‘พงษ์ภาณุ’ ชี้!! รายได้ท่องเที่ยวไทยยังกระจุกตัว แนะใช้แพลตฟอร์มระดับโลก หนุนเที่ยว ‘เมืองรอง’

(14 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของไทย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า...

แม้ประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวนับเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในอดีตช่วงที่การท่องเที่ยวประเทศไทยเติบโตสุดขีด เคยสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2 ล้านล้านบาท และจากคนไทยเที่ยวไทยอีกราว 1 ล้านล้านบาท รวมเป็น 3 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 20% ของจีดีพี ขณะเดียวกัน ก็มีการจ้างงานถึง 10 ล้านคน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ในส่วนนี้หายไปเกือบหมด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก

นายพงษ์ภาณุ ระบุว่า ภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อว่า การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาคึกคัก และสร้างรายได้เข้าประเทศได้เช่นในอดีต พร้อมทั้งเป็นปัจจัยหนุนหลักให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ และ ส่งผลดีต่อไปยังตลาดแรงงาน รวมถึงเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ที่จะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เงินไหลตรงไปยังกลุ่มรากหญ้าจริงๆ ซึ่งจะแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ

แต่ทว่า ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวไทยกระจุกตัวอยู่เพียง 7 จังหวัดเท่านั้น ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงใหม่, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี และกระบี่ โดยจังหวัดเหล่านี้มีครองสัดส่วนรายได้ถึง 80% ส่วนอีก 20% กระจายไปยังอีก 70 จังหวัดที่เหลือ

อย่างไรก็ตาม จากการท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่เพียงในเมืองหลัก แม้ว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ แต่ก็มีผลเสียและปัญหามากมายเช่นกัน ทั้งด้านความแออัด ด้านการกระจายรายได้ที่ไม่สมดุล ด้านการจราจรที่ติดขัด และด้านความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพยายามกระจายการท่องเที่ยว ผ่านนโยบายที่เรียกว่า ‘การท่องเที่ยวเมืองรอง’ ทั้งการไปสร้างแหล่งท่องเที่ยว การมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

“จากการที่ได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวของจีน พบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยนั้น เขากังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลต้องการกระจายการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง สิ่งที่ต้องเข้ามาดูแลข้อแรก คือ เรื่องความปลอดภัย ข้อสอง ความสะดวกในการเดินทาง และข้อสาม เรื่องการตลาดที่ต้องโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยว อาหารและกิจกรรมที่รองรับนักท่องเที่ยว ผ่านระบบดิจิทัลที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นต้นว่า การนำข้อมูลบ้านพักในภาคอีสานของไทย เข้าไปอยู่ใน Air BNB แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกับการรับรองความปลอดภัย ความสะอาด และการต้อนรับที่อบอุ่นจากเจ้าของบ้าน หากข้อมูลข่าวสารพวกนี้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับโลกได้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองเกิดได้” นายพงษ์ภาณุ กล่าว