Saturday, 4 May 2024
Econbiz

'เศรษฐา' เล่นบทขุนคลัง กล่อม 4 แบงก์ใหญ่ ลดดอกเบี้ย  หวังช่วยกลุ่มเปราะบาง ไม่จี้ตีกรอบเวลาให้คำตอบ

(23 เม.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยก่อนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้เชิญธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาพูดคุยปัญหาเศรษฐกิจ สถาบันการเงินแข็งแกร่งมากจากผลประกอบการที่ออกมา ตนจึงได้ขอร้องให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารทั้ง 4 แห่งรับปากจะไปพูดคุยกัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี รายย่อย ที่มีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสูง

“รัฐบาลเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องดอกเบี้ย จึงได้เชิญไปตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เพิ่งได้คิวพร้อมกันวันนี้ ก็อยากจะพูดพร้อมกันให้มีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจ ชิงดีชิงเด่นกัน ใครลดมากลดน้อยไม่ใช่ ผมอยากให้ทุกท่านน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดูว่าจะช่วยกันได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งก็คงจะมีอะไรออกมาหลังจากนี้ ไม่ได้กำหนดเวลา ให้เกียรติกัน มองตาก็รู้ใจ ทำได้แค่ไหนแค่นั้น ผมก็ได้มีการขอร้อง พูดคุย แบบคนที่เคยรู้จักกันมา 10-20 ปี ก็ขอร้องให้ท่านช่วยดูแลเรื่องดอกเบี้ยบ้าง ท่านก็รับปากว่าจะไปพูดคุยกัน” นายเศรษฐา กล่าว

รฟท. เคาะ!! สร้างรถไฟความเร็วสูง เฟส 2 'นครราชสีมา-หนองคาย' ระยะทาง 357 กม. คาดเริ่มก่อสร้างปี 68 เปิดบริการปี 74

(23 เม.ย.67) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.จะเสนอโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. รวมมูลค่าลงทุน 341,351.42 ล้านบาท หลังคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้มีมติอนุมัติเมื่อสัปดาห์ก่อน ให้กระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติภายในปี 2567 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 66 เดือน (หรือ 5 ปีครึ่ง) กำหนดเปิดให้บริการปี 2574

ปัจจุบัน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย มีการออกแบบงานโยธาเสร็จเรียบร้อย โดยรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติ

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย แบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ

1.งานรถไฟความเร็วสูง วงเงินลงทุน 335,665.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 10,310.10 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน235,129.40 ล้านบาท, ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 30,663.75 ล้านบาท, ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 29,007.08 ล้านบาท, ค่าจัดหาขบวนรถไฟ วงเงิน 17,874.35 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถซ่อมบำรุงทาง วงเงิน 2,620.43 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 6,466.06 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 2,792.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 801.66 ล้านบาท

2.งานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงินลงทุน 5,686.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 2,108.51 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 2,325.46 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 418.76 ล้านบาทค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 89.44 ล้านบาท, ค่าเครื่องมือ/อุปกรณ์ยกขนในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 429.24 ล้านบาท, ค่าจัดหารถจักรในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 210.00 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 63.95 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 29.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 11.47 ล้านบาท

โครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แบ่งเป็นทางวิ่งยกระดับ (Elevated Structure) ระยะทาง 202.48 กม. ทางวิ่งระดับดิน 154.64 กม. (แบบคันทาง 138.93 กม. เป็นสะพานรถไฟ 15.71 กม.) มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่,สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี, สถานีหนองคายมีหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ได้แก่ หน่วยซ่อมบำรุงบ้านมะค่า , หน่วยซ่อมบำรุงหนองเม็ก, หน่วยซ่อมบำรุงโนนสะอาด , หน่วยซ่อมบำรุงนาทา มีศูนย์ซ่อมบำรุง 2 แห่ง คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย และมีย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา

นายนิรุฒ กล่าวว่า เบื้องต้นการก่อสร้างงานโยธาทั้งโครงการมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท จะแบ่งงานออกเป็น 13 สัญญา โดยในส่วนของการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท แบ่งงานโยธาเป็น 11 สัญญา เฉลี่ยมูลค่าสัญญาละประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างก่อสร้างที่มีคุณภาพ และการเข้าร่วมประมูลไม่มากราย หรือไม่น้อยรายจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีงาน ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา โดยจะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง

นอกจากนี้ บอร์ดรฟท.ยังเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย (ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯนาทา) ตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเห็นว่าควรแยกการลงทุนออกมาดำเนินการในรูปแบบ PPP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโครงการที่ช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน

โดยหลังจาก บอร์ดรฟท. ให้ความเห็นชอบ จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบหลักการและเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติเพื่อดำเนินการคัดลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

สำหรับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า เพื่อรองรับการขนส่งทางราง จ.หนองคาย ขนาดเนื้อที่ ใช้รูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าการร่วมลงทุน 7,211.94 ล้านบาท (การรถไฟฯลงทุน 6,560.03 ล้านบาท หรือ 90.96% เอกชนลงทุน 651.91 ล้านบาท หรือ 9.04%) ระยะเวลาร่วมลงทุน 20 ปี ประเมินค่าสัมปทานที่การรถไฟฯ ได้รับตลอดอายุโครงการ ที่4,457.07 ล้านบาท โดย การรถไฟฯ มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 5.87% เอกชน 15.09% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) รฟท. ที่ 941 ล้านบาท เอกชน 32 ล้านบาท

‘บางจากฯ’ ผนึกกำลัง SME D BANK เสริมแกร่ง SME เติมทุนคู่พัฒนา สร้างโอกาสธุรกิจในปั๊มน้ำมันบางจาก

(23 เม.ย.67) นายปริญญา กิตติการุญจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจค้าปลีก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางจากรีเทล จำกัด, นายวรากร โกศลพิศิษฐ์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC, นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ และ นายนิพนธ์ ยุทธนาระวีศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ร่วมเปิดงานสัมมนา ‘SME D Bank เสริมแกร่งเติมทุน สร้างโอกาสธุรกิจในปั๊มน้ำมันบางจาก’ เสริมความรู้ด้านธุรกิจและช่องทางแหล่งเงินทุน เสริมศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจกลางและขนาดย่อมให้แข็งแกร่ง ต่อยอดธุรกิจได้อย่างมั่นคง 

โดยงานนี้ จัดขึ้นภายใต้บริษัท บางจากฯ บริษัท บางจากศรีราชา จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โดยมีผู้ประกอบการสถานีบริการบางจาก ผู้บริหารและวิทยากรจากทั้ง 3 หน่วยงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมปันสุข 1-2 สำนักงานใหญ่บริษัท บางจากฯ อาคาร M Tower เมื่อเร็ว ๆ นี้

สำหรับงานสัมมนา ‘SME D Bank เสริมแกร่งเติมทุน สร้างโอกาสธุรกิจในปั้มน้ำมันบางจาก’ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในสถานีบริการบางจาก ผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าและ ซัพพลายเชน (Supply Chain) หรือผู้สนใจจะลงทุนเปิดร้านในสถานีบริการบางจาก ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ และคำปรึกษาเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการธุรกิจจาก SME D Bank เพื่อประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจเสริมในสถานีบริการ ให้สามารถตอบรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าทุกวัยตามแนวคิด Greenovative Destination for Intergeneration ของบางจากฯ ที่ไม่เพียงให้บริการน้ำมันคุณภาพสูง แต่ยังมีบริการเสริมที่หลากหลาย ครบครัน สามารถเติมเต็มและสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด 

ก่อนหน้านี้ บางจากฯ ได้ร่วมกับ SME D Bank ในการจับคู่คู่ค้าที่มีความสนใจเช่าพื้นที่ในสถานีบริการบางจาก ทำให้ ได้กลุ่มลูกค้า SME ที่ทำธุรกิจ แต่ยังขาดทำเลพื้นที่เช่า มาร่วมทำธุรกิจในสถานีบริการบางจากเพิ่มเติมไปบ้างแล้ว

'อรรถวิชช์' ชู RECs 'ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด'  นวัตกรรมช่วยลดโลกร้อน เพิ่มขีดความสามารถผู้ส่งออกไทยสู้เวทีการค้าโลก

(23 เม.ย.67) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานกรรมการบริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยานในการให้ความร่วมมือกันระหว่าง ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) เพื่อช่วยองค์กรและผู้ประกอบการไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า "ขณะนี้ผู้ส่งออกสินค้าไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซที่ทำให้โลกร้อนจำพวกคาร์บอน มีเทน และอื่น ๆ หากไม่มีมาตรการหักลบหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง จะโดนข้อกีดกันทางการค้าจากประเทศปลายทางหลายอย่าง เช่น ภาษีคาร์บอน หรือการถูกยกเลิกเป็นคู่ค้า"

โดย บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหามาตรการช่วยลดภาวะโลกร้อน และ ต้องการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการเข้าสู้เวทีการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด สามารถให้คำแนะนำ และมีนวัตกรรมที่สามารถจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยกลไก ที่เรียกว่า 'Renewable Energy Certificates : RECs' หรือ 'ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด'

"กลไกนี้ จะทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ ขาหนึ่งที่สร้างมลภาวะ ขณะที่อีกขาหนึ่งช่วยให้เกิดพลังงานสะอาด ให้หักกลบลบกันไป เพื่อช่วยลดโลกร้อน และเป็นการช่วยผู้ส่งออกไทยให้สู้กับต่างประเทศได้ นี่คือกติกาการค้าใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยต้องเจอครับ เป็นเรื่องยากที่ต้องทำให้ง่าย" ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ยก!! ความสัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’ มั่งคง เหตุผลสำคัญผลักดันเศรษฐกิจระหว่างกัน

(23 เม.ย.67) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนา ‘Nanning City Investment Environment Promotion and Economic and Trade Cooperation Exchange Event (Thailand)’ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์, นายหนง เซิงเหวิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำนครหนานหนิง, นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน และนายจาง เซียว-เซียว ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมงาน ณ หอประชุมกวางหวาถัง หอการค้าไทย-จีน ชั้น 9 อาคารไทย ซีซี ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า จีนและไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ที่ผ่านมาไทยกับจีนพัฒนาความสัมพันธ์ให้มีความก้าวหน้าอย่างเด่นชัด สู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ‘นโยบายจีนเดียว’ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 12 ปี ติดต่อกัน

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางนโยบายการพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงได้ผลักดันนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 66 ไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุด และมีผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยา เครื่องสำอาง และสปาฮาลาล ตลอดจนการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามนโยบาย รัฐบาลดิจิทัล และการกำกับดูแลการประกอบอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามหลักธรรมภิบาล รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

“ดิฉันเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต การสัมมนาในวันนี้เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือของไทยและจีน กระชับความร่วมมือกับนครหนานหนิง ซึ่งได้วางเป้าหมายให้เป็นเมืองหลวงของโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการกระจายสินค้าและเป็นประตูการค้าของจีนสู่อาเซียนรวมถึงประเทศไทย อีกทั้งนครหนานหนิงยังเร่งดำเนินนโยบายการยกระดับศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรม และให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและเติบโตผ่านโครงการบ่มเพาะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ และอาจมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

‘โชกุบุสซึ’ ควงหมอช้าง’ ผุด ‘ครีมอาบน้ำสายมู’ เสริมพลังตามราศีธาตุทั้ง 4 ‘ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ’

(23 เม.ย.67) นายประเสริฐ สุรัตนเมธากุล ผู้จัดการส่วนผลิตภัณฑ์ดูแลความงามและเด็ก บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ครีมอาบน้ำโชกุบุสซึมียอดจำหน่ายเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ในประเทศไทย ปีนี้มีโปรเจ็กต์มากมาย โดยหนึ่งในโปรเจ็กต์ คือ ‘โชกุบุสซึ จักรราศี’ ครีมอาบน้ำสายมูตัวแรกที่ได้ครีเอทร่วมกับผู้บริหารโลตัส และได้รับเกียรติจากหมอช้าง ผู้เชี่ยวชาญสายมูคนสำคัญของเมืองไทย มาช่วยคัดเลือกกลิ่นให้เหมาะสมกับคนแต่ละธาตุ ตามหลักการทางโหราศาสตร์ เพราะมองว่าเทรนด์การมูเป็นกระแสที่กำลังมาแรง

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ทำการรีเสิร์ชจะเห็นได้ว่าคนไทยกว่า 70% มีความสนใจเกี่ยวกับการมูเตลู ประกอบกับหลังจากสถานการณ์โควิค ได้เห็นภาพความยากลำบากในการใช้ชีวิตของผู้บริโภค จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้กำลังใจกับทุกคน ภายใต้ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทตั้งใจสร้างสรรค์มาเป็นพิเศษ เพื่อเสริมสร้างพลังความโชคดี ทำให้ทุกคนสามารถก้าวออกไปใช้ชีวิตและเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ

สำหรับบรรยากาศในงานถูกเนรมิตให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความเชื่อ ในคอนเซ็ปต์ ‘มูให้ปังเสริมพลังดวงดี’ เพื่อให้ลูกค้าสายมูเข้ามาเสริมพลังดวงดี พร้อมเปิดรับความเฮงความปังกับกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เปิดดวงไปกับนักพยากรณ์, เปิดประตูบุญ สู่พระธาตุประจำปีเกิด และ เปิดโชครับคำทำนาย Shokubutsu Zodiac นอกจากนี้ ‘หมอช้าง - ทศพร ศรีตุลา’ ยังเผยทริคเสริมดวงชะตาให้เฮงปังอย่างมั่นใจด้วยว่า “หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีความสุขคือ ช่วงเวลาในการอาบน้ำ ประกอบกับตามหลักฮวงจุ้ย น้ำเป็นสิ่งชำระล้างที่ดี ส่วนธาตุเป็นตัวบอกอารมณ์และความรู้สึกของคน โดยธาตุตามระบบสากล (Zodiac) มี 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

สำหรับปัจจัยที่จะกระตุ้นให้อารมณ์คนเปลี่ยนมีสองประการ คือ ‘สภาพแวดล้อม’ และ ‘กลิ่น’ เมื่อการอาบน้ำและกลิ่นหอมเป็นสองปัจจัยสำคัญในการสร้างความสุข ดังนั้น ถ้าอยากมีความสุข แนะนำให้อาบน้ำด้วยผลิตภัณฑ์ ‘โชกุบุสซึ จักรราศี’ ที่ผ่านการออกแบบมาให้มีกลิ่นหอมตรงตามระบบธาตุ โดยสามารถใช้ได้ทั้งครีมอาบน้ำตามธาตุของตัวเอง หรือครีมอาบน้ำของธาตุอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการปรับสมดุลก่อนนอน สามารถเลือกใช้ครีมอาบน้ำของธาตุน้ำ เพราะเป็นธาตุของการผ่อนคลาย หรือก่อนออกจากบ้าน อยากกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ก็สามารถเลือกใช้ครีมอาบน้ำของธาตุลมที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้

สัมผัสประสบการณ์สร้างสุขเสริมเฮงกับผลิตภัณฑ์ ‘โชกุบุสซึ จักรราศี’ (Shokubutsu Zodiac) ครีมอาบน้ำสายมูกระตุ้นพลังแห่งความโชคดี ที่ช่วยทำความสะอาดผิวได้อย่างมั่นใจ ท่ามกลางการปลอบประโลมผิวอย่างอ่อนโยนจากกลิ่นของพืชพรรณธรรมชาติ มีมาให้เลือกมูในแบบลิมิเต็ด อิดิชัน พร้อมกัน 4 กลิ่น 4 ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน (สีเขียว) ธาตุน้ำ (สีฟ้า) ธาตุลม (สีชมพู) และ ธาตุไฟ (สีส้ม) บรรจุขวดขนาด 500 มล. จำหน่ายในราคาพิเศษ 99 บาท จากราคาปกติ 125 บาท พร้อมโปรโมชันสุดคุ้มมากมาย อาทิ ซื้อครีมอาบน้ำโชกุบุสซึ จักรราศี ครบ 189 บาท รับฟรี สร้อยข้อมือเสริมดวง 1 ชิ้น จากแบรนด์โชกุบุสซึ มูลค่า 199 บาท สมาชิกมายโลตัส รับสิทธิ์เพิ่มลุ้นรับเบอร์มงคล ใช้แล้วมีแต่ความเฮงความปัง ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ไลอ้อน ประเทศไทย ยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ครีมอาบน้ำโชกุบุสซึ จักรราศี จะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้การตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ครีมอาบน้ำ ‘โชกุบุสซึ จักรราศี’ มีจัดจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่ Lotus’s เท่านั้น! (ยกเว้น Lotus’s go fresh) และ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook: Shokubutsu

'รัดเกล้า' ชี้!! 'ครม.' เห็นชอบฟรีวีซ่า 'รัสเซีย' 60 วัน  เชื่อ 'ดึงดูดนทท.-กระตุ้นเศรษฐกิจ' เริ่ม 1 พ.ค.-31 ก.ค.นี้

(23 เม.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า​ ในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 1.61 ล้านคนซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและมากเป็นอันดับห้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย รวม 84,666 ล้านบาท ซึ่งหากย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2548​ ประเทศไทยและรัสเซียได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดาร่วมกัน​ ส่งผลให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทยและรัสเซียสามารถเดินทางระหว่างกันและพำนักในประเทศได้ไม่เกิน 30 วัน โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา

ต่อมา ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 90 วัน เป็นกรณีพิเศษ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2566 ถึงวันที่ 30 เม.ย.2567​ กล่าวคือหมดเขตสิ้นเดือนนี้นั่นเอง

เพื่อความต่อเนื่องของมาตรการ วันนี้ (23 เม.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติและเห็นชอบการยกเว้นการตรวจลงตรา (VISA) เพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติรัสเซีย เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.อนุมัติในหลักการในการกำหนดให้ ‘สหพันธรัฐรัสเซีย’ อยู่ในรายชื่อประเทศในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้าในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 60 วัน เป็นกรณีพิเศษ โดยมีเงื่อนไขให้มีผลบังคับใช้ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 ถึงวันที่ 31 ก.ค.2567เพื่อประโยชน์ต่อมิติเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับสหพันธรัฐรัสเซีย โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

2. ให้ความเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินหกสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกำกับติดตามและประเมินผลกระทบจากการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวต่อไปได้

“การยกเว้นการตรวจลงตราเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียให้เดินทางมาท่องเที่ยวและพำนักในราชอาณาจักรตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอีกด้วย” รองโฆษกฯ​ กล่าว

‘พพ.’ ผนึกกำลังลงนาม MOU ‘3 สมาคมวิชาชีพ’ ยกระดับพัฒนาประสิทธิภาพ ‘พลังงาน-พลังงานทดแทน’

พพ. ผนึก 3 สมาคมวิชาชีพ สานต่อการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน มุ่งสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนให้เข้มแข็ง เตรียมผลิตบุคลากรด้านพลังงานกว่า 1,400 คน ขับเคลื่อนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ระหว่างสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย โดย นายธวัช มีชัย นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร โดย ดร.พิชญะ จันทรานุวัฒน์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมทัศน์ จิระเดชะ นายกสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย ณ อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี

ทั้งนี้ นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวเป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ให้มีความต่อเนื่องจากบันทึกข้อตกลงเดิมได้สิ้นสุดลง โดยมีประเด็นสาระสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ในด้านมาตรฐานการปฏิบัติงาน ระบบฐานข้อมูล การสนับสนุนองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร ให้กับวิศวกร สถาปนิก ผู้บริหารอาคารและโรงงาน เจ้าหน้าที่อาคารและโรงงานผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ผู้ตรวจสอบอาคาร ผู้ตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงาน ผู้ตรวจระบบผลิตพลังงานควบคุม และบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ คือ หลักสูตรอบรม ‘การจัดทำแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม’ กรณีผลิตพลังงานควบคุมจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานควบคุมเรื่องกำเนิดไฟฟ้า การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงานและแบ่งปันข้อมูลการใช้พลังงานสำหรับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม และการพัฒนาบุคลากรจัดฝึกอบรมผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการตรวจสอบและจัดทำรายงานแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม เพื่อให้ความเห็นในการพิจารณาออกใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุมจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ผ่านการอบรมรวมจำนวน 181 คน โดย พพ.มีเป้าหมายผลิตผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมให้ได้กว่า 1,400 คน เพื่อให้เพียงพอและทันต่อกระแสการประหยัดพลังงาน การผลิตและใช้พลังงานทดแทน อาทิ การติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป การผลิตพลังงานจากระบบก๊าซชีวภาพ ของสถานประกอบการ เป็นต้น

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า “จากความร่วมมือนี้ นับเป็นร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับสมาคมวิชาชีพ เพื่อร่วมกันผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ที่มีความเข้มแข็ง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายวัฒนพงษ์ กล่าว

'กมธ.พลังงาน' ต้อนรับอุปทูตด้านเศรษฐกิจจีน ชู 5 แผนเด่น พาพลังงานไทยสู่ความมั่นคง

กมธ.พลังงานให้การต้อนรับอุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้าประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและคณะในโอกาสเข้าเยี่ยม กมธ.ผลการหารือชื่นมื่น

(24 เม.ย. 67) ที่อาคารรัฐสภา น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ กมธ.พลังงาน ให้การต้อนรับ น.ส.จาง เซียวเซียว (Ms. Zhang  Xiaoxiao) อุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้า ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย พร้อมคณะที่เดินทางมาเยี่ยมคณะกมธ.อย่างเป็นทางการ บรรยากาศการพบกันเป็นไปอย่างชื่นมื่น 

น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวถึงภารกิจของ กมธ.พลังงาน ว่า ได้มีการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับแผนพลังงานชาติ ซึ่งเป็นแผนที่รวบรวมแผนด้านพลังงานไว้ทั้ง 5 ด้าน ให้อยู่ภายใต้แผนเดียวกัน โดยจะช่วยให้เกิดการวางแผนพลังงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกรอบของแผนพลังงานชาติ จะมุ่งเน้นไปสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2070 สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเน้นการลดโลกร้อน ซึ่งแผนดังกล่าวนี้จะทำให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนเทรนด์ใหม่ของโลก

ทั้งนี้ แผนด้านพลังงานทั้ง 5 ด้าน ได้แก่...

1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ Power Development Plan: PDP 
2.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan 
3.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ Alternative Energy Development Plan: AEDP
4.แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ Energy Efficiency Plan: EEP 
และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan

น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงาน กมธ.พลังงานได้มีการพิจารณาศึกษาเรื่องสำคัญ เช่น สถานการณ์พลังงานของประเทศ การพิจารณารับเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานด้านพลังงาน การพิจารณาเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้พลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ กมธ.พลังงานได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ จำนวน 3 คณะ เพื่อพิจารณาศึกษาตามหน้าที่และอำนาจของกมธ.พลังงาน และตามที่สภาผู้แทนราษฎรมอบหมาย ได้แก่...

1.คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานไฟฟ้า 
2.คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 
และ 3.คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาญัตติแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการ 

ทั้ง 3 คณะ อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อจัดทำรายงานผลการพิจารณาศึกษาเสนอต่อที่ประชุมคณะกมธ.พลังงาน เพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป

'กฟผ.' ผนึกกำลัง 'รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว - Chiyoda - Mitsubishi' พัฒนาโครงการผลิต 'ไฮโดรเจนสีเขียว-แอมโมเนีย' ในไทย

กฟผ. รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว บริษัท Chiyoda และ บริษัท Mitsubishi ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาการใช้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของไทย เดินหน้าพลังงานสีเขียว มุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission

(24 เม.ย. 67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) Chiyoda Corporation (CYD) และ Mitsubishi Company (Thailand) Ltd. (MCT) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) การศึกษาและพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates: RECs) แบบข้ามเขตแดน เพื่อนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มาใช้ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย รวมถึงศึกษาโอกาสทางธุรกิจของไฮโดรเจน และแอมโมเนียสีเขียวทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ 

โดยมี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. นายวงสกุล ยิ่งยง กรรมการผู้จัดการบริษัท EDL เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย Mr. Yasuhiro Inoue General Manager - Hydrogen Business Department, CYD และ Mr. Kazuhiro Watanabe Senior Vice President, MCT ร่วมลงนามในฐานะพยาน ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเทพรัตน์ ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2566 ในการศึกษาและพัฒนาโครงการการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดบนพื้นที่ศักยภาพ กฟผ. พบว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาไฮโดรเจนอย่างมีนัยสำคัญ กฟผ. จึงมีแนวคิดในการศึกษาการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว และหากต้นทุนของพลังงานสะอาดสำหรับโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยลดลง จะทำให้ราคาของไฮโดรเจนที่ผลิตอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายวงสกุล กรรมการผู้จัดการ EDL เปิดเผยว่า สปป.ลาว มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน และยังมีโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับ กฟผ. โดย EDL เป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว ที่มีบทบาท ด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าและดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนผ่านการศึกษาและการประยุกต์ใช้ RECs ในโครงการไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย และยังเป็นการส่งเสริมการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่พลังงานสีเขียวในอนาคตร่วมกัน

ฟาก Mr. Yasuhiro Inoue General Manager - Hydrogen Business Department (นายยาสุฮิโระ อิโนอุเอะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจไฮโดรเจน) ผู้แทน CYD กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า มีความคาดหวังที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ซึ่ง CYD ในฐานะบริษัทด้านวิศวกรรมระดับโลกยินดีสนับสนุนความร่วมมือทางด้านเทคนิค เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขยายตัวของพลังงานสะอาดในประเทศไทย ลาว และญี่ปุ่นในอนาคต

Mr. Kazuhiro Watanabe Senior Vice President (นายคาซูฮิโระ วาตานาเบะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่) ผู้แทน MCT กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวในการขยายและเติมเต็มการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย ผ่านการนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจาก สปป.ลาว ด้วยกลไก RECs ซึ่งจะช่วยให้การแข่งขันดียิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดแหล่งผลิตไฮโดรเจนสีเขียวภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของภูมิภาค ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top