จีน เตรียมถ่ายทอด เทคโนโลยีรถไฟหัวกระสุน ให้ไทย ทั้งการก่อสร้างระบบราง – ขบวนรถ

สำนักข่าว Reporter Journey ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน โดยมีใจความว่า

โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน อภิมหาโปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างนาน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นความคืบหน้าของการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ในเฟสแรกคือช่วง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทางราวๆ 250 กิโลเมตร แม้จะอยู่ในสปีดที่ช้าเนื่องจากมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ในการปฏิวัติระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทย ที่จะมีผลต่อการพัฒนารถไฟสายอื่นๆ ในอนาคต

อย่างที่หลายคนคงทราบกันว่าโครงการนี้นอกจะก่อสร้างทางวิ่ง สถานี สะพาน อุโมงค์ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ได้องค์ความรู้จากประเทศจีนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านระบบรถไฟความเร็วสูง และยังเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นของไทยมาโดยตลอด สิ่งที่ระบุไว้ในสัญญาชัดเจนตั้งแต่ต้นคือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีจีนและองค์ความรู้บางส่วนให้กับประเทศไทย เพื่อให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของตนเองได้

เกา เร่ย วิศวกรอาสุโสและทีมบริหารวิศวกรรมและการเจรจาทางเทคนิคในต่างประเทศของ China Railway International Group" ได้เขียนระบุลงในวารสารรถไฟ Railway Standard Design ของจีนเมื่อเดือนที่แล้วโดยมีใจความสำคัญว่า

“เมื่อความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน - ไทยลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความปรารถนาของไทยในการออกแบบและสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยตัวเองก็ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น พวกเขาหวังว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในความร่วมมือในอนาคต"

"เพื่อตอบสนองต่อคําขอซ้ำๆ ของไทยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนในการประชุมคณะกรรมการร่วม จีนได้ตกลงที่จะส่งต่อเทคโนโลยีดังกล่าวมายังประเทศไทยภายใต้สมมติฐานว่าไม่ละเมิดกฎหมายจีน"

ภายใต้กฎหมายจีน บริษัท และบุคคลต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในการส่งออกเทคโนโลยีที่ถือว่ามีความสําคัญต่อความมั่นคงของชาติหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับประเทศจีน ถือว่าเป็นมหาอำนาจรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันอย่างเต็มตัว โดยมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมมากกว่า 40,000 กม. หรือยาวพอที่จะโคจรรอบโลก มีประสบการณ์ด้านวิศวกรรม ความรู้และเทคโนโลยีของตัวเองที่พัฒนาต่อยอดมาจากรถไฟความเร็วสูงรุ่นต้นแบบจากทั้งของเยอรมันและญี่ปุ่นที่นำมาศึกษา ก่อนจะสร้างรถไฟความเร็วสูงของตัวเองขึ้นมา ซึ่งใช้เวลาเพียง 15 ปี ที่จีนสามารถก้าวขึ้นเป็นหัวแถวของโลก อีกทั้งยังพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมอื่นๆ ที่ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันอย่างรวดเร็วและด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำกว่า

ตัวอย่างเช่น จีนได้พัฒนาการออกแบบโมดูลาร์สําหรับสถานีรถไฟและส่วนประกอบโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่สามารถประกอบได้อย่างรวดเร็วในสถานที่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวัสดุใหม่สําหรับรางรถไฟที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษาในระยะยาว เช่น เหล็กและคอนกรีตที่มีความแข็งแรงสูง

ซึ่งทางจีนได้เห็นชอบในหลักการที่จะถ่ายทอดหรือส่งต่อเทคโนโลยี ทักษะ และความรู้ใน 11 ด้าน ของการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมาให้กับประเทศไทย

ไทยจะได้อะไรบ้างจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของจีน?

การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างองค์กรหรือประเทศต่างๆ อาจเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนสิทธิบัตร ใบอนุญาต หรือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือการประกอบตัวรถไฟภายในประเทศ ซึ่งมีทั้งที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนได้และยังเปิดเผยไม่ได้

โดยทั่วไปข้อมูลและความเชี่ยวชาญจะถูกแบ่งปันผ่านโปรแกรมการฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมอื่น ๆ ในขณะที่การถายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวมักจะทําโดยมีค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่นๆ ซึ่งจริงจะเรียกว่าเหมือนได้มาฟรีเป็นของแถมจากการซื้อเทคโลโลยีมาใช้ก็น่าจะไม่ผิดนัก

จีนสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างรางรถไฟ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับการวางรางในภูมิประเทศที่แตกต่างกัน

ความเชี่ยวชาญอื่นๆ ที่สามารถส่งต่อได้แก่ การออกแบบสถานีรถไฟเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้สาร การสร้างสะพานข้ามแม่น้ําหรือแหล่งน้ําอื่นๆ ด้วยความเร็วที่เร็วขึ้น แต่ต้นทุนที่ต่ำกว่า การเตรียมพื้นดินใต้รางรถไฟเพื่อความมั่นคงและปลอดภัย และวิธีการออกแบบและสร้างอุโมงค์ที่ปลอดภัย

ในเอกสารทีมงานของเกา เร่ย กล่าวว่า ในการปรับปรุงคุณภาพและความเร็วในการก่อสร้างจะถูกแบ่งปันตั้งแต่การสํารวจที่ดิน และการจัดการแหล่งน้ําใกล้เคียงไป จนถึงแสงสว่างในอุโมงค์ และระบบทําความร้อนการระบายอากาศ และเครื่องปรับอากาศภายในสถานี รวมทั้งสิ่งอํานวยความสะดวกอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับโครงการรถไฟจีน - ไทยที่ครบทั้งเฟสนั้นจะขยายเส้นทางต่อไปยังจังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว - จีน ระยะทาง 873 กม. ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเส้นทางเชื่อมต่อมาจากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ และให้บริการด้วยรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 250 กม./ชม.

และเป็นส่วนสําคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่รัฐบาลจีนต้องการจะเชื่อมโยงพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะผ่านเมืองต่างๆ ของไทย และเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงมาเลเซีย - สิงคโปร์ ที่แม้จะยกเลิกโครงการไปแล้วเนื่องจากมาเลเซียประเมินฐานะการคลังของตัวเองว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีความพร้อมที่จะก่อสร้าง เนื่องจากมีหนีสินในสกุลเงินตราต่างประเทศสูง และค่าเงินริงกิตที่ร่วงลงอย่างหนัก

สำหรับเส้นทางในระยะแรกมีการสร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ - นครราชสีมา จีนจะมีบทบาทสําคัญในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง

ส่วนระยะต่อไประหว่างนครราชสีมา - หนองคาย จีนจะลดบทบาทลงและให้บริษัทเอกชนของไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วจะเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบและก่อสร้างมากขึ้น

ฝั่งของจีนยอมรับว่า การเจรจาโครงการในไทยเป็นอะไรที่ "ยากมาก" เพราะไทยปฏิเสธข้อเสนอของจีนในการจัดหาเงินทุนให้กับโครงการทั้งหมด โดยเลือกที่จะใช้แหล่งเงินทุนภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนผสมกันแทน และทําให้การเจรจามีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

หนึ่งในประเด็นบนโต๊ะเจรจาที่มีการถกเถียงกันคือมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงของจีน ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศเสมอไป และต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินโดยเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎระเบียบของประเทศ

คุณสมบัติของวิศวกรชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก็เป็นปัญหาเช่นกัน เพราะไม่มีกลไกการยอมรับร่วมกันสําหรับคุณสมบัติของวิศวกรและสถาปนิกระหว่างจีนและไทย ดังนั้นฝ่ายไทยจึงไม่ยอมรับคุณสมบัติทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องของบุคลากรด้านเทคนิคของจีนโดยตรง ซึ่งทำให้วิศวกรชาวจีนต้องผ่านการฝึกอบรมและกระบวนการรับรองตามมาตรฐานของไทยเพิ่มเติม เพื่อให้พวกเขาสามารถทํางานในโครงการนี้ได้

เรียกได้ว่าไทยเองก็ “เขี้ยวลากดิน” ใส่จีนพอสมควร ไม่ใช่ “หมูสยาม” อย่างที่พญามังกรจีนจะสามารถเคี้ยวได้ง่ายๆ เหมือนที่ทำกับประเทศอื่นๆ ที่ยอมให้จีนเข้าควบคุมเบ็ดเสร็จทุกกระบวนการ รวมทั้งการขอสัมปทานการเดินรถเป็นหลายสิบปี

แต่ก็ทีมงานจีนกล่าวว่า เงื่อนไขที่จะให้จีนถ่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คือ ไทยต้องเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานรถไฟความเร็วสูงของจีน

ประเด็นคือแบบนี้ โดยทั่วไปมาตรฐานระบบรถไฟถูกกำหนดโดยประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งเป็นชาติต้นกำเนิดรถไฟ และได้กําหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเอาไว้ซึ่งมีการใช้งานมานานกว่าศตวรรษ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทสอื่นๆ ที่ต้องการสร้างระบบรถไฟ เพราะต้องอิงตามมาตรฐานเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก ซึ่งตกทอดไปสู่โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของไทยทุกโครงการต้องใช้มาตรฐานยุโรปหรือญี่ปุ่นเป็นเกณฑ์คุณภาพทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนจะต้องหาที่ยืนของเทคโลยีของตัวเองให้ได้ในตลาดไทย และรถไฟควาวเร็วสูงจึงเป็นจุดยืนสำคัญที่จีนจะได้มีอิทธิพลทางด้านเทคโนโลยีนี้

สำหรับรถไฟความเร็วสูงของจีนสามารถทำความเร็วสูงสุด 350 กม. / ชม. เร็วกว่ารถไฟหัวกระสุนส่วนใหญ่ในยุโรปและญี่ปุ่น พวกเขามักจะมีความยาวกว่าทั้งในเรื่องของตัวรถและเส้นทาง เช่น รุ่น Fuxing ที่ใช้ในสายปักกิ่ง - เซี่ยงไฮ้มีความยาวของขบวนรถมากกว่า 400 เมตร นั่นคือเกือบสองเท่าของความยาวของ TGV ในยุโรป เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานในจีนนั้นสูงกว่าและหนาแน่นกว่าตามจำนวนของประชากร

อีกทั้งจีนยังใช้ระบบอานัติสัญญาณของตัวเองสําหรับเครือข่ายซึ่งเข้ากันไม่ได้กับระบบยุโรปหรือญี่ปุ่น ซึ่งวิศวกรชาวจีนได้ยืนยันที่จะใช้มาตรฐานรถไฟของประเทศในระหว่างการเจรจากับประเทศไทยบนพื้นฐานที่จะคุ้มค่าและง่ายต่อการรวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟที่มีอยู่ในจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและผลิตรถไฟจีน เช่น ซีรีส์ CRH380 รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ เช่นแหล่งจ่ายไฟยังคงอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างไทยและจีน ตามเอกสาร

จีนซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิบัตร ส่วนวัสดุราง และระบบอานัติสัญญาณบางอย่างที่ใช้ในเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง จีนกำลังพิจารณาว่าสิทธิบัตรเหล่านี้ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของจีน จะได้รับอนุญาตหรือแบ่งปันกับประเทศไทยในด้านใดบ้าง

เพราะถ้าหากทำได้ ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่จีนยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ให้ และอาจจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถผลิตรถไฟความเร็วสูงได้ครบวงจรทั้งการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและตัวรถอีกด้วย