Tuesday, 7 May 2024
Econbiz

จีน เตรียมถ่ายทอด เทคโนโลยีรถไฟหัวกระสุน ให้ไทย ทั้งการก่อสร้างระบบราง – ขบวนรถ

สำนักข่าว Reporter Journey ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน โดยมีใจความว่า

โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน อภิมหาโปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างนาน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นความคืบหน้าของการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ในเฟสแรกคือช่วง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทางราวๆ 250 กิโลเมตร แม้จะอยู่ในสปีดที่ช้าเนื่องจากมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ในการปฏิวัติระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทย ที่จะมีผลต่อการพัฒนารถไฟสายอื่นๆ ในอนาคต

อย่างที่หลายคนคงทราบกันว่าโครงการนี้นอกจะก่อสร้างทางวิ่ง สถานี สะพาน อุโมงค์ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ได้องค์ความรู้จากประเทศจีนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านระบบรถไฟความเร็วสูง และยังเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นของไทยมาโดยตลอด สิ่งที่ระบุไว้ในสัญญาชัดเจนตั้งแต่ต้นคือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีจีนและองค์ความรู้บางส่วนให้กับประเทศไทย เพื่อให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของตนเองได้

เกา เร่ย วิศวกรอาสุโสและทีมบริหารวิศวกรรมและการเจรจาทางเทคนิคในต่างประเทศของ China Railway International Group" ได้เขียนระบุลงในวารสารรถไฟ Railway Standard Design ของจีนเมื่อเดือนที่แล้วโดยมีใจความสำคัญว่า

“เมื่อความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน - ไทยลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความปรารถนาของไทยในการออกแบบและสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยตัวเองก็ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น พวกเขาหวังว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในความร่วมมือในอนาคต"

"เพื่อตอบสนองต่อคําขอซ้ำๆ ของไทยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนในการประชุมคณะกรรมการร่วม จีนได้ตกลงที่จะส่งต่อเทคโนโลยีดังกล่าวมายังประเทศไทยภายใต้สมมติฐานว่าไม่ละเมิดกฎหมายจีน"

ภายใต้กฎหมายจีน บริษัท และบุคคลต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในการส่งออกเทคโนโลยีที่ถือว่ามีความสําคัญต่อความมั่นคงของชาติหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับประเทศจีน ถือว่าเป็นมหาอำนาจรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันอย่างเต็มตัว โดยมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมมากกว่า 40,000 กม. หรือยาวพอที่จะโคจรรอบโลก มีประสบการณ์ด้านวิศวกรรม ความรู้และเทคโนโลยีของตัวเองที่พัฒนาต่อยอดมาจากรถไฟความเร็วสูงรุ่นต้นแบบจากทั้งของเยอรมันและญี่ปุ่นที่นำมาศึกษา ก่อนจะสร้างรถไฟความเร็วสูงของตัวเองขึ้นมา ซึ่งใช้เวลาเพียง 15 ปี ที่จีนสามารถก้าวขึ้นเป็นหัวแถวของโลก อีกทั้งยังพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมอื่นๆ ที่ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันอย่างรวดเร็วและด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำกว่า

ตัวอย่างเช่น จีนได้พัฒนาการออกแบบโมดูลาร์สําหรับสถานีรถไฟและส่วนประกอบโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่สามารถประกอบได้อย่างรวดเร็วในสถานที่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวัสดุใหม่สําหรับรางรถไฟที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษาในระยะยาว เช่น เหล็กและคอนกรีตที่มีความแข็งแรงสูง

ซึ่งทางจีนได้เห็นชอบในหลักการที่จะถ่ายทอดหรือส่งต่อเทคโนโลยี ทักษะ และความรู้ใน 11 ด้าน ของการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมาให้กับประเทศไทย

ไทยจะได้อะไรบ้างจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของจีน?

การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างองค์กรหรือประเทศต่างๆ อาจเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนสิทธิบัตร ใบอนุญาต หรือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือการประกอบตัวรถไฟภายในประเทศ ซึ่งมีทั้งที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนได้และยังเปิดเผยไม่ได้

โดยทั่วไปข้อมูลและความเชี่ยวชาญจะถูกแบ่งปันผ่านโปรแกรมการฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมอื่น ๆ ในขณะที่การถายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวมักจะทําโดยมีค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่นๆ ซึ่งจริงจะเรียกว่าเหมือนได้มาฟรีเป็นของแถมจากการซื้อเทคโลโลยีมาใช้ก็น่าจะไม่ผิดนัก

จีนสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างรางรถไฟ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับการวางรางในภูมิประเทศที่แตกต่างกัน

ความเชี่ยวชาญอื่นๆ ที่สามารถส่งต่อได้แก่ การออกแบบสถานีรถไฟเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้สาร การสร้างสะพานข้ามแม่น้ําหรือแหล่งน้ําอื่นๆ ด้วยความเร็วที่เร็วขึ้น แต่ต้นทุนที่ต่ำกว่า การเตรียมพื้นดินใต้รางรถไฟเพื่อความมั่นคงและปลอดภัย และวิธีการออกแบบและสร้างอุโมงค์ที่ปลอดภัย

ในเอกสารทีมงานของเกา เร่ย กล่าวว่า ในการปรับปรุงคุณภาพและความเร็วในการก่อสร้างจะถูกแบ่งปันตั้งแต่การสํารวจที่ดิน และการจัดการแหล่งน้ําใกล้เคียงไป จนถึงแสงสว่างในอุโมงค์ และระบบทําความร้อนการระบายอากาศ และเครื่องปรับอากาศภายในสถานี รวมทั้งสิ่งอํานวยความสะดวกอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับโครงการรถไฟจีน - ไทยที่ครบทั้งเฟสนั้นจะขยายเส้นทางต่อไปยังจังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว - จีน ระยะทาง 873 กม. ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเส้นทางเชื่อมต่อมาจากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ และให้บริการด้วยรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 250 กม./ชม.

และเป็นส่วนสําคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่รัฐบาลจีนต้องการจะเชื่อมโยงพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะผ่านเมืองต่างๆ ของไทย และเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงมาเลเซีย - สิงคโปร์ ที่แม้จะยกเลิกโครงการไปแล้วเนื่องจากมาเลเซียประเมินฐานะการคลังของตัวเองว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีความพร้อมที่จะก่อสร้าง เนื่องจากมีหนีสินในสกุลเงินตราต่างประเทศสูง และค่าเงินริงกิตที่ร่วงลงอย่างหนัก

สำหรับเส้นทางในระยะแรกมีการสร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ - นครราชสีมา จีนจะมีบทบาทสําคัญในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง

ส่วนระยะต่อไประหว่างนครราชสีมา - หนองคาย จีนจะลดบทบาทลงและให้บริษัทเอกชนของไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วจะเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบและก่อสร้างมากขึ้น

ฝั่งของจีนยอมรับว่า การเจรจาโครงการในไทยเป็นอะไรที่ "ยากมาก" เพราะไทยปฏิเสธข้อเสนอของจีนในการจัดหาเงินทุนให้กับโครงการทั้งหมด โดยเลือกที่จะใช้แหล่งเงินทุนภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนผสมกันแทน และทําให้การเจรจามีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

หนึ่งในประเด็นบนโต๊ะเจรจาที่มีการถกเถียงกันคือมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงของจีน ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศเสมอไป และต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินโดยเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎระเบียบของประเทศ

คุณสมบัติของวิศวกรชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก็เป็นปัญหาเช่นกัน เพราะไม่มีกลไกการยอมรับร่วมกันสําหรับคุณสมบัติของวิศวกรและสถาปนิกระหว่างจีนและไทย ดังนั้นฝ่ายไทยจึงไม่ยอมรับคุณสมบัติทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องของบุคลากรด้านเทคนิคของจีนโดยตรง ซึ่งทำให้วิศวกรชาวจีนต้องผ่านการฝึกอบรมและกระบวนการรับรองตามมาตรฐานของไทยเพิ่มเติม เพื่อให้พวกเขาสามารถทํางานในโครงการนี้ได้

เรียกได้ว่าไทยเองก็ “เขี้ยวลากดิน” ใส่จีนพอสมควร ไม่ใช่ “หมูสยาม” อย่างที่พญามังกรจีนจะสามารถเคี้ยวได้ง่ายๆ เหมือนที่ทำกับประเทศอื่นๆ ที่ยอมให้จีนเข้าควบคุมเบ็ดเสร็จทุกกระบวนการ รวมทั้งการขอสัมปทานการเดินรถเป็นหลายสิบปี

แต่ก็ทีมงานจีนกล่าวว่า เงื่อนไขที่จะให้จีนถ่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คือ ไทยต้องเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานรถไฟความเร็วสูงของจีน

ประเด็นคือแบบนี้ โดยทั่วไปมาตรฐานระบบรถไฟถูกกำหนดโดยประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งเป็นชาติต้นกำเนิดรถไฟ และได้กําหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเอาไว้ซึ่งมีการใช้งานมานานกว่าศตวรรษ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทสอื่นๆ ที่ต้องการสร้างระบบรถไฟ เพราะต้องอิงตามมาตรฐานเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก ซึ่งตกทอดไปสู่โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของไทยทุกโครงการต้องใช้มาตรฐานยุโรปหรือญี่ปุ่นเป็นเกณฑ์คุณภาพทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนจะต้องหาที่ยืนของเทคโลยีของตัวเองให้ได้ในตลาดไทย และรถไฟควาวเร็วสูงจึงเป็นจุดยืนสำคัญที่จีนจะได้มีอิทธิพลทางด้านเทคโนโลยีนี้

สำหรับรถไฟความเร็วสูงของจีนสามารถทำความเร็วสูงสุด 350 กม. / ชม. เร็วกว่ารถไฟหัวกระสุนส่วนใหญ่ในยุโรปและญี่ปุ่น พวกเขามักจะมีความยาวกว่าทั้งในเรื่องของตัวรถและเส้นทาง เช่น รุ่น Fuxing ที่ใช้ในสายปักกิ่ง - เซี่ยงไฮ้มีความยาวของขบวนรถมากกว่า 400 เมตร นั่นคือเกือบสองเท่าของความยาวของ TGV ในยุโรป เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานในจีนนั้นสูงกว่าและหนาแน่นกว่าตามจำนวนของประชากร

อีกทั้งจีนยังใช้ระบบอานัติสัญญาณของตัวเองสําหรับเครือข่ายซึ่งเข้ากันไม่ได้กับระบบยุโรปหรือญี่ปุ่น ซึ่งวิศวกรชาวจีนได้ยืนยันที่จะใช้มาตรฐานรถไฟของประเทศในระหว่างการเจรจากับประเทศไทยบนพื้นฐานที่จะคุ้มค่าและง่ายต่อการรวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟที่มีอยู่ในจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและผลิตรถไฟจีน เช่น ซีรีส์ CRH380 รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ เช่นแหล่งจ่ายไฟยังคงอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างไทยและจีน ตามเอกสาร

จีนซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิบัตร ส่วนวัสดุราง และระบบอานัติสัญญาณบางอย่างที่ใช้ในเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง จีนกำลังพิจารณาว่าสิทธิบัตรเหล่านี้ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของจีน จะได้รับอนุญาตหรือแบ่งปันกับประเทศไทยในด้านใดบ้าง

เพราะถ้าหากทำได้ ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่จีนยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ให้ และอาจจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถผลิตรถไฟความเร็วสูงได้ครบวงจรทั้งการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและตัวรถอีกด้วย

กระทรวงพลังงาน จับมือ ปตท. ร่วมเป็นเจ้าภาพงาน Future Energy Asia 2023 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงาน และยานยนต์ ระดับภูมิภาคเอเชีย

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการและการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงทางพลังงานระดับภูมิภาค Future Energy Asia 2023 โดยมีนายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกล่าวปาฐกถาเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) คาดการณ์สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท. ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเตรียมพร้อมรับความท้าทาย ตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน สู่การดำเนินธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต อาทิ การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงาน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจไฮโดรเจน รวมถึงเร่งการดำเนินงานในธุรกิจ LNG ที่จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอีกด้วย

เปิดบ้านต้อนรับนวัตกรรุ่นใหม่ โครงการ สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon

สานพลัง ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. เปิดบ้านต้อนรับคนรุ่นใหม่หัวใจพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม ในงาน Open House โครงการสานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon ร่วมเปิดมุมมองพร้อมรับแรงบันดาลใจการทำธุรกิจเพื่อสังคม พร้อมชวนปล่อยไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 540,000 บาท ขยายเวลารับสมัครถึง 2 มิ.ย. ศกนี้

วันนี้ (20 พ.ค. 2566) - บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. จัดงาน Open House โครงการ สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon เปิดบ้านต้อนรับนวัตกรรมรุ่นใหม่ ที่สนใจการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม ร่วมรับฟังรายละเอียดโครงการ โดยได้รับเกียรติจาก ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ปตท. ในฐานะประธานบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และเปิดมุมมองทิศทางของนวัตกรรมเพื่อสังคม ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. 

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. เผยถึงวิสัยทัศน์และนโยบายการทำงานของกลุ่ม ปตท. ด้านสังคมและความยั่งยืนว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยหนึ่งในการสนับสนุนคือการจัดทำวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาและยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่ง “โครงการสานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon” เป็นอีกหนึ่งโครงการภายใต้วิสัยทัศน์ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่มที่ผนึกกำลังกับบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เฟ้นหาไอเดียนวัตกรรมจากนวัตกรรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดเเละพลังในการสร้างสรรค์มาช่วยแก้ปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ด้าน นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ปตท. ในฐานะ ประธานบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า “สานพลัง” จัดตั้งขึ้นโดยเล็งเห็นจุดแข็งของธุรกิจกลุ่ม ปตท. ในการสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคมต้นเเบบ โดยมีโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานผ่านทางสานพลัง เช่น โครงการ Cafe' Amazon for Chance สร้างอาชีพมอบโอกาสแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส โครงการ Community Coffee Sourcing ช่วยเกษตรกรชาวเขาที่ทำไร่กาแฟ มีช่องทางในการจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่แน่นอนผ่านร้าน Cafe' Amazon โครงการ Upcycling SE จัดการขยะพลาสติกครบวงจร รีไซเคิลสู่สินค้าแฟชั่นและของใช้ประจำวัน โครงการชุมชนยิ้มได้ ยกระดับสินค้าชุมชนให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเพิ่มรายได้ให้วิสาหกิจชุมชน และโครงการ SE Solar Energy Business นำร่องที่ตลาดหัวปลี จ.สระบุรี จับมือชุมชนเปลี่ยนแหล่งที่มาของพลังงานที่ใช้มาเป็นพลังงานสะอาด เป็นต้น

ซึ่งในวันนี้สานพลังได้มองเห็นความสำคัญของการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ตอบโจทย์การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และสามารถขยายผลการแก้ปัญหาในวงกว้าง จึงได้ผนึกกำลังกับกลุ่ม ปตท. ในโครงการสานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon เพื่อคัดเลือกสุดยอดไอเดียที่จะสามารถเป็นต้นแบบธุรกิจที่แก้ไขปัญหาสังคมได้ โดยจะสนับสนุนและช่วยปั้นไอเดียธุรกิจเพื่อสังคมร่วมกับไรส์ (RISE) สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร โดยใช้จุดแข็งของกลุ่ม ปตท. ในการสร้างโซลูชันใน 4 โจทย์หลัก ได้แก่ การพัฒนาเมืองยั่งยืน การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับฟังเสวนาในหัวข้อ Powering Life with Social Innovations จากผู้นำรุ่นใหม่ที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการพัฒนาสังคม ได้แก่ ด้านการพัฒนาเมืองจาก คุณวริทธิ์ธร สุขสบาย ผู้ร่วมก่อตั้ง Mayday ด้านสิ่งแวดล้อมจาก คุณสุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้ร่วมก่อตั้ง Refill Station ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ จาก คุณชาคิต พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YoungHappy  และด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นจาก คุณภัทรารัตน์ ตั้งนิสัยตรง ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการ Roots Incubation Program ดำเนินรายการโดย คุณทลปภร ปัญโยรินทร์ ผู้จัดการทั่วไป Social Enterprise Thailand Association  

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon จะมีโอกาสเวิร์กชอปการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมในเชิงธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. และองค์กรพันธมิตรชั้นนำระดับประเทศ ร่วมกับไรส์ มาเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดตลอดโครงการ ซึ่งหากได้รับคัดเลือกเป็น 4 ทีมสุดท้าย จะมีโอกาสได้รับเงินรางวัลและเงินทุนตั้งต้นในการร่วมกระบวนการทดสอบไอเดียธุรกิจ Proof of Concept (POC) กับบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมมูลค่ากว่า 540,000 บาท เพื่อพัฒนาไอเดียให้สามารถออกสู่ตลาดพร้อมแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้จริง โครงการฯ เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันนี้ - 2 มิถุนายน 2566
 

‘BCPG’ บริษัทย่อยเครือบางจาก ทุ่มเงิน 8.9 พันล้าน ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ 2 แห่ง

วันที่ (24 พ.ค. 66) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘BCPG’ เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ 2 แห่ง โดยใช้เงินลงทุนไม่เกิน 260 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 8,919.30 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนดังกล่าว ทำให้บริษัทได้มาซึ่งกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 426 เมกะวัตต์

โดยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 BCPG USA Inc. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น (Purchase and Sale Agreement) กับ Frankin Power Holdings LLC (ผู้ขาย)

เพื่อทำรายการซื้อหุ้นในสัดส่วน 25.00% ของหุ้นทั้งหมดใน Hamilton Holdings I LLC (บริษัทเป้าหมาย) ในจำนวนเงินไม่เกิน 260,000,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือเทียบเท่า 8,919,300,000 บาท) ซึ่งบริษัทเป้าหมายถือหุ้น 100% 

มีโครงการดังต่อไปนี้

1.) โครงการโรงไฟฟ้าก๊ซธรรมชาติ Hamilton Liberty LLC (Liberty) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 848 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ในเขตอไซลัม (Asylum) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 25% คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนเทียบเท่ากับ 212 เมกะวัตต์

2.) โครงการโรงไฟฟ้าก๊ซธรรมชาติ Hamiton Patriot LLC (Patriot) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 857 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในเขตคลินตัน (Cinton) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 25% คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนเทียบเท่ากับ 214 เมกะวัตต์

กลุ่มธุรกิจ TCP โชว์ศักยภาพผู้นำ ในงาน THAIFEX 2023 เปิดตัวสินค้า-บริการใหม่ ปลุกพลังธุรกิจ F&B ดันไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 66 นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มมากกว่า 60 ปี ภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้, โสมพลัส, สปอนเซอร์, ไฮ่!, x DHC, แมนซั่ม เพียวริคุ, ซันสแนค, ฮอปสเตอร์ และวอริเออร์ ได้ร่วมงาน THAIFEX - ANUGA ASIA 2023

โดยชูแนวคิด Energizing a Better World for All ประกาศศักยภาพก้าวสู่ผู้นำธุรกิจ F&B ในเอเชีย เปิดสินค้าใหม่ ต่อยอด House of Great Brands และบริการใหม่ TCP Online Shop เดินหน้าปลุกพลังเพื่ออนาคตธุรกิจ F&B ขับเคลื่อนไทยสู่ผู้นำตลาดโลก  

สำหรับไฮไลต์ของ TCP ในครั้งนี้ มีความน่าสนใจในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ หลังจากผู้คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมันต่ำและปราศจากน้ำตาลมากตาม ทำให้ทางกลุ่ม TCP ได้มีการพัฒนา 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ได้แก่...

- FarmZaa (ฟาร์มซ่า) แบรนด์น้องใหม่ สนับสนุนเกษตรกรไทยให้เติบโต เพิ่มมูลค่าผลไม้ไทย นำร่องด้วย ‘มะปี๊ด ผลไม้ถิ่นเมืองจันท์’ ที่มีรสชาติเปรี้ยวหวานกำลังดีและมีคุณประโยชน์สูง มาพัฒนาเป็นเครื่องดื่มโซดาที่ทำจากผลไม้แท้ กลิ่นน้ำผึ้ง หอม สดชื่น วิตามินซีสูง 200% ที่สำคัญไม่ผสมน้ำตาล ดื่มได้ทุกวัน ภายใต้สโลแกน ‘FarmZaa อร่อย สดชื่น ดีต่อใจ’

- Planett (แพลนเนต) เครื่องดื่ม Floral Soda ผสานกลิ่นดอกไม้และผลไม้มอบความหอมสดชื่น ใช้ส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่มีน้ำตาล และแคลอรี่ 0% มีแอล-ธีอะนีน มีส่วนช่วยให้ผ่อนคลาย โดยทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 50 สินค้านวัตกรรมด้านรสชาติ (Taste Innovation Show) ที่จะถูกจัดแสดงในงาน THAIFEX - ANUGA ASIA 2023 อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ ทางกลุ่ม TCP ยังได้นำเสนอ BESTURAL collagen gummies (เบสท์เชอรัล คอลลาเจน กัมมี่) นวัตกรรมคอลลาเจนรูปแบบกัมมี่ คอลลาเจนคุณภาพนำเข้าจากญี่ปุ่น ทานง่าย ไม่ต้องชง อร่อยด้วยน้ำสตรอว์เบอร์รี่แท้ๆ ผ่านการคัดเลือกและเป็นส่วนหนึ่งของโชว์เคสอาหารแห่งอนาคตมานำเสนอในงานอีกเช่นกัน

นอกจากนี้ ทางกลุ่ม TCP ยังนำเสนอไฮไลต์นอกเหนือจากกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ผ่าน ‘เดอเบล’ ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้า และคลังสินค้าระดับประเทศที่ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่กระจายสินค้า ให้คำปรึกษาด้านการตลาด และกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดดเด่นด้วยความเข้าใจและสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรคู่ค้าที่ต้องการเปิดตลาดในประเทศไทย

‘ไทยซัมมิท’ ทุ่ม 5 พันล้าน พัฒนาฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รองรับ EV จีน หวังกวาดรายได้ทั้งใน-นอกประเทศ 9 หมื่นล้าน

กลุ่มไทยซัมมิทเดินหน้าลงทุนอีก 5,000 ล้าน พัฒนาฐานผลิตทั้งในและต่างประเทศ ระบุหลังโควิดยอดขายสูงกำไรลดลง เผย ได้งานค่ายบิ๊กทรีในอเมริกา ส่วนในไทยเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รับค่ายรถจีนอีกอย่างน้อย 5 แบรนด์ ลั่น ปีนี้โกยรายได้ไม่น้อยกว่า 9 หมื่นล้าน

(24 พ.ค. 66) นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ว่า กลุ่มไทยซัมมิทเตรียมงบประมาณสำหรับการลงทุนไว้ 5,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย โดยหลัก ๆ เน้นการลงทุนตามอุตสาหกรรม โดยแบ่งเป็นการลงทุนสำหรับธุรกิจในประเทศไทย ที่จะเน้นการลงทุนแม่พิมพ์สำหรับรองรับโมเดลใหม่ ๆ รวมทั้งการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งอเมริกาใต้, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย รวมไปถึงฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย

“เรียกว่าการลงทุนของไทยซัมมิทในปีนี้ หลัก ๆ จะเป็นการลงทุนสำหรับฐานการผลิตในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในอเมริกา ซึ่งลูกค้าหลักในกลุ่ม Big 3 เริ่มขยับมาลงทุนในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนในไทยเองเราก็กำลังเตรียมงานเพื่อรองรับลูกค้าในส่วนนี้ล่วงหน้า อย่างน้อย 3-4 ปี ล่วงหน้า ซึ่งต้องรอให้บรรดาค่ายรถยนต์ออกมาประกาศความชัดเจน แต่วันนี้ไทยซัมมิทเตรียมงานในส่วนนี้และยุ่งกับตรงนี้อยู่” นางสาวชนาพรรณ กล่าว

นอกจากนี้ นางสาวชนาพรรณยังเปิดเผยถึงโอกาสของกลุ่มไทยซัมมิท หลังจากมีรถ EV เข้ามาบุกตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง และเร็ว ๆ นี้จะมีค่ายรถแบรนด์จีนอีก 4-5 แบรนด์ พร้อมที่จะขึ้นไลน์ผลิตในประเทศไทย ซึ่งไทยซัมมิทได้มีโอกาสซัพพลายชิ้นส่วน ทั้งแบรนด์ที่ไฟนอลแล้วและแบรนด์ที่กำลังเตรียมเข้ามาทำตลาด ไทยซัมมิทอยู่ระหว่างการนำเสนอราคา

นอกจากนี้ อาจจะมีการลงทุนเพื่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ หลังจากก่อนหน้านี้การบริหารจัดการภายในประเทศได้มีการปรับเปลี่ยน และโรงงานบางส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“ตอนนี้บางรายให้เราเข้าไปเสนอราคาและนำเข้าไปที่จีน พวกที่ยังไม่จบคือยังอยู่ระหว่างทำราคากันอยู่ ส่วนกลุ่มที่จบแล้วกำลังดูว่าแต่ละโมเดลเราได้อะไรมากน้อยแค่ไหน ก็คละ ๆ กันไป ผลประกอบการตอนนี้ยอดขายสูงจริง แต่กำไรกลับลดลง” สำหรับในแง่ของเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้รวมไม่น้อยกว่า 90,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนนโยบายหลัก ๆ ในการขับเคลื่อนธุรกิจนั้น คือเน้นเติบโตไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรม โดยในส่วนของความสามารถในการทำกำไรหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ทำให้ภาคธุรกิจมีการปรับเปลี่ยน แม้ว่าจะมียอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของกำไรนั้นกลับลดลง ต้นทุนในการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องพยายามในการควบคุมบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้ได้ประสิทธิภาพ

“ปีนี้เราเองก็ยังไปไม่ถึงตัวเลขที่ตั้งใจไว้ คือแสนล้าน เพราะปัจจัยทุกอย่างเปลี่ยน แต่ถ้าธุรกิจของคนไทยสามารถก้าวขึ้นไปในระดับนั้นได้จริงจะถือเป็นความภูมิใจและไทยซัมมิทเองอยากจะไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้” นางสาวชนาพรรณ กล่าว
.
รวมถึงการเดินหน้าพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพราะอนาคตอันใกล้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแบรนด์จีนที่รัฐบาลไปชักชวนมาลงทุนในประเทศไทยน่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ อนาคตเชื่อว่าน่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอาจจะมีการแย่งงานกัน เพราะอย่างน้อยจะมี 5 โรงงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ ถ้าจะประเมินคราว ๆ 1 โรงงานใช้พนักงาน 1,000 คน และกลุ่มผู้ผลิตรายเดิมก็ต้องมีการปรับปรุงขยายไลน์ผลิตเพิ่มเติม

ตรงนี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ เนื่องจากทุกคนต่างต้องการพนักงานที่มีความพร้อมในการทำงานได้ทันที และยังไม่นับรวมอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียง หรือมีความใกล้ชิดจะถูกดึงตัวไป ไทยซัมมิท มองว่าตรงนี้อาจจะกลายเป็นปัญหากระทบกันทั้งซัพพลายเชน ถ้าไม่เร่งหาทางออก

‘สารัชถ์’ ทุ่ม 818 ล้านบาท ลุยซื้อ ‘GULF’ 17 ล้านหุ้น อาศัยจังหวะหุ้นร่วง เหตุกังวลนโยบายทลายทุนผูกขาด

‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ อาศัยจังหวะที่หุ้น GULF ร่วง -10% เพราะความกังวลนโยบาย ‘ทลายทุนผูกขาด’ ช้อนซื้อหุ้นบริษัทตัวเองเพิ่มอีก 17 ล้านหุ้น ด้วยเงินกว่า 800 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 66 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) รายงานก.ล.ต.ว่าได้ใช้เงินประมาณ 818 ล้านบาทในการเข้าซื้อหุ้น GULF รวม 17.0898 ล้านหุ้น ในช่วง 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 66 ซื้อจำนวน 6 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 47.79 บาท/หุ้น เป็นเงินประมาณ 286.74 ล้านบาท วันรุ่งขึ้นซื้ออีก 5 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 48.20 บาท เป็นเงิน 241 ล้านบาท และวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ซื้อเพิ่ม 6,089,800 หุ้น ราคาเฉลี่ย 47.62 บาท ประมาณ 290 ล้านบาท ทำให้มีหุ้นทั้งสิ้น 4,202,177,897 หุ้น

ทั้งนี้จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ พบว่านายสารัชถ์ถือหุ้นอันดับหนึ่ง จำนวน 4,185.09 ล้านหุ้น สัดส่วน 35.67% ด้านหุ้น GULF ราคาปิดที่ 48.50 บาท บวก 0.25 บาท หรือ +0.52% เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 66

ก่อนหน้านี้ 12 พ.ค. 66 ราคาหุ้น GULF ปิดที่ 52.50 บาท แต่เมื่อผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ออกมาพลิกล็อก พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะ มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีนโยบายในการปรับลดค่าไฟฟ้า เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ส่งผลกระทบให้ราคาหุ้นกลุ่มไฟฟ้าทรุดตัวลงแรง ไม่เว้น GULF ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและกระจายธุรกิจเพื่อสร้างรายได้หลากหลายวันที่ 15 พ.ค. ราคาปิดที่ 48 บาท รูดลง 4.50 บาทคิดเป็น -8.57%

‘Thai Startup’ ผนึกกำลัง 200 องค์กร หนุนสตาร์ทอัพไทย ปรับโครงสร้างตลาด ดันไทยสู่ประเทศผู้นำนวัตกรรม-เทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 66 ในวาระครบรอบ 9 ปี สมาคม Thai Startup ประกาศผลงานความสำเร็จในการขับเคลื่อนระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพ พร้อมจับมือพันธมิตรกว่า 200 องค์กรขับเคลื่อน เศรษฐกิจนักสร้าง (Makers Economy) นวัตกรรมไทย (Thai Innovation) และ การทำ Digital Transformation อย่างต่อเนื่อง

โดยในงานมีสตาร์ทอัพไทย ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มากกว่า 500 ราย และหุ้นส่วนพันธมิตรที่เกี่ยวข้องจากทางภาครัฐและเอกชนกว่า 200 รายที่มีส่วนในการขับเคลื่อนระบบนิเวศน์เข้าร่วม

ผศ.ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup เปิดเผยข้อมูลว่าปัจจุบันสมาชิกกว่า 200 รายของสมาคมมีผลประกอบการรายได้รวมกันมากกว่า 1 พันล้านบาท เติบโตโดยเฉลี่ย 2.5 เท่าต่อปี และมีผู้ใช้รวมกันมากกว่า 35 ล้านคน มียูนิคอร์น (มูลค่าบริษัทมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท) 3 คือ Flash Express Bitkub และ LINE MAN Wongnai และมีบริษัทที่มีผู้ใช้มากกว่า 1 ล้านคนอีก 11 บริษัท

ในส่วนของผลงานที่ผ่านในระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาของคณะกรรมการวาระ 2022-2023 สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อสมาชิก และช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยร่วมกับ 200 องค์กรไปแล้วกว่า 50 งาน

ด้านคุณแคสเปอร์-ธนกฤษณ์​ เสริมสุขสัน อุปนายกและประธานฝ่ายกลยุทธ์ ประกาศกลุยทธ์ 5 หา (HAHA) ในการช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศน์นวัตกรรมไทยร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เพื่อช่วยบริษัทสตาร์ทอัพไทย และบุคคลที่สนใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจผู้ผลิตนวัตกรรม ได้แก่

หาตลาด : จัดทำเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงตลาดในทุกภูมิภาคในประเทศไทย ต่อยอดเครือข่ายใน ASEAN และตลาด Emerging Market รวมถึงตลาดภาครัฐ (B2G)

หาทุน : ต่อยอด Grant Day สร้างศูนย์ข้อมูลทุนภาครัฐในการเริ่มต้นและสร้างธุรกิจ รวมถึงจัดทำเครือข่ายและฐานข้อมูลของนักลงทุน Angel และ VC

หาคน : จัดทำ Startup Talent Pool และพัฒนาบุคคลากรและผู้ประกอบการจากทั้งในและต่างประเทศ

หาเพื่อน : ขยาย community จัดทำ Thai Startup Regional Hub และ สภาสตาร์ทอัพ ASEAN & Emering Markets รวมถึงจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายผู้ผลิตนวัตกรรมจากเอกชนและภาครัฐอื่น

หาทางออก : ขับเคลื่อนแก้กฏหมาย และนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ และจัดกิจกรรมเพื่อสังคมโดยใช้นวัตกรรมและกระบวณการทำ startup ต่อไป

หนึ่งในข้อเสนอที่สมาคมจัดทำและนำเสนอในงาน คือ Concept Paper ซึ่งรวบรวมข้อเรียกร้องที่ในนามสมาชิก นำเสนอไปยังภาครัฐเพื่อให้เป็นผู้สนับสนุน (Enabler) ในวงการสตาร์ทอัพ โดยคุณรับขวัญ ชลดำรงค์กุล อุปนายกและประธานฝ่ายกฎหมาย นำเสนอผลการศึกษาว่า ในปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 35 หน่วยงานที่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีเครื่องมือพร้อมสนับสนุน Startup ทั้งในแง่โครงสร้างพื้นฐาน ตลาดภายใน-ต่างประเทศ การสร้างกำลังคน การสนับสนุนเงินให้เปล่า เงินลงทุน และสุดท้ายในแง่การกำจัดอุปสรรคด้านกฎหมาย พร้อมข้อเสนอ quick-wins ที่ทางสมาคมอยากนำเสนอ เช่น Open Data, 1 หน่วยงาน 1 Startup และ Guillotine กฎหมาย โดยสมาคมพร้อมสนับสนุนทุกโครงการที่ภาครัฐฯ จะทำและขับเคลื่อน

โดยในงาน Makers United 2023 ได้มีกิจกรรมอื่นๆ ดังนี้

- เปิดเวทีให้ความรู้โดยเหล่าผู้คร่ำหวอดวงการใน startup แนะนำเทคนิคและเบื้องลึกวงการสตาร์ทอัพตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจนถึงประสบความสำเร็จ (Idea to Exit)
- เปิดตัวหนังสือ The Startup Mindset  29 แนวคิด จาก Startup Founder โดยคุณแคสเปอร์ คนไทยคนแรกที่ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับ Warren Buffett
- เปิดตัวโครงการ Scaleup 99 ในโอกาสครบรอบ 90 ปีหอการค้าไทย Thai Chamber และ 9 ปีสมาคม Thai Startup
- มอบรางวัล 1 Million Club ให้กับสมาชิกสตาร์ทอัพที่มีผู้ใช้มากกว่า 1 ล้านคน
- มอบรางวัล Friends of Makers Awards 10 สาขาให้กับพันธมิตรและบุคคลที่ทำงานร่วมกับสมาคมในการขับเคลื่อนระบบนิเวศน์ผู้ผลิตนวัตกรรมของไทย

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของ สมาคม Thai Startup ในการเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศผู้บริโภคนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Nation of Users) ให้เป็นประเทศผู้ผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Nation of Makers) โดยได้รับการสนับสนุนจาก Globish โกลบิช ภาษาอังกฤษสำหรับวัยทำงาน, AIS The Startup, Accrevo, QGEN, DBC, A2D Ventures, really Corp. (The Startup Mindset Book), LawxTech, iNT Mahidol, iTAX, Beacon Venture Capital, สมาคม Thai Venture Capital Association - TVCA, QueQ, LINE Thailand - Official, Witsawa, Zipevent, Kudun and Partners, Datawow และ Zeek Nurse

ติดตามข้อมูลสาระสำคัญต่างๆ ได้ทาง
Website : www.thaistartup.org
Facebook : https://www.facebook.com/thaistartupofficial

‘อลงกรณ์’ ผนึกความร่วมมือ ‘ไทย-จีน’ สร้างโอกาสเศรษฐกิจ ดันอุตสาหกรรมอาหารของทั้ง 2 ชาติ สู่เวทีอาหารโลก

(25 พ.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวเปิดงาน การประชุมส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารจัดโดย คณะกรรมการเทศบาลเมืองแต้จิ๋วแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลเทศบาลเมืองแต้จิ๋ว และสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย-เอเซีย ที่ รร.อนันตารา กรุงเทพฯ

โดยมีผู้ร่วมงานประกอบด้วย นายหวัง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ สถานทูตจีนประจำประเทศไทย, เหอ เสี่ยวจวิน เลขาธิการคณะกรรมการพรรคเทศบาลประจำแต้จิ๋ว, เฉิน เสี่ยวตัน ผู้อำนวยการสำนักการค้าเทศบาลประจำแต้จิ๋ว, นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ, ดร.แทนคุณ จิตต์อิสระ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีพาณิชย์, นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทยจีน และนายวิชัย มณีกิติกุล รักษาการแทนนายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และตัวแทนภาคเอกชนไทยและจีน

โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยและจีนในการขยายความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารไทยและอาหารจีน ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ภายใต้แนวทางอาหารไทย อาหารจีน อาหารโลก โดยเฉพาะเมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้งเป็น 1 ใน 6 เมืองแห่งอาหารของจีน เมื่อผสมผสานศักยภาพของไทยในฐานะครัวไทยครัวโลกจะเพิ่มโอกาสของทั้ง 2 ฝ่าย

“จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยเช่นเดียวกับด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว ด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเสมือนกากี่นั๊ง ความร่วมมือระหว่างไทยกับเมืองแต้จิ๋วในครั้งนี้ จะเป็นอีกเสาหลักของการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างกันโดยกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนยินดีสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาหารไทย-จีนแต้จิ๋วอย่างเต็มที่” นายอลงกรณ์ กล่าว

‘กลุ่ม ASIAN’ ขู่ย้ายฐานผลิต หาก ‘รบ.ก้าวไกล’ ปรับขึ้นค่าแรง คาด อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม-เศรษฐกิจทั้งระบบ

(25 พ.ค. 66) จากกรณีที่ พรรคก้าวไกล ประกาศนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 450 บาททั่วประเทศ หากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจิรญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 พร้อมด้วยทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เข้าพบสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับเข่าคุยปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 450 บาทนั้น

นายสมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ASIAN หรือ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารแช่เยือกแข็ง และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Shelf stable food) ประกาศเตรียมพร้อมลงทุนในประเทศเวียดนามหรือฟิลิปปินส์ เพื่อขยายโรงงานเพิ่มกำลังผลิต หรืออาจถึงขั้นเตรียมย้ายฐาน หากรัฐบาลใหม่นำนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวันมาใช้จริง คาดกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจทั้งระบบ

อีกทั้งยังเปิดทางให้ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มีความน่าสนใจกับนักลงทุนมากกว่า เนื่องจากเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรวัยทำงานมาก และมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานคุ้มค่ากว่าประเทศไทย ตนก็อาจต้องยอมเอา Know-how เอาเงินทุนไปลง เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ในระยะยาว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top