องเร่งแก้ไข คือ เรื่องสุขาภิบาลของตลาด ความแออัดของการใช้ห้องน้ำร่วมกันของแคมป์คนงานเป็นต้น ดังนั้นมาตรการที่จะต้องดำเนินการในการเฝ้าระวังในกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุดและเฝ้าระวัง ในส่วนมาตรการของตลาด คือ ปรับการระบายอากาศให้เพียงพอ เหมาะสม จัดให้มีการควบคุมเข้าออกและมีมาตรการคัดกรอง หากใครมีอาการป่วย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาฯ จึงเสนอเรื่องของต่างด้าวโดยประมาณการว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีคนต่างด้าวที่ถูกกฎหมายประมาณ 1,318,641 คน ส่วนที่ไม่ถูกกฎหมายประมาณการทั้งประเทศเป็นหลักล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้มีพฤติกรรมที่อาจจะเป็นปัจจัยทำให้ยากต่อการควบคุมโรค คือ

1.) จะเป็นผู้ที่ไม่อยู่นิ่งและมีการหลบหนีเคลื่อนย้ายตัวเองบ่อยเพราะไม่ถูกกฎหมาย

2.) มีพฤติกรรมไปอยู่กับคนที่ถูกกฎหมายไปเกาะกลุ่มรวมกันทำงานและย้ายจุด

3.) และมีที่พักแออัด นอนพักอาศัย กินดื่ม รวมกัน ทางคณะที่ปรึกษาฯ จึงเสนอให้มีศูนย์คัดแยกผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าว โดยให้แยกออกมาโรงพยาบาลสนาม ยกตัวอย่างจังหวัดปทุมธานี ที่ใช้ตลาดเก่าไม่ได้ใช้ มาปูเสื่อน้ำมันให้อากาศถ่ายเท ให้คนต่างชาติมาอยู่รวมกันตรงนั้น โดยมีรั้วรอบขอบชิด ซึ่งกรุงเทพฯ จะต้องรีบทำเพราะวันนี้จำนวนที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาวันละกว่า 300 คนจะต้องแยกออกมาชุมชนให้ได้ และให้มีมาตรการนิรโทษกรรม รองรับขยายการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฏหมายเข้าสู่ระบบจ้างงานถูกต้อง

ทั้งนี้กรุงเทพฯ ขอความร่วมมือ โดยต้องการทีมสอบสวนโรคเพิ่มขึ้นตามข้อแนะนำของคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วยพยาบาลนักวิชาการสาธารณสุข ทีมละ 4 คน ลงไปสอบสวนโรคเกือบทุกเขต และทีมฉีดวัคซีน มีแพทย์พยาบาลอาสาสมัคร ทำงานทั่วไป ให้ติดต่อที่ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ได้ที่เบอร์ 064 805 2620

"ประยุทธ์" หารือเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฯ พร้อมร่วมมือเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยในนามของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอย่างยาวนานในทุกมิติ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีฝากความปรารถนาดีไปยังนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และภรรยา ซึ่งได้พบหารือร่วมกันหลายครั้ง ตลอดจนยืนยันพร้อมยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างรอบด้าน

ด้านเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฯ กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้สละเวลาให้เข้าพบหารือในวันนี้ พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีมาอย่างยาวนาน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสัมพันธ์มีพลวัตมากขึ้น ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฯ เห็นพ้องกับการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกัน โดยไทยประสงค์ที่จะมีความร่วมมือกับฝรั่งเศสด้านวัคซีน เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนเร็วขึ้น เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทั้งสองได้หารือในประเด็นความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันในหลายด้าน โดยในด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศสที่ดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยมาโดยตลอด โดยขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนฝรั่งเศสในไทยเป็นอย่างดีเช่นกัน และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-19 ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันเช่นที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยินดีให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน 

สำหรับประเด็นความร่วมมือพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือโดยยึดถือตามหลักสากลของโลก โดยไทยพร้อมยกระดับทางการค้า ผ่านการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (Thailand-EU FTA) ที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ไทยยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับไทยและยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และพร้อมผลักดันให้ฝรั่งเศสมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในอาเซียน

“บิ๊กตู่” ให้สัมภาษณ์สื่อญี่ปุ่น มั่นใจมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และแผนกระจายวัคซีน “ยัน” เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้ารองรับการลงทุนจากต่างชาติ “โว” มีสัญญาณบวกในบางสาขา ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และการอุปโภคบริโภค

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิคเค ระหว่างการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ถึงประเด็นการบริหารสถานการณ์ภายในประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ว่า ขณะนี้ไทยยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง บุคลากรทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ การดูแลประชาชนได้ทั่วถึง รวมทั้งการมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้วย ซึ่งรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และได้ดำเนินการทั้งเชิงป้องกันและการรักษาผู้ติดเชื้อ รวมทั้งดำเนินการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากร อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติในไทยด้วย และเมื่อเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ในเดือนมิถุนายนได้ตามแผน เชื่อว่าสถานการณ์จะยิ่งดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังคงมีสัญญานบวกในบางสาขา อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และ SMEs ได้แก่

1.) มาตรการเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และคงการไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ

2.) มาตรการทางการเงินและทางภาษี  

3.) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งจากมาตรการเศรษฐกิจและแผนการด้านวัคซีนของรัฐบาลตามเป้าหมาย เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ร้อยละ 2.3-2.5 ส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 การท่องเที่ยวฟื้นตัว เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7 ในปีหน้าทั้งนี้ ไทยยินดีที่รัฐบาลและและเอกชนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสให้ไทยและญี่ปุ่นร่วมมือเพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ไทยคำนึงถึงข้อแนะนำของเอกชนญี่ปุ่นและพร้อมร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม การเสริมสร้างอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งสามารถร่วมมือกันในลักษณะ win-win

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านแผนและมาตรการเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งไทยได้เปรียบเรื่องที่ตั้งที่เป็น “Connecting point” ของภูมิภาค จึงมีศักยภาพสำหรับการขับเคลื่อนการลงทุน โดยได้ผลักดันเขตพัฒนเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและของภูมิภาค โดยมุ่งเน้นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหาโลกร้อนว่า  รัฐบาลไทยพร้อมดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งค่าเป้าหมายขั้นต่ำในการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ร้อยละ 20 และขั้นสูงไว้ที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติภายในปี ค.ศ.2030 โดยไทยยึดมั่นที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหานี้ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส รวมทั้งได้บูรณาการประเด็นดังกล่าวในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top