Sunday, 19 May 2024
Econbiz

รู้จักทางหลวงหมายเลข 418 ถนนสายเศรษฐกิจชายแดนใต้ 'วิวสวย-ปลอดภัย-ไร้ไฟแดง-ร่นระยะเวลากว่าครึ่ง'

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 เป็นถนนที่มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 29.448 กิโลเมตร จากบ้านคลองขุด อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถึงบ้านท่าสาป ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

จุดเด่นของถนนสายนี้คือ ตลอดสองข้างทางยังเป็นที่โล่ง มีทุ่งนา สวนยางพารา และชุมชนสลับเป็นระยะ ไม่มีสัญญาณไฟจราจรแม้แต่จุดเดียว เพราะทุกทางแยกจะสร้างเป็นสะพานยกระดับมากถึง 20 แห่ง และมีจุดกลับที่ปลอดภัย นับเป็นถนนสายมาตรฐานที่สุด ณ วันนี้ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังเป็นการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 แตกต่างจากทางหลวงสายอื่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เป็นทางหลวงมาตรฐาน 4 ช่องจราจรแห่งแรกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีจุดตัดตลอดเส้นทาง แต่จะใช้วิธีการทางยกระดับที่มีการก่อสร้างสะพานข้ามถนนประมาณ 20 จุด ทำให้ทางหลวงเส้นนี้ไม่มีสี่แยกไฟแดง ผู้ใช้เส้นทางนี้สามารถทำเวลาได้เร็วขึ้น นอกจากนี้สามารถย่นระยะทางจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 409 ได้ถึง 13 กิโลเมตร ซึ่งมีเพียงแค่ 2 ช่องจราจรสวนทาง ใช้เวลาเดินทาง 45 นาที แต่หากใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 จะใช้เวลาเพียงแค่ 25 นาทีเท่านั้น

ถนนสายนี้คือของขวัญชิ้นประวัติศาสตร์ที่เหล่าทหารช่างตั้งใจมอบแด่พี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้การสร้างถนนจะเป็นภารกิจปกติของทหารช่าง แต่สำหรับทางหลวงหมายเลข 418 นับเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการระดมทหารช่างจากทุกกองทัพภาคทั่วประเทศลงพื้นที่เพื่อเร่งสร้างถนนสายนี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นเสียที ยุติการรอคอยอันยาวนานของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนนั้นเอง

STARK ยังวุ่นไม่จบ ปลด ‘วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ’ แถม ‘ปกรณ์ สุชีวกุล’ ลาออกประธานบอร์ด อีกคน

‘ปกรณ์ สุชีวกุล’ ลาออกประธานบอร์ด ตั้ง ‘สมชัย สวัสดีผล’ เข้ารับตำแหน่งแทน มีผล 4 ก.ค. 2566 ปลด ‘วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ’ พ้นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต กรรมการ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2566 มีมติสำคัญดังนี้

1.รับทราบการลาออกของ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล จากการเป็นกรรมการ ประธานกรรมการและกรรมการอิสระของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป

2.อนุมัติการแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่แทนกรรมการที่ลาออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป ดังนี้

- นายสมชัย สวัสดีผล เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ แทน พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล โดยให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการบริษัทที่ตนเข้าดำรงตำแหน่งแทนที่ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และกรรมการอิสระ

- นายมนตรี ศรีสกูล เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ แทน นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ที่ได้ลาออกจากการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 โดยให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการบริษัทที่ตนเข้าดำรงตำแหน่งแทนที่ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ

- นายภูมิพัฒน์ สินาเจริญ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทน นายสุวัฒน์ เชวงโชติ ที่ได้ลาออกจากการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 โดยให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการบริษัทที่ตนเข้าดำรงตำแหน่งแทนที่

นอกจากนี้ได้อนุมัติเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ดังนี้

จากเดิม นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และ นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท

แก้ไขเป็น นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต และ นายภูมิพัฒน์ สินาเจริญ ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท

ไขข้อข้องใจชาร์จรถอีวีตอนฝนตก ปลอดภัยไหม? รถจะพังหรือเปล่า?

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 (อ้างอิงจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา) แน่นอนว่าในช่วงนี้ ก็จะมีฝนตกลงมาอย่างชุ่มฉ่ำทุกวันโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครของเรา ในขณะที่กำลังนั่งเขียนอยู่นี้ (5 ก.ค. 2566 เวลาประมาณ 10 โมงเช้า) มองออกไปที่นอกหน้าต่างก็เห็นท้องฟ้าที่มืดครึ้ม

เราก็คงจะไปห้ามฟ้าห้ามฝน ไม่ให้มันตกก็คงจะไม่ได้ ช่วงนี้กระแส ‘รถอีวี’ ในประเทศไทยก็กำลังมาแรง มีประชากรผู้ใช้รถอีวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่ากระแสไฟฟ้ากับน้ำ นั้นไม่ใช่ของคู่กัน ถ้ารถไฟฟ้าของเราแบตอ่อนใกล้จะหมด แล้วเราจะต้องชาร์จท่ามกลางสายฝนหล่ะ มันจะสามารถทำได้หรือไม่? แล้วมันจะปลอดภัยหรือไม่? เชื่อว่าผู้ใช้รถอีวีหลายๆ ท่านก็คงต้องการคำตอบ

ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า มันสามารถชาร์จตอนฝนตกได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ Youtube ช่อง ‘ALL EV by Steele Auto Group’ ก็ยังได้ออกมาสาธิตให้ดูพร้อมกับอธิบายให้ฟัง

ผู้ชายที่อยู่ในคลิปชื่อว่า ‘David Giles’ ได้อธิบายพร้อมกับการจุ่มหัวชาร์จทั้งหัวลงในถังน้ำ หยิบขึ้นมาเขย่านิดหน่อย แล้วก็เสียบชาร์จเลย ปรากฏว่าก็สามารถชาร์จรถได้ตามปกติ ซึ่ง David ก็ได้อธิบายว่า "ทั้งสายชาร์จ และหัวชาร์จจะไม่มีกระแสไฟฟ้าอยู่เลยจนกว่าจะเสียบหัวชาร์จเข้ากับรถ หลังจากนั้นจะเกิดการติดต่อสื่อสารที่เรียกว่า "Hand Shake" ระหว่างตัวรถ และเครื่องชาร์จ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็น รวมถึงการเช็คความปลอดภัยในการชาร์จด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ถึงจะปล่อยกระแสมาที่ตัวรถ แต่หากการตรวจสอบพบว่ามีไฟรั่ว หรือมีการทำงานผิดปกติที่ไม่ปลอดภัย จะไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้ามาที่ตัวรถเด็ดขาด"

จากนั้นก็หยิบน้ำมาเทลงบนหัวชาร์จ ขณะกำลังชาร์จอยู่!! และอธิบายต่อว่า "หากระหว่างการชาร์จ มีการลัดวงจร ระบบจะทำการตัดการจ่ายไฟทันที  เพราะฉะนั้นคุณสามารถล้างรถขณะชาร์จได้ด้วยซ้ำ"

David Giles แสดงให้เห็นว่า การชาร์จรถไฟฟ้าอีวี ในขณะที่เปียกน้ำนั้น มันก็ยังคงปลอดภัย เพราะฉะนั้นการชาร์จภายใต้การใช้งานแบบปกติ ฝนตกบ้าง หรือแม้แต่พายุบ้างก็จะมีความปลอดภัย 

อย่างไรก็ดี การสาธิตนี้ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงระบบความปลอดภัยเมื่อโดนน้ำเท่านั้น!! แต่ก็ไม่แนะนำให้ทำตามเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดความเสียหาย หรืออาจจะทำให้รถขาดประกันได้ โปรดศึกษาคู่มือรถไฟฟ้าอีวีของท่าน และใช้งานภายในขอบเขตที่คู่มือแนะนำจะดีที่สุด

Honda เปิดตัว City ใหม่ 5 รุ่นย่อย เคาะราคาเริ่มต้น 6 แสน ชู เทคโนโลยี e:HEV เพิ่มการรับประกันแบตเตอรี่ไฮบริดเป็น 10 ปี

(5 ก.ค. 66) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดตัว ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ (Honda City) ซึ่งได้ปรับโฉมใหม่ ด้วยดีไซน์ภายนอกที่เสริมความสปอร์ตพรีเมียมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งภายในที่กว้างขวาง สะดวกสบายในทุกที่นั่ง

ขุมพลังฟูลไฮบริด e:HEV ที่ผสานการทำงานอันทรงพลังร่วมกันของมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว กับเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร Atkinson Cycle DOHC i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมระบบเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่องไฟฟ้า (E-CVT) และ แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน มอบแรงบิดมอเตอร์สูงสุดที่ 253 นิวตัน-เมตร ที่ 0 – 3,000 รอบต่อนาที

นอกจากนี้ ยังให้อัตราการประหยัดน้ำมันดีเยี่ยมถึง 27.8 กิโลเมตรต่อลิตร มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 83 กรัมต่อกิโลเมตร รองรับพลังงานทางเลือก E20

ทั้งนี้ ระบบขับเคลื่อนฟูลไฮบริด e:HEV จะปรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่ให้โดยอัตโนมัติตามความเหมาะสม ประกอบด้วย 3 โหมด ได้แก่ โหมดการขับขี่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (EV Drive Mode) โหมดการขับขี่ด้วยระบบไฮบริด (Hybrid Drive Mode) และโหมดการขับขี่ด้วยเครื่องยนต์ (Engine Drive Mode)

ขุมพลัง TURBO กับเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.0 ลิตร DOHC VTEC TURBO 3 สูบ 12 วาล์ว ที่มาพร้อม Turbo Charger มอบกำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที ตอบสนองได้ทันใจด้วยแรงบิดสูงสุด 173 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 - 4,500 รอบต่อนาที

ผสานการทำงานกับระบบเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง (CVT) ให้อัตราเร่งและอัตราการประหยัดน้ำมันที่ดีเยี่ยมสูงถึง 23.8 กิโลเมตร/ลิตร มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 99 กรัม/กิโลเมตร และสามารถรองรับพลังงานทางเลือก E20

สำหรับราคาฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ มีให้เลือก 2 ขุมพลังขับเคลื่อน รวม 5 รุ่นย่อย ดังนี้...

>> ฮอนด้า ซิตี้ อี : เอชอีวี ใหม่ มีให้เลือกทั้งหมด 2 รุ่นย่อย ได้แก่...
รุ่น e:HEV RS ราคา 839,000 บาท
รุ่น e:HEV SV ราคา 769,000 บาท

>> ฮอนด้า ซิตี้ เทอร์โบ ใหม่ มีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ได้แก่...
รุ่น RS ราคา 749,000 บาท
รุ่น SV ราคา 679,000 บาท
รุ่น V ราคา 629,000 บาท

นอกจากนี้ NEW Honda City 2023 ก็ยังมีของแต่งแบบจัดเต็ม ใส่มาให้จากโรงงานอีกหลายรายการ อาทิ...

- กันชนหน้าและกันชนหลังดีไซน์ใหม่
- กระจังหน้าโครเมียม
- ไฟหน้าแบบโปรเจกเตอร์ พร้อมไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED และไฟท้ายแบบ LED
- ระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ
- มือจับประตูด้านนอกโครเมียม (รุ่น SV และ e:HEV SV)
- กระจกมองข้างปรับและพับไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยวในตัว
- ฝาครอบกระจกมองข้างสีเดียวกับตัวรถ
- เสาอากาศแบบครีบฉลามสีเดียวกับตัวรถ
- ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว (รุ่น V) แบบทูโทน (รุ่น SV) และแบบทูโทนขนาด 16 นิ้ว (รุ่น e:HEV SV)

สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถทดลองขับได้ที่ โชว์รูมฮอนด้าทั่วประเทศ โดยมีข้อเสนอพิเศษ ดอกเบี้ย 2.09% พร้อมฟรีประกันภัย 1 ปี และเฉพาะรุ่น e:HEV เพิ่มการรับประกันแบตเตอรี่ไฮบริด 10 ปี และรับประกันระบบไฮบริดทั้งระบบ 5 ปี ไม่จำกัดระยะทาง เมื่อจองและรับรถตั้งแต่ 5 ก.ค. 66 – 30 ก.ย. 66

‘คธอ.-ETDA’ เสนอเพิ่มมาตรการดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมช่องทางในการให้ข้อมูล รองรับผู้ประกอบการออนไลน์

(5 ก.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้หารือกับผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล E-Marketplace ได้แก่ Lazada, AirAsia Super App, Noc Noc, และ Shopee เข้าร่วมการประชุมทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ ถึงความสำคัญของ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565

โดย นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากที่ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) และ ETDA ได้เสนอให้มีการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้มาตรา 32 พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้กลไกการกำกับดูแลในระดับการแจ้งให้ทราบ กฎหมายนี้เป็นกฎเกณฑ์กลางในการควบคุมดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อน การประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักร จะต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักรด้วย โดยมีการกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะการให้บริการ และผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ ETDA จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best-practice) หรือมีกลไกการกำกับดูแลตนเอง (Self-regulation) ที่เหมาะสม อีกทั้งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ กฎหมายนี้ยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วย สำหรับแผนการรองรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล อยู่ก่อนแล้ว ให้แจ้งการประกอบธุรกิจต่อ ETDA ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎหมายนี้บังคับใช้ หรือภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566

โดยทาง ETDA อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดกลไก self-regulate ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะเน้นสำหรับบริการ Social Media และ e-Commerce ก่อน เพื่อประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (ลดการฉ้อโกงออนไลน์) และการดำเนินคดี (ระบุตัวผู้กระทำความผิด) และอยู่ในระหว่างการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ETDA ได้จัดงานรับฟังความคิดเห็นต่อร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ และเปิดรับฟังความคิดเห็นในระบบกลางทางกฎหมายจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ETDA ในฐานะ Co-Creation Regulator ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่อ กฎหมายลําดับรอง ภายใต้ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ มาอย่างต่อเนื่อง การรับความความคิดเห็นครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้น ETDA จะเปิดเวทีชี้แจ้งและสรุปภาพรวมของกฎหมายลําดับรองทั้ง 9 ฉบับ ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นในระยะแรกนี้ต่อสาธารณะอีกครั้ง ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ที่สนใจได้ทําความเข้าใจภาพรวมของกฎหมายร่วมกันอีกครั้ง

และก่อนที่ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ จะมีผลใช้บังคับในเดือนหน้านี้ เพื่อเป็นการปิดข้อสงสัยและให้เกิดความชัดเจนในข้อปฏิบัติภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว ETDA จึงเปิดระบบ Digital Platform Assessment Tool เพื่อช่วยประเมินเบื้องต้นว่า เป็นบริการที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมก่อนดําเนินการแจ้งให้ ETDA ทราบ ผ่าน Checklist ออนไลน์ ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps-assessment

ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่ และรายเล็กเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และ ในเร็วๆ นี้เตรียมขยายผลสู่การจัดกิจกรรม Pre-Consultation Checklist ที่จะมีทีมงานคอยให้คําปรึกษา แก่ผู้ให้บริการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจด แจ้งข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎหมาย ผ่านทางระบบ e-Meeting โดยจะเริ่มเปิดระบบให้จองนัดประชุม ทางเว็บไซต์ของ ETDA ก่อนเปิดให้บริการให้คําปรึกษาอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566

นอกจากนี้ ยังเตรียมยกระดับบทบาทของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA สู่การเป็นช่องทางกลางในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยผู้ประกอบการ เพื่อเป็นช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย DPS เพื่อให้ผู้ร้องเรียนเข้าถึงกระบวนการดูแลที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

‘รถไฮโดรเจน’ อีกทางเลือกแก้ปัญหาน้ำมันแพง เครื่องเงียบ ลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อนวัตกรรมยานยนต์ ไม่ได้มีแค่รถน้ำมันเชื้อเพลิง รถไฟฟ้าอีวี แต่ ... รถพลังงานไฮโดรเจน ก็เป็นอีกทางเลือกใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รถพลังงานไฮโดรเจน คือ รถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงานไฮโดรเจน โดยรถยนต์ประเภทนี้ ได้มีการริเริ่มผลักดัน เมื่อช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา เพราะว่าเป็นนวัตกรรมยานยนต์ที่เป็นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีหลายฝ่ายร่วมมือกันพัฒนา เป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง

ในปีนี้ก็ได้มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องของรถพลังงานไฮโดรเจน ออกมาให้เราได้เห็นกัน โดยเฉพาะบริษัทโตโยต้า ที่ได้ทำการพัฒนารถพลังงานไฮโดรเจน โดยได้ตั้งชื่อให้ว่า ‘Mirai Gen 2’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่ทางโตโยต้านั้นได้ต่อยอดเกี่ยวกับการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนรถยนต์เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

รถพลังงานไฮโดรเจนนั้น ขับเคลื่อนได้จากเซลล์เชื้อเพลิงที่มีการเติมไฮโดรเจนเข้าไป โดยไฮโดรเจนนี้ก็จะถูกเปลี่ยนมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ และจะปล่อยของเสียออกมาเพียงเฉพาะไอน้ำเท่านั้น อีกทั้งการเติมเชื้อเพลิงในแต่ละครั้งก็ยังใช้เวลาเพียง 3-5 นาที ซึ่งถือว่าค่อนข้างรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์สันดาป นับเป็นเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันได้มากเลยทีเดียว นอกจากนี้การทำงานของเครื่องยนต์ก็ยังเงียบมาก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงอีกด้วย 

แนวโน้มของราคาน้ำมันนั้นมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับราคาของพลังงานไฮโดรเจน เพราะในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีของรถยนต์ไฮโดรเจนแพร่หลายมากขึ้น ก็จะมีผู้ผลิตพลังงานหลายรายมากขึ้น ราคาเชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจน ก็ยิ่งจะถูกลงเรื่อย ๆ เนื่องจากพลังงานไฮโดรเจนสามารถผลิตได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมด ในปัจจุบันนั้นประเทศไทยก็ได้มีสถานที่ในการเติมเชื้อเพลิงรถไฮโดรเจนแห่งแรกในประเทศไทยแล้ว โดยตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีระยะเวลาในการเติมเชื้อเพลิงของรถไฮโดรเจนนั้นก็จะใช้เวลาในการเติมเพียง 3-5 นาทีเท่านั้น ก็สามารถขับไปต่อได้แล้ว

ในอนาคตอันใกล้นี้ เราก็คงจะได้เห็นรถพลังงานไฮโดรเจน วิ่งกันเต็มท้องถนน การศึกษาหาข้อมูลไว้ก่อนล่วงหน้า ก็จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายยิ่งขึ้นเมื่อโอกาสมาถึง

บัญชีทรัพย์สิน ‘พิธา’ ส่อเค้ามีปัญหา หลังไม่แจ้งถือหุ้นบริษัท ‘พรพนา พลัส’ ต่อป.ป.ช.

เจาะบัญชีทรัพย์สิน ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’  ที่แจ้งป.ป.ช. หลังพ้นตำแหน่งส.ส. พรรคก้าวไกล 20 มี.ค. 2566 ส่อวุ่น พบไม่แจ้งการถือหุ้นในบริษัท ‘พรพนา พลัส’ ธุรกิจครอบครัวของตระกูล ลิ้มเจริญรัตน์

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 มีทรัพย์สิน 85,023,720.18 บาท หนี้สิน 20,740,176.02 บาท

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ว่านายพิธาอาจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินไม่ถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากในรายละเอียดประกอบรายการเงินลงทุน 65 รายการ ที่นายพิธายื่นต่อป.ป.ช. ไม่พบว่าได้มีการยื่นการถือหุ้นในบริษัท พรพนา พลัส จำกัด ที่มีชื่อนายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 3 จำนวน 1,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท แต่อย่างใด

สำหรับข้อมูล บริษัท พรพนา พลัส จำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในแบบ บอจ 5 ได้ระบุการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 มีชื่อนายพิธา ถือหุ้นในบริษัท พรพนา พลัส จำนวน 1,000 หุ้น เลขที่หมายเลขหุ้น 02001-03000 ลงวันที่ 9 มกราคม 2550 

บริษัท พรพนา พลัส จำกัด จดทะเบียน เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2550 วัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเอง เพื่อการพักอาศัย

ผู้ถือหุ้น บริษัท พรพนา พลัส มีจำนวน 6 คน ประกอบด้วย
นางอัญชลี ลิ้มเจริญรัตน์
นางเปล่งศรี ลิ้มเจริญรัตน์
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
นายบรรลือ ลิ้มเจริญรัตน์
นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์
นายแสง ลิ้มเจริญรัตน์

ทั้งนี้ นายพิธา ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.ว่า มีรายได้เงินเดือน 1,362,720 บาท รายได้จากการขายทรัพย์สิน ขายคอนโดปี 2563 จำนวน 13,673,506 บาท ขายรถ 2 คันปี 2565 จำนวน 936,000 บาท ขายหนังสือ 431,712 บาท

ส่วนค่าใช้จ่ายประกอบด้วย ค่าอุปโภคบริโภค 2,400,000 บาท ค่าเบี้ยประกัน 80,973.4 บาท ค่าท่องเที่ยว 100,000 บาท เงินบริจาค 5,193,000 บาท รวมค่าใช้จ่าย 3,879,223.4 บาท

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายบุตร  ประกอบด้วย ค่าอุปโภคบริโภค 120,000 บาท ค่าเบี้ยประกัน 28,985.48 บาท ค่าเล่าเรียน 413,000 บาท รวม 561,985.48 บาท

นายพิธา แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.ว่า มีทรัพย์สิน ประกอบด้วยข้อมูลรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เงินสด 1,800,000 บาท เงินฝาก 286,045.70 เงินลงทุน 1,346,698.98 บาท เงินให้กู้ยืม 15,000,000 บาท ที่ดิน 18,000,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 15,000,000 บาท ยานพาหนะ 2,140,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 19,413,985.50 บาท ทรัพย์สินอื่นๆ 12,036,990 บาท เช่น โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง สูท 16 ตัว เนคไท 76 เส้น รองเท้า 21 คู่ นาฬิกา 10 เรือน พระเครื่อง 8 องค์ รวมทรัพย์สิน 85,023,720.18 บาท

ส่วนหนี้สิน ที่นายพิธา แจ้งต่อป.ป.ช.ประกอบด้วย เงินเบิกเกินบัญชี 807,414 บาท หนี้สินอื่น 19,932,762 02 บาท รวมหนี้สิน 20,740,176.02 บาท

การยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ครั้งนี้นายพิธาได้แจ้งถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) 42,000 หุ้น มูลค่า 44,100 บาท และบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) 880 หุ้น 41.50 บาท โดยหมายเหตุว่า ผู้ยื่นในฐานะผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 1860/2550 ได้รับมอบหมายจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรกดกของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ตาย ให้รับโอนหลักทรัพย์หุ่นนี้อันเป็นกองมรดกถือครองไว้แทนทายาทอื่น

นอกจากนี้ นายพิธายังแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ว่าได้ให้เงินกู้ยืมแก่นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ 15 ธ.ค. 2563 จำนวน 15,000,000 บาทอีกด้วย

โครงสร้างพื้นฐาน ‘ไทย’ พัฒนาแซงทิ้งห่าง ‘มาเลเซีย’ ส่วน 'สายสีเหลือง' หลังเปิดตัว ดันระยะทางรวมแซง ‘สิงคโปร์’ แล้ว

จากช่อง Youtube 'Up Comment' ได้โพสต์คลิปเกี่ยวกับโครสร้างพื้นฐานและรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ของประเทศไทย ซึ่งได้ติดอันดับโลก และขึ้นแซงประเทศเพื่อนบ้านแล้ว สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเนื้อหาในคลิปนั้น มีใจความว่า ...

โครงสร้างพื้นฐานไทย แซงทิ้งห่างมาเลเซีย ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ดันระบบรถไฟฟ้าไทย แซงสิงคโปร์ ธนาคารโลกมีการจัดอันดับ โครงสร้างพื้นฐานแต่ละประเทศในโลก ประจำปี 2023 โดยอันดับโครงสร้างพื้นฐานของไทย อยู่ในอันดับที่ 25 โดยอันดับดังกล่าว เป็นอันดับที่เหนือกว่าประเทศมาเลเซีย อีกหนึ่งประเทศที่เป็นคู่แข่ง ทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการแซงมาเลเซียด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นครั้งแรก ได้เกิดขึ้นในปี 2018 โดยปีนั้นประเทศไทยได้อันดับที่ 32 ซึ่งเป็นการขยับอันดับขึ้นมาจากปี 2016 ที่ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 45 ซึ่งในปี 2018 ก็เป็นปีแรกที่ไทยมีอันดับทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เหนือกว่าประเทศมาเลเซีย และดูเหมือนว่าอันดับจะทิ้งห่างออกมาอีกในปี 2023 นี้

โดยการจัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานนี้ เป็นรายงานจาก Logistics Performance Index (LPI) 2023 ในหมวดโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารโลก โดยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ได้คะแนนอยู่ที่ 3.7 คะแนน จัดเป็นอันดับที่ 25 ของโลก จาก 139 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถ้านับเฉพาะประเทศในอาเซียน ประเทศไทยตามหลังเพียงแค่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น (สิงคโปร์มีอันดับทางด้านโลจิสติกส์ เป็นอันดับที่ 1 ของโลก)

สำหรับในส่วนของอันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอาเซียนนั้น มีการจัดลำดับได้ดังนี้...

- อันดับที่ 1 ประเทศสิงคโปร์ 4.6 คะแนน 
- อันดับที่ 2 ประเทศไทย (อยู่ที่อันดับ 25 ของโลก) ด้วยคะแนน 3.7 คะแนน 
- อันดับที่ 3 ประเทศมาเลเซีย 3.6 คะแนน 
- อันดับที่ 4 ประเทศฟิลิปปินส์ (อันดับ 47 ของโลก) ด้วยคะแนน 3.2 คะแนน
- อันดับที่ 5 ประเทศเวียดนาม ด้วยคะแนน 3.2 (เท่ากับประเทศฟิลิปปินส์)
- อันดับที่ 6 ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยคะแนน 2.9 คะแนน 
- อันดับที่ 7 ประเทศลาว (อันดับที่ 108 ของโลก) ด้วยคะแนน 2.3 คะแนน 
- และอันดับที่ 8 ประเทศกัมพูชา (อันดับ 125 ของโลก) ด้วยคะแนน 2.1 คะแนน โดยการจัดอันดับดังกล่าว ไม่มีข้อมูลของประเทศบรูไนและประเทศเมียนมา

ทั้งนี้ หากพูดถึงการเปิดตัวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองของไทยที่ผ่านมา ทำให้ระยะทางรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีระยะทางรวมแซงประเทศสิงคโปร์ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยข้อมูลของเพจ City Walker ได้มีการรายงานถึง ระยะทางของรถไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์ ซึ่ง ณ เวลานี้มีการเปิดทำการอยู่ 6 สาย ซึ่งเป็นระบบ LRT ทั้งหมด 4 สาย รวมระยะทางทั้งหมด 228 กิโลเมตร ในขณะที่ระยะทางรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง เมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เผยว่าระยะทางของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ณ เวลานี้ จะอยู่ที่ 242.34 กิโลเมตร (ยังไม่นับรวมโครงการที่กำลังก่อสร้าง ทั้งของประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์)

ฉะนั้น จากข้อมูลนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าระยะทางรวมรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความยาวรวมแซงประเทศสิงคโปร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าทางประเทศสิงคโปร์ จะยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่ ซึ่งนั่นก็คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (สิงคโปร์) แต่ถ้าเทียบไทยที่ยังคงมีโครงการก่อสร้าง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่และมีแผนจะก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพู และยังมีแผนแม่บทรถไฟฟ้าในระยะที่ 2 ซึ่งก็จะดำเนินการก่อสร้างต่อไปในอนาคตอีกมากมายนั้น ก็ดูเหมือนไทยจะเริ่มแซงหน้าสิงคโปร์ในส่วนของระยะทางไประยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ระยะทางรถไฟฟ้า ระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์นั้น ประเทศไหนจะครองแชมป์ในอาเซียนในอนาคตต่อไป

‘วิชัย ทองแตง’ มุ่ง ‘แก้ฝุ่นพิษเชียงใหม่ - ปั้นสตาร์ตอัพ’ ประกาศชัดขอสลัดภาพ ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ 

ในวัย 76 ปี ชื่อของ ‘วิชัย ทองแตง’ กำลังจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง หลังประกาศถ่ายโอนทรัพย์สินและธุรกิจ ให้ทายาทตั้งแต่ 6 ปีก่อน ทำให้บทบาทในการบริหารธุรกิจลดน้อยลง

แต่มาวันนี้ อดีตเจ้าของฉายา ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ ได้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อเขาประกาศถึง ‘บทบาท’ และ ‘passion’ ใหม่ ที่จะหันมาปั้นคนรุ่นใหม่ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้ธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยไม่เน้นสร้างเวลท์ (ความมั่งคั่ง) เหมือนในอดีตที่ผ่านมาอีกแล้ว

คุณวิชัย ได้ให้สัมภาษณ์กับ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ตอนหนึ่งว่า ตอนนี้ได้สลัดภาพพ่อมดตลาดหุ้นออกไปแล้ว โดย new chapter ของเขานั้น อยากมีภาพเป็น ‘นักปั้นหุ้น’ มากกว่า พร้อมอธิบายว่า การปั้นหุ้น ก็คือ การปลุกปั้นบริษัทที่จะเข้าตลาดหุ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัพของเด็กรุ่นใหม่ ที่เดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ โดยตนจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ามาคุยและวางแผนอนาคตร่วมกัน ซึ่งความตั้งใจของตนเองในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จะต้องสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ให้ได้

“ตอนนี้เด็ก ๆ ให้ฉายาผมว่า ‘godfather of startup’ หรือแปลเล่น ๆ ว่า ‘พ่อทูนหัว’ ฉะนั้น new chapter ของผมต่อจากนี้ คือสร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์เหมือนก่อนแล้ว”

ขณะที่ แนวทางการเลือกสตาร์ตอัพที่จะนำมาปั้นนั้น คุณวิชัย จะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 คน ที่อยู่ในเครือข่าย ทำหน้าที่วิเคราะห์ธุรกิจให้ เพราะทุกวันนี้สตาร์ตอัพเข้ามาหามาก เพราะ pain point ของสตาร์ตอัพ คือการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเด็กที่เข้ามาจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า what’s next ? คืออะไร มีแผนธุรกิจต่อไปอย่างไร มีแผน 5-10 ปีหรือไม่ ต้องการเพิ่มทุนอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้

และสูตรสำคัญของการเลือกสตาร์ตอัพ ของคุณวิชัย นั่นคือ ขอให้มี 2G ก่อน G แรกคือ growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดีถ้ามี 2G แล้ว จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ด้วย

ส่วนประเภทธุรกิจที่ คุณวิชัย ได้เข้าไปปั้นให้นั้น แต่หลัก ๆ นั้น มุ่งไปที่ธุรกิจที่เป็น ‘เมกะเทรนด์’ ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวแถลงข่าวใหญ่ ในเร็ว ๆ นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยเปิดเผยบางธุรกิจที่ได้ปลุกปั้นไว้ บางธุรกิจออกดอกออกผลแล้ว ยกตัวอย่าง ‘ธุรกิจคาร์บอนเครดิต’ โดยบริษัทนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบการเคลมคาร์บอนเครดิตได้สูงขึ้น และมีตลาดรองรับ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้เป็นอย่างดี

“จังหวัดเชียงใหม่มีป่า มีลำน้ำ มีแม่น้ำ มีน้ำตก มีความชุ่มชื้นที่พอเหมาะพอควร ผมอยากให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดแรกที่ทำเป็นสตอรี่เพื่อขายคาร์บอนเครดิตได้ บริษัทที่ผมช่วยปลุกปั้นขึ้นมา มี know how มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการครีเอตแนวทางในการเคลมคาร์บอนเครดิต และที่สำคัญมีตลาดที่จะไปขาย เท่ากับมีซัพพลายเชนครบทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ธุรกิจแบบนี้แหละที่ต้องสนับสนุน เพราะได้ทั้งแง่ธุรกิจและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 อย่างมาก” คุณวิชัย กล่าวถึงหนึ่งในธุรกิจที่ได้เข้าไปช่วยปลุกปั้น

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่รับซื้อพลาสติก ซึ่งจะดำเนินการเป็น 2 แบบ คือ 1.เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และ 2.กลั่นออกมาเป็นน้ำมัน ซึ่งธุรกิจแบบนี้มีความจำเป็นกับประเทศไทยตอนนี้มาก

ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนทำน้อย โดยตนกำลังปั้นบริษัทแบบนี้ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตและยิ่งใหญ่ได้ ไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่หากินในต่างประเทศได้ด้วย

ส่วนธุรกิจที่ใช้ AI ก็สนใจ ซึ่งก็มีสตาร์ตอัพรายหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถบริหารโหลดสำหรับการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี เพราะรถอีวีเวลาชาร์จไฟครั้งหนึ่งเท่ากับติดแอร์พร้อมกัน 10 ตัว ทำให้โหลดกระชากมาก ดังนั้น ธุรกิจนี้จึงน่าสนใจ เพราะสอดรับกับกระแสอีวีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญโซลูชันนี้ประกวดระดับโลกได้ที่ 29 มาแล้ว 

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนของธุรกิจ ที่ ‘วิชัย ทองแตง’ เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยปลุกปั้น และหากว่าบริษัทสตาร์ทอัพนั้น ๆ มีศักยภาพมากพอ ก็จะผลักดันเข้าตลาดหุ้นต่อไป ส่วนจะมีบริษัทหรือธุรกิจใดบ้างนั้น อีกไม่นานเกินรอคงได้รู้กัน

สำหรับ คุณวิชัย ทองแตง นั้น นับว่าเป็นบุคคลซึ่งเป็นแบบอย่างของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่สร้างความมั่งคั่งด้วยการลงทุนที่ชาญฉลาด

-ติดทำเนียบมหาเศรษฐีไทย อันดับที่ 17 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes
-เป็นทนายความที่ฐานะร่ำรวยที่สุดในโลก (The Richest Lawyer)
-อดีตทนายความค่าตัวแพงที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ในคดี ดร.ทักษิณ ชินวัตร
-ปัจจุบัน ประธานบริษัท Bitkub World Tech

ส่ง DSI ฟัน ‘วนรัชต์’ พร้อมพวกรวม 10 ราย  เอาผิดทางอาญา-กม.ฟอกเงิน ปมตกแต่งงบ ‘STARK’

ก.ล.ต. ส่ง DSI กล่าวโทษ "ชนินทร์ -วนรัชต์ - ศรัทธา"รวม 10 ราย กรณีตกแต่งงบการเงินของ STARK เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง เอาผิดทางอาญา-กม.ฟอกเงิน

สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  กล่าวโทษบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) กรรมการ อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 

โดย ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคลดังต่อไปนี้ (1) บริษัท STARK (2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี (5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ (6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม (7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) (8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) (9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ (10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 

ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ว่า บุคคลข้างต้นได้ร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จ ทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ในบัญชีหรือเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ

อีกทั้ง STARK มีการเปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวน โดยเปิดเผยงบการเงินที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบการเงินดังกล่าว รวมทั้งปกปิดข้อความจริงในข้อมูลในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบบแสดงรายการข้อมูลสำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ STARK ว่าได้มีการเข้าลงทุนในบริษัท LEONI Kabel GmbH และ LEONIsche Holding Inc แล้ว ทั้งที่ยังเข้าลงทุนในกิจการดังกล่าวไม่เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ ปรากฏว่าหลังจากที่ STARK ได้รับเงินหุ้นกู้และเงินเพิ่มทุน พบการโอนเงินออกจาก STARK และบริษัทย่อยไปยังบริษัทหรือบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการตกแต่งงบการเงินด้วย

การกระทำของบุคคลรวม 10 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 312 และมาตรา 281/2 วรรค 2 ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 278 มาตรา 281/10 ประกอบมาตรา 300 มาตรา 306 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (แล้วแต่กรณี) ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 10 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากกรณีที่กล่าวโทษในครั้งนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผลไปยังกรณีอื่น ๆ ที่มีข้อสงสัยในเรื่องการทุจริต โดยจะประสานความร่วมมือกับ DSI ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีการเปิดเผยให้ทราบต่อไป 

ในการตรวจสอบเรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปปง. DSI และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top