Sunday, 19 May 2024
Econbiz

‘พงษ์ภาณุ’ หวั่น ไทยหลุดโผลงทุนจาก ‘สหรัฐฯ - ยุโรป’ หลังตะวันตก เริ่มแง้มกันท่าชาติไม่เป็นประชาธิปไตย

‘พงษ์ภาณุ’ หวั่น ไทย หลุดเรดาร์ลงทุน หลังสหรัฐฯ - ตะวันตก อ้าง ‘ความมั่นคง’ จัดระเบียบ Supply Chains ใหม่ ปักหมุดฐานการผลิตประเทศที่ไว้วางใจ กีดกันชาติไม่เป็นประชาธิปไตย

(7 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ อเมริกา กับจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดสงครามทางการค้ามาอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงที่เกิดขึ้นทำให้สินค้าหลายแบรนด์ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน อาจกล่าวได้ว่า โลกกำลังจัดระเบียบ Global Supply Chains ใหม่จากเดิมที่เน้นประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ มาเน้นเรื่องความมั่นคงมากขึ้น

ย้อนกลับไปในอดีตหลายสิบปี ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในอุตสาหกรรมการผลิตและ Supply Chains ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจ หรือประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้านการผลิตทั่วโลก บริษัทฯ ใหญ่ ๆ ประสบความสำเร็จจากการใช้ระบบนี้ ยกตัวอย่าง แอปเปิล และไนกี้ ที่มีการกระจายการผลิตชินส่วนไปในหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ไทย เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้นับว่ามีประสิทธิภาพในการผลิตสูงและต้นทุนต่ำ

แต่ภายหลังเกิดความขัดแย้ง เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกันอย่างชัดเจน เดิมที่ยึดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ปัจจุบันความมั่นคงปลอดภัยด้าน Supply Chains ถูกยกขึ้นมาให้ความสำคัญมากกว่า และแทนที่ประสิทธิภาพไปแล้ว

นายพงษ์ภาณุ ได้ยกตัวอย่างความมั่นคงทางด้าน Supply Chains ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตกได้บทเรียนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจีนปิดประเทศไป 3 ปี และสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักด้าน Supply Chains ในหลาย ๆ จุด ทำให้บริษัทแม่ไม่สามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาติตะวันตกนำมาใช้อ้าง เพื่อย้ายฐานการผลิต

แน่นอนว่า เมื่อเกิดการย้ายฐานการผลิต ย่อมมีประเทศที่ได้รับประโยชน์ โดยประเทศที่ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้มี 2 ประเทศในอาเซียน นั่นก็คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีปัจจัยสนับสนุนทั้งปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการดึงดูด Supply Chains เข้ามาเลือกเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ประเด็นที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย จากการย้ายฐานการผลิตที่ผ่านมาสหรัฐฯ และชาติตะวันตกมองว่าไทยไม่มั่นคงและจัดอยู่ในกลุ่มเผด็จการ (Autocracy) ส่วนประสิทธิภาพและต้นทุนก็สู้คนอื่นไม่ได้ Global Supply Chains จึงย้ายไปที่อื่นหมด ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่ เวียดนามและอินโดนีเซีย ขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยกลับดูเหมือนเดินห่างจากสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ เห็นได้จาก กรณีที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้จัดเวทีการประชุมสุดยอดฝ่ายประชาธิปไตย ที่ใช้ชื่อว่า Summit for Democracy ครั้งที่ 2 เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะแบ่งประเทศในโลกออกเป็น 2 กลุ่ม คือประชาธิปไตย และเผด็จการ โดยในครั้งนี้มีการเชิญผู้นำกว่า 120 ประเทศเข้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หรือมีแนวโน้มดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นบวกในสายตารัฐบาลสหรัฐฯ และน่าสังเกตว่า เวียดนาม ได้เข้าร่วม ทั้งที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้รับเชิญทั้ง 2 ครั้ง

“ถ้าหากว่าประเทศไทย ต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากชาติตะวันตก จำเป็นจะต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นมิติทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นข้ออ้างของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่จะนำมาพิจารณากระจาย Supply Chains โดยให้ความสำคัญในประเด็นความมั่นคงทางการเมือง มากกว่าประสิทธิภาพเหมือนเช่นในอดีต ในส่วนนี้ไทยเองจะต้องแสดงให้เห็นว่า ยังคงเป็นประเทศที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้อยู่ในเรดาร์ของประเทศมหาอำนาจภายหลังจากนี้”

นอกจากนี้ นายพงษ์ภาณุ มองว่า เรื่องต้นทุนพลังงานของประเทศไทยที่สูงขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เช่นกัน เพราะต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตในขณะนี้ ถือว่าสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่พอสมควร 

‘นักเศรษฐศาสตร์’ เปรียบ ‘เศรษฐกิจไทย’ เป็น ‘นักกีฬาสูงวัย’ ต้องมีโค้ชมือฉมังมาช่วย ก่อนถูกเพื่อนบ้านแซงหน้าไม่เห็นฝุ่น

(8 พ.ค. 66) นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือน ‘นักกีฬาสูงวัย’ ที่ต้องการ ‘โค้ช’ เก่ง ๆ มาช่วย

นักกีฬาคนนี้สมัยก่อนเคยโดดเด่น 

ช่วงเปลี่ยนเข้ายุคอุตสาหกรรม เขาเกือบเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย เศรษฐกิจโตเฉลี่ยกว่า 7% หากเปรียบกับกีฬาบาสเกตบอล NBA ก็เกือบได้รับคัดเลือกเป็นนักบาสระดับออลสตาร์

แม้จะเคยเล่นผาดโผนผิดพลาดจนบาดเจ็บหนักเกือบจบชีวิตนักกีฬาช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่สุดท้ายก็ยังหวนคืนสู่สนามกลับมาเก่งอีกครั้งได้

หลังจากนั้นแนวการเล่นจะเปลี่ยนไปบ้างจากเดิม มีการท่องเที่ยวมากลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังโดดเด่น ยังเป็นที่ต้องการตัว นักลงทุนยังให้ความสนใจ 

หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็มีปัญหาเรื่องโค้ช/ทีมผู้จัดการบ่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งอย่างที่ทราบกันดี 

แต่ดูเผิน ๆ เศรษฐกิจก็เหมือนจะผ่านมาได้โอเค จนนักลงทุนต่างประเทศเคยให้สมญานามว่า เศรษฐกิจเทฟลอน (Teflon economy) คือ แม้จะมีปัญหาเหมือนจะถูกกดให้จมน้ำหลายครั้ง ทั้งการเมือง ทั้งภัยพิบัติ แต่ก็สามารถกลับขึ้นมาลอยใหม่ได้ 

จนหลายคนทั้งในไทยและต่างประเทศบอกว่ารัฐบาลเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไรหรอกเพราะเศรษฐกิจไทยเอกชนนำไปต่อได้ เสมือนบอกว่าโค้ชไม่สำคัญขนาดนั้นเพราะนักกีฬาคนนี้เล่นเก่งอยู่แล้ว ปล่อย Auto-pilot ไปได้เดี๋ยวเขาก็จัดการเอง

ซึ่งในมุมหนึ่งก็จริงว่าเศรษฐกิจไทยเป็นนักกีฬาที่มีพรสวรรค์ มีบุญเก่าอยู่มาก มีทรัพยากร มีเสน่ห์ดึงดูดการท่องเที่ยว อยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่ดี และคนไทยก็มีความสามารถหลายด้าน ฯลฯ

แต่ทุก ๆ วันที่ผ่านไปที่เราเหมือนจะ ‘ลอยตัว’ นั้นความสูงวัยเริ่มกัดกร่อนนักกีฬาคนนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่เพียงอายุเฉลี่ยของประชากรที่เริ่มเข้าสูงวัยแต่อาการทางเศรษฐกิจก็ไปในทางเดียวกัน

วิ่งช้าลง กระโดดเริ่มไม่สูง เล่นได้ไม่นานก็เหนื่อย ร่างกายไม่บาลานซ์ ซึ่งในทางเศรษฐกิจคือ ‘โตช้า เหลื่อมล้ำ ไม่ยั่งยืน’

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เฉลี่ยเหลืออยู่แค่ปีละ 3% กว่ากลายเป็นนิวนอร์มอล 

ความเหลื่อมล้ำที่สูงโดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมด้านโอกาส (เช่นคนที่รายได้ระดับ 20% ล่างของประเทศเข้าถึงการศึกษามหาวิทยาลัยแค่ 4% เท่านั้น ทำให้จำกัดโอกาสได้งานดีๆ) 

และปัญหาด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มพังจนเห็นได้ชัด (เช่น ฝุ่น PM 2.5, overtourism ในการท่องเที่ยว)

ยังดีที่ว่าเพราะเคยเจ็บตัวหนักมาตอนวิกฤตการเงินจึงเล่นกีฬาอย่างระมัดระวัง มีระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ ไม่ได้เสี่ยงที่จะล้มเจ็บหนักระดับวิกฤตแบบศรีลังกา อาร์เจนตินา ฯลฯ

ความเสี่ยงที่น่ากลัวกว่าในตอนนี้ คือ เศรษฐกิจไทยจะเป็น ‘นักกีฬาที่ถูกลืม’ ค่อย ๆ ถูกเพื่อนแทรงหน้าไปเรื่อย ๆ ถูกมองข้ามในเวทีโลกและภูมิภาค โอกาสที่ได้ลงเล่นก็น้อยลง ๆ 

เราอาจจะมองว่าแต่เพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ก็ปัญหาเยอะเหมือนกันนะ กฎกติกาทำธุรกิจก็ยาก โครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่ดี คนก็ยังเข้าไม่ค่อยถึงเงินทุน แย่กว่าไทยด้วยซ้ำ ทำไมเขาจะมาแซงเราได้?

คำตอบหนึ่งคือ เขาคือนักกีฬาที่ยังเป็น ‘วัยรุ่น’ อยู่ 

อายุเฉลี่ยเวียดนามและอินโดนีเซียคือประมาณ 30 ปี ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 40 กว่า ประชากรเขาโตอัตราเร็วกว่าเรา 3-4 เท่า แปลว่าตลาดของเขายังมีโอกาสเติบโตอีกมากและเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตจากการเพิ่มแรงงานเข้าไปได้ (ต่างจากไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย) ยิ่งเสริมการลงทุนจากรัฐและเอกชนเข้าไปด้วยก็สามารถสร้าง GDP ให้โตเฉลี่ย 5-6% ได้ไม่ยากนัก

เหมือนนักกีฬาวัยหนุ่มสาวที่แม้ทานอาหารไม่ระวังบ้าง ไม่ดูแลตัวบ้าง ไม่เกลาบางเทคนิค ใช้แค่สมรรถนะร่างกายเข้าสู้ก็พอไปได้ แม้สมมติว่าโค้ชและผู้จัดการทีมไม่เก่ง (แต่ในความเป็นจริงโค้ชของเขาก็ค่อนข้างเก่งด้วย) ก็ยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเพราะยังพึ่งพรสวรรค์ได้  

ต่างกับเราวันนี้ที่หากไม่เน้นคุณภาพให้สู้ด้วยปริมาณไม่ไหวอีกต่อไป

แต่การเป็นนักกีฬาสูงวัยไม่ได้แปลว่าเราจะหมดความหมาย ไม่ได้แปลว่าเราจะแพ้ ไม่ได้แปลว่าเราเล่นไม่ได้แล้ว 

นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งในปัจจุบันคือ เลบรอน เจมส์ ที่อายุ 38 ปีแล้วเทียบกับอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ปี และยังมีนักกีฬาอีกจำนวนไม่น้อยที่แม้เข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้วก็ยังเก่งมาก

นอกจากนี้เรายังอยู่ในยุคที่นักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกสนใจตลาดอาเซียนโดยรวมมากขึ้นจึงเป็นโอกาส แค่เราต้องเปลี่ยนวิธีเล่น เปลี่ยนวิธีดูแลตนเอง และเปลี่ยน Mindset 

โดยหลักที่สำคัญที่สุดของนักกีฬาที่มีสมรรถนะทางร่างกายน้อยลงคือ 

“ใช้น้อยลงให้ได้มากขึ้น” 

เสมือนนักกีฬาที่ต้องเล่นให้สมาร์ตขึ้น เศรษฐกิจไทยก็เช่นกัน

ใช้คนน้อยลงแต่ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น (เพิ่ม Productivity เช่น รีสกิลเพิ่มทักษะให้แรงงานใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้น)

ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบล้างผลาญน้อยลง แต่ให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น (เพิ่ม Sustainability - เช่น เน้นท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ)

ใช้งบประมาณประเทศแบบฟุ่มเฟือยน้อยลง แต่ช่วยคนตัวเล็ก-MSME-สตาร์ตอัปได้มากขึ้น (เพิ่ม Inclusivity เช่น ใช้งบประมาณช่วยคนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและตรงความต้องการของเขา)

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 1-5 พ.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 8-12 พ.ค. 66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 5 พ.ค. 66 ลดลง 5.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 74.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเปลี่ยนไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย จากความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจเข้าสู่สภาวะถดถอย ทั้งในภาคงบประมาณ การเงิน และการธนาคาร อาทิ วันที่ 4 พ.ค. 66 หุ้น PacWest Bancorp ลดลง 51% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังธนาคารเปิดเผยว่าอาจพิจารณาเพิ่มทุนหรือขายกิจการ, หุ้น Western Alliance Bancorp ลดลง 38% ขณะที่ธนาคารยืนยันสถานะทางการเงินว่ายังไม่ต้องขายกิจการ, หุ้น First Horizon ลดลง 33% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2551 หลัง Dominion Bank ของแคนาดายุติการเจรจาซื้อกิจการ 

ทางด้านนักวิเคราะห์ Reuters คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) อาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และนักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ก.ย. 66 ทั้งนี้วันที่ 3 พ.ค. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 5.0-5.25% และจะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 13-14 มิ.ย. 66 

คาดว่าราคา ICE Brent ในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden มีแผนหารือร่วมกับแกนนำรัฐสภา 4 ท่าน ในวันที่ 9 พ.ค. 66 ทั้งฝั่งวุฒิสภา ได้แก่ นาย Chuck Schumer (Democratic Senator - Majority Leader), นาย Mitch McConnell (Senate Republican leader) และฝั่งสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ นาย Kevin McCarthy (Speaker of the House - Republican), และนาย Hakeem Jeffries (House Minority Leader) ในประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณ และขยายเพดานหนี้

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- 4 พ.ค. 66 ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate) มาอยู่ที่ 3.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (Marginal Lending Facility Rate) มาอยู่ที่ 4%

‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ฝากโจทย์ 7 ข้อ ถึงรัฐบาลชุดใหม่ ชู!! ‘ภาครัฐ-เอกชน’ ผนึกกำลังทรานส์ฟอร์มประเทศ

(9 พ.ค. 66) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวนโยบาย 7 ข้อ ให้กับรัฐบาลชุดใหม่เพื่อทรานฟอร์มประเทศไทยขับเคลื่อนไทยแลนด์ 5.0 เพื่อเป็นแนวทางแก่รัฐบาลใหม่ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนี้…

1. กำหนดวิชาภาษาคอมพิวเตอร์/Computer Science เป็นวิชาหลักในการหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน และเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์คัดกรองที่ดีและมีคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี

2. ส่งเสริม Media & Content ที่เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรม ในช่วง Prime Time ด้วยการให้ Incentive

3. ตั้งเป้าเทคสตาร์ตอัป 20,000 บริษัท เพื่อช่วย Digital Transformation และ Digital & Tech Workforce 1 ล้านคน

4. ยกระดับการเกษตร Agro Industry Transformation / Smart Farming / Food Tech & Brand / สร้าง 3,000-5,000 องค์กร สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน 5.0

5. ดึงดูดคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบราชการระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือน เทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน ปรับรัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล (E-Government) และควรมีข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20%

6. สร้าง 5 Innovation Centers ระดับโลก ได้แก่ 1. Bio 2. Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health Care/Health Tech

7. สนับสนุนการต่อยอดผู้ประกอบการไทย

‘รัฐบาล’ ชี้ การบริโภค-ท่องเที่ยว ช่วย ศก.ไทยฟื้นตัว เผย ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 66 เติบโตต่อเนื่อง

(10 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 เติบโตทั่วประเทศ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทย GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรกที่มากกว่า 4% และทั้งปี 2566 GDP ไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6

นายอนุชา กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 โดยเศรษฐกิจภูมิภาคส่วนใหญ่ ล้วนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นทุกภาค รวมถึงเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ของภาคเหนือขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 23.7 ต่อปี

ด้าน กทม.และปริมณฑลขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี ภาคตะวันตกขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน รวมถึงรายได้เกษตรกรมีการขยายตัว

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยด้านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกไทยจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2566 โดยการส่งออกผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าคาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น รวมทั้ง GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งครึ่งปีแรกจะขยายตัวร้อยละ 2.9-3 และในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4 ส่งผลให้ปี 2566 GDP ของไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6 สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ ในช่วงครึ่งปีแรกยังสูงที่ร้อยละ 3.3 แต่ในช่วงครึ่งหลังเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่ากรอบอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ที่ยังมีความไม่แน่นอน

“เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในภาพรวมยังเป็นไปในเชิงบวก ซึ่งการบริโภคและการท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง รัฐบาลยังคงติดตามสภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว

ปตท. ผนึก JERA นำร่องพัฒนาธุรกิจไฮโดรเจนและแอมโมเนียในไทย มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions 2050

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการริเริ่มการขยายห่วงโซ่อุปทานและการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนและแอมโมเนีย เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดยมี ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Mr. Toshiro Kudama (โทชิโระ คุดามะ) Senior Managing Executive Officer และ CEO JERA Asia บริษัท JERA Co., Inc. (JERA) (ที่ 2 จากขวา) ร่วมลงนาม พร้อมทั้งผู้บริหารของทั้งสององค์กรร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งศึกษาแนวทางการพัฒนาธุรกิจ และการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนียในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนในอนาคต ตอกย้ำว่า ปตท. พร้อมเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่ยั่งยืน

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! กล้วยหอมทองหนองบัวแดง ขึ้นทะเบียน GI  ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท

(11 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีที่ได้รับทราบว่า 'กล้วยหอมทองหนองบัวแดง' ของจังหวัดชัยภูมิ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) สะท้อนคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีศักยภาพและมีอัตลักษณ์จากแหล่งผลิตท้องถิ่น ปัจจุบันมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่สำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น สามารถสร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ขณะที่ ทุเรียนไทย มีแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน KASETTRACK ช่วยควบคุมมาตรฐานการผลิต พร้อมส่งออกผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศควบคู่การใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า สร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DEPA) บริษัท วีเดฟซอฟท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน KASETTRACK และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ยังได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน KASETTRACK เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน สร้างมาตรฐานการผลิตทุเรียนคุณภาพ 

โดยระบบจะสร้างขั้นตอนการผลิตทุเรียนที่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน GAP ให้เกษตรกรสามารถบันทึกและวิเคราะห์ความก้าวหน้ากิจกรรมการผลิต และการดูแลรักษาในทุกระยะการเติบโต สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนอันดับหนึ่งของไทย โดยปัจจุบันเกษตรกรใช้งานแอปพลิเคชัน KASETTRACK แล้วกว่า 1,000 รายใน 8 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา และสุโขทัย พร้อมตั้งเป้าหมายว่า KASETTRACK จะดูแลการผลิตทุเรียนไทยคุณภาพได้กว่า 1 แสนตัน สร้างเกษตรกรคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ไม่น้อยกว่า 10,000 รายในปี 2569

“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ผลักดันและพัฒนาศักยภาพภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ไทยซึ่งเป็นผลผลิตจากชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งการส่งเสริมสินค้า GI และการผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อควบคุมการผลิต เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าทางการค้า คงมาตรฐานคุณภาพสินค้าไทยในตลาดโลก ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่น สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว

ปตท. เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2566 เป็นไปตามแผนธุรกิจ ใช้งบกว่า 20,000 ล้านบาท ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19

เมื่อวานนี้ (11 พ.ค. 66) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มประเทศ OPEC และชาติพันธมิตร จนถึงสิ้นปี 2566 และเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปี 2566 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ที่ 104,008 ล้านบาท ลดลง 36,904 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 140,912 ล้านบาท โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง เช่น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ตามราคาปิโตรเคมีในตลาดที่ใช้อ้างอิง ประกอบกับปริมาณการขายลดลงและต้นทุนค่าเนื้อก๊าซสูงขึ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ที่ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อยในไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 27,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,063 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.4 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 24,792 ล้านบาท 

ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ยึดมั่นพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และประเทศให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 - 2565 ได้ใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาทิ การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการขยายเทอมการชำระเงินแก่ กฟผ. เพื่อลดภาระค่า FT เป็นต้น 

ทั้งนี้ ปตท. เร่งเดินหน้ากลยุทธ์ ‘ปรับ เปลี่ยน ปลูก’ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน ปี 2593 ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ พร้อมเปลี่ยน สู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการ ปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า ส่งเสริมอาชีพ และรายได้ของชุมชนในพื้นที่ ในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4.15 ล้านตัน/ปี 

“ปตท. มุ่งมั่นดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สนับสนุนการใช้พลังงานแห่งอนาคต สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ พร้อมศึกษาพลังงานไฮโดรเจน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพลิกฟื้นผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ นำพาประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายอรรถพล กล่าวเสริม

‘การบินไทย’ รุกเพิ่มความถี่เส้นทางบิน ‘จีน-ญี่ปุ่น’ เล็งเพิ่มไฟลต์ 1 ก.ค.นี้ คาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน

‘การบินไทย’ เผยไตรมาส 1/66 กำไร 1.2 หมื่นล้าน โตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ดีกว่าแผนที่กำหนดไว้ เผย 1 ก.ค.นี้ รุกเพิ่มความถี่เส้นทางบินสู่จีน-ญี่ปุ่น อีกระลอกใหญ่ พร้อมเตรียมรองรับไฮซีซั่นไตรมาส 4 เต็มที่ หลังรับมอบเครื่องบินใหม่ปีนี้ครบ 4 ลำ คาดรายได้รวมปี’ 66 ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน ขนส่งผู้โดยสารกว่า 9 ล้านคน

(13 พ.ค. 66) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลประกอบการดีกว่าแผนที่กำหนดไว้ค่อนข้างมาก โดยบริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีรายได้รวม 11,181 ล้านบาท (271.2%) หรือประมาณ 3 เท่าตัว และมีกำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าขาดทุน 3,243 ล้านบา

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นถึง 30,502 ล้านบาท หรือ 681.5% เนื่องจากให้บริการเส้นทางบินสู่ 34 เส้นทางทั่วโลก ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย และเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่ได้รับความนิยม อาทิ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เป็นต้น รวมถึงการกลับมาให้บริการเส้นทางบินสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้งตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ประกอบกับมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) โดยรวมเฉลี่ยสูงถึง 83.5%

“ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา การบินไทยและไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมีเครื่องที่ใช้ทำการบินรวม 65 ลำ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12.3 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 121.4% มีจำนวนผู้โดยสารรวม 3.52 ล้านคน เพิ่มขึ้น 245.1%” นายชาย กล่าว

นายชายกล่าวด้วยว่า ตามแผนการขยายฝูงบินและเพิ่มปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) บริษัทจะดำเนินการเช่าเครื่องบินใหม่ (แอร์บัส A350) เข้ามาเสริมฝูงบินอีกรวม 11 ลำ ภายในปี 2567 โดยปีนี้จะรับมอบจำนวน 4 ลำ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับมอบเครื่องบินลำแรกเข้ามาประจำฝูงบินแล้ว ส่วนลำที่ 2 จะรับมอบประมาณเดือนมิถุนายน ที่เหลืออีก 2 ลำจะทยอยเข้ามาประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 เพื่อรองรับไฮซีซั่นในช่วงไตรมาส 4/2566

ด้านนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บริษัทมีแผนนำเครื่องบินที่รับมอบใหม่มาทำการบินเส้นทางสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเป็นตลาดที่เพิ่งเปิดและการบินไทยยังทำการบินได้ไม่มากนัก รวมถึงเส้นทางสู่ญี่ปุ่นที่ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2566 นี้เป็นต้นไป บริษัทมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่จีนให้เป็นวันละ 1 เที่ยวบิน (daily fight) ทุกเส้นทาง จากปัจจุบันเส้นทางสู่เซี่ยงไฮ้ทำการบินอยู่จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กวางเจาให้บริการอยู่จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และปักกิ่ง 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ส่วนเส้นทางสู่ญี่ปุ่นก็มีแผนจะเพิ่มความถี่ต่อเนื่องเช่นกัน กล่าวคือ เพิ่มเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โตเกียวจากปัจจุบัน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-โอซากา ปัจจุบันให้บริการอยู่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-นาโกยา ปัจจุบันให้บริการอยู่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็นต้น

และฮ่องกง ซึ่งมีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้นก็เตรียมแผนเพิ่มเที่ยวบินจากปัจจุบัน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เช่นกัน ขณะที่เส้นทางยุโรปที่มีแผนให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน หรือ daily fight ในเมืองสำคัญๆ และ 2 เที่ยวบินต่อวันสำหรับเส้นทางสู่ลอนดอน, แฟรงก์เฟิร์ต

“ในช่วงไตรมาส 2 ปกติจะเป็นโลว์ซีซั่น เราจึงไม่ได้คาดหวังมากนักในแง่การเติบโตของรายได้ แต่ตลาดยุโรปสู่ไฮซีซั่นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ตอนนี้ก็เริ่มมีบุ๊กกิ้งเข้ามาแล้ว เราจึงต้องเตรียมแผนรองรับเช่นกัน เพราะยุโรปยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญถึงประมาณ 40% ของเรา” นายกรกฎ กล่าว

นายชายกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับภาพรวมทั้งปี 2566 นี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท และขนส่งผู้โดยสารรวมกว่า 9 ล้านคน

‘พงษ์ภาณุ’ ชี้!! รายได้ท่องเที่ยวไทยยังกระจุกตัว แนะใช้แพลตฟอร์มระดับโลก หนุนเที่ยว ‘เมืองรอง’

(14 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของไทย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า...

แม้ประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวนับเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในอดีตช่วงที่การท่องเที่ยวประเทศไทยเติบโตสุดขีด เคยสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2 ล้านล้านบาท และจากคนไทยเที่ยวไทยอีกราว 1 ล้านล้านบาท รวมเป็น 3 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 20% ของจีดีพี ขณะเดียวกัน ก็มีการจ้างงานถึง 10 ล้านคน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ในส่วนนี้หายไปเกือบหมด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก

นายพงษ์ภาณุ ระบุว่า ภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อว่า การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาคึกคัก และสร้างรายได้เข้าประเทศได้เช่นในอดีต พร้อมทั้งเป็นปัจจัยหนุนหลักให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ และ ส่งผลดีต่อไปยังตลาดแรงงาน รวมถึงเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ที่จะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เงินไหลตรงไปยังกลุ่มรากหญ้าจริงๆ ซึ่งจะแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ

แต่ทว่า ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวไทยกระจุกตัวอยู่เพียง 7 จังหวัดเท่านั้น ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงใหม่, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี และกระบี่ โดยจังหวัดเหล่านี้มีครองสัดส่วนรายได้ถึง 80% ส่วนอีก 20% กระจายไปยังอีก 70 จังหวัดที่เหลือ

อย่างไรก็ตาม จากการท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่เพียงในเมืองหลัก แม้ว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ แต่ก็มีผลเสียและปัญหามากมายเช่นกัน ทั้งด้านความแออัด ด้านการกระจายรายได้ที่ไม่สมดุล ด้านการจราจรที่ติดขัด และด้านความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพยายามกระจายการท่องเที่ยว ผ่านนโยบายที่เรียกว่า ‘การท่องเที่ยวเมืองรอง’ ทั้งการไปสร้างแหล่งท่องเที่ยว การมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

“จากการที่ได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวของจีน พบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยนั้น เขากังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลต้องการกระจายการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง สิ่งที่ต้องเข้ามาดูแลข้อแรก คือ เรื่องความปลอดภัย ข้อสอง ความสะดวกในการเดินทาง และข้อสาม เรื่องการตลาดที่ต้องโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยว อาหารและกิจกรรมที่รองรับนักท่องเที่ยว ผ่านระบบดิจิทัลที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นต้นว่า การนำข้อมูลบ้านพักในภาคอีสานของไทย เข้าไปอยู่ใน Air BNB แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกับการรับรองความปลอดภัย ความสะอาด และการต้อนรับที่อบอุ่นจากเจ้าของบ้าน หากข้อมูลข่าวสารพวกนี้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับโลกได้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองเกิดได้” นายพงษ์ภาณุ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top