Saturday, 20 April 2024
INSPIRE

ผีเสื้อโบยบิน ‘กรณีศึกษา’ แก่นแท้แห่งบุญอันยิ่งใหญ่ 1มอบโอกาสชีวิตใหม่ ผ่านการศึกษา

ว่ากันว่า บุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่เงินทอง หรือ สิ่งของที่มากคุณค่า หากแต่เป็น ‘องค์ความรู้ - การศึกษา’ ที่ส่งต่อให้กับใครสักคน ได้นำไปต่อยอดชีวิตในอนาคตได้ด้วยตนเอง

จากเฟซบุ๊ก Win Phromphaet ได้โพสต์เรื่องราวน่าประทับใจจากการเป็นผู้ให้แก่บุคคลท่านหนึ่ง (ไม่เอ่ยนาม) ที่เขาได้ให้การช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา โดยในจดหมายดังกล่าวระบุความจากผู้รับความช่วยเหลือว่า...

รายงานผลการเรียนภาคเรียนที่ 1/2565

เรียน คุณวิน พรหมแพทย์

ตามที่กระผม ได้รับทุนการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 จากท่าน กระผมขออนุญาตรายงานผลการศึกษาให้ท่านทราบว่า ขณะนี้กระผมได้จบการศึกษาแล้วภายในระยะเวลา 3.5 ปี ซึ่งในภาคการศึกษา (ภาค 1/2565) กระผมได้เกรดเฉลี่ย 3.30 ส่งผลให้เกรดเฉลี่ยสะสมเท่ากับ 3.12 ดังปรากฏในใบรับรองผลการศึกษาแนบ ทั้งนี้กระผมได้แนบบัญชีรายรับรายจ่ายมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ด้วย

นอกจากการเรียนแล้ว กระผมใช้วลาว่างกับการค้นคว้าหาข้อมูลในด้านที่สนใจ เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การฝึกใช้ภาษาอังกฤษ และการค้นหาอาชีพในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังเข้าร่วมกิจกรรมของคณะ เช่น การเข้าร่วมฟังอบรมการสืบต้นฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อการวิจัย การเข้าร่วมฟังกิจกรรมแนะแนวอาชีพ และกิจกรรมจิตอาสานอกรั้วมหาวิทยาลัย เช่น กิจกรรมปลูกป้าชายเลน เป็นต้น หลังจากจบการศึกษา กระผมมีความตั้งใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้สามารถทำงานที่ตนเองสนใจและตรงกับสาขาที่เรียนมาในระดับที่สูงขึ้น และต้องเป็นงานที่ใช้ความรู้ที่เรียนมาพัฒนาประเทศต่อไป

กระผมขอขอบพระคุณในความอนุเคราะห์ของท่าน กระผมจะตั้งใจศึกษาล่าเรียนและปฏิบัติตนให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตให้อย่างดีที่สุด เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณผู้ให้ทุนการศึกษากับกระผม เพราะครอบครัวของกระผม ซึ่งเป็นแหล่งสนับสนุนด้านการเรียนมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูง และรายได้ที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้บิดาผู้ซึ่งหารายได้เพียงคนเดียวสนับสนุนด้านการเรียนของกระผมไม่ได้เต็มที่ อีกทั้งยังมีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน ส่งผลต่ออาการเหนื่อยง่าย สายตาแย่ลง และพักผ่อนน้อย

11 ต.ค.2564 'ไทย' การประกาศชัยชนะเหนือโควิด พร้อมรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว

ถ้าปักหมุดที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563 คือจุดเริ่มต้นเผชิญหน้ากับโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564 จึงอาจถือเป็นเส้นชัยสำคัญต่อการประกาศชัยชนะต่อเชื้อโรคระบาดที่ปกคลุมทั่วราชอาณาจักรผืนนี้ก็ได้

"...หากไม่นับช่วงศึกสงคราม นี่ถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19" คือบทขึ้นต้นของแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี - เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ณ ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

เพราะเหตุใด? ผู้นำรัฐบาลจึงเลือกทางเสี่ยงรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประตูเมือง ทั้งที่ยังมีโอกาสสูงที่พวกเขาอาจมาพร้อมเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ จนเกิดแพร่ระบาดใหญ่บนแผ่นดินไทยอีกระลอก

ด้วยข้อมูลท่องเที่ยวของ 'Global Travel' ซึ่งระบุว่าปี 2019 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.06 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งประเทศ นั่นคือวิสัชนาอันชัดเจน

จริงอยู่ที่ไทยเราเป็นประเทศผลิตและส่งออกอาหารแหล่งสำคัญของโลก ที่ถึงแม้ปิดตายประเทศ ปิดการส่งออกทุกด่านชายแดนและน่านฟ้า เราคนไทยก็ยังสามารถดำรงชีพอยู่ร่วมกันได้อีกหลายปี หรืออาจตลอดกาลนาน แต่เราก็จำเป็นต้องพึ่งพิงเม็ดเงินจากต่างแดนเข้ามาพัฒนาต่อยอดในรูปของการท่องเที่ยวมานานเนิ่นเฉกเช่นเดียวกัน

ถึงเป็นมาตการ 'กินบุญเก่า' อันมีบรรพบุรุษรุ่นก่อนสร้างสมไว้ให้จนเกิด 'อัตลักษณ์' ซึ่งต่อยอดสู่ 'ซอฟท์ พาวเวอร์' (Soft Power) ผ่านการโฆษณาขายอย่างมีกุศโลบายที่แบยบยลอีกทีหนึ่ง

ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางหมุนเวียนถึง 40 ล้านคนต่อปี จากหลากหลายสัญชาติ โดยแต่ละสัญชาติล้วนมีพฤติกรรมใช้จ่ายต่างกันไป นักท่องเที่ยวชาวจีนผู้มักมาเป็นกลุ่มใหญ่ (ทัวริ่งกรุ๊ป) พกเงินช็อปปิ้งและยอดซื้อของฝากกลับบ้านสูงกว่าชาติอื่น ๆ ขณะชาวยุโรปต้องการมาพักผ่อนหนีหนาว กลับชอบเดินทางด้วยตนเอง หรือเพียงกลุ่มเล็ก ๆ แต่กลับพักค้างอ้างแรมที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานาน พร้อมกิน ดื่ม ท่องเที่ยวยามค่ำคืนชนิดไม่อั้นความสำราญ

ส่องมาตรการช่วยเหลือยามโควิด19 ระบาด คำสัญญาว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จากบิ๊กตู่

ด้วยคำยืนยันจากปากของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ว่า "เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ซึ่งคือคำสัญญาอย่างดีที่มีต่อประชาชนชาวไทย โดยเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดผ่านนโยบายต่าง ๆ ท่ามกลางวิกฤต ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลังจริง ๆ อย่างที่ลั่นวาจา

โดยอาจสรุปย่อ ๆ ได้ดังนี้ มาตรการดูแลค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ 20,000 เยียวยาผู้ประกอบการต่าง ๆ ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการดูแลเยียวยาอาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น แรงงานนอกระบบประกันสังคม 16 ล้านคน ชดเชยรายได้เกษตรกร 10 ล้านคน เยียวยากลุ่มเปราะบาง 6.8 ล้านคน รวมถึงกลุ่มผู้ไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ อีก 1.16 ล้านคน

เฉพาะยอดรวมงบประมาณการดูแลและเยียวยา (รอบสอง) ก็ได้ใช้จ่ายเพื่อ 'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' ไปถึง 455,956 ล้านบาท ช่วยเหลือแรงงานคนไทยได้เกือบ 34 ล้านคน หรือมากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ พร้อมกับปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน สินเชื่อพิเศษ สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องฯ รวมถึงการยืดชำระ ลดหย่อน ยกเว้นภาษีแทบทุกรูปแบบ คิดเป็นรายได้ที่รัฐต้องแบกรับเกินกว่าสามพันล้านบาท

ไทยเราบอบช้ำกับการระบาดรอบสองอย่างแสนสาหัสที่สุด

กล่าวโดยย่อ คือ รัฐบาลใช้เงินจำนวนมหาศาลมากกว่า 2.8 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อดูแลความเดือดร้อนไม่ให้ตกอยู่กับประชาชนจนมากเกินไปนั่นเอง

หากพวกอยู่ไม่สุขอยากทราบว่างบประมาณเท่านี้ซื้อเรือดำน้ำได้กี่ลำ? ก็อยากให้ลองเอาตัวเลข 11,250 ล้านบาทหารดู โดยที่ไทยยังติดอยู่ใน 4 ประเทศอาเซียนที่ยัง 'ไม่มีเรือดำน้ำ' เหมือนกับฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว แต่ยังรักษาแสนยานุภาพทางทหาร เป็นลำดับสามของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต่างชาติยอมรับ ผ่าโมเดลเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงโควิด แบบอย่างความสำเร็จ ที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

'ยูเอ็น' ยก 'โมเดลความสำเร็จของประเทศไทย' เป็นแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จในการสร้างชาติ และมีการนำรายละเอียดไปเผยแพร่ต่อประชาคมโลก

ประวัติศาสตร์การส่งออกไทย ปี 65 กันสักเล็กน้อย ชาติไทยเรามีตัวเลขบวก 5.5% คิดเป็นมูลค่าก็เฉียด 10 ล้านล้านบาท

สำนักข่าว 'Bloomberg' ประกาศให้ไทยอันดับ 1 ประเทศแนวโน้มจะเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มีภาพรวมทางเศรษฐกิจดีที่สุดในปี 2564

ฝ่าวิกฤตสร้างเงินเข้าประเทศ ตั้งเป้าส่งออก 2566 บวก 1 - 2% เผยผ่านค้าชายแดนปี 65 ร่วม 1,029,837 ล้านบาท!

*** ที่ยกมาข้างต้น คือ สรุปข่าวจากสื่อชั้นนำทั่วโลกที่กล่าวถึงไทย

ถึงวันนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า ปัจจัยโดดเด่นของไทยยังคงเป็น 'เศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ' รวมถึงภาคการเงินอันเข้มแข็ง และสวัสดิการด้านสุขภาพที่ดี ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึง นั่นคือ 3 เหตุผลหลัก ซึ่งทำให้บ้านเรายังคงมีกำลังการผลิตสูงตลอดมา ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยสามารถอธิบายง่ายๆ ว่า "แม้ขณะที่ผู้คนหลบอยู่ในบ้าน ไร้ซึ่งการพบปะสังสรรค์ทั้งระดับท้องถิ่นและนานาชาติ แต่การบริโภคกลับไม่เคยลดลง" เพราะฉะนั้นการส่งออก โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม จึงเติบโตฉุดภาพรวมพลิกฟื้นยืนขึ้นอย่างสง่างาม

องค์การการค้าโลก (WTO) ทำรายงาน 'Trade Policy Review' สำหรับไทยบนฐานะสมาชิกฯ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุ "...ประเทศไทยช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2558 - 2562) มีอัตราขยายตัวเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 3.4% ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก และยังมีโครงสร้างของภาคบริการ ซึ่งรวมถึงการก่อสร้าง ในสัดส่วนถึง 61% ต่อจีดีพี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 58%

และว่า “...ฐานะทางการคลังของไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 224.3 พันล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทแข็งค่า และกดดันต่อขีดแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ แม้เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นปี จากการระบาดโควิดก็ตาม" พร้อมยังยกย่องรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “...ต้องขอบคุณรัฐบาลไทยที่เคร่งครัดต่อสุขภาพทางการคลังตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางการคลัง หรือ Fiscal Responsibility Act (FRA) ซึ่งเข้มงวดเรื่องเป้าหมายหนี้ การใช้งบประมาณ และการลงทุนต่างๆ”

หันมาดูสถานะการส่งออกเดือนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่หมวดสินค้าเกษตร นำเม็ดเงินเข้าประเทศถึง 72,992 ล้านบาท โดยภาพรวมของสินค้าขยายตัวดี ได้แก่ ไก่สด (ทั้งแช่เย็น - แช่แข็ง) สับปะรดสด ทุเรียนสด (เฉพาะทุเรียนขายได้ 8,016 ล้านบาท แม้ผลผลิตจะน้อยกว่าปี 2564 เพราะฝนตกชุก)

ฝนหลวงพระราชทาน ‘ดับไฟ-ดับฝุ่น-ดับทุกข์’ ‘คิด-ทดลอง’ ซ้ำๆ ก่อนคนไทยได้รับประโยชน์

ท่ามกลางละอองฝุ่นควันมลพิษ PM 2.5 ปกคลุมจนคล้ายกับอาเพศ 'หมอกมุงเมือง' สะสมตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2566 ไล่เรื่อยตั้งแต่ภาคเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลางตอนบน และวิกฤติสุดหยุด ณ กรุงเทพมหานคร โดยรอยต่อปลายเดือนมกราคมขึ้นกุมภาพันธ์ พบว่าภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศเกินค่ามาตรฐาน จนน่าเป็นห่วงปนวิตกต่อสุขภาพทางเดินหายใจประชาชนอย่างยิ่ง

รอคอยกันไปมาจนถึงเวลา 'นักรบฝนหลวง' ต้องออกมากอบกู้สถานการณ์

นอกเหนือจาก 'ฝนหลวง' จะช่วยป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ช่วยเติมน้ำให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้น ลดไฟป่า แถมยับยั้งการเกิดลูกเห็บได้ผลแล้ว 'ฝนหลวง' ยังช่วยสลายหมอกควัน ลดมลพิษทั้งทางน้ำและในอากาศอีกด้วย

ปริมาณฝนซึ่งตกทั่วกรุงเทพฯ และรอบเขตปริมณฑลช่วงนี้ (5 - 9 กุมภาพันธ์) มีที่มาจากการขึ้นทำฝนหลวงบริเวณอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้น้ำฝนตกใกล้พื้นที่เมืองหลวงมากที่สุด ด้วยไม่สามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงในกรุงเทพฯ ได้ เพราะติดข้อจำกัดทางการบิน

ต่อมา 'กรมฝนหลวง' จะดำเนินการ 'ฝนเร่งด่วน' ต่อเนื่องติดต่อถึงห้าวัน โดยตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขึ้นเฉพาะ เน้นพื้นที่ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออก, ภาคกลาง ซึ่งพบว่ามีมวลความกดอากาศสูงแผ่ลงมา ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์เกินกว่า 40 - 50% เอื้อต่อการก่อมวลเมฆได้ผลดี บวกกับสภาพลมช่วยพัดพาเมฆฝนมาตกบนพื้นที่เป้าหมาย

ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลผลิตเหลือใช้ทางเกษตรจำนวนมากของประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับแนวกระแสลมพัดพาเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้น คือปัจจัยหลักของปริมาณฝุ่นละอองมลพิษเพิ่มสูง มากกว่าฝุ่นมลพิษที่เกิดจากไทยเราเอง แต่ด้วยการช่วยให้ฝนตกลงมาจะช่วยซับละอองหมอกควันในอากาศจนเจือจางลง

น้ำใจจากชุมชน ความดีงามแห่งสยาม ปันทุกข์เพื่อคนยากช่วยคนอิ่มท้อง จนแม้แต่ WHO ยังชื่นชม

ส่วนหนึ่งจากงานวิจัย ‘ตู้ปันสุข: วิถีปกติใหม่ ยุคโควิด-19’ ของ ‘อุษณีย์ พรหมศรียา’ กับ ‘อัปสร อีซอ’ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระบุว่า “...การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งมาตรการปิดเมือง หรือ ล็อคดาวน์ (Lockdown) การหยุดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้มีคนจำนวนมากต้องขาดรายได้ หรือตกงาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตที่ยากลำบาก”

“...มีรูปแบบการช่วยเหลือซึ่งได้รับความนิยม คือ 'โครงการตู้ปันสุข’ ที่มุ่งช่วยเหลือคนในชุมชน ด้วยการให้คนที่มีกำลังช่วยเหลือ ร่วมแบ่งปันของต่าง ๆ นำมาใส่เอาไว้ให้กับคนที่ต้องการมาเปิดตู้กับข้าวนี้ เพื่อไปหยิบใช้ได้ฟรี โดยมุ่งหวังช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนให้ผ่านวิกฤตจากโควิด-19 ไปด้วยกัน”

จะมีสักกี่ประเทศบนโลกซึ่งผ่านเผชิญหน้ากับเชื้อมหันตภัยไวรัสเดียวกัน โดยมีสิ่งซึ่งเรียกว่า 'ตู้ปันสุข' เช่นไทยเรา สิ่งนี้คือความดีงามของน้ำใจ แม้ผู้ให้ไม่เคยรู้จักกันกับผู้รับมาก่อน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อันมีมาแต่โบราณ ถูกส่งต่อมายังยุคปัจจุบัน อย่างที่ใครหน้าไหนก็ 'ด้อยค่า' ลงมิได้ นี่คือแนวคิดแบบ "หยิบใส่ตู้อิ่มใจ หยิบออกไปอิ่มท้อง" อย่างไทยแท้ คือเอกลักษณ์ที่องค์กรระดับโลก WHO ยังต้องสรรเสริญสดุดี

หน่วยลาดตระเวนแถวหน้าสุดแห่งสมรภูมิโควิด19 ที่พกเพียง 'สเปรย์-เจล-หน้ากาก' และ 'หัวใจ'

ขณะที่ประเทศไทยเผชิญหน้ากับโควิด-19 จนมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คือส่วนสำคัญของระบบสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งร่วมรณรงค์ข้อมูลสุขภาพ รวมทั้งช่วยป้องกัน และควบคุมโรคในสถานการณ์ไม่ปกติ

หากเปรียบนายกรัฐมนตรี - ผู้นำประเทศ เป็นแม่ทัพบัญชาการรบพุ่งกับโควิด-19 บรรดาคณะแพทย์รอบโต๊ะศูนย์บริหารราชการฯ (ศบค.) เสมือน เสธ. ระดมสมองวางแผนหาหนทางสู้ หน่วยลาดตระเวนแถวหน้าสุดในสมรภูมิ ที่พกเพียงสเปรย์ และเจลแอลกอฮอล์ มีหน้ากากอนามัย และ Face Shield เป็นเกราะป้องกันตน ท่านเหล่านี้คือ อสม. ผู้ออกตรวจตรา (เคาะประตู) บ้าน ด้วยอาวุธอันจำกัดจำเขี่ย ทั้งรู้ดีแก่ใจว่าพวกตนมีสิทธิ์ติดเชื้อถึงตายตลอดเวลา โดยหากแม้นปราศจากแนวหน้านี้ ศึกคราที่ผ่านมานั้นคงจะพบเพียงความปราชัย

องค์กร อสม. เกิดจาก ‘งานสาธารณสุขมูลฐาน’ คือ ‘ชาวบ้าน’ ที่สนใจในทุกข์สุขของ ‘ชาวบ้าน’ ด้วยกัน ต่างคนต่างเคย ‘ร่วมมือ - ช่วยเหลือ’ งานสาธารณสุข เช่น จัดหาเด็กมาฉีดวัคซีน แนะนำคนไข้ให้มาพบเจ้าหน้าที่ที่สถานีอนามัยเพื่อรักษาพยาบาล จนกระทรวงสาธารณสุขได้นำเอาลักษณะงานดังกล่าว ปรับเป็นกลวิธีหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) โดยสนับสนุนงานสาธารณสุขมูลฐานครอบคลุมทั้งประเทศ และส่งเสริมชุมชนให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชุมชนเอง

เกื้อกูลกันยามยาก จากใจคนไทยทุกส่วน ส่วนทางทุกข์หลากมุมโลก ปล้นสะดมเกลื่อนเมือง

คำกล่าว “น้ำใจไม่เคยเหือดแห้งหายไปจากคนไทย” คือความจริงซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากเหตุการณ์วิกฤตโควิด 19 เห็นถึงพลังทุกคนร่วมมือจนผ่านพ้นเหตุการณ์ร้าย เพียงหวังให้คราบน้ำตา ความสูญเสีย และความสิ้นหวัง ผันเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มที่เสริมเติมพลังบวก สร้างความเข้มแข็งอย่างพร้อมต่อสู้ด้วยกัน

เพราะการมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงแรกได้ทวีเพิ่มอย่างรวดเร็วราวไฟลามทุ่ง ผลที่ตามมาคือ แทบทุกโรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอจะรับผู้ป่วย ทางออก ณ ตอนนั้นจึงเร่งสร้าง ‘โรงพยาบาลสนาม’ เป็นพื้นที่ดูแลผู้ป่วยระดับอาการสีเขียว (ผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่มาก (ไม่มีอาการโรคอื่นร่วม) เพื่อพักรักษาตัวแยกออกจากบ้าน เพื่อรับยารักษาอาการ ได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาล และเพื่อไม่ให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้น

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะท่วงทันเหตุ

นอกจากคณะแพทย์ - ทีมบัญชาการกองพลออกรบอันแข็งแกร่งแล้ว แต่การศึกจะไม่ประสบชัยชนะเช่นวันนี้เลย หากขาดกองกำลังหนุน 'โรงพยาบาลสนาม' ซึ่งดำเนินการโดยเอกชน หรือกลุ่มพลังคนจิตอาสาทั้งหลาย ที่ดาหน้าขับสู้กับโรคร้ายอย่างไม่กลัวภยันตราย บวกกับน้ำใจอันเหลือเฟือของชาวไทย ที่ร่วมช่วยกันคนละไม้คนละมือ โดยหากไร้ซึ่งโรงพยาบาลสนามทั้งหมดนี้ เราก็จินตนาการไม่ได้ว่าจะผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนั้นมาอย่างไร

บรรดาคนดัง อาทิ คุณได๋ - ไดอาน่า จงจินตนาการ และคุณจ๊ะ - นงผณี มหาดไทย แห่งเพจเฟซบุ๊ก ‘เราต้องรอด’ กับ ‘องค์กรทำดี’ โดยมี คุณบุ๋ม - ปนัดดา วงศ์ผู้ดี นำทีมประสานหาเตียงแก่ ‘ผู้ป่วยรอเตียง’ ที่ยืนยันติดเชื้อ จัดหาออกซิเจนสำหรับผู้ป่วย จัดหารถพยาบาลระบบแรงดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ส่งเครื่องมือให้ทีมแพทย์ และอาหารให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงการสร้างโรงพยาบาลสนาม ซึ่งช่วยรักษาชีวิตผู้คนนับเรือนหมื่น

หรือโครงการของคุณอาร์ต - พศุตม์ แย้มบาน ในนาม ‘รถพยาบาลจิตอาสา Stand by Ambulance & MSTT’ รับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ประสานหาเตียงได้แล้ว แต่ไม่มีรถส่ง ประสานทำงานคู่ขนานกับ ‘โครงการแท็กซี่ฉุกเฉิน’ (Ambulance Taxi) รับจากบ้านส่งถึงโรงพยาบาล หรือฮอสพิเทลทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร

กลุ่ม 'สายไหมต้องรอด' กลุ่ม 'เส้นด้าย' และกลุ่ม 'ไม่ได้เป็นหมอแต่เป็นห่วง' ที่นอกจากงานอาสาหาเตียง ส่งยา อาหาร ให้ผู้ติดเชื้อ (ผู้ขาดแคลน) แลัว ยังดูแลจนถึงกลุ่มไม่สะดวกทำการรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation อีกด้วย

กลุ่ม ‘พรรคพวกกัน’ กับ ‘แบ่งปันลมหายใจ’ นั้น ขอดูแลเรื่องจัดสรร แบ่งปันถังออกซิเจน เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยระหว่างรอเตียง รอนำส่งโรงพยาบาล ก็ล้วนคนรวมตัวจากหลากอาชีพ ที่ไม่ต้องการถ้อยคำสรรเสริญใด

ที่สำคัญคนเหล่านี้ไม่เคยคิด ‘ต่อยอดบุญ’ แม้สลึงเฟื้องเดียว

‘การด้อยค่า’ ที่รัฐบาลไทย ‘เห็นค่า’ ใต้แผนการที่มีระบบ จนพาไทยรอด

จากมกราคม 2563 ถึงตุลาคม 2565 นับเป็น 2 ปี 9 เดือน ที่คนไทยต้องอดทนกับทุกความยากลำบากถาโถมเข้าหา ท่ามกลางสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 กว่า 30,000 ชีวิตต้องสูญเสียอย่างไม่หวนกลับ อีกนับแสนคนไม่สามารถดำเนินชีวิตเหมือนเดิมอีกต่อไป

ติดเชื้อ 670 ล้านคน เสียชีวิต 6.82 ล้านคน คือ ภาพสรุปรวมโลกปัจจุบัน

ความสูญเสียก็คือความสูญเสียอยู่วันยังค่ำ ไม่สามารถเปรียบเทียบทางตัวเลข สถิติใดใดได้ แต่ที่ประเทศไทยรอดมา แม้บอบช้ำสาหัส นอกเหนือไปจากวิสัยทัศน์ 'ผู้นำและคณะทำงาน' การตัดสินใจเร่งนำเข้าวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสจึงคือคำตอบที่ดีที่สุดเหมาะสมอย่างยิ่ง กับสถานการณ์เบื้องหน้า - แต่เหมือนเชื้อโรคมันจะนำเราหนึ่งก้าวเสมอ

กระทั่งเมื่อโลกตั้งตัวติด วัคซีนป้องกันชีวิตจึงบังเกิด - ช่วงสายวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2564 วัคซีนล็อตแรก 'ซิโนแวค' จำนวน 200,000 โดส ขนส่งจากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางถึงประเทศไทย โดยวัคซีนล็อตนี้ คือผลจากการเจรจากับ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน (Sinovac Life Sciences Co.,Ltd., People’s Republic of China) ถึงมือรัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วน

แต่แม้ 'ด่วน' เพียงใด คนไทยก็เริ่มได้รับวัคซีนตรงจุดพีคของโลกพอดี จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 168 ล้านคน กับตัวเลขผู้เสียชีวิต 3.5 ล้านคนเศษ

รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา วางแผนฉีดวัคซีนโควิด 19 ระยะแรกเดือนมีนาคม - พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดส โดยจะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทั้ง 18 จังหวัด โดยฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปและแรงงานที่มีอายุ 18 - 59 ปี โดยมุ่งเน้นเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว อย่างที่เรารับรู้ต่อมาว่าคือ 'กลุ่ม 608' นั่นเอง

หากประเทศไทย ไร้ผู้นำที่ชื่อ ‘พลเอกประยุทธ์’ และขาดซึ่ง ‘หมอ’ หลากยุทธ์ ผู้กลบเสียงเห่า ‘หมา’

หากเปรียบในทางพุทธศาสนาที่องค์พระสมณะพุทธโคดมเคยทรงตรัสไว้ว่า "ผู้ใดอยากพ้นทุกข์ทั้งปวง ให้ปฏิบัติตาม ‘มรรค 8’ หรือ ‘หนทางสู่ความดับทุกข์ทั้งแปดประการ’ นี้เถิด" 

เฉกเช่นเดียวกันกับ ‘สถานการณ์โควิด 19’ ที่วันนี้ได้คลี่คลายลง ก็ด้วยหนทางพ้นทุกข์ภัยทั้ง 8 เช่นกัน

สำหรับวันนี้ 1 ใน 8 ที่อยากจะชวนกลับไปนึกถึง ซึ่งทำให้ไทยพ้นทุกข์จากพิษภัยโควิด หรือจะบอกว่า ‘ไทยรอดได้อย่างไรนั้น’ คือ ‘วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ’

นับแต่ข่าวแพร่ระบาดของ 'ไวรัสอู่ฮั่น' ซึ่งต่อมาคือ 'Corona Virus 2019' (โควิด-19) บนแผ่นดินสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เมืองอู่ฮั่น กระเซ็นกระสายออกมาว่า เกิดการติดเชื้อจาก 'ค้างคาว' แพร่สู่มนุษย์ จากคนสู่คน จนลุกลามขยายกลายเป็นวงกว้าง และเริ่มระบาดไปยังอีกหลายประเทศ ข่าวนี้ก็สร้างความวิตกกังวลทั่วทั้งโลก รวมถึงบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทย

จากเดิมแค่วิตกกังวล กลายเป็นความประหวั่นพรั่นพรึงทันทีที่ประเทศไทยพบเชื้อครั้งแรก ตอนต้นเดือนมกราคม 2563 โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น โดยต่อมาอีกราวสองสัปดาห์ก็พบ 'ผู้ติดเชื้อชาวไทยคนแรก' คือ คนขับรถแท็กซี่วัยห้าสิบปี ผู้เป็นสารถีรับส่งหญิงชาวจีนคนนั้นนั่นเอง ท้ายที่สุดการแพร่เชื้อดังกล่าว คือต้นตอติดเชื้ออีกหลายพื้นที่ จนเกิดคลัสเตอร์จุดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน และชุมชนแรงงานมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

บรรยากาศหวาดวิตก เดินสู่ความหวาดหวั่น ที่สุดไทยทั้งประเทศก็จำต้องพานพบกับความมืดมนอนธการอย่างยาวนานเกินกว่า 1,000 ราตรี ภายใต้กรงเล็บทะมึนชื่อ 'โควิด 19' เชื้อร้ายไร้ปรานีผู้ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ

ขณะนั้น วิสัยทัศน์ของผู้นำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อเหตุการณ์ตรงหน้า ซึ่งเกิดพร้อมกันไล่เลียงจนครบทุกประเทศบนโลก โดยอดคิดไม่ได้ว่า หากเรามีผู้นำคนอื่นที่มิใช่ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา' บ้านเมืองอาจมีสภาพไม่ต่างจากบราซิล, อินเดีย หรือสหรัฐอเมริกา ก็เป็นได้

แน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์มิใช่อัศวินขี่ม้าขาว ควงปืนไล่ล่าเชื้อโรคจนกระเจิงหาย แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีลงมือทำทันทีคือการมอบความไว้วางใจให้ 'หมอ' ขึ้นเป็นแม่ทัพสงครามต่อกรโรคระบาด โดยท่านเลือกนั่งบังคับบัญชาภาพรวมเพื่อตัดสินใจ หลังรับข้อมูลสาธารณสุขครบถ้วนทุกด้าน มาตรการมากมายหลายเรื่องถูกกลั่นจากสมองขุนพลคณะแพทย์ผู้อาสารบภายใต้นาม 'ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)' วันแล้ววันเล่า ทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงแผนระยะยาว โดยมีชีวิตคนไทยกว่า 67 ล้านคนเป็นประกัน

แม้ช่วงแรกของศึกจะมีการสร้างวาทกรรมเพื่อลดความน่าเชื่อถือ เพียงหวังผลทางการเมือง และประโยชน์ทางธุรกิจ จากบางกลุ่ม แต่สุดท้ายคนไทยส่วนใหญ่ก็พร้อมใจปฏิบัติตามกฎควบคุมโรคของรัฐบาล ตั้งแต่มาตรการเคอร์ฟิว สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ จนถึงแนวคิด 'Work From Home'


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top