Sunday, 19 May 2024
Econbiz

'พลัฏฐ์' ชี้!! 'ข้อเท็จจริง' กรณีเพิ่มจำนวนธนาคาร อาจไม่ทำให้ราคาดอกเบี้ยและค่าบริการลดลง

(3 ก.ค.66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า...

Players, Competition, Pricing & competitiveness

ถ้าการค้าสมัยนี้ 'ราคา' ขึ้นอยู่กับ 'กลไกตลาด' และ 'จำนวนผู้ค้า' มันก็คงดี

คุณ ศิริกัญญา หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เสนอให้มีจำนวนธนาคารมากขึ้น เพื่อเพิ่มการแข่งขัน ให้ราคาดอกเบี้ยลดลง 

เรื่องนี้ ผมเคยหารือกับ ท่านอดีตผู้ว่า ธปท.

ข้อเท็จจริง จำนวนธนาคารที่มากขึ้น อาจไม่ได้ทำให้ราคาดอกเบี้ยและค่าบริการลดลง เพราะกลไกตลาด ทำงานไม่ปกติ

ยกกรณีเปรียบเทียบอุตสาหกรรมอื่น

>> เบียร์
ในไทยมีหลัก ๆ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ช้าง, สิงห์ (ลีโอ), ไฮเนเก้น

มีผู้เล่นระดับโลกอยากเข้ามาไทย แต่ไม่สามารถเข้ามาแข่งได้เต็มที่เพราะ...

- ไทยห้ามโฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ระบบการจัดจำหน่าย ขนส่งและค้าปลีก ทำได้ยาก
- บรรจุภัณฑ์หลายประเภทอยู่ในห่วงโซ่ผู้เล่นหลัก

ต่อให้คุณเป็น Budweiser, Carlsberg, etc ก็เข้ามาทำตลาดให้ใหญ่ได้ยาก

>> ปุ๋ย
เรามีผู้เล่น มากกว่า 1,000 ราย แต่ตลาดส่วนใหญ่ 80% อยู่ในมือ 10 รายแรก ที่เหลือไม่มี Economic of scale ต้นทุนแพงจนไปต่อไม่ไหว แข่งยาก

>> บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 
เรามีผู้เล่น 4 ราย AIS, True, dtac, NT และ MVNO +/-20 ราย...การที่ True+Dtac จะทำให้การแข่งขันลดลง แม้ว่า เราจะมีผู้ให้บริการ MVNO เครือข่ายเสมือนก็มีขนาดไม่พอที่จะสู้กับรายใหญ่

>> ธนาคาร
Standard Chartered Bank เป็นผู้เล่นระดับโลก หลังจากซื้อธนาคารนครธน มาหลายปี ก็พบว่าตนเองแข่งกับ ธนาคารหลายแห่งไม่ได้ เนื่องจาก สาขา บุคลากร ฐานลูกค้าไม่พอ จึงจำกัดบริการทำแต่ Wholesale banking ลดบริการ SME and Retail bank เพราะบริการ ค้าปลีกทำไม่ไหว

ขนาด Standchart นะ ในไทยยังมี HSBC, Duetsche bank และอื่น ๆ โดย HSBC ขาย credit card business ออกเพราะไม่คุ้ม 

ธนาคารที่บริการ Universal banking ในไทยจึงมีไม่มาก เป็นทางเลือกน้อย แต่ถ้าอยากจะให้มีมากขึ้นกลับไม่ง่าย เพราะ Entry Barrier สูงมาก แถมอุตสาหกรรมการเงินกำลัง Disrupt

ผมชื่นชมความตั้งใจของคุณไหม แต่ผมว่า น้องยังไม่กว้างและลึกมากพอครับ โลกวันนี้ไม่ง่ายอย่างในหนังสือเรียนหรืองานวิจัย ขอให้ท่านหาทีมแข็ง ๆ อยู่ช่วยนะครับ

‘ส้มโอไทย 4 สายพันธุ์’ ยกทัพบุกถิ่นมะกันครั้งแรก ตอกย้ำ!! ‘ขีดความสามารถสินค้าไทย’ ในต่างแดน

(3 ก.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผ่านการส่งออกส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี (Washington, D.C.) สหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย และยังส่งออกมะม่วงของฤดูกาลปี 2566 มังคุด และผลไม้อื่น ๆ ของไทย เพื่อนำไปร่วมงานเฉลิมฉลองในวันชาติของสหรัฐอเมริกา และ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ในงานจัดแสดงผลไม้เทศกาล ‘Sawasdee DC Thai Festival’ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2566 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกส้มโอชิปเมนท์แรกไปยังสหรัฐฯ เพื่อจัดแสดงผลไม้ในงานเทศกาล Sawasdee DC Thai Festival ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในโอกาสวันชาติของสหรัฐฯ ในวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2566 และเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงรายงานการส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯครั้งแรก เป็นส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ขาวแตงกวา พร้อมด้วย มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ มหาชนก แดงจักรพรรดิ และเขียวเสวย รวมทั้งมังคุด รวมทั้งสิ้น จำนวน 72 กล่อง น้ำหนัก 864 กิโลกรัม

นายอนุชา กล่าวว่า การส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ที่จะมีตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เป็นประเทศที่เข้มงวดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชอย่างสูง โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้มอบหมายหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service : APHIS) ให้แจ้งถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพการแพร่กระจายรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะอนุญาตให้นำเข้า โดยส้มโอส่งออกจะต้องผ่านการฉายรังสีแกรมมา (Gamma: γ) ที่ระดับ 400 เกรย์ นาน 3 ชั่วโมง จากศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) พร้อมโรงคัดบรรจุที่ได้รับอนุญาตให้คัดบรรจุส้มโอเพื่อการส่งออกได้ โดยผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐฯ ต้องฉายรังสีแกรมมา ปริมาณ 400 เกรย์ ก่อนส่งออก

นายอนุชา กล่าวว่า ขณะนี้ผลไม้ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มี 8 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด มังคุด แก้วมังกร เงาะ และล่าสุดได้แก่ ส้มโอ โดยกรมวิชาการเกษตรยังมีแนวทางที่จะสนับสนุนภาคเอกชนให้มีการจัดส่งทางเรือเพื่อลดต้นทุนและจัดส่งได้ครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบในเชิงคุณภาพ โดยหากได้ผลดีจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในเชิงการค้าต่อไป 

“นายกรัฐมนตรียินดีต่อผลความสำเร็จในการส่งออกส้มโอทั้ง 4 สายพันธุ์ของไทย เป็นเครื่องสะท้อนถึงคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ นายกฯ เชื่อมั่นว่าเมื่อไทยผ่านมาตรฐานการส่งออกไปสหรัฐฯ จะเพิ่มโอกาสให้ผลไม้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต พร้อมขอบคุณความร่วมมือ การทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันสินค้าเกษตรของไทยให้มีศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในตลาดต่างประเทศ" นายอนุชา กล่าว

‘อาร์เอส’ ปิดดีลรับทรัพย์ 1.6 พันลบ. ดึง ‘ยูนิเวอร์แซล’ ร่วมบริหารลิขสิทธิ์เพลง

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส (RS) กล่าวว่า อาร์เอส มิวสิค ประกาศเดินหน้าและรุกธุรกิจเพลงอีกครั้งในจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ที่ชัดเจน และจากการมีพาร์ทเนอร์ใหม่ที่แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศจะนำมาซึ่งกลยุทธ์เชิงรุกที่แตกต่างและไร้กรอบ เพื่อสร้างรายได้จากหลายช่องทาง

ล่าสุด อาร์เอส มิวสิค ได้พาร์ทเนอร์ระดับโลกอย่าง ยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป (UMG) เข้ามาลงทุนในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) เพื่อบริหารลิขสิทธิ์เพลงของอาร์เอสทั้งหมด ซึ่ง UMG เป็นบริษัทดนตรีรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกและเป็นผู้นำในตลาดเพลง การร่วมลงทุนในครั้งนี้จะทำให้ผู้คนจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ดนตรีของอาร์เอสได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน Soft Power ของไทย

“บริษัทเชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่ธุรกิจหรือโปรเจกต์ใหม่ในรูปแบบอื่น ๆ ร่วมกันในอนาคต”

นายวิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน RS กล่าวว่า ดีลในครั้งนี้บริษัทได้รับเงินลงทุนจาก UMG ราว 1.6 พันล้านบาทเพื่อร่วมกันตั้งกิจการร่วมค้า โดยทาง UMG จะมีสัดส่วนถือหุ้น 70% และ อาร์เอส มิวสิค จะถือหุ้น 30% ซึ่งจะมีสิทธิในการบริหารจัดการแค็ตตาล็อกเพลงกว่า 10,000 เพลง รวมถึงคอนเทนต์เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ มิวสิควิดีโอ เนื้อเพลงและบทประพันธ์ (compositions) รูปภาพและภาพถ่ายต่าง ๆ รวมถึงสิทธิภายใต้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ (rights under license agreements)

ความร่วมมือกับ UMG จะช่วยขยายรายได้จากช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญ เมื่อรวมกับรายได้จากการจัดกิจกรรมและคอนเสิร์ต การสร้างแคมเปญการตลาดกับลูกค้า และการบริหารศิลปิน คาดว่าจะช่วยผลักดันให้รายได้ของ อาร์เอส มิวสิค เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ที่ 700 ล้านบาท

นายสุรชัย กล่าวเสริมว่า นอกจากการผลิตคอนเทนต์ใหม่จากโปรเจกต์ RS Homecoming และ RS Newcomers รวมถึงความร่วมมือด้านลิขสิทธิ์เพลงกับ UMG แล้ว อาร์เอส มิวสิค ยังมองหาโอกาสใหม่ ๆ กับพาร์ทเนอร์คู่ค้า ทั้งที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้วและคู่ค้าอื่น ๆ เพื่อต่อยอดการทำ Music marketing ทั้งยังจะจับมือกับศิลปินอิสระหรือจากค่ายต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสในการทำเพลงร่วมกับศิลปินชื่อดังของไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเพลงให้ครบวงจร และสร้างรายได้จากหลากหลายช่องทาง

“ทั้งหมดนี้ นับเป็นการขยายศักยภาพในการกลับมารุกธุรกิจเพลงของ อาร์เอส มิวสิค ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางในการนำธุรกิจเพลงภายใต้ อาร์เอส มิวสิค เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 67 โดยจะมีการประกาศแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินภายในเดือนก.ค.นี้ด้วย” นายสุรชัย กล่าว

‘ทิสโก้’ ชี้ไตรมาส 3 หุ้นไทยอาจแตะ 1,400 จุด สะท้อนการเมืองวุ่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย

บล.ทิสโก้ กังวลการเมืองในประเทศวุ่น ผนวกกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย คาดกดดันหุ้นไทยทดสอบระดับ 1,400 จุด แนะเดือนกรกฎาคมใช้กลยุทธ์ปรับพอร์ตแบบสมดุลระหว่างหุ้นเชิงรับและหุ้นเชิงรุก 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกตลาดหุ้นไทย (SET Index) ให้ผลตอบแทน -10% ถือว่าแย่มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) ที่ให้ผลตอบแทน +12% นอกจากนี้ หากไม่รวมความเคลื่อนไหวของหุ้น DELTA ระดับ SET Index จะอยู่ที่ประมาณ 1,400 จุดต้น ๆ เท่านั้น สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนไม่โดดเด่น ส่วนหนึ่งเพราะปัจจัยการเมืองในประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง  รวมทั้งประมาณการกำไรของตลาดที่ยังมีแนวโน้มถูกหั่นลงอยู่ ทำให้ครึ่งแรกของปีนี้ ต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท 

สำหรับภาพรวมไตรมาส 3 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะปัจจุบันดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่หลุดระดับ 1,500 จุดกำลังสะท้อนภาพการเมืองในประเทศที่ส่อแวววุ่นวาย คือ การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าและมีชุมนุมประท้วง โดยบล.ทิสโก้มองว่า ดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 3 มีโอกาสลงทดสอบบริเวณ 1,450 จุด และในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยมาผสมโรงด้วย SET Index มีโอกาสลงทดสอบบริเวณ 1,400 จุด แต่น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี ก่อนมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในช่วงปลายปีนี้ 

“การเมืองไทยนับถอยหลังการโหวตเลือกนายกฯ ในช่วงครึ่งหลังเดือนกรกฎาคมนี้ ในกรณีฐาน บล.ทิสโก้ยังคงมุมมองเดิมว่าพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและคุณพิธาได้รับการโหวตเลือกเป็นนายกฯ แม้สถานการณ์ปัจจุบันความเป็นไปได้กรณีนี้จะลดลงก็ตาม อย่างไรก็ดี บล.ทิสโก้อยากแนะนำให้จับตาการโหวตเลือกประธานสภาฯ เป็นลำดับแรกก่อน หากผลการโหวตเลือกประธานสภาฯ ไม่ใช่ตัวแทนที่มาจากพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามกระแสข่าวที่ปรากฎก่อนหน้านี้ บล.ทิสโก้มองจะเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ดีว่าการโหวตเลือกนายกฯ ในลำดับต่อไปอาจยืดเยื้อ-ไม่ราบรื่น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาด และจะเพิ่มโอกาสเกิดการพลิกขั้ว-จับคู่ใหม่ในการจัดตั้งรัฐบาล ในกรณีหลังนี้ก็จะสุ่มเสี่ยงเกิดการชุมนุมประท้วงได้” นายอภิชาติกล่าว   

นอกจากนี้ บล.ทิสโก้มองทิศทางดอกเบี้ยยังมีความเสี่ยงที่จะปรับขึ้นสูงและนานกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยในอดีตธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเสมอประมาณ 1-2% จึงจะช่วยกดเงินเฟ้อให้ปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายได้สำเร็จ แต่ระดับอัตราดอกเบี้ย FED ในปัจจุบันอยู่เท่ากับระดับอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น และแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อาจยังมีความหนืดอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5% ต่อปีจากแนวโน้มราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้น  

สำหรับการลงทุนในเดือนกรกฎาคม บล.ทิสโก้แนะนำกลยุทธ์การลงทุนเป็น 2 ส่วนแบบสมดุลระหว่างหุ้นเชิงรับและหุ้นเชิงรุก (Barbell Strategy) 1.หุ้นเชิงรับ บล.ทิสโก้ยังชอบหุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ที่มีค่า Beta น้อยกว่า 1 ต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว เพราะน่าจะทนทานต่อความไม่แน่นอนของตลาดเดือนนี้ แนะนำ ADVANC, BBL, BDMS และCPALL และ 2.หุ้นเชิงรุก บล.ทิสโก้แนะนำหุ้นที่กำไรไตรมาส 2/2566 จะเติบโตได้และราคาปรับตัวลงลึกทำให้กลับมามี Upside น่าสนใจ แนะนำ EGCO, HANA, MENA และ SISB  ดังนั้น หุ้นเด่นของบล.ทิสโก้ในเดือนกรกฎาคม คือ ADVANC, BBL, BDMS, CPALL, EGCO, HANA, MENA และ SISB  ด้านแนวรับสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1,450- 1,460 จุด แนวรับถัดไปที่ 1,420- 1,430 จุด  และแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่  1,520-1,540 จุด และ 1,575 จุดตามลำดับ 

แสนสิริ กวาดยอดขายครึ่งปี 25,000 ล้านบาท อานิสงส์โครงการบ้านหรู - คอนโดพร้อมอยู่ ดีเกินคาด

แสนสิริเผยผลงานครึ่งแรกปี 66 แข็งแกร่งด้วย ยอดขาย 25,000 ล้านบาท โต 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดขาย 18,300 ล้านบาท หลังได้อานิสงส์โครงการลักซ์ชัวรี และคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ ผลตอบรับดีเกินคาด

นายวิชาญ วิริยะภูษิต ประธานผู้บริหารสายการเงิน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกของปี 2566 นับเป็นปีที่ท้าทายสำหรับแสนสิริอย่างมาก จากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี แสนสิริ มองล่วงหน้าถึงสถานการณ์และมีความพร้อมรองรับความผันผวนของภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ไว้แล้ว จึงวางกลยุทธ์ต่างๆ ตามความเหมาะสม ส่งผลให้สามารถสร้างผลงานเป็นที่น่าพอใจ โดยในครึ่งปีแรก แสนสิริสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 25,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 37% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยโครงการเปิดตัวใหม่ ทำยอดขายดีเกินคาดในทุกโครงการ นำแชมป์ด้วยโครงการบ้านเดี่ยวระดับลักซ์ชัวรี อย่างนาราสิริ พหล -วัชรพล และ บูก้าน กรุงเทพกรีฑา ที่สามารถสร้างยอดขายได้ดีมาก ต่อยอดความสำเร็จจากการส่งมอบบ้านเดี่ยวในระดับซุเปอร์ลักซ์ชัวรีจากแสนสิริ ในโครงการนาราสิริ กรุงเทพกรีฑา และบูก้าน โยธินพัฒนา ซึ่ง Sold out ปิดการขายอย่างรวดเร็ว ในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้จากความต้องการบ้านในระดับลักซ์ชัวรี ที่ยังมีดีมานด์อยู่มาก ประกอบกับกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อต่อเนื่อง ทำให้ทั้ง 2 โครงการ ซึ่งตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพ เดินทางสะดวก ได้ผลตอบรับที่ดี รวมถึงโครงการเศรษฐสิริ ดอนเมือง ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามสนามบินดอนเมืองและใกล้โรงเรียนนานาชาติ ฮาร์โรว์ ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาดเช่นกัน 

ล่าสุดแสนสิริได้เปิดตัว แคมปัส คอนโด ใกล้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โครงการ ดีคอนโด ไฮป์ รังสิต ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่ามียอดจองแล้วถึง 80% แสดงให้เห็นว่าครึ่งแรกของปีนี้โครงการเปิดใหม่ได้รับผลตอบรับที่ดีในทุกโครงการ รวมถึงโครงการแนวราบอีกหลายโครงการ เช่น สราญสิริ ราชพฤกษ์ 345 และ อณาสิริ ศรีนครินทร์-แพรกษา เป็นต้น

ขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ หรือ Ready to Move เริ่มกลับมาขายดี สะท้อนให้เห็นว่าตลาดคอนโดมิเนียมกำลังกลับมาหลังจากช่วงก่อนโควิดและหลังโควิดมีการดูดซับช้าลง ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีกับตลาดคอนโดมิเนียมเป็นอย่างมาก เนื่องจากคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่เป็นตัวชี้วัดที่ดีในตลาด Real Demand เพราะกลุ่มลูกค้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองหรือปล่อยเช่า ไม่ได้เป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไรหรือมีดีมานด์เทียมในยอดขายของคอนโดมิเนียมกลุ่มดังกล่าว โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาแสนสิริสามารถทำยอดขายได้ดี จนทำให้ยูนิตสร้างเสร็จพร้อมขาย (Stock) ของคอนโดมิเนียมลดลงเหลือเพียง 8,100 ล้านบาทจากStock ในต้นปีที่ 11,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าแสนสิริมี Absorption ที่ดีที่สุดในตลาด สำหรับกลุ่มคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ ภายใต้แบรนด์ The Base, The Line, The Muve, XT, dcondo และ CondoMe เป็นต้น โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แสนสิริยังได้เตรียมปิดการขายอีก 12 โครงการ ในคอนโดมิเนียมกลุ่มแบรนด์นี้  

นอกจากนี้ แสนสิริยังสร้างวินัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญ การมียูนิต สร้างเสร็จพร้อมขาย หรือ Stock ลดลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แสนสิริสามารถชำระคืนเงินกู้ธนาคารจากโครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ได้ 100% ซึ่งหมายถึง แสนสิริไม่มีภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนในกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ ซึ่งการมีวินัยทางการเงินนับเป็นปรัชญาสำคัญของแสนสิริในการดำเนินธุรกิจมาตลอดเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้แสนสิริอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ดีและมีคุณภาพ เป็นที่วางใจของธนาคารและนักลงทุนเสมอมา ทั้งนี้ การคืนหนี้ได้เร็วกว่ากำหนดก็เท่ากับว่าแสนสิริ สามารถลดค่าใช้จ่ายทางด้านการเงินไปในตัวอีกด้วย โดยปัจจุบันแสนสิริมีสภาพคล่องอยู่กว่า 17,000 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินมากที่สุด

สำหรับไฮไลต์แผนธุรกิจครึ่งปีหลัง แสนสิริจะรุกบ้านเดี่ยวแบรนด์เศรษฐสิริอย่างต่อเนื่อง จากกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และการตอบรับที่ดีของตลาดบ้านระดับลักซ์ชัวรีและซุปเปอร์ลักซ์ชัวรี แสนสิริจึงเดินหน้าเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยวภายใต้แบรนด์ เศรษฐสิริ เพิ่มอีก 10 โครงการ มูลค่ารวม 21,900 ล้านบาท ครอบคลุมทุกทำเล ทั้ง รามอินทรา สายไหม เสรีไทย บางนา ราชพฤกษ์ พรานนก และ พุทธมณฑล สาย 1 เป็นต้น ซึ่งนับเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งเมื่อรวมกับโครงการคอนโดมิเนียมที่จะทยอยเปิดตัวใหม่อีกกว่า 10 โครงการในช่วงครึ่งหลังของปีจากสถานการณ์ดีมานด์ตลาดคอนโดมิเนียมทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน แสนสิริจึงมีโอกาสที่จะทำยอดขายได้เกินเป้า 55,000 บาท ตามแผนที่วางไว้ในช่วงต้นปี

“แสนสิริยังคงวางเป้าหมายในการพัฒนาโครงการตอบรับความต้องการลูกค้าในทุกเซกเมนต์ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด  “YOU Are Made For Life” ซึ่งกลยุทธ์ในการเปิดตัวสินค้าในแต่ละกลุ่ม สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม โดยใช้ข้อมูลทางตลาดเป็นตัวชี้นำ ทั้งนี้ ในปีนี้แสนสิริจะเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกลุ่มลักซ์ชัวรีที่ยังคงได้ผลตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากตลาดคอนโดมิเนียม ที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จะยิ่งส่งผลดีต่อยอดขายและผลประกอบการของบริษัทฯ ขณะที่ การจัดตั้งรัฐบาลที่เสร็จสิ้นแล้ว ประกอบกับการท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ใกล้ระดับก่อนโควิดในช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และนับเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้แสนสิริมั่นใจว่าเรายังคงมีผลการดำเนินงานที่ On Track ในการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่กับยอดขายและผลประกอบการที่ดีที่สุดของบริษัทฯ ต่อไปในปีนี้ ” นายวิชาญ กล่าว

'โลตัส-ทรู' เปิดตัวร้านอัจฉริยะไร้พนักงานแห่งแรก หยิบของ-จ่ายเงินอัตโนมัติในเวลาแค่ 1 นาที

‘โลตัส’ ทุ่ม 1.2 หมื่นล้าน เดินหน้ารีโนเวท พร้อมขยายสาขาใหม่ต่อเนื่อง ผนึก ‘ทรูดิจิทัล’ เปิดร้านค้าอัจฉริยะไร้พนักงานแห่งแรก ‘นอร์ธ ราชพฤกษ์’ ใช้เวลาชำระค่าสินค้าแค่ 1 นาที

นายมนต์ชัย อินทรพรอุดม ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานพัฒนาการปฏิบัติการธุรกิจโลตัส เปิดเผยว่า โลตัสยังคงเดินหน้าเปิดสาขารูปแบบใหม่และปรับปรุงสาขาเดิมมีอยู่ 2,300 สาขา ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในแต่ละพื้นที่มากขึ้น เช่น ขยายพื้นที่ใหญ่ขึ้น เพิ่มร้านอาหาร โดยในปี 2566 ใช้เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท ปรับโฉมใหม่ 10-15 สาขา เช่น สาขาบางกะปิ ลาดพร้าว สระบุรี เป็นต้น และเปิดสาขาใหม่รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 2-3 สาขา และโลตัสโกเฟรช 100-150 สาขา กระจายในเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยว ซึ่งปลายปีนี้จะเปิดสาขาใหม่ที่เดอะ ฟอเรสเทียส์ พื้นที่ 4,500 ตารางเมตร (ตร.ม.) ส่วนในปี 2567 จะใช้เงินลงทุนใกล้เคียงกับปีนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาท เพื่อเปิดสาขาใหม่ประมาณ 100-150 สาขา และปรับปรุงสาขาเดิมอีก 10-20 สาขา

นายมนต์ชัยกล่าวว่า ล่าสุดร่วมกับ ทรู ดิจิทัล เปิดตัว Lotus’s Pick & Go by True Digital ร้านค้าอัจฉริยะแบบไร้พนักงานแห่งแรกของประเทศไทยที่ โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ ซึ่งจะเป็นสาขาต้นแบบค้าปลีกโมเดลใหม่ในอนาคต โดยมีพื้นที่กว่า 30 ตร.ม. สินค้ากว่า 400 รายการ กว่า 90% เป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยว และ 10% เป็นสินค้าทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าอนามัย กระดาษทิชชู สามารถซื้อสินค้าและชำระเงินอัตโนมัติผ่านทรูมันนี่ วอลเล็ต จะมีเงินขั้นต่ำในบัตร 200 บาท ได้ในเวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น รองรับลูกค้าเป็นกลุ่มต้องการความเร่งด่วน คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 50-100 คนต่อวัน และมีแผนจะเปิดสาขาที่ 2 กำลังดูพื้นที่ทั้งสาขาเดิมมีพื้นที่รองรับ หรือรูปแบบตู้กดอัตโนมัติที่ใช้พื้นที่ไม่มาก เช่น ในโรงเรียน ออฟฟิศ เป็นต้น

“ปัจจุบันกำลังซื้อค้าปลีกดีขึ้นทั้งจำนวนลูกค้าและยอดขายในทุกสาขา แม้สถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่งก็ไม่ส่งผลกระทบ เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนรัฐบาลครั้งนี้ครั้งแรก” นายมนต์ชัยกล่าว

นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทำงานร่วมกับโลตัสมา 1 ปี พัฒนาแพลตฟอร์มค้าปลีกอัจฉริยะ ทรู เวอร์โก เอไอ ซึ่งใช้เอไอ 100% เป็นแห่งแรกในไทย จะเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น หากประสบความสำเร็จจะขยายสาขาที่ 2 ในโลเคชันที่เหมาะสมและลูกค้าอื่นนอกเครือซีพี

นายเอกราชระบุว่า สำหรับระบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริการจัดการร้าน เก็บข้อมูลและเทรนด์ลูกค้าเพื่อวางแผนธุรกิจ บริหารจัดการการใช้พลังงาน ลดภาระพนักงาน แจ้งเตือนจำนวนสินค้าบนเชลฟ์ โดยจะติดกล้องเอไออัจฉริยะไว้ในร้าน 38 ตัว เพื่อตรวจจับและบันทึกข้อมูล

สำหรับวิธีการใช้งาน มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ สแกนคิวอาร์โค้ดทรูมันนี่, เลือกหยิบสินค้า, เดินผ่านประตูทางออกระบบจะตัดเงินอัตโนมัติ, สแกนคิวอาร์โค้ดที่หน้าจอทางออกเพื่อรอใบเสร็จ ซึ่งจำกัดคนเข้า 6 คนต่อครั้ง

‘ธุรกิจกายภาพบำบัด’ บูม!! วัยทำงานแห่ใช้บริการ พบ 'กรุงเทพฯ' ยืนหนึ่ง ผู้ประกอบกระจุกตัว

(4 ก.ค. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรช่วงอายุ 25-54 ปี หรือ กลุ่มวัยทำงาน จำนวนเกือบ 30 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ด้วยอัตราการเกิดและการตายที่ลดลง รวมถึงอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น ประชากรกลุ่มนี้จึงเริ่มตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานประจำ หรือที่เรียกว่า ทำงานออฟฟิศ ที่มีพฤติกรรมการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ได้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม : Office Syndrome’ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

คลินิกกายภาพบำบัด เป็นทางเลือกใหม่ของคนวัยทำงานที่เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม รวมถึง ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อและกระดูกที่อาจเกิดจากการเล่นกีฬา หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการและนวัตกรรมเครื่องมือในการรักษาที่ตอบโจทย์ตามมาตรฐานสากลและสะดวกสบาย โดยคลินิกกายภาพบำบัดให้บริการรักษาหลากหลายวิธี เช่น การใช้ความร้อนแสง เสียง ไฟฟ้า การดัด การดึง การนวด การบริหารร่างกาย การใช้เครื่องมือทางกายภาพชนิดต่างๆ เพื่อฟื้นฟู ป้องกัน ปรับปรุง แก้ไขสมรรถภาพของร่างกายที่เสื่อมสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ ส่งผลให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม และเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในยุคปัจจุบัน

จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 12 ราย ทุนจดทะเบียน 158 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 17 ราย (เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ ร้อยละ 41.7) ทุน 31.4 ล้านบาท (ลดลง 126.60 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 80.1) ปี 2565 จัดตั้ง 37 ราย (เพิ่มขึ้น 20 ราย หรือ ร้อยละ 117.7) ทุน 101.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 69.95 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 222.8) และ ปี 2566 เดือนมกราคม-พฤษภาคม จัดตั้ง 22 ราย ทุน 31.40 ล้านบาท (ม.ค.-พ.ค.65 จัดตั้ง 17 ราย ทุน 36.55 ล้านบาท)

ผลประกอบการธุรกิจ โดยรายได้รวมของธุรกิจ ปี 2562 อยู่ที่ 267.73 ล้านบาท ขาดทุน 18.79 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 246.94 ล้านบาท (ลดลง 20.69 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 7.7) ขาดทุน 15.29 ล้านบาท (ลดลง 3.50 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 18.6) และ ปี 2564 รายได้รวม 417.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 170.41 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 69.0) กำไร 37.23 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21.94 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 143.5) ทั้งนี้ ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจกายภาพบำบัด ปี 2562 – 2564 รายได้มีความผันผวนเนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยธุรกิจกายภาพบำบัดเป็นธุรกิจบริการที่มีการสัมผัสกัน จึงเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ

ภายหลังที่การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ธุรกิจบริการโดยเฉพาะสุขภาพจึงสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ ขยายธุรกิจ/การบริการที่ครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และมีการเพิ่มสาขาโดยเฉพาะในตัวเมืองที่ประชากรอยู่หนาแน่น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และกระแสการตื่นตัวรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น

การลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 1,632.31 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.0 ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 14.85 ล้านบาท (ร้อยละ 0.89) รองลงมา คือ อเมริกัน มูลค่า 5.41 ล้านบาท (ร้อยละ 0.32) ญี่ปุ่น มูลค่า 5.24 ล้านบาท (ร้อยละ 0.31) และอื่น ๆ มูลค่า 7.74 ล้านบาท (ร้อยละ 0.48)

ปัจจุบัน ธุรกิจกายภาพบำบัดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีจำนวน 175 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 1,665.55 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.007 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 163 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.14 มูลค่าทุน 1,645.85 ล้านบาท และเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จำนวน 174 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.43 สถานประกอบการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 91 ราย (ร้อยละ 52.00) ทุนจดทะเบียนรวม 1,284.31 ล้านบาท (ร้อยละ 77.11) รองลงมา คือ ภาคกลาง 33 ราย (ร้อยละ 18.86) ภาคเหนือ 15 ราย (ร้อยละ 8.57) ภาคใต้ 13 ราย (ร้อยละ 7.43) ภาคตะวันออก 11 ราย (ร้อยละ 6.29) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 ราย (ร้อยละ 4.57) และภาคตะวันตก 4 ราย (ร้อยละ 2.28)

และด้วยกระแสความนิยมของธุรกิจกายภาพบำบัดที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเข้าใช้บริการของผู้บริโภคและการเข้ามาลงทุนในธุรกิจของนักลงทุน ประกอบกับธุรกิจมีการปรับตัวที่น่าสนใจจนสามารถตอบโจทย์ความต้องการและเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้ธุรกิจมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากการสำรวจนักลงทุนที่เข้ามาในตลาดธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า มีแบรนด์กีฬาที่มองเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านสุขภาพ ได้เข้ามาลงทุนจัดตั้งคลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาขนาดใหญ่ในประเทศไทย เป็นการเสริมธุรกิจด้านกีฬาที่ดำเนินกิจการอยู่ ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร รวมทั้ง สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้สินค้าและบริการเพื่อขยาย/ต่อยอดสินค้าและบริการ สร้างรายได้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน

ในอนาคตคาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น ทั้งจากความนิยม แนวโน้มธุรกิจ (เทรนด์) และความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาการให้บริการที่ดีมากกว่าเดิม ตลอดจนมีการนำเข้าเครื่องมือที่ทันสมัยมาให้บริการเพื่อดึงดูดและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ทั้งนี้ ธุรกิจกายภาพบำบัดยังคงมีที่ว่างสำหรับนักลงทุนชาวไทย/ต่างชาติในการเข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการเป็นหลัก ซึ่งผลที่ได้รับ คือ ผลประกอบการที่เป็นบวกและมีผลกำไรธุรกิจอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

การค้าชายแดน 5 เดือนแรก พุ่ง 4.2 แสนล้าน ชี้ เป็นปัจจัยสำคัญช่วยเพิ่มดุลการค้าของไทย

(4 ก.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบและยินดีต่อภาพรวมสถานการณ์การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนไทย ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 มูลค่าการค้าขยายตัว 4.9% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง การค้าและการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 4.3% โดยนายกฯกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางเชิงรุกตามนโยบายรัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ผลักดันการเปิดด่านและจุดผ่านด่านเพิ่มเติม พร้อมเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนไทย เดือนพ.ค. 2566 มีมูลค่ารวม 153,827 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 และไทยได้ดุลการค้า รวม 24,966 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 82,418 ล้านบาท ซึ่งไทยได้ดุลการค้าประมาณ 26,001 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดนไปจีน เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ มีมูลค่าการค้ารวม 71,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 

โดยในภาพรวม 5 เดือน (มกราคม – พฤษภาคม) ปี 2566 ไทยส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดน รวม 420,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 ทั้งนี้ สถานการณ์การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนไทย ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอีก โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งผลักดันการเปิดด่านและจุดผ่านแดนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการค้าชายแดนและผ่านแดนไทยให้ขยายตัวมากขึ้น

“นายกฯ ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยว ขานรับแนวนโยบายของรัฐบาล ผลักดันมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อตัวเลขดุลการค้าของไทย ถือเป็นสัดส่วนที่สำคัญต่อมูลค่าการระหว่างประเทศของไทยที่เพิ่มขึ้น และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ด้วยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของไทย ประกอบกับนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาค จะผลักดันการค้าการลงทุนตามแนวชายแดน จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้โอกาสทำมากิน รายได้ครัวเรือน และวิถีชีวิตของประชาชนไทยดีขึ้น” นายอนุชา กล่าว

‘กอบศักดิ์’ จี้ยกเครื่องใหญ่ ‘ตลาดทุน’ ป้องกันเหตุซ้ำรอยโกงหุ้น ‘STARK’

‘กอบศักดิ์’ จี้ยกเครื่องใหญ่ ‘ตลาดทุน’ ป้องกันเหตุซ้ำรอยหุ้น ‘STARK’ ชี้ต้องเอาคนผิดทุจริตมารับโทษ หลังผู้เสียหายมากมูลค่าเกินหมื่นล้าน แนะเพิ่มกลไกการตรวจสอบ เร่งเอาผิดทำให้เกิดความเสียหาย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวถึงกรณีหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “STARK” ที่มีปัญหาการทุจริตและมีผู้เสียหายจำนวนมากว่า ในส่วนแรกคนที่ทำความผิดต้องได้รับความผิด ต้องให้เกิดบทเรียนจากการทำผิดครั้งนี้ คนที่อยู่ในกระบวนการนี้ก็ต้องรับความผิดร่วมกัน

“เราจะยอมรับความผิดในลักษณะนี้ไม่ได้เพราะความเสียหายเป็นหลักหมื่นล้านบาท ความเสียหายมีความกว้างขวางมาก และความเสียหายในครั้งนี้ไม่ใช่นักลงทุนรายย่อยอย่างเดียวแต่เป็นนักลงทุนสถานบันที่มีข้อมูลเพียบ มีนักวิเคราะห์อยู่เยอะไปหมด แต่เขายังพลาดได้ แสดงว่ากระบวนการในครั้งนี้เขามีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายตามมา”

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่าในส่วนนี้ FETCO ได้เข้าไปหารือร่วมกับฝ่ายต่างๆ ในตลาดทุนแล้ว เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่าจะต้องมีการเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องกับประชาชนที่ถูกกระทบ ว่าคดีนั้นมีความคืบหน้าอย่างไร เงินที่เสียหายจะได้คืนอย่างไร เท่าไหร่ และเมื่อไหร่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่หลายคนมีคำถามกับเรื่องนี้

นอกจากนี้ในการหารือกันอย่างใกล้ชิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นก็ต้องมาดูเรื่องของกลไกตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยทุกๆ ครั้งที่เกิดเหตุลักษณะนี้ในตลาดทุน มักจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ และระบบต่างๆ ให้มีกลไกมากขึ้นมาตรวจสอบ เช่น การตรวจสอบ 3 ระดับ ที่เรียกว่า “third line of defense” เพื่อจัดการไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำรอย

“มีหลายเรื่องที่ต้องมาดูเรื่องของรายการระหว่างกัน เรื่องของผู้ที่มาทำหน้าที่ในการตรวจสอบรวมทั้งเรื่องของธรรมาภิบาลต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญให้กับคนในตลาดทุนเพื่อให้ตลาดทุนไทยไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก” นายกอบศักดิ์ กล่าว

‘ไทย-ไต้หวัน’ จับมือพัฒนาหลักสูตร ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เร่งผลิตบุคลากร ตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมชิป

‘เซมิคอนดักเตอร์’ (Semiconductor) คือ ‘สารกึ่งตัวนำ’ หรือ ‘ชิป’ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีความต้องการในตลาด เพื่อใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีหลากหลายประเภท โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิต เนื่องจากความพร้อมทางด้านทรัพยากร การจัดตั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่นๆ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านชิปในไทยยังอยู่ในส่วนการประกอบและทดสอบ (assembly and testing) และเริ่มมีการลงทุนในส่วนของการออกแบบ (IC Design) แต่ยังขาดในส่วนของภาคการผลิต (Foundry) จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร ระหว่างหน่วยงานของไทยและไต้หวัน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมชิป

โดยมหาวิทยาลัยไทย 9 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไต้หวัน 6 แห่ง และบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

ร่วมมือวิจัยและผลิตบุคลากร โดยจัดทำหลักสูตรในระดับปริญญาตรี-โท ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าให้มีนิสิตนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงในโครงการไม่น้อยกว่า 200 คน/ปี ในสาขาที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านเครื่องมือ ด้านวัสดุ ด้านการออกแบบวงจรรวม (IC) ด้านกระบวนการผลิต ด้านการทดสอบและ packing เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top