Friday, 26 April 2024
Econbiz

'โงวฮก’ บริษัทใจบุญผู้บริจาคเงิน 520 ลบ. สร้าง ‘รพ.หัวใจบ้านแพ้ว’ จากอดีตธุรกิจโรงสีข้าว สู่ความสำเร็จทางธุรกิจเดินเรือชั้นนำระดับโลก

เป็นข่าวฮือฮาและเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อบริษัทที่ชื่อว่า ‘โงวฮก’ ได้บริจาคเงินจำนวน 520 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) เพื่อสร้างอาคารโรงพยาบาลหัวใจบ้านแพ้ว

กล่าวสำหรับ ‘โงวฮก’ คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นชื่อหรือไม่รู้จักบริษัทนี้มากนัก แต่สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเดินเรือต่างรู้จัก บริษัทแห่งนี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นบริษัทเก่าแก่ที่ประกอบธุรกิจมายาวนานเกือบ 100 ปี

อีกทั้งยังมีบริษัทลูกที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ในนาม บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) (RCL) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเดินเรือระดับโลกของคนไทย ที่มีกำไรมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 ที่ผ่านมา

วันนี้ ทาง THE STATES TIMES จะพาไปรู้จักความเป็นมาของ ‘โงวฮก’ ให้มากขึ้น

บริษัท โงวฮก จำกัด ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2472 จากการรวมตัวกันของเจ้าของโรงสีข้าวชาวไทยเชื้อสายจีน 5 คน ซึ่งมองเห็นโอกาสทางธุรกิจและเชื่อว่าธุรกิจขนส่งทางเรือ หรือ ‘ชิปปิ้ง’ (Shipping) สามารถบริหารจัดการโดยผู้ประกอบการชาวไทยได้ 

ย้อนกลับไปเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ในการดำเนินธุรกิจเดินเรือต้องใช้เงินลงทุนสูงและความรู้เฉพาะด้าน ทำให้ธุรกิจประเภทนี้ล้วนอยู่ภายใต้บริษัทตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ เช่น East Asiatic และ British India ส่งผลให้อัตราค่าระวางและค่าขนส่งสินค้าถูกกำหนดโดยบริษัทต่างชาติ

ดังนั้น แนวคิดการจัดตั้งบริษัทขนส่งของคนไทยในยุคนั้น จึงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การแก้ปัญหาค่าระวางเกินราคาและปัญหาตารางการเดินเรือที่ไม่เที่ยงตรงนัก

สำหรับชื่อ ‘โงวฮก’ มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วประกอบด้วยคำสองคำที่มีความหมาย คำว่า ‘โงว’ หรือ ‘โหงว’ ในภาษาไทยแปลว่า ‘ห้า’ หมายถึง 5 ตระกูลผู้ก่อตั้ง ได้แก่ บุลกุล, บุลสุข, ก่อวัฒนา, ตันตะเศรษฐี และตันธุวนิตย์ ส่วนคำว่า ‘ฮก’ มีความหมายด้านมลคลหลายอย่าง เช่น ‘โชค ลาภ รุ่งเรือง’ ดังนั้น ‘โหงวฮก’ จึงตีความได้ว่าเป็น ‘ห้ารุ่งเรือง’ ดังเห็นได้จากดาวนำโชค 5 ดวงในโลโก้บริษัท และเรือกลไฟลำแรกที่บริหารและดำเนินการโดยโงวฮก จึงมีชื่อว่า ‘S/S Prosperity’

ธุรกิจหลักอันดับแรกของ ‘โงวฮก’ คือ การขนส่งสินค้าเกษตรจากประเทศไทยไปยังฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ในขณะเดียวกัน ก็ได้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ อาทิ จีนแผ่นดินใหญ่ผ่านฮ่องกง เข้ามายังประเทศไทยด้วย 

และนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ‘โงวฮก’ ภายใต้การบริหารของตระกูล ‘ตันธุวนิตย์’ ได้เอาชนะความผันผวนทางเศรษฐกิจต่างๆ และค่อยๆ ผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทเจ้าของเรือชั้นนำของประเทศ ด้วยการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจเดินเรือของ ‘โงวฮก’ เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้ง เมื่อ ‘สุเมธ ตันธุวนิตย์’ ได้ก่อตั้งบริษัท บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) (RCL) เพื่อขยายธุรกิจไปสู่บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเล เมื่อปี 2523 และได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2531 

ปัจจุบันการดำเนินงานของ RCL มี ‘สุเมธ ตันธุวนิตย์’ เป็นประธานกรรมการบริหาร โดยดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภท คือ 1.) Shipper Owned Container (SOC) หรือตู้สินค้าของเรือเดินสมุทรข้ามทวีป 2.) Carrier Owned Container (COC) หรือตู้สินค้าของกลุ่มบริษัทที่ให้บริการภายในภูมิภาค และ 3.) การให้บริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มในด้านโลจิสติกส์ โดยมีเครือข่ายสำนักงานที่ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนุทวีปอินเดีย ตะวันออกกลาง ทะเลแดง และแอฟริกาตะวันออก

ในปี 2565 บริษัท RCL ถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 26 ในหมู่ผู้ให้บริการขนส่งทางทะเลระดับโลก และอยู่ในระดับตันๆ ของกลุ่มผู้ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบัน RCL ดำเนินการกองเรือ 40 ลำ (ณ สิ้นปี 2565) ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 400 TEU ถึง 6,400 TEU นอกจากนี้ ยังมีกองเรือจำนวน 94,439 TEU เพื่อรองรับการขนส่ง COC ของตัวเองด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทได้มีการสร้างเครือข่ายด้านโลจิสติกส์กับลูกค้าและเอเยนซี่สำคัญๆ ในต่างประเทศ จำนวน 69 แห่ง และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการบริการ SOC และ เป็นผู้บริหารท่าเรือจำนวน 1 ท่าในภูมิภาคเอเชีย

ผลประกอบการ ‘โงวฮก’ ย้อนหลัง 5 ปี
ปี 2561 รายได้ 470 ล้านบาท กำไร 192 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 435 ล้านบาท กำไร 126 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 635 ล้านบาท กำไร 241 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 1,513 ล้านบาท กำไร 1,167 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 2,053 ล้านบาท กำไร 1,730 ล้านบาท

ผลประกอบการ ‘RCL’ ย้อนหลัง 4 ปี
ปี 2562 รายได้ 16,566 ล้านบาท ขาดทุน 492 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 17,255 ล้านบาท กำไร 1,745 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 38,007 ล้านบาท กำไร 17,973 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 52,219 ล้านบาท กำไร 24,625 ล้านบาท


 

'Arun Plus' ผนึก 'CATL' ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ EV ในไทย ดันไทยสู่ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในอาเซียน

(9 มิ.ย. 66) Arun Plus – CATL บรรลุข้อตกลงร่วมจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะพร้อมเดินสายการผลิตภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) พร้อมด้วย 
Mr. Ni Zheng, Executive president of overseas car business, and CEO of Japan & Korea affiliate, Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) ลงนามสัญญาร่วมจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Cell-To-Pack (CTP) ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ขั้นสูงที่นำเซลล์แบตเตอรี่มาประกอบกันเป็นแพ็กโดยตรง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกอบเป็นโมดูล ทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพความจุพลังงานสูงขึ้น น้ำหนักเบา และมีความปลอดภัยสูง เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ภายใต้ความร่วมมือกับ CATL ผู้นำในระดับสากลด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ EV โดยพิธีลงนามฯ จัดขึ้นที่งาน Shanghai International Automobile Industry Exhibition สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง Arun Plus กับ CATL ในครั้งนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่อย่างครบวงจรในอนาคต ด้วย CATL เป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Battery Value chain) ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง Arun Plus มุ่งมั่นที่จะสร้างความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยได้ร่วมกับ Honhai Precision Industry Co., Ltd หรือ FOXCONN ก่อตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด (Horizon Plus) เพื่อดำเนินการผลิต EV รองรับความต้องการที่สูงขึ้นทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน โดยจะเริ่มเดินสายการผลิตในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50,000 คันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 150,000 คันในปี 2573

ซึ่งการก่อตั้งโรงงานแบตเตอรี่ CTP ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ โรงงานผลิต EV ดังกล่าว และในอนาคต Arun Plus ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับ CATL เพื่อนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ของ CATL มาใช้ในประเทศ อาทิ เทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Swapping) เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ (Battery Recycling) เทคโนโลยีแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ CATL (CATL Integrated Intelligent Chassis : CIIC) พร้อมทั้งจะศึกษาแนวทางในการเป็นผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในอนาคต

ความร่วมมือในการจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ CTP นี้ นอกจากจะช่วยเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม Arun Plus แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป

4 สัญญาณอันตราย

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจว่า วิกฤตเพดานหนี้สหรัฐฯ แม้จะมีข้อยุติชั่วคราวไปแล้ว แต่ได้สะท้อนปัญหาการคลังที่รัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งรัฐบาลไทย ซุกไว้ใต้พรมและพร้อมที่จะประทุได้อีกทุกเมื่อ หากไม่มีการแก้ไขที่ต้นเหตุ ใน 4-5 ปีข้างหน้า แนวโน้มฐานะการคลังจะเลวร้ายลงจากสาเหตุ 4 ประการ ประกอบด้วย

1. ดอกเบี้ยสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้งบชำระหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างมาก
2. ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์โลก ทำให้ทุกประเทศต้องจัดงบประมาณด้านการทหารสูงขึ้น
3. การแก้ปัญหาโลกร้อนและการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น
4. สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับรัฐในด้านบำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพคนชรา และการรักษาพยาบาล

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.0% อาจเป็นการซ้ำเติมภาระหนี้รัฐบาลและประชาชนขึ้นอีก รวมทั้งยังอาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและเศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัวลง ดังนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลอาจต้องเตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากทั่วโลกเปิดประเทศหลังโควิด โดยเฉพาะจีน น่าจะเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุน Sovereign Wealth Fund ที่มีรายได้มาจากการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย โดยกองทุนดังกล่าวควรเข้ามาดูแลปัญหาและต้นทุนที่การท่องเที่ยวก่อเกิดกับประเทศไทย เช่น การประกันภัยและการรักษาพยาบาลนักท่องเที่ยว การบูรณะและฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมทรามลง การลดผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจากรายได้การท่องเที่ยว
 

INTUCH เร่งสอบปมประชุมผู้ถือหุ้น ‘ไอทีวี’ หลังคลิปรายงานประชุมไม่ตรงกับเอกสาร

(12 มิ.ย. 66) จากกรณีการเปิดคลิปประชุมผู้ถือหุ้น 'ไอทีวี' เรื่องธุรกิจสื่อ ไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุม จนเป็นที่จับจ้องต่อสาธารณชนอยู่ ณ ขณะนี้ โดยบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH มีหนังสือชี้แจง กรณีดังกล่าวที่เกี่ยวข้องไอทีวี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้หุ้นใหญ่ในสัดส่วน 52.92% ปรากฏตามสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวีที่ผ่านมา 

โดย INTUCH ได้รับทราบข้อมูล และได้ให้ทางคณะกรรมการและฝ่ายจัดการของไอทีวี ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นและหากมีประเด็นใดๆ ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทางไอทีวีจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ มีการร้องเรียน กกต. เรื่องการถือหุ้นสื่อ หรือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเตดนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ต่อมาเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายพิธาได้มีการโอนหุ้นดังกล่าวออกไปแล้วนั้น

จนกระทั่งข่าว 3 มิติ ได้มีการเปิดคลิปวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ซึ่งได้รับข้อมูลมาจากหนึ่งในผู้ถือหุ้นไอทีวี ที่เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี ผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 เพื่อให้ตรวจสอบว่า บันทึกการประชุมที่มีการเผยแพร่เป็นเอกสาร ไม่ตรงกับการประชุมที่มีการถ่ายทอดผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการบันทึกเป็นคลิปวิดีโอไว้

โดยเฉพาะช่วงคำถามว่า ไอทีวี ยังดำเนินกิจการสื่อหรือไม่ จึงอยากให้ตั้งคำถามไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของไอทีวีที่อาจจะกลับมาดำเนินกิจการต่อไป หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา กรณี สปน. ยกเลิกสัมปทานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

ทั้งนี้มีการเปิดคลิปการประชุมระบุเสียงว่า “ในเดือนธันวาคม สิ้นปีนี้ บริษัทจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระล่วงหน้า สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีถัดไป โดยผู้ถือหุ้นสามารถอ่านคำแนะนำและวิธีการเสนอวาระ ในเว็บไซต์ของบริษัท www.itv.co.th หรือติดต่อสอบถามฝ่ายเลขานุการของบริษัทได้”
 
“ไม่ทราบว่าผู้ถือหุ้นมีข้อซักถามอื่นๆ อีกรึเปล่าครับ”

“มีคำถามมาจาก คุณภาณุวัฒน์ ขวัญยืน มาด้วยตัวเองนะครับ มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ”

“ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน”

“จากคุณวิรัตน์ คล่องประกิจ หากคดีความต่างๆ จบสิ้นเรียบร้อย บริษัทจะมีปันผลไหม บริษัทจะมีแผนการดำเนินงานธุรกิจต่อไป จะเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกหรือเปล่า บริษัทมีแผนจะชำระบัญชี หรือกิจการอื่นๆ แก่ผู้ถือหุ้นหรือไม่”

“ขอเรียนอย่างนี้ ผมว่าผลของคดีเป็น เขาเรียกว่าอะไรเป็นจุดสำคัญที่สุดของบริษัท ถ้าผลคดียังไม่ได้ออกมา มันเป็นไปได้ยากมากที่เราจะดำเนินการใดๆ กับไอทีวี ณ ขณะนี้ อย่างในอดีตที่ผ่านมา เราได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาดู Option ต่างๆ ทางเลือกต่างๆ ก็ยังไม่ได้มีทางเลือกใดๆ ที่เหมาะสม ณ ขณะนี้ ทั้งหมดทั้งมวลต้องรอผลทางคดี ถ้าผลคดีสิ้นสุดลงแล้ว ทางบริษัทจะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมให้กับทางผู้ถือหุ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพิจารณา จะจ่ายเงินปันผลอย่างไร จะดำเนินธุรกิจต่อไปหรือไม่อย่างไร หรือจะชำระบัญชีอย่างไรทางเราจะพิจารณาทางเลือกที่มีทั้งหมดและเลือกทางเลือกที่เหมาะสมให้ผู้ถือหุ้นต่อไป”

ส่องเส้นทาง 103 ปี ‘ชาตรามือ’ ธุรกิจชาไทย ที่ดังไกลถึงต่างแดน

(12 มิ.ย. 66) ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ภาพผู้บริโภคยืนต่อคิวชิม ‘ชาตรามือ’ ในประเทศเวียดนาม ได้ถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง หลังแบรนด์เครื่องดื่ม ‘ชาไทย’ จากประเทศไทย ไปปักหมุดสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์ และจะให้บริการเต็มรูปแบบวันที่ 12 มิ.ย.นี้

เส้นทาง ‘การเติบโตของชาตรามือ’ จากอดีตถึงปัจจุบันถือว่ากินเวลาถึง 103 ปีแล้ว แต่ชื่อแบรนด์นั้นมีอายุ 78 ปี ซึ่งสินค้าเครื่องดื่มไม่ได้ดังแค่ในประเทศไทย แต่มีร้านเปิดให้บริการในหลายประเทศของเอเชีย

ปี 2463 คือการเดินทางของ 8 พี่น้องที่อพยพจากจีน มาตั้งรกรากในเมืองไทย แต่พี่ชายคนที่ 3 นามว่า ‘ซาแป่’ เปิดร้านชาจีน ‘ลิมแมงกี’ นำเข้าผลิตภัณฑ์ชาจีนมาขาย

เมื่อการตั้งกิจการครอบครัวได้ 20 ปี โชคร้ายมาเยือน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทิ้งบอมบ์ระเบิดทำลายร้านพัง จึงโยกย้ายไปพื้นที่ใหม่ในเยาวราชเหมือนเดิม โดยขายสินค้าชาจีน ชาอู่หลง ชาเขียว และชาแดง
.
‘ชาร้อน’ ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคไทยที่อยู่เมืองร้อน การนำเข้าชาแดงมาทำเป็นชาไทยและชาดำ คิดสูตรความอร่อยเสิร์ฟพร้อมนำแข็งให้คนไทยดับร้อน พร้อมปั้นแบรนด์ ‘ชาตรามือ’ ในปี 2488

ความนิยมของชาตรามือนั้นเติบโตทีละขั้น การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มีแค่วัตถุดิบ แต่รังสรรค์สูตรเครื่องดื่มมากมาย ตอบสนองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ชาเขียว ชานม และไฮไลท์ที่สร้างชื่อ เป็นกระแสช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ ‘ชากุหลาบ’ ทำให้แบรนด์และเครื่องดื่มแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

แม้ชาตรามือ จะทำตลาดมานาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า 6 ปีที่แล้ว ‘ชากุหลาบ’ เป็นหนึ่งในเมนูที่สร้างปรากฏการณ์ให้แบรนด์ปัง! ในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย กับการชูจุดขายเครื่องดื่มเย็นแต่ช่วยในเรื่องของการระบาย กลายเป็นทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเกิดการ ‘ทดลอง’ วัดประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ หากเทียบกับการระบายส่วนใหญ่ จะมีแค่ชาผง ‘ชงร้อน’ ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

เครื่องดื่มชากุหลาบ ของชาตรามือ ยังฮิตต่อเนื่อง เมื่อบรรดาบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ต่างพากัน ‘รีวิวสินค้า’ ทำให้กระแสยังติดลมบนอยู่นาน

และการต่อยอดไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะทางร้านยังนำชากุหลาบไปสร้างสรรค์เมนู ‘บิงซู’ เสิร์ฟลูกค้าด้วย

ความสำเร็จของแบรนด์ไม่เพียงแค่สินค้าเครื่องดื่มถูกปากคนไทย แต่บริษัทยังต่อยอดและพัฒนาเมนูใหม่ๆ ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายด้วย เช่น ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ การออกสินค้าชาตามเทศกาล ฤดูกาลหรือซีซั่นนิ่ง โปรดักท์ รวมถึงสินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น ชาเขียวผสมดอกอัญชันมะลิ เพื่อต้อนรับวันแม่ ชาเขียวใสไร้แคลลอรี ชามะนาวปั่นโยเกิร์ต เป็นต้น

ปัจจุบันชาตรามือ อยู่ภายใต้บริษัท ชาไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีร้านให้บริการหลายรูปแบบ เช่น ร้านในห้างค้าปลีก คีออสตามสถานีรถไฟฟ้าฯ ซึ่งรวมนับ ‘ร้อยสาขา’ ทั่วประเทศ

สินค้าของแบรนด์ไม่เพียงถูกอกถูกใจผู้บริโภคชาวไทย แต่ยังเป็นขวัญใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะสายเอเชียด้วย ทำให้การเปิดร้านให้บริการแก่ลูกค้าเป้าหมาย มักอยู่ในทำเลที่มีนักเดินทาง หรือแทรกตัวอยู่ตามโซนของห้างที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น โซน HUG THAI ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น

การเปิดร้านชาตรามือ ในต่างประเทศ ‘เวียดนาม’ อาจเป็นน้องใหม่สุด กับการชิมลางสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์ แต่หากสำรวจการเติบโตในต่างแดน บริษัทปักหมุดเปิดร้านราว 10 ประเทศแล้ว ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เมียนมา มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม

ขณะที่การดำเนินธุรกิจของบริษัท อยู่ภายใต้การนำของทายาท เช่น ดิฐพงศ์ เรืองฤทธิเดช เศรษฐิกิจ เรืองฤทธิเดช เป็นต้น

นอกจากนี้ ‘ชาตรามือ’ สามารถทำเงินในปี 2565 มีรายได้รวมกว่า 2,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% จากปีก่อนกว่า 1,900 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิกว่า 34 ล้านบาท

 

MIXUE' (มี่เสวี่ย)' แฟรนไชส์ร้านไอติมและชาเจ้าดังจากจีน เขย่าบัลลังก์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในไทย ตั้งเป้า 2,000 สาขาใน 3 ปี

MIXUE (มี่เสวี่ย) แฟรนไชส์ร้านไอศกรีมและชาสัญชาติจีน กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเมืองไทย ปัจจุบันมีจำนวน 14 สาขา ล่าสุดเปิดสาขาสยามสแควร์ ฝั่งถนนอังรีดูนังต์ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 66

MIXUE เข้ามาทำตลาดตั้งแต่เดือน ก.ย. 65 เปิดสาขาแรกแถวซอยราคมคำแหง 53 ใช้กลยุทธ์ขยายสาขาทำเลมหาวิทยาลัย ย่านชุมชน ตั้งเป้าใน 3 ปี ขยายแฟรนไชส์ 2,000 สาขา เปิดรับสมัครพนักงานมากกว่า 10,000 คนในไทย 

MIXUE มีการจัดหาวัตถุดิบทั้งชา ผลไม้จากท้องถิ่นในไทย สนับสนุน พัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตร อนาคตมีแผนสร้างคลังสินค้า โรงงานแปรรูปผลไม้ในไทย ส่งออกเป็นวัตุถดิบในร้าน MIXUE ทั่วโลก

เอกลักษณ์ MIXUE คือ ไอศกรีม Soft Serve โคนวาฟเฟิลอันใหญ่ เริ่มต้นแค่ 15 บาท มีชานมไข่มุกและชาผลไม้อื่นๆ หลากหลายเมนู ราคาสุดคุ้ม น้ำเลม่อนแก้วใหญ่ๆ ราคาแค่ 20 บาท, ชาพีชใส่เนื้อผลไม้เต็มๆ แก้วละ 45 บาท, ชานมไข่มุกแก้วละ 40 บาท ราคาย่อมเยา มีสาขาเยอะ เข้าถึงง่าย ทำให้ MIXUE ครองใจลูกค้ารวดเร็ว มีการทำตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ โชว์ภาพลักษณ์แบรนด์ทันสมัย มีตัว Snow King ตุ๊กตาสโนว์แมน หน้าตาบ้องแบ๊วสวมมงกุฎ เป็นมาสคอตประจำร้าน

ปัจจุบัน MIXUE มีสาขาในจีนมากกว่า 25,000 แห่ง สาขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 3,000 แห่ง เป็นแฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดสาขามากสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจาก Mcdonald, Subway, Starbucks และ KFC 

นับว่าเป็นแบรนด์แฟรนไชส์ร้านไอศกรีมและชาสัญชาติจีน ที่กำลังมาแรง สร้างกระแสฮือฮาอย่างมากในตอนนี้ เตรียมเขย่าบัลลังก์คู่แข่งสำคัญอย่าง 'แดรี่ ควีน' เจ้าตลาดไอศกรีม Soft Serve ในไทย เดินเกมกลยุทธ์ยึดทำเลมหาลัย ย่านชุมชน มีเมนูหลากหลาย ไม่มีแบรนด์ไหนทำมาก่อน ทั้งไอศกรีม ชานมไข่มุก แถมราคาถูกกว่าคู่แข่ง 15-50 บาทเท่านั้น
 

รู้จัก ‘หนองโพ’ นมโค 100% ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสังคม-คนเลี้ยงวัว

(13 มิ.ย.66) หลังจากที่ผ้าไทยได้ขาดตลาดไปแล้ว คราวนี้ถึงคิวของ ‘นมถุงหนองโพ’ เมื่อ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ได้ถ่ายลงสตอรี่อินสตราแกรมที่มีผู้ติดตามทั่วโลกกว่า 94 ล้านคน พร้อมแคปชัน “วัยเด็กต้องนี่เลย!”

งานนี้จึงเชื่อได้ว่า ‘นมถุงหนองโพ’ คงต้องขาดตลาดอีกแน่นอน เพราะไม่ว่าสาวลิซ่าจะหยิบจับอะไร ก็กลายเป็นที่สนใจทุกครั้งไป ช่วยคืนชีพ Soft Power ไทยให้ดังไกลไปทั่วโลก

ว่าแต่ ‘แบรนด์หนองโพ’ มีที่มาที่ไปอย่างไร?

ถ้าหากให้ผู้ใหญ่ในวัยนี้ได้ย้อนนึกไปถึงวัยเด็ก เชื่อว่าหลายคนย่อมคุ้นเคยและมีประสบการณ์ร่วมกับ ‘นมหนองโพ’ มาไม่มากก็น้อย ทั้งรูปแบบของนมกล่อง หรือนมถุง จนรู้ตัวอีกทีหนองโพก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่อยู่คู่และเติบโตมาพร้อมๆ กับคนไทยไปแล้ว

แนวคิดในการก่อตั้งแบรนด์ ‘หนองโพ’ ซึ่งมีที่มาจากชื่อของตำบลหนึ่งในจังหวัดราชบุรี แหล่งเลี้ยงโคนมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มาจากการที่ตกผลึกถึงเกษตรกรผู้อยู่เบื้องหลังของเศรษฐกิจของประเทศ แต่หลายครั้งพวกเขากลับเข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยว่าประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และทำปศุสัตว์กว่า 2.9 ล้านราย และในจำนวนนั้นเป็นผู้เลี้ยงโคนมราว 18,000 ราย ที่คอยดูแลโคนมมากกว่า 600,000 ตัวทั่วประเทศ

ทั้งนี้หากย้อนไปเมื่อ 54 ปีก่อน ในปี 2511 กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ราชบุรีเผชิญหน้ากับปัญหาด้านเศรษฐกิจ และเกิดปัญหาด้านสถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบ จนสร้างความเสียหายให้กับน้ำนมดิบที่เก็บไว้และเกิดการขาดทุน ทำให้มีการรวมตัวเพื่อถวายฎีกาต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับปัญหาตลาดจำหน่ายน้ำนม

พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานเพื่อแปรรูปน้ำนมดิบที่ตำบลหนองโพ ในปี 2515 และดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์การเกษตร ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)’ สหกรณ์นี้เองทำให้เกิดการรวมตัวที่เข้มแข็งของกลุ่มผู้เลี้ยงโคนม สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสมากมายมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ จนปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกกว่า 4,000 คน ที่กระจายรายได้เข้าสู่หลายพันครัวเรือน และนำไปสู่การพัฒนาน้ำนมและเลี้ยงวัวให้มีคุณภาพและมีความสุข

ดังนั้นหนองโพจึงไม่ใช่เพียงแค่แบรนด์นมโคคุณภาพสูง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาหนองโพเป็นจุดศูนย์กลางของคุณภาพชีวิต และความสุขของคนเลี้ยงโคนมมาโดยตลอด ซึ่งโอกาสเหล่านั้นได้พัฒนามาในรูปแบบของน้ำนมโค 100% ที่เต็มไปด้วยสารอาหารและประโยชน์ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม, วิตามินบี 2, วิตามินบี 12 และโปรตีนที่มาช่วยสร้างสุขภาพดีๆ ให้กับคนไทยทั่วประเทศ

ปัจจุบันหนองโพมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ...

>> นมถุง (พาสเจอร์ไรซ์) มี 5 รสชาติสุดอร่อย คือ จืด, หวาน, ช็อกโกแลต, สตรอว์เบอร์รี และ กาแฟ (สูตรพร่องไขมัน)

>> นมกล่อง (ยูเอชที) ที่มี วัวยิ้มอยู่หน้ากล่อง  มีสองขนาด 225 มล. และ 180 มล. และมีถึง 5 รสชาติ ให้เลือก คือ จืด, หวาน, ช็อกโกแลต, รสจืด (สูตรพร่องมันเนย), กาแฟ (สูตรพร่องไขมัน) 

>> และสำหรับเด็กเล็ก ที่เพิ่งเริ่มหัดดื่มนม หนองโพ ก็มีแบบ นมยูเอชที กล่องเล็ก ขนาด 125 มล. จำชื่อให้ดี นมหนองโพ ไฮคิดส์  มีรสชาติ ให้เลือก 3 รสชาติ คือ จืด, หวาน, ช็อกโกแลต 

ไม่ใช่แค่นมสดเท่านั้น หนองโพยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโยเกิร์ตและไอศกรีมที่ผลิตจากนมโคแท้ ๆ ที่ขอบอกว่าต้องลองสักครั้ง

โดยสรุปแล้ว แบรนด์หนองโพไม่ได้มีดีแค่นมที่สดใหม่ รสชาติดีเท่านั้น แต่เป็นอีกแบรนด์สำคัญที่สร้างความเข้มแข็งและส่งต่อโอกาสให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมและครอบครัวผ่านการรวมตัวของสหกรณ์อย่างยั่งยืน และการที่ไอดอลคนดังอย่าง ลิซ่า BLACKPINK ได้จับตำนานขึ้นมาโพสต์หนนี้ คงมีออเดอร์ล้นแบบผลิตกันไม่ทันขายแน่นอน...

พาณิชย์-DITP’ จัดโปรโมตผลไม้ไทยในจีน ตอบรับดีเกินคาด!! ปลื้ม!! ชาวจีนแห่ซื้อ ‘ทุเรียน มังคุด ลำไย’ ขายกันมือระวิง

‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ (DITP) เผย ผลการจัดกิจกรรมโปรโมตผลไม้ไทยในจีน ที่เมืองชิงต่าว ประสบผลสำเร็จเกินคาด ทุเรียน มังคุด ลำไย ขายมือระวิงห้างขายได้ทันที 2.93 ล้านบาท ผู้นำเข้าขายส่งได้ 138 ล้านบาท และห้างยังแจ้งอีกว่าจะสั่งซื้อผลไม้ภายใน 1 ปี อีก 190 ล้านบาท

(13 มิ.ย. 66) นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานผลโครงการยกระดับการส่งออกผลไม้เข้าสู่ตลาดจีนเมืองชิงต่าว ภายใต้ธีมงาน ‘Qingdao Thai Fruits Golden Months 2023’ จากนางสาวชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีนที่ไทยได้ร่วมกับห้างสรรพสินค้า Leader Group ในเมืองชิงต่าว จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยและกระตุ้นให้ชาวจีนบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับรายละเอียดการจัดงาน ทูตพาณิชย์รายงานว่า ปีนี้ได้ร่วมกับห้างสรรพสินค้า Leader Group 4 สาขา ทั่วเมืองชิงต่าว มณฑลซานตง ซึ่งเป็นห้างท้องถิ่นระดับกลาง-บนที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วเมืองชิงต่าว โดยในช่วงการเปิดงาน ได้จัดให้มีการแสดงประกอบเพลง การร้องเพลงสากล การเล่นเกมชิงรางวัลผลไม้ไทยและการสาธิตการทำ ‘ข้าวเหนียวทุเรียนไทย’ และแนะนำร้านอาหารไทยที่ได้รับตรา ‘Thai SELECT’ และเชฟจากร้านอาหาร ‘Thai SELECT’ รวมทั้งแจกชิมอาหารหวานไทยที่ทำจากผลไม้ ได้แก่ พัฟทุเรียน เพื่อตอกย้ำถึงรสชาติของทุเรียนไทย และดึงดูดให้ผู้บริโภคไปใช้บริการร้านอาหาร Thai SELECT ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ สำนักงานที่ชิงต่าว ยังได้ร่วมกับ KOL ด้านอาหารชื่อดังของเมืองชิงต่าวถึง 3 ราย ซึ่งมีผู้ติดตามใน Douyin. (TikTok) รวมเกือบ 3 ล้าน followers มาจัดทำคลิปเชิญชวนผู้บริโภคมาร่วมงาน รวมทั้งร่วมกับ KOL อีก 1 รายชื่อ Kě’àiQiúqiú (เค่ออ้ายฉิวฉิว) ซึ่งมีผู้ติดตามใน Douyin (Tiktok) มากกว่า 1.49 ล้าน followers เข้ามาร่วมไลฟ์สดบรรยากาศภายในงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน ร่วมกับทูตพาณิชย์ โดยมีการแนะนำผลไม้ที่จำหน่ายภายในงาน และเชิญชวนผู้บริโภคชาวชิงต่าวมาซื้อผลไม้ไทยราคาพิเศษตลอด 1 สัปดาห์เต็ม

ทั้งนี้ ผลการจัดงานปรากฏว่า ผลไม้ไทยที่ขายดีที่สุด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้มีการจำหน่ายทุเรียนของประเทศอื่น แต่ผู้นำเข้าและห้างก็ให้ข้อมูลตรงกันว่าทุเรียนไทยยังขายดีและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาล และปีนี้ทุเรียนไทยมีคุณภาพดีกว่าปีที่ผ่านๆมารวมทั้งราคาจับต้องได้และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าปีที่ผ่านมาด้วย

ส่วนยอดขายผลไม้ในช่วงที่จัดกิจกรรมตลอด 1 สัปดาห์จากห้างสรรพสินค้า Leader Group 4 สาขาคิดเป็นมูลค่าทันที 2.93 ล้านบาท ส่วนผู้นำเข้ามียอดขายแบบค้าส่งทันที 138 ล้านบาท และห้างสรรพสินค้า Leader Group คาดการณ์ว่าภายใน 1 ปี จะมีมูลค่าการสั่งซื้อผลไม้รวมทั้งสิ้น 190 ล้านบาท

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

ผู้ลงนามบันทึกรายงานประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี พบนั่ง ‘เอ็มดี INTUCH’ ควบบอร์ด ถือหุ้น 0.0006%

วันที่ (13 มิ.ย. 66) จากกระแสข่าวใหญ่ในแวดวงการเมืองและตลาดทุนไทย โยงปมการถือหุ้นสื่อของนายทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ล่าสุดปรากฏคลิปวิดีโอเกี่ยวกับเทปบันทึกการรายงานผลการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ITV’ ที่มีเนื้อหาไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุม

โดยสปอตไลต์ยิงตรงไปที่บุคคลรายนามว่า ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ซึ่งเป็นประธานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV และเป็นผู้เซ็นลงนามรับรองในเอกสารรายงานการประชุม โดยที่คำตอบในคลิปวิดีโอค่อนข้างย้อนแย้งกับเอกสารรายงานผลการประชุมผู้ถือหุ้น เนื่องจากมีเนื้อหาคนละเรื่อง หรือคนละความหมายกันเลย

ทำให้ชื่อ ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ กลายเป็นที่สนใจของคนในสังคม โดยติดอันดับรายชื่อที่ถูกค้นหาบน Google Trends มากที่สุด วันนี้ประชาชาติธุรกิจจึงจะพาไปเปิดประวัติ ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ว่าบุคคลท่านนี้เป็นใคร และมีความสัมพันธ์กับใครและบริษัทไหนกันบ้าง

โดยจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ปัจจุบันอายุ 54 ปี จบการศึกษาสูงสุดคือระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2557 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น INTUCH อยู่ที่ 0.0006%

ทั้งนี้ ยังพบว่าเป็นกรรมการอยู่ใน บมจ.ไทยคม (THCOM) บมจ.ไอทีวี (ITV), บจก. อาร์ตแวร์ มีเดีย, Shenington Investments Pte Ltd, บจก. ลิตเติ้ล เชลเตอร์, บจก. ไอ.ที.แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ เซอร์วิส, บจก. อินทัช มีเดีย, บจก. ทัชทีวี, บจก. สเปซ เทค อินโนเวชั่น นอกจากนี้ เคยเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน และรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุนของ INTUCH อีกด้วย

และที่สำคัญผ่านการอบรมจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และอื่น ๆ ประกอบด้วย

1.) DCP : Directors Certification Program รุ่น 116/2552
2.) Harvard#1 Executive Learning Sustainment Program ปี 2561-2562
3.) Harvard Leadership Development Program, Harvard Business Publishing ปี 2560-2561
4.) SFLP : Strategic Financial Leadership Program ปี 2562 โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
5.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 21

ทั้งนี้ สำหรับ INTUCH ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จำนวน 1,320.91 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 41.19% โดย GULF ได้เทกโอเวอร์ INTUCH ผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้น INTUCH ที่ราคาหุ้นละ 65 บาท เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ในสัดส่วน 23.32% โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 48,611 ล้านบาท ตอนนั้นเมื่อรวมกับหุ้น INTUCH ที่ GULF ถืออยู่ก่อนแล้วสัดส่วน 18.93% ทำให้ GULF กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 42.25% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด

 

แม็คโคร’ เตรียมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘ซีพี แอ็กซ์ตร้า’ 15 มิ.ย. นี้ แต่ยังยืนยัน จะยังคงใช้แบรนด์ชื่อเดิม

วันที่ 13 มิ.ย. 2566 –  แม็คโคร ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ 15 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป แต่ยืนยันจะใช้แบรนด์ “แม็คโคร” เช่นเดิม

ก่อนหน้านี้ ได้มีรายงานข่าวว่า จะมีการประกาศให้ บริษัทสยามแม็คโคร อนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทและตราประทับจาก SIAM MAKRO เป็น CP AXTRA รวมทั้งชื่อย่อหลักทรัพย์จาก MAKRO เป็น CPAX

ขณะที่ผลกำไร ไตรมาสแรกของปี 66 นั้น แม็คโคร มีรายได้โตกว่า 1.2 แสนล้าน โดยมีกำไร 2 พันล้านบาท อานิสงส์เปิดประเทศดันการท่องเที่ยวฟื้น เศรษฐกิจขยับ พร้อมแผนเชิงรุก ขยายสาขา บุกช่องทางขายออนไลน์ และมีแผนการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top