Tuesday, 7 May 2024
Econbiz

‘คิม พร็อพเพอร์ตี้’ ชี้ ซาอุ จ่อสร้างคลังน้ำมัน  ภาคใต้ของไทย ให้ใหญ่เทียบชั้นได้กับสิงคโปร์

ยูทูปช่อง Kim Property Live ได้โพสต์คลิปอธิบายถึง การที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย สนใจจะมาลงทุนครั้งใหญ่ในภาคใต้ของไทย โดยมีใจความว่า ...

ประเทศไทยเนื้อหอม ซาอุดิอาระเบีย เล็งที่จะลงทุนใหญ่ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยจะทำเป็นคลังน้ำมันให้ใหญ่ให้เทียบเท่ากับสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ซาอุดิอาระเบีย จะลงทุนในภาคใต้ของเรา ประเทศไทยของเรานั้น มีข้อดีอะไรหรือ ต้องบอกก่อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียนั้นก็ไม่ได้รักกันมาก่อน ความสัมพันธ์นั้นร้าวฉานมากว่า 32 ปีแล้ว จากการฆาตกรรมนักธุรกิจของซาอุดิอาระเบียหรือการขโมยเพชร ความบาดหมางจากตรงนี้ทำให้ประเทศซาอุดิอาระเบียตัดความสัมพันธ์กับไทย แต่พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้มีความพยายามในการเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยประเทศไทยได้เชิญซาอุดิอาระเบียมาในงานเอเปค ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็ได้ให้เกียรติตอบรับตามคำเชิญมาร่วมงาน ถือว่าเป็นผลงานทางการทูตที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งต่อมาซาอุดิอาระเบียนั้นก็มีแผนที่เตรียมจะมาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ eec ซึ่งในพื้นที่ของไทยบริเวณ eec ก็เป็นจุดที่เป็นฮับของการผลิตรถ EV ซึ่งตรงกับความต้องการของซาอุดิอาระเบียที่ต้องการจะผลิตรถไฟฟ้าด้วย

ในระยะหลังนี้ ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ได้วางตัวออกห่างจากสหรัฐอเมริกา และ เอนเอียงไปในทางของประเทศจีนมากขึ้น รวมถึงมีการจับมือกับอิหร่านโดยมีประเทศจีนนั้นเป็นตัวกลาง ในการที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กัน

หากพูดถึงเรื่องของพลังงานในแถบเอเชีย ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ได้มีการลงทุนซื้อหุ้นของโรงกลั่นในประเทศจีน ซึ่งนี่คือการร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่น แล้วการลงทุนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์พลังงานและน้ำมันนั้นเกี่ยวอะไรกับประเทศไทยอย่างนั้นหรือ มันมีความจำเป็นอย่างไร ที่ซาอุดิอาระเบียจะต้องมาตั้งคลังน้ำมันในภาคใต้ของประเทศไทย จีนนั้นเป็นประเทศบริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลกและก็ได้ซื้อน้ำมันจากหลายช่องทางรวมทั้งน้ำมันจากอิหร่าน โดยอิหร่านนั้นใช้มาเลเซียเป็นตัวกลางในการส่งออก อธิบายให้ง่ายก็คืออิหร่านนั้นส่งน้ำมันมายังประเทศมาเลเซีย และมาเลเซียก็แปะป้ายให้เป็นน้ำมันของมาเลเซียแล้วก็ส่งไปขาย ที่ประเทศจีน แล้วเพราะเหตุใดประเทศจีนถึงไม่ซื้อน้ำมันผ่านประเทศสิงคโปร์หรือเพราะว่าประเทศจีนและประเทศสิงคโปร์นั้นเป็นคนละพวกกัน แทนที่จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจการลงทุนการคุ้มค่ากลับกลายเป็นแฝงด้วยประเด็นทางการเมือง มีการแบ่งพวก แบ่งฝ่าย แล้วเพราะเหตุใดประเทศซาอุดิอาระเบียจึงได้เล็งมายังภาคใต้

ที่จริงแล้ว ภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ในการขนส่งค้าขาย เพราะแทนที่เรือขนส่งจะแล่นไปทางช่องแคบ มะละกา ซึ่งก็จะต้องใช้ระยะเวลานานในการขับเรืออ้อม แต่ถ้ามาขนส่งผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทยก็จะง่าย กว่า รวดเร็วกว่ากันมาก

แล้วประเทศไทย จะสามารถรองรับการขนส่งนี้ได้หรือไม่ ประเทศไทยนั้นมีโครงการ Land Bridge ในการเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ ก็คือท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ซึ่งการก่อสร้างโครงการนี้มีมูลค่า มากถึง 500,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียนั้นสนใจมากที่จะมาลงทุนในโครงการ Land Bridge ของประเทศไทย ด้วยการจัดตั้งคลังน้ำมันในภาคใต้ของประเทศไทย น้ำมันจากซาอุดิอาระเบียจะถูก ส่งมาเก็บไว้ที่ภาคใต้ของไทยก่อนจะนำไปขายต่อให้กับประเทศจีน

‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ขายหุ้น TSMC เกลี้ยง  หวั่นปัญหาจีน-ไต้หวัน เตรียมเบนเข็มไปที่ ญี่ปุ่น

ความตึงเครียดระหว่าง จีน - ไต้หวัน ที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก รวมไปถึงมหาเศรษฐีนักลงทุนชาวสหรัฐอเมริกา อย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่เริ่มไม่มั่นใจในสถานการณ์เช่นกัน

และสิ่งที่ทำให้นักลงทุนอึ้งไปตาม ๆ กัน เมื่อ Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้ง ของบัฟเฟตต์ ได้เทขายหุ้นในบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกออกไปในสัดส่วน 86% ของมูลค่ารวม 4,100 ล้านดอลลาร์ หลังจากได้เข้าซื้อเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ผิดกับวิสัยการลงทุนของบัฟเฟตต์ที่มักจะลงทุนและถือครองหุ้นนั้นในระยะยาว

บัฟเฟตต์ได้ชี้แจงในบทสัมภาษณ์ Nikkei เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ว่า การเทขายหุ้น TSMC ออกไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีความกังวลในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐต่อกรณีไต้หวัน ซึ่งบริษัท TSMC ก็เป็นบริษัทในไต้หวันและมีฐานการผลิตหลักอยู่ที่ไต้หวันด้วย 

บัฟเฟตต์ ยอมรับว่า TSMC เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม มีคนเก่ง ๆ อยู่มาก และบริหารจัดการดี และโดยส่วนตัวก็มีความสัมพันธ์อันดีกับ มอร์ริส ฉาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง TSMC แต่ก็โชคร้ายมีชัยภูมิแย่เพราะดันตั้งอยู่ไต้หวัน ดังนั้น ภูมิรัฐศาสตร์แห่งนี้ จะได้รับผลกระทบทุกครั้งที่จีนกับสหรัฐฯ ขัดแย้งกัน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บัฟเฟตต์ ได้เข้ามาลงทุนโดยตรงในเอเชีย ซึ่งเริ่มจากการลงทุนใน PetroChina ในปี 2002 จากนั้นในจึงเป็น Posco ผู้ผลิตเหล็กของเกาหลีใต้ในปี 2006 ส่วนปี 2008 เขาเริ่มลงทุนใน BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเซินเจิ้น ประเทศจีน แต่ก็ได้ทยอยขายหุ้นออกไปออกไป และกลับไปลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่ตนเองคุ้นเคย

ซึ่งจากตัวเลขการลงทุนของ Berkshire Hathaway ณ สิ้นเดือนมี.ค. 66 พบว่า กว่า 77% ของพอร์ตการลงทุนผ่านหุ้นมูลค่า 3.28 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10.8 ล้านล้านบาท) นั้น จะประกอบไปด้วยหุ้นสหรัฐเพียง 5 ตัวเท่านั้น ได้แก่ Apple, Bank of America, American Express, Coca-Cola และ Chevron

ทั้งนี้ นอกจากเทขายหุ้น TSMC ออกไปแล้ว ยังพบว่า Berkshire Hathaway ได้ซื้อหุ้น Apple เพิ่มขึ้นอีก 20.8 ล้านหุ้น มูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 5.8% 

และแม้ว่า บัฟเฟตต์ จะทยอยขายหุ้นที่ลงทุนอยู่ในจีน และไต้หวันออกไป แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งการลงทุนในเอเชียเสียทีเดียว แต่เริ่มมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ

แหล่งลงทุนที่ บัฟเฟตต์ ให้ความสนใจก็คือ ญี่ปุ่น นั่นเอง โดยได้ให้สัมภาษณ์กับ นิกเคอิ เอาไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า Berkshire Hathaway ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน 'ห้ากลุ่มบริษัท' ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นเป็น 7.4% ได้แก่ Itochu, Marubeni, Mitsubishi Corp., Mitsui & Co. และ Sumitomo Corp. 

โดยมูลค่าตลาดรวมของการถือครองสินทรัพย์ในญี่ปุ่นของ Berkshire Hathaway ณ วันที่ 19 พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการลงทุนนอกสหรัฐ ที่มากที่สุดของบัฟเฟตต์ อีกด้วย

แม้ว่า การลงทุนในญี่ปุ่น อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่หวือหวาได้เช่นเดียวกับ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่เป็นหัวใจหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก แต่บัฟเฟตต์มองว่า บริษัทของญี่ปุ่นมีประวัติของรายได้ที่มั่นคง เงินปันผลที่เหมาะสม และมีการซื้อคืนหุ้น (Share Buybacks) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบัฟเฟตต์ มีความชื่นชอบอย่างยิ่ง เนื่องจากการซื้อคืนหุ้น เพิ่มความเป็นเจ้าของบริษัท โดยไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่ม

อาจกล่าวได้ว่า การย้ายเงินลงทุนออกจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน แล้วเข้าไปยังญี่ปุ่น เป็นการตัดสินใจที่ง่ายมากสำหรับ บัฟเฟตต์ เพราะไม่ต้องวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน แถมยังได้ลงทุนในตลาดที่ตรงตามสไตล์ที่มองถึงความมั่นคงในระยะยาวนั่นเอง

เปิดมุมมอง ‘นักธุรกิจจีน’ ยึดปรัชญา ซื่อสัตย์-ร่วมมือ มอง เทคโนโลยีเอไอ-หุ่นยนต์ กำลังเข้ามามีอิทธิพล เปลี่ยนชีวิตและธุรกิจ

เปิดมุมมอง “นักธุรกิจจีน” ผู้บริหารจากหลากหลายบริษัทชั้นนำร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ภูมิปัญญา แนวความคิดการทำธุรกิจ ในหัวข้อเสวนา “แนวความคิดและภูมิปัญญาการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจชาวจีน” ภายในงาน ประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention - WCEC) ครั้งที่ 16 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
คว้าโอกาสทอง ‘อาเซียน’

เกา เฉวียน ชิ่ง ประธานหอการค้าสิงคโปร์-จีน กล่าวว่า แนวการทำธุรกิจที่ดีต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ให้ความสำคัญกับคุณค่าของคน ภายใต้แนวคิดที่สอดคล้องไปกับปรัชญา ตำราพิชัยสงครามของจีน ที่ให้ความสำคัญกับการฝึกฝน ความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อประเทศชาติ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กล้าคิด มีความคิดริเร่ิมสร้างสรรค์ ตอบแทนสังคม เพื่อทำให้สังคมโดยรวมมีความสงบสุข

เช่นที่สิงคโปร์ที่วันนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความซื่อสัตย์ การสร้างความไว้วางใจต่อลูกค้า คู่ค้า การตอบแทนสังคม รวมถึงความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ โดยแนวคิดดังกล่าวจะมีการสืบทอดและส่งต่อไปสู่คนรุ่นหลังต่อๆ ไป
“หากเรามีการสืบสานแนวคิดและยึดถือหลักการเช่นนี้ต่อไปจะสามารถเติบโตและคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ในอีกทางหนึ่งไม่ใช่แค่เพื่อธุรกิจ แต่เป็นรากฐานของการสร้างชาติและทำให้งานต่างๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์ เชื่อว่าภูมิปัญญาที่ถูกต้องจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ช่วยสร้างความสำเร็จ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

ในยุคทองของการเติบโต ภูมิภาคอาเซียน ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ไว้วางใจ จับมือไปด้วยกันเพื่อเสริมจุดแข็ง แบ่งปันและคว้าโอกาสทองของการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค

นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจต้องมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ส่งเสริมให้ทุกกลุ่มทุกประเทศมีการพัฒนาที่สอดคล้องกันไป ลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างความเสมอภาค สร้างความปรองดอง ส่งเสริมให้นักธุรกิจจีนทั่วโลกร่วมมือกัน
สุดท้าย เสริมสร้างจิตวิญญาณในการสร้างนวัตกรรม เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านภูมิอากาศ ลดการใช้พลังงาน เดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายที่มีความชัดเจนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรมผลักดัน ‘แพทย์แผนจีน’ สู่สากล
หลี ฉู่ หยวน ประธานกรรมการ บริษัท กว่างโจวฟาร์มาซูติคอลกรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จีนและไทยเป็นสองประเทศที่มีมิตรภาพที่ลึกซึ้งต่อกันมาอย่างยาวนาน

สำหรับจีน ไทยนับเป็นเพื่อนร่วมชะตาเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาโดยตลอด กว่างโจวฟาร์มาซูติคอลเองให้ความสำคัญอย่างมากกับตลาดไทย และขณะนี้มีหลายผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาทำตลาด
อย่างไรก็ดี จากไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ต่างต้องรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ทุกฝ่ายมีการร่วมมือกัน นอกจากด้านการแพทย์ให้ความสำคัญกับปรัชญาการใช้ชีวิต เรื่องการมีชีวิตที่ยืนยาว มีคุณภาพ และมีความสุข

นอกจากนี้ บริษัทได้มีการเผยแพร่การแพทย์แผนจีน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมแพทย์แผนปัจจุบัน โดยพยายามส่งเสริมให้เป็นสากลมากขึ้น ผ่านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญระดับสูงมากกว่า 100 คน

มากกว่านั้น มีการสร้างการรับรู้ให้ตลาด โดยการสร้างศูนย์การเผยแพร่วัฒนธรรมในต่างประเทศ ทั้งมีการผลักดันโมเดลการรักษาสุขภาพรูปแบบใหม่ๆ เพื่อทำให้แพทย์แผนจีนกลายเป็นเทรนด์ระดับสากล

‘หัวเว่ย’ มุ่งสร้างคุณค่า ‘ธุรกิจ-สังคม’
เจย์ เฉิน ซีอีโอ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำหรับการรับมือความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น คือความถูกต้องและความชอบธรรม เพื่อรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม

ด้วยหลักการนี้ ควรสะท้อนไปในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การวิจัย ค้นคว้า การผลิต การขาย บริการหลังการขาย เช่นที่หัวเว่ย ทุกธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ต้องเคารพกฎหมายของประเทศจีนและกฎหมายในประเทศที่ทำธุรกิจนั้น ๆ

นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับค่านิยมร่วม เพื่อตอบแทนสังคม การสร้างคุณค่าทั้งเชิงธุรกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ไม่ใช่แค่การทำรายได้ แต่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมโดยภาพรวมด้วยเทคโนโลยีไอซีที

หัวเว่ยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ที่ผ่านมามีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในหลากหลายมิติ ใช้เทคโนโลยีไอซีทีเพื่อสร้างโอกาส การจ้างงาน และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

โดยมีมุมมองว่า ไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ แนวทางการทำงานให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความถูกต้อง ชอบธรรม เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ และตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันเห็นถึงความสำคัญกับการมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาบุคคลากร สตาร์ตอัป ผลักดันการพัฒนาเชิงดิจิทัล
ก้าวสู่ยุคใหม่ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’

ฟัง อวิ่นโจว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด กล่าวว่า การเดินหน้าสู่ยุคแห่งรถยนต์พลังงานใหม่ ต้องมีการผสมผสานของพลังงานไฟฟ้า การเชื่อมต่อเครือข่าย และความอัจฉริยะ

โดยขณะนี้ นับว่ามีการเติบโตที่มากขึ้นและต่อเนื่อง โดยต่อไปจะไม่ใช่แค่รถยนต์ แต่เป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ผสมผสานอินเทอร์เน็ต ภายใต้การผสมผสานของเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา
“การเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลและความอัจฉริยะ คือการผสมผสานและรวบรวมของทั้งพลังงาน พลังงานใหม่ การเดินทาง และเทคโนโลยี คาดว่าช่วงปี 2035-2045 จะเป็นการพัฒนาในช่วงหลัง ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นว่ามีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบนิเวศรวมถึงโมเดลธุรกิจที่สมบูรณ์มากขึ้น”

เขากล่าวว่า เส้นทางนี้มีความกว้างอย่างมากและมีเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต ลูกค้า นักลงทุน เป็นการยกระดับครั้งสำคัญที่ต้องมีการทำงานร่วมกัน เพื่อรวบรวมข้อมูล ประมวลผล มีการใช้เอไอมาควบคุม การเชื่อมต่อ ยกระดับความปลอดภัย การเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ส่วนของบริษัทเองเบื้องต้นปีนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายในไทยได้ประมาณ 1.5 หมื่นคัน

 ‘เอไอ’ เปลี่ยนโฉมธุรกิจ-ชีวิต
หยวน ฮุย ประธานกรรมการ เสี่ยว อ้าย คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า วันนี้เทคโนโลยีเอไอรวมถึงหุ่นยนต์ กำลังเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากกับการทำงานและการใช้ชีวิตของมนุษย์
ทั้งนี้ นับเป็นโอกาสของธุรกิจในแทบทุกอุตสาหกรรมที่จะนำมาปรับใช้ เพื่อพัฒนายกระดับการบริการ โดยที่ได้เห็นแล้วมีทั้งด้านการเงิน อสังหาริมทรัพย์ เฮลธ์แคร์ การดูแลสุขภาพ การนำข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ การออกแบบ สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ พัฒนาประสบการณ์ผู้บริโภค รวมถึงการผสมผสานเมตาเวิร์สกับโลกความเป็นจริง

จากประสบการณ์ วันนี้ได้เห็นว่าธุรกิจต่างต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค อีกทางหนึ่งเทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งในความท้าทายที่ต่างต้องเผชิญ
ในภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ช่วงขาลงและความท้าทายจำนวนมากดังกล่าว แนวคิดที่สำคัญของนักธุรกิจชาวจีนคือ การสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับทั้งตนเอง ครอบครัว สังคม เพื่อผลักดันให้เกิดอนาคตที่สดใสร่วมกัน

AI ไม่ทำใครตกงาน!! เปิดบทสรุป AI ในมุมที่ไม่ได้จะมาแทนที่ใคร แต่คนที่ใช้ไม่เป็นจะถูกผู้ช่ำชองใน AI แทนที่

ไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊ก 'Skooldio' ได้สรุป Session 'AI for The Next Era of Marketing AI สำหรับยุคสมัยใหม่ของ marketing' โดยคุณวิสสุต เมธีสุวกุล จาก Microsoft Thailand ในงาน Creative Talk Conference 2023 ในหัวข้อ 'คุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะเรียนรู้และนำ Generative AI ไปใช้' ว่า...

Generative AI นั้นได้รับการพูดถึงอย่างมากทั่วโลก รวมถึงนิตยสาร The New York Times ที่ได้นำรูปของ ChatGPT ที่เป็นหนึ่งใน Generative AI มาขึ้นปกนิตยสารซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจดจำมากทีเดียว

โดย ChatGPT นั้นเป็น Generative AI ภายใต้บริษัท OpenAI ซึ่งมี Generative AI ทั้งหมด 3 ตัวได้แก่...

1. ChatGPT เป็น Generative AI ที่สามารถตอบโต้ระหว่างคอมกับผู้ใช้ได้อย่างคล่องและรู้เรื่องด้วยภาษาที่เราสามารถเข้าใจได้ง่าย แล้วยังสามารถสร้างเรื่องราวและไอเดียได้ รวมทั้งยังสรุปข้อมูลให้เราได้ด้วย หากต้องการให้ข้อมูลอัปเดตล่าสุดอยู่ตลอด คุณสามารถเพิ่ม Plug in ‘voxscript’ เข้าไปกับการใช้ ChatGPT ได้

2. Codex เป็น Generative AI ที่ช่วยเขียนโปรแกรมให้ Programmer โดยไม่ว่าคุณจะใช้ภาษาเขียนโค้ดภาษาใดก็ตาม Codex ก็สามารถช่วยคุณแปลเป็นภาษาอื่นที่คุณต้องการได้ โดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลาทำเองหรือไปเรียนภาษาอื่น

3. DALL-E เป็น Generative AI ที่สามารถช่วยคุณวาดภาพได้ตาม prompt ที่คุณกำหนดอย่างไร้ขีดจำกัด ตราบใดที่คุณเขียน prompt ที่ชัดเจน

แล้วมันจะเข้ามาช่วยเราในการทำงานได้อย่างไร?

AI จะส่งผลกระทบในการทำงานของเราในเชิงบวก Generative AI สามารถช่วยเราทำงานได้หลายอย่างมาก เช่น การทำสไลด์ใน Powerpoint จากข้อมูลที่เราบอก ดึงข้อมูลใน Excel ให้ทำมาเป็น output ที่เราอยากได้ นอกจากนี้ เราสามารถออกแบบการขายของให้กับลูกค้าแบบ Personalization ได้เช่นกัน ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสามารถของ AI ที่เข้ามาช่วยเราทำงานเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่มันจะเข้ามาช่วยลดภาระการทำงาน และเพิ่ม Productivity ให้กับเรา

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า เราจะเชื่อใจ AI ได้มากน้อยแค่ไหน?

คำตอบคือเชื่อได้ในระดับที่เราก็ยังควรที่จะตรวจสอบข้อมูลเพราะ Generative AI คือระบบอัตโนมัติที่วิเคราะห์คำตอบจากข้อมูลที่มีมาประเมินและค่อยตัดสินใจทำ action เปรียบเสมือน Copilot เราไม่สามารถให้ทุกอย่าง Autopilot ได้ตลอดเวลา ทุกอย่างยังต้องใช้มนุษย์ที่มีประสบการณ์ เหมือนกับการที่เราไม่สามารถใช้ระบบขับเครื่องบินได้ตลอด เรายังต้องการกัปตันในการที่จะนำเครื่องขึ้นหรือลงและควบคุมเครื่อง

📍และสำหรับบริษัทที่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลว่าปลอดภัยไหม จะหลุดออกมาไหม
คำตอบก็คือปลอดภัยเพราะทางผู้ผลิตได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าข้อมูลที่อยู่ในระบบจะไม่ถูกเปิดเผยสู่โลกภายนอกอย่างแน่นอนด้วย Open AI for Enterprise

จะเห็นได้ว่า Generative AI ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากเราใช้มันให้เป็น เราก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมากทั้งเรื่องการใช้ชีวิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้โดดเด่นกว่าใคร และไม่ต้องกลัว AI จะมาแทนที่ 

‘รศ.ดร.วีระพงศ์’ ชูภารกิจ สสว. เคียงข้างทุก SME ไทย แนะผู้ประกอบการ ‘ผสานดิจิทัล-สร้างมาตรฐานสินค้า’

SME ไทยไปต่ออย่างไร? กับสถานการณ์ในปัจจุบัน…

คำถามสุดคลาสสิกในห้วงสถานการณ์ที่เกี่ยวพันการเมือง เศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่มักจะผุดขึ้นกับบรรดาผู้ประกอบการในบ้านเราอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้กระทบ SME หลายรายแบบไม่ต้องปฏิเสธ 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถาม มีรูปแบบที่สามารถช่วยเหลือและเกื้อหนุนผู้ประกอบการ SME ไว้เสมอ เพียงแต่โจทย์ของผู้ประกอบการแต่ละรายจะตกผลึกเพื่อให้โซลูชันที่สอดคล้องต่อการช่วยให้เดินหน้า ‘อยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยาว’ ได้แค่ไหน?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดีๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 ได้แนะแนวทางเพื่อช่วยเหลือ SME ให้ ‘อยู่รอด-อยู่เป็น-อยู่ยาว’ อย่างน่าสนใจ ซึ่ง SME หลายรายอาจจะคุ้นอยู่แล้ว ส่วนอีกหลายรายที่ยังทราบ ก็ถือเป็นการทบทวนกันอีกครั้ง

รศ.ดร. วีระพงศ์ เผยว่า “ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 ต้องบอกว่า SME 3 กลุ่มใหญ่ถือเป็นหัวสำคัญของการขับเคลื่อน GDP ไทย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนGDP สูงกว่าทุกกลุ่มได้แก่ค้าส่ง ค้าปลีก, กลุ่มที่2 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 3 SME ที่เกี่ยวการส่งออกสินค้าแปรรูปเกษตรต่างๆ

“ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด19 SME เหล่านี้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ถึงกระนั้นภารกิจ 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่วันนี้ทาง สสว. ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยให้ SME ไทยไปต่อก็ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น...

“1. โอกาสหรือตลาด โดยปัจจุบันทาง สสว. ได้มีการช่วยเหลือหาตลาดให้อย่างต่อเนื่อง / 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ให้ SME สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ และ 3.การเชื่อม SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน”

ในส่วนของ ‘การเชื่อมเข้าถึงแหล่งทุน’ นั้น ทาง รศ.ดร.วีระพงศ์ ได้ขยายด้วยว่า “อันที่จริงแล้ว ถ้า SME มีการเปิดโอกาสในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หาก SME นั้นๆ มีต้นทุนเรื่องของความสามารถเป็นทุนเดิม บางครั้งการหาแหล่งทุนก็แทบจะไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มักจะถามหาทุนในขณะที่ตนยังไม่เห็นตลาดของธุรกิจตน และยังไม่มีขยายขอบเขตศักยภาพได้แน่ชัด นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่การคุยกันในเรื่องทุนหลายครั้ง นำมาสู่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน”

เมื่อถามถึงการปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ SME ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใดหลังช่วงวิกฤติโควิด19 ซา? รศ.ดร.วีระพงศ์ ตอบว่า “หากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับค้าปลีก-ค้าส่ง วันนี้ต้องนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ ต้องวิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มหรือช่องทางต่างๆ ในการซื้อ-ขายอย่างชัดเจน นี่คือการปรับตัวในแง่ของการใช้ช่องทางกับรูปแบบในการซื้อขาย

“ส่วนที่ 2 ที่ SME ต้องมีการปรับตัวคือ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สินค้าหรือบริการที่ต้องมีมาตรฐานในระดับสากลหรือระดับโลก อัตลักษณ์ของสินค้าเป็นอีกเรื่อง

“ส่วนที่ 3 การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ของ SME แต่ละรายได้มากขึ้น เช่น ถ้าผู้ประกอบการจะจัดการงานบริหารงานบุคคล การมีซอฟต์แวร์มาตรฐานของ HR สำคัญมาก หรือหากต้องมีการยกระดับขั้นตอนการผลิตต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติม เป็นต้น”

เมื่อถามถึงบทบาทของ สสว. ในส่วนที่จะเข้ามาช่วย SME ตอนนี้มีอะไรบ้าง? รศ.ดร.วีระพงศ์ เผยว่า “เราช่วยเหลือในเรื่องของ ‘โอกาส’ กับ ‘ตลาด’ ซึ่งสิ่งที่ สสว.ทำอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้คือ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสว. ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง ด้วยการให้ภาครัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ก่อนรายใหญ่ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามี SME ได้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐคิดเป็นมูลค่ากว่า 5แสนล้านบาท ซึ่งถ้า SME ท่านใดสนใจสามารถไปขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สสว. https://www.sme.go.th ตรงนี้จะเป็นการเปิดตลาดในส่วนของภาครัฐ

“นอกจากนี้ ในส่วนของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและขนาดเล็ก หรือ MSMEs ทาง สสว. ก็มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ ‘SMEปัง ตังได้คืน’ อย่างต่อเนื่อง โดยเดิมโครงการนี้ให้การอุดหนุนวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท”

“ขณะเดียวกัน สสว. ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ให้การอุดหนุน MSME เพิ่มเติมภายใต้โครงการฯ BDS โดย MSME ทุกขนาด ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ทั้งวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 90% แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ภายใต้แคมเปญ ‘จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน’ ซึ่งจะให้การอุดหนุนแต่สำหรับ MSME 5,000 รายแรก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ในวงเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยการกำหนดกลุ่ม MSME จะพิจารณาข้อมูลรายได้ล่าสุด ที่ได้จากการตรวจสอบของ สสว. หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร”

รศ.ดร. วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้โครงการฯ BDS มีหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 131 หน่วยงานให้บริการบนเว็บไซต์ จำนวน 220 บริการ ส่วนผู้ประกอบการสมัครเข้าใช้บริการ จำนวน 5,475 ราย เลือกใช้บริการแล้ว 660 ราย มีการใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40.96 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th รวมทั้งยังสามารถติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th” พร้อมทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “นอกจากเว็บไซต์ของทาง สสว.แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ‘SME CONNEXT’  ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมไว้ให้อีกด้วย ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถโหลดเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโครงการที่ สสว.ผลักดันได้ทั้งหมด” 

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train)

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) พร้อมส่งหัวรถจักรไฟฟ้า “MINE Locomotive” ยกระดับคมนาคมทางราง ตอบโจทย์พลังงานสะอาดยุคใหม่ นับเป็นโครงการใหญ่ของโรดแมประบบรางไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี และสร้างความมั่นคง ด้านพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ได้มี ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีต่อความร่วมมือว่า สถาบันฯ มุ่งมั่นส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ และการพัฒนาการขนส่งทางรางให้ทันสมัย สะดวกและปลอดภัย ฉะนั้นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วน ระบบรางภายในประเทศ หรือ Local Content ตามนโยบาย Thai First และ MoU ความร่วมมือกับ EA เกิดขึ้นมีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบราง อันเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ประเทศและกระทรวงด้าน Green and Safe Transport ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2580

ด้าน ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า สทร. เป็นหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบรางตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมและสร้างอุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ ที่ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แต่ต้องผลักดันไปสู่การผลิตและใช้จริงในระดับอุตสาหกรรม เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตในประเทศไทย รวมถึงผลักดันให้เกิดการส่งออกไปสู่ตลาดโลก หรือห่วงโซ่คุณค่า ของระบบรางในระดับโลก (Global Value Chain) ความร่วมมือกับ EA จึงถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญระดับประเทศและระดับโลกด้วย

“การประกาศลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สทร.และ EA จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสมัยใหม่ในระบบราง ช่วยยกระดับเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม การขนส่งทางรางของประเทศไทย และส่งเสริมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยจะสามารถเป็นผู้ผลิตและออกเทคโนโลยี ระบบรางที่ทันสมัยสู่ตลาดโลก” ดร.สันติกล่าว

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MoU) กับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านเทคโนโลยีระบบราง และพัฒนานวัตกรรมระบบรางไร้มลพิษตอบโจทย์ต่อบริบทของประเทศ จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศอุตสาหกรรมระบบรางไปสู่การใช้ไฟฟ้าแทนระบบรถไฟเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ หรือ EV on Train และเริ่มทดลองใช้แล้วในประเทศไทย

EA ได้นำนวัตกรรมหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (MINE Locomotive) มาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New S-curves) ได้เป็นผลสำเร็จ จากการได้รับแรงสนับสนุนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน และได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตลอดจนบริษัทผู้ผลิตพันธมิตรของ EA ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผลของการพัฒนา MINE Locomotive จึงนำมาสู่การต่อยอดเส้นทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบวงจร ได้แก่

1. ระบบสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping & Charging Station) สำหรับรถไฟแบตเตอรี่ EV on Train ที่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าเป็นระบบแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ มากกว่า 3 MW

2.องค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ต้นแบบ ของ EA ที่มีขนาดมากกว่า 3 MW เพื่อเป็นต้นแบบขยายสถานีชาร์จตามแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สามารถเพิ่มระยะทางวิ่งใช้เวลาสั้น (เช่น เพียง 10 นาที) ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติการของระบบรางสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อพัฒนาต้นแบบและทดสอบแล้วจะนำไปสู่การขยายผลใช้งานในระบบรางของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบมาตรฐานและการทดสอบ ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ตลอดจนด้านการร่วมมือ ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (Local Content) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การทดสอบและรับรองว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นได้นั้น มีมาตรฐานและผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ EA ในปี 2566 บริษัทฯมั่นใจรายได้ปีนี้เติบโตมากกว่า 50% ตามเป้าหมาย โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจาก EV Ecosystem ทั้งธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้า รถเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยไตรมาส 1/2566 รายได้เติบโตกว่า 80% ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจในส่วนของธุรกิจ EV ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯเริ่มมองหาพันธมิตรเข้าลงทุนในชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีพันธมิตรในส่วนของ Battery Management System แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ได้อีกมาก

‘STARK’ เอฟเฟกต์  ความเชื่อมั่น ‘ตลาดทุนไทย’ หดหาย รอลุ้น ‘DSI’ พิสูจน์ฝีมือช่วยกู้วิกฤต

เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะผ่าน 6 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ไม่ค่อยดีเลยสำหรับ ‘ตลาดหุ้นไทย’ หลังติดอันดับ TOP 3 ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนยอดแย่ของโลก

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีทุจริตสะท้านวงการหุ้นซ้ำเติมอีก จากกรณีที่ บมจ. สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) เกิดการทุจริตทั้ง การไม่ยอมส่งงบการเงิน ร่วมกันตกแต่งบัญชี สร้างออเดอร์ยอดขายเทียม ลูกหนี้เก๊ ลูกค้าปลอม พร้อมถ่ายโอนเงินออกไปจากบริษัทจริง ส่งผลให้ราคาหุ้นรูดลงมาเหลือเพียง 0.02 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป เหลือเพียง 268 ล้านบาท จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 73,733 ล้านบาท

มหกรรมการโกง ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ได้สร้างหายนะต่อนักลงทุนผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ ของ STARK เท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยอย่างหนัก พร้อมมีคำถามขึ้นมากมาย ไปถึงผู้บริหารบริษัท คณะกรรมการ กรรมการตรวจสอบ บริษัทผู้สอบบัญชี และหน่วยงานกำกับดูแล ทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหลาย ๆ คำถาม ก็ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด

แน่นอนว่า เมื่อหวังพึ่งหน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้แล้ว ถือหุ้นรายย่อยที่ได้รับความเสียหายกว่า 10,000 คน ได้เริ่มรวมตัวเรียกร้องความยุติธรรม ผ่านช่องทางออนไลน์ www.thaiinvestors.com ของ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ล่าสุดมีการรวบรวมรายชื่อยื่นฟ้องแล้ว จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน ปรากฏว่ามีผู้แจ้งความจำนงค์ดำเนินคดีรวม 1,759 คน รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4,063 ล้านบาท แม้โอกาสได้รับเงินกลับคืนนั้นแทบจะไม่มีเลย เมื่อเทียบกับเจ้าหนี่ที่มีหลักประกัน เจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้หุ้นกู้ ที่ยังอาจพอมีหวังได้รับเฉลี่ยหนี้คืนบ้าง

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของหายนะครั้งนี้ มีสัญญาณผิดปกติมาตั้งแต่การส่งงบการเงินปี 2565 ล่าช้า โดยทาง STARK ได้ให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีการนับสินค้าคงคลัง อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่บริษัทเปลี่ยนผู้สอบบัญชีจากบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด มาเป็น บริษัท บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PWC)

ต่อมา ผู้สอบบัญชี (PwC) ตรวจพบปัญหาการตกแต่งบัญชีหลายรายการ เช่น การสร้างยอดรอเรียกเก็บหนี้จากลูกค้าปลอม ยอดขายปลอม และสร้างรายการจ่ายเงินซื้อสินค้าล่วงหน้า ให้กับบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้ถือหุ้น โดยสมอ้างเป็นบริษัทคู่ค้าโดยไม่มีการซื้อขายหรือจ่ายเงินจริง คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 26,816 ล้านบาท

อีกทั้ง ยังพบพฤติกรรมการโยกย้ายถ่ายเทเม็ดเงินเกิดขึ้นภายใน 3 บริษัทย่อยของ STARK ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ,บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) และ บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) เริ่มจาก ‘เฟ้ลปส์ ดอด์จ’ ผู้สอบบัญชีพบว่ามีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริงสูงถึง 24,452 ล้านบาท ตามมาด้วย ‘อดิสรสงขลา’ มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 1,045 ล้านบาท และ ‘ไทย เคเบิ้ลฯ’ อีกมูลค่า 689 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ในช่วง 2 ปีก่อน (2564-2565) มีการตกแต่งบัญชีและโอนเงินให้บริษัทระหว่างกันทั้ง STARK และบริษัทบ่อยรวมถึงบริษัทที่อ้างเป็นคู่ค้าธุรกิจ จนทำให้ STARK มีผลขาดทุนจริงมากกว่า 12,640 ล้านบาท โดยในปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท และในปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท

ภายหลังความจริงเริ่มปรากฏชัดออกมาเรื่อย ๆ สังคมตลาดทุนต่างมีคำถามมากมาย มีใครบ้างที่มีเอี่ยวกับการทุจริตดังกล่าว ทั้งผู้บริหารบริษัท พนักงานและบริษัทตรวจสอบบัญชีมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ รวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแล ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร รวมถึงแอคชันการทำงานที่ดูเหมือนจะล่าช้า จนเกิดความเสียหายหนักเกินจะเยียวยาแล้ว

ปฏิบัติการกู้คืนความเชื่อมั่น

ล่าสุดมีรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบความผิดอย่างรวดเร็ว และหากพบความผิด ให้ดำเนินการเอาผิดในทุกกรณีตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่า การดูแลนักลงทุนรายย่อย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับแรก

ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของSTARK เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติ การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่า มีการกระทำผิดของกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ ส่วนกรมสรรพากร ระบุจะตรวจสอบการจ่ายภาษีของ บริษัท STARK อย่างละเอียด หลังพบการปลอมแปลงรายได้ของบริษัท

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน จับมือแถลงข่าวหวังเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อภาพรวมตลาดทุน เมื่อช่วงเช้า วันที่ 26 มิ.ย. 66 แต่ในหลาย ๆ ประเด็นยังไม่มีความกระจ่าง โดยเฉพาะการดำเนินการตรวจสอบผู้สอบบัญชี และบริษัทผู้สอบบัญชี โดยนายธวัชชัย ทิพย์โสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่สามารถตรวจสอบและเอาผิดกับบริษัทผู้สอบบัญชีได้ เพราะมีอำนาจตามกฎหมายในการให้ความเห็นผู้สอบบัญชีเท่านั้น ซึ่งยอมรับว่ามีช่องโหว่ และกำลังอยู่ระหว่างแก้กฎหมาย

ส่วนการตรวจสอบผู้สอบบัญชี สำนักงานก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมหากพบพบว่ามีส่วนรู้เห็นการกระทำความผิดก็จะมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดทุจริตรายอื่นที่มีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องรายใด

นายธวัชชัย ย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งการสั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล ขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม และการแจ้งเตือนผู้ลงทุน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก แม้ทาง ก.ล.ต. จะไม่มีอำนาจในการฟ้องคดี แต่พร้อมให้การสนับสนุนทุกฝ่าย และหากช่วยได้ก็จะดำเนินการให้ โดยขอยืนยันว่าทาง ก.ล.ต. ทำเต็มที่ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย

ด้านนางสาวสิริพร สงบธรรม เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากที่สมาคมฯ ได้เปิดให้ผู้ลงทุนหุ้น STARK ลงทะเบียนเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตั้งแต่ 19-25 มิ.ย.66 มีจำนวนผู้ลงทะเบียน 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท โดยหลังจากนี้สมาคมฯจะนำข้อมูลของผู้เสียหายมาตรวจสอบเบื้องต้น และให้ความรู้ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยจะเป็นคนกลางเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

จากข้อมูลที่แถลงออกมานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่มีการชี้แจงการเยียวยาผู้ลงทุนที่เสียหายทั้งจากการลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ STARK ที่เบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาท และความเสียหายจากการทุจริตงบการเงินราว 2.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมมูลค่าตลาด (Market Cap) ที่ราคาหุ้น STARK ดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

ส่วนการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหากาพย์ความหายนะในครั้งนี้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการตกแต่งบัญชี คงต้องรอการทำคดีของดีเอสไอ ว่าจะสืบสาวไปจนถึงต้นตอได้หรือไม่ และเชื่อว่าคนที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดคงเริ่มหนาว ๆ ร้อน ๆ อยู่ไม่เป็นสุขแน่นอน เพราะมีโทษสูงสุดติดคุกถึง 20 ปีเลยทีเดียว 

อ้างอิง
https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/STARK/financial-statement/company-highlights
https://www.thaipost.net/economy-news/403508/
https://www.bbc.com/thai/articles/c3gzkwl1lnro
https://www.infoquest.co.th/2023/312719
https://mgronline.com/stockmarket/detail/9660000057779

 

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 19-23 มิ.ย. 66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 26-30 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โดยวันที่ 20 มิ.ย. 66 ธนาคารแห่งชาติของจีน (People's Bank of China: PBOC) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลักเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate : LPR) ระยะเวลา 1 ปี ลดลง 0.1% อยู่ที่ 3.55% และ 5 ปี ลดลง 0.1% อยู่ที่ 4.20% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี Reuters รวบรวมคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 2566 จากวาณิชธนกิจชั้นนำล่าสุดอยู่ในช่วง 5.1-5.7% จากปีก่อนหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิมในช่วง 5.5-6.3% จากปีก่อนหน้า (เป้าหมายของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 5% จากปีก่อนหน้า) สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตช้าลง

ขณะที่วันที่ 20-21 มิ.ย. 66 นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) กล่าวว่า Fed จำเป็นต้องดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าเพดานที่ +2% จากปีก่อนหน้า สะท้อนว่าที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00 -5.25% เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 66 ยังมิใช่จุดสิ้นสุดของนโยบายการเงินตึงตัว (Tightening) และวันที่ 22 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% มาอยู่ที่ 5.0% ปรับขึ้นต่อเนื่อง 13 ครั้งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

ด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ วันที่ 24 มิ.ย. 66 กลุ่มกองกำลัง Wagner ก่อกบฏโดยยึดครองกองบัญชาการทหารในเมือง Rostov-on-Don ทางตอนใต้ของรัสเซีย และจะเคลื่อนพลสู่กรุง Moscow อย่างไรก็ดี วันที่ 25 มิ.ย. 66 กลุ่มกองกำลัง Wagner ล้มเลิกภารกิจ พร้อมถอนกำลังจากเมือง Rostov-on-Don โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้นาย Yevgeny Prigozhin ผู้นำกองกำลัง Wagner ไม่ถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ และนำกองกำลังลี้ไปอยู่เบลารุสแทน ทั้งนี้ รัสเซียยังคงใช้มาตรการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในกรุง Moscow โดยประกาศให้ประชาชนหยุดงานในวันที่ 26 มิ.ย. 66

ติดตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในระยะสั้น โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

>>ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- วาณิชธนกิจ HSBC ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีน ในปี 2566 อยู่ที่ +5.3% จากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ +6.3% จากปีก่อนหน้า) จากภาวะซบเซาของภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนที่ถดถอยลง

- S&P Global รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index : PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 66 ลดลง 2.1 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 46.3 จุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65 ทั้งนี้ ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว

- 21 มิ.ย. 66 ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell กล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ภายในปี 2566

>>ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Bloomberg รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. 66 ลดลง 30,000 บาร์เรลต่อวัน เทียบจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้น 15.3% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

- Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 66 ลดลงประมาณ 3% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 7.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และผลิตน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับ 10.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 

เปิดใจ ‘กัปตันเค-สุทธิกาจ’ ผู้พัฒนาแอป ‘จับยาม’  ช่วย ‘สายมู’ ทุกการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของชีวิต

จากกัปตันสายการบินพาณิชย์ สู่ซินแสผู้พัฒนาแอป ‘จับยาม’ (JUB-YAM) ‘กัปตันเค-สุทธิกาจ พัฒนสุข’ ที่รวบรวมเอาศาสตร์การทำนายของชาวจีนที่มีมายาวนานกว่า 4,000 ปี มาผสมผสานกับเทคโนโลยีจนกลายเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ ‘สายมู’ วางแผนชีวิต ตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ จากคำทำนายเฉพาะบุคคลตามดวงชะตาจากวันเดือนปีเกิดของคุณเอง ที่จะช่วยให้เราไม่พลาดทุกการตัดสินใจ

>> ผสานหลากศาสตร์จีนสู่คำทำนายหนึ่งเดียว
สุทธิกาจ เล่าว่าก่อนที่จะมาศึกษาเรื่องโหราศาสตร์จีนและศาสตร์ลายเซ็น เพราะลายเซ็นต์คนเราสามารถวิเคราะห์ตัวตน และอาชีพการงานของเขาได้ สามารถแก้ไขลายเซ็นให้เหมาะสมกับพลังงานธาตุประจำตัวได้ เป็นวิชาพื้นฐานแรกที่ทำให้ผมรู้สึกว่า คนเรามีธาตุประจำตัว แล้วถ้ามีธาตุเราจะเอามาทำอะไรได้บ้าง ก็เลยลองเริ่มศึกษาเรื่อยๆ จนมาจับกับเรื่องระบบปฏิทิน และโหราศาสตร์จีน

“ผมเรียนเกี่ยวกับโหราศาสตร์จีน และศาสตร์การทำนายของจีนอื่นๆ มาเยอพอสมควร จึงเอาองค์ความรู้ทุกอย่างในศาสตร์การทำนายของจีนมาเพื่อใช้งานในแบบเฉพาะของตัวเอง อย่างระบบปฏิทินที่ใช้ในแอปจับยามผมก็เป็นคนสร้างเอง เรารู้สึกว่าเวลาที่เราพัฒนาสร้างเองมันสามารถใช้งานได้จริง วิชาที่ใช้ในการทำงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องธาตุพลังงานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของวิชาโหราศาสตร์จีนอยู่แล้ว ผมก็ไปปรึกษากับเพื่อน ก็ได้รับคำแนะนำว่าศาสตร์ที่ผมพัฒนาขึ้นนี้สามารถพัฒนาให้คนทั่วไปรู้จักได้ จึงลงตัวที่การพัฒนาเป็นแอปจับยาม” สุทธิกาจ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาจับยาม ผู้ช่วยสายมูที่ผู้ใช้สามารถเช็กดวงชะตาและฤกษ์งามยามดีของตัวเองในแต่ละวันได้ 

>> จับยาม รู้วันดี บอกเวลาเฮง
หลังจากพัฒนาศาสตร์การทำนายที่ผสมผสานศาสตร์จีนต่างๆ จนลงตัว สุทธิกาจ ก็ได้เริ่มพัฒนา แอปพลิเคชัน เพื่อง่ายต่อการที่ทุกคนสามารถดูดวงกับซินแสโดยไม่เสียเวลาต่อคิว และรับรองได้ว่ามีรายละเอียดการทำนายเกินร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับการต่อคิวดูดวงกับซินแสตัวจริง

“เราใช้เวลาพัฒนาอยู่เกือบปีนับจากโครงร่างโครงแรก และเพื่อความง่ายต่อคนดู เราพัฒนาการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันไลน์เพียงแค่แอดเฟรนด์ ลงทะเบียน ระบุวัน เดือน ปี เวลาเกิด ก็สามารถรู้ฤกษ์ยามของตัวเองตามหลักโหราศาสตร์จีน” สุทธิกาจ กล่าว 

สำหรับการใช้งาน ‘จับยาม’ นั้นไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก เพียงแค่เข้าเว็บไซต์ www.jubyam.com หลังจากนั้นล็อกอินเข้าสู่ระบบผ่านแอปพลิเคชัน กรอกวัน เดือน ปี เวลาเกิด (ถ้ามี) เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานแอปจับยามได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้ง ซึ่งผู้ใช้สามารถรู้ ยามเกิด ธาตุประจำตัว เช่น เกิดเป็นคนธาตุทองหยาง เวลาวอก เดือนฉลู ปีระกา จากนั้นก็มีคำทำนายประจำวัน คำทำนายประจำสัปดาห์ เรื่องงาน ความรัก สุขภาพ และอื่นๆ สามารถเลือกเวลาดีและเวลาไม่ดีเฉพาะตัวเจ้าชะตาในแต่ละวัน และในแต่ละเดือนมีวันไหนบ้าง ที่เป็นวันเวลามงคลสำหรับเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ทุกอย่างล้วนอยู่ในแอปฯ จับยามนี้ทั้งสิ้น

>> DNAid โครงสร้างดวงชะตาจากฟ้าดิน
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่ทำให้แอปจับยามนั้นแตกต่างจากแอปฯ อื่นๆ คือ DNAid และคำทำนายของพระแม่ธรณี Master Earth oracle และ 12 วันเจ้าการ ซึ่งนำมาจากการรวมศาสตร์การทำนายของจีนมาไว้ในแอปพลิเคชันนี้ให้การทำนายดวงชะตาของทุกคนมีความแม่นยำและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตไปในแต่ละปี

สุทธิกาจ อธิบายว่า DNAid แยกออกเป็น 2 ส่วนคือ DNA เป็นการรวมศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเบื้องบน ส่วน id คือตัวเลขหนึ่งที่บ่งชี้พื้นฐานของตัวเรา ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เมื่อรวมเป็น DNAid จะเป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างธาตุประจำตัวกับพลังงานธาตุประจำวัน ก็จะกลายเป็นเหตุการณ์เป็นคำทำนายในแต่ละวันที่แต่ละคนประสบพบเจอแตกต่างกันออกไป

อย่างดวงไทยจะมีแค่ 12 ราศี มีดาวย้าย มีดาวเจ้าเรือน แต่ DNAid จะสามารถจำแนกได้ถึง 60 แบบทำให้มีรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องต่างๆ ที่ลงลึกมากขึ้น หากจะเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ก็คือในแต่วันล้วนมีพลังงานหลักที่มาจากตัวแทนธาตุต่างๆ ตามแนวทางของจีนได้แก่ ธาตุไม้, ธาตุทอง, ธาตุดิน, ธาตุไฟ, ธาตุน้ำ สมมุติว่าวันนี้เป็นวันที่มีพลังงานของธาตุไม้ ปีนักษัตรนี้เป็นปีเถาะ ซึ่งเป็นธาตุไม้ เช่นกัน ไม้กับไม้ เจอกันจะกลายเป็นวันทำลายตามคำทำนาย 12 วันเจ้าการ หากเราเจอคำทำนายแบบนี้เราจะทำอย่างไร ก็เหมือนผมกำลังบอกว่าวันนี้ช่วงกลางวันคุณจะเจอฝนตกหนัก ถ้าผมบอกแบบนี้เราจะยังซักผ้าตากทิ้งไว้ที่ระเบียงบ้านอีกไหมก็คงไม่ แต่ละคนมีลักษณะที่แตกต่างกัน วันนี้ดีสำหรับเราแต่อาจไม่ดีสำหรับอีกคนก็ได้ เพราะ DNAid ของเราแตกต่างกัน รู้ฤกษ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

สุทธิกาจ อธิบายถึงความสำคัญของฤกษ์ยามตามศาสตร์การทำงานจีนอีกด้วยว่า ในลักษณะการทำนายของดวงจีนจะใช้พลังงานธาตุประจำวัน มารวมกับพลังงานธาตุของตัวเราและอื่นๆ ก็จะได้เป็นคำทำนายเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกันออกไป ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันเป็นคำทำนายที่ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากเรากำลังหาวันนัดติดต่อเซ็นสัญญาลูกค้า เราดูแล้ววันพรุ่งนี้ไม่ดีสำหรับดวงเรา เป็นวันถัดไปจะดีกว่าแบบนี้เราจะเลือกวันไหน แต่สิ่งที่ผมกำลังจะบอกอีกอย่างก็คือ ไม่ใช่ว่าเป็นวันไม่ดีแล้วเราจะเซ็นสัญญาไม่ได้ คุณอาจจะเจรจาเซ็นสำเร็จก็ได้ แต่ความราบรื่นจะต่างกัน ความเสี่ยงก็ต่างกัน และข้อดีอีกอย่างของแอปจับยามก็คือสามารถดูวันเวลาล่วงหน้าได้เป็นปีซึ่งจะช่วยทำให้เราวางแผนชีวิต และการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น

“เพราะช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิต เราเลือกผิดไม่ได้ คนเรามีกิจกรรมและเรื่องที่ต้องตัดสินใจทุกวัน พลังงานประจำวันกับพลังงานของตัวเราส่งผลต่อชีวิตเรามากกว่าที่คิด ผมเชื่อว่าต้องมีสักวันหนึ่ง ที่คุณรู้สึกว่า ‘โอ้โห วันนี้มันวันซวยจริงๆ มีเรื่องทั้งวัน’ และก็คงมีบางวันที่คุณรู้สึกว่าทำอะไรก็สำเร็จไปซะทุกอย่าง สิ่งนั้นแหละ เรียกว่าผลของพลังงานประจำตัว และพลังงานประจำวัน ทุกกิจกรรมในชีวิต จะประสบความสำเร็จราบรื่นได้ เรื่องฤกษ์ยามมีผลมาก แม้เราจะไม่ได้สังเกตจริงจัง แต่มันมีเวลาที่เหมาะที่ควรอยู่ในทุกกิจกรรม” สุทธิกาจ กล่าวทิ้งท้าย

ไทยรับอานิสงส์ ต่างชาติจ่อย้ายฐานการผลิต หลังการแข่งขันเทคโนโลยี ‘จีน-สหรัฐฯ’ ยืดเยื้อ 

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย สถานการณ์การแข่งขันเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ยังคงยืดเยื้อ และคาดการณ์ว่าจะยังไม่สิ้นสุดในระยะเวลาใกล้นี้ ส่งผลให้บริษัทรายสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศคู่แข่งขันในสงครามเทคโนโลยี โดยมองว่า ‘ไทย’ จะได้รับอานิสงส์ หลังมีการวางตัวเป็นกลางระหว่างทั้งสองประเทศ 

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนของบริษัทต่างชาติในไทย พบว่า ปัจจัยด้านห่วงโซ่อุปทานของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งยังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความไม่ซับซ้อนคล้ายคลึงกับไทย ในแง่ของการเป็นฐานการผลิตสินค้าแต่ละประเทศมีสินค้าที่คล้ายคลึงกัน หรือก็คือ เป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้ส่วนประกอบจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเหมาะแก่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน ไทยมีโอกาสที่จะถูกเลือกเป็นประเทศปลายทางในการตั้งฐานการผลิต โดยหลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศคู่ขัดแย้งในสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับกิจการของตน และไทยเองมีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมการผลิต ที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้ได้โดยเร็ว ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบการควรวางแผนการกระจายความเสี่ยง กรณีห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงัก โดยการจัดหาวัตถุดิบที่มาจากหลายแหล่ง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้เร่งส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top