‘การบินไทย’ รุกเพิ่มความถี่เส้นทางบิน ‘จีน-ญี่ปุ่น’ เล็งเพิ่มไฟลต์ 1 ก.ค.นี้ คาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน

‘การบินไทย’ เผยไตรมาส 1/66 กำไร 1.2 หมื่นล้าน โตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ดีกว่าแผนที่กำหนดไว้ เผย 1 ก.ค.นี้ รุกเพิ่มความถี่เส้นทางบินสู่จีน-ญี่ปุ่น อีกระลอกใหญ่ พร้อมเตรียมรองรับไฮซีซั่นไตรมาส 4 เต็มที่ หลังรับมอบเครื่องบินใหม่ปีนี้ครบ 4 ลำ คาดรายได้รวมปี’ 66 ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน ขนส่งผู้โดยสารกว่า 9 ล้านคน

(13 พ.ค. 66) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลประกอบการดีกว่าแผนที่กำหนดไว้ค่อนข้างมาก โดยบริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีรายได้รวม 11,181 ล้านบาท (271.2%) หรือประมาณ 3 เท่าตัว และมีกำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าขาดทุน 3,243 ล้านบา

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นถึง 30,502 ล้านบาท หรือ 681.5% เนื่องจากให้บริการเส้นทางบินสู่ 34 เส้นทางทั่วโลก ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย และเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่ได้รับความนิยม อาทิ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เป็นต้น รวมถึงการกลับมาให้บริการเส้นทางบินสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้งตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ประกอบกับมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) โดยรวมเฉลี่ยสูงถึง 83.5%

“ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา การบินไทยและไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมีเครื่องที่ใช้ทำการบินรวม 65 ลำ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12.3 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 121.4% มีจำนวนผู้โดยสารรวม 3.52 ล้านคน เพิ่มขึ้น 245.1%” นายชาย กล่าว

นายชายกล่าวด้วยว่า ตามแผนการขยายฝูงบินและเพิ่มปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) บริษัทจะดำเนินการเช่าเครื่องบินใหม่ (แอร์บัส A350) เข้ามาเสริมฝูงบินอีกรวม 11 ลำ ภายในปี 2567 โดยปีนี้จะรับมอบจำนวน 4 ลำ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับมอบเครื่องบินลำแรกเข้ามาประจำฝูงบินแล้ว ส่วนลำที่ 2 จะรับมอบประมาณเดือนมิถุนายน ที่เหลืออีก 2 ลำจะทยอยเข้ามาประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 เพื่อรองรับไฮซีซั่นในช่วงไตรมาส 4/2566

ด้านนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บริษัทมีแผนนำเครื่องบินที่รับมอบใหม่มาทำการบินเส้นทางสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเป็นตลาดที่เพิ่งเปิดและการบินไทยยังทำการบินได้ไม่มากนัก รวมถึงเส้นทางสู่ญี่ปุ่นที่ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2566 นี้เป็นต้นไป บริษัทมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่จีนให้เป็นวันละ 1 เที่ยวบิน (daily fight) ทุกเส้นทาง จากปัจจุบันเส้นทางสู่เซี่ยงไฮ้ทำการบินอยู่จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กวางเจาให้บริการอยู่จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และปักกิ่ง 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ส่วนเส้นทางสู่ญี่ปุ่นก็มีแผนจะเพิ่มความถี่ต่อเนื่องเช่นกัน กล่าวคือ เพิ่มเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โตเกียวจากปัจจุบัน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-โอซากา ปัจจุบันให้บริการอยู่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-นาโกยา ปัจจุบันให้บริการอยู่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็นต้น

และฮ่องกง ซึ่งมีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้นก็เตรียมแผนเพิ่มเที่ยวบินจากปัจจุบัน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เช่นกัน ขณะที่เส้นทางยุโรปที่มีแผนให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน หรือ daily fight ในเมืองสำคัญๆ และ 2 เที่ยวบินต่อวันสำหรับเส้นทางสู่ลอนดอน, แฟรงก์เฟิร์ต

“ในช่วงไตรมาส 2 ปกติจะเป็นโลว์ซีซั่น เราจึงไม่ได้คาดหวังมากนักในแง่การเติบโตของรายได้ แต่ตลาดยุโรปสู่ไฮซีซั่นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ตอนนี้ก็เริ่มมีบุ๊กกิ้งเข้ามาแล้ว เราจึงต้องเตรียมแผนรองรับเช่นกัน เพราะยุโรปยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญถึงประมาณ 40% ของเรา” นายกรกฎ กล่าว

นายชายกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับภาพรวมทั้งปี 2566 นี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท และขนส่งผู้โดยสารรวมกว่า 9 ล้านคน